ฉบับที่ 263 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2566

5 อันดับ “Fake News”  ปี 2565         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยสถานการณ์ข่าวปลอมปีที่ผ่านมา จากข้อมูลที่ได้รับการแจ้งเบาะแสและติดตามบทสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองถึง  517,965,417 ข้อความ โดยข่าวปลอม 10 อันดับที่มีการแชร์ซ้ำบ่อยมากที่สุด มีดังนี้ 1. เรื่องเคี้ยวเม็ดมะละกอสุกแล้วกลืนโดยไม่ต้องกินน้ำตาม วันละ 3 เม็ด รักษามะเร็งระยะสุดท้าย 2. ปรากฏการณ์ APHELION โลกจะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ระยะทาง 5 นาทีแสง หรือ 90,000,000 กิโลเมตร 3. อย. แพ้คดี หลังไฟเซอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน 4. กสทช. โทรแจ้งประชาชนขอระงับสัญญาณเบอร์โทรศัพท์ และจะติดแบล็คลิสต์ไม่สามารถเปิดเบอร์ใหม่ได้ 5. หากสแกน QR Code จากใบนัดนำจ่ายสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ สามารถถูกดูดเงินในบัญชีได้ ดังนั้นหากพบข่าวที่เข้าลักษณะข่าวปลอมควรตรวจสอบก่อนส่งแชร์ข้อความต่อ          เปิดเกณฑ์การตัดแต้ม “ใบขับขี่”          สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มใช้มาตรการตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ (ตัดแต้มใบขับขี่) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยมีกำหนดให้มี 12 คะแนน ทุกคนที่มีใบอนุญาตใบขับขี่ไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม ถ้าทำผิดกฎจราจรจะมีการตัดคะแนนตามเกณฑ์ที่ระบุไว้ ทั้งนี้ เกณฑ์การตัดคะแนนแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้  แบบที่ 1 การ “ตัดคะแนนทันทีที่ทำผิด”         ตัด 1 คะแนน = ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่รัดเข็มขัด ขับรถเร็วเกินกำหนด ขับรถบนทางเท้า  ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย ไม่หลบรถฉุกเฉิน ขับรถโดยประมาท น่าหวาดเสียว ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลง ปิดบัง และไม่ติดป้ายภาษี          ตัด 2 คะแนน = การขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับรถย้อนศร ขับรถระหว่างโดนพักใช้ หรือเพิกถอยใบขับขี่         ตัด 3 คะแนน = ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ ขับรถผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา ขับรถชนแล้วหนี         ตัด 4 คะแนน = เมาแล้วขับ ขับรถในขณะเสพยาเสพติด แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น         ทั้งนี้ แบบที่ 2 คือ “ตัดคะแนนเมื่อไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง” ค้างชำระ 1 ใบสั่ง ตัด 1 คะแนน นอกจากนี้ หากถูกตัดจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ ห้ามขับรถทุกประเภท ในระยะเวลา 90 วัน ฝ่าฝืนขับรถในขณะยังถูกพักใบขับขี่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รัฐปิดเบอร์ซิมลวงกว่า 1 แสนเบอร์ อายัดบัญชีม้า 5.8 หมื่นบัญชี         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงการแก้ไขปัญหาของอาชญากรรมทางออนไลน์ว่าสามารถดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้จำนวนมาก ในปี 2565 สามารถปิดกั้นเบอร์โทรหลอกลวง/ข้อความ SMS หลอกลวง ได้ถึง 118,530 หมายเลข และอายัดบัญชีม้าได้ถึง 58,463 บัญชี รวมถึงการปิดกลุ่มโซเชียลซื้อขายบัญชีม้าได้ถึง 8 กลุ่ม และปิดกั้นเว็บพนัน จำนวน 1,830 เว็บ           การแก้ไขปัญหาสำหรับบัญชีม้าหรือบัญชีต้องสงสัย ทางสำนักงาน ปปง. ได้มีการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่สำนักงาน กสทช.ได้มีการแก้ไขปัญหาซิมผิดกฎหมายให้คนที่มี 100 ซิมขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 8,000 รายนั้น ยืนยันตัวตนให้ถูกต้องภายในเดือน มกราคม 2566 เพื่อจะได้เป็นการตัดวงจรมิจฉาชีพที่จะนำซิม ไปเติมเงินเพื่อโทรไปหลอกลวงประชาชน และทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ระวังโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ         ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุ ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งปล่อยให้อยู่เพียงลำพังหรือกรณีสูญเสียคู่สมรสจะเกิดความเครียดกังวล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า อาการที่พบคือ ผู้ป่วยจะเริ่มอยู่นิ่ง หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน ชอบนอนเฉยๆ ไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เข้านอนเร็ว ตื่นบ่อย ตื่นนอนเช้ากว่าปกติ บางรายอาจมีอาการรับประทานอาหารจุและไม่ค่อยมีสมาธิหลงลืม  ไม่ทำกิจกรรมที่เคยทำประจำ เช่น ไม่ขับรถ ไม่ชอบเข้าวัดทำบุญ ไม่ทำงานอาสาต่างๆ เหมือนอย่างที่เคยทำ บางรายก็จะบ่นปวดหัว ชอบพูดประชด เสียดสี ในรายที่มีอาการซึมเศร้าหนัก ๆ จะชอบคิดว่าอวัยวะภายในร่างกายบางส่วนหายไป ซึ่งเป็นผลจากความจำหรือความรู้สึกนึกคิด และเป็นความบกพร่องที่อาจมีผลมาจากโรคซึมเศร้า หากพบว่าพ่อแม่รวมถึงญาติผู้ใหญ่ในบ้านมีอาการข้างต้นเกิน 2 สัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงเข้าข่ายควรพาไปพบแพทย์ทันที มพบ.เรียกร้องสำนักงานอัยการสูงสุดยกเลิก MOU กับแพทยสภา         จากข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์โดยมีอัยการสูงสุด นายกแพทยสภาและประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนามเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเกิดความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่เป็นผู้ป่วยหรือผู้รับบริการสาธารณสุขหรือไม่ เพราะหากศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องจะได้รับการปรึกษาหารือทางกฎหมายจากอัยการ ความร่วมมือนี้จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่ และทำไมแพทยสภาจึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่หมอศัลยกรรมจากสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ         ไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความเห็นว่าองค์กรอัยการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติ เพราะอัยการมีบทบาทหน้าที่พิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ อีกประเด็นที่น่ากังวลคือ หากพนักงานอัยการที่เป็นผู้บริหารให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ แพทยสภาหรือราชวิทยาลัยศัลยแพทย์อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระเที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี กล่าวคืออัยการอาจสั่งไม่ฟ้องหมอศัลยกรรมในคดีต่างๆ เพราะเชื่อในข้อเท็จจริงของฝ่ายแพทย์ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ไม่ได้รับโอกาสพิสูจน์ความจริงในชั้นศาล         กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีความกังวลว่าการร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหาย เช่นจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยม โอกาสที่จะได้รับความเสียหายก็อาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากผู้บริโภคใช้สิทธิฟ้องร้องย่อมเกิดความกังวลเรื่องความเป็นกลาง องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นที่พึ่งสุดท้ายในการที่ผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการทำความร่วมมือฉบับนี้ มิฉะนั้นจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในอัยการและกระบวนการยุติธรรม แล้วประชาชนจะหันหน้าไปพึ่งใคร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 เมื่ออัยการทำ MOU กับศัลยแพทย์ ประชาชนจะพึ่งใคร

        เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สำนักงานอัยการสูงสุด กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ โดยมี อัยการสูงสุด นายกแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนาม         คำถามที่ชาวบ้านหรือผู้รับบริการสาธารณสุขสงสัยคือ เหตุใดองค์กรแพทย์จึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ  ข่าวแจกสื่อมวลชนระบุว่า การทำ MOU นี้เกิดจากปัญหาที่ศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาของศัลยแพทย์ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้อง  กล่าวคือ สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอม ข้อพิพาท การช่วยเหลือทางคดี         ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการเตรียมทำ MOU ฉบับนี้ โดยระบุถึงความจำเป็นว่า ศัลยแพทย์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ  หากปล่อยให้ศัลยแพทย์ได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ตลอดจนโทษจากองค์กรควบคุมวิชาชีพ อันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล  ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต           ผู้เขียนเห็นว่า การทำ MOU ดังกล่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดกับแพทยสภา โดยเฉพาะราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล ความจำเป็นและขาดความเหมาะสม  เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่ของอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ หากมีผู้ป่วยไปเสริมความงามจมูก หน้าอก แล้วเกิดภาวะติดเชื้อหรือทำให้ใบหน้าผิดเพี้ยนหรือพบความผิดปกติ หรือการผ่าตัดรักษาอาการอย่างหนึ่งแต่กลับส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย  กรณีเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อน (complication) หรือไม่  หรือกรณีศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย (standard of care) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น การป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยในขณะเข้ารับการผ่าตัดหรือการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ในคดีทางการแพทย์ในต่างประเทศหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย มีหลายคดีที่ศาลตัดสินให้แพทย์มีความผิดหรือต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะศาลเห็นว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการดูแลรักษา   คำถามสำคัญคือ หากแพทย์ที่ถูกร้องร้องเรียนหรือถูกฟ้องมาขอคำปรึกษากับอัยการตาม MOU จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่                     การทำ MOU นี้ของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาหรือร้องเรียน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง เนื่องจากอาจทำให้อัยการขาดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังอาจขัดต่อกฎหมายขององค์กรอัยการหลายฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓  จนอาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณของพนักงานอัยการก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า “..... จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน ....”  อีกทั้งยังอาจขัดต่อ ”ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562” โดยเฉพาะข้อ 19 ที่กำหนดว่า พนักงานอัยการจะต้องให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยเสมอภาคกัน  การที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำปรึกษาเป็นพิเศษแก่กลุ่มองค์กรแพทย์เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องที่อาจขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการข้างต้น        เนื้อหาตาม MOU ระบุให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด แพทยสภา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ โดยการประชุมหารือร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้อัยการที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ขาดความรู้ ความเข้าใจทางการแพทย์ ก็ย่อมอาจรับฟังและเชื่อในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่แพทย์บางท่านอธิบาย  แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ในแต่ละเคสจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การพิจารณาว่าศัลยแพทย์ท่านใดกระทำผิดตามที่ถูกผู้ป่วยหรือผู้รับบริการร้องเรียนหรือไม่ หากอัยการรับฟังข้อมูลจากศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนแล้วเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด ก็อาจส่งผลต่อการพิจารณาสั่งคดีของอัยการได้คือ อัยการอาจสั่งคดีไม่ฟ้องแพทย์รายนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือ หากพนักงานอัยการในนามองค์กรอัยการได้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ท่านนั้นไป หรือให้คำแนะนำแก่แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ไปแล้ว อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี         อนึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยที่ฟ้องแพทย์ส่วนใหญ่จะแพ้คดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะร้องขอให้แพทย์ท่านใดมาเป็นพยานเบิกความให้ฝ่ายผู้ป่วยในศาลได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ฟ้องแพทย์ก็มีน้อยมาก เพราะไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงต้องเสียเวลาขึ้นศาล หรือคิดว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรม อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบัตรทองหลายรายที่ได้รับการเยียวยาความเสียหาตามกฎหมายแล้วคือ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มักจะไม่ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลอีก              ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดควรทบทวนการทำ MOU ดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อองค์กรและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเกิดความคลางแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการว่า จะมีความเที่ยงธรรมหรือไม่ เพียงใด  การที่อัยการมีความสัมพันธ์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายแพทย์ที่เป็นคู่ความในคดีอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดประชุมหรือจัดสัมมนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง          การร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากศัลยแพทย์อาจมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยมในเรื่องการเสริมความงาม  หากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการดังกล่าว   ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องได้รับคำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายจากอัยการอย่างใกล้ชิด แล้วประชาชนจะไปหันพึ่งใคร          การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ ระหว่าง สำนักงานอัยการสูงสุด กับ แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการ องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นการทำ MOU ฉบับนี้ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับแพทยสภาที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งสมาชิกขององค์กรอาจเป็นคู่ความในคดีทางการแพทย์ จึงอาจกระทบต่อความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรมในการดำเนินคดีของอัยการ  --------------------------------* กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฏาคม 2563

5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยใบหน้าสำเร็จ        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไฟเขียว 5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำเร็จ จากทดสอบทั้งหมด 14 ราย พร้อมออกหลักเกณฑ์ ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ให้บริการทางการเงิน         นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้มี 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย และซีไอเอ็มบี ไทย ได้ออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ภายหลังจากธปท.ได้เปิดทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคาร บนแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติในการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) เพื่อให้บริการเป็นวงกว้าง         “จากการทดสอบเราจะดูความแม่นยำของการยืนยันตัวตน ซึ่งในการทดสอบประมาณ 99.50% สามารถยืนยันได้แม่นยำ และอีก 0.50% อาจจะมีเรื่องของแสงของภาพอาจมืดไป หรือใบหน้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ประชาชนไปอัพเดตข้อมูลกับธนาคารให้เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อจะได้รับบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น”         ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง  คาดธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเติบโตขึ้นรับยุคนิวนอร์มัล        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ประเทศไทยช่วง 1-2 ปีถัดจากนี้ อาจมีธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปลูกที่ให้ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่และหนึ่งหน่วยเวลาที่สูงกว่าปกติ สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ รวมถึง COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีของคนเมือง         โดยทำเลที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุน ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนอาศัยหรือสัญจรเป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูง เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเป้าหมายที่สนใจและพร้อมเต็มใจจ่ายกับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ คนรักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกายหรือผู้รักการทำอาหาร ส่วนในระยะต่อไปกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าจับตาคาดว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มของโรงแรม โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โรงเรียนสังกัดกทม.ห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม ขนมกรุบ ลดภาวะฟันผุในเด็ก         นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. เปิดเผยว่า จากการสำรวจนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาทั่วประเทศ เกี่ยวกับสุขภาพทางช่องปาก พบเด็กนักเรียนมีฟันผุในระยะเป็นรูถึงร้อยละ 50 เฉลี่ย 1-2 ซี่/คน ดังนั้นสำนักการศึกษา กทม. จึงวางแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงเรียนสังกัด กทม. ในเรื่องการจำหน่ายอาหารว่าง เครื่องดื่มในโรงเรียน โดยห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม อาหารกรุบกรอบ ลูกอมทุกชนิด อาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาดมีโภชนาการต่ำและไม่ปลอดภัยให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอาหารจะต้องมีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สะอาดและปลอยภัยแก่นักเรียน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการจำหน่ายอาหารแก่บุคลากรและร้านค้าทั้งในโรงเรียนและบริเวณรอบโรงเรียน ตลอดจนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ อบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมให้คำแนะนำนักเรียนหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์โดยเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียน เครือข่ายผู้ป่วยยื่นคัดค้าน ประกาศแพทยสภา 10 หน้าที่อันพึงปฏิบัติ        ตามที่แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยได้กำหนดหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยไว้ 10 ข้อ และมีผลในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น         8 กรกฎาคม 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายผู้ป่วยทุกประเภททั่วประเทศ (Healthy Forum) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ยกเลิกประกาศแพทยสภา เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย เนื่องจากพบว่า การออกประกาศดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศฯ นั้นไม่ได้ให้อำนาจแพทยสภาในการออกคำสั่งให้ผู้ป่วยหรือประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย          ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยในหลายข้อ มีประเด็นปัญหาที่จะส่งผลต่อการพิจารณาคดีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สะท้อนทัศนคติทางการแพทย์ที่คับแคบ มองว่าประชาชนไม่สนใจปัญหาสุขภาพของตนเอง ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร และปัญหาสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น           นอกจากนี้กระบวนการในการจัดทำประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยนี้นั้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเอง  ภาครัฐและประชาชนร่วมใจพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล        กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลด้านยา (ต้นน้ำ) ผู้ประกอบวิชาชีพและสถานบริการสุขภาพ (กลางน้ำ) และ ประชาชน ครอบครัวและชุมชน (ปลายน้ำ) ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ วัคซีน ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้เพื่อการรักษา ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ และยาสำหรับสัตว์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มุ่งหมายใช้เป็นยา         คนไทยทุกคนสามารถมาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ (new normal) เพื่อ ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือเรียกว่า “Rational Drug Use country” ได้โดยยึดหลักว่าความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ซึ่งมีสมุทัยคือสาเหตุของการเกิดโรค การแก้ไขต้องเริ่มจากเหตุเพื่อนำไปสู่ความสุขทั้งกายและใจ เริ่มจากการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อไม่นำโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคไต ตลอดจนโรคจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด มาสู่ตน รวมไปถึงการนำบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวไปรับวัคซีนต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด การกระทำเช่นนี้จะลดโอกาสป่วย ลดความจำเป็นในการใช้ยาลงได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องทำความรู้จักกับยาที่ได้รับและตั้งใจที่จะใช้ยานั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ ไม่หยุดยาเอง ไม่เลือกกินหรือไม่กินยาบางชนิด เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้หรือไม่ประสงค์จะใช้ยาต่อต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 กระแสต่างแดน

ไม่ต้องกลัวตกขบวนการขนส่งระบบรางในเมืองใหญ่ของจีนขยายตัวมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนต่างทุ่มทุนสร้าง รีบเร่งขยายกำลังการผลิตรถไฟออกมาสนองความต้องการดังกล่าว แต่ขณะนี้รัฐบาลจีนกำลังขอให้รัฐบาลท้องถิ่นช่วยกำกับดูแลให้ผู้ลงทุนแตะเบรกกันสักนิด ถ้าปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ต่อไป อาจมีรถไฟเกินความต้องการและบริษัทเหล่านี้จะเสี่ยงต่อภาวะหนี้ท่วมข่าวระบุว่าเมืองที่มีอัตราการใช้รถเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 80 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาจะไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตรถไฟเพิ่มแล้ว และรัฐบาลก็กำลังเตรียมปรับเกณฑ์การอนุญาตให้สร้างรถไฟไต้ดิน ที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี 2003 เช่นกันที่ผ่านมามี 43 เมืองที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งระบุว่าเมืองที่จะมีรถไฟไต้ดินได้นั้นจะต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 10,000 ล้านหยวน มี GDP ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านหยวน และมีประชากรไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคน นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีแผนจะชะลอการเสนอโครงการใหม่ๆ ในอนาคตด้วย“ลดหน่อยนะหมอ”                ช่วงที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจนน่าวิตก ทั้งๆ ที่ประชากรเขาก็จัดว่ามีสุขภาพดี หลายฝ่ายมองว่าการซื้อประกันสุขภาพ ที่ให้การคุ้มครองเต็มรูปแบบน่าจะมีส่วนทำให้เกิดการเคลม “ที่น่าสงสัย”                โดยมากแล้วผู้ซื้อประกันแบบครอบจักรวาลมักจะไม่ตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการตรวจหรือทดสอบใดๆ ที่แพทย์สั่ง บางครั้งอาจร้องขอจากแพทย์เองด้วยซ้ำ เนื่องจากเบิกได้เต็ม(โดยลืมไปว่าอาจมีผลข้างเคียงหรืออันตรายได้)               ในการประชุมสภาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภาสิงคโปร์ได้อภิปรายเรื่องการยกเลิกการขายประกันในลักษณะดังกล่าว มีการยกตัวอย่างคนไข้รายหนึ่งที่รับบริการส่องกล้องโพรงจมูกไป 12 ครั้งในรอบหนึ่งปี                ผู้ที่มีบทบาทในการหยุดหรือส่งเสริมความบ้าคลั่งนี้คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากแพทย์เจ้าของไข้แพทยสภาของสิงคโปร์จึงส่งหนังสือเวียนถึงแพทย์ 13,500 คน เพื่อย้ำให้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงจริยธรรมว่าด้วยการตรวจรักษา และคิดค่าบริการอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม และขอให้ทำเพื่อ “ประโยชน์” ไม่ใช่ “ความต้องการ” ของผู้ป่วยเริ่มกินจุบจิบ                การกินของว่างระหว่างมื้อไม่เคยมีอยู่ในวัฒนธรรมการกินของคนฝรั่งเศสมาก่อน มีเพียงเด็กวัยเรียนเท่านั้นที่จะดื่มนมกับกินขนมเวลาสี่โมงเย็น เพราะยังเหลืออีกหลายชั่วโมงกว่าจะถึงเวลามื้อเย็นกับพ่อแม่                แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไป               การสำรวจความเห็นของผู้บริโภคจำนวน 1,200 คน พบว่าร้อยละ 86 เห็นว่าการกินจุบจิบเป็นเรื่องที่ทำได้ ไม่ผิดอะไร แม้ว่าแต่เดิมจะนิยมเก็บท้องไว้สำหรับการกินแบบมีคุณภาพในอาหารมื้อหลักก็ตาม               ร้อยละ 38 บอกว่าพวกเขากิน “ของว่าง” อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง และเหตุผลสามอันดับต้นของการกินระหว่างมื้อคือเพื่อความสำราญ ประทังความหิว และเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย               และยังพบว่า “สแน็ค” มื้อสุดท้ายของวันมักจะเป็นช็อกโกแลตด้วย ...เข้าทาง “มอนโดเลซ” ผู้อยู่เบื้องหลังการสำรวจครั้งนี้พอดี ยังเชื่อได้ไหม               Equifax บริษัทข้อมูลเครดิต ถูกคณะกรรมการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลียฟ้องข้อหาหลอกลวงผู้บริโภค                เขามีหลักฐานว่าในช่วงระหว่างมิถุนายน 2013 ถึง มีนาคม 2017 บริษัทนี้ให้ข้อมูลกับผู้ใช้บริการว่า ถ้าเลือกแพ็คเก็จแบบจ่ายเงิน ผู้ใช้จะได้ข้อมูลที่ครบถ้วนกว่าแบบที่เข้าดูฟรี(จริงๆ แล้ว ข้อมูลเดียวกัน)              แถมยังบอกด้วยว่า ถ้าจ่ายเงินซื้อรายงานความน่าเชื่อถือ ลูกค้าจะสามารถเข้าไปแก้ไขประวัติความน่าเชื่อถือของตนเองได้ด้วย(ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ ตามมาตรฐานจริยธรรมของผู้ให้บริการข้อมูลเครดิต)               บริษัทนี้มีสาขาใหญ่อยู่ที่เมืองแอตแลนตาในสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ผู้บริหารระดับสูงก็ถูกรัฐบาลอเมริกันฟ้องแพ่งและอาญา ข้อหาเปิดเผยข้อมูลวงใน สืบเนื่องกับเหตุการณ์ที่บริษัท “ถูกแฮก” ข้อมูลเมื่อปีที่แล้วรอจนจอเสื่อม                 มันช่างน่าอับอายยิ่งนัก เมื่อประเทศจอมประสิทธิภาพอย่างเยอรมนีไม่สามารถเปิดใช้งานสนามบินแห่งใหม่ที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2006 ได้                ตามกำหนดการแล้วสนามบินเบอร์ลินจะเปิดบริการในปี 2011 แต่โครงสร้างหลังคาที่มีน้ำหนักเกินจากที่ได้รับอนุญาต ปัญหาระบบป้องกันไฟไหม้ ผู้รับเหมาล้มละลาย การคอรัปชั่น ฯลฯ ทำให้ยังไม่สามารถเปิดได้ และงบประมาณก็งอกจาก 1,700 ล้านยูโร เป็น 6,000 ล้านยูโรแล้ว                  ที่สำคัญ สนามบินที่ยังไม่เปิดนี้มีค่าใช้จ่ายตลอดเวลา                 โรงแรมใกล้สนามบินต้องมีแม่บ้านดูแล รถไฟสายสนามบินต้องวิ่งรถเปล่าเข้ามาสัปดาห์ละสองครั้ง จอมอนิเตอร์จำนวน 750 จอที่ใช้แจ้งเที่ยวบินก็ต้องเปิดไว้ตลอด 24 ชั่วโมง                 ข่าวฮือฮาล่าสุดคือการจัดซื้อจอมอนิเตอร์ใหม่หลังจากใช้มาหกปี หลายสำนักสงสัยว่าจะรีบเปลี่ยนทำไม เดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนอีกรอบ กว่าสนามบินจะเปิดได้ เขาอาจใช้เทคโนโลยีฮอโลแกรมกันแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ตอนจบ

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  (สามี) และผู้ตาย(ภริยา)เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน... การที่ประเทศต่างๆ ได้เปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับมาตรฐานในการรักษาของแพทย์โดยไม่ถือเอามาตรฐานการรักษาดีที่สุด  แต่ใช้มาตรฐานการรักษาตามสภาพและสภาวะในขณะทำการรักษาเป็นตัวกำหนด  รวมทั้งการที่แพทยสภาใหม่ตามแนวคิดดังกล่าวน่าจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดมาตรฐานของศาลให้เปลี่ยนแปลงไปจากการอาศัยมาตรฐานการรักษาดีที่สุดไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่  แต่การที่คดีนี้ศาลฎีกายังคงถือหลักมาตรฐานการรักษาในระดับดีที่สุดอยู่เนื่องจากมูลคดีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2538 ในขณะที่ยังใช้ข้อบังคับเดิมของแพทยสภาที่ถือเอาการรักษาในระดับดีที่สุดเป็นมาตรฐาน  และไม่มีข้อเท็จจริงหรือได้ว่ากล่าวกันมาคือ  เงื่อนไขตามมาตรฐานที่ข้อบังคับใหม่ของแพทยสภากำหนดจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ศาลฎีกายังคงใช้มาตรฐานดีที่สุด  ซึ่งเป็นข้อที่ปรากฏอยู่ในสำนวนเป็นมาตรฐานการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลย  สำหรับคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  ซึ่งเป็นเวลาที่ข้อบังคับแพทยสภาฉบับปี  2549 ได้บังคับแล้ว  น่าเชื่อว่าการถือมาตรฐานในการรักษาคงจะเปลี่ยนไปตามมาตรฐานใหม่ที่กำหนดใช้ในข้อ 15 แห่งข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549   6. มีปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า  คณะกรรมการแพทยสภาได้ลงมติแล้วว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่มีความผิด  เหตุใดศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยไปตามมติของแพทยสภา หลักในการวินิจฉัยความรับผิดของแพทย์  โดยเฉพาะการวินิจฉัยว่าการรักษาของแพทย์เป็นไปตามหลักวิชาหรือไม่  เป็นเรื่องยากที่ศาลหรือบุคคลทั่วไปจะเข้าใจและรับรู้ได้  ศาลในประเทศต่างๆ จึงถือแนวปฏิบัติว่าจะต้องอาศัยความเห็นของแพทย์ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ( expert witness ) เป็นสำคัญ ในคดี Bolam v. Friem Hospital Management Committee ( 1957 WER 882 )  ศาลได้วางหลักให้ถือเอาความเห็นขององค์กรแพทย์ที่ดูแลแขนงสาขาวิชาทางการแพทย์สาขานั้น  และโดยแพทย์ผู้กอปรทักษะความรู้ในสาขานั้นเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสิน ( The accepted practice must be regarded as proper by  “  a responsible body of medical men “ skilled in that art ) ทำให้เกิดหลักเรียกว่า Bolam test ขึ้น กล่าวคือ หากผู้แทนองค์กรแพทย์ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่เบิกความมาเป็นผู้ให้ความเห็นก็จะผูกพันมีน้ำหนักสำคัญให้ศาลเชื่อถือรับฟัง  ส่วนความเห็นของแพทย์ที่มิอยู่ในสาขาวิชาดังกล่าว หรือโดยองค์กรของแขนงวิชาดังกล่าวมาเบิกความก็จะไม่ถือเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น หลัก Bolam test ได้เป็นที่ยอมรับในศาลของหลายๆ ประเทศ  แต่ในรอบ 20  ปีที่ผ่านมา  ศาลและประชาชนผู้เกี่ยวข้องเริ่มมีความรู้สึกว่าองค์กรแพทย์มักให้ความเห็นในการปกป้องแพทย์ด้วยกันเองมากกว่าการให้ความเห็นตามหลักวิชาที่เป็นกลางและเที่ยงธรรม  ทำให้ศาลของประเทศต่างๆ ในระยะหลังเริ่มไม่รับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์  โดยวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเองแยกแตกต่างไปจากความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ เช่น คดี Hucks v. Cole (( 1993 ) , 4 Med LR 393 ) คดี Gascoine v. Ian Shridan & Co. (( 1994 ) , 5 med LR 437 และคดี Joyce v.  Wandsworth Health Authority (( 1995 ) , 6 Med LR 60 เป็นต้น อย่างไรก็ดีศาลอีกบางส่วนก็ยังถือเอาความเห็นขององค์กรแพทย์เป็นสำคัญในการวินิจฉัยคดีอยู่เช่นเดิม  จนกระทั่ง House of Lords ของอังกฤษได้ตัดสินคดีสำคัญที่วางหลักการรับฟังพยานผู้เชี่ยวชาญทางแพทย์  และถือว่าเป็นการวางแนวทางที่ได้รับการยอมรับที่ศาลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว้างขวางที่สุด นั่นคือ คดี Bolitho v. City & Hackney Authonrity  (( 1997 ),  All ER 771 ) คดีดังกล่าวศาลวางหลักว่า  หากองค์กรแพทย์ประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีให้ความเห็นตามหลักวิชาที่เปี่ยมด้วยเหตุผล  ศาลพึงต้องรับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์ดังกล่าวในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีน้ำหนักยิ่ง  แต่ถ้าความเห็นมิได้มาจากแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญสาขาวิชาดังกล่าว  ศาลจะไม่รับฟังก็ได้ ผลของคดี Bolitho ทำให้นำไปสู่แนวความคิดในการรับฟังความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะความเห็นขององค์กรแพทย์ว่าศาลยังรับฟังความเห็นขององค์กรแพทย์  เว้นจะปรากฏว่ามีเหตุที่ไม่ควรรับฟัง เช่น  (ก) ขาดเหตุผล หรือมิได้มาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เบิกความ หรือความเห็นขององค์กรแพทย์ไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่าจะเป็นเช่นใด เช่น คดี Penney , PaImer and Conon v. East Kent HeaIth Authority (( 2000 ) , Lloyd ‘s Law Rep ( MedicaL , 41 ))  ที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างมีพยานองค์กรแพทย์มาให้ความเห็นสนับสนุน  เช่นนี้ศาลวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานเองได้     (ข) แพทย์รักษาผิดไปจากฎหมายที่บัญญัติไว้  หรือเงื่อนไขการรักษาหรือมิได้เป็นไปตามมาตรฐาน CGP (  Clinical Practice Guideline ) (ค)  เมื่อแพทย์รักษาผิดอย่างชัดเจน เช่น แพทย์ผ่าซี่โครงผิดข้าง  หรือเด็กประสงค์ให้แพทย์ผ่าตัดตุ่มเม็ดในปาก  แต่แพทย์ไปขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะแทน  หรือในคดี McGrew v. St. Joseph ‘ s Hospital ( 200 W.Va 114 , 488 SE 2d 389 (1997 ) ) พนักงานเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลยกตัวคนไข้ไม่ดี  ทำหลุดมือปล่อยคนไข้ตกเตียง  ศาลสูงสุดแห่งเวสต์เวอร์จิเนียวินิจฉัยว่าโรงพยาบาลกระทำการโดยประมาทหรือไม่  ศาลวินิจฉัยได้เองโดยไม่ต้องอาศัยความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรแพทย์ 7.  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยด้วยความระมัดระวังไม่ว่าการวางหลักตามแนววินิจฉัยในคดี Bolitho ว่าหากมติของแพทย์สภาถูกต้องและเป็นธรรมก็นำมารับฟังได้  แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการได้มาซึ่งมติความเห็นของแพทยสภามีข้อกังขาและสงสัยว่าจะชอบหรือเหมาะสมหรือไม่  การที่ศาลฎีกาไม่รับฟังมติความเห็นของแพทยสภา  แต่วินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเสียเองจึงชอบแล้ว หมายเหตุผู้เขียน  ต้องขอขอบพระคุณอย่างสูงในความเห็นของท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ซึ่งเป็นความเห็นที่ทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่งและเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคที่ต้องเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ตอน 5

ความเห็นต่อเนื่องจากคดีคนไข้ฟ้องร้องแพทย์ โดยอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ...   4.เมื่อแพทย์ต้องได้รับความยินยอมในการรักษาจากคนไข้  ความคิดเดิมที่ Hippcrates เชื่อว่าแพทย์รักษาดีที่สุดตามหลัก Patermityship โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้จึงได้รับการพิจารณาใหม่ว่า  เมื่อเป็นดังนี้แพทย์ยังจะต้องรักษาคนไข้ในระดับมาตรฐานดีที่สุดหรือไม่  จนต่อมาได้มีคำประกาศ ณ กรุงเจนีวา ค.ศ. 1948 ( the Declaration of Geneva in 1948 amended in Sydney in 1968) ว่าแพทย์ยังจะต้องประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุด โดยถือเป็นจริยธรรมในการรักษาคนไข้เรียกว่าหลัก best practice  อย่างไรก็ดี  แม้องค์กรแพทย์จะถือว่าโดยจริยธรรมแพทย์ต้องรักษาดีที่สุดก็ตาม  แต่ความเห็นในวงการกฎหมายกลับมีความเห็นแตกต่างไปจากเดิม  โดยเห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี และมีไม่ได้ เหตุที่มีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี เป็นการพิจารณาตามสภาวะความเป็นจริง เช่น แพทย์ไปพบคนเจ็บนอนข้างทาง  แพทย์ทำการรักษาเบื้องต้น โดยไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันเป็นการรักษาดีที่สุดหรือไม่ หากไม่ใช่การรักษาดีที่สุดก็ต้องถือว่าแพทย์ประมาท เพราะทำการรักษาต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดว่า ต้องดีที่สุด แพทย์ประจำอนามัยมีเครื่องมือน้อยกว่าแพทย์ประจำอยู่โรงพยาบาลชุมชนหากรักษาคนไข้ย่อมเรียกได้ว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  หากเป็นเช่นนี้จะมีแพทย์ประจำอนามัยที่กล้ารักษาประชาชนได้อย่างไร   แพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน มีเครื่องมือไม่เท่ากับโรงพยาบาลประจำจังหวัดแม้จะสามารถผ่าตัดเล็กน้อยได้  แต่ไม่มีวิสัญญีประจำโรงพยาบาลชุมชน  หากมีการผ่าตัดก็ต้องถือว่าเป็นการรักษาไม่ดีที่สุด  เช่นนี้แล้วแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนจะกล้าผ่าตัดช่วยคนไข้หรือไม่ แพทย์ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีเครื่องมือและประสบการณ์น้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชั้นดีในกรุงเทพมหานคร  การรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ต้องถือว่าไม่ดีที่สุดเช่นกัน แพทย์ประจำโรงพยาบาลชั้นนำในกรุงเทพมหานคร  ก็หาใช่จะรักษาดีเท่ากับแพทย์ในโรงพยาบาลชั้นนำของโลกที่มีเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่สุด  หากเป็นเช่นนี้เท่ากับไม่มีการรักษาที่ดีที่สุดในประเทศไทย แล้วจะมีแพทย์รักษาคนไข้ในประเทศนี้ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เห็นว่าการรักษาดีที่สุดไม่มี  และมีไม่ได้ เนื่องจากหากมีการรักษาดีที่สุดแล้วก็คงไม่ต้องมีการวิจัยพัฒนาวงการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นเนื่องจากเป็นการรักษาดีที่สุดอยู่แล้ว  เช่นนี้เท่ากับเป็นการหยุดยั้งพัฒนาการในวงการแพทย์  ซึ่งหาเป็นสิ่งที่ถูกที่ควรไม่  ดังนั้น วงการกฎหมายในประเทศต่างๆ จึงมิได้ถือเอาจริยธรรมของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมแพทย์ในระดับดีที่สุดเป็นมาตรฐานว่าแพทย์กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อหรือไม่ ( Puteri N. J. Kassim , op.cit . , p.41 ) ด้วยเหตุนี้จึงมีคำวินิจฉัยของศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษวินิจฉัยปฏิเสธมาตรฐานในการรักษาในระดับดีที่สุด เช่น คดี Osbom v. Irwin Memorial BloodBank ( 7 CalRptr. 2d , 101 ( Ct.App.Cai.1991 ) ที่เด็กอายุ 3 อาทิตย์ต้องรับการผ่าตัดหัวใจและได้รับการให้เลือด แต่เลือดมีเชื่อ HIV เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเครื่องมือตรวจสอบเบื้องต้นว่าเลือดที่ได้รับบริจาคมีเชื้อ HIV หรือไม่  ซึ่งมิใช่การรักษาที่ดีที่สุด  แต่ศาลเห็นว่าทางปฏิบัติของโรงพยาบาลแม้มิใช่วิธีการดีที่สุดแต่ก็เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาทั่วไป ( Standard Practice ) ของวิธีปฏิบัติในการรักษาในเวลานั้น(custom at the time ) จึงไม่ถือว่าเป็นความประมาท หลังจากนั้นได้มีคดี Nowatske v. Osterioh ( 198 Wis 2d 419 , 543 NW 2d. 265 (1996 )  และคดี Vergara v. Doan ( 593 NF 2d 185 ( ind. 1992 ) วางหลักวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า  มาตรฐานในการรักษาไม่จำต้องถือมาตรฐานการรักษาดีที่สุด  และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ( national  standard ) แต่จะเป็นมาตรฐานใดย่อมแล้วแต่สภาพ  สภาวะแห่งท้องถิ่นแต่ละที่เป็นหลัก ( Locality rule ) ซึ่งในคดี Vergara v.Doan ได้วางหลักว่าแพทย์ในเมืองเล็กย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ในเมืองใหญ่  แพทย์ทั่วไปย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ผู่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐย่อมมีมาตรฐานต่ำกว่าแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนที่เรียกค่ารักษาสูงกว่าแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ  ทำให้เกิดหลักในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาของแพทย์ขึ้นใหม่แทนการใช้หลักการรักษาดีที่สุด ( best practice ) มาเป็นการพิจารณามาตรฐานในการรักษาตามสภาพและสถานที่ที่มีการรักษานั้น  (Current Accepted Medical Practice) แนวความคิดในการกำหนดมาตรฐานในการรักษาตามหลัก Current Accepted   Practice ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  ทำให้ศาลในประเทศต่างๆ  ถือเป็นแนวในการกำหนดมาตรฐานการรักษาของแพทย์ สำหรับประเทศไทยนั้น  คณะกรรมการแพทย์สภาได้มีการนำแนวความคิดังกล่าวไปทำการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับแพทย์สภาเสียใหม่ ดังนี้ “  ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๔๙ หมวด ๔ การประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ภายใต้ด้วยความสามารถและข้อจำกัดของภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ “  ( ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม ๑๒๓ ตอนพิเศษ ๑๑๕ ง วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ หน้า ๒๔ )   ไว้มาต่อตอนจบ(จริงๆ) กันในฉบับหน้านะครับ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอน 4

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  (สามี) และผู้ตาย(ภริยา)เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน...   เหตุใดแพทย์จึงกำหนมาตรฐานการประกอบวิชาชีพว่า “ ดีที่สุด “ 3. การรักษาของแพทย์ขึ้นอยู่กับความยินยอมของคนไข้  เนื่องจากการที่แพทย์ใช้เข็มแทงก็ดี  ใช้มีดผ่าก็ดี วางยาสลบก็ดี ผ่าตัดก็ดี หากไม่มีความยินยอมของคนไข้ย่อมเป็นการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายทั้งสิ้น ( Assualt and Battery ) เมื่อคนไข้ยินยอมให้แพทย์รักษา  แพทย์จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามหลักความยินยอม ไม่เป็นละเมิด (Volunti non fit injuria) (Puteri N.J.Kassim,Medical Negligence Law in Malaysia, (Interntional Law Book Service, 2003), pp.3-5) ด้วยเหตุนี้การรักษาคนไข้ของแพทย์จึงเกิดหลักคนไข้ยินยอมหรือ Informed Consent ขึ้น   ปัญหาว่าแพทย์จะรักษาคนไข้ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ดังกล่าวสร้างปัญหาแก่แพทย์ตลอดมา  โดยเฉพาะในอดีตที่แพทย์เชื่อว่าแพทย์มีเจตนาดีประสงค์จะช่วยคนไข้ เหตุใดจึงต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ด้วย  ทำให้แพทย์ในอดีตรักษาคนไข้โดยไม่ใส่ใจว่าคนไข้ต้องให้ความยินยอมหรือไม่ เช่น ในสมัยพุทธกาลหมอชีวกทำการรักษาอาการประชวรของพระเจ้าปัชโชต แห่งกรุงอุชเชนี พระเจ้าปัชโชต ขอไม่ให้หมอให้ยาที่มีส่วนผสมของเนยใส  และไม่ยินยอมให้หมอรักษาหากผสมยาด้วยเนยใส หมอชีวกได้หุงเนยให้มีสี กลิ่น และรสเหมือนน้ำฝาด   เป็นยารักษาพระเจ้าปัชโชต  โดยขอรางวัลในการรักษาเป็นช้างภัททวดีซึ่งเป็นช้างที่เดินเร็วที่สุด แล้วขึ้นช้างหนีไปจากกรุงอุชเชนีทันที (พระไตรปิฎก , พระวินัยปิฎก เล่มที่ 5 มหาวรรต ภาค 2 เรื่องพระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงประชวรโรคผอมเหลือง หน้า 144-145) ปัญหาแพทย์รักษาโดยไม่ใสใจความยินยอมของคนไข้ดังกล่าว ก่อปัญหาว่าเมื่อคนไข้ไม่ยินยอมหรือไม่ได้ให้ความยินยอมแล้วแพทย์ทำการรักษาจะไม่ผิดฐานทำร้ายร่างกายหรือ  ปัญหานี้ได้ถูกวางแนวทางแก้ไขโดย Hippocrates ซึ่งถือว่าเป็นบิดาแห่งวงการแพทย์ Hippocrates เห็นว่า แพทย์ต้องปฏิญาณว่าจะทำการต่อคนไข้ดีที่สุดดังเช่นบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร  ทำให้เกิดคำปฏิญาณของ Hippocrates เรียกว่า Hippocratic oath และเกิดแนวคิดว่าบิดามารดาเลี้ยงดูบุตร ต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่บุตรโดยไม่จำต้องอาศัยความยินยอมของบุตรที่ตนเลี้ยงดู ทำให้เกิดหลัก Paternityship ( ความเป็นบิดามารดา ) ขึ้น อันนำมาซึ่งการรักษาโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้ หรือที่เรียกว่าเอกสิทธิ์ในการรักษา ( Therapeutic Privilege ) ( Puteri N.J.Kassim, op. Cit.p.13 ) ต่อมาใน พ.ศ.2457 วงการแพทย์ทั่วโลกยอมรับวิธีปฏิบัติในการรักษาว่า คนไข้ต้องให้ความยินยอม เว้นแต่เป็นเหตุฉุกเฉินคนไข้ไม่อยู่ในฐานะให้ความยินยอมได้เท่านั้นแพทย์จึงจะทำการรักษาได้ หาไม่แล้วการรักษาของแพทย์ที่คนไข้ไม่ยินยอม  แพทย์ผู้รักษาต้องมีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาคดี Schloendorff v.Society of New York Hospital ( 105 N.E 92 ( N.Y.1914 ) นอกจากนี้ในคดี Largey v. Rothman (110 N.J.204,540 A 2d. 504 (1998) ยังวางหลักต่อไปว่าความยินยอมของคนไข้จะสมบูรณ์เมื่อแพทย์ได้แจ้งวิธีรักษาและความเสี่ยงของการรักษาให้คนไข้ประกอบการตัดสินใจให้ความยินยอมเรียกว่าหลัก Prudent Patient(Kenneth A. Bamberger , Medical Maipractice & Professionna Liability , handout for Thai Judiciary Course , June 2009 , P .2 ) หรือที่เรียกว่า Informed Consent  ทำให้การรักษาของแพทย์ต้องได้รับความยินยอมจากคนไข้เสมอ และความยินยอมต้องมาจากการที่แพทย์ให้ข้อมูล ( inform ) ในวิธีรักษาและความเสี่ยงของการรักษาแก่คนไข้ (ยังมีต่อนะครับ)  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอน 3

ความเดิม เป็นเรื่องที่ สามี ฟ้องคดีแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน จากเหตุผู้ตายคือ ภริยาใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรตาย ศาลพิพากษาลงโทษทั้งจำเลยที่ 3 และ 4 แม้แพทยสภาระบุไม่ผิด หมายเหตุผู้เขียน  คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้(อ่านได้จากสองตอนแรก) ท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร ได้เขียนหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ไว้อย่างน่ารับฟัง เป็นบทความที่ทรงคุณค่าทางวิชาการอย่างยิ่ง  ผู้เขียนจึงขอนำมาเพื่อผู้บริโภคได้อ่านกัน หมายเหตุ ท่านอาจารย์นพพร  โพธิรังสิยากร   1.คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ต้องรักษาคนไข้ในระดับดีที่สุดตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม  ซึ่งกำหนดโดยข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2526  หมวดที่ 3 ข้อ 1 บัญญัติว่า “ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุด...” ( ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 10 ตอนที่ 115 วันที่ 14 กรกฎาคม  2526 หน้า 28 ) ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 3 ฉีดยาชาเข้าสันหลังผู้ตายเพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอดบุตรแล้วผู้ตายไปวางยาสลบคนไข้รายอื่นที่ห้องอื่น  ส่วนจำเลยที่ 4 เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตาย  แล้วละทิ้งผู้ตายไปตรวจคนไข้รายอื่น ทำให้เมื่อผู้ตายเกิดภาวะวิกฤติเพราะน้ำคร่ำมีภาวะแทรกซ้อนไปอุดกั้นหลอดเลือดในปอด  จึงกลับมาแก้ไขเยียวยาชีวิตผู้ตายไม่ทัน  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มิได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาฉบับดังกล่าว จึงเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นละเมิดต่อโจทก์ 2. ความรับผิดในทางแพ่งมีได้ 2 ทาง คือ ความรับผิดเพราะผิดสัญญา(Contractual liability) และความรับผิดในฐานละเมิด (Tortious  liability ) ความรับผิดฐานละเมิดเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 คือ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย... ความหมายของประมาทเลินเล่อได้เทียบอาศัยตามความหมายใน ป.อ.มาตรา 59 วรรคสี่ว่า “ กระทำโดยประมาท ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ " ตามบทบัญญัติดังกล่าว  การกระทำโดยประมาทเลินเล่อต้องเป็นกรณีมิได้ใช้ความระมัดระวังตามที่ควร แต่แค่ไหนจะควรเป็นการกระทำที่สมควร  ซึ่งเรียกว่ามาตรฐานในการใช้ความระมัดระวัง(Standard of care) ในบางกรณีเป็นเรื่องยากที่จะวินิจฉัยโดยเฉพาะในการประกอบวิชาชีพบางอาชีพ เช่น ทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี และแพทย์ ด้วยเหตุนี้ความรับผิดและการกำหนดมาตรฐาน จึงต้องอาศัยมาตรฐานโดยบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าว  และเป็นบุคคลที่ผู้ร่วมวิชาชีพยอมรับ  ทำให้เกิดจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพดังกล่าว  ในทางกฎหมายต่างประเทศจะเรียกความรับผิดของทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี และแพทย์ว่า Professional liability หรือความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพ  แต่สิ่งที่ปรากฏต่อมาก็คือ ทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีให้แก่ลูกความแล้วแพ้คดีก็ดี  ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบบัญชีงบดุลให้ลูกค้าแต่ลูกค้าประสบภาวะขาดทุนก็ดี  จะมีคดีถูกฟ้องร้องน้อยมาก  แต่แพทย์ที่รักษาคนไข้กลับมีแนวโน้มถูกฟ้องร้องคดีมากกว่าผู้ที่ถูกกำหนดให้อยู่ในความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น ทนายความหรือผู้ตรวจสอบบัญชี เหตุผลที่เป็นดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพของแพทย์ที่กำหนดว่า ต้องประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุด เนื้อที่อันจำกัดขอจบในตอนหน้าครับ ด้วยคำอธิบายว่า เหตุใดแพทย์จึงกำหนมาตรฐานการประกอบวิชาชีพว่า “ ดีที่สุด “   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอนจบ

ความเดิม เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  ( สามี) และผู้ตาย( ภริยา )เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษา ใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) แต่แพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2554 ความต่อจากคราวที่แล้ว... ข้อบกพร่องของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงนำไปสู่การเยียวยาเพื่อช่วยชีวิตผู้ตายและบุตรไม่ได้อย่างรวดเร็วและดีที่สุดตามที่ควรเป็น จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 3  และที่ 4  เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ได้รักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ หมวดที่ 3 การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อที่ 1 ทอดทิ้งผู้ตายไปรักษาพยาบาลผู้ป่วยรายอื่นเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4ประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย   มติของแพทยสภาที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2  ถึงที่ 4 ไม่ได้กระทำผิดหรือไม่ได้รักษาผิดมาตรฐานนั้น มติแพทยสภามิใช่กฎหมายและไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาล  ถ้าศาลเห็นว่ามติของแพทยสภาถูกต้องและเป็นธรรมก็จะนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่ 3  และที่ 4  ได้ แต่มติเรื่องนี้มีข้อสงสัยว่าจะถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ เพราะเมื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการแพทยสภา มีกรรมการมาประชุม 30 คน ลงมติโดยเปิดเผยโดยการยกมือฝ่ายที่เห็นว่าจำเลยที่ 4  ผิดมี 12  เสียง ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ผิดมี 13  เสียง ส่วนมติเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ลงมติว่าไม่ผิด 12  เสียง ต่อ 10  เสียง แต่มีกรรมการที่ลงมติว่าไม่ผิด 1 คนเป็นญาติและนามสกุลเดียวกับผู้ถูกกล่าวหา หลังลงมติมีกรรมการแพทยสภาลาออกเพื่อประท้วงคณะกรรมการแพทยสภา กรรมการแพทยสภาลงมติโดยไม่ได้ศึกษาสำนวนโดยละเอียด กรรมการบางคนไม่เคยประชุมแพทยสภามาก่อนแต่ลงมติว่าไม่ผิด มติแพทยสภาดังกล่าวที่ยังมีข้อโต้แย้งว่าถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ศาลจึงเพียงแต่นำมารับฟังประกอบการพิจารณาเท่านั้น โดยไม่จำต้องถือตามมติแพทยสภา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งหก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 มติแพทยสภามีผลผูกพันคู่ความและศาลแค่ไหน ? ตอนแรก

ฉบับนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1  ( สามี) และผู้ตาย( ภริยา )เป็นคนไข้ที่มารับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 (โรงพยาบาลสมิติเวช) ก่อนเกิดเหตุเป็นเวลาต่อเนื่องกันกว่า 10 ปี ทั้งที่ผู้ตายมีภูมิลำนาอยู่จังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียง  การที่ผู้ตายมาใช้บริการ(คลอดบุตร) ที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1  ครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะความเชื่อถือในชื่อเสียงและความสามารถจากแพทย์ของโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในความรู้และความคาดหวังที่จะได้รับการดูและรักษาในมาตรฐานและความพึงพอใจในระดับที่สูงกว่าที่จะจากโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนอื่น แม้จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลและบริการที่สูงกว่าก็ตาม ต่อมาแพทย์ผู้รักษาคือจำเลยที่ 3 เป็นวิสัญญีแพทย์ จำเลยที่ 4 เป็นสูติแพทย์ได้ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ภริยาและบุตรโจทก์ที่ 1 ตาย โจทก์ที่ 1  ถึงที่  6  จึงฟ้องคดีเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยที่สูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและแพทย์ผู้ทำการรักษามีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยด้วยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดตามข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม ฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้คดีหลายประการรวมทั้งอ้างว่าแพทยสภาได้วินิจฉัยไว้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่มีผู้ใดกระทำผิดหรือให้การรักษาผู้ตายไม่ได้มาตรฐานแต่อย่างใด มาดูกันว่าถึงที่สุดศาลฎีกาจะว่าอย่างไร   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2554 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  จำเลยที่ 1 เป็นโรงพยาบาลเอกชนเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยสูงกว่าโรงพยาบาลของรัฐและแพทย์ผู้ทำการรักษา มีความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยด้วยมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับดีที่สุดตามข้อบังคับแพทย์สภาว่าด้วยการรักษาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมฯ หมวดที่ 3 ข้อที่ 1 การทำคลอดด้วยการให้ยาชาเข้าไขสันหลังโดยตรง ที่เรียกว่า Spinal Anaesthesia หรือ Epidural Block อาจมีอาการแทรกซ้อนได้หลายประการ  แม้กระทั่งถึงชีวิตในทันทีก็ได้ วิสัญญีแพทย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการของคนไข้โดยใกล้ชิด การที่จำเลยที่ 4 เจาะถุงน้ำคร่ำผู้ตายแล้ว จะต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิด หากจำเลยที่ 4 ไม่อยู่จะต้องมีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์อยู่ดูแลแทน ส่วนจำเลยที่ 3 เมื่อให้ยาชาทางสันหลังจะต้องดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิด  แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4  ทอดทิ้งผู้ตายไว้ในห้องโดยไม่มีสูติแพทย์หรือวิสัญญีแพทย์คนอื่นดูแลแทน คงมีแต่พยาบาลซึ่งมิใช่วิสัญญีพยาบาลดูแลร่วมกับผู้ช่วยคนไข้ ทั้งไม่ได้ความว่าก่อนที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะออกจากห้องคลอดมีการสั่งให้พยาบาลดูแลผู้ป่วยเช่นใด  โดยเฉพาะการวัดความดันโลหิตและชีพจร ผู้ตายถึงแก่ความตายในวันดังกล่าว เนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวจากเศษน้ำคร่ำเข้าไปในระบบเส้นเลือดของปอด จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับว่าไม่เคยประสบภาวะน้ำคร่ำอุดกั้นเส้นเลือดในปอดเหมือนเช่นคดีนี้มาก่อนจึงน่าจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ละเลยถึงภาวะดังกล่าวจนไม่ปฏิบัติหรือสั่งการให้ผู้อื่นปฏิบัติตามหลักวิชาการแพทย์เพื่อดูแลผู้ตายอย่างใกล้ชิดจนการคลอดเสร็จสิ้น... หน้ากระดาษหมดพอดี ถ้าว่ากันต่อตัวหนังสือจะเล็กมากไป ดังนั้นขอต่อเป็นตอนสองในฉบับหน้านะครับ

อ่านเพิ่มเติม >