ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สาวใหญ่โดน SMS ลามก

“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ”น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ“ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า“เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร”การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 ทวงหนี้โหดจาก สนง.กฎหมายของ เอไอเอส

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคม ที่ผู้บริโภคจำนวนมากให้ความไว้วางใจในการเลือกใช้บริการ โดยบริการหลายอย่างต้องถือว่ามีคุณภาพมาก แต่ยกเว้นอยู่อย่าง คือมารยาทในการติดตามทวงถามหนี้ของสำนักงานกฎหมายที่ทำงานให้ต้องถือว่าอยู่ในขั้นด้อยพัฒนาเอามากๆคุณธิติวัฒน์ ได้รับหนังสือติดตามทวงถามหนี้ที่เต็มไปด้วยข้อความ ข่มขู่ คุกคาม จากสำนักงานกฎหมายเซนิท ลอว์ จำกัด ซึ่งทำงานทวงหนี้ให้กับเอไอเอสเริ่มจาก การประทับตราแดงด้วยข้อความขนาดใหญ่ “ด่วนที่สุด” และ “เอกสารสำคัญเลขที่......./2552 และขึ้นหัวจดหมาย เรื่อง “ขอให้ชำระหนี้ก่อนบังคับคดี” (ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง)สำหรับเนื้อหาในจดหมายทวงหนี้ก็ด้อยพัฒนาเอามากๆ“ตามที่ท่านได้ค้างชำระค่าบริการโทรศัพท์กับบริษัทฯ ทางสำนักงานฯ ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บัญชีรายชื่อของท่านได้ถูกตรวจสอบและพิจารณาให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”เท่านี้ยังไม่พอ ข้อความข่มขู่กดดัน ยังสำรอกออกมาอีกหลายขยอก“ท่านต้องถูกบังคับคดี โดยทางสำนักงานจะนำเจ้าพนักงานบังคับคดี ไปยังบ้านที่ท่านมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านเพื่อทำการยึดทรัพย์ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของท่านหรือไม่ก็ตาม...และนำทรัพย์สินที่ยึดได้ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ที่ค้างชำระ”พร้อมกับใส่ข้อความในลงเว็บว่า “(ซึ่งถ้าหากทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ของท่าน เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงจะต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ไปร้องขัดทรัพย์ที่ศาล)” ที่หนักหนาสาหัสคือการกำหนดเวลาชำระหนี้ด้วยข้อความว่า “หากท่านต้องการระงับข้อพิพาท ทางสำนักงานให้โอกาสสุดท้ายกับท่าน(ดูเหมือนใจดีมาก) โดยท่านต้องชำระหนี้ภายใน 24 ชั่วโมง นับจากวันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือฉบับนี้...”หากคุณธิติวัฒน์เป็นหนี้จริง ก็ต้องกัดฟันทนคำข่มขู่ คุกคาม ดังกล่าว แล้วพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ทันตามเวลาที่ถูกกำหนดมาให้ (ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีใครทำได้หรอกครับ) แต่ข้อเท็จจริงคือว่า คุณธิติวัฒน์ ไม่เคยเปิดใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์ที่ถูกทวงหนี้มา จึงเป็นเรื่องที่ต้องร้องเรียนมาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยจัดการให้แนวทางแก้ไขปัญหาไม่ว่าผู้บริโภคจะเป็นหนี้ค่าโทรศัพท์จริงหรือไม่ การออกจดหมายทวงหนี้ก็ควรเป็นเพียงการแจ้งยอดหนี้และช่องทางในการชำระหนี้เท่านั้น ไม่ควรจะมีลักษณะเนื้อหาของการข่มขู่กดดันในลักษณะใด ๆ ทั้งสิ้น และเมื่อผู้บริโภคถูกทวงหนี้ค่าโทรศัพท์ที่ตนเองไม่ได้เปิดใช้บริการ หรือเปิดใช้บริการแต่ค่าโทรศัพท์ไม่ถูกต้องตรงตามที่มีการใช้งานจริง ผู้บริโภคไม่ควรใช้วิธีร้องเรียนผ่านทางคอลเซนเตอร์ของบริษัทผู้ให้บริการอย่างเดียวครับ ควรทำเป็นหนังสือทักท้วงการเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว หากผู้บริโภคไม่ได้เปิดใช้บริการก็ให้ปฏิเสธโดยทันทีว่าตนมิได้เป็นผู้เปิดใช้บริการ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่าถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ว่าผู้บริโภคเป็นผู้เปิดใช้บริการหรือได้ใช้บริการโทรศัพท์จริงหรือไม่ หากไม่สามารถหาข้อมูลหลักฐานมายืนยันพิสูจน์ได้ก็ไม่สามารถมาเรียกเก็บหนี้กับผู้บริโภคได้หลังจากที่มูลนิธิฯ ได้ช่วยทำจดหมายร้องเรียนไปยังเอไอเอสแล้ว เอไอเอสจึงได้มีหนังสือตอบรับกลับมาโดยทันทีว่ากำลังตรวจสอบข้อมูลหลักฐานอยู่ และหากไม่สามารถหาข้อมูลมายืนยันว่าคุณธิติวัฒน์เป็นผู้เปิดใช้บริการโทรศัพท์รายเดือนหมายเลขนี้จริงภายใน 60 วันนับแต่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนก็ถือว่าสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บหนี้ส่วนนี้ไปทันที  

อ่านเพิ่มเติม >