ฉบับที่ 195 แต่ปางก่อน : มองย้อนการเปลี่ยนผ่านอำนาจนำในสังคมไทย

ในขณะที่เส้นกราฟของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย กำลังก้าวขึ้นเป็นเส้นตรงไปข้างหน้า เราจะเห็นได้ว่า เส้นกราฟของละครโทรทัศน์บ้านเรา จะมีอีกมุมหนึ่งที่ผู้คนหวนกลับไป “ถวิลหาอดีต” หรือมองย้อนกลับไปหา “วันวานที่เคยหวานอยู่”  เฉกเช่นเดียวกับภาพที่เราเห็นผ่านละครตระกูลพีเรียดทั้งหลาย ซึ่งไม่เพียงแต่นำเสนอชีวิตตัวละครที่แต่งตัวย้อนยุคสวยๆ งามๆ หรืออยู่ในวังและคฤหาสน์หรูเลิศอลังการงานสร้างเท่านั้น หากทว่า ละครย้อนยุคเหล่านี้ยังสื่อความนัยไว้ด้วยว่า แม้กาลเวลาจะผันผ่านหรือสังคมก้าวหน้าทันสมัยไปมากเท่าไร ภาพจำลองความสุขความทุกข์ที่คนไทยในอดีตเคยดื่มด่ำใช้ชีวิตกันมา ก็ไม่เคยเลือนรางจางเจือหายไปได้เลย  ละครโทรทัศน์เรื่อง “แต่ปางก่อน” ก็เป็นอีกหนึ่งในละครแนวพีเรียด ที่หยิบอารมณ์รักโรแมนติกข้ามภพชาติมาเล่าเรื่องความผูกพันของตัวละครในอดีต ให้กับผู้ชมในยุคสมัยปัจจุบันที่ความรักและความผูกพันในชีวิตจริงของคนเราช่างดูเปราะบางยิ่งนัก ความรักผูกพันข้ามห้วงเวลาถูกสร้างผ่านตัวละครที่ใช้ชีวิตในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 6 อย่าง “หม่อมเจ้ารังสิธร” หรือ “ท่านชายใหญ่” บุตรชายคนเดียวของ “เสด็จในกรมฯ” และ “หม่อมพเยีย” ที่ได้มาประสบพบรักกับ “ม่านแก้ว” เจ้านางจากฝั่งประเทศลาว ที่มาศึกษาเล่าเรียนในสยามประเทศ และมาพำนักอาศัยอยู่ในเรือนของเสด็จในกรมฯ  เนื่องจากเจ้านางม่านแก้วเป็นสตรีพลัดถิ่นฐานจากต่างบ้านต่างเมืองมา กอปรกับท่านชายใหญ่เองก็ถูกจับเป็นคู่หมั้นหมายไว้กับ “หม่อมเจ้าหญิงวิไลเลขา” ผู้มีศักดิ์เป็นญาติผู้น้อง ทำให้หม่อมพเยียกับท่านหญิงวิไลเลขาร่วมกันกีดกันความรักของทั้งคู่ จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ม่านแก้วถูกวางยาพิษและเสียชีวิตคาห้องหอในคืนส่งตัวแต่งงาน แต่ด้วยความรักความผูกของทั้งคู่ ทำให้ “แม้มีอุปสรรคขวากหนาม” ท่านชายใหญ่และเจ้านางม่านแก้วต่างจึงเลือก “ขอตามมิยอมพลัดพรากจากกัน” เพราะฉะนั้น ในขณะที่วิญญาณของท่านชายใหญ่ “รอคอยเธอนานแสนนาน” และ “ทรมานวิญญาณหนักหนา” อยู่ในเรือนหอรอร้างแห่งนั้น ม่านแก้วก็ได้กลับมาเกิดในชาติใหม่เป็น “ราชาวดี” คุณครูประจำโรงเรียนสตรีกุลนารีวิทยา ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตและวนเวียนกลับมาถือกำเนิดอีกคำรบหนึ่ง เป็น “อันตรา” และครองคู่ในตอนท้ายกับ “หม่อมหลวงจิราคม” ซึ่งก็คือท่านชายใหญ่ผู้กลับมาเกิดใหม่เพื่อพบกับหญิงคนรักในชาติเดียวกัน บนโครงเรื่องแบบรักข้ามภพชาติ ประกอบกับการขานขับทำนองเพลงลาวม่านแก้วที่ท่านชายใหญ่บรรจงบรรเลงให้หญิงคนรักได้สดับตรับฟัง ละครก็คงต้องการนำเสนอให้เห็นว่า ความรักโรแมนติกข้ามกาลเวลาดูจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แม้จะอยู่ใน “อุปสรรคขวากหนาม” ที่ขวางกั้นมากมาย แต่ที่คู่ขนานน่าสนใจไปกับการผูกเรื่องราวรักโรแมนติกย้อนยุคเยี่ยงนี้ ก็คือการให้ผู้คนในปัจจุบันได้หวนกลับไปทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นอดีต โดยเฉพาะการฉายภาพชะตากรรมของตัวละครที่กลับมาเกิดใหม่ชาติแล้วชาติเล่า ที่ฉากหลังเป็นการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอำนาจนำทางสังคมในแต่ละช่วงสมัยด้วยเช่นกัน โดยเมื่อย้อนกลับไปในยุคศักดินานั้น แน่นอนว่า อำนาจนำในสังคมไทยจะถูกรวมศูนย์อยู่ในขอบขัณฑ์ของราชสำนัก เพราะชนชั้นสูงในยุคดังกล่าวถือเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่ครอบครองปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มที่มีอภิสิทธิ์และบารมี และเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ยึดครองการผลิตและใช้ความรู้ต่างๆ ของสังคม ดังนั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำเหล่านี้ ความขัดแย้งนั้นก็จะส่งผลกระทบถึงคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมไทยโดยภาพรวม และที่สำคัญ เมื่อคนกลุ่มนี้เป็นขุมพลังที่ผลิตความรู้แห่งยุคสมัย แบบเดียวกับที่ตระกูลของท่านหญิงวิไลเลขาได้สั่งสมทุนความรู้พร้อมศาสตร์และศิลป์แห่งการปรุงยาแผนโบราณมาอย่างยาวนาน เธอก็สามารถบริหารอำนาจความรู้เพื่อสั่งเป็นสั่งตายวางยาพิษให้กับเจ้านางม่านแก้วสิ้นชีวิตในคืนส่งตัวเข้าหอได้นั่นเอง  แต่เมื่อเข้าสู่ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมายังสงครามโลกครั้งที่สอง อำนาจของชนชั้นนำกลุ่มเดิมเริ่มถดถอยลง พร้อมๆ กับที่กลุ่มคนชั้นกลางเริ่มก่อรูปก่อร่างสถาปนาตัวตนทางสังคมขึ้นมา ความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่มที่ช่วงชิงอำนาจนำเช่นนี้ ก็ปรากฏออกมาเป็นภาพที่ราชาวดีกับท่านหญิงวิไลเลขาได้ปะทะต่อสู้อำนาจระหว่างกันเป็นระลอกๆ  ท่านหญิงวิไลเลขาอาจมีทุนความรู้ดั้งเดิมที่สั่งสมผ่านสายตระกูล และมีอำนาจบารมีเป็นทุนสัญลักษณ์ที่สืบต่อกันมาแต่เก่าก่อน แต่ทว่า คุณครูอย่างราชาวดีเองก็มีทุนความรู้สมัยใหม่ ที่ค่อยๆ สั่งสมเพื่อเข้าสู่การเป็นกลุ่มชนชั้นนำใหม่อีกกลุ่มในสังคมไทย ดังนั้น ราชาวดีจึงไม่ใช่คนพลัดถิ่นที่อำนาจน้อยแบบม่านแก้ว และก็ไม่ใช่คนที่จะยินยอมต่ออำนาจครอบงำที่มีมาแต่เดิมอีกต่อไป แม้ว่าในบทสุดท้ายของภพชาตินี้ เธอเองก็ยังถูกความรู้ของท่านหญิงวิไลเลขาวางยาจนเสียชีวิตไปในที่สุด และเมื่อเข้าสู่ชาติสมัยในปัจจุบัน อันตราผู้เป็นทายาทเจ้าของกิจการโรงแรมหรูหราในเมืองหลวง ก็คือตัวแทนของชนชั้นนำกลุ่มใหม่ ในช่วงยุคที่อำนาจทางสังคมของชนชั้นศักดินาเดิมเริ่มเจือจางบางเบาลง เหมือนกับตัวละคร “หม่อมราชวงศ์จิรายุส” และ “หม่อมหลวงสวรรยา” บิดามารดาของจิราคมที่ความมั่งคั่งในอดีตดูจะร่อยหรอลงไปในพัฒนาการชีวิตตัวละครในช่วงท้ายเรื่อง กลุ่มชนชั้นนำที่สถาปนาอำนาจขึ้นใหม่ในปัจจุบันนี้ แท้จริงก็ได้แก่บรรดาคนชั้นกลางที่ไม่เพียงจะมีทั้งทุนความรู้และฐานะเศรษฐกิจที่มากมายและมั่งมีเท่านั้น แต่พวกเขาและเธอก็ยังเป็นกลุ่มอำนาจนำที่สั่งสมสถานะทางสังคมและเกียรติยศศักดิ์ศรีไว้อย่างสูงส่ง โดยเจริญรอยตามเส้นทางที่ชนชั้นศักดินาในอดีตเคยกรุยทางเอาไว้นั่นเอง พัฒนาการความผูกพันของตัวละครที่เดินทางข้ามห้วงเวลา จึงมิใช่แค่บทสะท้อนให้ผู้ชมตราตรึงกับความรักโรแมนติกของท้องเรื่องเท่านั้น หากแต่ยังสื่อสารให้เห็นการผันผ่านโครงสร้างอำนาจที่ปะทะประสานกันในมือของกลุ่มชนชั้นนำในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงราวศตวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะ “เป็นรอยบุญมาหนุนนำ” หรือจะเป็น “รอยกรรมรอยเกวียนที่หมุนเปลี่ยนเสมอ” แต่ที่แน่ๆ ภาพการวิวัฒน์ไปของชีวิตตัวละครจาก “แต่ปางก่อน” ถึง “ยุคปัจจุบัน” ก็เป็นดั่งภาพการสะท้อนย้อนคิดให้เราเห็นอำนาจและบทบาทของชนชั้นนำที่เปลี่ยนผ่านและถ่ายมือกันไปมาจากรุ่นสู่รุ่นฉะนี้เอง

อ่านเพิ่มเติม >