ฉบับที่ 210 รู้เท่าทันเห็ดหลินจือ

    ในฉบับก่อน ได้กล่าวถึงเห็ดถั่งเช่าว่าเป็น “ไวอากร้าแห่งเทือกเขาหิมาลัย” ฉบับนี้ขอนำเรื่องเห็ดหลินจือมาเล่าให้รู้จัก เพราะคนไทยจะคุ้นเคยกับเห็ดหลินจือมากกว่าเห็ดถั่งเช่า จนกระทั่งมีการเพาะปลูกเห็ดหลินจือในประเทศไทยอย่างกว้างขวางพอสมควร เรามารู้เท่าทันเห็ดหลินจือกันเถอะ  เห็ดหลินจือคืออะไร                เห็ดหลินจือมีประวัติการใช้มายาวนานในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเอเชียเพื่อให้มีสุขภาพดีและอายุยืนยาว เห็ดหลินจือเป็นเห็ดขนาดใหญ่ สีเข้ม ผิวนอกเป็นเงางาม ในบ้านเราก็มีเห็ดหลินจือเกิดในธรรมชาติ แต่คนละสายพันธุ์กับจีน        รศ.ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์  คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเห็ดหลินจือว่า เห็ดหลินจือ หรือ เห็ดหมื่นปี  จัดเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีน ใช้มานานกว่า 4,000 ปี เป็นยาอายุวัฒนะและรักษาโรคต่างๆ  ในเภสัชตำรับของจีนระบุสรรพคุณเป็น  ยาบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง รักษาโรคหัวใจ และช่วยให้นอนหลับสรรพคุณของเห็ดหลินจือ   เห็ดหลินจือมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย เช่น ฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและมะเร็ง ฤทธิ์ป้องกันเส้นประสาทเสื่อม ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นต้น     สารสำคัญในเห็ดหลินจือ คือ สารกลุ่มโพลีแซคคาไรด์ ไตรเทอร์พีน สเตอรอล กรดไขมัน โปรตีน เป็นต้น สารสำคัญดังกล่าวจะพบในส่วนสปอร์มากกว่าส่วนดอกเห็ด สปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งได้ดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังหุ้ม และส่วนดอก (จึงมีผลิตภัณฑ์จากสปอร์เห็ดหลินจือ ออกมาจำหน่าย และมีราคาสูงกว่าเนื้อเห็ดหรือสารสกัดจากเนื้อเห็ด ซึ่งต้องเป็นสปอร์ที่ผ่านการกระเทาะเปลือกหุ้มเท่านั้น จึงจะมีประสิทธิผล)  มีการศึกษาเกี่ยวกับพิษวิทยาของเห็ดหลินจือทั้งพิษแบบเฉียบพลันและพิษแบบเรื้อรัง พบว่า มีความเป็นพิษต่ำมาก และมีความปลอดภัยสำหรับการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน การทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์        เนื่องจากเห็ดหลินจือได้รับความนิยมและใช้ในการแพทย์ทางเลือกของประเทศต่างๆ มากขึ้น ห้องสมุดคอเครนจึงได้ทำการทบทวนงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับการใช้เห็ดหลินในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีมาจนถึง 14 มิถุนายน ค.ศ. 2014  พบว่า                มีงานวิจัยทางการแพทย์ 5 รายงาน เปรียบเทียบการใช้เห็ดหลินจือกับยาหลอกในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 จำนวน 398 ราย ระยะการศึกษา 12-16 สัปดาห์  รายงานการศึกษาไม่ค่อยมีคุณภาพ จึงมีเพียง 3 รายงาน จำนวนผู้ป่วย 157 ราย ที่นำมาวิเคราะห์ผลได้   ผลการศึกษา แสดงว่า เห็ดหลินจือไม่มีประสิทธิผลในการลดน้ำตาลในเลือด ความดันเลือด หรือคอเลสเตอรอล แต่เนื่องจากยังมีรายงานการศึกษาที่น้อย จึงไม่สามารถสนับสนุนประสิทธิผลของเห็ดหลินจือในการรักษาและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยเบาหวานประเภท 2         นอกจากนี้ ห้องสมุดคอเครนยังทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับเห็ดหลินจือกับการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง พบว่า ยังไม่มีหลักฐานจากการศึกษาที่จะยืนยันประสิทธิผลว่าสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะงานวิจัยยังมีจำนวนน้อย แต่ก็พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่กินเห็ดหลินจือมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม    สรุปว่า ยังไม่มีผลการวิจัยมากพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของเห็ดหลินจือในการรักษามะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจในขณะนี้

อ่านเพิ่มเติม >