ฉบับที่ 142 แรงเงา : ความยุติธรรมกับการ “say no”

“มนุษย์” ต่างจากสรรพชีวิตอื่นๆ ที่อยู่บนโลกใบนี้อย่างไร? เมื่อหลายวันก่อน คุณป้าข้างบ้านได้กล่าวกับผู้เขียนว่า ถ้ารักที่จะเป็น “มนุษย์” แล้วล่ะก็ ต้องหัดทำตัวให้ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยการ “say no” ให้เป็นบ้าง ไม่ใช่มีแต่ “say yes” อยู่เพียงสถานเดียว ก็ดูบทเรียนจากตัวละครพี่น้องฝาแฝดอย่างมุตตากับมุนินทร์ดูก็ได้ แม้ว่าด้านหนึ่งทั้งคู่จะเป็นฝาแฝดที่ใบหน้าเหมือนกันอย่างยากจะแยกออกว่าใครเป็นใครแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทั้งสองกลับมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แบบที่มุตตาเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เป็นแต่ “say yes” ในขณะที่มุนินทร์ผู้พี่กลับเป็นผู้หญิงที่รู้จักกับการ “say no”   ปมชีวิตของตัวละครผู้ “say yes” แบบมุตตานั้น ก็เริ่มต้นจากการเติบโตมาในครอบครัวที่รักลูกไม่เท่ากัน (แม้ใบหน้าจะเคาะออกมาจากพิมพ์ฝาแฝดเดียวกันก็ตาม) และยังเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ให้คุณค่ากับลูกที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น   ด้วยเหตุนี้ มุตตาจึงปรารถนาที่จะพิสูจน์ตนว่า เธอเองก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ทัดเทียมพี่สาว และน้องนางบ้านไร่อย่างเธอจึงเลือกตัดสินใจเดินทางเข้ามาเผชิญชะตาชีวิตในเมืองกรุง แต่ด้วยเพราะความไม่เจนต่อโลกและรู้จักแต่การ “say yes” เท่านั้น มุตตาจึงมีสถานะเป็นเพียงแค่ “เหยื่อ” ในสังคมเมืองกรุงที่มนุษย์เอาแต่แยกเขี้ยวคำรามขบกัดกันและกัน   เพราะฉะนั้น เมื่อต้องมาเจอกับสุดยอดแห่งความเจ้าชู้ไก่แจ้อย่าง ผอ.เจนภพ ผู้เจนจัดและชำนาญการบริหารเสน่ห์หลอกล่อสตรีเพศด้วยคารมอ่อนหวาน มุตตาผู้ที่หัวอ่อนเชื่อง่ายก็เริ่มสร้างโลกแฟนตาซีที่ไม่แตกต่างไปจากนางเอกในนิยายโรแมนซ์ที่เธออ่านอยู่เป็นประจำว่า หญิงสาวแรกรุ่นอย่างเธอกำลังได้มาประสบพบรักกับชายสูงวัย และฝันจะลงเอยกับเขาในชุดเจ้าสาวสีขาว ถึงแม้ว่าในภายหลังเธอจะรู้ความจริงว่า ผอ.เจนภพ นั้นมีภรรยาแบบเป็นตัวเป็นตนแล้วก็ตาม   ซ้ำร้ายภรรยาหลวงอย่างนพนภานั้น ก็เป็นผู้หญิงที่มีอำนาจเงิน ซึ่งใช้บัญชาใครต่อใครให้มาดักทำร้ายมุตตา หรือแม้แต่ฉากที่นพนภาตบน้องสาวฝาแฝดต่อหน้าผู้คนจำนวนมากหน้าสถานที่ทำงาน ก็สะท้อนอำนาจของเธอว่าไม่มีใครสักคนที่กล้าจะอาสาเข้าไปช่วยเธอได้เลย   และแม้เมื่อมุตตาจะหันหน้าไปพึ่งพาปรึกษาใครสักคนในกองงานพัสดุภัณฑ์อันเป็นสถานที่ทำงานของเธอ เพื่อนที่ “ร่วมงาน” แต่ไม่ได้ “ร่วมทุกข์สุข” ก็กลับกลายมาเป็นโจทก์ที่รุมกระหน่ำทำร้ายเธอได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก   ไล่เรียงตั้งแต่ปริมที่เห็นมุตตาเป็นศัตรูหัวใจที่เข้ามาช่วงชิงวีกิจพระเอกของเรื่อง กลุ่มแก๊งเพื่อนกะเทยที่คอยแอบถ่ายคลิปลับของมุตตาเอาไว้ประจานผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงรัชนกหรือหนูนกที่หน้าตาวาจาใสซื่อ แต่เบื้องหลังแล้วกลับแฝงไว้ด้วยร้อยแปดเล่ห์กลมารยา   ในสถานการณ์ที่สถาบันครอบครัวก็ล้มเหลว เพื่อนฝูงก็คือคนที่พึ่งพาไม่ได้ หรือเป็นห้วงที่ชีวิตตกอยู่ในภาวะแปลกแยกถึงขีดสุดกับโลกรอบตัวเช่นนี้ มุตตาผู้รู้จักแต่ “say yes” จึงมีสภาพแบบ “หลังพิงฝา” และการตัดสินใจฆ่าตัวตายของเธอนั้น ก็สะท้อนให้เห็นการปรับตัวเข้ากับสภาวะแปลกแยกของสังคมไม่ได้ จนต้องยอมจำนนรับชะตากรรมว่า ทุกอย่างเป็นความผิดเนื่องแต่ตนเองเท่านั้น   ตรงกันข้ามกับพี่สาวฝาแฝดอย่างมุนินทร์ ที่มีความเชื่อว่า หากต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกใบที่แสนโหดร้าย และผู้คนต่างเป็นเสมือนหมาป่าของกันและกันแล้ว การรู้จัก “say no” ให้กับระบบสังคมที่ล้มเหลวเท่านั้น น่าจะเป็นคำตอบให้กับความอยู่รอดของชีวิตในสังคมเยี่ยงนี้   แม้ในเบื้องต้น มุนินทร์เองก็เชื่อว่าความล้มเหลวของสถาบันครอบครัวคือจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของตัวละคร แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า มีการสมรู้ร่วมคิดจากผู้คนอื่นๆ ในสังคมแห่งนี้อีกหรือไม่ ที่เลือกกระทำโดยไม่เคารพศักดิ์ศรีของตัวละครผู้ไร้ทางออกในชีวิตอย่างมุตตาเสียเลย   เพราะฉะนั้น หลังจากที่แฝดผู้น้องเสียชีวิตลง มุนินทร์ผู้ไม่ได้เชื่อหรือหลงใหลไปกับโลกแฟนตาซีลวงตา แต่เชื่อในการสืบค้นความเป็นจริงจากหลักฐาน จึงเริ่มลงมือเก็บข้อมูลของตัวละครแต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตของน้องสาว เพื่อวินิจวิจัยว่าใครบ้างที่เป็นตัวแปรผู้บีบคั้นให้มุตตาเจ็บช้ำจนต้องกระทำอัตวินิบาตกรรม   ในขณะเดียวกัน เมื่อรู้จักที่จะ “say no” และพินิจพิจารณาคนจาก “ธาตุแท้” และความเป็นจริงอย่างจริงๆ ของสังคม มุนินทร์จึงใช้ทั้ง “หนึ่งสมอง” และ “สองมือ” จัดการกับทุกตัวละครที่เป็นต้นเหตุทำลายชีวิตน้องสาวของเธอ ซึ่งแน่นอนว่า ตัวละครแรกที่เธอหมายหัวเอาไว้ก็คือครอบครัวของ ผอ.เจนภพ และนพนภานั่นเอง   หากมุตตามองว่าสร้อยไข่มุกที่ ผอ.เจนภพ มอบให้ เป็นตัวแทนของความรักความผูกพันที่ชายผู้นี้มีให้กับเธอ มุนินทร์กลับ “say no” และนิยามสร้อยไข่มุกเส้นเดียวกันนี้ต่างออกไปว่า อีกด้านหนึ่งของความรักก็ไม่น่าจะต่างอะไรไปจากพันธนาการที่ทั้งตัวละครและสังคมผูกให้กับผู้หญิงที่อ่อนหัดและอ่อนแอต่อโลกเท่านั้น เหมือนกับที่มุนินทร์ได้พูดกับเจนภพไว้อย่างแสบสันต์ว่า “ศักดิ์ศรีของผู้หญิงมันหมดไปเมื่อถูกผู้ชายลวงเข้าม่านรูดไปแล้ว...”   หลังจากนั้น ละครก็เลือกที่จะฉายภาพให้ผู้ชมลุ้นไปกับด้านที่มุนินทร์ออกแบบกลวิธีต่างๆ เพื่อแก้แค้นครอบครัวของเจนภพและนพนภา รวมไปถึงบรรดาผองเพื่อนร่วมงานตัวร้ายผู้สมคบคิด   แต่ในอีกด้านหนึ่ง ละครก็คงต้องการบอกผู้ชมและให้บทเรียนกับตัวละครเหล่านี้ว่า หากคุณต้องมาอยู่ในสถานการณ์เดียวกับที่มุตตาเคยเผชิญมาบ้าง หรือต้องถูกบีบให้มายืน “หลังพิงฝา” แบบไม่มีทางออกบ้างแล้ว พวกคุณจะรู้สึกเช่นไร   ดังนั้น ฉากการเผชิญหน้าระหว่างมุนินทร์กับนพนภา และเธอได้โยนไดร์เป่าผมที่ถอดปลั๊กแล้วลงไปในอ่างจากุชซี่ที่นพนภานอนแช่อยู่ ก็คือการสร้างสถานการณ์ให้นพนภาผู้มีอำนาจเงินในมือ ต้องมาเผชิญกับสถานการณ์ที่ไร้ทางออกบ้างนั่นเอง   หากโลกทุกวันนี้มีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากครอบครัวที่ล้มเหลวของฝาแฝดพี่น้อง หรือเป็นเหมือนกองงานพัสดุภัณฑ์ ที่ผู้คนมีแต่ใส่หน้ากากและกระทำร้ายทั้งชีวิตและจิตใจของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การที่ผู้หญิงสักคนต้องใช้ชีวิตในโลกแบบนี้ อาจต้องอยู่บนตัวเลือกแล้วว่า เธอจะ “say yes” แบบแฝดน้องมุตตา หรือเลือกจะ “say no” ให้เป็นบ้างแบบแฝดพี่มุนินทร์

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point