ฉบับที่ 269 มัน..ไซยาไนด์

        สารประกอบไซยาไนด์เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีอนุมูลไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ บางชนิดออกฤทธิ์ทำอันตรายผู้เคราะห์ร้ายได้รวดเร็วเช่น ชนิดที่ถูกนำมาใช้ในการก่อคดีฆาตกรรมนั้นเป็นสารประกอบอนินทรีย์ที่อนุมูลไซยาไนด์รวมตัวกับโลหะอัลคาไลน์ (เช่น โซเดียมหรือโปแตสเซียม) ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็งสีขาว นอกจากนั้นพบได้เป็นสารประกอบที่รวมตัวกับโลหะอื่นอีกหลายชนิด ประเด็นที่น่าสนใจคือ สารประกอบไซยาไนด์หลายชนิดถูกพบในรูปของไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ (cyanogenic glycoside) ในพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งสารประกอบนี้ถูกเปลี่ยนเป็นกรดไฮโดรไซยานิคในบริบทที่เหมาะสม           มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมแป้งและเม็ดสาคู เป็นที่รู้กันดีในทางวิชาการว่า โอกาสที่มันสำปะหลังจะปล่อยก๊าซไซยาไนด์ออกมาระหว่างการเก็บและผลิตเป็นแป้งนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ ประเด็นคือ เรื่องราวเหล่านี้มีการให้ความรู้แก่ประชาชนมากพอหรือยัง อีกทั้งการเลี่ยงจะไม่กินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ตามธรรมชาตินั้นอาจเป็นไปได้ยากในบางกลุ่มชนในบางภูมิภาคของโลก         บทความเรื่อง High cassava production and low dietary cyanide exposure in mid-west Nigeria ในวารสาร Public Health Nutrition ของปี 2000 ให้ข้อมูลว่า หัวและใบมันสำปะหลังดิบนั้นบริโภคไม่ได้ เนื่องจากมีสารไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์หลัก 2 ชนิด คือ ลินามาริน (linamarin) และโลทอสตราลิน (lotaustralin) แต่สารพิษเหล่านี้ยังไม่ออกฤทธิ์จนกว่าถูกย่อยสลายโดยเอ็นซัมลินามาเรส (linamarase ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติในเซลล์ของมันสำปะหลังแต่แยกกันออกจากไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์โดย โดยอยู่ในส่วนเฉพาะเหมือนถุงหุ้มภายในเซลล์ของมันสำปะหลัง) ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ระเหยสู่อากาศรอบบริเวณสถานที่เก็บหัวมันหรือผลิตแป้งมัน ในกรณีที่ก๊าซระเหยหายไปหมดย่อมทำให้ได้แป้งที่ได้มีความปลอดภัยต่อการบริโภค         นอกจากนี้บทความเรื่อง Occupational exposure to hydrogen cyanide during large-scale cassava processing, in Alagoas State, Brazil ในวารสาร Cadernos de Saúde Pública (คาแดร์โนส เด เซาเด ปุบลิกา หรือ สมุดบันทึกสาธารณสุข) ของปี 2017 ให้ข้อมูลว่า การแปรรูปมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ในระดับอุตสาหกรรมใหญ่จนถึงอุตสาหกรรมพื้นบ้านของบราซิลนำไปสู่การปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์สู่อากาศ ซึ่งพนักงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องรับไฮโดรเจนไซยาไนด์อย่างต่อเนื่องผ่านการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง และอาจได้รับทางปากด้วยในบางกรณี         โดยหลักการทางพิษวิทยาแล้วเมื่อใดที่สารประกอบไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายในระดับที่ไม่ก่อพิษเฉียบพลัน สารประกอบไซยาไนด์ส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนโดยกระบวนการที่ใช้เอ็นซัมโรดาเนส (ซึ่งพบในไมโตคอนเดรียของเซลล์) ได้เป็นสารประกอบไธโอไซยาเนต (thiocyanate) ซึ่งมีอันตรายน้อยกว่าและถูกขับทิ้งออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และไซยาไนด์จำนวนเล็กน้อยที่เหลือในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งออกจากร่างกายผ่านทางลมหายใจ โดยรวมแล้วสารประกอบไซยาไนด์ปริมาณต่ำและผลิตภัณฑ์จากไซยาไนด์ที่เกิดจากการกำจัดพิษส่วนใหญ่ถูกขับออกจากร่างกายภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการสัมผัส         สำหรับในประเด็นที่ว่าการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ธรรมชาติมีส่วนในการก่อให้เกิดลูกวิรูปต่อเด็กในท้องผู้บริโภคสตรีหรือไม่นั้น เรื่องนี้สำคัญมากต่อการพัฒนาประชากรโลกซึ่งผู้เขียนพบว่า มีเอกสารเรื่อง Cyanogenic glycosides (WHO Food Additives Series 30) ในเว็บของ www.inchem.org มีข้อมูลในหัวข้อ Special studies on embryotoxicity and teratogenicity ซึ่งอ้างบทความเรื่อง Congenital malformations induced by infusion of sodium cyanide in the Golden hamster ในวารสาร Toxicology and Applied Pharmacology ของปี 1982 ซึ่งเป็นการศึกษาในหนูแฮมสเตอร์สีทองที่ตั้งท้องแล้วได้รับเกลือโซเดียมไซยาไนด์ในวันที่ 6-9 ของการตั้งท้อง สารพิษนั้นถูกให้แก่แม่หนูผ่านเครื่องปั๊มออสโมติกขนาดเล็กที่ฝังใต้ผิวหนังด้วยอัตรา 0.126-0.1295 มิลลิโมล/กิโลกรัม/ชั่วโมง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มีการชักนำให้เกิดการหายไปของตัวอ่อน (resorptions) ในมดลูกของแม่หนู และพบว่าลูกหนูที่คลอดออกมามีรูปร่างผิดปกติ (malformations) ซึ่งความผิดปกติที่พบมากสุดคือ ความบกพร่องของท่อประสาท (neural tube defects) นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจในบทความนี้กล่าวว่า การเกิดคอพอกในพลเมืองของสาธารณรัฐซาอีร์ (Zaire) ซึ่งประชาชนกินอาหารทำจากมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ดีพอนั้นได้รับผลกระทบจากสารประกอบไธโอไซยาเนต (ซึ่งเกิดในร่างกายหลังจากการพยายามกำจัดไซยาไนด์ทิ้ง) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น         มีสมมุติฐานหนึ่งที่น่าสนใจกล่าวว่า สารประกอบไธโอไซยาเนตนั้นมีขนาดโมเลกุลใกล้เคียงกับโมเลกุลของไอโอดีน ดังนั้นสารประกอบไธโอไซยาเนตจึงอาจขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนไปใช้ในการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ดีระดับไทโอไซยาเนตที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับสารประกอบไซยาไนด์จะส่งผลต่อต่อมไทรอยด์เฉพาะเมื่อผู้บริโภคได้รับไอโอดีนต่ำกว่า 100 ไมโครกรัม/วัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณไอโอดีนน้อยที่สุดที่ร่างกายต้องได้รับ งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า ประชากรที่ได้รับสารไซยาไนด์จากมันสำปะหลัง (ที่แปรรูปไม่ดีพอ) จะไม่เป็นโรคคอพอกตราบเท่าที่ได้รับไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย นี่แสดงว่าประเทศไทยมาได้ถูกทางแล้วที่กำหนดให้เกลือบริโภคต้องมีการเติมไอโอดีน          สำหรับเด็กในท้องแม่ที่พัฒนาอวัยวะครบถ้วนหรือคลอดออกมาแล้วถ้าได้รับสารประกอบไซยาไนด์และ/หรือไธโอซัลเฟตในขนาดต่ำนั้นจะเป็นอย่างไรนั้น มีบทความเรื่อง Public Health Statement for Cyanide จากหน่วยงาน ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry) ของสหรัฐอเมริกาซึ่งปรากฏในเว็บของ US.CDC (www.cdc.gov) ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาที่แม่ตั้งครรภ์และได้รับก๊าซไซยาไนด์ เช่น จากควันบุหรี่หรือจากการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาไนด์ ทารกในครรภ์จะได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตผ่านรก นอกจากนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า ไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตสามารถขับออกมาในน้ำนมไปยังลูก         ในกรณีที่แม่กินอาหารที่มีแป้งมันสำปะหลังเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตแล้วตั้งท้อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับลูกที่เกิดมาย่อมเป็นไปได้แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่า สารประกอบไซยาไนด์ทำให้เกิดความพิการในคนโดยตรงแต่สามารถพบได้ว่า ผู้คนในเขตร้อนบางประเทศที่กินมันสำปะหลังเป็นแหล่งของอาหารแป้งนั้น เด็กบางส่วนเกิดมาพร้อมด้วยปัญหาของไทรอยด์ ซึ่งอาจเกี่ยวกับการได้รับไซยาไนด์และไทโอไซยาเนตจากแม่ในระหว่างตั้งท้องในลักษณะเดียวกับที่พบความผิดปรกติแต่กำเนิดในหนูทดลองที่แม่หนูถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง ดังแสดงในบทความเรื่อง Effect of Cyanogenic Glycosides and Protein Content in Cassava Diets on Hamster Prenatal Development ในวารสาร Fundamental and Applied Toxicology ของปี 1986 ซึ่งรายงานผลการศึกษาที่ให้หนูแฮมสเตอร์ในช่วงวันที่ 3-14 ของการตั้งท้องได้รับอาหารทดลองซึ่งประกอบด้วยมันสำปะหลังป่น (ชนิด sweet cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์ต่ำหรือ bitter cassava ซึ่งมีสารประกอบไซยาไนด์สูง) 80 ส่วนและอาหารหนูปรกติ 20 ส่วน พร้อมมีกลุ่มควบคุมได้รับอาหารปรกติซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับอาหารทดลองแล้วผลการศึกษาพบว่า ความเข้มข้นของไทโอไซยาเนตเพิ่มขึ้นสูงในปัสสาวะ เลือด และในเนื้อเยื่อทั้งตัวของลูกหนูที่แม่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารมีแป้งมันสำปะหลัง นอกจากนี้ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารทดลองมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินอาหารควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับหลักฐานของความเป็นพิษที่เกิดต่อลูกในท้องนั้นพบว่า การสร้างกระดูกหลายส่วนในลูกหนูลดลง อีกทั้งอาหารมันสำปะหลังที่มีสารประกอบไซยาไนด์สูงยังสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของจำนวนลูกสัตว์แคระแกรนเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของแม่หนูที่กินอาหารปรกติ         ประเด็นว่าโดยทั่วไปผู้บริโภคควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากไซยาไนด์ที่ได้รับจากอาหารที่กินในชีวิตประจำวันนั้น มีหลายการศึกษาพบว่า ผลกระทบของสารประกอบไซยาไนด์ระดับต่ำมักส่งผลร้ายต่อมนุษย์และสัตว์เฉพาะเมื่อมีภาวะโภชนาการไม่ดี ทั้งนี้เพราะอาหารที่มีโปรตีนสมบูรณ์ (ซึ่งมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ) ในปริมาณที่เพียงพอมักช่วยแก้ปัญหาจากการที่ผู้บริโภคได้รับสารประกอบไซยาไนด์จากอาหาร         มีรายงานถึงประเด็นด้านสุขภาพอื่นๆ อีกที่คาดว่าเป็นผลกระทบทางอ้อมเกี่ยวกับการกินอาหารที่มีสารประกอบไซยาโนเจนิกกลัยโคไซด์ซึ่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำคือ บทความเรื่อง Association between maternal hypothyroidism and autism spectrum disorders in children ในวารสาร Pediatric RESEARCH ของปี 2018 ได้รายงานผลการศึกษาแบบ retrospective cohort study โดยใช้การจดบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอเมริกัน 397,201 คน ที่คลอดตั้งแต่ปี 1991 ถึงปี 2011 และยังคงเป็นสมาชิกแผนสุขภาพตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2014 ซึ่งพบว่า บุตรของสตรีที่มีภาวะไทรอยด์ต่ำมีอัตราความผิดปกติในลักษณะของออทิสติกสูงเป็น 1.31 เท่าของบุตรของสตรีปรกติ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งในผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยการมีไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะการมีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำของแม่นั้นมีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของออทิสติกทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอย่างชัดเจน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 กำจัดกลิ่นตัวอย่างไรดี?

        “กลิ่นตัว” เปรียบเสมือนตัวร้าย ที่มักทำให้หลายคนเสียความมั่นใจและเสียบุคลิก เพราะบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวจนทำให้กลิ่นของตัวเราเองดันไปรบกวนคนรอบข้าง แถมยิ่งสภาพอากาศบ้านเราค่อนข้างที่จะร้อน ชื้นและอบอ้าว ยิ่งทำให้เหงื่อบริเวณรักแร้มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดกลิ่นตัว ฉลาดซื้อเข้าใจว่าปัญหานี้มันกวนใจแค่ไหน จึงอยากแนะนำวิธีการดูแลทำความสะอาดยังไงให้ไม่มีกลิ่นตัว ดังนี้         การดูแลความสะอาดให้ไม่มีกลิ่นตัว        ไม่อยากมีกลิ่นตัวก็ต้องดูแลความสุขอนามัยให้ดี โดยเฉพาะในส่วนของใต้วงแขน ซึ่งคือจุดที่เกิดก่อให้เกิดกลิ่นตัวโดยง่าย หรือข้อพับตามร่างกายของเราด้วยเช่นกัน        1. ขั้นตอนแรกที่ควรทำ คือ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดับกลิ่นใต้วงแขนตามท้องตลาด เช่น โรลออน สเปรย์ดับกลิ่น โดยส่วนมากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีสารช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และสารลดเหงื่อ รวมถึงน้ำหอมที่ช่วยกลบกลิ่นอีกด้วย        -  หากแพ้น้ำหอมควรอ่านฉลากในส่วนผสมและหลีกเลี่ยงทันที          -  ถ้าแพ้โรลออนหรือสเปรย์ อาจจะใช้เป็นผลิตภัณฑ์เนื้อแป้ง หรือสารส้มดับกลิ่นสุดเบสิคของบ้านเราแทน        -  ใครที่มีเหงื่อเยอะหรือคิดว่าสาเหตุหลักๆ มาจากเหงื่อนี้ล่ะ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีอะลูมิเนียม คลอไรด์        2. การอาบน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรอาบวันละ 2 ครั้ง โดยใช้สบู่ที่เน้นฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และควรเน้นทำความสะอาดที่บริเวณใต้วงแขนหรือตามข้อพับ จุดอับต่างๆ บริเวณร่างกาย เพราะยิ่งร่างกายสะอาดแบคทีเรียก็ลดลงการเกิดกลิ่นก็จะน้อยลงตามด้วย        3. ปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกินก็มีส่วนช่วยได้ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม หอม หรือพวกอาหารรสจัด        4. หากวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ดีขึ้น อาจจะต้องลองใช้วิธีการฉีดโบท็อกซ์ใต้วงแขนเพื่อลดเหงื่อให้น้อยลงได้ โดยส่วนมากโบท็อกซ์ดังกล่าวจะอยู่ได้แค่ประมาณ 6-8 เดือน ก่อนจะกลับสู่ภาวะปกติ และการใช้วิธีนี้ควรที่จะปรึกษาแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยของเราเอง ใครที่อยากเข้าคลินิกเสริมความงามเพื่อฉีดโบท็อกซ์ ก็ควรเช็กสถานประกอบการให้ดีว่าได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ และแพทย์ที่ให้บริการได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจริงๆ        5. ในส่วนของคนที่ได้ลองหาวิธีมาทำทุกรูปแบบแล้ว แต่ยังพบว่ายังคงมีกลิ่นตัวอยู่ ควรพบแพทย์เพื่อรักษา หาสาเหตุที่แท้จริงว่ามาจากอะไร ส่วนมากแพทย์จะให้ยาทาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยากินถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจจะต้องผ่าตัดต่อมกลิ่น        6. ควรกำจัดขนใต้วงแขนเป็นประจำเพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย และสวมเสื้อผ้าที่สะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าซ้ำที่ไม่ได้ซักทำความสะอาด         หลายคนอาจจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นตัวติดเสื้อผ้า โดยเฉพาะจุดที่อยู่ใต้วงแขน หากจะนำมาใส่ก็จะมีกลิ่นเหม็นมาเรื่อยๆ ไม่หายไปสักที เบื้องต้นอาจจะทำความสะอาดเสื้อตัวนั้นด้วยน้ำส้มสายชู 2-3 ช้อน แช่น้ำทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วนำไปซัก หรือใช้เบกกิ้งโซดาเป็นตัวช่วยโดยนำมาผสมกับน้ำอุ่นให้ข้นแล้วป้ายทิ้งไว้ที่บริเวณนั้นทิ้งไว้สัก 30 นาที แล้วน้ำมาซักตามปกติ แต่ถ้าลองทำวิธีนี้แล้วกลิ่นไม่จางหาย อาจจะลองใช้วิธีอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ได้ แต่ก็ควรระมัดระวังในส่วนผสมของสารเคมีอีกด้วย         อ้างอิง : Mahidol Channel มหิดล แชนแนล | 4 วิธีรักษากลิ่นตัวเหม็น https://youtu.be/1qG4lUUgOXI        กลิ่นตัวคืออะไรและจัดการได้อย่างไร - พบแพทย์ (pobpad.com)        กลิ่นตัว เรื่องใหญ่ใกล้ตัว - Phyathai Hospital        7 เคล็ดวิธีแก้กลิ่นตัวติดเสื้อและเสื้อผ้าเหม็นเหงื่อ | Cleanipedia

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 248 สำรวจฉลากแป้งทอดกรอบสำเร็จรูป

        อาหารชุบแป้งทอดกรอบเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน ด้วยรสชาติอร่อย เนื้อสัมผัสกรอบฟูเคี้ยวเพลิน ยิ่งกัดแล้วได้ยินเสียง “กร๊อบ กร๊อบ” ก็ช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น ซึ่งอาหารทอดจะกรอบโดนใจได้นั้น สิ่งสำคัญคือ แป้งที่ใช้ชุบอาหารก่อนนำไปทอด ซึ่งปัจจุบันมี ”แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป” หลากหลายยี่ห้อ ที่ใช้ง่ายสามารถนำมาสร้างสรรค์เมนูชุบทอดได้ทั้งเนื้อสัตว์ อาหารทะเล เห็ด ผัก ผลไม้ รวมถึงดอกไม้ ทำให้อาหารจานทอดนั้นฟูกรอบนานขึ้นด้วย         ชนิดและส่วนประกอบของแป้ง มีผลต่อลักษณะเนื้อสัมผัสและการพองตัวของผลิตภัณฑ์ชุบทอดที่แตกต่างกันไป เช่น เบานุ่ม (light) เปราะง่าย (fragiles) พองมาก (highly puffed) และแข็ง (dense) โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะชอบอาหารที่มีลักษณะเนื้อความกรอบ (crispy) มากกว่าลักษณะอื่นๆ ซึ่งแป้งทอดกรอบแต่ละยี่ห้อก็มีส่วนผสมของแป้งที่ตอบโจทย์ความกรอบแตกต่างกันไป นอกจากนี้บางสูตรยังมีการปรุงแต่งเพิ่มรสชาติด้วยผงชูรสและใช้สารช่วยเพิ่มความฟู ซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างแป้งทอดกรอบสำเร็จรูปทั้งหมด 14 ตัวอย่าง 13 ยี่ห้อ จากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีก ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อดูว่ามีส่วนประกอบของแป้งชนิดใดบ้าง และเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ                                                                        ผลการสำรวจฉลากแป้งทอดกรอบสำเร็จรูป             ชนิดของแป้ง พบว่ามีแป้งที่ใช้เป็นส่วนประกอบอยู่ 6 ชนิด ได้แก่ 1.แป้งสาลี(13 ตัวอย่าง)  2.แป้งข้าวเจ้า( 9 ตัวอย่าง) 3.แป้งมันสำปะหลัง (8 ตัวอย่าง)  4.แป้งข้าวโพด (8 ตัวอย่าง) 5.แป้งข้าวเหนียว (2 ตัวอย่าง)  6.แป้งดัดแปร (1 ตัวอย่าง)         เมื่อเปรียบเทียบริมาณของแป้งสาลีที่มีอยู่ในส่วนประกอบทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่ายี่ห้อบิ๊กซี แป้งชุบทอด มีมากที่สุดคือ 89% และยี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ มีน้อยที่สุดคือ 34.6%         ยี่ห้อ สิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย เป็นตัวอย่างเดียวที่ไม่มีส่วนประกอบของแป้งสาสี และระบุว่า Gluten Free ไว้บนฉลากชัดเจน         เมื่อนับจำนวนชนิดของแป้งที่อยู่ในส่วนประกอบ พบว่า แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของแป้ง 3 ชนิด มีจำนวนมากที่สุดคือ 7 ตัวอย่าง รองลงมามีแป้ง 2 ชนิด (4 ตัวอย่าง) และมีแป้ง 4 ชนิด (3 ตัวอย่าง)         สูตรส่วนผสมที่พบมากที่สุดคือ แป้งสาลี + แป้งข้าวเจ้า + แป้งข้าวโพด (4 ตัวอย่าง)         รองลงมาคือสูตรแป้งสาลี + แป้งมันสำปะหลัง (3 ตัวอย่าง)         ปริมาณโซเดียม   มี  4 ตัวอย่างที่ไม่ระบุปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อสิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย, รสดีเมนู แป้งชุบทอดปรุงรสสำเร็จ รสต้นตำรับ, โลโบ แป้งทอดกรอบ และยูเอฟเอ็ม แป้งทอดกรอบ           เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคที่ระบุไว้บนฉลากโภชนาการทั้งหมด 10 ตัวอย่าง พบว่ายี่ห้อบิ๊กซี แป้งชุบทอด มีปริมาณโซเดียมสูงที่สุดคือ 780 มิลลิกรัม และยี่ห้อเหรียญทองคู่ แป้งทอดกรอบ สูตรกรอบนาน มีปริมาณโซเดียมต่ำที่สุดคือ 4 มิลลิกรัม         ราคา  เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่ายี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ มีราคาแพงที่สุดคือประมาณ 0.16 บาทต่อกรัม ส่วนยี่ห้อยูเอฟเอ็ม แป้งทอดกรอบ และโกกิ กุ้งทอง แป้งทอดกรอบ มีราคาถูกที่สุดคือประมาณ 0.04 บาทต่อกรัม ข้อสังเกต         - แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปทุกตัวอย่างมีโซเดียมอยู่ โดยมาจากเกลือ ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) และสารที่ช่วยให้ฟูซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แม้บางตัวอย่างจะระบุว่าไม่มีผงชูรส หรือไม่แสดงปริมาณโซเดียมไว้บนฉลากก็ตาม         - ยี่ห้อสิงห์ดาว แป้งทอดกรอบ รสกระเทียมพริกไทย ระบุว่าไม่มีผงชูรส และไม่แสดงปริมาณโซเดียมไว้บนฉลาก หากผู้บริโภคไม่สังเกตว่ามีผงฟู(โซเดียมไบคาร์บอเนต)ในส่วนประกอบ อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่มีโซเดียม         - 13 ตัวอย่างที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร (แป้งสาลี/กลูเตน)ไว้ชัดเจน         - ในตัวอย่างที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ จะมีสัดส่วนของแป้งสาลีมากกว่าแป้งชนิดอื่นๆ ทั้งหมด ยกว้นยี่ห้อโลโบ แป้งทอดกรอบ ที่มีสัดส่วนแป้งข้าวโพด(44.4%) มากกว่าแป้งสาลี (34.6%)         - ยี่ห้ออิมพีเรียล แป้งชุบทอดกรอบ เป็นตัวอย่างเดียวที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นถุงซิปล็อค เพิ่มความสะดวกในการเก็บ เมื่อเปิดแล้วใช้ไม่หมดก็ปิดซิปไว้ได้         - ยี่ห้อโกกิ  แป้งประกอบอาหาร เป็นตัวอย่างเดียวที่ใช้แป้งดัดแปร (modified starch) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นแป้งที่ได้จากการนำแป้งธรรมชาติ อย่างแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวเจ้า หรือแป้งข้าวโพด มาผ่านกรรมวิธีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ทำให้มีสมบัติเปลี่ยนไปตามที่ต้องการ เช่น ความหนืดลดลง เพิ่มความกรอบ โดยมีทั้งวิธีทางเคมี กายภาพ เอนไซม์ และจุลินทรีย์คำแนะนำการใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูป        - ควรใช้ปริมาณแป้งและน้ำตามสัดส่วนที่แนะนำบนฉลาก เพื่อให้ได้ลักษณะความกรอบตรงตามสูตรนั้น ๆ         - แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปนั้นส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของแป้งสาลีเป็นหลัก ผู้บริโภคที่แพ้กลูเตนต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารชุบแป้งทอดมารับประทาน ควรทำเองจะปลอดภัยกว่า โดยเลือกใช้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปที่ไม่มีแป้งสาลี หรือระบุว่ากลูเตนฟรี หรือจะใช้แป้งอื่นๆ เช่น แป้งข้าวโพด ชุบทอดแทนก็ได้         - สำหรับคนที่อยากลองชุบทอดวัตถุดิบหลายๆ อย่างในคราวเดียว เลือกแป้งทอดกรอบอเนกประสงค์ที่ใช้ชุบทอดอาหารได้ทั้งเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ จะคุ้มกว่า เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับพ่อครัวแม่ครัวมือใหม่ และมีสูตรแป้งให้เลือกตามความต้องการ เช่น สูตรกรอบฟู กรอบนาน และไม่อมน้ำมัน เป็นต้น        - หากต้องการประหยัดเวลา จะเลือกใช้แป้งทอดกรอบสูตรผสมเครื่องปรุงรสก็ง่ายดี แต่ถ้าใครแพ้ผงชูรสหรือเป็นโรคไต ไม่ควรใช้แป้งสูตรนี้ เพราะมีโซเดียมสูง        - อาหารทอดจะกรอบอร่อย กรอบนาน และไม่อมน้ำมัน นอกจากจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของแป้งทอดกรอบแล้ว ยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ผสมแป้ง ชนิดของน้ำมัน และวิธีการทอดด้วย ซึ่งก็มีหลายเทคนิคหลากเคล็ดลับให้เลือกทดลองทำได้ตามถนัด เช่น ใช้น้ำเย็นจัดผสมแป้ง ทอดด้วยน้ำมันปาล์มเดือด ตักพักขึ้นไว้บนตะแกรงพึ่งลมไล่ความชื้น หรือใช้กระดาษซับน้ำมันเพื่อไม่ให้ซึมกลับเข้าไปที่แป้งด้านใน เป็นต้น         สรุป แม้แป้งทอดกรอบสำเร็จรูปจะช่วยให้เราทำอาหารชุบแป้งทอดได้กรอบอร่อยและสะดวกขึ้น แต่อย่าลืมว่าในกระบวนการผลิตนั้นต้องผ่านการแต่งเติมเสริมเพิ่มสารเจือปนอาหารต่างๆ นานา เพื่อให้ได้คุณสมบัติตามสูตรความกรอบอร่อยที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด หากบริโภคเข้าไปบ่อยๆ สารสังเคราะห์เหล่านั้นอาจเข้าไปสะสมในร่างกาย จนเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนั้นการผสมแป้งทอดกรอบและปรุงรสตามชอบเอง ก็น่าจะได้รสชาติถูกปาก ปลอดภัย และประหยัดขึ้นอีกด้วย         .....................ข้อมูลอ้างอิงhttps://specialfood.co.th/http://www.foodnetworksolution.com/https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/25288https://somsaha.comhttps://goodlifeupdate.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 เปรียบเทียบฉลากแป้งเด็ก

        อย. ยืนยันแป้งฝุ่นโรยตัวเด็กที่ขายในไทยปราศจากการปนเปื้อนแร่ใยหิน  ย้ำ ! มีการเฝ้าระวังสถานที่ผลิตและนำเข้าอย่างเข้มงวด และเก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ (https://www.komchadluek.net/news/regional/431652)           การที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องออกโรงยืนยันอีกครั้งเรื่องแป้งฝุ่นไม่มีอันตรายนั้น เป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ผลิตภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องสำอาง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ประกาศยุติการขายแป้งเด็กในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เนื่องจากมีข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทฯ ปนเปื้อนแร่ใยหินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมากจากผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหาย (คดีแรกนั้นย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 ศาลชั้นต้นแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จ่ายเงินจำนวน 72 ล้านดอลลาร์ให้กับสุภาพสตรีรายหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ซึ่งฟ้องร้องว่าสาเหตุของโรคนั้นมาจากแป้งฝุ่น)         กรณีประเทศไทย อย.ยืนยันว่าได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์แป้งฝุ่นโรยตัวเด็กจำนวน 18 ตัวอย่าง (แป้งจอห์นสัน 4 ตัวอย่าง) พบว่าทุกรายการไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน (จากสารทัลค์ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในแป้งฝุ่น) จึงขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในมาตรการเฝ้าระวังของ อย.         อย่างไรก็ตามหากจำกันได้ ย้อนไปเมื่อปี 2559 นิตยสารฉลาดซื้อได้สำรวจและเปรียบเทียบฉลากแป้งฝุ่นโรยตัวเช่นกัน โดยเน้นเรื่องส่วนประกอบสำคัญและคำเตือน ซึ่งตีพิมพ์เป็นข้อสรุปไว้เมื่อฉบับที่ 182 ดังนี้        1.ไม่พบคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง         2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ         3. คำเตือนที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์        4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ และ 1 ตัวอย่างไม่มีทัลค์          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการตามสถานการณ์ของนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เราจึงเก็บตัวอย่างแป้งเด็ก ทั้งชนิดแป้งฝุ่นและชนิดเนื้อโลชั่น รวม 40 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อเปรียบเทียบฉลากโดยดูส่วนประกอบและคำเตือน พร้อมเปรียบเทียบปริมาณน้ำหนักต่อราคา ไว้เป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้ออีกครั้ง สรุปการเปรียบเทียบฉลากระหว่างปี 2559 และ 2563 แป้งเด็ก แป้งฝุ่น ผลิตจากอะไร        แป้งเด็กและแป้งฝุ่นส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักเป็นผงทัลค์ (Talc) หรือ แมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับความชื้น ลดการเสียดสีของผิวหนัง และป้องกันผดผื่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายอาจแต่งกลิ่น สี หรือผสมสารอื่นเพิ่มเติม เช่น สารป้องกันความชื้น สารที่ทำให้ผิวเย็น สารสกัดธรรมชาติเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม เป็นต้น         ผงทัลคัมทำมาจากแร่หินทัลค์ซึ่งประกอบด้วยธาตุแมกนีเซียม ออกซิเจน ซิลิกอน และบางส่วนอาจมีเส้นใยแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติอย่างแร่ใยหิน ซึ่งถือเป็นสารก่อมะเร็งปะปนอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์แป้งฝุ่นที่มีผงทัลค์เป็นส่วนประกอบจำนวน 73 ตัวอย่าง ในปี พ.ศ. 2558 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการตรวจสอบของ อย. ปี พ.ศ. 2563 จำนวน 18 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างไม่มีแร่ใยหินปนเปื้อน ทั้งนี้ แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง หากเครื่องสำอางใดตรวจพบแร่ใยหินจะถือว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเก็บตัวอย่างเดือนมิถุนายน 2563ราคาคำนวณจากราคาที่ซื้อ ณ จุดขาย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 212 ทดสอบสารกันบูดในแป้งทำขนม

ฉลาดซื้อทดสอบวัตถุกันเสียในขนมอบหรือเบเกอรี่ค่อนข้างบ่อย เพราะเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันมาก หลายครั้งที่พบว่า มีการปนเปื้อนของวัตถุกันเสียในปริมาณไม่มาก ซึ่งผู้ผลิตเองก็ระบุว่า ไม่มีการเติมวัตถุกันเสียใดๆ ลงไปจนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงตรวจพบ ซึ่งจากคำแนะนำของนักวิชาการด้านอาหาร เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากตัววัตถุดิบที่นำมาผลิตขนม  ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ  จึงสุ่มตัวอย่าง “แป้งสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด จำนวน 19 ตัวอย่าง ทดสอบหาสารกันเสียยอดนิยมคือ กรดซอร์บิก กรดเบนโซอิก และสารฟอกขาว(ซัลเฟอร์ไดออกไซด์) จากผลวิเคราะห์พบ กรดเบนโซอิกปริมาณน้อยในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจมิใช่การจงใจใส่วัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกโดยตรง แต่เกิดจากการใช้วัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นในกระบวนการผลิตแป้งสาลีเพื่อฟอกขาว และสารนั้นมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกรดเบนโซอิก ดังนั้นเมื่อมีการนำแป้งสาลีมาทำขนมอบ เช่น ขนมเปี๊ยะ ผลวิเคราะห์จึงพบค่าวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อย ทั้งที่ผู้ผลิตยืนยันว่าไม่มีการเติมวัตถุกันเสียในสูตรขนม ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิด ผู้ผลิตขนมจึงควรแจ้งบริษัทแป้งสาลีเพื่อขอใช้แป้งสาลีที่ไม่มีสารฟอกขาว สรุปผลการทดสอบจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ทั้ง 19 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนของกรดซอร์บิกและซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในทุกตัวอย่าง พบกรดเบนโซอิกในปริมาณเล็กน้อยตั้งแต่ 2.52 – 71.66 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมในผลิตภัณฑ์ 13 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการด้านอาหาร ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยให้ความคิดเห็นไว้ในการประชุมร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อว่า การพบวัตถุกันเสียในปริมาณที่ไม่สูงพอที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ในอาหาร ไม่น่าจะเป็นความตั้งใจของผู้ผลิตในการใส่สารกันเสียเพื่อถนอมอาหาร อีกทั้งในกระบวนการผลิตแป้งสาลีจะมีการใช้สารเสริมคุณภาพหรือวัตถุเจือปนอาหารเพื่อฟอกสีแป้งให้ขาว ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารที่นิยมใช้ได้แก่ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-  “การใช้วัตถุเจือปนอาหารที่ใส่ลงไปในวัตถุดิบเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อาจกลายเป็นการปนเปื้อนวัตถุกันเสียจากความเข้าใจผิดได้ เช่น การใช้สารฟอกขาวประเภท Benzoyl peroxide เนื่องจากสารตัวนี้มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก” ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) ไม่มีการกำหนดค่าวัตถุกันเสีย BENZOATES (กลุ่มเบนโซเอต) ในแป้ง แต่มีการกำหนดค่า BENZOYL PEROXIDE (เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์) INS: 928 ซึ่งมีหน้าที่เป็น สารฟอกสี, สารปรับปรุงคุณภาพแป้ง, สารกันเสีย  ในแป้งไว้ไม่เกิน 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัมตารางผลการทดสอบ ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเก็บตัวอย่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561*หมายเหตุ วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เพื่อการฟอกสีประเภท Benzoyl peroxide มีโครงสร้างเคมีคล้ายสารกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก ผลวิเคราะห์ในปริมาณที่ปรากฏ จึงไม่น่าใช่การจงใจเติมวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิกวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ฟอกสีแป้งสาลีเพื่อปรับปรุงคุณภาพหรือสีของผลิตภัณฑ์ INS 928 Benzoyl peroxide , INS 925 Chlorine , INS 927a  Azodicarbonamide , INS 300 Ascorbic acid L-แป้งสาลี    แป้งสาลีเป็นแป้งที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ทุกชนิด ไม่มีแป้งชนิดอื่นใช้แทนแป้งสาลีได้ ทั้งนี้เพราะแป้งสาลีมีโปรตีน 2 ชนิด ที่รวมกันอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมคือ กลูเตนินและไกลอะดิน (Glutenin & Gliadin) ซึ่งเมื่อแป้งผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้องจะทำให้เกิดสารชนิดหนึ่งเรียกว่า “กลูเตน” (gluten) มีลักษณะเป็นยาง เหนียว ยืดหยุ่นได้ กลูเตนนี้จะเป็นตัวเก็บก๊าซไว้ทาให้เกิดโครงร่างที่จำเป็นของผลิตภัณฑ์ และจะเป็นโครงร่างแบบฟองน้ำเมื่อได้รับความร้อนจากตู้อบ ประเภทของข้าวสาลี ข้าวสาลีที่นำมาโม่เป็นแป้งสาลีนั้น แบ่งเป็น 2 ประเภทตามความแข็งและสีของเมล็ดจัดเป็นข้าวสาลีชนิดแข็ง (Hard wheat) กับข้าวสาลีชนิดอ่อน (Soft wheat) ชนิดของแป้งสาลี แป้งสาลีที่ผลิตออกมาขายเพื่อทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่นั้นมี 3 ชนิดคือ แป้งขนมปัง แป้งเค้ก และแป้งเอนกประสงค์ ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและคุณลักษณะ รวมถึงการใช้ประโยชน์ต่างกันคือ 1.แป้งขนมปัง มีโปรตีนสูง 12-14 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดแข็ง ใช้ทำผลิตภัณฑ์พวกขนมปังจืด ขนมปังหวาน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้หมักด้วยยีสต์ทุกชนิด 2.แป้งเอนกประสงค์ มีโปรตีนสูงปานกลาง 10-11 เปอร์เซ็นต์ เป็นแป้งที่ได้จากผสมข้าวสาลีชนิดแข็งกับชนิดอ่อนเข้ากับเข้าด้วยกันในสัดส่วนที่เหมาะสมการทำผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด ใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ขนมปังจืดและหวาน ขนมเค้กบางชนิด ปาท่องโก๋ บะหมี่ เพสตรี 3.แป้งเค้ก มีโปรตีนประมาณ 7-9 เปอร์เซ็นต์ โม่จากข้าวสาลีชนิดอ่อน ใช้ทำเค้ก คุกกี้ ลักษณะของแป้งเมื่อถูด้วยนิ้วมือจะรู้สึกอ่อนนุ่มเนียนละเอียด มีสีขาวกว่าแป้ง 2 ชนิดแรก เมื่อกดนิ้วลงไปบนแป้ง แป้งจะเกาะรวมกันเป็นก้อนและคงรอยนิ้วมือไว้ แป้งชนิดนี้ใช้สารเคมีช่วยทำให้ขึ้นฟูเท่านั้น ไม่ใช่ยีสต์ ซึ่งสารเคมีก็ได้แก่ ผงฟู โซดา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันได้สั่งข้าวสาลีจากต่างประเทศมาทำการโม่เป็นแป้ง โดยโรงโม่ที่มีอยู่จะทำแป้งจากทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวมาแล้ว และจากแป้งหลักเหล่านี้ โรงโม่แต่ละแห่งจะทำการโม่แป้งสาหรับทำผลิตภัณฑ์เฉพาะยิ่งขึ้น โดยจะบ่งไว้ที่ถุงบรรจุแป้งว่า ใช้ทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งผู้ซื้อจะต้องรู้ว่าแป้งที่จะใช้ทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนั้นเป็นแป้งชนิดใด มีโปรตีนชนิดใด แล้วจึงเลือกซื้อให้เหมาะสม     เพื่อจะทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ให้ได้ผลดี คุณลักษณะที่สำคัญหนึ่งของแป้งสาลี คือ สีของแป้ง(Color) แป้งที่ดีควรมีสีขาว ถ้าหากมีสีอื่นปน เช่น สีเหลืองอ่อนของแซนโทฟิลล์ หรือสีครีม จะทำให้ขนมปังมีเนื้อใน(crumb) ที่มีสีไม่ดี ดังนั้นแป้งที่โม่ออกมาจึงควรผ่านการฟอกสีก่อน               สารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ในปัจจุบันหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งประเทศไทยได้ออกกฎหมายอาหาร เพื่อยกเลิกการใช้โพแทสเซียมเป็นสารเสริมคุณภาพแป้งสาลี ทำให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีต้องเลือกใช้สารออกซิไดส์อื่นแทน เช่นใช้กรดแอสคอร์บิกในปริมาณ 15-25 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ของแป้งสาลี เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อขนมปังดีขึ้นโดยผสมลงในแป้งก่อนขายให้ช่างทำขนมปัง นอกจากนี้ยังอาจใช้คลอรีนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสารออกซิไดส์อย่างอ่อนและเป็นสารฟอกสีแป้งด้วย เพื่อช่วยให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรและเนื้อสัมผัสที่ดี หรือใช้เบนโอซิลเพอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารฟอกสี จะช่วยให้ได้ขนมปังที่มีเนื้อขนมปังขาวขึ้น โดยผสมลงในแป้งในปริมาณที่เหมาะสม สารเสริมคุณภาพแป้งสาลีอีกชนิดหนึ่งที่โรงโม่แป้งสาลีต้องคำนึงถึงคือ แป้งมอลล์ หรือเอนไซม์อะมิเลสจากเชื้อรา โดยใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปรับปรุงคุณภาพแป้งในการทำขนมปังให้มีปริมาตรเพิ่มขึ้นและมีเนื้อสัมผัสนุ่มขึ้น ถ้าใช้แป้งมอลล์จะใช้ปริมาณ 1800 ส่วนในล้านของแป้ง แต่ใช้เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสได้เช่นกันแต่มีประสิทธิภาพในการทนความร้อนได้น้อยกว่า   เอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสจากเชื้อรา จึงต้องใช้ในปริมาณมากกว่า ซึ่งเอนไซม์แอลฟา-อะมิเลสนี้จะช่วยย่อยสลายสตาร์ชในขณะหมักเพื่อให้ได้น้ำตาลมอลโทสสาหรับการทำงานของยีสต์ให้ได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสมขณะหมักเพื่อให้ได้ขนมปังที่มีปริมาตรดี ที่มา : จิตธนา แจ่มเมฆ และอรอนงค์ นัยวิกุล. 2549. เบเกอรี่เทคโนโลยีเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สานักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ฉลากแป้งฝุ่นทาผิวในประเทศไทยยังไม่มีคำเตือน อันตรายเสี่ยงมะเร็ง

หลังข่าวศาลชั้นต้นแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ตัดสินให้ “จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน” จ่ายเงินจำนวน 72 ล้านดอลลาร์ให้กับสุภาพสตรีรายหนึ่งที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ระยะสุดท้าย ซึ่งฟ้องร้องว่าสาเหตุของโรคนั้นมาจากแป้งฝุ่นของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันที่ตนใช้มายาวนานหลายสิบปี ได้กระจายไปทั่วโลก ความวิตกกังวลก็พลันบังเกิดขึ้นกับคนจำนวนมหาศาลที่นิยมใช้แป้งฝุ่นโรยตัว โดยเฉพาะบริเวณจุดซ่อนเร้น จากข่าวพบว่า ที่ผ่านมา จอห์นสันแอนด์จอห์นสันถูกฟ้องร้องกว่า 1,200 คดี ที่ทั้งหมดอ้างอิงจากผลการศึกษาและวิจัยต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แป้งเด็กจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์แบรนด์ชาวเวอร์ทูชาวเวอร์มีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ ในรายละเอียด คณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ ตัดสินว่า จอห์นสันแอนด์จอห์นสันต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ และอีก 62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ครอบครัวของ แจ็คกี ฟอกซ์ สุภาพสตรีที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่เมื่อปีที่แล้ว หลังจากใช้แป้งจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์ติดต่อกันนานหลายปี เหตุผลสำคัญ คือ ทางบริษัทรับทราบมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้วว่าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแร่ทัลก์ อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งแต่ก็ล้มเหลวที่จะแจ้งและตักเตือนผู้บริโภค “มีความชัดเจนว่าบริษัทได้ปกปิดข้อมูลบางอย่างเอาไว้” คริสตา สมิธกล่าวในฐานะหัวหน้าคณะลูกขุนแห่งเมืองเซนต์หลุยส์ “สิ่งที่บริษัทควรทำมานานแล้วคือติดฉลากเพื่อตักเตือนผู้บริโภค” แจ็คกี ฟอกซ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ในวัย 62 ปี ได้ให้การในช่วงหกเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิตว่า เธอใช้แป้งเด็กจอห์นสันแอนด์จอห์นสันและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นชาวเวอร์ทูชาวเวอร์ทุกๆ เช้า จนกระทั่งตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง (ข้อมูลจาก : http://waymagazine.org/%E0%B9%8Bjjcausecancer/)   ฉลากแป้งฝุ่นและคำเตือนสำคัญ จากข่าวดังกล่าวทำให้เกิดประเด็นถกเถียงทางสังคมว่าการทาแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้นเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงดังคำตัดสินในคดีของแจ็คกี ฟอกซ์ บริษัทผู้ผลิตควรมีคำเตือนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ระมัดระวังการใช้ด้วยหรือไม่ โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มสำรวจและเก็บตัวอย่างแป้งฝุ่นทาผิวจากท้องตลาดและห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในกรุงเทพฯ รวม 35 ตัวอย่าง เพื่อพิจารณาฉลาก ดูส่วนประกอบของแป้งว่ามียี่ห้อไหนบ้างที่มี ทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบ และมีคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็งหรือไม่   สรุปการสำรวจ1.ไม่พบคำเตือนที่บอกถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างการทาแป้งฝุ่นกับการเกิดมะเร็ง 2. พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุคำเตือนใดๆ 3. คำเตือน ที่พบคือ ระวังอย่าให้แป้ง เข้าจมูกและปากเด็ก ระวังอย่าให้แป้งเข้าตา ห้ามใช้โรยสะดือเด็กแรกเกิด ถ้ามีการผสมสารเพื่อป้องกันแสงแดด จะระบุเพิ่ม หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์4. พบ 34 ตัวอย่าง มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบสำคัญ5. มีเพียง 1 ตัวอย่าง ที่ไม่มีทัลค์ (Talc) เป็นส่วนประกอบ คือ แป้งหอมไร้ซแคร์ (ฟลอรัล สวีท) (ReisCare Perfumed Powder (Floral Sweet) แป้งฝุ่นทาผิวกับมะเร็งสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับการปนเปื้อนของแร่ใยหินในทัลก์มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2553 และได้ส่งตรวจวิเคราะห์หาแร่ใยหินในแป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ จำนวน 40 ตัวอย่าง ซึ่งใน 40 ตัวอย่างนั้นตรวจไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหินแต่อย่างใด นอกจากนี้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ถึง 2558 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งตัวอย่างแป้งที่มีส่วนผสมของทัลก์ ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์ โดยส่งตัวอย่างแป้งฝุ่นโรยตัว จำนวน 73 ตัวอย่าง และทุกตัวอย่างตรวจไม่พบแร่ใยหินปนเปื้อน ทั้งนี้แร่ใยหินเป็นวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 757 “จากการศึกษาพบว่า ทัลค์ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อสัตว์ทดลอง ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และยังอยู่ระหว่างการวิจัยว่าทำให้เกิดมะเร็งหรือไม่”   ฉลาดซื้อแนะ1. ควรอ่านวิธีการใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด2. ระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูก และปาก3. อย่าสูดดมแป้ง4. ไม่ควรใช้แป้งกับบริเวณอวัยวะเพศ               ทัลค์ (Talc), ทัลคัม (Talcum) และแมกนีเซียม ซิลิเกท (Magnesium Silicate) ทั้ง 3 ชื่อ คือตัวสารตัวเดียวกันเพียงแต่เรียกต่างกันเท่านั้น ทั้ง 3 ชื่อ คือแร่หินชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการทำเหมืองหินทาล์ค แล้วนำมาโม่ให้ละเอียด อบให้แห้งและฆ่าเชื้อ แม้จะมีการแยกสิ่งแปลกปลอมออก แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้บริสุทธิ์ได้ จึงยังมีสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่บางอย่าง ที่อาจจะมีคุณสมบัติคล้ายแอสเบสตอส (Asbestos) ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) และ U.S. Environmental Protection Agency จัดให้เป็นUnclassifiable Carcinogen (สารก่อมะเร็งที่ไม่สามารถจัดจำพวกได้) “ทัลคัม” เป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่สามารถ ย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ถ้าใช้โดยไม่ระมัดระวัง เมื่อสูดเข้าไปเป็นเวลานาน จะเกิดการสะสมอาจทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ(Talcosis) และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งรังไข่ในสุภาพสตรีได้(Ovarian Cancer) กรณีใช้ใต้ร่มผ้าเป็นระยะเวลานานๆ  

อ่านเพิ่มเติม >