ฉบับที่ 254 รู้ทันมิจฉาชีพระดับอินเตอร์ หลอกให้สมัครงานกับบริษัทข้ามชาติ

        หลังจากที่สังคมรับรู้ข่าวสารการอาละวาดของแก๊งค์คอลเซนเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคหลายคนก็น่าจะพอมีวิธีรับมือรูปแบบการหลอกลวงที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ของนักต้มตุ๋นกลุ่มนี้ได้บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่ารับสาย อย่าให้ข้อมูลส่วนตัว อย่าคลิกลิงก์ และอย่าโอน แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะในโลกยุคปัจจุบันนี้มีมิจฉาชีพเข้าไปแฝงตัวอยู่ในทุกแพลตฟอร์มจริง ๆ         ล่าสุด แม้แต่เครือข่ายมืออาชีพบนอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก อย่าง LinkedIn ที่เสมือนเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ประกอบการและคนทำงานในกลุ่มธุรกิจบริษัทข้ามชาติ ก็ยังมีผู้ไม่หวังดีแอบใช้กลยุทธ์การฉ้อโกงแบบเนียน ๆ มาหลอกคนทำงานด้วย คุณวันวิสาข์ นามวิเศษ เธอเองก็เกือบตกเป็นเหยื่อโจรต่างชาติพวกนี้ด้วย จึงมาเล่าประสบการณ์เพื่อเตือนภัยกัน         “กลโกงมันเยอะ แต่เคสของเรานี่โคตรอินเตอร์เลย อาจจะมีคนอื่นที่โดนหลอก แต่เขาไม่ออกข่าวหรือเปล่า เขาอาจจะเป็นคนที่มีโพรไฟล์ค่อนข้างสูง เพราะอยู่ๆ มันจะมาหลอกเราคนเดียวได้ยังไง”  เหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร         มีคนใน LinkedIn ส่งข้อความมาว่าสนใจทำงานไหม เป็นบริษัทที่ผลิตและขายเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษและอเมริกา ถ้าสนใจก็ให้ติดต่อไปที่ฝ่ายบุคคลของเขา เขาก็ให้อีเมลมาแล้วก็รายละเอียดงานคร่าวๆ ว่าเป็นงาน Sales Executive บริษัทไม่มีสาขาที่ประเทศไทยแต่ว่าจะมีตัวแทนแบบนี้อยู่ทั่วโลก เพื่อไปติดต่อลูกค้า รับออเดอร์ แล้วก็สั่งไปที่โรงงานเพื่อให้เขาส่งมา         เราเข้าไปดูเว็บไซต์บริษัทแล้วมีข้อมูลน่าเชื่อถือ ก็เลยส่งเรซูเม่ไปที่อีเมลฝ่ายบุคคลที่เขาให้มา แล้วฝ่ายบุคคลก็ส่งอีเมลกลับมาว่าจะส่งคำถามมาให้เราตอบ คือไม่ได้มีการโทรศัพท์สัมภาษณ์เหมือนบริษัทต่างประเทศทั่วๆ ไป ตรงนี้เราก็เริ่มเอ๊ะ เพราะโดยมากแล้วเขาจะต้องโทรมาขอสัมภาษณ์ เพื่อจะได้ดูว่าเราคุยภาษาอังกฤษรู้เรื่องหรือเปล่า เริ่มสงสัยแล้ว เจอพิรุธอะไรอีก         เรายังมาเอ๊ะอีกตรงที่เขายิงคำถามมาค่อนข้างเบสิกมาก มีบางคำถามที่ไม่ทันสมัยสักเท่าไหร่ แต่ก็อาจจะเป็นสไตล์ของเขา เราก็ตอบไป แล้วสัก 2-3 วัน เขาก็ตอบกลับมาว่าโอเค จากที่ดูเรซูเม่แล้วก็คำถามที่เราตอบ คือเรามีคุณสมบัติในตำแหน่งนี้ เขาก็เลยส่งจดหมายเสนอตำแหน่งมา คือดูโพรเฟสชันนอลมากเลย มีสวัสดิการ มีจดหมายเป็นทางการ มีหัวจดหมายของบริษัท มีเว็บไซต์ อะไรอย่างนี้ เราก็ตอบตกลง แต่ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ พอเขาให้ส่งบัตรประชาชนกลับไป เราก็เซ็นลายเซ็นปลอมให้ ซึ่งเขาไม่รู้อยู่แล้ว ทีนี้เขาก็ตอบกลับมาว่าจะส่งสัญญาจ้างพร้อมกับอุปกรณ์ในการทำงานมาให้ มีคอมพิวเตอร์ บัตรประจำตัวพนักงาน แล้วก็สินค้าตัวอย่างเพื่อที่จะให้เราศึกษา         ผ่านไปสักพัก เขาก็ส่งอีเมล์มาบอกว่าได้ส่งพัสดุข้ามประเทศผ่านบริษัทชื่อนี้ คือมีใบขนส่งสินค้าทางอากาศ มีเรฟเฟอเรนซ์นัมเบอร์ที่เราสามารถติดตามได้ว่าสินค้าส่งออกจากที่ไหน ไปถึงไหน แล้วจะมาถึงเราวันไหน แล้วก็มีลิงก์ไปอีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ของบริษัทขนส่งนี้ เราเองก็ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่มีจริง ถ้ามีจริงก็อาจจะเหมือนแบบคล้ายๆ DHL ที่เขาไปก็อปปี้มาหรืออะไรสักอย่างตามวิธีของเขา ทำให้เราสามารถเอาเลขพัสดุไปเข้าเว็บไซต์นั้นแล้วก็คีย์ได้เลยว่าพัสดุเราอยู่ไหน ก็จะขึ้นสเตตัสว่าถึงไหนแล้ว ของมีอะไร มีใบเสร็จ เหมือนกับที่เขาส่งมาให้เราเลย ซึ่งก็น่าเชื่อถือมาก         แต่พอติดตามดูเส้นทางของพัสดุ ก็สังเกตว่าสายการบินที่ขึ้นโชว์มาดูแปลกๆ เพราะว่าเราทำงานด้านการท่องเที่ยวก็พอรู้ว่ามีสนามบินอะไรบ้าง แล้วเส้นทางขนส่งก็ไม่น่าจะผ่านประเทศนี้ เช่น ผ่านไปพม่าทำไม ไปอินเดียทำไม ซึ่งแปลก ถ้าสายการบินพาณิชย์ไม่น่าจะบินผ่านไปประเทศเหล่านี้ แต่เราก็คิดว่าอาจจะเป็นสายการบินที่ขนส่งสินค้าเป็นหลัก แล้วมีเส้นทางการบินไม่เหมือนกันก็ได้         ทีนี้พอถึงวันที่ในระบบแจ้งว่าของมาถึงไทยแล้ว ก็มีอีเมลของบริษัทขนส่งนี้ส่งมาบอกเราว่าพัสดุของเราจะต้องเสียภาษี ให้เราแจ้งมาว่าจะเสียภาษีแบบไหน เราก็เลยถามว่าเสียภาษีเท่าไหร่ เขาก็บอกว่าประมาณ 30,000 กว่าบาท ก็คือประมาณ 1,000 ยูเอสดอลลาร์ เราก็เลยบอกว่า         “ฉันไม่มีหน้าที่จะต้องจ่าย เพราะว่าฉันยังไม่ได้ถูกจ้างงาน ยังไม่ได้รับค่าจ้างอะไรเลย ต้องให้บริษัทที่เป็นผู้จ้างจ่ายสิ”  แล้วมารู้ตอนไหนว่าโดนหลอก         เราก็ติดต่อไปที่บริษัทผู้จ้าง เขาบอกว่าเราต้องรีบเคลียร์ของออกมาให้เร็วที่สุดเพราะว่าของสำคัญกับเรามาก ให้เราจ่ายไปก่อนแล้วเดี๋ยวเขาจะโอนให้ในบัญชีเงินเดือนของเรา เราก็ตอบไปว่า         “อย่างไรฉันก็ไม่ยอมจ่ายง่ายๆ”         แล้วเราก็ยังอีเมลโต้ตอบกับทั้งฝ่ายบริษัทจ้างงานและบริษัทขนส่งกันไปมาอยู่ 2-3 วัน ซึ่งอีเมลของพวกเขาจะดูเป็นมืออาชีพและตอบเร็วด้วย คือเรารู้เลยว่าเป็นวิธีการเขียนจากฝรั่ง         ช่วงที่เขาส่งอีเมลมาตื๊อให้จ่ายเงิน เราก็ลองถามดูว่าถ้าจ่ายนี่คือโอนเข้าบริษัทชิปปิ้งเหรอ คือถ้าเกิดว่าเป็นอินวอยซ์จากบริษัทชิปปิ้งที่มีตัวตน ก็จะน่าเชื่อถือ เพราะเราโทรถามจากบริษัทที่มีออฟฟิศในเมืองไทยเพื่อตรวจสอบได้ แต่เขากลับบอกให้โอนเข้าบัญชีกสิกรไทยเป็นชื่อบุคคล เราก็ไปค้นเจอว่าชื่อนี้มีเฟซบุ๊ก เข้าไปดูแล้วเป็นชาวบ้านอยู่ต่างจังหวัด ไม่เหมือนเป็นคนทำงานบริษัทเลย แต่ไม่รู้ว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ถ้าใช่ก็คงเป็นบัญชีม้า         เราก็โทรถามศุลกากร เขาบอกว่าไม่มีให้โอนเข้าบัญชีบุคคลแน่นอน อย่าจ่าย คือโดยมากจะมีเคสเหมือนที่เป็นข่าวทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเคสของเรา ที่ใช้เวลาตั้งหลายอาทิตย์กว่าที่จะรอหลอกเรา แล้วมีการรับต่อไม้หนึ่ง ไม้สอง ไม้สาม ไม่รู้เป็นคนหรือเปล่า เราไม่เห็นตัวตน เราัสื่อสารกันทางอีเมลตลอดจากนั้นเราก็ตอบกลับไปว่า         “บุคคลที่เป็นเจ้าของเลขบัญชีที่คุณให้มาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของทางศุลกากร ฉันคุยกับศุลกากรแล้ว เขาแนะนำว่าไม่ให้โอน เพราะว่ามีพวกหลอกลวงเยอะ”         ในที่สุดเขาก็คงคิดว่าน่าจะหลอกเอาเงินเราไม่ได้แล้ว ก็เงียบไปเลย อย่างนี้ก็เหมือนกับหลอกคนที่กำลังหางาน        คือโพรไฟล์เราในนั้นไม่ได้ขึ้นว่าหางานด้วยนะ เขาอาจจะสุ่มจาก LinkedIn ซึ่งช่องทางนี้เป็นธุรกิจล้วนๆ เลย แล้วเห็นว่าเราเคยทำงานอะไรที่ไหนมาบ้าง โพรไฟล์เราแบบนี้น่าจะหลอกประมาณนี้ได้หรือเปล่า อาจจะหลอกไปทั่วโลกเลยไม่ใช่แค่คนไทย ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาใช้วิธีการหาเหยื่ออย่างไร ไม่เคยได้ยินจริงๆ นะเสียเงินแบบนี้ ที่บอกเป็นสเต็ป 1, 2, 3 เป็นเรื่องเป็นราวเลย         คือถ้าเกิดมีคนยอมโอนไปจริงๆ เขาก็ได้เงินง่ายๆ เลยนะ 30,000 – 40,000 บาท จากทั่วโลกเป็นเท่าไหร่ แต่เขาก็ลงทุนในการทำเว็บไซต์ มีเอกสาร มีโพร์ไฟล์ ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งพอเราไปเซิร์ชหาเคสอย่างนี้ในกูเกิล ก็ไม่เจอว่ามีใครโดนอย่างเรา ในประเทศอื่นก็ไม่เคยมีเหมือนกัน มันดูน่าเชื่อถือมาก เราก็เลยคิดว่าบริษัทนี้อาจจะมีตัวตน แต่พวกนี้แอบเนียนๆ ใช้ชื่อใช้อะไรของบริษัทนี้ เป็นไปได้หลายอย่าง เพราะว่าเดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ทำได้ง่ายกว่าเดิม การปลอมแปลงอย่างนี้มันง่าย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราให้ข้อมูลตัวเองกับโซเชียลก็เป็นอันตรายกับเราเหมือนกัน         ก็ไม่เชิงนะ คือเป็นปกติเลยช่องทางนี้ที่คนเขาจะทำแบบนี้ แต่ละบริษัทที่เป็นอินเตอร์เขาก็จะมีโพรไฟล์ใน LinkedIn ด้วย เพราะลูกค้าก็จะไปดูจากตรงนั้น ในนั้นจะมีโพรไฟล์ล้วนๆ แล้วก็จะมีคนมาแนะนำให้ด้วยว่าเรามีทักษะด้านนั้นด้านนี้จริงๆ อยากเตือนคนอื่นที่อาจจะเจอแบบเราอย่างไรบ้าง ให้สังเกตอะไรบ้าง         ถ้าเป็นบริษัทที่มีตัวตนจริง ส่วนใหญ่จะมีวิธีการติดต่อทางอีเมลที่ยืนยันได้ ก็ต้องตรวจสอบดีๆ อย่างเคสนี้เราค้นชื่อบริษัทนี้แล้วไม่เจอโพรไฟล์อยู่ใน LinkedIn พอเซิร์ชหาบุคคลที่ทำงานบริษัทนี้ก็เหมือนจะไม่มีอีก ส่วนโพรไฟล์ของคนที่ติดต่อเรามาก็ดูไม่โพรเฟสชันนอลเท่าไหร่ ยังมีเว็บไซต์บริษัทที่ดูน่าเชื่อถือหน่อย พอลองเข้าไปเซิร์ชหาบริษัทที่จดทะเบียนในอเมริกาก็ไม่มีชื่อนี้ที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ว่ามีที่อยู่ เราก็หาใน Google Earth, Google Map ก็มีชื่อขึ้นมา แต่พอไปดูในตึกแล้วกลับไม่มีบริษัทนี้         เราดูถึงขนาดนั้นเลย ก็ยังสงสัยอยู่ว่าตกลงยังไง เพราะในกูเกิลมีชื่อบริษัทนี้แต่พอไปดูในที่อยู่กลับไม่ตรงกัน เราอาจจะเซิร์ชหาไม่อัปเดตหรือยังไงก็ไม่รู้ คือวิธีการของเขาค่อนข้างเนียนมาก ถ้าสมมุติว่าเป็นคนที่ไม่คล่องภาษาอังกฤษ เขาก็อาจไม่รู้ว่าต้องไปเช็กอะไร อย่างไร ต้องจับจุดตรงไหน เพราะขนาดเรารู้ภาษาอังกฤษในระดับโพรเฟชชันนอล เรายังโดนหลอกอยู่ประมาณสองอาทิตย์ ซึ่งเป็นเคสที่เรียลไทม์มาก         จริงๆ ก่อนหน้านี้ เราก็เคยโดนแก๊งค์คอลเซนเตอร์โทรมานะ แต่เรารู้ทันก่อนไง พอบอกให้โอนทันที เราก็วางเลย แต่นี่เป็นเคสแรกที่ไม่ได้ให้โอนทันทีทันใด คือไม่ใช่จะเอาอย่างเดียวตั้งแต่แรกอะไรอย่างนี้ คือเขาใช้เวลากับเราขนาดนี้เพื่อที่จะให้เนียนที่สุด ถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าตกลงหลอกไม่หลอก แต่ก็คิดว่าหลอกเพราะเงียบไปเลย         “ข้อสังเกตง่าย ๆ คือถ้าเกิดให้โอนเงินนั่นแหละ โดนหลอกแน่ๆ”

อ่านเพิ่มเติม >