ฉบับที่ 252 ยอมได้ไหม เมื่ออายุเป็นมากกว่าตัวเลข

        การคิดราคาไม่เท่ากันสำหรับสินค้าหรือบริการอย่างเดียวกัน มีข้อดีตรงที่ผู้คนในกลุ่มเปราะบางหรือรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าหรือบริการดังกล่าวในราคาที่เอื้อมถึง (เช่น ราคานักศึกษา หรือบัตรสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น) และยังช่วยให้เกิดสมดุลขอดีมานด์และซัพพลาย (เช่น ตั๋วถูกนอกเวลาเร่งด่วน) แต่ขณะเดียวกันการใช้นโยบาย “การตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ในแพลตฟอร์มออนไลน์หรือในธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ก็อาจไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคนัก เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินหรือห้องพักที่หลายคนได้ราคาต่างกันโดยไม่ทราบเหตุผล หรือกรณีที่ Uber แพลตฟอร์มบริการเรียกรถ ใช้อัลกอริทึมประเมินราคาสูงสุดที่คน “พร้อมและยินดี” จ่าย สำหรับการเดินทางในช่วงเวลาต่างๆ (ข้อมูลจากการเปิดเผยของ “คนใน”) หรือกรณีของ บางประเทศ เช่นบราซิล ก็จัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ในปี 2017 เว็บขายทัวร์ Decolar.com ถูกสั่งปรับ 7.5 ล้านเรียล (ประมาณ 48.6 ล้านบาท) โทษฐานที่คิดราคาทัวร์ต่างกันตาม “ที่อยู่” ของลูกค้า         อีกบริการหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมได้แก่ แพลตฟอร์มหาคู่ออนไลน์ ก็มีการนำนโยบายนี้มาใช้อย่างกว้างขวางเช่นกัน เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International ร่วมกับมูลนิธิมอซิลลา Mozillia Foundation ที่เปรียบเทียบราคาสมาชิกของผู้ใช้แพลตฟอร์มเจ้าดังอย่าง Tinder ในหกประเทศ ได้แก่ อเมริกา เนเธอร์แลนด์ บราซิล อินเดีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์         การสำรวจดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการดังนี้        - ไม่มีการแจ้งผู้ใช้เรื่องนโยบายการตั้งราคาแบบเฉพาะบุคคลอย่างชัดเจน มีเพียงเนื้อหาใน “ข้อตกลงการใช้งาน” ที่ระบุว่าจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำเสนอดีลและส่วนลดที่เหมาะกับโพรไฟล์ของผู้ใช้         -  “ราคาสมาชิก” มีหลายระดับ        Tinder Plus ในเนเธอร์แลนด์มีถึง 21 ระดับระคา ในขณะที่อเมริกามี 9 ระดับ น้อยที่สุดคือบราซิล (2 ระดับ)ราคาสูงสุด แพงกว่าราคาต่ำสุดประมาณ 4 ถึง 6 เท่า ในกรณีของเกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ อเมริกา และเนเธอร์แลนด์  ส่วนของอินเดียก็ต่างกันมากกว่าสองเท่า        - \ อายุ เป็นปัจจัยในการกำหนดราคา        ร้อยละ 65.3 ของคนในช่วงอายุ 30 – 49 ปี จ่ายค่าสมาชิกแพงกว่ากลุ่ม 18 – 29 ปี        ในทุกประเทศที่สำรวจ (ยกเว้นบราซิล) กลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ถูกเรียกเก็บค่าสมาชิกแพงกว่า ในขณะที่กลุ่มอายุระหว่าง 30 – 49 ปี และกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป จ่ายไม่แตกต่างกัน          แต่อายุอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่นำมากำหนดราคา เช่น กรณีของบราซิลและนิวซีแลนด์ มีกลุ่มอายุมากกว่าที่ได้ราคาต่ำกว่า ในขณะเดียวกันก็พบคนกลุ่มอายุน้อยในเกาหลี เนเธอร์แลนด์ และบราซิล ที่ต้องจ่ายในราคาสูงเช่นกัน         พื้นที่อยู่อาศัยก็อาจเป็นอีกปัจจัย แต่ยังสรุปไม่ได้จนกว่าจะมีการสำรวจเพิ่มเติม การสำรวจนี้พบว่าคนเมืองในอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ เสียค่าสมาชิกถูกกว่า แต่คนเมืองในเกาหลีและอินเดีย กลับต้องจ่ายแพงกว่า เป็นต้น          -   ผู้บริโภคยังมีความกังวล          ร้อยละ 56 ของผู้ใช้ กังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว ในขณะที่หนึ่งในสามรู้สึกว่าการตั้งราคาแบบนี้ไม่ยุติธรรม เมื่อถามถึงประโยชน์ของการตั้งราคาเฉพาะบุคคลร้อยละ 14 ไม่เห็นประโยชน์ร้อยละ 38 เชื่อว่ามันช่วยให้ได้สินค้าและบริการตรงใจขึ้นร้อยละ 40 เชื่อว่ามันอาจทำให้พวกเขาได้ราคาที่ถูกลง          แต่เมื่อถามว่าถ้ามีปุ่มให้เลือก “ไม่ต้องตั้งราคาเฉพาะบุคคล” ก็มีถึงร้อยละ 83 ที่จะคลิก         ทีมสำรวจยังพบด้วยว่าแต่ละประเทศยังไม่มีการกำกับดูแลอย่างจริงจัง ส่วนที่มีก็ยังไม่ครอบคลุมหรือไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การตั้งราคาส่วนบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่มันควรจะเกิดขึ้นภายใต้กฎระเบียบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มข้นขึ้น เช่น ผู้ใช้จะต้องรู้ตัวว่าจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และแพลตฟอร์มจะต้องต้องขอความยินยอมจากผู้ใช้ รวมถึงควรมีความโปร่งใสในนโยบายการตั้งราคา ไม่เช่นนั้นก็อาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดดิจิทัลโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >