ฉบับที่ 252 กะรัตรัก : ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก

               ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต         หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร         คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน         แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้         ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา         ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน         สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน         จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…”         เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด”         ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง         ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด         หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน         เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…”         แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา         เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์         ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้         ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทุ่งเสน่หา : ฤๅจะสิ้นสุดยุคชนบทโรมานซ์กันแล้ว?

        ด้วยชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “ทุ่งเสน่หา” ก็ชวนให้ผู้เขียนเข้าใจไปได้ว่า เนื้อหาของละครน่าจะผูกโยงเรื่องราวดื่มด่ำรักโรแมนติกของพระเอกนางเอก โดยมีฉากหลังเป็นท้องทุ่งบ้านนา         ไม่ต่างไปจากภาพที่เราเคยคุ้นชินกับตัวละคร “พี่คล้าว” และ “น้องทองกวาว” ที่วิ่งพลอดรักครวญเพลงกลางท้องนาว่า “…โอ้เจ้าช่อนกยูง แว่วเสียงเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ซ้ำหอมน้ำปรุงที่แก้มนงคราญ” ซึ่งปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่สร้างใหม่กันมาแล้วหลายครั้งครา         แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพินิจพิเคราะห์ลงไปในเรื่องราวของ “ทุ่งเสน่หา” แล้ว ชื่อเรื่องอาจจะฟังดูเป็นอุดมคติแบบรักโรมานซ์ของชนบทในอดีต ทว่าอันที่จริงนั้น แม้จะมีกลิ่นอายของรักโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ละครกลับซุกซ่อนความเป็นจริงบางอย่างที่ดำรงอยู่ในชุมชนชนบทไทยไว้อย่างน่าสนใจ         ย้อนกลับไปราวกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้ด้านหนึ่งเส้นกราฟทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีแนวโน้มจำเริญเติบโตขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ทันสมัยก็ต้องแลกมาด้วยการล่มสลายของท้องถิ่นชนบทไทยภายในไม่กี่ทศวรรษถัดมา ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเกิดอาการโหยหา “สวรรค์ที่ห่างหาย” ให้หวนกลับคืนมาสู่สำนึกการรับรู้ของตน แบบที่เห็นๆ กันในละครโทรทัศน์ชนบทโรแมนติกแนว “มนต์รักลูกทุ่ง” นั่นเอง         ก็คงไม่ต่างจากภาพบางส่วนของชุมชนบ้านทุ่งอย่าง “หนองน้ำผึ้ง” ที่เราสัมผัสเห็นจากการช่วงชิงความรักและพิชิตหัวใจหญิงงามของหมู่บ้านอย่าง “ยุพิณ” ระหว่างชายหนุ่มสองคนคือ “ไพฑูรย์” หนุ่มที่เป็นรักแรกปั๊ปปี้เลิฟกับฉากที่เขาว่ายน้ำในบึงกอบัวเพื่อมาพลอดรักกับนางเอกสาว และ “มิ่งขวัญ” อ้ายหนุ่มคนยากไร้ที่ใช้เสียงเพลงลูกทุ่งครวญบอกความในใจให้กับเธอคนเดียวที่เขาแอบรักมาทั้งชีวิต         แต่กระนั้น ภาพรักโรแมนติกที่เราสัมผัสอยู่หน้าจอ ก็ดูจะเป็นเพียง “หน้าฉาก” หวานชื่น ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวให้เห็นเป็นระยะๆ แบบเดียวกับชื่อละคร “ทุ่งเสน่หา” ทว่า กับโครงเรื่องหลักจริงๆ ของละครกลับหาใช่จะเป็นเล่าเรื่องราวความรักโรมานซ์ของคนชนบทอย่างเดียวไม่         พลันที่ตัวละคร “สำเภา” ปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะหญิงวัยกลางคนที่เป็นนายทุนท้องถิ่นรายใหม่ของหมู่บ้านหนองน้ำผึ้ง ละครก็ได้เผยให้เห็นอีกโฉมหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของท้องทุ่งชนบทที่มิได้มีแต่เรื่องราวเสน่หาผูกพันรักใคร่แต่เพียงด้านเดียว        ปมปัญหาใหญ่ของเรื่องน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อผีพนันอย่าง “บุญยืน” พ่อของยุพิณ ได้ลอบไปขโมยควายจากบ้านของสำเภาในกลางดึกคืนหนึ่ง และเพราะควายมีสถานะเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชนบท การขโมยควายจึงไม่ต่างจากการตัดเส้นเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิตของชาวนากันเลยทีเดียว ในแง่นี้ บุญยืนจึงมีฐานะไม่ต่างจากคนที่แม้จะ “รู้จักรักใคร่” แต่หาใช่จะ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ไปพร้อมๆ กัน         แม้ในทางหนึ่ง “คนบ้านเดียวกันแค่มองตากันก็เข้าใจอยู่” ก็ตาม แต่สำหรับสำเภาแล้ว ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิตคน “บ้านใกล้เรือนเคียง” แบบบุญยืน กลับทำให้ตัวละครหญิงกลางคนคนนี้เริ่มระแวงสายสัมพันธ์กับคนคุ้นเคย จนถึงกับพูดเปรยด้วยความคับแค้นใจว่า “คนบ้านเดียวกันไม่น่าจะทำกันแบบนี้”         จากนั้นปฏิบัติการแก้เผ็ดแก้แค้นก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมๆ กับการเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่ในแดนดินถิ่นรักโรแมนติกของชนบทนั้น ก็คลุกเคล้าไว้ด้วย “ความขัดแย้ง” ไม่ต่างจากสังคมถิ่นอื่นทั่วไปนักหรอก         ท่ามกลาง “สวรรค์บ้านทุ่ง” อันดูสวยงามนั้น ปลาตัวใหญ่ก็ยังคอยเลาะเล็มเลือกกินเหยื่อตัวเล็กกว่าเป็นมังสาหารอยู่เป็นอาจิณ เฉกเช่นสำเภาในฐานะปลาใหญ่ก็อาศัยอำนาจบารมีและความมั่งคั่งทางฐานะเศรษฐกิจขูดรีดเอาเปรียบลูกบ้านที่อยู่ในขอบขัณฑ์ของหนองน้ำผึ้งได้ไม่ต่างกัน         เริ่มตั้งแต่การวางแผนเข้ามาจัดการชีวิตลูกชายสองคน โดยพรากยุพิณไปจากลูกชายคนรองเพื่อให้แต่งงานกับ “ไพรวัลย์” บุตรชายคนโตที่ขาพิการเป็นโปลิโอแทน นัยหนึ่งก็เพื่อแก้แค้นบุญยืนที่กล้าหยามศักดิ์ศรีคนบ้านเดียวกัน กับอีกนัยหนึ่งก็หวังจะให้ไพฑูรย์ได้ไปแต่งงานกับ “จันทร” ลูกสาวของ “จำเรียง” เจ้าของโรงสีข้าวที่มีฐานะทางการเงินทัดเทียมกับครอบครัวของสำเภามากกว่า         ในแง่นี้ สถานะทางเศรษฐกิจจึงกลายมาเป็นตัวแปรที่ใช้จำแนกชนชั้นของคนชนบทออกจากกัน และยังเป็นปัจจัยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทับทวีคูณระหว่างตัวละครแห่งบ้านทุ่งบ้านนาอันแสนเปี่ยมสุข เหมือนกับฉากที่ยุพิณปะทะคารมกับเพื่อนที่กลายมาเป็นศัตรูหัวใจอย่างจันทร ซึ่งลึกๆ แล้วก็คาดหวังจะครอบครองฉกชิงไพฑูรย์ไปจากเธอ         “เจ็บตัวมันยังน้อยกว่าเจ็บใจ ความเจ็บใจที่มีเพื่อนรักทรยศคอยแทงข้างหลง มันคือที่สุดของความเจ็บใจ” และ “คนอย่างมึงไม่มีปัญญาหาผัว ต้องให้แม่เอาเงินมาซื้อ” ก็เป็นคำพูดของยุพิณที่บอกนัยได้ชัดเจนว่า มิตรภาพในหมู่คนชนบทเอง ในบางครั้งก็เป็นเพียงสายสัมพันธ์ที่วางอยู่บนบางเงื่อนไขเช่นกัน         ยิ่งไปกว่านั้น หากพี่คล้าวและน้องทองกวาวเคยใช้ “สวรรค์บ้านทุ่ง” เป็นตัวจักรยึดโยงสำนึกรักบ้านเกิดเอาไว้ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่ในฉากชนบทของบ้านหนองน้ำผึ้งนั้น แรงเกาะเกี่ยวดังกล่าวกำลังถูกท้าทายจากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ เพราะตัวละครที่หลากหลายในเรื่องต่างก็มีแนวโน้มจะพร้อมใจละทิ้งท้องทุ่งรวงทอง เพื่อไปแสวงหาชีวิตในสังคมเมืองที่ดูจะมั่งคั่งมั่นคงกว่า         ไม่ว่าจะเป็นไพฑูรย์ที่ภายหลังจันทรเสียชีวิตลง ก็เลือกจะมาแต่งงานออกเรือนกับ “จันทร” อดีตน้องสะใภ้ เพื่อดูแลกิจการโรงสีข้าวที่ตัวเมืองปากน้ำโพ หรือมิ่งขวัญที่ภายหลังออกจากเกณฑ์ทหารแล้ว ก็เลือกจะลงหลักปักฐานเซ้งตึกเพื่อเปิดร้านข้าวมันไก่สูตรเด็ด ก่อนจะได้มาลงเอยครองรักกับยุพิณ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นเจ้าของบิวตี้ซาลอนชื่อดังของจังหวัดนครสวรรค์         และที่น่าสนใจก็คือตัวละคร “แก้วใจ” เด็กสาวกะโปโลแห่งท้องทุ่งบ้านนา ที่สำเภาเองก็รักเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่เธอก็พร้อมที่จะ “ไปเป็นนักร้องให้เขาล้วงมันเจ็บในทรวงไม่หาย” หรือแม้แต่เลือกไปแสวงโชคแต่งงานอยู่กินกับสามีฝรั่งยังเมืองนอกเมืองนา         ในทางหนึ่งนั้น ละครเองก็พยายามจะยืนยันความเชื่อที่ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่มิ่งขวัญร้องเกี้ยวยุพิณตลอดทั้งเรื่อง หรือแม้แต่จะสร้างภาพว่า อ้ายหนุ่มบ้านนาต่างมีรักแท้ที่แสนมั่นคง เหมือนกับที่มิ่งขวัญเองก็พูดว่า “ต่อให้การรักเอ็งมันต้องเสียใจไปทุกวัน ข้าก็จะรักเอ็ง”          แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กลิ่นอายความรักของชนบทที่คละเคล้าไว้ด้วยความขัดแย้งที่ซับซ้อน การขูดรีดผลประโยชน์ การวางแผนหลอกลวง ไปจนถึงการล่มสลายแห่งการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ก็อาจจะตั้งคำถามกับเราๆ ได้ว่า หรือนี่อาจจะเป็นภาพแบบใหม่ของชุมชนชนบทที่หาใช่รักโรแมนติกแบบที่เราเคยรับรู้กันมา?

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 “เครื่องดื่มแมนๆ” ไว้ดูแลผู้ชายแน่หรือ??

กระแสเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ (functional drink) หรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินและสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพลงไป กำลังมาแรงสุดๆ หวังเรียกเรตติ้งจากกลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนในเมืองที่อยากมีสุขภาพที่ดีแต่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เครื่องดื่มประเภทนี้เริ่มต้นเจาะกลุ่มของผู้หญิงเป็นหลัก เน้นเสริมด้านสุขภาพและความงาม ก่อนจะขยายต่อมายังกลุ่มของผู้ชาย ตามกระแสรักสุขภาพและการดูแลตัวเองที่มีเพิ่มมากขึ้นของหนุ่มๆ แบบไม่น้อยหน้าสาวๆ ขนาดที่ว่าเครื่องดื่มแมนๆ ที่เคยมีภาพลักษณ์เป็นเครื่องดื่มให้พลังงานอย่าง “เครื่องดื่มชูกำลัง” ที่เจาะกลุ่มคนใช้แรงงาน และ “เครื่องดื่มเกลือแร่” ที่เน้นคนเล่นกีฬาเป็นหลัก ยังต้องปรับตัวเองด้วยการเติมวิตามินและสารอาหารต่างๆ เพิ่มลงไป เพื่อหวังปรับภาพลักษณ์ตัวเองให้เป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์กับเขาด้วย   ดื่มแล้ว “แมน” จริงหรือ? เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่สาวๆ เท่านั้นที่ห่วงใยดูแลตัวเอง หนุ่มๆ หลายคนก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเอาใจใส่ดูแลตัวเองกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงผิวพรรณ หน้าตา ความหล่อ เครื่องดื่มที่อ้างว่าดีต่อสุขภาพสำหรับคุณผู้ชาย จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้ามาแรง ที่ถูกผลิตออกมาวางขายมากมายหลายรูปแบบหลายยี่ห้อ หวังเกาะกระแสคนรักสุขภาพแต่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง โดยมาพร้อมกับสโลแกนแมนๆ อย่าง “เครื่องดื่มแมนๆ ที่มีไว้ดูแลผู้ชาย” หรือ “ปลุกความเป็นชายในตัวคุณ” ฟังแล้วรู้สึกหึกเหิมขึ้นมาทันที คล้ายว่าดื่มแล้วกล้ามจะโตขึ้นมาสักเซ็น 2 เซ็น เครื่องดื่มแมนๆ ทั้งหลายที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ มีส่วนผสมหลักๆ 3 อย่าง คือ น้ำผลไม้ วิตามินหรือแร่ธาตุสารอาหารต่างๆ และสุดท้ายขาดไม่ได้คือ น้ำตาล เราลองมาช่วยกันหาคำตอบดูสิว่า เครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเอาใจหนุ่มๆ ผู้รักสุขภาพนั้น ดีจริงหรือแค่ราคาคุย   แกะรอยน้ำตาลตัวร้าย เครื่องดื่มที่เจาะตลาดหนุ่มๆ ทั้ง 3 ประเภทที่ฉลาดซื้อสำรวจ ประกอบด้วย เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ ถ้าสังเกตจากข้อมูลบนฉลากที่เรานำมาเปรียบเทียบให้ดูนั้น จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะมีการเติมน้ำตาลลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ที่พบปริมาณสูงที่สุดคือผลิตภัณฑ์ “แมนซั่ม” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ ที่เจาะกลุ่มผู้ชายชัดเจน และมีการโฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ชายที่อยากดูแลตัวเอง ข้อมูลฉลากโภชนาการแจ้งว่าใน 1 ขวด มีน้ำตาลสูงถึง 44 กรัม ทั้งๆ ที่ปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วัน คือไม่เกิน 24 กรัม ซึ่งถ้าดื่มเครื่องดื่ม “แมนซั่ม” หมด 1 ขวด ร่างกายของเราจะได้รับน้ำตาลเกินกว่าที่ต้องการถึง 20 กรัม และอย่างที่หลายๆ คนรู้กันดีอยู่แล้วว่า น้ำตาลที่สะสมในร่างกายเป็นตัวการก่อเกิดโรคอันตรายเรื้อรังต่างๆ ทั้ง โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจ ความหวังของหนุ่มๆ ที่หวังว่าจะดื่มแล้วดูดี ได้วิตามิน แร่ธาตุ ก็เป็นเพียงแค่ฝันกลางวันเท่านั้น เพราะความจริงสิ่งที่หนุ่มๆ จะได้จากการดื่มเครื่องดื่มขวดนี้ คือ น้ำตาลล้วนๆ เพราะน้ำตาลมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพลังงานแก่ร่างกาย กระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้รู้สึกสดชื่น เครื่องดื่มส่วนใหญ่จึงมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มความสดชื่น สร้างความตื่นตัวของสมองและระบบประสาท ซึ่งทำให้เครื่องดื่มเหล่านี้มีการเติมน้ำตาลลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยเครื่องดื่มชูกำลังจะมีปริมาณนำตาลต่อ 1 ขวด อยู่ที่ 17 – 28 กรัม ขณะที่เครื่องดื่มเกลือแร่จะมีน้ำตาลอยู่ประมาณ 30 – 36 กรัม ส่วนเรื่องของวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีการผสมลงไปนั้น เป็นการเติมลงไปเพื่อผลทางการตลาดเป็นสำคัญ แม้บางตัวอย่างบางยี่ห้อมีการเติมวิตามินและแร่ธาตุลงไปในปริมาณที่ค่อนข้างสูง  แต่ก็ไม่คุ้มกันกับที่ร่างกายของเราต้องรับปริมาณน้ำตาลจำนวนมากเข้าไปด้วย               “วิตามิน” ใน “ฟังก์ชันนัล ดริงค์” ดีจริงหรือแค่โฆษณา   วิตามินบี12 วิตามินบี 12 ถือเป็นวิตามินยอดฮิตที่เครื่องดื่มในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังนิยมนำมาเติมลงไป พร้อมกับชูเป็นจุดขายว่าเครื่องดื่มชูกำลังขวดนี้ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มชูกำลังธรรมดา แต่ว่าดื่มแล้วดีมีประโยชน์ เพราะมีวิตามินบี 12 ช่วยบำรุงสมอง โฆษณากันขนาดนี้ จนทาง อย. ต้องรีบออกมาควบคุม เพราะเครื่องดื่มชูกำลังอย่างที่รู้กันว่าเป็นเครื่องดื่มควบคุมจำกัดปริมาณการปริโภค “ห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด” นั่นเป็นเพราะการที่ร่างกายได้รับปริมาณคาเฟอีมมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย เพราะนอกจากจะไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท ยังมีผลต่อหัวใจ ทำให้ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัย ถ้าหากจะถามว่าร่างกายของเรามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามินบี 12 จากเครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีการเติมวิตามินบี 12 เพิ่มลงไปหรือไม่ ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่จำเป็น เพราะวิตามินบี 12 นั้นหาทานได้ง่าย ร่างกายเราสามารถได้รับวิตามินมี 12 อยู่แล้วจากจากกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ โดยอาหารที่ถือเป็นแหล่งที่มีวิตามินบี 12 สูง มีอย่างเช่น เครื่องในสัตว์ โดยเฉพาะตับ ไข่แดง นม อาหารทะเลอย่าง หอย และ ปู ที่สำคัญปริมาณวิตามินบี 12 ที่ร่างกายของเราต้องการต่อวันอยู่ที่แค่ 600 ไมโครกรัม (0.06 มิลลิกรัม) เท่านั้น เราจึงไม่มีความจำเป็นต้องรับวิตามินเข้าสูงร่างกายในปริมาณมากๆ ซึ่งวิตามินบี 12 (และรวมถึงวิตามินบีอื่นๆ) เป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายน้ำ เมื่อร่างกายได้รับเกินความต้องการ สุดท้ายก็จะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะ   วิตามินซี อีกหนึ่งวิตามินยอดนิยมที่ถูกนำมาเป็นจุดขายในเครื่องดื่มกลุ่มฟังก์ชันนัลดริงค์ ด้วยความที่วิตามินซีถูกสร้างภาพทางการตลาดว่าเป็นวิตามินวิเศษครอบจักรวาล ป้องกันได้ทั้งโรคหวัด ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ขาวกระจางใส ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่วิตามินซีดีต่อร่างกายของเรา แต่ถึงอย่างไรร่างกายของเราก็ต้องการวิตามินซีในปริมาณที่พอเหมาะพอดี และใครที่กินอาหารครบ 5 หมู่ กินผักกินผลไม้เป็นประจำอยู่แล้ว โอกาสที่ร่างกายจะขาดวิตามินซีนั้นแทบจะเป็น 0 ในหนึ่งวันร่างกายของคนเราต้องวิตามินซีที่ปริมาณ 60 มิลลิกรัม (ที่มา: สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป thai RDI) ซึ่งวิตามินซีมีอยู่มากมายในผัก – ผลไม้ โดยเฉพาะ ฝรั่ง ยอดคะน้า มะรุม มะละกอ ส้มโอ ฯลฯ สำหรับเรื่องของวิตามินซีเสริมที่มีวางจำหน่ายมากมายในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากคำแนะที่ว่าใน 1 วัน เราควรกินวิตามินซีเฉลี่ยที่ 1,000 มิลลิกรัม (ซึ่งตรงกับปริมาณของวิตามินชนิดเม็ดที่วางขายอยู่ในปัจจุบันแบบพอดิบพอดี) ก็ถือเป็นทางเลือกสำหรับคนที่พอจะมีทุนทรัพย์หาซื้อมารับประทานเพิ่มเติม หรือใครที่มีภาวะขาดวิตามินซีและแพทย์แนะนำว่าต้องทานวิตามินเสริม คนที่ทานผัก-ผลไม้เป็นประจำ ร่างกายก็น่าจะได้รับวิตามินซีในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการแล้ว   คอลลาเจน คอลลาเจน ถือเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผิวหนังของเรามีความยืดหยุ่น เต่งตึง ทำงานประสานกับเซลล์อื่นๆ ในชั้นผิวหนัง ซึ่งคอลลาเจนใต้ชั้นผิวหนังก็จะค่อยๆ เสื่อมสภาพไปตามวัย เป็นเหตุให้เมื่ออายุมากเข้าผิวหนังจะเริ่มหย่อนคล้อยลงเรื่อยๆ  ด้วยความที่หน้าที่ของคอลลาเจนดันไปเกี่ยวโยงเข้ากับเรื่องผิวพรรณความงาม ทำให้คอลลาเจนถูกดึงไปเป็นจุดขายของบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งหลายๆ ที่ขายเรื่องความงาม ขนาดเครื่องดื่มแมนๆ บางยี่ห้อยังต้องใช้คอลลาเจนมาเป็นจุดขาย บรรดาคุณหมอและนักวิชาการด้านสุขภาพส่วนใหญ่ต่างก็ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า การทานคอลลาเจนที่มาในรูปแบบของเครื่องดื่ม ทั้งแบบฟังก์ชันนัล ดริงค์ และแบบผงที่เอามาชงน้ำดื่ม ร่างกายไม่สามารถดูดซึมคอลลาเจนนำไปใช้งานเสริมสร้างคอลลาเจนในร่างกายได้ เพราะคอลลาเจนที่เรากินเข้าไปนั้นก็จะต้องถูกนำไปย่อยเช่นเดียวกับโปรตีนทั่วไป ก่อนจะกลายเป็นกรดอะมิโนเพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้งาน ความจริงแล้วร่างกายของเราสามารถผลิตคอลลาเจนได้เอง แต่ว่าปริมาณจะลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น และปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น อันตรายจากรังสีอุลตร้าไวโอเลต รวมถึงปัจจัยจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม อย่างอาหารปิ้งย่างที่มีส่วนที่ไหม้เกรียม อาหารมันๆ อาหารปนเปื้อนสารเคมี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น   ซิงค์ หรือ สังกะสี สังกะสีถือเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ๆ สร้างอินซูลิน เป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ช่วยให้กระดูกและผนังหลอดเลือดแข็งแรง โดยปกติร่างกายเรามีความต้องการแร่ธาตุสังกะสีอยู่ที่ประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเราสามารถได้รับสังกะสีจากการกินอาหารจำพวก เนื้อสัตว์ อาหารทะเล (โดยเฉพาะหอยนางรม) ไข่แดง นม ตับ จมูกข้าวสาลี ถั่วและธัญพืชต่างๆ    ไนอะซิน ไนอะซิน หรือ วิตามินบี 3 ประโยชน์ใกล้เคียงกับวิตามินบี 12 ที่ช่วยในการทำงานของระบบประสาท ทำให้เครื่องดื่มชูกำลังก็มักมีการเติมไนอะซินลงไปด้วยเช่นเดียวกับวิตามินบี 12 เหตุผลหนึ่งที่ทำให้วิตามินบีทั้งหลาย ถูกเลือกนำมาผสมในเครื่องดื่มต่างๆ เป็นเพราะ วิตามินบีมีคุณสมบัติละลายน้ำ เหมาะแก่การนำมาผสมลงในเครื่องดื่ม ร่างกายไม่ได้ต้องการไนอะซินเยอะ กินเนื้อสัตว์ ไข่ นม และธัญพืชต่างๆ ก็เป๊ะแล้ว   ฉลาดซื้อแนะ -เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเจาะกลุ่มผู้ชายหรือผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะช่วยเพิ่มเรื่องรสชาติ ดื่มง่าย อร่อย ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น ส่วนความคิดที่ว่าดื่มแล้วจะได้รับวิตามิน แร่ธาตุต่างๆ ดื่มแล้วสุขภาพดี ผิวขาวสวย หน้าใส คงเป็นเพียงแค่คำโฆษณาเพื่อผลทางการตลาดเท่านั้น ดีที่สุดก็คงได้แค่ดื่มแก้กระหาย แต่ระวังให้ดีดื่มมากๆ น้ำตาลจะไปทำร้ายสุขภาพ   -เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งดื่มมากๆ คาเฟอีนจะส่งผลเสียต่อระบบประสาทและการทำงานของหัวใจ เพราะฉะนั้นที่โฆษณาว่า ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังแล้วดีเพราะมีวิตามินบี 12 จึงเป็นแค่คำโฆษณาหวังกระตุ้นให้มีการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด และทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง อย. ก็พยายามจัดการกับผู้ผลิตที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ เพราะกฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่าห้ามมีการส่งเสริมการขายเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ต้องมีการควบคุมการบริโภค ใครที่หวังจะฉลาดเพราะได้วิตามินบี 12 จากเครื่องดื่มชูกำลัง ให้ทิ้งความคิดนี้ไปได้เลย เพราะไม่เป็นผลดีกับสุขภาพแน่นอน   -เครื่องดื่มเกลือแร่ ส่วนประกอบหลักๆ คือ น้ำตาล และสารให้ความหวานอื่นๆ เช่น กลูโคส ฟรุคโตส รวมถึงโซเดียมคลอไรด์ กับ โพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งสารเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ร่างกายของเราดูดซึมน้ำในร่างกายไปใช้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเครื่องดื่มเกลือแร่ก็มีข้อเสียถ้าดื่มในปริมาณมากเกินไป เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและโซเดียมสูง อาจส่งผลเสียต่อสมดุลการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ไต หัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือด เครื่องดื่มเกลือแร่จึงเหมาะกับคนที่เสียเหงื่อมากๆ จากการเล่นกีฬา เพราะเครื่องดื่มชนิดนี้ช่วยกระตุ้นการดูดซึมน้ำในร่างกาย ชดเชยน้ำที่เสียไป แต่ในความเป็นจริงการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาก็สามารถช่วยลดอาการเหนื่อยและอาการขาดน้ำได้เช่นกัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point