ฉบับที่ 276 เจอสิ่งแปลกปลอมในกระปุก “ผิวส้ม” อบแห้ง

        “ผิวส้ม” อบแห้ง ขนมย้อนวัยยุค 90 ยอดฮิต ที่คุณกล้าชื่นชอบเป็นอย่างมากแต่มันกับทำให้คุณกล้าต้องเซ็ง! เพราะดันเจออะไรก็ไม่รู้แปลกๆ ปนมาด้วยนะสิ         คุณกล้าได้มาร้องเรียนและเล่าเรื่องราวให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟังว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาได้ไปซื้อ “ผิวส้ม แมนดาริน” มาจากร้านขายยาแถวบ้าน 1 กระปุก ราคา 25 บาท หลังจากได้มาเขาและครอบครัวก็แบ่งกันรับประทานจนผิวส้มที่อยู่ในกระปุกเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลืออยู่ 2 ชิ้นสุดท้าย คุณกล้าบอกว่าใน 2 ชิ้น สุดท้ายนี้ละที่ทำให้เขาถึงกับต้องร้องยี้! เพราะได้เจอกับ “ก้นบุหรี่” ในกระปุกแถมเหมือนก้นบุหรี่จะได้ผ่านการใช้งานมาแล้วซะด้วย จึงทำให้เขาและครอบครัวเริ่มเกิดความกังวล เนื่องจากได้รับประทานไปแล้ว อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนและโรคติดต่ออยู่ด้วยหรือไม่ แค่นึกก็ขนลุกขนพอง แล้วถ้ามีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ จึงอยากได้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรดี?              แนวทางการแก้ไขปัญหา                    ก่อนหน้าจะเข้าปรึกษากับมูลนิธิฯ คุณกล้าก็ได้ติดต่อไปที่ทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้า “ผิวส้ม อบแห้ง” แล้วแต่ยังเจรจากันไม่ได้ข้อตกลงอันเป็นที่หน้าพอใจ ซึ่งทางคุณกล้าเองนั้นต้องการขอเรียกค่าเสียหายครั้งนี้เป็นมูลค่า 25,000 บาท         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปทางบริษัทผู้จำหน่ายสินค้าดังกล่าวเพื่อช่วยเจรจากับทางบริษัท ซึ่งทางบริษัทก็ได้แจ้งว่า “ขออภัยในสิ่งที่เกิดขึ้น และให้เหตุผลว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ทางบริษัทสั่งตัวผิวส้มเข้ามาแล้วดำเนินการบรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่สามารถควบคุมการบรรจุหีบห่อได้” และจะชดเชยผู้เสียหายเป็นขนมชุดใหญ่ รวมถึงคืนเงินค่าสินค้าและยกเลิกการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวอีกด้วย ถือว่าผู้จำหน่ายมีความรับผิดชอบอยู่พอสมควร         อย่างไรก็ตามทางผู้ร้องคือคุณกล้าได้ปฏิเสธการชดเชยดังกล่าวพร้อมกับได้ทำหนังสือร้องเรียนไปทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบผู้จำหน่ายขนมดังกล่าวอีกด้วย สำหรับคุณกล้าหากประสงค์ในเรื่องการชดเชยค่าเสียหายก็สามารถใช้สิทธิทางศาลได้เช่นกัน         ฝากถึงผู้บริโภคหากพบเจอปัญหาลักษณะเดียวกับคุณกล้า ควรเตรียมเอกสารดังนี้         1. ถ่ายรูปฉลากและตัวสินค้า รวมถึงสิ่งแปลกปลอมที่พบ พร้อมเก็บหลักฐานตัวบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน         2. นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อเป็นหลักฐาน         3.ติดต่อบริษัทเพื่อเจรจาเรื่องการชดเชยค่าเสียหาย         4.ติดต่อทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับดูแล ด้านอาหารได้แก่ อย. หรือในต่างจังหวัด ร้องเรียนได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เกิดเหตุ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เจอแมลงสาบในอาหารของห้างดัง

        ในโลกออนไลน์มีข่าวการพบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เนื่องจากสิ่งแปลกปลอมนั้นอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายเราได้ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ เองก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่บ่อยครั้ง แต่ละกรณีชวนให้คิดว่าทำไมกระบวนการผลิตจึงมีปัญหา เพราะขาดการควบคุมเรื่องสุขอนามัยหรือขาดความรอบคอบใช่หรือไม่         เหมือนกับผู้ร้องรายนี้ คุณน้ำตาล เธอเล่าว่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เธอได้เข้าไปรับประทานอาหารที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยเธอก็เลือกที่จะกินอาหารตามสั่งในโซนศูนย์อาหารของห้าง ขณะกำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยจนใกล้จะหมดจานแล้ว ก็พบว่า... มันมีอะไรแปลกๆ นะที่อยู่ในจานนั้น เมื่อลองเขี่ยดูก็พบว่า มันคือน้องปีเตอร์ (แมลงสาบนั้นเอง) เธอตกใจมาก พะอืดพะอมขึ้นมาทันที ทำไมอาหารที่กินถึงมีแมลงสาบได้และก็กินอาหารไปแล้วเกือบจะหมดจาน เลิกกินสิคะ แล้วนำจานไปบอกที่ร้านทันที พร้อมกับแจ้งพนักงานของทางห้างด้วย ทางร้านค้าก็ได้มีการขอโทษขอโพยกับเธอและพร้อมจะจ่ายค่าอาหารคืนให้        แต่...เธอนั้นอยากให้ทางร้านมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ จึงได้มีการปฏิเสธทางร้าน โดยจะไม่รับเงิน และแจ้งกับทางพนักงานของห้างว่า “เธอจะไปตรวจสุขภาพและทางร้านต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย”  ซึ่งทางพนักงานรับเรื่องเธอไว้และแจ้งว่าจะติดต่อกลับในภายหลัง แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเลย จึงได้มาร้องเรียนเพื่อให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องจึงติดต่อไปหาผู้ร้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ทันทีเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและขอเอกสารเพิ่มเติม พร้อมกับแนะนำให้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน และวันถัดไปทางมูลนิธิฯ ทำหนังสือถึงบริษัทฯพร้อมสำเนาหนังสือไปยังสาขาที่เกิดเหตุเพื่อขอให้ดำเนินแก้ไขปัญหาต่อมาจึงได้ประสานติดต่อพนักงานของห้าง ทราบว่า ทางบริษัทฯ  ได้ดำเนินการเยียวยาค่าเสียหายกับผู้ร้องไปแล้ว โดยมีค่าชดเชยเยียวยา ได้แก่ ค่าตรวจสุขภาพ  ค่าอาหาร ค่าเสียเวลา  ค่ายาที่ผู้ร้องซื้อจากร้านยารวมทั้งสิ้น 7,020 บาท ซึ่งทางผู้ร้องก็ได้ตกลงรับเงินเยียวยาต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 260 พบพลาสติกในถุงบ๊วยสามรส

        อาหาร ขนม หรือผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพต่างๆ ที่มีขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าทั่วไป คนส่วนมากจะมั่นใจว่าขั้นตอนในการผลิตนั้นจะต้องปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะว่ามีมาตรฐานการผลิตหรือ อย. รับรองอยู่ แต่บางครั้งก็อาจจะมีผิดพลาดกันได้ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไร มาดูกัน         คุณน้ำตาลได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์สินค้า “บ๊วยสามรส” ชื่อให้อารมณ์ประมาณกินแล้วตื่นแน่นอน โดยเรื่องมีอยู่ว่า วันนั้นเธอไปซื้อบ๊วยยี่ห้อโปรดที่เธอกินเป็นประจำจากห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เมื่อได้บ๊วยของโปรดมาก็นำกลับบ้าน ตอนที่เธอแกะบ๊วยและส่งเข้าปาก ในขณะที่กำลังเคี้ยวๆ บ๊วยสุดโปรดนั้น ก็พบว่า ทำไมมีสัมผัสแปลกๆ แข็งๆ อยู่ในปาก ตอนนั้น “ตกใจมาก”         เมื่อคายสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมาดูก็ต้องเจอกับพลาสติกขนาด 1 เซนติเมตร (ซึ่งไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่มาจากห่อบ๊วย) คุณน้ำตาลคิดในใจ “ดีนะ ที่ไม่กลืนไปเสียก่อน” เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบคุณน้ำตาลจึงได้โทรศัพท์ไปร้องเรียนกับทางผู้ผลิตสินค้า เพื่อตามหาความรับผิดชอบ        ทางบริษัทไม่ได้ปฏิเสธแต่แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้ว่า บริษัทฯ จะติดต่อกลับพร้อมมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษให้คุณน้ำตาลเพื่อเป็นการเยียวยา ซึ่งคุณน้ำตาลคิดว่าน่าจะไม่ใช่แบบนี้ แค่นี้ก็พอหรือ คุณน้ำตาลต้องการให้ทางบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยจ่ายเป็นเงินเยียวยาพร้อมทั้งคำขอโทษเป็นลายลักษณ์อักษรของบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อคุณน้ำตาลเจรจากับทางบริษัทก็ยังหาขอสรุปไม่ได้สักที เนื่องจากทางบริษัทยืนยันที่จะชดเชยโดยการมอบกระเช้าและทำหนังสือขอโทษเพียงเท่านั้น จึงได้เข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา                ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ติดต่อไปทางบริษัทเพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งทางบริษัทได้ตอบกลับมาว่า ได้มีผู้คนมาร้องเรียนกรณีดังกล่าวและได้เรียกเงินชดเชย 5,000 บาทจริง อย่างไรก็ตามทางบริษัทมองว่ามากเกินไป ยืนยันจะให้กระเช้าพร้อมกับคำขอโทษเหมือนเดิมหรือถ้าหากไม่เอากระเช้าก็จะขอชดเชยเยียวยาเงินคืนให้เท่ากับราคาสินค้ามากกว่าเดิมประมาณ 5 เท่า ถุงละ 120x5 = 600 บาท         เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อมูลดังนั้น จึงโทรไปสอบถามทางผู้ร้องอีกรอบ ซึ่งผู้ร้องก็ยังคงยืนยันที่ต้องการให้บริษัทชดเชยเงินเยียวยาจำนวน 2,000 - 5,000 บาท พร้อมทำหนังสือขอโทษส่งมาทางอีเมลหรือเฟซบุ๊ก หลังจากแจ้งเจตนาของผู้ร้องและประสานงานเพื่อไกล่เกลี่ยกันแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตยอมรับข้อเสนอโดยตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ทางผู้เสียเป็นเงิน 2,000 บาท พร้อมทั้งผู้ผลิตฝากขอโทษไปถึงผู้ร้องอีกรอบถึงเรื่องที่เกิดขึ้น อันเป็นว่าจบไปได้โดยดี         อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวถึงขั้นได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เมื่อต้องเข้ารับการรักษาควรที่จะต้องขอใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและเก็บไว้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ ถ้าผู้บริโภคเจอเรื่องดังกล่าวก็ควรที่จะเรียกร้องสิทธิและค่าชดเชยเยียวยา เพราะหากผู้ผลิตรับทราบก็จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 เจ้าตูบหวิดกระเพาะทะลุหลังพบเศษกระดูกในอาหารสุนัข

        ปัจจุบันตลาดอาหารสุนัขยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขรูปแบบต่างๆ ที่วางจำหน่ายกันหลายยี่ห้อ โดยมีกลยุทธ์ต่างๆ มาดึงดูดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงได้เลือกซื้อ แต่ในหัวอกคนรักสุนัขแล้วย่อมคาดหวังถึงความปลอดภัยของอาหารเป็นสำคัญ  ดังนั้นข้อความ“คุณภาพระดับเดียวกับอาหารที่คนรับประทาน” บนผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขยี่ห้อ Dr.DOG จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คุณสุชาดาตัดสินใจซื้อมาให้เจ้าตูบที่บ้านกิน โดยไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น         วันหนึ่ง เมื่อได้เวลาให้อาหารสุนัข คุณสุชาดาหยิบถุงโครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG มาตัดแล้วเทใส่ชามเตรียมไว้ แต่ยังไม่ทันได้เรียกสุนัขมากิน พลันสายตาไปสะดุดเข้ากับเศษกระดูกขนาด 1-1.5 เซนติเมตรจำนวนมากปะปนอยู่ในโครงไก่บดนั้น เมื่อหยิบขึ้นมาก็พบว่ามีลักษณะแข็งและคม คุณสุชาดาเกรงว่าถ้าให้เจ้าตูบกินเข้าไปน่าจะเป็นอันตราย มื้อนั้นจึงเตรียมอาหารอย่างอื่นให้แทน และเมื่อนำเศษกระดูกไปให้สัตวแพทย์ดู หมอบอกว่า “เศษกระดูกที่ปนมานี้ ถ้าสุนัขกินเข้าไปอาจแทงกระเพาะทะลุได้” คุณสุชาดาฟังแล้วก็โล่งใจที่ไม่ได้ให้สุนัขของตัวเองกิน แต่ก็เป็นห่วงว่าถ้าคนอื่นซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้ไปแล้วไม่ได้สังเกตดีๆ เผลอให้สุนัขกินเศษกระดูกที่ปนมานี้เข้าไป คงไม่ดีแน่ คุณสุชาดาจึงนำเรื่องนี้มาร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงซื้ออาหารสุนัขยี่ห้อนี้มาพิสูจน์ก็พบว่า ในถุงอาหารสัตว์มีเศษกระดูกปนอยู่จำนวนมากจริง จึงติดต่อไปยังผู้ประกอบการคือบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และขอให้ตรวจสอบเรื่องนี้ พร้อมกันนั้นก็ส่งหนังสืออีกฉบับถึงกรมปศุสัตว์ให้ดำเนินการตามกฎหมาย จากนั้นไม่นานทางผู้ประกอบการแจ้งกลับมาว่า ได้ระงับการจ่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจากศูนย์กระจายสินค้าและนำมาตรวจสอบแล้ว         ประมาณหนึ่งเดือน ทางกรมปศุสัตว์แจ้งว่า ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตและหารือกับตัวแทนบริษัทแล้ว ได้ข้อสรุปว่า บริษัทต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์โครงไก่บดแช่แข็ง กลิ่นไก่ย่าง ตรา Dr.DOG ที่ผลิตในล็อตเดียวกันกับที่ถูกร้องเรียน ( LOT N0. 63206 ผลิตวันที่ 24 กรกฎาคม 2563) กลับมาตรวจสอบ และให้กักผลิตภัณฑ์ลักษณะเดียวกันนี้ที่ยังไม่ได้จำหน่ายออกไปจากโรงงานอีกจำนวน 44,000 กิโลกรัมไว้ก่อน พร้อมทั้งแจ้งร้านค้าให้ชะลอการขายผลิตภัณฑ์นี้จนกว่าบริษัทจะตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย ซึ่งหากภายหลังตรวจพบว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์ก็จะต้องเรียกคืน         ทั้งนี้ทางกรมปศุสัตว์ได้กำชับให้บริษัทฯ ตรวจสอบกระบวนการผลิตในโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างละเอียด หากพบความเสี่ยงที่ทำให้มีอันตรายทางกายภาพหลุดรอดไปกับผลิตภัณฑ์ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้อาหารสัตว์มีความปลอดภัยเหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สั่งบราวนี่แต่ได้ของแปลกมาเป็นท๊อปปิ้งแถม

        อาหาร คือ สิ่งที่นำเข้าสู่ร่างกายเพื่อหล่อเลี้ยงบำรุง ดังนั้นอาหารจึงควรเป็นสิ่งที่สะอาดและปลอดภัย แต่บางครั้งอาหารที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง จัดซื้อจัดหาจากแหล่งอื่นๆ ก็อาจมีสิ่งแปลกปลอมที่ดูไม่ค่อยโสภานักหลุดรอดมาได้ ด้วยมาตรฐานการผลิตที่ต่ำ ซึ่งบางสิ่งที่ปนเปื้อนมาในอาหารนั้นก็แปลกใจมากๆ ว่า เอ...มันมาอยู่ในอาหารได้อย่างไร         เช้าวันหยุดจากการงานอันเหนื่อยล้า คุณภูผา ใช้บริการ Grab สั่งกาแฟเอสเปรสโซ 95 บาทและขนมบราวนี่ 85 บาท จากร้านกาแฟแบรนด์นกเอี้ยง(นามสมมติ)  มารับประทานที่บ้าน เมื่อได้มาก็เอาบราวนี่ใส่จานพร้อมหยิบเอสเปรสโซออกไปจัดวางเตรียมถ่ายภาพประกอบเฟซบุ๊กก่อนรับประทานที่สวนข้างบ้าน บรรยากาศช่างเหมาะอะไรเช่นนี้ แดดอ่อนๆ ยามเช้าส่องต้นไม้กับเสียงนกร้อง คิดแล้วก็ฟินสุดๆ ไปเลย         แต่ความฟินก็หายไปทันทีเมื่อเขาได้ชิมบราวนี่ไปเพียง 2 คำ เพราะเขากัดบราวนี่แล้วรู้สึกว่ามันแข็งแปลกๆ เขี่ยดูก็พบว่า มีฟัน (ฟันคนนี่แหละ) อยู่ในบราวนี่ เขางงมาก ฟันอยู่ในบราวนี่ได้อย่างไร ไม่ใช่ฟันของเขาแน่ๆ เขาจึงเล่าเรื่องเจอฟันในบราวนี่บนเฟซบุ๊กของตัวเอง หลังจากนั้นไม่นานนักร้านการแฟนกเอี้ยงก็ติดต่อกลับมาว่าชดเชยเงิน 85 บาท ซึ่งเป็นค่าบราวนี่ และกาแฟฟรีหนึ่งแก้วให้         ภูผามีคำถามเกิดขึ้นว่า ร้านค้ารับผิดชอบแค่นี้ได้เหรอ   แนวทางการแก้ไขปัญหา        ผู้บริโภคมีสิทธิสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ กล่าวคือ เมื่อรับประทานบราวนี่แล้วต้องปลอดภัย แต่เมื่อพบฟันซึ่งเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารนั่นแสดงว่า มาตรฐานการผิดต่ำและชวนให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะปลอดภัยต่อการบริโภค ดังนั้นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย กล่าวคือ ผู้บริโภคต้องได้รับค่าสินค้าหรือบราวนี่คืน และค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาล ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล หนังสือขอโทษจากบริษัท ซึ่งการชดเชยเยียวยาจะขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้บริโภคและผู้ขาย         กรณีพบสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ผู้ขายส่วนมากจะคืนเฉพาะค่าสินค้าเท่านั้น หรือถ้าต้องมีการรักษาพยาบาลก็จะชดเชยแค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ผู้บริโภคไม่ได้เสียหายเพียงแค่นั้น ยังมีค่าเดินทาง การหยุดงาน ค่าเสียโอกาสอื่นๆ ดังนั้นผู้ขายควรชดเชยเยียวยามากกว่าราคาสินค้า และสิ่งสำคัญคือผู้ขายต้องกลับไปหาสาเหตุของปัญหาและมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ในอนาคตกับผู้บริโภครายอื่น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 เหล็กจ๋ามาได้อย่างไรในขนมถุง

        เมื่อเจอของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในแพกเกจทันสมัย ดูสะอาดปลอดภัย ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาของขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรมองข้าม เราต้องช่วยกันสะท้อนปัญหากลับไปสู่ผู้ผลิตให้รีบจัดการแก้ไข เพราะไม่เพียงช่วยให้เราได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม ยังเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคคนอื่นได้รับการคุ้มครองด้วย         คุณเสาวลักษณ์ ชอบรับประทานขนมถุงกรุบกรอบมาก โดยเฉพาะขนมที่ทำจากแป้งข้าวโพด มียี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งที่รับประทานเป็นประจำ แต่วันหนึ่งขณะกำลังจะหยิบชิ้นขนมเข้าปาก ตาก็เหลือบไปเห็นสิ่งผิดปกติเข้า สิ่งนี้สะท้อนแสงแวววาว ซึ่งไม่ควรจะมีอยู่ในถุงขนม มันคือ เศษเหล็ก คล้ายๆ ลวดตะแกรง          “ดีนะยังไม่ได้กินเข้าไป” คุณเสาวลักษณ์นึกดีใจนิดๆ แล้วรีบถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐาน และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดปัญหาลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำคือ รวบรวมหลักฐาน อย่างแรกคือ ถ่ายภาพสินค้าและสิ่งแปลกปลอม ภาพถ่ายของฉลาก วันหมดอายุ  และเก็บบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวไม่ให้ปะปนกับสิ่งอื่นต่อมาคือ ถ้าหากยังมีใบเสร็จหรือใบแสดงรายการสินค้า(สลิป) ที่เป็นหลักฐานการซื้อขาย ต้องเก็บไว้ให้ดี พร้อมนำหลักฐานที่รวบรวมได้ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ         จากนั้นควรติดต่อแหล่งจำหน่ายสินค้า ว่าจะช่วยเหลือหรือชดเชยอะไรให้กับเราได้บ้าง ควรกำหนดความต้องการไว้เป็นแนวทาง เช่น ขอเปลี่ยนหรือคืนสินค้า ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากแหล่งที่ไกลบ้าน อาจกำหนดเรืองค่าเดินทางไว้ในรายการที่ต้องการให้ทางร้านค้าชดเชยให้กับเราด้วย          บางครั้งไม่อยากติดต่อกับแหล่งจำหน่าย ก็สามารถติดต่อไปที่แหล่งผลิตสินค้า เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น         อย่างไรก็ตาม หากมีการขอรับสินค้าไปตรวจสอบ ควรมีคนกลางเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพยานในการส่งมอบสินค้าให้กับทางผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินการ         ในกรณีของคุณเสาวลักษณ์ ไม่ได้ต้องการการชดเชยเป็นตัวเงินหรือการเปลี่ยนสินค้า เพราะมูลค่าของสินค้าไม่ได้มีราคาสูง แต่ต้องการให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ช่วยในการแจ้งความผิดปกติของสินค้าต่อหน่วยงานกำกับดูแล  เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตของบริษัทขนมว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ทางศูนย์ฯ จึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และได้รับการตอบกลับจาก อย.ว่า ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงงานผลิตขนมดังกล่าว และพบว่า ส่วนของสายพานที่เป็นตัวรองรับชิ้นส่วนของขนมข้าวโพดอบกรอบ มีบางส่วนชำรุดเสียหาย เนื่องจากความร้อนของเครื่องจักร ทำให้เหล็กบางส่วนหลุดเข้ามาในขนมที่ผ่านสายพาน ทางเจ้าหน้าทึ่จึงได้สั่งให้หยุดการใช้เครื่องจักรดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จ และให้ทางโรงงานทำรายงานการซ่อมบำรุงเครื่องจักรส่งต่อยัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทางโรงงานติดตั้งเครื่องตรวจจับโลหะเพื่อให้กระบวนการผลิตอาหารมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากที่สุด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 สิ่งแปลกปลอมในขนมปัง

อาหารที่สะอาดและรสชาติอร่อยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตควรคำนึงถึง โดยไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนมาในอาหาร เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ทั้งยังผิดกฎหมายอีกด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้ คุณสมชายซื้อขนมปังยี่ห้อ เลอแปง หน้าพิซซ่าฮาวายเอี้ยน ราคา 15 บาท จากร้านค้าขนาดเล็ก (มินิมาร์ท) แห่งหนึ่งมารับประทาน โดยขณะรับประทานจนเกือบหมดแล้วพบว่า เขาได้กัดชิ้นส่วนแปลกปลอมเข้าไป ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นสีดำอมเขียว ความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โดยเขาสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนของพลาสติก คุณสมชายจึงโทรศัพท์ไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อร้องเรียนปัญหา ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้เก็บขนมปังดังกล่าวไว้ และจะเดินทางมารับไปตรวจสอบในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ภายหลังบริษัทเข้ามารับขนมปังดังกล่าวก็ได้มอบกระเช้าของขวัญให้คุณสมชาย และแจ้งว่าชิ้นส่วนดังกล่าวน่าจะเป็นเศษขนมปังเก่าที่สะสมมานาน ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคุณสมชายยังคงไม่มั่นใจและต้องการผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้สามารถใช้พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาอ้างอิงได้ โดยตามมาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายอาหารดังต่อไปนี้ (1) อาหารไม่บริสุทธิ์ (2) อาหารปลอม (3) อาหารผิดมาตรฐาน และ (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด นอกจากนี้ตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้ร้องสามารถเรียกค่าเสียหายกับทางบริษัทได้ตาม พ.ร.บ. นี้ได้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแจ้งผู้ร้องว่าหากยังไม่ได้รับความคืบหน้าจากทางบริษัท สามารถส่งรายละเอียดให้ศูนย์ฯ ช่วยประสานงานกับผู้ผลิตได้ โดยใช้หลักฐานในการดำเนินการ ดังนี้ 1.หลักฐานการซื้อสินค้า 2.ใบเสร็จรับเงิน 3. สินค้าที่พบความเสียหายพร้อมรูปถ่าย 5. ใบแจ้งความบันทึกประจำวัน และ 6. รูปภาพตอนรับกระเช้าของขวัญจากทางบริษัท ทั้งนี้ภายหลังผู้ร้องได้ตอบกลับมาว่า ทางบริษัทได้แจ้งผลการตรวจสอบแล้วว่า ชิ้นส่วนดังกล่าวคือเศษขนมปังเก่าจริง โดยชี้แจงวิธีการผลิตและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งเขาพอใจการดำเนินการดังกล่าว และไม่ติดใจร้องเรียนค่าเสียหายต่อ จึงขอยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >