ฉบับที่ 191 รู้เท่าทันการกินกระดูกเสือ

กว่าหลายศตวรรษที่ผู้คนนับถือเสือว่าเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ทรงพลัง และมีอำนาจเร้นลับ วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นทั่วไปจึงยำเกรงและบูชาเสือ  เสือเป็นเสมือนเทพเจ้า ปีศาจ และเป็นทั้งยาในการรักษาโรค  การแพทย์ตะวันออกเชื่อว่า การได้กินส่วนต่างๆ ของเสือจะทำให้เกิดพลังชีวิต เรี่ยวแรง ความแข็งแรง และอื่นๆ อีกมากมาย  แทบทุกส่วนของเสือ ตั้งแต่จมูกจรดหาง สามารถใช้เพื่อรักษาโรคยาวเหยียด ตั้งแต่ โรคตับ โรคไต โรคลมชัก หัวล้าน ปวดฟัน ปวดข้อ ไข้ ปวดศีรษะ เป็นต้น  แม้กระทั่งอวัยวะเพศผู้ของเสือก็ใช้เป็นยาโด๊ปในการแพทย์จีน  กระดูกเสือเป็นส่วนที่มีราคาแพงที่สุด ใช้ในการรักษาโรคปวดข้อ ข้ออักเสบ และความเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย  กระดูกต้นขาหน้าจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด เพราะเชื่อว่ามีพลังในการเยียวยามากที่สุด  กระดูกจะถูกบดเป็นผง บรรจุเป็นยาเม็ด พลาสเตอร์ และเป็นส่วนผสมกับยาตัวอื่น รวมทั้งผสมในเหล้า  ปริมาณการใช้กระดูกเสือ คือ 3-6 กรัมต่อวัน คิดเป็น 2.95-5.9 กิโลกรัมต่อปี  จากความเชื่อดังกล่าวทำให้เสือถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์  ในปี พ.ศ. 2529 เสือถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์  ในปีต่อมา ไซเตส (CITES) ได้ห้ามการค้าขายชิ้นส่วนของเสือข้ามประเทศ  ในปีพ.ศ. 2533-2535 จีนได้ส่งออกยาและเหล้าดองที่มีส่วนประกอบของเสือ 27 ล้านหน่วยไปยัง 26 ประเทศ  และจีนได้ห้ามการค้าขายเกี่ยวกระดูกเสือภายในประเทศในปี พ.ศ. 2536   ส่วนประกอบของกระดูกเสือ กระดูกเสือก็เหมือนกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตระกูลแมวใหญ่ในป่า   ตำราการแพทย์จีนระบุว่า กระดูกเสือมีกลิ่นฉุนและมีคุณสมบัติ “ร้อน”  จึงใช้ในการลดอาการปวดและเสริมสร้างกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อ  นิยมใช้ในการรักษาอาการลีบของขา เข่า และข้ออักเสบต่างๆ กระดูกของเสือและสุนัขมีความเหมือนกัน ประกอบด้วย คอลลาเจน ไขมัน แคลเซียมฟอสเฟตและแคลซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมฟอสเฟต  คอลลาเจนเป็นส่วนประกอบที่มีความสำคัญ  ส่วนประกอบของกรดอะมิโนของเจลลาตินของเสือและสุนัขคล้ายกัน เสือมี 17 กรดอะมิโน ส่วนสุนัขมีเพิ่มอีกหนึ่งคือ ไทโรซีนในตำราการแพทย์จีน บอกว่า ประสิทธิผลของกระดูกเสือและสุนัขมีความคล้ายคลึงกัน  มีผลในการ ลดการอักเสบ ลดปวด ช่วยให้สงบและอยากหลับ และช่วยการติดของกระดูกที่หัก กระดูกเสือมีสรรพคุณจริงหรือไม่ มีงานวิจัยรองรับมากน้อยเพียงใด?จากการสืบค้นงานวิจัยต่างๆ  ไม่พบว่ามีการทบทวนงานวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของกระดูกเสือต่อการรักษาโรค  แต่มีงานทบทวนเอกสารของห้องสมุดคอเครนที่น่าสนใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของยาจีนกับการรักษาโรคกระดูกพรุน  มีงานศึกษาทั้งหมด 108 รายงาน อาสาสมัครในการวิจัย 10,655 คน ทบทวนเอกสารตั้งแต่ต้นจนถึงมกราคม พ.ศ. 2556  พบว่า มีการใช้ยาจีนกว่า 99 รายการ เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม ระยะเวลาในการศึกษาเฉลี่ย 5.7 เดือน โดยดู กระดูกหักที่เกิดใหม่ คุณภาพชีวิต มวลกระดูก  สรุปผลว่า ประสิทธิผลของยาจีน 99 รายการต่อมวลกระดูก ยังไม่ชัดเจน  ต้องมีการศึกษาที่รัดกุมมากกว่านี้ สรุป ยังไม่มีงานวิจัยเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลของกระดูกเสือว่าจะช่วยในการรักษาโรคต่างๆ ตามตำราการแพทย์แผนจีน  ที่สำคัญ กระดูกเสือและกระดูกสุนัขนั้นมีส่วนประกอบเหมือนกันมาก เราอาจหลงซื้อกระดูกสุนัขแทนกระดูกเสือก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม >