ฉบับที่ 241 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2564

เตือนอย่าหลงเชื่อ "กู้เงินออนไลน์"         กระทรวงการคลัง เอาจริง เตรียมดำเนินคดีมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกประชาชนให้ "กู้เงินออนไลน์" ก่อนเก็บค่าดำเนินการอมเงินหนีหาย โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ดังนี้         - ต้องทำสัญญากู้เงิน และต้องโอนเงินค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน ซึ่งจะให้โอนเข้าบัญชีผู้ให้กู้เงิน ซึ่งเป็นชื่อบุคคลธรรมดา         - ผู้แอบอ้างบางราย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว และมีการแสดงหนังสืออนุญาตที่ทำการปลอมแปลงขึ้นมา         - ผู้แอบอ้างได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นชื่อนิติบุคคลของผู้ที่แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ         - ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อ พร้อมทั้งโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้าง และไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงินจึงขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ที่เว็บไซต์ www.1359.go.th และหากพบเบาะแสบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 หรือสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 มพบ. เรียกร้องสายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ระบุพร้อมดำเนินคดี          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย จึงได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า         ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว         39 องค์กรร่วมฟ้องบอร์ด กขค. ขอเพิกถอนคำสั่งควบรวมซีพีเทสโก้          15 มีนาคม  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมกันเป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง กรณีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ CP-Tesco อาจขัดกฎหมาย         จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 83.97% อีกทั้งเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกการตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันมากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม และขัดต่อสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างอิสระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ทั้งนี้พบว่ากว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1 – 20 % ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมาคือร้อยละ 23 เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิม หรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 6 วิธีจับสังเกตแชร์ลูกโซ่          กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม สรุปข้อสังเกตเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ 1.ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 2.เชียร์ให้ลงเงินเยอะๆ ไม่พูดถึงความเสี่ยง 3.เน้นหาเครือข่าย ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะยิ่งได้เงินเยอะ 4.หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ 5.อ้างคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน และ 6.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรับรอง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 225 ตัวแทนหรือแม่ข่าย แชร์ลูกโซ่มีความผิดหรือไม่

        สวัสดีครับ ฉบับนี้ผมขอหยิบยกเรื่องราวที่เป็นกระแสสังคมเกี่ยวกับการลงทุนหวังรวยไว ใช้เงินต่อเงิน ที่เรียกว่า “แชร์ลูกโซ่” อย่างแชร์แม่มณี ที่มีวงเงินความเสียหายกว่าพันสามร้อยล้านบาท  จริงๆ ว่าไปแล้ว เรื่องของปัญหาแชร์ลูกโซ่ เกิดวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจากแชร์น้ำมันแม่ชม้อย แชร์ก๊วยเตี๋ยว แชร์เทรดหุ้น เทรดเงิน เทรดทอง ยิ่งการสื่อสารที่ย่อโลกให้มาอยู่ในโทรศัพท์มือถือ เรามีเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์  พลังการแชร์ยิ่งมากขึ้น กดครั้งเดียว ข้อมูลหลอกลวงแพร่ไปสู่สังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว   เป็นผลให้วงเงินความเสียหายจากแชร์ลูกโซ่เพิ่มสูงขึ้น จำนวนผู้เสียหายจากเดิมกระจุกในกลุ่มจังหวัด ก็กระจายไปทั่วประเทศ           เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอก แน่นอนต้องตามหาคนรับผิดชอบ คำถามที่หลายคนสงสัยคือ พวกตัวแทนหรือแม่ข่ายทั้งหลายที่มาเชิญชวนให้เราไปลงทุน พวกเขามีส่วนรับผิดชอบแค่ไหน หรือเขาแค่ผู้เสียหายคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องรับผิดอะไรเลย อย่างที่ทราบว่ากรณีแชร์ลูกโซ่นี้ มีการฟ้องคดีขึ้นสู่ศาลมากมาย และศาลฎีกาก็ได้เคยตัดสินไว้แล้วว่า เหล่าตัวแทนหรือแม่ข่ายก็ต้องร่วมรับผิดในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนเช่นกันคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้นเป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อๆ ไป สมาชิกรายต้นๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า “กู้ยืมเงิน” และ “ผลประโยชน์ตอบแทน” ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 บาท ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้           สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากไว้สองเรื่องนะครับ เรื่องแรกคือ ขอให้ทุกท่านระวังอย่าหลงเชื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงผิดปกติ เพราะปัจจุบันโลกโซเชียลสามารถสร้างภาพลวงตาให้เราหลงเชื่อได้ง่าย อย่าลืมว่าคนที่เราเห็นอยู่ เราไม่ได้รู้จักเขาจริง ดังนั้นก่อนลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดี หลีกเลี่ยงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยคนชักชวนใช้ภาพถ่ายแสดงความร่ำรวย มีธุรกิจหลายอย่าง อย่าโลภหวังรวยทางลัดนะครับ เพราะสุดท้ายก็อย่างที่เห็นกันมันไม่ได้จบสวยงาม ต้องมาวิ่งวุ่นหาตำรวจ เดินสายเรียกร้องหน่วยงานทั้งหลายให้ช่วยดูแล เสียทั้งเงินและเวลา เรื่องที่สองคือหากใครจะทำ ก็เตรียมใจให้ดี อย่าคิดว่าเป็นแม่ข่าย แล้วจะรอด เพราะกฎหมายไปถึงด้วย โดยเฉพาะเนทไอดอล เซเลปทั้งหลาย จะโฆษณาการลงทุนแชร์ให้ใคร ก็ขอให้ระมัดระวัง ตรวจสอบที่มาที่ไปให้ดี เพราะเมื่อมีคนหลงเชื่อคุณ แล้วมาร่วมแชร์ถือว่ามีส่วนร่วมในการทำผิดด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 171 “แชร์ลูกโซ่” ธุรกิจมอมเมาคนอยากรวย

ข่าวการจับกุมผู้บริหาร บ. ยูฟัน ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน  เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาความอยากรวยของคนไทย  ซึ่งเป็นความฝันของคนส่วนใหญ่ จนบางครั้งลืมไปว่า สิ่งที่ฝันนั้นไม่ได้มาง่ายๆ อย่างที่คิด ความอยากรวย จึงเป็นช่องทางให้พวกมิจฉาชีพฉกฉวยโอกาสนำมาล่อลวงสุจริตชน  วิธีการที่นิยมคือ ใช้การนำเสนอการทำธุรกิจ ที่มีรูปแบบลักษณะการทำธุรกิจคล้ายกับธุรกิจเครือข่าย MLM ซึ่งย่อมาจากคำว่า Muti-level Marketing อาจใช้เรียกเป็นภาษาไทยว่าธุรกิจขายตรงแบบหลายชั้น ที่เรียกกันว่า “ธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถูกกฎหมาย“ธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM”   คือ รูปแบบทางการตลาด  ที่ต้องการนำสินค้าจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ช่องทางที่ว่านี้ใช้บุคคลเป็นคนโฆษณาสินค้า บอกเล่าเรื่องราวของสินค้า นำเสนอสินค้า รวมทั้งชักชวนคนมาทำธุรกิจได้ด้วย   ลักษณะการทำธุรกิจมุ่งเน้นไปที่ให้ผู้บริโภคภักดีต่อสินค้าและสร้างรายได้ให้กับตัวเอง โดยมีลักษณะดังนี้ผู้ผลิต สินค้าที่นำมาขายในช่องทางธุรกิจเครือข่าย มีทั้งเจ้าของธุรกิจเครือข่ายผลิตเอง และ นำสินค้ามาจากผู้ผลิตสินค้ารายอื่น ๆ เข้ามาจำหน่าย ผู้จำหน่าย หรือ ตัวแทนธุรกิจ คือบุคคลทั่ว ๆ ไปที่สนใจจะมาร่วมธุรกิจ ซึ่งทำหน้าที่จำหน่ายสินค้า และชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจ ยิ่งจำหน่ายสินค้ามากเท่าไหร่ หรือสามารถชวนคนเข้ามาร่วมธุรกิจได้ การจ่ายผลตอบแทนก็จะได้มากตามลำดับขั้นของบริษัทเครือข่ายนั้น ๆ ผู้บริโภค คือปลายทางสุดท้ายที่ใช้สินค้า รวมทั้งผู้จำหน่ายเองก็ต้องเป็นผู้บริโภคด้วย รูปแบบการโฆษณาสินค้าจะใช้วิธีปากต่อปาก  มีเครื่องมือการเป็น โบชัวร์ แคทตาล็อคสินค้า และคู่มือการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องผ่านการโฆษณาและพ่อค้าคนกลาง เหมือนกับการตลาดทั่วไป ลักษณะการทำธุรกิจแบบนี้เป็นที่น่าเชื่อถือ    จึงทำให้คนสนใจเข้ามาร่วมธุรกิจเครือข่ายจำนวนมาก เพราะเปิดโอกาสให้คนที่มีทุนน้อย ไม่มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ คนที่อยากมีรายได้เสริมจากงานประจำ และยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง ก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่สร้างรายได้จำนวนมาก เพียงเริ่มต้นจากการใช้สินค้าที่ดี และเมื่อเกิดความประทับใจในตัวสินค้าที่ใช้ ก็ทำการแนะนำบอกต่อให้คนที่รู้จักได้ใช้สินค้าที่ดีนั้นเหมือนกับตน  เราจะเห็นการทำธุรกิจประเภทนี้ประสบความสำเร็จ เช่น  แอมเวย์  กิฟฟารีน ฯลฯ ที่เปิดสาขามากมายเพื่อให้บริการสมาชิกและบุคคลทั่วไป การทำธุรกิจเครือข่าย หรือ MLM  จึงเป็นธุรกิจการตลาดแบบตรง  ซึ่งทุกบริษัทต้องมีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)  ตาม พระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545         แต่ บ.ยูฟันฯ ใช้กลวิธีหลอกลวงประชาชน แบบ “แชร์ลูกโซ่” ใช้ผลประโยชน์เป็นตัวล่อ โดยไม่มีสินค้า  อ้างการทำธุรกิจนี้เป็นการลงทุน ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับธุรกิจเครือข่ายหรือ MLM    โดยการหาสมาชิกใหม่อยู่ตลอดเวลา เจ้าของบริษัทจะได้รับเงินค่าสมาชิก และนำเงินค่าสมัครสมาชิกใหม่บางส่วน มาให้ผลประโยชน์ตอบแทนกับสมาชิกเดิม  ทำให้สมาชิกหลงเชื่อว่าได้รับผลประโยชน์ และเจ้าของบริษัทมักจะใช้ผลประโยชน์หลอกล่อและทำให้หลงเชื่อว่า  หากมีการสมัครสมาชิกต่อจากตัวเอง ผลประโยชน์จะได้รับเพิ่มขึ้น  จึงทำให้มีการบอกต่อและชักชวน ญาติพี่น้อง เพื่อนและคนรู้จักมาลงทุน บางคนได้รับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย จะทำอย่างไรให้ได้เยอะๆ  ก็ใช้วิธีการขายทรัพย์สินของตัวเอง หรือนำไปจำนอง เพื่อมาสมัครสมาชิกต่อตัวเอง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์  สุดท้ายเมื่อหมดคนที่ตัวเองรู้จัก  ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้  ก็จะไม่ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว  สุดท้ายผู้บริหารของบริษัทจะหนีหายไป หากไม่สามารถตรวจสอบได้  ก็จะกลับมาเปิดบริษัทเพื่อหลอกลวงต่อไปอีก  การกระทำของบริษัท ยูฟันฯ จึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545     ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจ  โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น     ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท          แต่หากความผิดนั้นเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนมีอัตราโทษหนักกว่าประมวลกฎหมายอาญา คือ  ผู้กระทำความผิดเรื่อง เรื่องการฉ้อโกงประชาชน ได้ระวางโทษผู้กระทำความผิดไว้เพียง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแต่อัตราโทษของผู้กระทำความผิดที่เข้าข่าย ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 นี้ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท และยังมีการปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่ หากมีเจ้าทุกข์จำนวนมาก ความผิดต่างกรรมต่างวาระ ต้องติดคุกถึงชาติหน้าอย่างแน่นอนคงต้องเป็นบทเรียนกับผู้ที่อยากมีรายได้เสริม หรือการประกอบธุรกิจ ว่าต้องตรวจสอบกันให้ถี่ถ้วน คิดให้รอบคอบ   แม้จะมีกฎหมายช่วยเหลือ  แต่เงินที่ได้รับคืนคงไม่เท่ากับเงินที่เสียไป หรืออาจไม่ได้เงินคืนเลย ดังสุภาษิตที่ว่า “โลภมาก ลาภหาย”  นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >