ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 จัดการหัวเข่า-ข้อศอกดำด้านอย่างไรดี?

        ปัญหาผิวกายที่กวนใจสุดๆ ของหลายคน นอกจากเรื่องผิวแห้งคล้ำเสียหรือริ้วรอยจากแผลต่างๆ  อีกเรื่องก็คงเป็น “ข้อศอกกับหัวเข่า ดำและด้าน” ใช่ไหม ปัญหาสุดคลาสสิกของเหล่าคนที่ชอบผิวสวยสว่าง การมีข้อศอกและหัวเข่าดำด้านคงทำให้หงุดหงิดเป็นแน่         เนื่องจากเป็นจุดของข้อต่อ การมีผิวหนังบริเวณดังกล่าวดำด้านสาเหตุมักจะเกิดจากการเสียดสีบ่อยๆ เช่น การเท้าโต๊ะ วางแขนในการนั่ง นอน หรือนั่งคุกเข่าบ่อยๆ และบางคนก็อาจมีสาเหตุจากพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดอีกด้วย         ดังนั้นหากเป็นสาเหตุที่พฤติกรรม เช่น การเท้าโต๊ะหรือคุกเข่าบ่อยๆ ก็อาจจะหลีกเลี่ยงการทำสิ่งนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเสียดสีกับบริเวณข้อศอกและเข่าได้  หรือสามารถดูแลได้ตามวิธีดังนี้         ·     ใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มผลัดเซลล์ผิวช่วย เช่น กลุ่ม AHA BHA ได้แต่ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจจะเกิดการระคายเคืองหรือผิวอักเสบ ทำให้ผิวบริเวณนั้นมีสีที่เข้มกว่าเดิมได้ และอีกตัวเลือก คือ พวกกลุ่ม Whitening ก็ช่วยได้เหมือนกัน        ·     อีกวิธีคือการสครับผิวบริเวณข้อศอกและหัวเข่า เพื่อผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วออกไป แต่ก็ไม่ควรสครับโดยการขัดและถูแรงๆ จนเกินไป 1 อาทิตย์ใช้แค่ 2-3 ครั้งพอ         ·     ส่วนจะซื้อผลิตภัณฑ์พวกนี้ได้ที่ไหนแล้วไม่เป็นอันตราย สามารถเลือกซื้อได้ตามร้านค้าที่น่าเชื่อถือในห้างสรรพสินค้าทั่วไปได้เลย ใครที่จะใช้พวกครีมผลัดเซลล์ผิวที่มีส่วนผสม AHA BHA ก็ควรเลือกเน้นสูตรที่อ่อนโยนต่อผิวเป็นหลักได้ยิ่งดี ใครที่ชอบสครับก็เลือกที่เป็นส่วนผสมที่เป็นธรรมชาติ เช่น มะขาม ขมิ้น เป็นต้น  นอกจากนี้ ไม่ซื้อตามออนไลน์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ยกตัวอย่าง เช่น ร้านที่โฆษณาสินค้าเกินจริง เคลมการเห็นผลไว 3 วัน 7 วัน เห็นผล หรือถ้าจะสั่งออนไลน์จริงๆ ก็ควรสั่งกับ Account official ของร้านค้าเท่านั้น         ·     ที่สำคัญอย่าลืมเช็กรายละเอียดก่อนซื้อ คือ เลขจดแจ้งของ อย. และมีการเขียนส่วนผสมในฉลากให้ชัดเจน มีชื่อผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุให้ครบถ้วน         อย่างไรก็ตาม ฉลาดซื้อแนะนำให้ใช้มอยเจอร์ไรส์เซอร์เป็นตัวช่วยร่วมด้วย เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวในส่วนของข้อศอกและหัวเข่า เพราะว่าข้อศอกและหัวเข่าด้านนั้นคงมีอาการแห้งร่วมด้วย การบำรุงผิวด้วยการเติมความชุ่มชื้นประกอบกับผลัดเซลล์ผิวไปด้วยจะช่วยให้ผิวบริเวณนั้นดีขึ้นได้           ทั้งนี้ การเลือกมอยเจอร์ไรส์เซอร์ก็ควรเลือกที่เหมาะกับตัวเอง งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม พาราเบนหรือแอลกอฮอล์ ถือว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กลุ่มสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองไปด้วย เพราะอย่าลืมว่าบางคนก็มีผิวที่บอบบาง ซึ่งอาจทำให้มีอาการแพ้และผิวบริเวณนั้นมีอาการหนักกว่าเดิมได้ แต่หากใครที่ใช้กลุ่มที่มีน้ำหอมแล้วไม่แพ้ก็สามารถใช้ต่อไปได้ปกติค่ะ         กรณีข้อศอก เข่า ดำด้านในผู้ที่มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ควรปรึกษากับแพทย์ผิวหนังโดยตรง พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลให้ละเอียดว่ารักษาหรือใช้ยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อให้แพทย์รู้สาเหตุและรักษาได้อย่างตรงจุด         ทิ้งท้ายสิ่งที่ต้องระวังที่สุด คือ การหาข้อมูลการรักษาโรคในออนไลน์แล้วมีการให้ใช้ส่วนผสม ต่างๆ (ซึ่งไม่มีการพิสูจน์อย่างเป็นวิชาการ) มาทาที่ผิว บางอย่างถ้าไม่ศึกษาให้ดีก็อาจเป็นอันตรายได้ และจะยิ่งมีผลร้ายทำให้ต้องเสียทั้งสุขภาพและเงินทองจึงต้องระมัดระวังอ้างอิง :        https://hellokhunmor.com | ข้อศอกด้าน สาเหตุ การดูแลและการป้องกัน        https://th.theasianparent.com | ศอกด้านแค่ไหนก็เอาอยู่! วิธีแก้ข้อศอกด้าน ศอกดำ กู้ศอกคล้ำให้กลับมาขาวเนียน        https://youtu.be/uAGnNtlmkM0?si=l_NZXKbjeXoZIrdJ | "แก้หัวเข่าดำ ทำได้ไม่ยาก" คุยกับหมออัจจิมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 กระแสต่างแดน

ขอที่ปูผ้า        ชาวบ้านบนเกาะพารอส ประเทศกรีซ พากันนุ่งผ้าเช็ดตัวออกมาเรียกร้องการเข้าใช้พื้นที่บนหาดทราย หลังกิจการบาร์ชายหาดรุกพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง จนไม่เหลือที่ให้คนท้องถิ่นมาปูผ้านอนอาบแดดได้โดยไม่ต้องเสียเงิน         กิจการ “ให้เช่าเก้าอี้อาบแดด” กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ใครก็อยากเข้ามาลงทุน เพราะเรียกเก็บค่าเช่าแพงๆ จากนักท่องเที่ยวได้ แค่เตียงผ้าใบสองตัวกับร่มอีกหนึ่งคัน ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ยูโร (ประมาณ 3,800 บาท) แล้ว         โดยทั่วไปร้านค้าต้องได้รับอนุญาตก่อนจะให้บริการเช่าเตียงและร่มได้ แต่ส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่เกินจากที่ขอไว้         “ม็อบผ้าเช็ดตัว” ทำให้เกิดกระแสขอคืนพื้นที่บนชายหาดของเกาะยอดนิยมทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศ มีทั้งการเดินประท้วงและการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ         ชายหาดกว่า 16,000 กิโลเมตรของกรีซ มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละหลายล้านคนในช่วงวันหยุดฤดูร้อน พกร่มให้หล่อ        ตลาดร่มสำหรับผู้ชายในญี่ปุ่นกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะผู้ชายเริ่มหันมาใช้ร่มกันมากขึ้น         ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นบอกว่าปีนี้ยอดขาย “ร่มผู้ชาย” เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า ห้างบอกว่าจากร่มในสต็อก 600 รุ่น มีถึง 80 รุ่น ที่เป็นร่มสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ         ร่มที่ลูกค้าชายชอบคือร่มสีเข้ม เช่น สีดำ กรมท่า และน้ำเงิน เป็นแบบพับได้หลายตอนและมีขนาดเล็กใส่กระเป๋าสะดวก (ในขณะที่ผู้หญิงชอบร่มที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนเพื่อให้เปิด/ปิดได้ง่าย ไม่เกี่ยงขนาด)         สาเหตุที่ผู้ชายนิยมกางร่มมากขึ้นเพราะเหตุผลด้านการดูแลผิว ผู้อยู่เบื้องหลังได้แก่บรรดาบริษัทเครื่องสำอางที่ประสบความสำเร็จในการเจาะตลาดลูกค้าผู้ชายในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ตลาดเครื่องสำอางผู้ชายของญี่ปุ่นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30  ตลาดผลิตภัณฑ์กันแดด/แก้ผิวไหม้ ก็โตขึ้นร้อยละ 20 เช่นกัน         ห้างวิเคราะห์ต่อว่าการประชุมออนไลน์มีส่วนทำให้ผู้ชายใส่ใจรูปลักษณ์ตัวเองมากขึ้น เพราะได้เห็นหน้าตัวเองบนจอภาพพร้อมกับหน้าของผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่น   ไม่รับเงินสด         เป็นอีกเรื่องที่สร้างความหงุดหงิดใจให้ผู้บริโภคเสมอ เมื่อผู้ประกอบการยืนยันว่า “ไม่รับเงินสด” โดยเฉพาะเมื่อเป็นบริการรถสาธารณะ         กฎหมายของเดนมาร์ก จึงกำหนดให้ธุรกิจขนส่งไม่สามารถปฏิเสธเงินสดได้ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายว่าด้วยการชำระเงิน ที่กำหนดให้ธุรกิจต้องรับชำระเงินเป็นเงินสด แม้แต่การปฏิเสธ “แบงค์ใหญ่” เพราะไม่มีเงินทอน ก็ใช้เป็นข้ออ้างไม่ได้         แต่ Midttrafik ผู้ประกอบการรถเมล์สาธารณะในเมืองออฮุส ประเทศเดนมาร์ก กลับยืนยันว่าตั้งแต่พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เขาจะไม่รับชำระค่าโดยสารเป็นเงินสดแล้ว          เทศบาลเมืองออฮุสแถลงว่าบริษัทไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาผู้โดยสารจะจ่ายค่าโดยสารเป็นเงินสดกับเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติที่ประตูกลางหรือประตูหลังของรถ เมื่อถึงกำหนดเวลาที่ต้องยกเครื่องเหล่านี้ออกไปทำลาย ช่องทางชำระด้วยเงินสดจึงหมดไปโดยปริยาย อยากระบาย         บริการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาที่กระทรวงสาธารณสุขไต้หวันจัดให้ฟรีสามครั้งสำหรับคนอายุ 15 ถึง 30 ปี ได้รับการตอบรับดีเกินคาด         ผู้อำนวยการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กล่าวว่าโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อรองรับ “คนไข้” จำนวน 6,000 คน ปัจจุบันมีคนมาจองพบจิตแพทย์ในคลินิกและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเต็มหมดแล้ว         สาเหตุที่มีโครงการนี้ขึ้นมาก็เพราะ นอกจากภาวะหดหู่และโดดเดี่ยวในช่วงที่มีการระบาดของโควิดที่ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับเพื่อนแล้ว คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะจมอยู่กับอินเทอร์เน็ต ขาดทักษะทางสังคมและคนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาก็มีสถิติการหย่าร้างสูงขึ้น         กรมฯ มองว่า การตอบรับอย่างท่วมท้นนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะอย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ไม่กลัวที่จะเล่าปัญหาตนเองให้คนอื่นฟัง ต่างกับคนรุ่นก่อนหน้าที่เลือกจะไม่ปรึกษาใครเพราะกลัวเสียภาพพจน์   แก้ขาดทุน         ปีหน้าผู้โดยสารรถไฟในเนเธอร์แลนด์จะต้องจ่าย “ค่าธรรมเนียมชั่วโมงเร่งด่วน” ร้อยละ 7 หลังรัฐบาลอนุมัติแผนแก้ปัญหาการขาดทุนของการรถไฟเนเธอร์แลนด์ (NS) ที่ต้องการนำเงินดังกล่าวมาเฉลี่ยกับรายได้ในช่วงที่มีผู้โดยสารน้อย         รัฐบาลยังเว้นการเรียกเก็บภาษีปีละ 80 ล้านยูโรจากบริษัท และให้เงินช่วยเหลือปีละ 13 ล้านยูโรด้วย ซึ่งกรณีหลังนี้องค์กร Alliance of Passenger Rail New Entrants (ALLRAIL) ออกมาค้านว่าน่าจะผิดกฎสหภาพยุโรป ที่ระบุว่ากิจการแสวงหากำไรที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วยค่าโดยสารและรายได้อื่น ไม่สมควรได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไป         ที่แน่นอนคือสัญญาการเดินรถระหว่างประเทศของ NS กำลังจะสิ้นสุดลง สหภาพยุโรปกำหนดว่าตั้งแต่ 25 ธันวาคมปีนี้เป็นต้นไป ต้องมีการประมูลรับสัมปทานกิจการรถไฟระหว่างประเทศกันใหม่ ขณะนี้มีผู้ประกอบการจากเยอรมนี อิตาลี รวมถึงบริษัทร่วมทุนเนเธอร์แลนด์/เบลเยียมก็แสดงความสนใจเข้ามาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 263 เมื่ออัยการทำ MOU กับศัลยแพทย์ ประชาชนจะพึ่งใคร

        เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม สำนักงานอัยการสูงสุด กับแพทยสภา และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ โดยมี อัยการสูงสุด นายกแพทยสภา และประธานราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยร่วมลงนาม         คำถามที่ชาวบ้านหรือผู้รับบริการสาธารณสุขสงสัยคือ เหตุใดองค์กรแพทย์จึงต้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์เป็นกรณีพิเศษ  ข่าวแจกสื่อมวลชนระบุว่า การทำ MOU นี้เกิดจากปัญหาที่ศัลยแพทย์ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการรักษาของศัลยแพทย์ที่เป็นภาวะแทรกซ้อน  ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้อง  กล่าวคือ สำนักงานอัยการสูงสุดจะให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ด้วยการให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ยประนอม ข้อพิพาท การช่วยเหลือทางคดี         ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเรื่องการเตรียมทำ MOU ฉบับนี้ โดยระบุถึงความจำเป็นว่า ศัลยแพทย์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ  หากปล่อยให้ศัลยแพทย์ได้รับโทษทางแพ่งและอาญา ตลอดจนโทษจากองค์กรควบคุมวิชาชีพ อันเป็นผลจากภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาพยาบาล  ก็อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต           ผู้เขียนเห็นว่า การทำ MOU ดังกล่าวของสำนักงานอัยการสูงสุดกับแพทยสภา โดยเฉพาะราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นสิ่งที่ขาดเหตุผล ความจำเป็นและขาดความเหมาะสม  เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่ของอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายร้องทุกข์ในคดีทางการแพทย์ หากมีผู้ป่วยไปเสริมความงามจมูก หน้าอก แล้วเกิดภาวะติดเชื้อหรือทำให้ใบหน้าผิดเพี้ยนหรือพบความผิดปกติ หรือการผ่าตัดรักษาอาการอย่างหนึ่งแต่กลับส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย  กรณีเหล่านี้จะถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อน (complication) หรือไม่  หรือกรณีศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วย (standard of care) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น การป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยในขณะเข้ารับการผ่าตัดหรือการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม  ในคดีทางการแพทย์ในต่างประเทศหากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด โดยศัลยแพทย์มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย มีหลายคดีที่ศาลตัดสินให้แพทย์มีความผิดหรือต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะศาลเห็นว่าแพทย์มิได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานการดูแลรักษา   คำถามสำคัญคือ หากแพทย์ที่ถูกร้องร้องเรียนหรือถูกฟ้องมาขอคำปรึกษากับอัยการตาม MOU จะส่งผลทำให้อัยการมีความเห็นทางกฎหมายที่เอนเอียงไปกับฝ่ายศัลยแพทย์หรือไม่                     การทำ MOU นี้ของสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องในคดีอาญาหรือร้องเรียน อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 248 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง เนื่องจากอาจทำให้อัยการขาดความเที่ยงธรรมในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงยังอาจขัดต่อกฎหมายขององค์กรอัยการหลายฉบับคือ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓  จนอาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามคำปฏิญาณของพนักงานอัยการก่อนเข้ารับหน้าที่ว่า “..... จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน ....”  อีกทั้งยังอาจขัดต่อ ”ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน พ.ศ. 2562” โดยเฉพาะข้อ 19 ที่กำหนดว่า พนักงานอัยการจะต้องให้คำปรึกษาแก่ประชาชนโดยเสมอภาคกัน  การที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้คำปรึกษาเป็นพิเศษแก่กลุ่มองค์กรแพทย์เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องที่อาจขัดต่อกฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการข้างต้น        เนื้อหาตาม MOU ระบุให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด แพทยสภา ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ โดยการประชุมหารือร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางการแพทย์ เพื่อประโยชน์ในการให้ความคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์  จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้อัยการที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ขาดความรู้ ความเข้าใจทางการแพทย์ ก็ย่อมอาจรับฟังและเชื่อในข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่แพทย์บางท่านอธิบาย  แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ในแต่ละเคสจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การพิจารณาว่าศัลยแพทย์ท่านใดกระทำผิดตามที่ถูกผู้ป่วยหรือผู้รับบริการร้องเรียนหรือไม่ หากอัยการรับฟังข้อมูลจากศัลยแพทย์ที่ถูกร้องเรียนแล้วเชื่อว่าเป็นความจริงทั้งหมด ก็อาจส่งผลต่อการพิจารณาสั่งคดีของอัยการได้คือ อัยการอาจสั่งคดีไม่ฟ้องแพทย์รายนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือ หากพนักงานอัยการในนามองค์กรอัยการได้ให้คำปรึกษาแก่ศัลยแพทย์ท่านนั้นไป หรือให้คำแนะนำแก่แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ไปแล้ว อาจทำให้มีผลผูกพันต่อการสั่งคดีทางอาญาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ เที่ยงธรรมของพนักงานอัยการผู้สั่งคดี         อนึ่งในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยที่ฟ้องแพทย์ส่วนใหญ่จะแพ้คดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะร้องขอให้แพทย์ท่านใดมาเป็นพยานเบิกความให้ฝ่ายผู้ป่วยในศาลได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ฟ้องแพทย์ก็มีน้อยมาก เพราะไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงต้องเสียเวลาขึ้นศาล หรือคิดว่าเป็นเรื่องเคราะห์กรรม อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยบัตรทองหลายรายที่ได้รับการเยียวยาความเสียหาตามกฎหมายแล้วคือ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็มักจะไม่ฟ้องแพทย์หรือโรงพยาบาลอีก              ผู้บริหารสำนักงานอัยการสูงสุดควรทบทวนการทำ MOU ดังกล่าว เพราะอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อองค์กรและการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเกิดความคลางแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการว่า จะมีความเที่ยงธรรมหรือไม่ เพียงใด  การที่อัยการมีความสัมพันธ์หรือมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายแพทย์ที่เป็นคู่ความในคดีอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดประชุมหรือจัดสัมมนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง          การร้องเรียนหรือคดีทางการแพทย์ที่ประชาชนได้รับความเสียหายจากศัลยแพทย์อาจมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกระแสนิยมในเรื่องการเสริมความงาม  หากผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการดังกล่าว   ศัลยแพทย์ที่ถูกฟ้องร้องได้รับคำปรึกษาแนะนำทางกฎหมายจากอัยการอย่างใกล้ชิด แล้วประชาชนจะไปหันพึ่งใคร          การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ศัลยแพทย์ ระหว่าง สำนักงานอัยการสูงสุด กับ แพทยสภาและราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายและระเบียบขององค์กรอัยการ องค์กรอัยการเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรม จึงควรทบทวนความจำเป็นการทำ MOU ฉบับนี้ เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับแพทยสภาที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งสมาชิกขององค์กรอาจเป็นคู่ความในคดีทางการแพทย์ จึงอาจกระทบต่อความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรมในการดำเนินคดีของอัยการ  --------------------------------* กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 พบแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ด้วย "ZeekDoc"

        มาอีกแล้วจ้า เมื่อน้องโควิด19 ได้เข้าแพร่ระบาดในประเทศไทยระลอก 3 ต้องคอยนั่งลุ้นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด19 ว่าจะมากน้อยแค่ไหน พื้นที่ไหนมีความเสี่ยงสูงบ้าง คราวนี้หลายคนอาจรู้สึกว่าน้องโควิด19 เริ่มใกล้ตัวเข้ามามากขึ้นทุกที ความวิตกกังวลจึงเริ่มถาโถมเข้ามาด้วยเช่นกัน ดังนั้นหลายคนอาจมีอาการแพนิก หรือตื่นตระหนก ไม่กล้าออกจากบ้าน แต่บางครั้งก็มีความจำเป็นที่ต้องออกจากบ้าน อย่างเช่น ซื้ออาหารและน้ำมาตุน ต้องเดินทางไปพบหมอ เป็นต้น         ผู้อ่านคนใดมีความจำเป็นต้องเดินทางไปพบหมอ แต่ไม่สะดวกในช่วงนี้ ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ZeekDoc ช่องทางใหม่ในการค้นหาและนัดพบแพทย์เฉพาะทางใกล้บ้าน สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         ZeekDoc ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยเล็กน้อยและไม่ต้องการเดินทางไปพบหมอด้วยตนเอง โดยแอปพลิเคชั่นจะให้ลงทะเบียนด้วยชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เมล วันเดือนปีเกิด และเพศ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับคุณหมอ เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้เลือกสาขาเฉพาะทางของคุณหมอที่ต้องการนัดพบที่ครอบคลุมมากกว่า 40 สาขา ได้แก่ อายุรกรรมทั่วไป ทันตกรรม กระดูกและข้อ สูตินารีเวช หูคอจมูก ทางเดินอาหารและตับ หัวใจและหลอดเลือด ผิวหนัง นักกายภาพบำบัด มะเร็ง ทางเดินปัสสาวะ ศัลยแพทย์ แพทย์แผนจีน เวชศาสตร์ชะลอวัย ภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน จิตเวช เป็นต้น และเลือกบริเวณพื้นที่ที่ต้องการค้นหา        แอปพลิเคชั่นจะค้นหารายชื่อคุณหมอที่มีสังกัดอยู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือจะเลือกคุณหมอที่มีสังกัดอยู่โรงพยาบาลไกลบ้านที่ต้องการก็ได้ โดยแอปพลิเคชั่นจะประมวลผลและปรากฎชื่อคุณหมอ ชื่อโรงพยาบาลที่สังกัด ที่อยู่โรงพยาบาล ข้อมูลประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานของคุณหมอ ซึ่งมีข้อมูลของคุณหมอที่สังกัดโรงพยาบาลรัฐบาลและโรงเรียนแพทย์ที่มีชื่อเสียงและออกตรวจนอกเวลาที่โรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกต่างๆ ไว้มากมาย         เมื่อเลือกคุณหมอที่ชื่นชอบได้แล้ว ระบบจะแจ้งวันเวลาที่คุณหมอสะดวก เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นได้กดจองเวลาและตอบคำถามเบื้องต้น หลังจากนั้นจะได้รับใบนัดผู้ป่วยที่ระบุรายละเอียดของคุณหมอ ชื่อโรงพยาบาลที่สังกัด ชื่อคนไข้ วันและเวลาที่จอง ทั้งนี้ก่อนถึงเวลานัดหมายจะมีระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าให้อีกด้วย         สำหรับใครที่ไม่ถนัดใช้บริการนัดพบหมอทางแอปพลิเคชั่น ZeekDoc จะลองมาจองผ่านเว็บไซต์ https://zeekdoc.com ได้เช่นกัน  ที่สำคัญการให้บริการในการติดต่อนัดพบคุณหมอนี้ ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น          แม้ว่าน้องโควิด19 จะแพร่ระบาดอีกรอบ แต่สิ่งที่ต้องปฏิบัตินั่นคือ การรักษามาตรการการเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่มีความเสี่ยงสูง พวกเราต้องอย่าลืมช่วยกันยกการ์ดให้สูงกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 คัดค้านแพทย์สภาเรื่องหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย

        ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสไปร่วมเจรจาให้กับผู้ป่วยที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้มีตาข้างนึงมีปัญหาความดันตาสูง และต้องได้รับการฉีดก๊าซเพื่อทำการรักษา         วันที่ไปรับการรักษา ช่วงเช้าได้รับการตรวจตาตามนัด เนื่องจากติดพักกลางวัน แพทย์เลยให้ไปพักกลางวันทานอาหารก่อน แล้วค่อยมาฉีดก๊าซในตอนบ่าย         ตอนบ่ายกลับมาฉีดก๊าซตามที่แพทย์แจ้ง ก็พบว่า ตอนจะฉีดก๊าซผู้ป่วยถูกปิดตาอีกข้างที่ไม่มีปัญหา ก็ได้ถามคนไข้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไรทำไมไม่แจ้งแพทย์และพยาบาลว่าปิดผิดข้าง ซึ่งคนทั่วไปจะคิดว่า นั่นซิแล้วทำไมคนไข้ไม่บอก คำตอบที่ได้รับจากคนไข้หลังจากถาม คนไข้บอกว่า ที่ไม่บอกเพราะคิดว่าการฉีดก๊าซจะต้องทำจากอีกข้างไปสู่อีกข้าง เป็นวิธีการของแพทย์ในการรักษาต้องใช้เทคนิคแบบนั้น และยังคิดว่าแพทย์ยังจำได้ว่าตนมีปัญหาตาข้างไหนเพราะเพิ่งตรวจไปกับแพทย์ตอนเช้า         สุดท้ายผู้ป่วยตาบอดทั้งสองข้างเพราะฉีดก๊าซผิดข้าง ผู้ป่วยรายนี้มีอาชีพขับรถรับจ้างทั่วไป และทุกวันต้องขับรถพาภรรยาไปขายขนมที่ตลาด เมื่อตาบอดทำให้ไม่สามารถขับรถได้ ไม่ได้ทำงาน ภรรยาก็ไปขายของไม่ได้ เดือดร้อนมาก ลูกสาวมีครอบครัวอยู่คนละจังหวัด ลูกสาวไปบ้านเพื่อนซึ่งกำลังคุยกับนักกฎหมาย เลยมีโอกาสพบกับนักกฎหมาย นักกฎหมายแนะนำให้คุยกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นสาเหตุให้มีโอกาสไปร่วมเจรจาให้กับผู้ป่วยเพื่อเยียวยาความเสียหาย         ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ในข้อ 2 ผู้ป่วยพึงเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ “ที่เป็นจริงและอยู่ในความรับรู้” ของผู้ป่วยแก่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทั้งนี้ เพื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะได้รับทราบข้อมูลด้านสุขภาพทั้งหมดอันจะเป็นประโยชน์ต่อการให้การรักษาพยาบาลและป้องกันมิให้เกิดผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยเองและต่อผู้ป่วยรายอื่น รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง         เฉพาะข้อนี้อย่างเดียว หากมีการฟ้องร้องกันก็ทำให้ผู้ป่วยยากที่จะต่อสู้แล้ว ว่าทำไมไม่แจ้งให้แพทย์ทราบว่ามีปัญหาตาอีกข้าง เพราะเป็นหน้าที่ของผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ตามมาตรฐานทางการแพทย์ และการพยาบาลก่อนการฉีดก๊าซจะต้องตรวจสอบชื่อนามสกุล ว่าถูกคนมั้ย ตรวจสอบต่อไปว่าถูกข้างมั้ย เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการให้บริการทางการแพทย์         แน่นอนหากเรามองกรณีโควิด19 ที่ผู้ป่วยไม่ยอมแจ้งข้อมูลว่า เกี่ยวข้องกับคนที่ติดเชื้อโควิด ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและต้องกักตัวนานถึง 14 วัน เป็นปัญหาต่อบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาล ต่อระบบสาธารณสุข แต่เรื่องนี้หากมองให้รอบคอบเราสามารถใช้กฎหมายควบคุมโรคระบาด หรือแม้แต่ พรบ.ควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินได้กับผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผย โดยไม่จำเป็นต้องออกหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ซึ่งส่งผลต่อกรณีอื่นๆอีกหลายกรณี         ยังไม่รวมถึง หน้าที่ของผู้ป่วยในการเอาใจใส่และดูแลสุขภาพของตนเอง รวมทั้งการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกระบวนการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเห็นว่า ไม่อาจทำตามคำแนะนำดังกล่าวได้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้ทราบโดยทันที เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ซึ่งการรักษาแต่ละครั้งไม่ต้องอ้างว่าจะถาม แค่เวลาในการซักถามเรื่องการรักษายังทำได้ยาก แถมยังถูกหมั่นไส้เอาอีกด้วย         เพียงสองข้อ ที่ยกตัวอย่างสะท้อน การขาดความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แม้แต่การใช้สารเคมีทางการเกษตร อำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของแพทย์และคนไข้ คนไข้อายุ 60 ปี ต้องยกมือไหว้แพทย์ อายุ 30 ปีก่อนทุกครั้งนั่นเป็นคำตอบอย่างดีว่าทำไมผู้ป่วยและผู้บริโภคต้องคัดค้านและต้องหาทางยกเลิกหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย หรือถึงเวลาที่ผู้ป่วยต้องออกประกาศหน้าที่ของแพทย์อันพึงปฏิบัติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความยินยอมไม่เป็นละเมิด

        อย่างที่เรารู้กันว่าคนไทยเราชอบอะไรง่ายๆ เรื่องเล็กน้อย ก็ยอมๆ กันได้ เช่น ข้างบ้านมาสร้างรั้วล้ำมาในเขตบ้านเรา แต่เราเห็นว่านิดๆ หน่อยๆ ก็ปล่อยยอมให้เขาสร้าง เช่นนี้เขาก็ถือว่าสร้างโดยเรายินยอม จึงไม่ผิด หรือมีคนมาหยิบหนังสือเราไปอ่าน เราก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร เขาก็ไม่ผิด แต่รู้ไหมว่า การยินยอมบางอย่างมันมีผลทางกฎหมายด้วยนะครับ         ผมขอยกตัวอย่างในคดีทางการแพทย์ อย่างที่รู้เราไปหาหมอให้เขารักษา เท่ากับเรายินยอมให้เขารักษา เพราะเขาต้องใช้เครื่องมือแพทย์กับร่างกายเรา ทั้งเจาะร่างกาย ใช้เข็มแทง ผ่าตัด วางยาสลบ และเขาก็ยินยอมรักษาให้เรา หากภายหลังพบว่า หมอเขารักษาไม่ดี เช่นนี้จะถือเอาความยินยอมของเรา มาอ้างเพื่อพ้นความรับผิดได้ไหม เรื่องนี้ มีคำพิพากษาของศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า แม้จะได้รับความยินยอมแต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของหมออันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หมอก็ต้องรับผิดต่อโจทก์                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552        การตรวจร่างกายของผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร พยาธิสภาพอยู่ที่ไหนและอยู่ในระยะใดเพื่อจะนำไปสู่การรักษาได้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้แพทย์จักต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์มิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาที่ต่อเนื่องกัน การที่จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล...ด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษา ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร และไม่มีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลได้ฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการหลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงโดยโจทก์ไม่มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์        ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษาแม้จะเป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์เพื่อการรักษาได้ แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้        ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446        อย่างไรก็ตาม การยินยอมก็ต้องมีขอบเขต ถ้าเป็นการยินยอมที่ต้องห้ามตามกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็เป็นละเมิดต้องรับผิด เช่น กรณีผู้เสียหายยินยอมมีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด การยินยอมก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ  จึงถือว่ากระทำละเมิด ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8932/2557                ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด" แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 รู้เท่าทันลูกกลิ้งหินหยกนวดหน้า

        การใช้ลูกกลิ้งหินหยกนวดใบหน้าเพื่อให้ผิวหน้าดูอ่อนเยาว์และสวยงาม เป็นความเชื่อและใช้ในการแพทย์แผนจีนโบราณมากว่าพันปี ทำให้มีการขายอุปกรณ์ลูกกลิ้งหินหยกนวดหน้าทั่วไปในตลาดของประเทศไทย และต่อมาได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ จึงมีการศึกษาค้นคว้าในทางการแพทย์มากขึ้นว่า ได้ผลจริงตามความเชื่อหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ความเชื่อเรื่องหินกับสุขภาพ         ความเชื่อเรื่องหิน แร่ ผลึก กับสุขภาพนั้นมีมานานนับพันปี โดยเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติ มีอายุเก่าแก่ งดงาม หาได้ง่าย และใช้ง่าย  ผู้ที่มีประสบการณ์การใช้เพื่อบำบัดและเพิ่มพลังชีวิตจะเชื่อว่าหินแต่ละชนิดจะมีพลังแตกต่างกันไป  หินจึงสามารถใช้เยียวยาปัญหาต่างๆ ของร่างกายได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้โชคดี นำโชคลาภมาให้ และสร้างพลังในร่างกายได้ ความนิยมใช้หยก หิน และผลึกแร่ต่างๆไข่หยก  ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อ 2 ปีก่อน เพราะดาราสาว Gwyneth Paltrow ออกมาแนะนำให้ใช้ไข่หยกสอดไว้ในช่องคลอด ซึ่งเป็นวิธีการโบราณที่เชื่อว่าจะทำให้กล้ามเนื้อช่องคลอดและเชิงกรานกระชับ และหยกช่วยล้างพลังลบที่อยู่ในช่องคลอด เตียงผลึกหินและแร่  โดยการนอนหรือแช่ในอ่างที่มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ เสียงบำบัด การสั่นสะเทือนบำบัด แสงและสีบำบัด คลื่นแม่เหล็กฟ้าบำบัด และผลึกแร่ต่างๆ  และอ้างว่า ทำให้สุขภาพดี และเพิ่มพลังลูกกลิ้งหน้าจากหยกและหิน  ได้รับความนิยมในโลกแห่งความงามมากขึ้น เพราะเชื่อว่า การนวดหน้าช่วยลดอาการบวมฉุของใบหน้า ลบรอยเหี่ยวย่น ผิวสวยงาม และการนวดด้วยหยกหรือหิน จะได้รับพลังจากหยกและหินต่างๆ ด้วย จุกเสียบก้นที่ทำจากหิน  เป็นจุกเล็กๆ ที่ทำจากหินหรือผลึกแร่ต่างๆ ใช้เสียบที่ก้น เพื่อกระต้นพลังจักระที่ 1 หรือมูลธาร (มูลธาระ)  ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเชิงกรานเหนือทวารหนัก ตามหลักการโยคะ ในร่างกายของคนจะมีพลังซ่อนเร้นสงบอยู่ เรียกว่า “กุณฑาลินี”  พลังนี้จะสงบนิ่งอยู่ที่จักระที่ 1 ซึ่งเชื่อมโยงกับจักระทั้ง 7 ในร่างกาย การใช้หินร่วมกับการฝึกโยคะ  มีความนิยมการใช้หิน แร่ ร่วมกับการฝึกโยคะในต่างประเทศ เพราะเชื่อว่าหินจะเพิ่มพลังจักระระหว่างการฝึกโยคะ ลูกกลิ้งหน้าจากหยกและหินได้ผลจริงหรือไม่เมื่อทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวกับประโยชน์และประสิทธิผลของการใช้ลูกกลิ้งหยกนวดหน้า พบว่า มีงานวิจัยน้อยมาก บางวิจัยพบว่า ช่วยลดรอยเหี่ยวย่นที่ใบหน้า และคอได้หลังจากใช้นาน 4 สัปดาห์  บางวิจัยพบว่า มีประโยชน์ในการใช้เพื่อความงามของผิวหน้า แต่หนึ่งในสามมีผลข้างเคียงเช่น หน้าแดง บวม ผิวหนังอักเสบ เป็นสิว เป็นต้น สรุป  ประโยชน์ของลูกกลิ้งหินและหยกในการนวดหน้านั้น ยังต้องการการศึกษาวิจัยมากกว่านี้เพื่อยืนยันประสิทธิผล  การนวดหน้ามีประโยชน์โดยตรงจากการนวดเพราะไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหน้าและผิวหนัง  การใช้ลูกกลิ้งหินหยกจึงต้องรักษาความสะอาดของหินหยกและใบหน้า เพื่อป้องกันการแพ้ การอักเสบ และการติดเชื้อ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 คำวินิจฉัยแพทย์ ประกันสังคมและความเจ็บป่วยที่ผู้บริโภคต้องรอ

                   ความเจ็บป่วยนั้นรอไม่ได้ เมื่อไม่สบาย เราย่อมต้องการการรักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการ ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในสามกองทุนหลักคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีสิทธิประโยชน์และหลักปฏิบัติบางอย่างต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ คำวินิจฉัยของแพทย์จะถือเป็นสิ่งสำคัญ หากคำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ผู้ป่วยก็อาจต้องทนเจ็บทนรอจนแทบไม่ไหว อย่างกรณีของคุณสาธร        เมื่อต้นปี 2560 คุณสาธรไปพบแพทย์ด้วยอาการเข่าเสื่อม โดยใช้สิทธิในกองทุนประกันสังคมและได้รับการผ่าตัดในเวลาต่อมา แต่หลังผ่าตัดอาการยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่สามารถใส่เหล็กได้ แพทย์เจ้าของไข้จึงวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่ 2 ซึ่งผู้ร้องจะต้องจ่ายเงินก่อนจำนวน 25,000 บาท ทั้งนี้ในการผ่าตัดครั้งแรกคุณสาธรได้สำรองเงินเป็นค่าประกันให้กับโรงพยาบาลไว้เป็นจำนวน 25,000 บาทไปก่อนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้ก็ต้องยืมมาจากนายจ้าง เมื่อคุณสาธรสอบถามไปที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า วงเงินสำหรับการผ่าตัดที่ประกันสังคมตั้งไว้คือ 80,000 บาท ถ้าเกินนี้จึงจะต้องจ่ายเอง คุณสาธรจึงเห็นว่า ตนเองควรได้เงินประกันที่จ่ายไว้ในครั้งแรก 25,000 บาทคืนมาก่อนจากโรงพยาบาล จึงติดต่อทางโรงพยาบาลไป ซึ่งก็ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวคืนเรียบร้อย  แต่ทั้งนี้หากคุณสาธรประสงค์จะผ่าตัดครั้งที่สอง จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50,000 บาท ซึ่งคุณสาธรไม่เข้าใจว่า ทำไมโรงพยาบาลจึงต้องเก็บเงินค่าผ่าตัด ในเมื่อการรักษายังไม่น่าจะเกินวงเงินที่ประกันสังคมกำหนด แนวทางแก้ไขปัญหา        คุณสาธรต้องกังวลใจเรื่องการผ่าตัดอยู่นานเป็นปี จนเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2561 จึงติดต่อมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เมื่อรับเรื่องทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามกับทางคอลเซนเตอร์ของประกันสังคม 1506 ได้รับการชี้แจงว่า “ประกันสังคมกำหนดว่า หากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เลย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าห้องพิเศษ”          เมื่อติดต่อไปขอคำยืนยันจากคุณสาธรว่า แพทย์มีคำวินิจฉัยให้ผ่าตัดครั้งที่สองแน่นอนหรือไม่ เพราะถ้าเป็นคำวินิจฉัยของแพทย์ คุณสาธรก็ไม่ต้องจ่ายเงิน 50,000 บาทที่ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บ คุณสาธรแจ้งว่า แพทย์เจ้าของไข้ให้ผ่าตัดใส่เหล็กจริง และเงิน 50,000 บาทที่โดนเรียกเก็บ โรงพยาบาลแจ้งว่าเป็นค่าเหล็กที่จะใส่ให้ผู้ร้อง ไม่ใช่ค่าผ่าตัด ทางศูนย์ฯ จึงขอให้คุณสาธรลองคุยกับแพทย์ดูก่อนว่า “สามารถใช้เหล็กที่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมได้ไหมเพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม”         จากนั้นทางศูนย์ฯ ได้รวบรวมเอกสารจากคุณสาธรเพื่อส่งให้ทางประกันสังคมช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลเพื่อให้คุณสาธรได้รับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม เมื่อถึงเดือนมิถุนายน คุณสาธรเจ็บจนทนแทบไม่ไหวแล้วจึงยืมเงินนายจ้างมาอีกครั้งเพื่อจะได้ผ่าตัดครั้งที่สอง แต่โรงพยาบาลแจ้งว่ายังไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ เนื่องจากโรงพยาบาลยังมีกรณีตรวจสอบเรื่องที่แพทย์ได้รับการร้องเรียนอยู่  “หากโรงพยาบาลรักษาให้โดยรับเงินจากผู้ร้องเกรงจะมีปัญหา อีกทั้งต้องรอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงนามอนุมัติเพื่อขอเบิกเงินจากประกันสังคมก่อน เมื่อนำเรื่องของผู้ร้องไปปรึกษากับกลุ่มงานคุ้มครองสิทธิ ของประกันสังคม ได้รับการชี้แจงว่า “อยู่ระหว่างการหารือกับคณะที่ปรึกษาทางแพทย์ และไม่ทราบระยะเวลาดำเนินการว่าจะรู้ผลเมื่อใด แต่ได้รับฟังความเห็นจากแพทย์ผู้รักษา เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นต้องรีบผ่าตัดด่วน”        ทว่าคนเจ็บคือคุณสาธร ที่ต้องรอการประสานงานกันไปมาของทางประกันสังคมกับทางโรงพยาบาลที่มีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นหลายอย่างทั้งการเปลี่ยนผู้อำนวยการและแพทย์ยังไม่เห็นว่าต้องผ่าตัดเร่งด่วน จนต้องประคองตัวเองด้วยไม้เท้าอยู่สามเดือนกว่า จึงได้รับการนัดผ่าตัดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตามสิทธิประกันสังคม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 ระวังการรักษาทางเลือกที่ยังไม่ได้รับการรับรอง

    เมื่อตัวเลขอายุไต่ขึ้นมาใกล้หกสิบ ความกังวลต่อสุขภาพจะเป็นเรื่องที่คนเราให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เพราะสังขารที่เสื่อมไป ดังนั้นหากมีวิธีอะไรที่จะช่วยให้สุขภาพดีต่อไปได้อีกนานๆ ก็คงอยากจะทดลองดูสักครั้ง  เช่นเดียวกับคุณดารา วันหนึ่งเธอได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพต่อต้านความชรา สมมติว่าชื่อ บ.ลดวัย โดยพนักงานแจ้งคุณดาราว่า ทางบริษัทฯ มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถช่วยให้ลูกค้ามีสุขภาพที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้นเหมือนยังหนุ่มสาวได้ ซึ่งคุณดาราสามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรี คุณดาราจึงตัดสินใจไปทดลองดูสักครั้ง    เมื่อเข้ารับบริการตามคำชักชวน พนักงานของ บ.ลดวัย ได้เจาะเลือดที่นิ้วของคุณดาราเพื่อตรวจด้วยการส่องกล้อง จากนั้นฉายภาพให้ดูว่า “เลือดมีสภาพไม่ปกติ มีการสะสมของไขมันและโลหะหนักในเลือดสูง อีกทั้งยังขาดออกซิเจน ซึ่งจะส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆ ภายในร่างกาย” เมื่อโดนระบุแบบนั้นคุณดาราเกิดวิตกกังวลขึ้นมาทันที ขณะกำลังสับสนทางพนักงานแจ้งว่า เพื่อให้การตรวจมีความละเอียดขอเชิญให้ไปนั่งที่เก้าอี้ตรวจโรค ซึ่งจะสามารถสแกนได้ทั้งร่างกาย รวมถึงอวัยวะภายในทั้งตับ ไต ว่ามีความผิดปกติอย่างไรบ้าง   พอยิ่งตรวจละเอียดตามวิธีการของบริษัทฯ ผลที่ออกมายิ่งชวนให้วิตกยิ่งขึ้น ผลตรวจระบุว่า ระบบทางเดินอาหารไม่ดี ตับเสื่อม และมีอาการที่ไม่ดีอีกหลายอย่าง จากนั้นทางบริษัท เสนอทางเลือกในการรักษาให้แก่คุณดารา ด้วยวิธีที่เรียกว่า การทำครีเอชัน เพื่อนำสารพิษออกจากเลือด ทั้งหมด 6 รายการ โดยมีราคาคอร์สอยู่ที่ 250,000 บาท แต่คุณดารามากับญาติและตามคำชวนของบริษัทฯ ดังนั้นจึงเสนอราคาพิเศษ 149,000 บาท ซึ่งสามารถใช้บริการได้ 50 ครั้ง โดยสามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ ซึ่งผู้ร้องหรือคุณดาราตกลงจ่าย 10 ครั้งแรกก่อนในราคา 14,900 บาท   ต่อมาเมื่อเข้าไปที่บริษัทในครั้งที่สอง พนักงานได้เจาะเลือดซ้ำ โดยนัดให้ฟังผลเลือดและพบแพทย์ในครั้งที่สาม แต่พอถึงวันนัดพบแพทย์ทราบว่าทางแพทย์ติดธุระ พนักงานจึงให้ผู้ร้องรับการฉีดวิตามินทางเส้นเลือดและขยับการพบแพทย์ไปในครั้งที่สี่หรือสัปดาห์ถัดไป    เมื่อพบแพทย์ผู้รักษาและพูดคุยเรื่องการรักษา แพทย์แจ้งว่า การเข้ารับบริการ 50 ครั้งนั้นมากเกินไป ควรทำเพียงแค่ 10 ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว เนื่องจากการทำครีเอชันที่มากเกินไปมีผลทำให้ไตวายได้ จากคำบอกของแพทย์ ทำให้คุณดาราไม่สบายใจและไม่ไว้วางใจ บริการของ บ.ลดวัย เพราะให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกัน จึงได้เริ่มค้นหาข้อมูลเรื่องการรักษาแบบครีเอชัน  ทำให้ทราบว่าวิธีการนี้ทางแพทยสภาไม่ให้การรับรอง   คุณดาราจึงต้องการยกเลิกสัญญากับ บ.ลดวัย และทำหนังสือแจ้งต่อบริษัทบัตรเครดิตเพื่อยกเลิกการจ่ายเงิน แต่ไม่ได้คำตอบจากบริษัทบัตร และเมื่อไปพบกับพนักงานเพื่อแจ้งยกเลิกคอร์ส พร้อมขอเงินคืน ทางผู้จัดการของบริษัทได้เข้าเจรจาและชี้ชวนว่า การทำเพียง 10 ครั้งทำไปไม่มีประโยชน์ แต่สามารถลดลงเหลือ 20 ครั้ง ส่วนอีก 30 ครั้งทางบริษัทฯ จะคืนเงินให้เป็นจำนวน 83,100 บาท เท่ากับผู้ร้องต้องจ่ายค่าคอร์ส 20 ครั้งเป็นเงิน 65,900 บาท อย่างไรก็ตามคุณดาราหมดศรัทธาต่อวิธีดังกล่าวจึงต้องการยกเลิกสัญญา จึงขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา    เมื่อผู้ร้องไม่ยินดีรับบริการต่อ เนื่องจากเห็นว่า อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเสียเงินโดยไม่จำเป็น จึงต้องมีการเจรจาเพื่อยุติปัญหา ทั้งนี้คุณดาราเองได้ใช้สิทธิร้องเรียนไว้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงทำหน้าที่เป็นแค่ที่ปรึกษาเข้าร่วมเจรจาด้วย ซึ่งทางบริษัทฯ และผู้ร้องได้เจรจากัน ณ สำนักงาน สคบ. ศูนย์ราชการ ซึ่งผลการเจรจาสามารถจบลงด้วยดี บริษัทฯ ยินดีรับซื้อคอร์สคืน  โดยจะคืนเงินให้เมื่อขายคอร์สดังกล่าวได้แล้ว 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 สิทธิการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ผลกระทบจากกฎหมายห้ามธุรกิจอุ้มบุญ

รู้หรือไม่ ก่อนจะมีการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  ประเทศไทยเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของผู้มีบุตรยากทั่วทุกมุมโลกในการเข้ามารับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แต่เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่เข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะทำให้เกิด “ธุรกิจอุ้มบุญ” โดยมีสาวไทยขายมดลูกอุ้มท้องแทนจำนวนหนึ่งแบบลับๆ เรื่องแดงออกมาจากกรณีชาวต่างชาติจ้างหญิงไทย “อุ้มบุญ” เมื่อให้กำเนิดลูกแฝดแล้วคนหนึ่งปกติ อีกคนเป็นโรคดาวน์ซินโดรม สุดท้ายชายชาวต่างชาติก็รับเลี้ยงแค่เด็กที่มีความปกติเท่านั้น แล้วทิ้งเด็กดาวน์ซินโดรมไว้ให้แม่อุ้มบุญดูแล จนเป็นข่าวครึกโครม และเมื่อมีการสอบสวนเชิงลึกก็พบว่าชายชาวต่างชาติที่มาว่าจ้างหญิงไทยตั้งครรภ์นั้น เคยก่อคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงมาแล้ว 2 ครั้ง จนถูกจำคุกอย่างไรก็ตามปัญหาเกี่ยวกับการรับจ้างอุ้มบุญยังมีให้เห็นอยู่เนืองๆ ตลอดจนปัญหาการทอดทิ้งเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีให้แม่อุ้มบูญชาวไทยดูแล เพราะพอผู้ว่าจ้างเห็นหน้าเด็ก เห็นลักษณะเด็กแล้วไม่พอใจ ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์อีก หรืออย่างกรณีคู่รักชาย - ชาย มาว่าจ้างหญิงไทยอุ้มบุญก็เคยเจอ จนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในปี 2558 ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เป็นหลัก โดยห้ามซื้อ-ขายไข่ อสุจิ หรือสเปิร์ม และห้ามว่าจ้าง หรือรับจ้างตั้งภรรค์แทน หรือเรียกว่า “อุ้มบุญ” เด็ดขาดสถานการณ์การใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์การเข้าถึง(บริการรักษาภาวะมีบุตรยาก) ถ้าลงให้ลึกจริงๆ มีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากยังมีไม่มากนัก เรื่องค่ารักษาไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ การลางานไม่ได้ รวมถึงเมื่อมีโรคที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากประกันก็ไม่จ่าย เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์ พอผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้ บอกแพทย์ไปประกันไม่จ่ายทันที ถือว่าไม่เป็นธรรมมากรศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลกระบุว่าผู้ที่แต่งงานกันแล้วและตั้งใจที่จะมีบุตร แต่ไม่มีภายในระยะเวลา 1 ปี ถือว่าเป็นผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและหาแนวทางรักษาต่อไป ส่วนคู่แต่งงานที่ฝ่ายภรรยามีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปไม่ต้องรอให้ถึง 1 ปี หากยังไม่ตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือนก็ควรพบแพทย์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก ถ้าพูดถึงอัตราผู้มีปัญหาภาวะมีบุตรยากของไทยในปัจจบันมีอยู่ประมาณร้อยละ 10 – 15 ซึ่งมาจากหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่ฝ่ายหญิงมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงขึ้น จึงยังไม่อยากจะคิดถึงการมีบุตร การตั้งครรภ์ในขณะที่ยังมีความเจริญก้าวหน้า แต่จะเริ่มมาคิดถึงการตั้งครรภ์เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยากตามมา เพราะปัญหาเซลล์รังไข่เกิดสภาพไม่สมบูรณ์ ตกไข่ยาก หรือได้ไข่ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ เมื่อตั้งครรภ์แล้วก็แท้งง่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโรคประจำตัวของคนที่มีอายุมากเช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ รวมถึงความเครียดจากภาระงานที่พิ่มขึ้นจากความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทุกประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้สาเหตุที่เกิดจากฝ่ายชายก็ไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาภาวะมีบุตรยากนั้นมีหลายวิธีการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยแพทย์จะพิจารณาเป็นรายกรณี และเริ่มรักษาทีละสเต็ปจากน้อยไปหากมากคือ เริ่มจากการตรวจหาสาเหตุ หากพบว่าภาวะมีบุตรยากเกิดจากการมีโรคประจำตัวอะไรก็รักษาโรคนั้นๆ ก่อน เช่น ไทรอยด์ เบาหวาน ซีสต์ ความเครียด การใช้ยาหรือสารต่างๆ เป็นต้น เมื่อรักษาแล้วก็มีโอกาสตั้งภรรค์ หากแก้ไขปัญหาเบื้องต้นไม่สำเร็จจึงไปถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์  ทั้งนี้ เทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์มีหลายวิธีเช่นกัน เริ่มจากการคัดเชื้ออสุจิ ฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในรังไข่ หรือเรียกว่าผสมเทียม หรือกระตุ้นไข่ หากยังไม่สำเร็จก็ขยับไปอีกขั้นหนึ่งคือการทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ประเทศไทยสามารถทำได้หมด ปัจจุบันประเทศไทยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ด้วยการทำเด็กหลอดแก้ววิธีต่างๆ ประมาณปีละ 1 หมื่นรายตัวเลขเพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ แต่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอัตราผู้มีบุตรยากในประเทศไทย โดยคิดว่าไม่น่าจะถึงร้อยละ 10 ที่เป็นเช่นนี้สะท้อนว่าประชากรไทยที่มีปัญหายังรับรู้ และเข้าถึงบริการนี้น้อย เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่มีอัตราการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ค่อนข้างมาก เช่น ญี่ปุ่น มีผู้รับบริการประมาณ 2 แสนรายต่อปี บางประเทศอัตรการเข้ารับบริการพุ่งถึง 4 แสนรายต่อปี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยเหลือผู้มีบุตรยาก แต่ก็เพราะมีการเอาไปใช้ในเชิงธุรกิจ จนนำมาสู่การออกเป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ก็มีผลกระทบทั้งผลดี และผลเสีย โดยผลดีก็ทำให้ประเทศไทยอยู่ในร่องในรอยแบบที่สากลโลกเขาทำอยู่ แต่กรณีที่ 2 คือทำให้เรื่องการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากโดยเทคโนโลยีเข้าช่วยนั้นทำได้ยากขึ้น เสียเวลามากขึ้น บางครั้งคนที่มีปัญหามีบุตรยากและต้องการมีบุตรจริงๆ เข้าถึงบริการน้อยลง ที่จริงเรื่องการเข้าถึงน้อยลงถ้าลงให้ลึกจริงๆ มีหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากยังมีไม่มากนักเรื่องค่ารักษาไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ การลางานไม่ได้ รวมถึงเมื่อมีโรคที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยากประกันก็ไม่จ่าย เช่น ถุงน้ำในรังไข่ ซีสต์ พอผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้ บอกแพทย์ไปประกันไม่จ่ายทันที ถือว่าไม่เป็นธรรมมากนอกจากนี้สถานพยาบาลที่รักษาภาวะมีบุตรยาก ปัจจุบันที่มีอยู่ 70 แห่ง ถือว่าน้อยมากและส่วนใหญ่เป็นของเอกชน ซึ่งมีราคาแพง จากที่เข้าถึงบริการยากอยู่แล้ว ก็เลยยากที่จะเข้าถึงไปกันใหญ่ สำหรับหลักเกณฑ์การอุ้มบุญตามที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวดนั้นไม่ได้เป็นปัญหา เช่น การหาคนมารับเป็นแม่อุ้มบุญนั้นจริงๆ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นคนสายเลือดเดียวกันเท่านั้น แต่หากเป็นหญิงที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกันก็จะต้องมีการตรวจสอบที่เข้มงวดหน่อย เพราะต้นกำเนิดของกฎหมายก็มาจากปัญหาเรื่องการมีธุรกิจรับตั้งครรภ์แทนเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศจะนับเรื่องนี้เป็นปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย ข้อเสนอแนะสู่การแก้ไขปัญหาเพราะฉะนั้นเรื่องกฎหมายนับว่ามีความเหมาะสม แต่ถ้าจะแก้ไขก็ต้องทำให้ผู้ที่มีปัญหามีบุตรยากเข้าถึงบริการรักษาได้ง่ายขึ้นต้องมีทางเลือก อันดับแรกคือการมี “สิทธิ” เดินเข้าไปในโรงพยาบาลได้โดยที่ไม่มีอุปสรรคเรื่องของเวลา เรื่องค่าใช้จ่ายเหมาะสม หรือบางส่วนควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และควรแก้ไขเรื่องที่ประกันไม่จ่ายสินไหมโดยอ้างว่าเพราะปัญหาการมีลูกยากทำให้มีปัญหาถุงน้ำในรังไข่ ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวเลยก็ได้ นับว่าไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง แต่เกาหลีบังคับเลยว่าบริทประกันห้ามปฏิเสธการจ่าย “สิ่งที่อยากเห็นจริงๆ คือการเปิดให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากควรเปิดในสถานพยาบาลของรัฐถึงจะแก้ปัญหาได้ ในความเป็นจริงมันไม่ใช่เช่นนั้น ปัจจุบันภาครัฐไม่ได้จัดสรรคงบประมาณส่วนนี้ให้ ทำให้โรงพยาบาลรัฐไม่ตั้งหน่วยดูแลเรื่องนี้เพราะเก็บเงินไม่ได้ ดังนั้นหากรัฐเห็นว่าเรื่องนี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ก็ควรตั้งในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งหากจะทำจริงๆ ศักยภาพที่มีนั้นสามารถทำได้ เพราะเรื่องที่ยากกว่านี้โรงพยาบาลรัฐก็สามารถทำได้ดี” รศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า ถ้าดูสถานการณ์การเกิดในประเทศไทยตอนนี้ตอนนี้ลดลงไปมาก โดยอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) เดิมอยู่ที่ 6 และลดลงมาเรื่อยๆ จนถึง 2.1 และปัจจุบันลงมาถึง 1.5 ภายในระยะเวลา 20 กว่าปี ในขณะที่องค์การอนามัยโลกถือว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางประชากรควรจะมีอัตราเพิ่มประชากรอยู่ที่ 2.1 เพราะฉะนั้นถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง แต่เท่าที่ดูกลับไม่ค่อยมีมาตรการแก้ปัญหาอะไรมากนัก ไม่ตื่นเต้น ไม่มีมาตการส่งเสริมการเกิด รวมถึงดูแลรักษาภาวะมีบุตรยากก็เข้าไม่ถึง ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ถือว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนต้องเข้าถึง ในขณะที่นานาชาติหากอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงมาถึงระดับ 1.8 เขาจะต้องตื่นตัวในการหามาตรฐานมาส่งเสริมการเกิดให้เพิ่มขึ้น หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นอัตราเจริญพันธุ์รวม ตอนนี้อยู่ที่ 1.46 ถึงกับตกใจมากและออกมาตรการมากมายเพื่อแก้ปัญหา และส่งเสริมการเกิดให้เพิ่มขึ้น เรื่องนี้ประเทศไทยควรจะจริงจังได้แล้วเพราะตอนนี้ประเทศไทย เป็นสังคมผู้สูงอายุมาถึงเร็วกว่าที่คิดไว้ เด็กเกิดมา 1 คนอาจจะต้องดูแลพ่อ แม่ พี่ น้อง อีกจำนวนมากเพราะไม่มีคนมาหารเฉลี่ยด้วย แล้วปัญหาเรื่องเศรษฐกิจแรงงานก็ตามมาแน่นอน หากยังไม่ตื่นตระหนก หาทางแก้ไขอย่างจริงจัง อนาคตจะกระทบกับความมั่นคงของประเทศ เพราะที่เห็นเดินอยู่ตามถนนในเมืองไทยอาจจะเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ " อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates - TFR) ของไทยปัจจุบันคือ   1.5 ในขณะที่องค์การอนามัยโลกถือว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางประชากรควรจะมีอัตราเพิ่มประชากรอยู่ที่ 2.1 หากดำเนินต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข ไทยจะมีแต่ประชากรสูงวัยและขาดแคลนแรงงานซึ่งเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ "ด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บังคับใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งถูกมองเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ในสายตาของสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญจำนวนมากจริงๆ มีธุรกิจทางด้านนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่หลังจากที่กฎหมายนี้ออกมาจะเห็นว่าสถานการณ์การรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยก็ซาลงไปมากอย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัญหาหนึ่งที่โผล่ขึ้นมาจากการคุมเข้มเรื่องการ “อุ้มบุญ” คือ การเข้าถึงยาก ราคาแพง จนอาจจะทำให้ครอบครัวที่มีบุตรทำให้ตัดสินใจไปพึ่งการทำอุ้มบุญในต่างประเทศแทนด้าน นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกว่า ภายหลังจาก พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ บังคับใช้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งถูกมองเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ในสายตาของสังคมโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรับจ้างอุ้มบุญจำนวนมากจริงๆ มีธุรกิจทางด้านนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่หลังจากที่กฎหมายนี้ออกมาจะเห็นว่าสถานการณ์การรับจ้างอุ้มบุญในประเทศไทยก็ซาลงไปมากนายจะเด็จ บอกอีกว่า สำหรับทางออก ทางเลือกสำหรับคนที่มีบุตรยาก สิ่งหนึ่งที่อยากให้มองสำหรับสังคมไทยตอนนี้จะเห็นว่าเรามีเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาก็มีหลายๆ ครอบครัวที่มีบุตรยาก มารับเด็กจากสถานสงเคราะห์ไปเป็นบุตรบุญธรรม แต่ก็ยังมีเพียงส่วนน้อย เพราะติดกับทัศนคติเดิมที่ว่า “เอาลูกเขามาเลี้ยง เอาเมี่ยงเขามาอม” จึงไม่มั่นใจว่าเด็กที่โตมาจะเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องบอกว่าคุณภาพของเด็กต่างก็อยู่ที่การเลี้ยงดู เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี เด็กคนนั้นก็สามารถเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมไทยได้ เพราะฉะนั้นสังคมไทยต้องปรับทัศนคติตรงนี้ หากอยากมีบุตรจริงๆ แล้วติดขัดในข้อกฎหมายก็สามารถใช้ทางเลือกนี้เป็นทางออกได้ ขณะเดียวกันภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วย โดยอาจจะนำเอาครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจากการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ที่พร้อมจะเปิดเผยข้อมูล มาช่วยกันรณรงค์ให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย ไม่ใช้ออกกฎหมาย ออกมาตรการบังคับใช้อย่างเดียวพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์  2558สาระหลักตามกฎหมายสามารถแบ่งได้ดังนี้ ผู้มีที่ต้องการให้มีการตั้งครรภ์แทน มาตรา 21 ระบุว่า ต้องเป็นสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีสัญชาติไทย ถ้าคนใดคนหนึ่งไม่มีสัญชาติไทยก็ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ทั้งนี้แพทย์ต้องรับรองว่ามีบุตรยากและต้องการมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทน ผู้รับตั้งครรภ์แทน หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน คือ ต้องมิใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดานของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตาม แต่เป็นญาติสืบสายโลหิต ในกรณีไม่มีญาติสืบสายโลหิตและต้องใช้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตามหญิงที่ตั้งครรภ์แทนต้องเคยมีบุตรมาก่อน และต้องได้รับความยินยอมจากสามีก่อนวิธีการตั้งครรภ์แทนมาตรา 22 การตั้งครรภ์แทนมี 2 วิธี 1.ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีและไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน และ 2.ใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิของสามีหรือไข่ของภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น ทั้งนี้ ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมาตรา 23 ก่อนดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการให้ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์ก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 47 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับคุณสมบัติของแพทย์ที่จะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 15  ระบุว่าต้องแพทย์ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ถ้าเป็นผู้มีคุณสมบัติมาทำจะมีความผิดตามมาตรา 46 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับทั้งนี้ก่อนให้บริการ เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในมาตรา 16 ระบุเอาไว้ว่าแพทย์จะต้องตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ที่จะนํามาใช้ดําเนินการ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมาด้วยความเป็นบิดาและมารดาของเด็กและการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มาตรา 29 เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตร มาตรา 30 ถ้าสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงเสียชีวิตก่อนเด็กเกิด ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนเป็นผู้ปกครองเด็กคนนั้นนั้นจนกว่าจะมีการตั้งผู้ปกครองขึ้นใหม่โดยคํานึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กนั้นเป็นสําคัญมาตรา 32 ให้สามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์เป็นคนแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ในกรณีสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด ไม่อยู่ในประเทศไทย หรือไม่ปรากฏตัวภายหลังจากการคลอดเด็กนั้น ให้หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมีหน้าที่แจ้งการเกิดมาตรา 33 ห้ามมิให้สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประสงค์จะมีบุตรโดยการตั้งครรภ์แทนปฏิเสธการรับเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนดังกล่าว ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 49 จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 41 ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอซื้อ ขาย นําเข้า หรือส่งออก ซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน ฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 51 โทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับข้อห้ามทำธุรกิจอุ้มบุญสำหรับประเด็นที่เป็นปัญหาจนนำมาสู่การออกพระราชบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในมาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ใดดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 48 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาทมาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทําการเป็นคนกลางหรือนายหน้า ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 28 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาว่ามีหญิงรับตั้งครรภ์แทนไม่ว่าจะได้กระทําเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 49 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 จ่ายหลักร้อย เจ็บหลักแสน

“ซื้อยาลูกกลอนในราคาไม่กี่ร้อยบาท แค่ดาดไม่ถึงว่าสุดท้ายเกือบตาย ต้องจ่ายค่ารักษาในราคาหลักแสน”มารดาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท่านหนึ่ง ซื้อยาลูกกลอนแพ็คละ 100 บาท มาสองสามแพ็ค(ในแต่ละแพ็คจะมียาใส่ถุงซิบใสจำนวน 10 ซอง ซึ่งในแต่ละซองจะมียา 5 เม็ด เม็ดสีน้ำตาลแดง 2 เม็ด เม็ดสีเขียวขี้ม้า 2 เม็ด และเม็ดกลมสีดำ 1 เม็ด) ฉลากระบุให้กินหลังอาหารวันละ 2 ซอง (เช้า เย็น)  “จู่ๆ แม่ก็มีอาการหน้าบวม ถ่ายเป็นเลือดออกมาเป็นชามๆ หลังจากนั้นอีก 1 วัน แม่อ่อนเพลียไม่มีแรง ดูแล้วอาการแย่มาก  น้องชายเข้าใจว่าโรคหัวใจโตของแม่กำเริบ  จึงรีบพาไปโรงพยาบาล  ระหว่างทางแม่ช็อคหมดสติในรถปลุกไม่ตื่น  ตกใจมาก ดูเหมือนเป็นตายเท่ากัน จึงตัดสินใจรีบพาเข้า รพ.เอกชน เพราะอยู่ใกล้ที่สุด”  เมื่อไปถึง แพทย์ พยาบาลและทีมฉุกเฉิน รีบดำเนินการ เจาะตรวจน้ำตาลในเลือด พบว่าเหลือแค่ 30 กว่าๆ mg/dl  หมอจึงฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือดทันที แม่จึงฟื้นขึ้นมาได้  และถูกนำตัวส่งเข้า ICU ทันที  หลังจากอยู่ ICU และให้น้ำเกลือที่มีกลูโคสแล้ว  แม่มีอาการเบลอๆ และยังพบอาการน้ำตาลต่ำเกิดอีกน่าจะสัก 2 ครั้ง  ทั้งๆ ที่น้ำเกลือที่ให้ก็มีกลูโคสแต่ก็ยังเอาไม่อยู่ จนหมอต้องฉีดกลูโคสเข้าเส้นเลือดเพิ่มอีก  หมอเองก็ยังงงกว่าทำไมน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ Hematocrit ของแม่เหลือแค่ 22% หมอจึงสั่งให้เลือด 2 ถุง แม่นอนใน ICU 1 คืน จนระดับน้ำตาลคงที่ และอาการดีขึ้น หมอจึงให้ออกจาก ICUน้องสะใภ้ สังเกตว่า 3 วันก่อนที่จะแม่มีอาการหนัก  แม่กินยาลูกกลอน จึงเอาถุงยามาให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  เจ้าหน้าที่จึงเอาไปส่งตรวจสเตียรอยด์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจยา 5 เม็ด ในถุงย่อย  ยาเม็ดสีน้ำตาลแดง 2 เม็ด และยาสีเขียวขี้ม้า 2 เม็ดมีสเตียรอยด์  ส่วนลูกกลอนเม็ดกลมสีดำ 1 เม็ดไม่พบสเตียรอยด์“แม่เพิ่งทานไม่ได้ทานยานี้มาเป็นเวลานานนะ  ทานไปแค่สามวันเอง  แม่มีโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจโต  กินยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์เข้าไป ทำให้เกือบตาย  ต้องจ่ายค่ารักษาไปเป็นแสน หมดไป 1 แสน กว่าๆ ผลการส่องกล้องทางเดินอาหาร มีแผลที่กระเพาะ  และลำไส้ใหญ่”เพื่อนแม่แนะนำว่ามียาที่กินแล้วดี  บอกว่าตัวเขาเองกินก็ดีมาก  แม่จึงโทรไปสั่งกับคนขาย  คนขายให้แม่ไปที่บ้าน เมื่อไปถึงตามจุดที่เขาบอก  คนขายออกมาพบที่ถนน และบอกให้รอ  แล้วเดินเข้าไปที่บ้านไปหยิบยาให้  เขาไม่ได้ขายหน้าร้าน  ต้องเดินไปเอาหลังบ้านเหตุการณ์จริงที่ออกจากปากของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายนี้ ขณะนี้ถึงมือเจ้าหน้าที่แล้ว เอามาเล่าเพื่อเป็นบทเรียนให้ผู้อ่านรับรู้ และช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังภัยใกล้ตัวแบบนี้ให้มากๆ นะครับ  ยาอันตรายบางทีมันก็ผ่านมาทางผู้หวังดี และการขายมันก็หลบๆ ซ่อนๆ ยากที่เจ้าหน้าที่จะรู้ได้ หากเราพลาดไป นอกจากเสียเงินแล้ว เรายังอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิต 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 205 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2561ค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุลิดรอนสิทธิ ขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) พร้อมตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม 130 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข คัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทางการแพทย์ฯ เหตุผลสำคัญ คือ ร่างกฎหมายดังกล่าว มีความล้าหลัง ไม่เป็นธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา เช่น เป็นการลิดรอนสิทธิผู้บริโภคตาม มาตรา 46 เพราะมีผลให้คดีทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข ไม่จัดเป็นคดีผู้บริโภคอีกต่อไป, มาตรา 27 ประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล และมาตรา 68 วรรคแรก ทำให้การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้บริโภคในคดีทางการแพทย์ มีลักษณะสองมาตรฐาน แตกต่างจากคดีผู้บริโภคประเภทอื่น “การแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุขฯ ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดการฟ้องคดีทางการแพทย์ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งผู้ให้และผู้รับบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากหลายหน่วยงานแล้วแทน” ผู้พิการทุปลิฟต์ บีทีเอส สะท้อนสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกละเลย จากกรณี นายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้พิการ และผู้ประสานงานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ ที่ทุบกระจกประตูลิฟต์รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอโศก เมื่อวันที่ 11 มี.ค.61 พร้อมโพสต์ภาพลงสื่อโซเชียล เรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้พิการนั้น นายมานิตย์ได้แถลงข่าวบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอโศกว่า เหตุเริ่มขึ้นจากเจ้าหน้าที่สถานีให้ตนลงชื่อ โดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ ซึ่งตนได้ปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และยังเป็นการละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนพิการด้วย เนื่องจากตนได้เดินทางโดยรถไฟฟ้ามาหลายปี บีทีเอส ให้สิทธิคนพิการขึ้นฟรี แต่มีอยู่สถานีเดียวที่ให้ตนลงชื่อ จึงได้ตัดสินใจขอซื้อตั๋วเอง โดยหลังจากที่ซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ได้พาตัวเองไปยังลิฟต์ ก็พบว่าประตูถูกล็อค มองหาเจ้าหน้าที่ก็ไม่พบ ผ่านไป 5 นาที จึงตัดสินใจชกเข้าไปที่ประตูกระจก นายมานิตย์เองยอมรับว่าผิด แต่ก็บอกว่าเรียกร้องเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว ศาลก็เคยมีคำสั่งให้ กทม.-บีทีเอส จัดสร้างลิฟต์สำหรับผู้พิการทั้ง 18 สถานีที่ยังไม่มี ให้เสร็จภายใน 1 ปี แต่นี่ผ่านมาเกือบ 3 ปีแล้วหลังจากที่ศาลมีคำสั่ง ก็ยังมีลิฟต์ไม่ครบ โดยหลังจากนี้ 7 วัน หากไม่มีความเคลื่อนไหวจากภาครัฐและบีทีเอส จะขอดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลด้านบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงว่า ระบบลิฟต์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอส แบ่งเป็น 2 ประเภท แบบแรก คือ ลิฟต์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ซึ่งจะถูกล็อคไว้ เพราะลิฟต์จะสามารถขึ้นตรงไปที่ชานชาลาได้เลย โดยไม่ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋ว อีกแบบ คือ ลิฟต์ที่ขึ้นไปยังชั้นห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ซึ่งเปิดให้ผู้โดยสารทุกคนสามารถใช้งานได้ บริษัทรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหากขั้นตอนการปฏิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ ก็จะปรับปรุงขั้นตอนให้ผู้พิการมีความสะดวกมากขึ้นสื่อญี่ปุ่นเผยไทยนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเป็นชาติแรก หลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปี 54 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.61 สำนักข่าวเจแปนไทม์ส รายงานว่า ไทยได้สั่งซื้อปลาตาเดียว 110 กก. จากท่าเรือโซมะ จ.ฟุกุชิมะ เพื่อนำมาจำหน่ายในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ในกรุงเทพฯ ต่อมา น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการตกค้างของรังสีในปลาตาเดียวลอตดังกล่าว และขอให้เปิดเผยใบรับรองของบริษัทนำเข้า และเปิดเผยรายชื่อร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่ง ให้ผู้บริโภคได้ทราบตามสิทธิพื้นฐาน ถัดมา อย.และกรมประมงได้แถลงข่าวว่า ปลาตาเดียวลอตที่ถูกนำเข้าจากฟุกุชิมะนี้ไม่ใช่ลอตแรก และไม่มีการปนเปื้อนรังสี เพราะทางญี่ปุ่นได้ตรวจสอบแล้ว โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. - เม.ย.59 ตรวจไม่พบการปนเปื้อนในปลาในประเทศไทย จึงให้นำเข้าได้อย่างปกติ แต่ยังคงมีการสุ่มตรวจทั่วไป และให้ความเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องสุ่มตรวจร้านอาหารทั้ง 12 แห่งที่เป็นข่าว ด้าน น.ส.สารี ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้สะท้อนถึงปัญหาจากการที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจสอบอาหารนำเข้า 7 พิกัด ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจในการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือน พ.ค.59 จากแรงผลักดันของธุรกิจส่งออก ซึ่งทำให้เกิดปัญหา การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจการตรวจสอบมาให้กรมประมง แต่กรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กักหรือตรวจสอบซ้ำ และให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังจากปลาหรือสินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว ถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะในครั้งนี้4 หน่วยงาน จับมือร่วมสร้าง องค์กรผู้บริโภคคุณภาพ เมื่อ 15 มี.ค.61 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) รวม 4 องค์กร ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ โดยการลงนามในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เกิดระบบการพัฒนาและรับรององค์กรผู้บริโภคคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ โดยพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภค ให้มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการรับรองคุณภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีองค์กรผู้บริโภคเข้าร่วมกว่า 300 องค์กร 10,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ วันที่ 15 มี.ค.61 งานสมัชชาผู้บริโภคแห่งชาติ ประจำปี 2561 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวการทำกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน ควบคู่ไปกับ ฉบับของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็น โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายตาม มาตรา 46 เมื่อช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว คาดหวังให้ร่างกฎหมายดังกล่าว ตรงตามเจตนารมณ์ของการมีกฎหมายที่แท้จริง โดยร่างกฎหมายสภาผู้บริโภคแห่งชาติ จะถูกจัดทำเป็นกฎหมายเฉพาะในระดับพระราชบัญญัติ ไม่ถูกนำไปอยู่ใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ฉบับประชาชน แตกต่างจาก ร่างของ สคบ. ในหลายประเด็น เช่น การสนับสนุนงบประมาณต่อหัวประชากรโดยรัฐ, เพิ่มเติมนิยามองค์กรผู้บริโภค ไม่ถูกจัดตั้งโดยรัฐ, ให้มีกรรมการจากเขตพื้นที่ 13 เขต, เพิ่มอำนาจสนับสนุนให้เกิดสภาผู้บริโภคระดับจังหวัด ซึ่งการมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ทำให้แต่ละจังหวัดมีตัวแทนเข้าไปทำงานในระดับประเทศ ทั้งนี้ เมื่อ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติ เพื่อแจ้งริเริ่มการเสนอร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติฯ แล้ว และคาดว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อ จำนวน 10,000 รายชื่อได้ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 รู้เท่าทันกบฏผีบุญทางการแพทย์ (ตอนที่ 1)

ปรากฏการณ์หนึ่งทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ คือ การมีหมอเทวดาปรากฏตัวขึ้นเพื่อรักษาโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีผู้คนแห่ไปรับการรักษาอย่างเนืองแน่น จนทางการต้องเข้ามาควบคุมและห้ามปราม  ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้  เราควรมีท่าทีหรือมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร  เรามารู้เท่าทันกันเถอะมีหมอเทวดาเกิดขึ้นเสมอ ไม่ห่างหาย เมื่อเร็วๆ นี้ คงได้ยินข่าวมีบุคคลท่านหนึ่งแจกยารักษามะเร็ง มีผู้ป่วยมารับยาครั้งละเป็นหมื่นคน พระที่บอกว่า นั่งทางในและค้นพบวิธีการรักษาด้วยการตอกเส้น  รวมทั้งก่อนหน้านี้ ที่มีหมอเทวดาเกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทำไมหมอเทวดาเหล่านี้ทำไมจึงเกิดขึ้นและได้รับความนิยม ทั้งๆ ที่การแพทย์แผนปัจจุบันของไทยมีความก้าวหน้ามาก และมีระบบประกันสุขภาพต่างๆ ที่รักษาโดยไม่ต้องเสียเงิน การเกิดปรากฎการณ์ที่ชาวบ้านธรรมดาๆ ลุกขึ้นมารักษาโรคให้กับประชาชน(ทั้งโดยเจตนาบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์) ซึ่งมีกฎหมายวิชาชีพทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และวิชาชีพต่างๆ ดูแลอยู่นั้น นับเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่น และความไว้วางใจต่อวิชาชีพต่างๆ ที่มีอยู่ ความเชื่อและวัฒนธรรมชุมชนต่อเรื่องการแพทย์ ดั้งเดิมของสังคมไทย ชุมชนจะดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อเจ็บป่วยมากก็จะไปหาหมอพื้นบ้านและหมอแผนไทยเพื่อรับการรักษา หมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ผ่านการบวชเรียน เมื่อมีความรู้ก็ช่วยเยียวยาชาวบ้านโดยไม่ผลตอบแทนเป็นเงินทอง   ต่อมาพ.ศ. 2466 มี พระราชบัญญัติการแพทย์ ทำให้การรักษาพยาบาลประชาชนต้องกระทำโดยผู้ประกอบโรคศิลปะเท่านั้น  ทำให้หมอพื้นบ้านและหมอแผนไทยส่วนใหญ่ที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะยกเลิกการรักษาผู้ป่วยเนื่องจากเกรงกลัวผิดกฎหมายหมอเทวดานั้นผูกพันกับความเชื่อ และวัฒนธรรมท้องถิ่น  หมอเทวดานั้นจะผูกพันและมีฐานความเชื่อของวัฒนธรรมท้องถิ่นและชุมชน โดยเฉพาะ ยาสมุนไพร วิธีการรักษาพื้นบ้าน ที่มาของภูมิปัญญาจากการนั่งทางใน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และส่วนใหญ่เป็นการรักษาที่ไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินทอง  ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของหมอเทวดาเหล่านี้ สอดคล้องกับความเชื่อของสังคมไทยที่มองการเยียวยานั้นเป็นการเยียวยาแบบเอื้ออาทร และหมอเป็นผู้มีเมตตากรุณาต่อผู้ป่วย  แน่นอนที่ว่า มีมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นหมอเทวดา เพื่อหวังหลอกลวงและค่าตอบแทนจากผู้หลงเชื่อหมอเทวดาเปรียบเสมือนกบฏผีบุญทางการแพทย์หรือไม่เรื่องของกบฏผีบุญ หรือกบฏผู้มีบุญ เกิดขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2249 เป็นกบฏผีบุญลาวบุญกว้าง เข้ายึดเมืองโคราช  หลังกบฏลาวบุญกว้าง ยังมีกบฏผีบุญ 8 ครั้ง กบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 กบฏสาเกียดโง้ง กบฏสามโบก กบฏผู้มีบุญอีสาน กบฏหนองหมากแก้ว กบฏหมอลำน้อยชาดา กบฏหมอลำโสภาและกบฏศิลา วงศ์สิน พ.ศ. 2502   การเกิดกบฏผีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-2445 เป็นเพราะ ราษฎรไม่พอใจการเก็บภาษีส่วยจากชายฉกรรจ์ มิหนำซ้ำมาเกิดภัยแล้งติดต่อกันสองสามปี ส่วนขุนนางท้องถิ่นไม่พอใจการปฏิรูปการปกครองที่เอาอำนาจไปจากพวกเขาแล้วยังเอาผลประโยชน์ ประกอบกับการคุกคามจากฝรั่งเศส ทำให้กบฏขยายตัวอย่างกว้างขวางถึง 13 จังหวัด แต่ถูกปราบโดยรัฐบาลการเกิดหมอเทวดาจากผู้ที่ไม่ได้เป็นหมอวิชาชีพ อาจเป็นเสมือนการทวงคืนพื้นที่และสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนในการเลือกที่จะรับการเยียวยาจากหมอชาวบ้าน บนฐานการพึ่งตนเองของชุมชน ก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 198 พลาดเพราะแพทย์

หลายคนมักหมดห่วงหากผู้ป่วยถึงมือหมอแล้ว แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เพราะผู้ป่วยบางคนกลับต้องได้โรคเพิ่มจากการรักษาพยาบาลของแพทย์ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมพรเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ แต่ระหว่างการผ่าตัดแพทย์ผ่าตัดผิดพลาดจนไปโดนไตกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้หลังผ่าตัดเธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ทางโรงพยาบาลจึงยอมรับผิดและยินดีชดเชยเยียวยาให้เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมรับรักษาต่อจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งเธอก็ตกลงยอมรับข้อเสนอ อย่างไรก็ตามเมื่อรักษาไปสักระยะหนึ่ง ทางโรงพยาบาลกลับยื่นข้อเสนอใหม่ว่า จะเพิ่มเงินเยียวยาให้อีก 50,000 บาท แล้วให้ไปรักษาตัวต่อเอง เพราะประเมินว่าคุณสมพรอาการดีขึ้นแล้ว แต่เธอกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น จึงไม่รับข้อเสนอดังกล่าวและไปทำเรื่องร้องเรียนที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยภายหลังได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งเธอยื่นข้อเสนอให้โรงพยาบาลเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท แต่ถูกปฏิเสธ ดังนั้นเมื่อไม่สามารถตกลงกันได้ ทาง สบส. จึงแนะนำให้เธอไปฟ้องร้องดำเนินคดีต่อ คุณสมพรจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอคำแนะนำว่าสามารถใช้สิทธิอย่างไรได้บ้างแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล ผู้ร้องสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยสามารถให้แพทย์ประเมินค่ารักษาพยาบาลจะต้องใช้ในการรักษาพยาบาลทั้งหมด รวมถึงการรักษาต่อในอนาคตได้ จากนั้นควรนัดเจรจาเพื่อเรียกค่าเสียหายตามจริง แต่หากพบว่าเจรจาไม่สำเร็จก็สามารถฟ้องดำเนินคดีต่อได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวจะมีอายุความ 1 ปี ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะช่วยให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอีกครั้ง เพื่อลดภาระให้กับผู้บริโภคในการฟ้องคดี โดยให้ผู้ร้องส่งประวัติการรักษาและหนังสือข้อตกลงที่ทำไว้กับโรงพยาบาล พร้อมสรุปค่ารักษาพยาบาลที่ผ่านมา เพื่อทำหนังสือและเจรจากับโรงพยาบาลก่อนเบื้องต้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 รู้เท่าทันการกินกระดูกเสือ

กว่าหลายศตวรรษที่ผู้คนนับถือเสือว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ทรงพลัง และมีอำนาจเร้นลับ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นทั่วไปจึงยำเกรงและบูชาเสือ  เสือเป็นเสมือนเทพเจ้า ปีศาจ และเป็นทั้งยาในการรักษาโรค  การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่า การได้กินส่วนต่างๆ ของเสือจะทำให้เกิดพลังชีวิต เรี่ยวแรง ความแข็งแรง และอื่นๆ อีกมากมาย  แทบทุกส่วนของเสือ ตั้งแต่จมูกจรดหาง สามารถใช้เพื่อรักษาโรคยาวเหยียด ตั้งแต่ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก หัวล้าน ปวดฟัน ปวดข้อ ไข้ ปวดศีรษะ เป็นต้น  แม้กระทั่งอวัยวะเพศผู้ของเสือก็ใช้เป็นยาโด๊ปในการแพทย์จีน  กระดูกเสือเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุด ใช้ในการรักษาโรคปวดข้อ ข้ออักเสบ และความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย  กระดูกต้นขาหน้าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด เพราะเชื่อว่ามีพลังในการเยียวยามากที่สุด  กระดูกจะถูกบดเป็นผง บรรจุเป็นยาเม็ด พลาสเตอร์ และเป็นส่วนผสมกับยาตัวอื่น รวมทั้งผสมในเหล้า  ปริมาณการใช้กระดูกเสือ คือ 3-6 กรัมต่อวัน คิดเป็น 2.95-5.9 กิโลกรัมต่อปี  จากความเชื่อดังกล่าวทำให้เสือถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์  ในปี พ.ศ. 2529 เสือถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์  ในปีต่อมา ไซเตส (CITES) ได้ห้ามการค้าขายชิ้นส่วนของเสือข้ามประเทศ  ในปีพ.ศ. 2533-2535 จีนได้ส่งออกยาและเหล้าดองที่มีส่วนประกอบของเสือ 27 ล้านหน่วยไปยัง 26 ประเทศ  และจีนได้ห้ามการค้าขายเกี่ยวกระดูกเสือภายในประเทศในปี พ.ศ. 2536   ส่วนประกอบของกระดูกเสือ กระดูกเสือก็เหมือนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตระกูลแมวใหญ่ในป่า   ตำราการแพทย์จีนระบุว่า กระดูกเสือมีกลิ่นฉุนและมีคุณสมบัติ “ร้อน”  จึงใช้ในการลดอาการปวดและเสริมสร้างกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ  นิยมใช้ในการรักษาอาการลีบของขา เข่า และข้ออักเสบต่างๆ กระดูกของเสือและสุนัขมีความเหมือนกัน ประกอบด้วย คอลลาเจน ไขมัน แคลเซียมฟอสเฟตและแคลซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมฟอสเฟต  คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญ  ส่วนประกอบของกรดอะมิโนของเจลลาตินของเสือและสุนัขคล้ายกัน เสือมี 17 กรดอะมิโน ส่วนสุนัขมีเพิ่มอีกหนึ่งคือ ไทโรซีนในตำราการแพทย์จีน บอกว่า ประสิทธิผลของกระดูกเสือและสุนัขมีความคล้ายคลึงกัน  มีผลในการ ลดการอักเสบ ลดปวด ช่วยให้สงบและอยากหลับ และช่วยการติดของกระดูกที่หัก กระดูกเสือมีสรรพคุณจริงหรือไม่ มีงานวิจัยรองรับมากน้อยเพียงใด?จากการสืบค้นงานวิจัยต่างๆ  ไม่พบว่ามีการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระดูกเสือต่อการรักษาโรค  แต่มีงานทบทวนเอกสารของห้องสมุดคอเครนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาจีนกับการรักษาโรคกระดูกพรุน  มีงานศึกษาทั้งหมด 108 รายงาน อาสาสมัครในการวิจัย 10,655 คน ทบทวนเอกสารตั้งแต่ต้นจนถึงมกราคม พ.ศ. 2556  พบว่า มีการใช้ยาจีนกว่า 99 รายการ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ระยะเวลาในการศึกษาเฉลี่ย 5.7 เดือน โดยดู กระดูกหักที่เกิดใหม่ คุณภาพชีวิต มวลกระดูก  สรุปผลว่า ประสิทธิผลของยาจีน 99 รายการต่อมวลกระดูก ยังไม่ชัดเจน  ต้องมีการศึกษาที่รัดกุมมากกว่านี้ สรุป ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของกระดูกเสือว่าจะช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ตามตำราการแพทย์แผนจีน  ที่สำคัญ กระดูกเสือและกระดูกสุนัขนั้นมีส่วนประกอบเหมือนกันมาก เราอาจหลงซื้อกระดูกสุนัขแทนกระดูกเสือก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2559แพทย์เฉพาะทางบาทเดียวปัจจุบันนี้มีการส่งต่อและแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกต้อง หรือให้รายละเอียดไม่ครบถ้วน นำมาซึ่งความเข้าใจผิด หากนำไปใช้ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน ในชื่อของ “แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว” (SOS Specialist) โดยกลุ่มแพทย์จิตอาสากลุ่มนี้จะคอยให้บริการตอบคำถามสุขภาพผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถส่งข้อความเข้ามาสอบถามความรู้ที่ถูกต้องเรื่องสุขภาพ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลกับแพทย์ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้โดยตรง โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนสอบถามและขอคำแนะนำเป็นจำนวนมากถึง 50,519 คำถาม ส่วนใหญ่เป็นคำถามจากห้องอายุรกรรมเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง รูมาตอยด์ อัมพาต รองลงมาคือ ห้องเด็ก ห้องสูติ เช่น เรื่องการคุมกำเนิด ประจำเดือน ฯลฯ และห้องจิตเวช ซึ่งผู้ที่ส่งคำถามมาขอคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ และกลุ่มที่ผ่านการตรวจรักษาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัย ใครที่สนใจอยากสอบถามปัญหาเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลกับแพทย์ตัวจริงเสียงจริง สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว www.sosspecialist.com หรือที่เฟซบุ๊คแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว เลิกสงสัย!!! “น้ำผักชี” ไม่ช่วยล้างไตมีการแชร์ข้อมูลที่อ้างว่า “น้ำผักชี” ช่วยล้างไตได้ ซึ่งสร้างความสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าวจริงเท็จประการใด จนล่าสุด ภก.พินิต ชินสร้อย เภสัชกรปฏิบัติการงานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น  และรักษาการประธานชมรมเภสัชกรสมุนไพร ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า น้ำผักชีไม่ได้มีผลในการช่วยล้างไต ข้อมูลที่มีการแชร์กันอยู่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น ไม่มีผลการศึกษาวิจัยใดเป็นตัวยืนยัน ที่สำคัญคือในผักชีมีสารโพแทสเซียมสูงถึง 540 มิลลิกรัมต่อผักชี 100 กรัม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลให้ไตทำงานหนัก เพราะถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไปจะเป็นภาระต่อไตที่ต้องทำหน้าที่ขับออกจากร่างกาย ซึ่งปกติใน 1 วันร่างกายของเราควรได้รับโพแทสเซียที่ปริมาณ 4.7 มิลลิกรัมเท่านั้นแต่ทั้งนี้คนที่บริโภคผักชีทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะโดยปกติเรากินผักชีในปริมาณไม่มากถึงขนาดที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งผักชีถือเป็นผักที่มีประโยชน์ ช่วยในการขับลม ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ซื้อสินค้าลดราคา ระวังเจอของหมดอายุ!!!ใครที่ชอบซื้อสินค้าลดราคาโดยเฉพาะพวกอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อย่าลืมเช็คเรื่องคุณภาพสินค้าและวันหมดอายุให้ดี ระวังได้จะของถูกแต่ไม่มีคุณภาพเหมือนกับกรณีที่มีการแชร์กันในสื่อออนไลน์ เมื่อมีผู้บริโภครายหนึ่งได้ซื้อไข่ไก่ลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สุขาภิบาล 3 โดยผู้บริโภครายนี้พยายามมองหาข้อมูลวันหมดอายุที่ตัวสินค้า แต่กลับพบว่าป้ายที่แจ้งลดราคาแปะทับเอาไว้อยู่ เมื่อแกะป้ายราคาออกก็ต้องตกใจเมื่อเจอกับข้อมูลวันหมดอายุที่แจ้งว่าไข่ไก่แพ็คนี้หมดอายุมาแล้ว 2 วัน!!!นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะห้างมีหน้าที่ต้องตรวจสอบสินค้าก่อนที่จะขาย เมื่อสินค้าหมดอายุก็ควรรีบจัดเก็บทันที เพราะถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าและรับประทานเข้าไปก็อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารหมดอายุได้ นอกจากนี้ยังถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่องอาหารที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับโดยผู้บริโภคที่พบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพบสินค้าหมดอายุถูกนำมาวางจำหน่าย การปกปิดข้อมูลเรื่องวันหมดอายุ หรือการแจ้งราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาที่ขาย สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ไมว่าจะเป็น อย., สคบ. และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บังคับติด “ฉลากหวานมันเค็ม” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป – อาหารแช่แข็งกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเพิ่มชนิดอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และ โซเดียม แบบ GDA (Guideline Daily Amounts) หรือ “ฉลากหวานมันเค็ม” จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ โดยในประกาศฉบับใหม่จะมีการเพิ่มกลุ่มอาหารที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน อย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงเข้าไปประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ ได้กำหนดกลุ่มอาหารที่ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ออกเป็น 5 กลุ่ม 15 ชนิด ดังนี้1.อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วหรือทอดกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอดหรืออบกรอบ หรือปรุงรส2.ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ในทํานองเดียวกัน3.ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้4.อาหารกึ่งสําเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง5.อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจําหน่ายทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการบังคับให้อาหารเหล่านี้ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ก็เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการใช้เป็นข้อมูลในเลือกรับประทานให้เหมาะสมต่อสุขภาพ ลดการบริโภค หวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ โดยผลิตภัณฑ์อาหารตามประกาศฉบับนี้จะต้องทำการติดฉลากหวานมันเค็มตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 นี้เป็นต้นไป เชิญร่วมงานเวทีประชุมแลกเปลี่ยน “ตลาดที่มีจิตสำนึก” ครั้งที่ 3ในยุคที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะฝากท้องไว้กับอาหารจากระบบอุตสาหรรม อาหารแปรรูปที่ผ่านการปรุงแต่งดัดแปลง ซึ่งแม้จะได้ความสะดวกสบายแต่กลับเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนของสารเคมีปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สีสังเคราะห์ สารปรุงแต่งรสและกลิ่น ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา    “ตลาดที่มีจิตสำนึก” จึงเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากให้ผู้ผลิต เกษตรกร ที่ใส่ใจในการผลิตอาหารปลอดภัย ได้นำสินค้าของตัวเองมาส่งต่อโดยตรงถึงมือผู้บริโภค คนกินได้อาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนคนขายคนผลิตก็ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม ได้กำลังใจในการทำเกษตรกรที่ปลอดภัยที่ต้องใช้ความใส่ใจในปลูกมากกว่าการเกษตรทั่วไป    ในวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย 59 นี้ จะมีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนตลาดทางเลือกในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชีย ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรรายย่อยผู้ประกอบการสังคมและผู้บริโภคสีเขียว ภายใต้ชื่องานว่า “ตลาดที่มีจิตสำนึก #3” ซึ่งในงานจะมีการพูดถึงความสำคัญของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อสังคม โดยจะมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้ง ญี่ปุ่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาบอกเล่าในงานประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการทางสังคมที่จะมาบอกเล่าว่าการทำธุรกิจโดยใส่ใจสังคมเป็นมิตรกับชุมชนนั้นต้องเริ่มต้นยังไง    ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ สวนเงินมีมา โทร. 02-622-0955, 02-622-2495-6 www.suan-spirit.com  

อ่านเพิ่มเติม >