ฉบับที่ 128 รถตู้โฟตอนเอ็นจีวี ถูกร้องคุณภาพห่วย

สมาชิกสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย แห่ร้องกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รถตู้โฟตอนเอ็นจีวีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซื้อมาแล้วใช้งานไม่ได้ ที่มาของปัญหาเรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551เมื่อบริษัท แพล็ททินัม มอเตอร์เซลล์ จำกัด ตัวแทนนำเข้ารถตู้ ยี่ห้อโฟตอนจากประเทศจีน ได้โฆษณาประชาสัมพันธ์ขายรถตู้โฟตอนเอ็นจีวีผ่านสมาคมรถตู้โดยสารต่างจังหวัดแห่งประเทศไทย  ในราคาคันละ 1,365,000 บาทโดยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า จะมีบริษัท เงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้เช่าซื้อ และบริษัท กมลประกันภัย จำกัด เป็นผู้รับประกันภัย ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อรถตู้คันดังกล่าวได้ เช่น รถหาย รถชำรุดบกพร่อง เป็นต้นรับประกันความมั่นใจขนาดนี้ สมาชิกของสมาคมฯ จึงไม่รีรอรีบเข้าทำสัญญาเรียบร้อยโรงเรียนจีน(ของแท้) ในคราวเดียวทั้งสิ้นกว่า 70 ราย หลังการเข้าทำสัญญาเช่าซื้อรถตู้โฟตอนแล้วนำมาใช้งานเป็นรถโดยสารสาธารณะเหล่าสมาชิกสมาคมฯ ต้องพบปัญหามากมายหลายหลากกับรถตู้นำเข้าจากจีนรุ่นนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบเครื่องยนต์ บางคันขณะขับรับส่งผู้โดยสารอยู่ดีๆ เครื่องยนต์ก็ดับกะทันหัน บางทีก็เร่งไม่ขึ้นเครื่องไม่มีกำลัง ระบบความร้อน ระบบแอร์ มีปัญหาไม่ทำงานบ่อยครั้ง ยังมีปัญหาเรื่องของตัวถังที่มาจากการประกอบที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ขับรถรับส่งผู้โดยสารช่วงหน้าฝน มักมีน้ำหยดผ่านหลังคาเข้ามาในรถสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้โดยสารเป็นประจำ   นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการบริการ ซึ่งก่อนเช่าซื้อทางบริษัทฯ ได้โฆษณาว่า  จะมีศูนย์บริการหรืออู่ให้การบริการซ่อมอยู่ทั่วประเทศ  แต่ในความเป็นจริงกลับมีเพียง  1 แห่ง และไม่มีอะไหล่ของบริษัทโฟตอนโดยตรงรถตู้ที่เช่าซื้อมา ต้องขับไปซ่อมไป บางคันก็ซ่อมไม่ไหวเพราะไม่มีอะไหล่ ทำให้ผู้ร้องเรียนแต่ละรายต้องแบกรับภาระค่าซ่อมรถ ค่างวดเช่าซื้อรถ โดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตัวรถเต็มที่ บางรายต้องจอดทิ้งไว้ที่อู่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อม ภายหลังจากพบปัญหาผู้ร้องเรียนได้พยายามติดต่อ สอบถามไปยังผู้ให้เช่าซื้อคือ บริษัทเงินทุนกรุงเทพธนาทร จำกัด(มหาชน) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อขอคืนรถตู้โดยสารคันดังกล่าวแต่ได้รับการปฏิเสธ ผู้เช่าซื้อกว่า 30 รายเมื่อไม่มีรายได้เลยตัดสินใจหยุดผ่อนค่างวด ทำให้ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย มีเพียงบางส่วนได้ทำการคืนรถให้กับทางผู้ให้เช่าซื้อก่อนที่จะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี แนวทางแก้ไขปัญหา ใครที่เช่าซื้อรถมาแล้วรถเกิดปัญหาแบบนี้ ให้รู้ไว้ว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทุกฉบับในเมืองไทยเป็นสัญญาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) รายละเอียดมีอยู่ในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 โดยรายละเอียดที่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้สัญญาควบคุมระบุว่า ผู้เช่าซื้อสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขการรับประกันของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อจากผู้ขายหรือผู้ผลิตได้โดยตรง และผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ในจำนวนหนี้ที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น ส่วนที่เกินจากมูลหนี้ค้างชำระให้บริษัทประกันภัยจ่ายให้แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อสัญญาที่ควบคุมเป็นดังนี้ ดังนั้น เมื่อผู้เช่าซื้อรถประสบปัญหาคุณภาพรถไม่มีมาตรฐาน สินค้าที่เช่าซื้อจึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขายรถยนต์ ซึ่งอยู่ในเมืองไทยต้องรับผิดชอบแก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้ก็ให้เปลี่ยนรถใหม่ให้ หรือรับซื้อคืนไป แต่ถ้าผู้ขายเพิกเฉยไม่รับผิดชอบ ผู้เช่าซื้อรถต้องรีบตัดวงจรปัญหาทันทีด้วยการบอกเลิกสัญญาและคืนรถให้ผู้เช่าซื้อไป ซึ่งกรณีนี้ได้มีการทำประกันกันไว้ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รถคืนไปแล้วจึงจะนำไปรถไปประมูลขายในตลาด ถ้าหากขายได้แต่มีส่วนต่างอยู่บริษัทประกันก็รับผิดชอบไป สำหรับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งจากเงินค่าเช่าซื้อที่ได้จ่ายไป ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ได้ใช้รถตู้วิ่งรับส่งผู้โดยสาร ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป ซึ่งมูลนิธิฯ ได้นำผู้ร้องเรียนทั้งหมดเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณาฟ้องแทนผู้บริโภคแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ก๊าซเอ็นจีวี พลังงานสะอาด ปลอดภัยจริงหรือ

ยวดยานนับหลายล้านคันที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน มีรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงอยู่เกือบ 2 แสนคัน คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเอ็นจีวีเป็นพลังงานสะอาดและปลอดภัย แต่ความเชื่อนี้อาจจะไม่เป็นจริงเสียแล้วในวันนี้เราทราบถึงคำถามเรื่องนี้จากการจัดเวทีเสวนาของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล วุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน เวทีนี้จัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาจุดเริ่มเรื่องมาจากสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือร้องเรียน มาถึงคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว โดยแจ้งว่า เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวง พลังงาน ได้ออกประกาศขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของก๊าซธรรมชาติ สำหรับยานยนต์ พ.ศ.2552สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้คือ ต้องการให้เอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ซึ่งถูกผลิตมาจากแหล่งผลิตต่างๆ เช่น จากฝั่งอ่าวไทย จากฝั่งอันดามัน จากแหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร หรือจากแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันโดยธรรมชาติได้มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน โดยกำหนดค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อน ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ได้ให้อยู่ระหว่าง 37-42 เมกกะจูล/ลูกบาก์เมตร(MJ/m3) และให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกินร้อยละ 18 ของปริมาตรอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านผู้บริโภคอาจคิดว่าก็ดีแล้วนี่ ที่มีการปรับปรุงคุณภาพก๊าซเอ็นจีวี แล้วจะมาร้องเรียนกันทำไม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตั้งคำถามสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ผลของประกาศฉบับนี้ ทำให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ใช้เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดค่าดัชนีวอบบี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ซึ่งจะต้องมีการปิดปั๊มก๊าซเอ็นจีวีหลายแห่งในช่วงเดือนสิงหาคมต่อเดือนกันยายน 2553 เพื่อทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรับปรุง” คุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่จะจำหน่ายให้กับผู้ใช้รถยนต์กว่า 2 แสนคันและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ค่าดัชนีวอบบี้หรือค่าพลังงานความร้อนที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนดน่ะ ดันต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากลของก๊าซธรรมชาติที่หลายๆ ประเทศมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 46-52.9 MJ/m3 และต่ำกว่าค่าดัชนีวอบบี้ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะจากแหล่งอ่าวไทยซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ที่นำมาผลิตเป็นก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีค่าดัชนีวอบบี้อยู่ที่ 41.9-44.0 MJ/m3ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค คือ การไปกำหนดค่าดัชนีวอบบี้ที่ต่ำว่ามาตรฐานสากลและต่ำกว่าคุณสมบัติที่เป็นจริงของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ของประเทศเช่นนี้ ทำให้ ปตท. ใช้โอกาสนี้เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในในเอ็นจีวีเพื่อให้ได้มาตรฐานต่ำๆ ตามที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด และยังปล่อยให้เติมได้ถึง 18% ของเนื้อก๊าซเอ็นจีวีทั้งหมด ในขณะที่มาตรฐานสากลยอมให้มีคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 3% หรือในบางมาตรฐานที่บางประเทศใช้กันเขาไม่ยอมให้มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกนั่นเองและสิ่งที่สหพันธ์การขนส่งทางบกฯ กังวลมากที่สุด คือ หากปล่อยให้มีอัตราส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากภายในถังเก็บก๊าซเอ็นจีวีที่ติดตั้งกับรถยนต์ประเภทต่างๆ ทั้งรถบรรทุกหรือรถยนต์ส่วนบุคคลเมื่อใด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจทำปฏิกิริยากับน้ำหรือความชื้นที่อยู่ในถังซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย จะทำให้เกิดเป็น Feco3 หรือเหล็กคาร์บอเนต ซึ่งจะทำให้ถังเอ็นจีวีมีโอกาสกัดกร่อนได้เร็วขึ้น เปรียบเสมือนว่า ถังก๊าซเอ็นจีวี(ที่ติดตั้งในรถยนต์กว่า 2 แสนคัน)มีโอกาสระเบิดได้ทุกเมื่อ เนื่องจากก๊าซเอ็นจีวีเป็นก๊าซคุณสมบัติเบากว่าอากาศมากจึงต้องใช้แรงดันอัดมหาศาลและต้องอยู่ในถังที่มีสภาพความทนทานมากๆ เท่านั้น ใช้ถังเหล็กธรรมดาอย่างก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีไม่ได้อ่านมาถึงตรงนี้ จึงขอตั้งเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้บริโภคทุกคนว่า เงินที่เราจ่ายซื้อเอ็นจีวีเติมลงไปในถังนั้นคุ้มค่าจริงหรือไม่ เพราะแทนที่เงิน 100 บาทที่จ่ายไปจะได้เอ็นจีวีที่มีคุณภาพช่วยรถวิ่งปรื๋อเต็มๆ 100 บาท กลับกลายเป็นเงินซื้อขยะอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปถึง 18 บาททั้งๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นกับรถยนต์ของเราเลยสักนิด และท้ายสุดก็ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เป็นแรงหนุนทำให้โลกร้อนขึ้นร่วมกับรถยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจี เบนซิล หรือดีเซลดังนั้น อ่านเรื่องนี้กันแล้วในฐานะคนอ่านฉลาดซื้อต้องช่วยกันตะโกนถามคำถามนี้กันดังๆ ครับ หวังว่าเมื่อกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ยินคำถามของผู้บริโภคแล้ว จะได้กลับไปใช้สมองคิดทบทวนการกำหนดคุณภาพมาตรฐานก๊าซเอ็นจีวีเสียใหม่โดยเร็ว อย่าปล่อยให้ผู้บริโภคต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตแบบนี้เลยขอรับ

อ่านเพิ่มเติม >