ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2566

10 แอปพลิเคชันอันตรายบนแอนดรอยด์         สิงหาคม 66  ตำรวจสอบสวนกลางโพสต์เฟซบุ๊กเตือนประชาชน พบแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์ดักข้อมูลแฝงอยู่และมียอดการดาวน์โหลดทะลุล้านครั้ง โดยบางแอปได้มีการนำออกจาก Play Store แล้ว แต่ยังสามารถติดตั้งผ่านช่องทางอื่นได้อยู่ เช่น รูปแบบ  Mini-Game ที่มีการให้ผู้ใช้เข้ามาเล่นเพื่อรับรางวัล ซึ่งมี 10 แอปพลิเคชัน ดังนี้ 1.Noizz (แอปตัดต่อวิดีโอพร้อมเพลง) 2.Zapya (แอปแชร์ไฟล์ ย้ายไฟล์) 3.VFly (แอปสร้างวีดีโอ) 4.MVBit (แอปตัดต่อวีดีโอ) 5.Biugo (แอปตัดต่อวีดีโอ) 6.Crazy Drop (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 7.Cashzine (แอปเล่นเกม รับรางวัล) 8.Fizzo Novel (แอปอ่านหนังสือออฟไลน์) 9.CashEM (แอปรับรางวัล) 10.Tick (แอปดูวีดีโอเพื่อรับรางวัล) ทั้งนี้ การป้องกัน คือ อัปเดตซอฟต์แวร์สม่ำเสมอ ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ และระมัดระวังอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อทั้งหลาย พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงไม่คลิกโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ  บังคับใช้แล้ว เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งคาร์ซีท         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกกฎหมายความปลอดภัยสำหรับเด็กด้วยการกำหนดที่นั่งนิรภัยพิเศษและการป้องกันอันตราย หากเกิดอุบัติเหตุ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 66 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดให้เด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งที่นั่งนิรภัย(คาร์ซีท)  และคาร์ซีทต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่มีคาร์ซีทแต่มีเด็กอายุต่ำกว่าที่กำหนด ให้ปฏิบัติตาม ดังนี้ 1.ขับช้าๆ คำนึงถึงความปลอดภัย และขับชิดซ้าย 2.ให้เด็กนั่งที่นั่งโดยสารตอนหลัง ถ้าเป็นรถกระบะหรือกึ่งกระบะให้นั่งตอนหน้า แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ 3. ให้มีผู้ดูแลเด็กตลอดระยะทางหรือให้เด็กรัดเข็มขัดเฉพาะหน้าตัก ทั้งนี้ ในกรณีรถรับจ้างและรถสาธารณะยกเว้นไม่ต้องมีคาร์ซีทได้ ส่วนโทษปรับกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ศาล ปค.กลาง พิพากษายกฟ้อง สธ. กรณีประกาศแบนพาราควอต         29 สิงหาคม 66 ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่ ทางเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองและเกษตรกรรวม 56 ราย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีร่วมกันประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ.2563 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง(ฉบับที่ 3) การกำหนดปริมาณสารพิษคลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิล พาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์  พาราควอตบิส(เมทิลซัลเฟต) หรือพาราควอตเมโทซัลเฟต ตกค้างสูงสุด (MRLs) ในสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารและอาหารสัตว์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการผลิต-การค้า ควบคุมตรวจสอบสินค้าเกษตรที่ นำเข้า-ส่งออก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย         อย่างไรก็ตาม ทางศาลได้ให้เหตุผล ดังนี้  ประกาศดังกล่าวคือการกำหนดคุณภาพอาหารที่มีสารพิษตกค้างซึ่งจะต้องมีมาตรฐาน ไม่ตรวจพบวัตถุอันตรายการเกษตรตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2534 เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจตามกฎหมาย ไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของเกษตรกรเกินสมควร พิพากษายกฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ ภาครัฐ-เอกชน ดูแลลงโทษ ผู้ขายข้อมูลส่วนบุคคลให้แก๊งมิจฉาชีพ         จากกรณีที่มีข่าวตำรวจไซเบอร์จับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สุดท้ายได้มีการซักทอดไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนขายข้อมูลคนไทยให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนนั้น                 นางสาวนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เรียกร้องไปยังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้งหลายที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของประชาชน หากบุคคลในองค์กรได้กระทำตัวเป็นขโมย ลักลอบข้อมูลจากแก๊งมิจฉาชีพ จะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นความผิดในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอม และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ตามมาตรา 27 และมีบทลงโทษ ตามมาตรา 79 วรรค 2 ของ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรา 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมทรัพย์สินทางปัญญาแจงปม 'ปังชา' ยันขายได้แต่อย่าเลียนแบบภาชนะ          จากกรณีร้านดังได้ทำการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า 'ปังชา' สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบจนเป็นประเด็นดรามานั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ชี้แจง พร้อมยืนยันว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะของร้านที่เป็นข่าวซึ่งจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต ดังนั้นการใช้คำว่า ปังชากับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทยยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ         อนึ่ง “คำ” ที่เป็นลักษณะทั่วไปของสินค้าหรือบริการไม่สามารถนำมาจดลิขสิทธิ์ได้ เช่น ถ้าจะจดคำว่า “ขาว” กับ “ผงซักฟอก” หรือ “ใส” กับ “น้ำดื่ม” อย่างนี้ ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ “เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของสินค้า” (ที่มา ดร. พีรภัทร ฝอยทอง)

อ่านเพิ่มเติม >