ฉบับที่ 237 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2563

ระวังมิจฉาชีพปลอมใบสำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคล        นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า มีธุรกิจหรือผู้ไม่หวังดีได้นำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท (แบบ พค.0401) ซึ่งเป็นเอกสารที่กรมฯ ออกให้ภายหลังที่รับจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เพื่อแสดงว่าได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว แต่มิจฉาชีพได้นำมาปลอมแปลงเป็นชื่อธุรกิจของตนเอง จึงขอเตือนประชาชนให้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบการมีตัวตนของธุรกิจที่แน่ชัด สำหรับการตรวจสอบแบบ พค.0401 ว่าเป็นของจริงหรือไม่ สามารถพิจารณาได้จากชื่อของนิติบุคคลต้องพิมพ์เป็นภาษาไทยเท่านั้น และต้องมีลายน้ำเป็นตราสัญลักษณ์กระทรวงพาณิชย์ หรือนำเลขทะเบียนนิติบุคคลไปตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลผ่าน 2 ช่องทาง         คือ 1) Moblie Application : DBD e-Service และ 2) เว็บไซต์กรมฯ www.dbd.go.th เท่านั้น (ค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) เลือกหัวข้อบริการออนไลน์ จากนั้นเลือก บริการข้อมูลธุรกิจ และ DBD Datawarehouse+ ไม่เสียค่าบริการใดๆ และใช้งานระบบได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปรับแผนห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงกะทันหัน         เมื่อกลางเดือน พ.ย. กทม.และสตช. แถลงเตรียมแผนรับมือค่าฝุ่น PM 2.5 โดยออกคำสั่งห้ามรถยนต์ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ในช่วงเวลา 06.00 - 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 63 ไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ในปี 64 เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากควันรถเผาไหม้ไม่สมบูรณ์นั้น         29 พ.ย. ปรับแผนใหม่ เนื่องจากกระทบธุรกิจหลายภาคส่วน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือ สตช. เบรกประกาศห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงแล้ว แต่จะลุยตั้งด่านตรวจควันดำ 20 จุด พร้อมรณรงค์ WFH แทน  พาวเวอร์แบงก์ไม่มี มอก.เจอโทษหนัก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ สมอ.ได้ประกาศให้ 'เพาเวอร์แบงก์' เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพาเวอร์แบงก์ทุกยี่ห้อทุกชิ้นจะต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรอง หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษตามกฎหมาย        กรณีที่ทำหรือนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จ้าง “แท็กซี่” บรรทุกสัมภาระคิดค่าบริการเริ่มต้น 20 บาท/ชิ้น         16 พ.ย. 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการอื่น กรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษสำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI – METER) ที่จดทะเบียนในกรุงเทพมหานคร 2563 ลงนามประกาศ ณ วันที่ 28 ต.ค. 2563 โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม         โดยประกาศฉบับใหม่นี้ กำหนดความหมายของคำว่า “สัมภาระ” หมายถึง สินค้า สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่มีการบรรจุกล่องกระเป๋า มัดรวม หรือบรรจุหีบห่อ และที่มิได้บรรจุแต่มีขนาด ปริมาณ ความกว้าง ความสูงเกินกว่าเป็นสัมภาระติดตัว แต่มิให้หมายความรวมถึงรถเข็นหรืออุปกรณ์สำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย เช่น วีลแชร์ ไม้เท้า ส่วนคำว่า ”สัมภาระ” ติดตัว หมายถึงสัมภาระที่อยู่ในความดูแลของคนโดยสารระหว่างการเดินทาง เช่น กระเป๋าถือ กระเป๋าคอมพิวเตอร์ เป้สะพายหลังและให้หมายถึงของใช้ส่วนตัวที่ติดตัวคนโดยสารด้วย         ส่วนการคำนวณค่าบริการอื่นกรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษ ให้กำหนด ดังนี้ (1) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดความกว้าง ความยาว หรือความสูงด้านใดด้านหนึ่งเกินกว่า 26 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท (2) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระที่มีขนาดความกว้าง ความยาว หรือความสูงด้านใดด้านหนึ่งไม่เกิน 26 นิ้วเกินกว่า 2 ชิ้น ให้เรียกเก็บค่าบริการตั้งแต่ชิ้นที่ 3 ขึ้นไป ในอัตราชิ้นละไม่เกิน 20 บาท ทั้งนี้ ไม่นับรวมกับสัมภาระตามความหมายข้างต้น (3) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระเป็นอุปกรณ์การกีฬาจำพวก ถุงกอล์ฟ รถจักรยาน วินด์เซิร์ฟหรือเครื่องดนตรี ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราชิ้นละไม่เกิน 100 บาท (4) การจ้างที่มีการบรรทุกสัมภาระเป็นสินค้า สิ่งของ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ที่บรรจุกล่อง และที่มิได้มีการบรรจุกล่อง แต่มีการมัดรวมหรือหีบห่อรวมกันไว้ ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 50 นิ้วขึ้นไป ให้เรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่บรรจุกล่อง มัดรวมหรือหีบห่อชิ้นละไม่เกิน 100 บาท (5) การวัดขนาดของสัมภาระ มิให้วัดล้อหรืออุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนที่รวมคำนวณเป็นขนาดของสัมภาระด้วย (6) การเรียกเก็บค่าบริการอื่นกรณีการจ้างโดยมีบริการพิเศษ ให้เรียกเก็บได้ในกรณีการจ้างจากท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือการจ้างจากสถานที่อื่นไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างแจ้งอัตราค่าบริการให้ผู้โดยสารทราบล่วงหน้าก่อนทำการรับจ้าง         ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัดเปิดเผยชื่อสินค้าที่ทดสอบ        เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยแพร่ผลทดสอบจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิต         ต่อมาวันที่ 20 ก.ค. บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยอ้างว่ามูลนิธิฯ หมิ่นประมาทบริษัท และมีการระบุว่า "... ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ ...”        ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงแถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ผู้บริโภคสามารถส่งกำลังใจให้กับมูลนิธิฯ ด้วยการใช้ข้อมูลนิตยสารฉลาดซื้อ และแสดงออกถึงการสนับสนุนให้มูลนิธิฯ เดินหน้าในการทดสอบสินค้าและเปิดเผยชื่อสินค้า เพื่อนำไปสู่การเฝ้าระวังให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อผู้บริโภคในสังคมไทยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 กู้แบงค์ผ่าน แต่คุณภาพบ้านไม่ผ่าน อยากบอกเลิกสัญญาขอเงินค

  เป็นปัญหาเรื่องบ้านๆ ที่ฉีกไปอีกมุม แต่น่าสนใจไม่แพ้ในหลายเรื่องที่เคยนำเสนอไปคุณสุปราณี ส่งแฟกซ์ขอคำปรึกษามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมาเธอเล่าว่า เมื่อประมาณวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553 ได้เข้าไปดูตัวอย่างบ้านที่โครงการโฮมการ์เด้นวิลล์-บายพาส ของบริษัท อิมเมจ พร็อพเพอร์ตี้ ทู จำกัด ซึ่งตั้งสำนักงานขายอยู่ที่ถนนรัตนพิธาน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาดูแบบบ้านตัวอย่าง เห็นรายการของแถมต่างๆ พิจารณาราคาบ้านและที่ดินตก 1.6 ล้าน แถมโครงการยังมีสัญญาที่มีเงื่อนไขว่า หากกู้ธนาคารไม่ผ่าน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน โครงการยินดีคืนเงินจองเงินทำสัญญาให้ลูกค้าทันทีคุณสุปราณีเธอปิ๊งทันทีครับ เห็นสัญญาและเงื่อนไขแบบนี้ จึงตกลงวางเงินจองเงินทำสัญญารวม 40,000 บาทในวันนั้นทันทีคุณสุปราณี คงเป็นคนที่มีเครดิตดีมากในสายตาของธนาคาร เพราะผลการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารผ่านเกิน 90% ของราคาบ้านและที่ดิน จึงโทรไปแจ้งโครงการเพื่อนัดโอนบ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 27 มกราคม 2554 และไม่ลืมแจ้งกับโครงการว่าจะขอเข้าตรวจเช็คสภาพความเรียบร้อยของบ้านก่อนในช่วงเช้าของวันที่นัดหมายโอนบ้านการขอดูความเรียบร้อยของบ้านก่อนโอนถือเป็นความรอบคอบที่คุ้มค่ามาก ในวันที่ 25 มกราคมก่อนถึงวันโอนบ้าน 2 วัน คุณสุปราณีไปเซ็นสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อเตรียมจ่ายเช็คให้กับโครงการตามวันที่นัดไว้ แต่พอได้ไปดูสภาพบ้านในช่วงเช้าของวันโอน ก็ต้องร้องโอย...เพราะสภาพบ้านยังไม่เรียบร้อย ช่างไม่มีการเก็บงานและยังไม่ติดตั้งของแถมให้ตามเงื่อนไข ตัดสินใจเซย์โนไม่โอนบ้านทันที วันรุ่งขึ้นโทรศัพท์ไปแจ้งเซลล์ว่าขอยกเลิกไม่โอนบ้าน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เดินทางเข้าไปเซ็นเอกสารขอเงินค่าทำสัญญาคืน แต่พอถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ เซลล์โทรมาแจ้งว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว และไม่คืนเงินทั้งหมดให้คุณสุปราณีจึงส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี เพราะเสียความรู้สึกไปตั้งแต่ทีแรกแล้วกับการดำเนินการของโครงการ แนวทางแก้ไขปัญหาการที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถสร้างบ้านให้เสร็จเรียบร้อยได้ในระยะเวลาที่กำหนดกันไว้ตามสัญญา แม้จะหลุดไปเพียงแค่วันหรือสองวัน ผู้บริโภคมีสิทธิใน 2 ทางเลือก คือ จะรับโอนบ้านหรือยืนยันบอกเลิกสัญญาขอเงินจองเงินทำสัญญาคืนก็ได้เข้าใจว่า คุณสุปราณี เธอคงไม่แน่ใจในคุณภาพบ้านว่าจะเรียบร้อยจริงหรือเปล่าตามที่เซลล์บอกมา และไม่อยากเสียเวลากับโครงการ จึงยืนยันเจตนาที่จะขอบอกเลิกสัญญาและขอเงินค่าทำสัญญาคืน เราจึงแนะนำให้ทำจดหมายบอกเลิกสัญญาขอเงินคืนแจ้งถึงกรรมการผู้จัดการฝั่งผู้ประกอบธุรกิจไปให้ชัดแจ้ง พร้อมเขียนท้ายจดหมายว่าสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยไม่ต้องไปส่งด้วยตัวเอง แต่ให้ใช้วิธีส่งเป็นจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปไม่นาน...คุณสุปราณีก็ได้รับเงินคืนตามข้อเรียกร้องเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับฝั่งผู้ประกอบธุรกิจว่า “สัญญาต้องเป็นสัญญา” ถ้าไม่รักษาสัญญากับผู้บริโภคที่มีความฉลาดขึ้น รับประกันว่าขายสินค้าไม่ได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 แบงค์จ่ายเงินให้เช็คปลอม ขอรับผิดครึ่งเดียว

อ่านเรื่องนี้แล้วคุณคงนึกถึงนิทานเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” คุณโส่ยเป็นผู้มีอันจะกิน ได้รับเลี้ยงเด็กชายคนหนึ่งไว้เป็นลูกบุญธรรมเลี้ยงจนโตเป็นหนุ่ม เฝ้าฟูมฟักรักถนอมและให้ความไว้วางใจเหมือนลูกในไส้ แต่บุญคุณที่ให้ไปกับลูกบุญธรรมดูเหมือนน้ำที่เติมลงในถังที่มีรูรั่วเต็มไปหมด เติมเท่าไหร่ไม่เคยพอ จนสร้างความทุกข์ใจให้คุณโส่ยและครอบครัวตลอดมา ท้ายสุดของจุดแตกหักที่คุณโส่ยไม่อาจให้อภัยได้ เมื่อรู้ว่าลูกบุญธรรมแอบย่องเบาเข้าไปในห้องนอนและไปเปิดลิ้นชักลักขโมยเช็คเปล่าของคุณโส่ยออกไปทีละฉบับๆ หายไปถึง 31 ฉบับ ช่างมีความอุตสาหะกระทำการย่องเบาขยันลักเช็คทั้งกลางวันและกลางคืนในช่วงที่ไม่มีคนอยู่เมื่อคุณโส่ยไปตรวจสอบเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารกสิกรไทย สาขาสมุทรสาคร พบว่ามีเงินหายไปจำนวนมาก หลายกรรม หลายวาระ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2551ส่วนใหญ่จะหายไปครั้งละ 20,000-30,000 บาท ทุกครั้งล้วนเป็นฝีมือของเจ้าลูกเนรคุณทั้งสิ้น โดยเป็นผู้สวมลายมือปลอมลายเซ็นของคุณโส่ยสั่งจ่ายเงินตามตัวเลขที่กรอกเอาตามอำเภอใจแล้วนำไปขึ้นเงินกับพนักงานของธนาคารเมื่อคุณโส่ยเห็นลายเซ็นไม่ได้มีความเหมือนกับลายเซ็นของตัวเอง ก็เฝ้าถามธนาคารว่าปล่อยเงินออกไปได้อย่างไรถึง 20 ฉบับเป็นเงินกว่า 710,000 บาท นี่หากรู้ความจริงช้ากว่านี้คุณโส่ยอาจต้องสูญเงินเพิ่มอีกหลายแสนแน่เพราะยังมีเช็คที่ถูกลักไปเหลืออยู่ในมือลูกเนรคุณอีก 11 ฉบับคุณโส่ยทั้งช้ำทั้งแค้นเมื่อรู้ความจริง จึงไล่ลูกเนรคุณออกจากบ้านและแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ตำรวจได้ออกหมายจับและสามารถติดตามจับกุมนำตัวลูกบุญธรรมคนนี้มาขึ้นศาลได้ และศาลได้พิพากษาให้ต้องรับโทษจำคุกถึง 22 ปีฐานความผิดปลอมเอกสาร ความผิดใช้เอกสารปลอมและความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน แต่เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี และให้ชดใช้ราคาเช็ค 20 ใบเป็นเงิน 300 บาทแก่ผู้เสียหาย ถือเป็นคดีลักทรัพย์เล็ก ๆ แต่โทษสูงมากทีเดียวครับแต่เรื่องนี้ยังไม่จบครับเพราะเงินในบัญชีกว่า 7 แสนบาทที่หายไปจะทำอย่างไร ใครควรรับผิดชอบ ตัวคุณโส่ยหรือธนาคารแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครับซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาออกมาเป็นแนวไว้ตามฎีกาที่ 6280/2538 ว่า จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฎิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆ ไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ตามแนวฎีกานี้มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายเรียกร้องต่อธนาคารเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบธุรกิจที่ดีที่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคก่อนเป็นเบื้องต้น หากมามุขปฏิเสธหรือประวิงเวลาผู้บริโภครายนี้สามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายต่อไปได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม >