ฉบับที่ 261 พบปีเตอร์ในอาหารเบรคโรงแรมเกือบสี่ดาว

        การพบแมลง อย่างแมลงวัน แมลงสาบในอาหารที่ผู้ให้บริการด้านอาหารเสิร์ฟมาให้เรารับประทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารหรือโรงแรม นอกจากจะสร้างความรู้สึกไม่ดี ผะอืดผะอมแล้ว ยังพลอยทำให้หวั่นใจไปอีกว่า แล้วมาตรฐานด้านอื่นๆ ของผู้ให้บริการจะยังมีปัญหาตามมาด้วยหรือไม่ เรามาลองอ่านเรื่องของผู้บริโภครายนี้กัน         คุณแก้วตา มีภาระหน้าที่ซึ่งต้องจัดหาสถานที่เช่น โรงแรมหรือรีสอร์ตเพื่อให้บริการกลุ่มลูกค้าในการจัดเสวนา ประชุม อบรมต่างๆ เธอทำหน้าที่นี้มาหลายปีแล้ว พบเจอเหตุการณ์ทั้งดีและไม่ดีมาก็หลายแบบ อย่างเช่น การพบแมลงสาบในอาหารของโรงแรมที่เธอใช้จัดงานประชุมเมื่อสองสามปีก่อน ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งที่สร้างความไม่อภิรมย์ใจนัก เคยแก้ปัญหาด้วยการทำข้อตกลงกับทางโรงแรมดังกล่าวให้ออกหนังสือขอโทษพร้อมทำแนวทางการปรับปรุงบริการ แต่ก็ยังไม่วางใจจึงเลิกใช้บริการไปพักหนึ่ง         อย่างไรก็ตามด้วยความสัมพันธ์อันดีกับเซลล์ของโรงแรมดังกล่าว ประกอบกับสถานที่ของโรงแรมนี้ซึ่งมีจุดเด่นที่ผู้เข้าอบรมหลายท่านประทับใจ เธอจึงกลับมาใช้บริการอีกครั้ง คราวนี้วางแผนใช้งานไปถึงปี 2566 กันเลยทีเดียว ทว่ากลับมาใช้บริการครั้งแรก (หลังจากหยุดใช้ไป) ก็เจอปีเตอร์ ซึ่งเรามักใช้แทนการเรียก “แมลงสาบ” ในอาหาร กับขนมเบรคของงานวันแรก “อยากจะร้องให้เลยค่ะ ไม่คิดว่าโรงแรมที่กำลังจะเข้าขอรับเป็นโรงแรมระดับสี่ดาว จะบกพร่องร้ายแรงแบบนี้” คุณแก้วตายังเล่าให้ฟังอีกว่า ยังมีหลายเรื่องที่พบว่าบริการของโรงแรมบกพร่อง เช่น การทำความสะอาดห้องพัก ก็พบว่าอุปกรณ์หลายอย่างไม่สะอาด เช่น ผ้าเช็ดตัว ไม้เช็ดหู ฯลฯ “อันนี้ผู้เข้าอบรมได้เล่าให้ฟัง” คุณแก้วตาเองก็กำลังพิจารณาว่า คงจะยกเลิกการจองโรงแรมนี้สำหรับงานอบรมปีหน้าแล้ว แม้ว่าผู้เข้าร่วมอบรมจะชอบบรรยากาศของโรงแรมมากแค่ไหนก็ตาม          “แต่ก็ไม่อยากปล่อยไปแบบนี้นะคะ เหมือนว่าข้อตกลงที่เคยทำกันไว้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ดิฉันสามารถทำอะไรได้บ้างค่ะ กรณีแบบนี้” คุณแก้วตาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ความสะอาดในอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคำนึงมากที่สุดเมื่อต้องการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทั้งในร้านอาหาร หรือโรงแรมที่มีบริการด้านอาหาร กรณีของคุณแก้วตา หากต้องการให้ผู้บริการชดเชยเยียวยาสามารถทำได้ทันที โดยการประสานกับทางผู้ให้บริการในระดับหัวหน้าหรือผู้รับผิดชอบที่ดูแลด้านลูกค้าสัมพันธ์ โดยการเก็บหลักฐานเช่น ภาพถ่าย ชิ้นอาหารที่พบการปนเปื้อน ฯลฯ ที่แสดงได้ว่าผู้บริโภคไม่ได้มีเจตนาใส่ร้าย และรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้ให้บริการ เช่น การชดเชยด้วยการไม่คิดค่าบริการ หรือทำอาหารให้ใหม่ หรืออื่นใด ซึ่งแสดงถึงความรับผิดชอบ ในกรณีที่รับประทานไปแล้ว อาจต้องรวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะอาจเกิดปัญหาอาหารเป็นพิษตามมา ทางผู้ให้บริการต้องแสดงเจตนาว่ารับผิดชอบในส่วนค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นในการรักษาพยาบาล         อย่างไรก็ตามในกรณีของคุณแก้วตา มิได้ต้องการเรื่องการชดเชยเยียวยา และยังไม่ได้รับประทานอาหารที่พบว่ามีแมลงสาบปนอยู่ด้วย แต่ต้องการให้ทางโรงแรมได้มีการรับผิดชอบด้วยการแสดงออกว่าจะมีการปรับปรุงระบบบริการ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานดูแลความสะอาดในส่วนของอาหาร จึงแนะนำว่า ให้คุณแก้วตาร้องเรียนไว้กับทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และให้มีการเจรจากันระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคนกลาง หรืออาจร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะความสะอาดของอาหารและอื่นๆ ในโรงแรมก็ถือเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ผู้บริโภคต้องได้รับจากงานบริการด้านนี้         อันที่จริงคุณแก้วตาจะแบนโรงแรมนี้ไปตลอดเลยก็ย่อมทำได้ แต่เพราะการร้องทุกข์มิใช่เพียงแค่ต้องการการชดเชยเยียวยา แต่เป็นการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดแก่ผู้บริโภคคนอื่นๆ การร้องทุกข์ลักษณะนี้จึงมิควรปล่อยไปเพียงเพราะเห็นว่า จบที่เราก็พอแล้วหรือการว่ากล่าวในสังคมโซเชียลมีเดียด้วยอารมณ์ ซึ่งอาจนำมาถึงการฟ้องร้องเป็นคดีความกัน

อ่านเพิ่มเติม >