ฉบับที่ 249 แม่เบี้ย : จิตมนุษย์นี้ไซร้…อยู่ในเรือนไทยริมน้ำ

        “จิตมนุษย์นี้ไซร้” คืออะไรกันแน่? แม้นว่าความข้อนี้ดูจะตอบได้อย่าง “ยากแท้หยั่งถึง” แต่มนุษย์เราก็ยังมุ่งหมายที่จะเข้าถึงปริศนาธรรมอันยากหยั่งจะควานหาคำตอบนี้อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างของศาสตร์ความรู้ด้าน “จิตวิทยา” สมัยใหม่ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ก็เป็นความพยายามของการแสวงหาคำตอบว่า จิตของมนุษย์คืออะไร ดำรงอยู่ที่ไหน และมีกระบวนการทำงานอย่างไร         นักจิตวิทยาบางคนได้ใช้หลักการทดลองกับหนูตะเภาหรือสิงสาราสัตว์ต่างๆ ในห้องแล็บ ก่อนจะให้ข้อสรุปว่า จิตของคนเราเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา ตามแต่ว่าจะมีสิ่งเร้าใดมากระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองบางอย่าง ในขณะเดียวกับที่นักจิตวิทยาบางรายกลับเห็นว่า จิตคือการเรียนรู้ของมนุษย์ต่อโลกรอบตัว จนเกิดเป็นความเข้าใจที่สลักฝังไว้เป็น “กล่องดำ” ในคลังความคิดของคนเรา         อย่างไรก็ดี ถ้าเรานำคำถามเดียวกันนี้ไปขอคำตอบจากคุณปู่ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาผู้ให้กำเนิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ คุณปู่ฟรอยด์ก็จะอธิบายว่า จิตของมนุษย์นั้นเป็นด้านที่เราไม่สำเหนียกรู้ตัว เป็นส่วนที่ไร้สำนึก ทว่าหลบเร้นเป็นแรงขับที่อาจจะรอวันปะทุไม่ต่างจากภูเขาไฟที่คุกรุ่นอยู่ใต้มหาสมุทร         เพื่อจำลองให้เห็นว่า “พระสมุทรสุดลึกล้น คณนา…” และจิตของคนเราก็ดำดิ่งฝังลึกอยู่ใต้ห้วงมหรรณพเฉกเช่นนี้ เราอาจต้องไปลองส่องดูความเป็นไปของตัวละครต่างๆ ณ เรือนไทยริมน้ำที่สุพรรณบุรีในละครโทรทัศน์เรื่อง “แม่เบี้ย” หรือที่ใครต่อใครตั้งสมญาให้ว่าเป็น “เรือนบาป”         เรือนไทยริมน้ำที่ฉากหน้าดูสวยงามแปลกตาหลังนี้ มีอีกด้านที่เป็นอดีตอันลี้ลับดำมืดหลบเร้นอยู่ ทายาทรุ่นปัจจุบันของเรือนดังกล่าวเป็นหญิงสาวสวยลึกลับผู้มีนามว่า “เมขลา” ซึ่งแม้จะมีชีวิตที่ดูรักสันโดษ แต่ความงามของนางก็ดึงดูดชายหนุ่มมากหน้าหลายตาให้แวะเวียนมาเยือนเรือนไม้โบราณของเธอ         แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อตัดภาพมาที่คอนโดฯ หรูหราใจกลางป่าคอนกรีตของกรุงเทพมหานคร เมขลากลับดำเนินชีวิตผกผันแตกต่างไปจากที่เคย “เป็นอยู่คือ” ในเรือนไทยริมน้ำชนบท เธอเป็นเซเลบเจ้าของบริษัททัวร์ที่มีชื่อเสียงในวงสังคม และมักจะพานักท่องเที่ยวมาเยือนเรือนไทยโบราณซึ่งเธอถือมรดกครอบครองอยู่         หากเรือนไทยริมน้ำเป็นประดุจแบบจำลองแห่งจิตของมนุษย์ เรือนโบราณที่ตั้งเด่นตระหง่านนี้เองก็ยังเป็นที่อยู่อาศัยของงูเห่าสีดำมะเมื่อมตัวใหญ่ อสรพิษตัวยักษ์ทำหน้าที่ปกป้องและพร้อมจะคร่าชีวิตใครก็ตามที่ไม่หวังดีต่อเมขลาและทุกคนที่อาศัยอยู่ในเรือนริมน้ำ จนชาวบ้านต่างโจษจันกันว่า งูใหญ่ที่มักแผ่แม่เบี้ยพังพานตัวนี้เป็น “งูผี” บ้าง หรือเป็น “งูเจ้า” บ้าง “งูเจ้าที่” บ้าง         จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ “ชนะชล” หนุ่มใหญ่คุณพ่อลูกสอง ได้ขอให้ “ภาคภูมิ” เลขานุการส่วนตัวของเขาช่วยหาเรือนไทยโบราณริมน้ำสักหลัง เพื่อเอาไว้เป็นสถานที่พักผ่อนเงียบๆ เมื่อว่างจากภาระงาน ภาคภูมิจึงได้ติดต่อให้ชนะชลเข้าร่วมคณะทัวร์ของเมขลา อันเป็นจุดเริ่มต้นที่พระเอกหนุ่มได้จมดิ่งสู่ห้วงแห่งจิตที่อยู่ในหลืบลึกของบ้านเรือนไทย และเผชิญหน้ากับความลับของงูเห่าตัวใหญ่ตัวนั้น         ตามทัศนะของคุณปู่ฟรอยด์ เพราะจิตเป็นสนามสัประยุทธ์กำลังกันระหว่างด้านดิบๆ ของสัญชาตญาณที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวคนเรา กับอีกด้านที่เป็นกฎระเบียบศีลธรรมของสังคมที่เข้ามากำกับปิดกั้นมิให้ความปรารถนาดิบๆ เหล่านั้นได้เผยอตัวออกมา การช่วงชิงชัยระหว่างสองด้านที่อยู่ในจิตของมนุษย์นี้เองถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอัตตาหรือตัวตนของปัจเจกบุคคล         ดังนั้น เมื่อชนะชลได้เดินทางมาถึงเรือนโบราณหลังนี้ ความทรงจำบางอย่างที่หลบเร้นอยู่ในจิตของเขาตั้งแต่วัยเยาว์ก็เริ่มเผยตัวตนออกมา นอกจากเรือนไม้หลังเดียวกันนี้จะปรากฏเป็นฉากหลังในความฝันหรือห้วงจิตไร้สำนึกของเขาอยู่เป็นเนืองๆ แล้ว ในจิตนิวรณ์แห่งฝันอีกเช่นกัน ที่เขาเห็นภาพตัวเองกำลังจมดิ่งอยู่ใต้ผืนน้ำ อันเป็นบาดแผลเจ็บปวดที่ชนะชลเคยเกือบเสียชีวิตกลางสายน้ำมาตั้งแต่วัยเด็ก         ขณะเดียวกัน พลันที่ชนะชลได้มาพบกับเมขลาเป็นครั้งแรก อารมณ์และจิตปฏิพัทธ์ต่อหญิงสาวก็ปะทุขึ้น แม้ชนะชลจะแต่งงานอยู่กินกับ “ไหมแก้ว” ผู้หญิงที่มีหน้ามีตาในแวดวงสังคมชั้นสูง และมีลูกด้วยกันสองคน ไม่ต่างจากภาพอุดมคติครอบครัวที่สังคมได้กำหนดคาดหวังเอาไว้ แต่อีกด้านหนึ่งศีลธรรมครอบครัวก็คอยย้ำเตือนให้เขาต้องกักกั้นเก็บกดความปรารถนาทางเพศรสที่มีต่อนางเอกสาว ไม่ให้สำแดงตนออกมา         ทุกครั้งที่ได้มาเยือนเรือนไทยด้วยจิตผูกพันถวิลหาในตัวเมขลา ชนะชลก็สัมผัสได้ว่า มีสายตาของงูเห่าตัวใหญ่คอยจับจ้องมองการกระทำของเขาอยู่ ยิ่งเมื่อเส้นศีลธรรมระหว่างหนุ่มใหญ่กับหญิงสาวจะถูกล่วงละเมิดขึ้นคราใด งูเจ้าที่ก็ไม่เพียงปรากฏตัวออกมา หากแต่มุ่งมาดจะเข้ามาฉกทำร้ายชนะชลทุกครั้งครา         งูเห่าที่คอยแผ่แม่เบี้ยหลอกหลอนตัวนี้ จึงไม่ต่างจากกรอบศีลธรรมทางสังคมที่คอยกระตุกเตือน “ความรู้สึกผิด” ของตัวละคร เหมือนกับคำสรรพนามแบบเคารพที่เมขลาเรียกงูใหญ่ว่า “คุณ” อันมีนัยประหนึ่งญาติผู้ใหญ่ที่คอยว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้ด้านดิบได้เข้าครอบงำตัวตนของปัจเจกบุคคล         แต่ก็เหมือนที่คุณปู่ฟรอยด์ได้กล่าวไว้ แม้จะปิดกั้นเก็บกดไว้ด้วยความรู้สึกผิดเพียงไร แต่ทว่า ในห้วงลึกของจิตนั้น ด้านดิบหรือ “ดำฤษณา” แห่งตัวละครก็ดูจะเกินหักห้ามข่มจิตใจเอาไว้ได้ ดังนั้น เมื่อกลับจากเรือนไทยริมน้ำ ชนะชลก็ได้แต่ฝันซ้ำๆ ถึงเรือนไม้โบราณ และในฉากฝันนั้น เมขลาในชุดไทยก็จะคอยกระทุ้งแรงปรารถนาและกามารมณ์ของเขา ไม่ต่างจากเมขลาเองก็ร้อนรุ่มและพยายามขัดขืนผลักไส หรือแม้แต่แสดงอาการเกรี้ยวกราดต่อ “คุณ” หรืองูเห่าเจ้าที่ให้ออกไปจากชีวิตของทั้งเขาและเธอ         จนเมื่อมาถึงขีดสุด มนุษย์เราก็พร้อมจะสลัดม่านประเพณีปฏิบัติที่เกาะกุมจิตแห่งตน แม้งูเห่าตัวใหญ่จะออกมาเตือนเป็นระยะๆ แต่ความปรารถนาดิบของพระเอกหนุ่มก็ทำให้เขา “รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังต้องขอลอง” ท้าทายกับอสรพิษร้ายผู้ลึกลับและน่ากลัว         ดังภาพอีโรติกต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในท้องเรื่องละคร ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ชายหนุ่มหญิงสาวชวนกั้นคั้นกะทิสด (ซึ่งดูหวือหวาต่างออกไปจากภาพจำของฉากขูดมะพร้าวในตำนาน) ฉากร่วมรักหลับนอนบนเตียงไม้ และล้ำเส้นศีลธรรมที่สังคมเรียกว่า “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี” ไปจนถึงฉากที่ชนะชลยอมก้มกราบไหมแก้วผู้เป็นภรรยา เพราะศิโรราบต่อแรงขับแห่งอารมณ์ดิบๆ ซึ่งเขาเองกลับทึกทักไปว่า นั่นเป็นเพราะ “พรหมลิขิต”         จนมาถึงฉากจบ หลังจากได้เห็นสรรพชีวิตที่สูญเสียท่ามกลางวังวนแห่ง “เรือนบาป” และเรียนรู้วัตรวิถีแห่งจิตมนุษย์กันแล้ว ชนะชลผู้มีชื่อแปลว่าชัยชนะเหนือสายน้ำ ก็เลือกจะหันกลับมาเผชิญหน้ากับ “คุณ” และยอมพ่ายแพ้ดิ่งดำสู่ใต้ท้องน้ำ เช่นเดียวกับเมขลาที่เลือกจะกำจัด “คุณ” ให้หายไปจากชีวิต และเดินดำดิ่งสายน้ำสู่ห้วงแห่งดำฤษณาไปกับชนะชล ก่อนจะทิ้งปริศนาของงูเห่าตัวใหญ่และเรือนไทยริมน้ำไว้อีกครา เพื่อรอคอยมนุษย์รายถัดไปให้มาเรียนรู้และเข้าใจการดำรงอยู่แห่งจิตที่ช่าง “ยากแท้หยั่งถึง” จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >