ฉบับที่ 254 แจ้งแบบไหน จึงผิดฐานแจ้งความเท็จ

        ในช่วงนี้ ตามที่ปรากฎในหน้าข่าวเกี่ยวกับคดีของดาราท่านหนึ่งที่เสียชีวิตจากการไปล่องเรือ และปรากฎว่าตำรวจได้มีการตั้งข้อหากับผู้ที่อยู่บนเรือเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จ ซึ่งก็มีหลายคนสงสัยว่าแจ้งความเท็จเป็นยังไง มีโทษอย่างไรบ้าง ดังนั้น ในวันนี้ จึงขอหยิบยกประเด็นกฎหมายในเรื่องความผิดเกี่ยวกับการแจ้งความเท็จมาเล่าสู่กันฟังครับ        ความผิดฐานแจ้งความเท็จ เป็นความผิดทางอาญา โดยมีกำหนดอยู่ใน   ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 172 และ 173  ดังนี้          มาตรา 137 "ผู้ใด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ แก่เจ้าพนักงาน ซึ่ง อาจทำให้ ผู้อื่น หรือ ประชาชน เสียหาย ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน         มาตรา  172  บัญญัติว่าผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         มาตรา  173  บัญญัติว่าผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน  6,000  บาทน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”         การแจ้งความเท็จนั้น อาจทำได้โดย การบอกกับเจ้าพนักงาน การตอบคำถามเจ้าพนักงาน เช่น ให้การเท็จในฐานะเป็นพยาน  หรือการแจ้งโดยวิธีแสดงหลักฐานก็ได้ ข้อความที่แจ้งต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือในปัจจุบัน หากเป็นเรื่อง 'อนาคต' ไม่ถือเป็นความเท็จ  นอกจากนี้ การแจ้งความเท็จนั้นต้องมีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง มิใช่การแสดงความคิดเห็น หรือการคาดคะเนถึงเหตุการณ์ในอนาคตด้วย และผู้แจ้งต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าสิ่งตนเองแจ้งนั้นเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริงตามที่แจ้งเพราะหากแจ้งตามที่เข้าใจเช่นนี้ถือว่าผู้แจ้งไม่มีเจตนา         หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้ คงนึกถึงการไปแจ้งความกับตำรวจที่โรงพัก แต่ความจริงการกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จรวมถึงกรณีไปทำนิติกรรมหรือจดทะเบียนกับเจ้าพนักงานต่างๆ เช่น จดทะเบียนโอนที่ดินด้วย         คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2141/2532         จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องต่อ เจ้าพนักงานที่ดินขอรับมรดกที่ดินมีโฉนด แล้วจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำและยืนยันรับรองบัญชีเครือญาติต่อ เจ้าหน้าที่ที่ดินที่สอบสวนที่ดินมรดกว่า ผู้ตายมีทายาทเพียง 4 คน คือ จำเลยทั้งสี่ อันเป็นเท็จ ซึ่ง ความจริงจำเลยทั้งสี่ต่าง ทราบดี อยู่แล้วว่าผู้ตายยังมีบุตรสาวอีก 2 คน เป็นทายาทโดยธรรม เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ถึง ที่ 4 ตาม คำขอของจำเลยทั้งสี่ทำให้กรมที่ดินและบุตรสาวอีก 2 คน ของผู้ตายเสียหาย จำเลยทั้งสี่ย่อมมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จในวันที่กระทำความผิดนั้นเอง        นอกจากนี้  การที่ไปแจ้งความบอกเล่าตามความเข้าใจของตน แล้วต่อมาตำรวจไม่ได้ไปดำเนินคดีหรือเอาผิดกับผู้ถูกแจ้ง ก็ไม่ถือว่าผู้แจ้งมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะการที่ผู้ถูกแจ้งจะผิดหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตำรวจต้องไปดำเนินการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำความผิด        คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2555          จำเลยแจ้งข้อเท็จจริงโดยเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันพิพาทกับ ส. มีการชำระเงินค้างชำระจำนวนเท่าใด จนกระทั่งในวันเกิดเหตุจำเลยได้นำรถยนต์ไปพบโจทก์และ ส. เพื่อทำความตกลงกันและ ส. ได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้  ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริงที่ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับมิได้มีข้อความใดที่จำเลยกล่าวอ้างอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ข้อความที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจึงตรงตามสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่จำเลยแจ้งความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ส่วนการกระทำของโจทก์จะเป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่จำเลยแจ้งหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ  เพราะการแจ้งความย่อมหมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย แม้ต่อมาพนักงานสอบสวนจะไม่ได้ดำเนินคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยแจ้งก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นความเท็จ และถึงแม้จำเลยจะแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ และส. ในข้อหาร่วมกันชิงทรัพย์  ก็น่าเชื่อว่าเป็นการที่จำเลยกล่าวอ้างไปตามความเข้าใจของตน  ส่วนการกระทำตามที่จำเลยแจ้งจะเป็นความผิดดังกล่าวหรือไม่เป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวน  และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานใด

อ่านเพิ่มเติม >