ฉบับที่ 270 แค้น : เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม

        “ความแค้น” คืออะไร? พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า “แค้น” คือ อาการโกรธเจ็บใจอยู่ไม่หาย และหากเป็น “คนเจ้าคิดเจ้าแค้น” แล้ว จะหมายถึง คนที่มักผูกอาฆาตพยาบาท ผูกใจเจ็บกับคนที่ทำร้ายหรือทำให้ตนได้รับความลำบากอย่างไม่รู้จักลดละ ไม่รู้จักให้อภัย         ในทางพุทธศาสนา ที่ยึดหลักแห่งความเมตตาการุณย์เป็นที่ตั้งนั้น อธิบายว่า ความแค้นเป็นคู่ปรับตรงกันข้ามกับความเมตตา เป็นเสมือนไฟแผดเผาใจให้มอดไหม้ มักนำไปสู่การกระทำที่รุนแรงเสียหาย และนำสู่ความหงุดหงิดงุ่นง่านทรมานใจตนเอง ดังนั้น ศาสนาจึงสอนให้ปุถุชนพยายาม “ดับความแค้น” ในใจ เมื่อมีคนใดมาทำให้โกรธแค้น ก็พึงแผ่เมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์และสรรพชีวิตทั้งปวง         แม้ว่าความแค้นจะเป็นคู่ตรงข้ามกับการให้อภัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความแค้นเป็นสิ่งที่เกิดเนื่องมาแต่ “ความต้องการอำนาจ” ซึ่งแสดงออกในรูปแบบของการ “เอาคืน” จากความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคม ดุจดังความแค้นฝังแน่นชนิด “ตายไม่เผาผี” กันไปข้างหนึ่งระหว่าง “เหมือนแพร” กับ “ปรางทอง” ในละครโทรทัศน์ที่ชื่อเรื่องสั้นๆ ตรงเป้าตรงประเด็นว่า “แค้น”         แล้วทำไมผู้หญิงสองคนต่างจึงโกรธแค้นกันชนิด “เจ็บนี้จำไปจนตาย เจ็บนี้ไม่มีวันลืม” และ “ตายกันแบบไม่เผาผี” อีกเลย? ละครได้ย้อนไปหาคำตอบผ่านชีวิตของเหมือนแพร หญิงสาวที่ในชีวิตไม่เคยตระหนักเลยว่า ความรักที่เธอมีให้ผู้ชายคนหนึ่ง และความศรัทธาที่มีต่อผู้หญิงที่เธอเคารพรักเสมือนเป็นญาติคนสนิท จะพลิกผันจาก “ความรัก” เป็น “ความแค้น” ที่ปะทุฝังแน่นอยู่ในอุรา         ถ้าสังคมไทยทุกวันนี้มีความขัดแย้งระหว่างคนต่างเจนเนอเรชันเป็นสมรภูมิที่ปะทุปะทะกันอย่างเข้มข้น ภาพจำลองสนามรบของคนต่างรุ่นวัยแบบนี้ก็ถูกถ่ายทอดให้เห็นผ่านความแค้นที่ระเบิดออกมาเป็น “ศึกสองนางพญา” ระหว่างนางเอกเหมือนแพร กับปรางทิพย์ หรือที่เธอเรียกว่า “น้าปราง”         สงครามความแค้นครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อราวยี่สิบปีก่อน ที่ปรางทองได้เข้ามาในบ้านของเศรษฐีที่ดินตระกูล “พิพัฒน์ผล” แต่เพราะมีสถานะเป็นลูกติดของ “ปรางทิพย์” ผู้เป็นภรรยาน้อย เธอจีงถูก “ปิ่นมณี” บุตรสาวคนเดียวของตระกูลปฏิบัติกับเธอเยี่ยงเด็กรับใช้ในบ้าน หรือทาสในเรือนเบี้ย จนบ่มเพาะเป็นความแค้นที่อยู่ในใจของปรางทองมานับจากนั้น         สองปีถัดมา เมื่อปิ่นมณีได้ให้กำเนิดเหมือนแพร ก็ยิ่งตอกย้ำให้สถานะของปรางทองตกต่ำลงไปอีก แม้เหมือนแพรจะสนิทสนมและนับถือเธอประหนึ่งน้าแท้ๆ แต่ปรางทองก็มีชีวิตไม่ต่างจากสาวใช้ที่ต้องดูแลเด็กน้อย และเป็นรองทุกอย่างให้กับเด็กหญิงที่วันหนึ่งจะโตมาเป็นเจ้าของสมบัติตระกูลพิพัฒน์ผลทั้งหมด         ด้วยความแค้นต่อโชคชะตาที่ปรางทองสั่งสมเอาไว้ เธอจึงมุ่งมั่นตั้งแต่มารดาเสียชีวิตว่า สักวันหนึ่งจะยึดทรัพย์สินทุกอย่างของบ้านพิพัฒน์ผลมาเป็นของตนให้ได้ ดังนั้น เมื่อปรางทองเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอจึงเริ่มแผนการเสนอตัวเข้าไปช่วยงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล และยังชักชวนแฟนหนุ่ม “อรรณพ” ให้มาเป็นผู้ช่วยของ “พัฒนะ” บิดาของเหมือนแพร โดยแนะนำว่าเขาเป็นเพื่อน มิใช่แฟน         และแล้วแผนการของปรางทองก็สัมฤทธิ์ผล หลังจากที่พัฒนะและปิ่นมณีเสียชีวิตลง เธอก็ได้ยุให้เหมือนแพรที่ไร้เดียงสาและอยู่ในวัยแตกเนื้อสาว เซ็นเอกสารยินยอมให้อรรณพเป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินการทางธุรกิจแทน ก่อนจะยืมมืออรรณพที่เด็กสาวแอบหลงรักมาฮุบสมบัติของพิพัฒน์ผลจนสำเร็จดังหวัง หลังจากนั้นปรางทองก็เปิดตัว “เก่งกาจ” ลูกชายวัยสองขวบ ความรักความไว้ใจกลายเป็นความเจ็บปวดและสูญเสียทุกอย่าง จนเหมือนแพรเลือกตัดสินใจฆ่าตัวตาย         แม้เหมือนแพรจะรอดจากอัตวินิบาตกรรมครานั้น แต่ด้วยจิตใจที่แตกสลาย เธอได้เลือกบินไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศอยู่สิบกว่าปี กว่าที่จะทำใจกลับมาเยียวยาบาดแผลซึ่งฝังรากอยู่ในห้วงความทรงจำลึกๆ ของเธอ         ในขณะที่หลักศาสนาพร่ำสอนว่า “พึงระงับความแค้นด้วยการให้อภัย” และ “กฎแห่งกรรมเป็นวัฏจักรที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้” แต่สิ่งที่พบเจอมาในชีวิตของเหมือนแพรที่บัดนี้กลายเป็นปัจเจกบุคคลผู้มีวุฒิภาวะมากขึ้น ได้นำไปสู่คำถามใหม่ๆ ที่ว่า “ทำไมคนที่ทำแต่เรื่องชั่วๆ ยังลอยหน้าอยู่ในสังคมได้” และแม้ “พิธาน” พระเอกหนุ่มน้องชายของอรรณพจะเตือนสติให้เธอละเลิกความพยาบาท แต่เหมือนแพรก็เลือกประกาศกับเขาว่า “ถ้ากรรมไม่ทำงาน แพรก็จะลงมือทำเอง”         อย่างไรก็ดี ในสมรภูมิครั้งใหม่นี้ ปรางทองกลับเป็นผู้ที่ถือไพ่เหนือกว่า เพราะเธอได้รวบปัจจัยการผลิตทั้งหมดมาจากชีวิตเหมือนแพร และแปลงทรัพยากรเม็ดเงินและธุรกิจในมือเป็นอำนาจในการจัดการกับอดีตหลานสาว จนถึงกับประกาศศึกว่า “มันได้กินยาตายรอบสองแน่ แล้วครั้งนี้มันจะได้ตายสมใจ” รวมทั้งใช้แม้แต่กำลังความรุนแรงแบบไร้มนุษยธรรมเพื่อเผด็จศึกชนิดที่เราแทบไม่เคยเห็นมาก่อน          ทว่า สิ่งที่ปรางทองมองข้ามไปก็คือ ในศึกแค้นคำรบใหม่นี้เช่นกัน คู่ชกที่เธอปรามาสว่าอ่อนหัดกลับมีเจตนารมณ์แน่แน่วที่จะแปลงเพลิงแค้นให้เป็นพลังต่อสู้ แม้ว่าในยกแรกๆ เหมือนแพรจะเพลี่ยงพล้ำขนาดที่ถูกลากมาตบมาซ้อมในที่สาธารณะท่ามกลางสายตาผู้คนนับร้อยในงานกาล่าของชาวไฮโซ แต่ประสบการณ์แต่ละครั้งก็บ่มเพาะให้เหมือนแพรสุขุมคัมภีรภาพ และรู้จักเป็นผู้เดินเกมบนกระดานได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น         ในขณะที่คนรุ่นก่อนแบบปรางทองเลือกวิธีต่อสู้ในเกมแบบการเล่น “หมากรุก” ที่ทำทุกอย่างโดยมุ่งเป้าพิชิตตัวขุนผู้เป็นตัวนำเพื่อชนะศึกในกระดาน แต่ทว่าคนรุ่นใหม่แบบเหมือนแพรกลับชำนิชำนาญการเล่นเกมแบบ “หมากล้อม” ช่วงชิงเก็บแต้มเล็กแต้มน้อย จนในท้ายที่สุดก็จะยึดพื้นที่หมากโกะได้หมดทั้งกระดาน         เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นภาพเหมือนแพรที่ค่อยๆ วางแผนซื้อหุ้นของธุรกิจพิพัฒน์ผลกลับมาทีละเล็กละน้อย และช่วงชิงแนวร่วมพันธมิตรของปรางทองทีละคนสองคน ไล่ตั้งแต่บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยแต่ละคน “โภไคย” และ “ดาหวัน” ผู้ร่วมทำธุรกิจกับปรางทอง พิธานพระเอกหนุ่มที่แอบรักเธออยู่ หรือแม้แต่วางแผนหลอกใช้และปั่นหัวเก่งกาจลูกชายของปรางทอง ให้เขากบฏแข็งข้อต่อผู้เป็นแม่แบบไม่เคยเป็นมาก่อน         แต่ทว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ละครก็ได้ตั้งคำถามว่า หากจะแปลงความแค้นเป็นสงครามปั่นประสาทแบบ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” เยี่ยงนี้ “ความเลว” ก็ไม่อาจล้มล้างได้ด้วยการปะทะกันทางอารมณ์แต่อย่างใด หากแต่ต้องใช้ “ความจริง” เท่านั้นที่จะทำให้ปัจเจกบรรลุชัยชนะ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเหมือนแพรก็เคยถูกใช้ความรักความหวังดีมาสร้างเป็นจิตสำนึกปลอมๆ จนมองข้าม “ความจริง” อันเป็นธาตุแท้ของศัตรู         ในสังคมที่ความยุติธรรมออกอาการบิดเบี้ยว และโอกาสในชีวิตที่ถูกพรากไปโดยไร้กฎกติกา ชะตากรรมของตัวละครก็อาจบอกเราได้ว่า ถ้าจะให้ความยุติธรรมบังเกิดขึ้นจริง บางทีเราต้องหัดแปลงแรง “แค้น” ให้เป็นสติในการเห็นถึง “ความจริง” ที่จะปลดปล่อยจิตสำนึกจอมปลอมที่แอบล่อหลอกลวงตาเอาไว้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 สุดแค้นแสนรัก : มนุษย์เราล้วนมีบาดแผลด้วยกันทุกคน

“ความรัก” กับ “ความแค้น” อาจไม่ใช่สองเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันเสียทีเดียว แต่น่าจะเป็นประดุจเหรียญหนึ่งเหรียญที่มีทั้งสองด้านพันผูกเอาไว้ด้วยกันมากกว่า    ปรมาจารย์ต้นตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้เลื่องชื่ออย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า มนุษย์เราต่างก็มีปมแบบ “love-and-hate complex” หรือปมในจิตใจแบบที่ความรักกับความแค้นมักเกิดควบคู่กัน คล้ายๆ กับที่คนไทยมีความเปรียบเปรยว่า “ทั้งรักทั้งแค้นแน่นอุรา” หรือ “รักมากก็แค้นมาก” ซึ่งสะท้อนปมคู่ที่ไขว้กันของรักและแค้นนั่นเอง    ทัศนะเรื่องปมเหรียญสองด้านของความรักกับความแค้นแบบนี้ ก็คือภาพจำลองที่ฉายออกมาผ่านตัวละครมากมายในหมู่บ้าน “หนองนมวัว” ซึ่งเธอและเขาต่างก็มีมุมสองด้าน ที่เป็นมุม “สุดแค้น” ในเวลาหนึ่ง แต่ก็มีมุมแบบ “แสนรัก” ในเวลาเดียวกัน    หากขยายความตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ ในช่วงพัฒนาการบุคลิกภาพของปัจเจกบุคคลในสังคมทุกวันนี้นั้น มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแต่ถูกสังคมมอบ “บาดแผล” บางอย่างขึ้นมาเป็นปมภายในจิตใจของตนด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ต่างจากตัวละครอย่าง “แย้ม” ที่เปิดฉากมากับความโกรธเกลียดและแค้นครอบครัวของ “อัมพร” ผู้เป็นลูกสะใภ้ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็เป็นบุตรสาวของ “ขัน” ผู้ที่พลั้งมือฆ่า “เทือง” สามีของแย้มจนเสียชีวิต    ความแค้นที่อยู่ในใจของแย้ม ชนิดเผาพริกเผาเกลือสาปส่งกันระหว่างสองตระกูล ได้กลายมาเป็น “บาดแผล” ที่มิอาจใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีนเยียวยาได้ ซ้ำยังกลับปะทุเป็นเชื้อฟืนเผาไหม้ไปสู่ตัวละครอื่นๆ ในท้องเรื่องเสียอีก     เริ่มจากตัวละครในครอบครัวของแย้มเอง ลูกชายคนโตอย่าง “ประยงค์” ก็ถูกโทสะจริตของมารดาผลักให้เขาต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่งแบบ “ทางหนึ่งก็แม่ ทางหนึ่งก็เมีย” หรือลูกชายคนรองอย่าง “ประยูร” ที่แม้จะรู้สึกผิด แต่ก็ต้องเลือกเข้าข้างมารดา และยอมแต่งงานกับ “สุดา” ซึ่งลึกๆ ก็หวังฮุบสมบัติของแย้มเอาไว้เป็นของตน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กอย่าง “พะยอม” ก็ต้อง “ยอมฉันยอมเจ็บปวด” ด้วยการแต่งงานโดยปราศจากความรักกับ “ลือพงษ์” เพียงเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้แค้นกับครอบครัวของศัตรู    ทางฝ่ายตัวละครในอีกครอบครัวหนึ่งนั้น ก็ถูกผูกโยงเข้าสู่วัฏจักรแห่งบาดแผล อันเกิดมาแต่ความแค้นของแย้มไม่แตกต่างกัน นับตั้งแต่กรณีของอัมพรที่แย้มกลั่นแกล้งพรากเอา “ยงยุทธ” ลูกชายคนโตมาจากอ้อมอก จนเธอต้องจำใจกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับ “อ่ำ” ผู้เป็นมารดา ในขณะที่น้องสาวของอัมพรหรือ “อุไร” ซึ่งเป็นคนรักของลือพงษ์ นอกจากจะไม่อาจสมหวังในรักแล้ว เธอยังต้องแบกหน้าอุ้มท้องเลี้ยงดูลูกในครรภ์แต่เพียงลำพัง    สิ่งที่เรียกว่า “ความแค้นของคนรุ่นหนึ่ง” ดูเหมือนจะไม่ได้จบลงแค่ในคนรุ่นนั้น หากแต่บาดแผลมีการสืบทอดเป็นวังวนผ่านคนแต่ละรุ่น และมนุษย์ที่อยู่ในวังวนดังกล่าวก็มีสถานะเป็นเพียงแค่ “ร่างทรง” ที่สืบต่อและรองรับปมบาดแผลต่างๆ ของคนรุ่นก่อนเอาไว้เท่านั้น เหมือนกันกับความเจ็บปวดจากคนรุ่นแย้มและอ่ำที่ได้สืบทอดมาสู่รุ่นลูก และมีแนวโน้มจะส่งต่ออีกคำรบหนึ่งมายังรุ่นหลานๆ ในเจนเนอเรชั่นถัดมา    และภายใต้บาดแผลความเจ็บปวดในจิตใจของเรา ฟรอยด์เองก็ได้กล่าวว่า เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตอยู่รอดและดำรงตัวตนต่อไปได้นั้น จิตของเราจะสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาเพื่อเยียวยาบาดแผลให้บรรเทาทุเลาลง หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “กลการป้องกันตนเองทางจิต” หรือ “defensive mechanism” ที่คนแต่ละคนจะเลือกใช้วิถีการรักษาบาดแผลของตนแตกต่างกันไป    ในขณะที่แย้มเลือกใช้วิธีการ “ไขว่คว้า” ความสุขของหลานชายมาเป็นเครื่องมือการแก้แค้นของตน และ “ถ่ายโอน” ความเจ็บปวดของตนไปยังตัวละครอื่นๆ สำหรับตัวละครอย่างอ่ำกลับเลือกใช้กลยุทธ์การ “ข่มใจ” หรือปิดกั้นบาดแผลเอาไว้ด้วยธรรมะและพระศาสนา     ส่วนในรุ่นลูกๆ ของแย้มและอ่ำนั้น ในขณะที่ทั้งประยูรและพะยอมเลือกใช้กลไก “สองจิตสองใจ” ไม่ทำเพื่อแม่ก็ไม่ได้ แต่ถึงทำก็รู้สึกผิดอยู่ลึกๆ แต่ประยงค์พี่ชายคนโตกลับใช้วิธี “ถอนตัว” จากความเจ็บปวดและตรอมใจตายตั้งแต่ต้นเรื่องไปเสียเลย     ทางฝ่ายของอัมพรที่ถูกพรากลูกชายไปตั้งแต่ยังเล็ก ก็เลือกใช้กลไกการ “ถอยหลัง” กลับไปหาความปลอดภัยจากมารดา และเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่กับ “ทวี” นายตำรวจแสนดีมีคุณธรรม ส่วนอุไรผู้เป็นน้องสาวก็ใช้กลยุทธ์ “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” กับครอบครัวของแย้ม เพียงเพื่อปิดกั้นปกป้องตนเองจากความเจ็บปวดทางใจ ซึ่งตรงข้ามกับลือพงษ์ ที่ใช้วิธีเลือก “ปลีกตัว” ออกไปจากสนามรบความรักความแค้นของทั้งสองตระกูล แต่ก็ไม่อาจสลัดหลุดจากความรู้สึกเจ็บปวดนั้นได้จริง    ไม่ว่าตัวละครต่างๆ จะเลือกหยิบกลไกป้องกันตนเองแบบใดมาบำบัดเยียวยาบาดแผลในจิตใจ แต่คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ กลไกมากมายหลายชนิดดังกล่าวก็มิอาจสลายความเจ็บปวดให้มลายหายไปจนหมด หากแต่ทำได้เพียงบรรเทาโลภะโทสะโมหะของมนุษย์ให้ลดลงได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น     ครั้นมาถึงรุ่นของหลานๆ บุญคุณความแค้นที่ตอกย้ำสืบทอดมาจากบรรพชน ก็เริ่มเห็นริ้วรอยความขัดแย้งที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อพี่น้องอย่างยงยุทธและ “ธนา” ต้องเข้ามาสู่เกมแย่งชิงพิชิตหัวใจของผู้หญิงคนเดียวกันอย่าง “คุณหมอหทัยรัตน์” หรือในกรณีของความรักระหว่าง “ระพีพรรณ” กับ “ปวริศ” ก็ต้องเจ็บปวดและมิอาจสมหวังได้ เนื่องมาจากทิฐิความแค้นของบุพการีเพียงอย่างเดียว    ในท้ายที่สุดของเรื่อง เมื่อตัวละครทั้งหลายเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจความจริงของชีวิต และรู้จักที่จะอโหสิกรรมให้อภัยกันและกัน ละคร “สุดแค้นแสนรัก” เองก็ได้ให้คำตอบกับเราไปพร้อมๆ กันว่า ถ้า “ความรัก” กับ “ความแค้น” เป็นสองคำที่อยู่บนเหรียญสองด้านในจิตใจแล้ว หากมนุษย์เราไม่หัดรู้จักตัดวงจรของความโกรธที่ “สุดแค้น” ลงให้ได้ บาดแผลในจิตใจของเราก็มิอาจสูญสลายหายไป และอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่เรียกว่า “แสนรัก” ก็คงมิอาจเกิดขึ้นได้จริง

อ่านเพิ่มเติม >