ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 10 ปีผ่านไป มหากาพย์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ยังไม่จบ

        ‘แร่ใยหิน’ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ? มีการยืนยันชัดเจนแล้วว่า เป็นอันตรายจริง           จากรายงานวิจัยรองรับหลายชิ้นทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลกระบุว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หรือคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ก็มีมติเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2557 ว่าแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เป็นต้น         สิ่งนี้เป็นเหตุให้หลายประเทศยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ยกเว้นประเทศไทย ทำไม ? ทั้งที่ภาควิชาการ หน่วยงานรัฐ บุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกอบการ กลุ่มแรงงานและภาคประชาชน พยายามผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2549 สิ่งที่สะท้อนกลับมามีเพียงความเงียบงัน การนิ่งเฉย และสารพัดเหตุผลของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบและผู้ประกอบอีกจำนวนหนึ่งที่ยังยืนยันจะใช้แร่ใยหิน         อันที่จริง นี่เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยที่เรื่องสุขภาพของประชาชนและผู้บริโภคมักมาทีหลังเหตุผลด้านเศรษฐกิจและผลประโยชน์         มติสมัชชาสุขภาพ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’         หมุดหมายสำคัญที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้คือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 มติที่ 1 เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 12 เมษายน 2554 จากนั้นสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รวมถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ ก็เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ของมติสมัชชาทันที         ยุทธศาสตร์สังคมไทยไร้แร่ใยหินประกอบด้วยมาตรการหลายอย่างที่ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เช่น ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมควบคุมแร่ใยหินที่เป็นวัตถุดิบ (ไครโซไทล์) ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อย่างเร่งด่วนภายในปี 2554 ซึ่งจะห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครอง การขอให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแกนกลางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนามาตรการเพื่อควบคุมการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารหรือวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ และการกำหนดมาตรการการทิ้งขยะแร่ใยหิน โดยเฉพาะในกิจการก่อสร้างและการบริการติดตั้ง การขอให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น โดยต้องแล้วเสร็จภายในปี 2555         แต่การออกแบบกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและ สช. ไม่มีอำนาจในการสั่งการหน่วยงานต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม การ ‘ขอให้’ ก็คือการขอความร่วมมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละหน่วยงานจะมีกะจิตกะใจให้ความร่วมมือหรือไม่         10 ปีผ่านมาหลังจากมติสมัชชาฯ สังคมไทยก็ยังไม่ปลอดแร่ใยหิน         8 ปีผ่านไป กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน         19 มิถุนายน 2556 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งข้อเสนอถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ผลการดำเนินการตามคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 โดยระบุว่า กระเบื้องแผ่นเรียบและกระเบื้องยางปูพื้นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำหนดกรอบระยะเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตภายใน 2 ปี ส่วนผ้าเบรกและคลัทช์ ท่อซีเมนต์ใยหิน และกระเบื้องมุงหลังคา จะยกเลิกภายใน 5 ปี         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน กล่าวว่า ในครั้งนั้นมีการขับเคลื่อนให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎหมายระบุให้ไครโซไทล์เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่าไม่สามารถประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนทั่วไปที่ครอบครองผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ผิดกฎหมาย         “แต่ตรงนี้หากพิจารณาดูดีๆ มีสารเคมีหรือวัตถุดิบต่างๆ ที่ประกาศเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 4 อยู่หลายรายการ โดยเฉพาะแร่ใยหินประเภทอื่นที่ไม่ใช่ไครโซไทล์ ก็ถูกประกาศเป็นประเภทที่ 4 ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ต้องมีการรื้อถอนกระเบื้องมุงหลังคาที่ทำจากแร่ใยหินที่ไม่ใช่ไครโซไทล์”         โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้ใช้กฎหมายอื่นๆ และค่อยๆ ลดการใช้ จนกระทั่งยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์ได้ภายใน 5 ปี ตามข้อเสนอข้างต้น ซึ่งถ้านับจากปี 2556 จนถึงปัจจุบัน การยกเลิกกลับยังไม่เกิดขึ้น         ทำไมจึงไม่ยกเลิก         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า มีข้อสมมติฐานว่าไทยนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์จากรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งไปเกี่ยวพันกับประเด็นการเจรจาทางการค้าระหว่างรัสเซียกับไทย โดยทางรัสเซียเสนอว่าจะส่งผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการมาช่วยศึกษาว่าแร่ใยหินไครโซไทล์มีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยจริงหรือไม่ อย่างไร แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขตอบปฏิเสธ         ขณะเดียวกัน ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ซึ่งเป็นศูนย์ที่มีเครือข่ายทั่วโลก อ้างข้อมูลของ ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา ที่ระบุว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในประเทศไทยค่อนข้างน้อยจึงไม่คุ้มที่จะยกเลิกการนำเข้า สช. จึงมอบหมายให้ ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งและกระทรวงสาธารณสุขศึกษาจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินในปี 2558 และ 2559 ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วย 28 รายใน 2 ปี         เมื่อเห็นข้อมูลการศึกษานี้อาจรู้สึกว่า ผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหินก็น้อยจริงเหมือนที่ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ของไทยนำเสนอ แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดซับซ้อนกว่านั้น และถูกใช้เป็นข้ออ้างไม่ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน         ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ อธิบายว่า แร่ใยหินสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่การวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดเหตุแร่ใยหินโดยเฉพาะไครโซไทล์ทำได้ยาก เนื่องจากมะเร็งปอดมีสาเหตุหลักจากการสูบบุหรี่ ดังนั้น ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งปอดและสงสัยว่าจะเกิดจากแร่ใยหินจะต้องมีการตัดชิ้นเนื้อปอดหรือนำน้ำล้างปอดมาตรวจเพื่อหาเส้นใยแร่ใยหิน จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีผู้ที่เป็นมะเร็งปอดจากโรคเหตุแร่ใยหินไม่ถึงร้อยละ 20 เนื่องจากไครโซไทล์เป็นเส้นใยที่มีรูปร่างคดเคี้ยวและเปราะบางมาก เมื่อเข้าไปในร่างกายก็จะสลายและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด การตรวจพบจึงน้อยกว่าแร่ใยหินชนิดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่ามะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหินน่าจะมีจำนวนมากกว่ามะเร็งเยื่อเลื่อมจากแร่ใยหินค่อนข้างมากประมาณ 4-5 เท่า         สำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็เช่นกัน โรคนี้มักจะเป็นบริเวณเยื่อหุ้มปอด การวินิจฉัยจะต้องตัดชิ้นเนื้อเยื่อหุ้มปอดไปย้อมพิเศษทางห้องปฏิบัติการและเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเซลล์ของเยื่อหุ้มปอดเท่านั้น เหตุนี้เมื่อมีอาการบริเวณนั้นก็อาจคิดว่าเป็นมะเร็งปอด ทำให้ไม่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด แต่หากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดตามขั้นตอน ยืนยันได้ว่าสาเหตุเกิดจากการได้รับแร่ใยหินแน่นอน         “อีกประเด็นหนึ่งสำหรับมะเร็งเยื่อเลื่อมก็คือหลังจากได้รับหรือสัมผัสแร่ใยหินเข้าไปแล้วจะใช้เวลา 30 ถึง 40 ปีกว่าที่จะเกิดมะเร็งเยื่อเลื่อมได้ เพราะฉะนั้นบางทีเขาอาจเกษียณแล้ว แล้วเกิดอาการขึ้นมา เราก็ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนหรือลืมไปแล้วว่าในอดีตเคยทำอะไรที่สัมผัสกับแร่ใยหิน”         อีกเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้ผลิตไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกแร่ใยหินคือ วัตถุดิบทดแทนแร่ใยหินมีราคาสูงกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า วัตถุดิบที่ใช้ทดแทนแร่ใยหินมีหลายชนิด มีอัตราอากรร้อยละ 0-5 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งยังมีวัตถุดิบบางรายการ เช่น เส้นใยที่ได้จากธรรมชาติสามารถผลิตได้ในประเทศ ดังนั้น อัตราภาษีขาเข้าจึงไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าที่ใช้วัตถุดิบอื่นเป็นส่วนประกอบแทนแร่ใยหินมีราคาสูงขึ้น         จะเห็นได้ว่า ความเดือดร้อนของประชาชน การผลิตผ้าเบรกด้วยแร่ใยหินมีความปลอดภัย การวินิจฉัยและระยะเวลาในการแสดงอาการของมะเร็งเหตุแร่ใยหิน และความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ เป็นประเด็นที่มักถูกนำมาใช้กับการเมืองเรื่องแร่ใยหินเสมอ         อีกครั้งและอีกครั้ง         การขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมและมติสมัชชาฯ มาตรการสังคมไทยไร้แร่ใยหิน แม้ยังคงลอยอยู่ในอากาศ แต่ก็ยังผลให้ช่วงตั้งแต่ปี 2550 การนำเข้าแร่ใยหินมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทว่า ข้อมูลปี 2559 ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีอัตราการนำเข้าแร่ใยหินสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก แม้ว่า 66 ประเทศทั่วโลกจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าในปี 2560 ยังกลับเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 7,000 ตัน จึงเกิดการผลักดันให้มีการ ‘ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ อีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน สร้างความเข้มแข็งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชน ส่งเสริมการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัย รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยง และทำการวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย         จากการดำเนินการที่ผ่านมาพบข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ เช่น กลุ่มแรงงานก่อสร้างอิสระยังเข้าถึงข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินไม่มากนัก การรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคารเก่าที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหิน รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินในอาคารก่อสร้างใหม่ ยังไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในการควบคุมหรือห้ามใช้ รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุใยหินเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี แต่ยังขาดระบบในการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าว ควรมีการจัดทำระบบเฝ้าระวังและตรวจสอบการรายงานโรคเหตุใยหินที่เหมาะสม เป็นต้น         ทางสมัชชาฯ จึงทำข้อเสนอหลายประการเพื่อขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ อีกครั้ง เช่น        · ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดดำเนินการยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ทั้ง 5 ชนิด ภายในปี 2565 และ 2568        · ขอให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางและมาตรการในการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบแร่ใยหิน และการสนับสนุนให้มีมาตรการที่ทำให้การใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินมีราคาที่ถูกลง        · ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้มีมาตรการในการกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินและกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ        · ขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของแร่ใยหินและออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นในกระบวนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน        · ขอให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานภาครัฐ ใช้วัสดุและผลิตภัณฑ์ปลอดแร่ใยหิน        · ขอให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานหลัก ในการสนับสนุนเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชน ในการเฝ้าระวัง ตรวจสอบและรณรงค์ให้ใช้วัสดุที่ไม่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง รื้อถอน ซ่อมแซม และต่อเติมอาคาร        · ขอให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบลงทะเบียนสถานประกอบกิจการและแรงงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงแรงงานที่ทำงานกับแร่ใยหิน ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนงาน หรือออกจากงานไปแล้ว เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพจากเหตุแร่ใยหิน         ไร้แร่ใยหินหรือไม่ คำตอบยังอยู่ในสายลม          เมื่อถาม ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ว่าการผลักดันให้สังคมไร้แร่ใยหินรอบนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่         “จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวเหมือนรอบที่แล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องการนำเข้าจากรัสเซีย แต่ความพร้อมต่างๆ เทคโนโลยีสารทดแทนมีความพร้อมอยู่แล้ว เวลาที่มีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์มาคุยก็จะมีประเด็นพวกนี้อยู่ จริงๆ มติสมัชชาสุขภาพรอบนี้ปี 2562 ตอนแรกเน้นว่าทำอย่างไรจะเสริมความเข้มแข็งของประชาชนในการดูแล ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีแร่ใยหินและการรื้อถอนอย่างปลอดภัย การจัดการขยะอันตรายจากแร่ใยหินโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเห็นว่ามีส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาควบคู่กันไปกับมาตรการเดิมที่ให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้ก็คือการสร้างการตระหนักรับรู้ของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันระหว่างที่รอการยกเลิก”          พอถามย้ำอีกครั้ง ศ.ดร.นพ.สุรศักดิ์ ตอบว่า         “ผมว่าถึงที่สุดแล้วก็น่าจะทำได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ตามระยะเวลาที่เสนอไปหรือเปล่า”        ในส่วนของภาคประชาชนจะต้องรอไปอีก 10 ปีหรือนานกว่านั้นหรือไม่? คงขึ้นกับความเข้มแข็งและการขับเคลื่อนที่มีพลังมากพอจะกดดันให้หน่วยงานรัฐเข้าอกเข้าใจว่า สุขภาพของประชาชนในประเทศเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แร่ใยหินที่รัฐบาลประกาศยกเลิกการใช้ แต่ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมี

นับแต่มี มติ ครม. ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน เมื่อเดือนเมษายน 2554 ผ่านมา 7 ปีแล้ว ทุกวันนี้ประเทศเรายังนำเข้าแร่ใยหินประมาณ 4 หมื่นตันทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้แต่คำสั่งของรัฐบาลก็ใช่ว่าจะมีผลในทางปฏิบัติได้ง่ายๆ สำหรับประเทศนี้  แร่ใยหินเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพตัวที่สำคัญที่สุด      แร่ใยหิน เป็นกลุ่มของแร่ในธรรมชาติจำพวกเส้นใยเซอร์เพนไทน์(serpentine) หรือแอมฟิโบล(amphibole) ซึ่งเป็นแร่ที่มีประโยชน์ทางการค้าเนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง เป็นสื่อนำความร้อนต่ำและทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี จึงนิยมนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความทนทานสูงทั้งความร้อนและกรด ด่าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฉนวนกันความร้อน ท่าน้ำซีเมนต์ เบรกและคลัทช์รถยนต์ เสื้อกันไฟ เป็นต้น แต่เพราะก่ออันตรายสูงโดยเฉพาะต่อคนทำงานที่ต้องสัมผัสแร่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลการศึกษายืนยันชัดเจนว่า แร่ใยหิน เป็นต้นเหตุราวครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตด้วยมะเร็งจากการประกอบอาชีพ   และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภควัสดุที่มีส่วนผสมของแร่ใยหินได้อีกด้วย หากเกิดกรณีที่วัสดุเสื่อมสภาพจนฝุ่นแร่ฟุ้งกระจายออกสู่อากาศ       แร่ใยหินชนิดหลัก คือ ไครโซไทล์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มสารเซอร์เพนไทน์ ปัจจุบันยังคงมีการใช้อยู่ ขณะที่กลุ่มแอมฟิโบล เกือบทุกประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการนำเข้าแล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย      สำหรับประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินมาอย่างยาวนาน เพราะไม่มีการทำเหมืองแร่ใยหินในไทย ดังนั้นเกือบทั้งหมดจึงเป็นการนำเข้า โดยเริ่มมีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2518 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ  เคยนำเข้าสูงสุดถึงเกือบ 180,000 ตัน ในปี 2540 ก่อนฟองสบู่แตก จนถึงปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่าขณะที่หลายประเทศ ซึ่งกังวลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ได้สั่งห้ามการนำเข้าแร่ใยหินทุกชนิด แต่ไทยยังติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินมากที่สุดในโลก ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ รัสเซีย จีน บราซิล คาซัคสถานและแคนาดา ตารางการนำเข้าแร่ใยหินข้อถกเถียงเรื่องการก่อมะเร็งของไครโซไทล์      ประเทศไทยยังมีการนำเข้าแร่ใยหิน ไครโซไทล์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ทั้งที่มากกว่า 60 ประเทศทั่วโลกต่างก็ยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดแล้ว เพราะห่วงใยต่อสวัสดิภาพของคนในประเทศ ประเทศไทยเองก็มีคณะทำงาน (เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประไทย หรือ T-BAN) ที่ติดตามเฝ้าระวังและพยายามผลักดันให้เกิดการห้ามใช้แร่ใยหินทุกชนิดในประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าการใช้แร่ใยหินเพื่อทำเป็นวัสดุต่างๆ นั้น  ส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน วิธีที่ดีที่สุดคือ หยุดการใช้ทันที  ซึ่งการทำงานทั้งทางด้านวิชาการและรณรงค์ภาคสังคม ทำให้เกิดมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 12 เมษายน 2554 ที่เห็นชอบตามยุทธศาสตร์ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเห็นชอบแนวทางห้ามนำเข้า แร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินทุกชนิด พร้อมมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามมติต่อไป      หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออก กฎหมายว่าด้วยโรงงานและกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการประกาศห้ามนำเข้าได้ทันทีหรือวางแนวปฏิบัติในการยกเลิกให้ชัดเจน กลับไม่ดำเนินการใดๆ โดยยกเหตุผลว่า  “ประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แร่ใยหินไครโซไทล์อยู่ ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยจะต้องมีการระบุถึงวัสดุทดแทนแร่ใยหินที่มีอันตรายน้อยกว่าหรือไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ”  (เหตุผลดังกล่าวไม่มีน้ำหนักแล้ว เมื่อเทคโนโลยีปัจจุบันได้มีวัสดุทดแทนแร่ใยหินแล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย)      ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงยังไม่มีมาตรการใดๆ ต่อมติ ครม. ดังกล่าว จากที่เคยคาดการณ์กันว่า ประเทศไทยน่าจะยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินได้แล้ว กลับยังต้องรอต่อไป เหมือนปล่อยให้คนไทยยังต้องเสี่ยงต่อภาวะโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น แม้แต่จะยกเลิกได้ทันทีในปี 2554  แต่ในอนาคตก็จะยังมีผู้ป่วยจากแร่ใยหินเกิดขึ้นอีก เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินกันมานานหลายสิบปี และโรคที่เกิดจากแร่ใยหินมีระยะฟักตัวยาวนาน ดังนั้นการลดอันตรายที่ดีที่สุดจึงควรเป็นการหยุดใช้ทันทีเพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป การทอดเวลาหยุดนำเข้าออกไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับการปล่อยให้คนไทยยังคงเสี่ยงต่อภัยของแร่ใยหินหรือเพิ่มผู้ป่วยขึ้นไปเรื่อยๆ นั่นเอง      แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งมีหลักฐานทางวิชาการแน่นหนา แต่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์กลับดำเนินการโต้ตอบทางข้อมูลว่า ไครโซไทล์ปลอดภัยในการใช้ และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แม้แต่เจ้ากระทรวงอุตสาหกรรม นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้ในข่าวของไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 12 มกราคม 2558 ถึงความก้าวหน้าในการห้ามการนำเข้าแร่ใยหินยังกล่าวว่า “...การแก้ปัญหาที่เหมาะสมคือปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด โดยขณะนี้ผู้ผลิตกระเบื้องทั่วโลกกำลังทยอยยกเลิกการใช้แร่ใยหิน และในไทยเหลือเพียง 2 ราย ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตอีก ทั้งยังไม่พบรายงานผู้ที่ได้รับอันตรายจากการใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน...”      นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลที่ระบุว่า เป็นศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ อ้างว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นใยหินประเภทที่ก่ออันตรายน้อยมาก ใช้กันมากกว่า 70 ปี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบใยหินที่รู้จักกันดี ได้แก่ กระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคา ท่อน้ำซีเมนต์ชลประทานและท่อประปา ขนาดใหญ่ ฉนวนต่างๆ และผ้าห้ามล้อและจานคลัตช์ คนไทยดื่มน้ำฝนจากหลังคา และน้ำประปาจากท่อน้ำใยหินมาหลายสิบปี ยังไม่ปรากฏว่ามีใครเป็นโรคจากใยหิน      ข้ออ้างดังกล่าวขัดแย้งกับผลการศึกษาทั้งในประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งยืนยันว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสแร่ใยหินที่สำคัญ ได้แก่ โรคหรือภาวะผิดปกติที่เยื่อหุ้มปอด (น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบเป็นก้อน เยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม เยื่อหุ้มปอดหนาตัวทั่วไป) พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อเลื่อม(เมโสเธลิโอมา) มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่และเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ผศ.ดร.นพ.ณรงค์ภณ ทุมวิภาต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บรรยาย เรื่อง “แร่ใยหิน : ภัยเงียบที่องค์กรผู้บริโภคคุณภาพต้องรู้” ภายในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพว่า จากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหิน โดย ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ซึ่งได้อาศัยข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558-2559 พบว่า มีการรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน 385 ราย แต่จากการที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ดำเนินการยืนยันความถูกต้อง พบว่า มีผู้ป่วยโรคเหตุใยหินจริง 28 ราย แบ่งเป็นมะเร็งเยื่อเลื่อม 26 ราย ประกอบด้วย มะเร็งเยื่อหุ้มปอด 21 ราย มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง 3 ราย มะเร็งเยื่อหุ้มหัวใจ 1 ราย และมะเร็งที่อัณฑะ 1 ราย พังผืดในปอดจากแร่ใยหิน 1 ราย และเยื่อหุ้มปอดหนาตัวเป็นหย่อม 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินจากการประกอบอาชีพ     ทั้งยังระบุอีกว่า “ประเทศไทยมีปัญหาการวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้น้อยกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัด คือ รอยโรคปอดจากแร่ใยหินมีความคล้ายกับโรคปอดชนิดอื่น อาจทำให้แพทย์คาดไม่ถึงว่า เกิดจากแร่ใยหิน ประกอบกับโรคที่เกิดขึ้นมีระยะฟักตัวของโรคนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เช่น พังผืดในปอดจากแร่ใยหินใช้เวลา 20-40 ปี มะเร็งปอดมากกว่า 15 ปี มะเร็งเยื่อหุ้มปอดยิ่งน่ากลัว เพราะใช้เวลามากกว่า 40 ปี และยังหาการสัมผัสแร่ใยหินขั้นต่ำที่ทำให้เกิดโรคไม่ได้ เป็นต้น จนทำให้ผู้ป่วยหลงลืม ทำให้ไม่สามารถซักประวัติโดยละเอียดได้ เพราะคนที่เคยสัมผัสแร่ใยหินอาจมีการเปลี่ยนงานมานาน รวมถึงอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงจากปัจจัยอื่น เช่น สูบบุหรี่ ทำให้ไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ชัดเจน ทำให้คนที่ไม่อยากแบนแร่ใยหิน เอาข้อมูลนี้มาบอกผิดๆ ว่า คนป่วยไม่เคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย หากไม่เคยสัมผัสคงไม่ป่วย และย้ำว่า การไม่มีประวัติสัมผัสไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการสัมผัสมาก่อน เพราะการซักประวัติอาจไม่ละเอียดพอ ทำให้ไม่มีการบันทึกในข้อมูลผู้ป่วย”แนวทางในการยุติการนำเข้าแร่ใยหินและการป้องกันกลุ่มเสี่ยงสำคัญ คณะทำงานในโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้เสนอแนวทางการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงในโรงงานหรืออาชีพที่สัมผัสใยหิน ควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการต้องมีการลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้ ต้องจัดทำทะเบียนคนงานที่ทำงานสัมผัสแร่ใยหิน โดยสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ควรจัดระบบเฝ้าระวังติดตามกลุ่มคนงานทั้งในกลุ่มคนงานที่สัมผัสแร่ใยหินและคนงานก่อสร้างอิสระในระยะยาว รวมถึงหาแนวทางในการดูแลสุขภาพคนเหล่านั้นหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคเหตุใยหินภายหลังออกจากงานไปแล้ว ที่สำคัญคือการหาแนวทางติดตามคนงานในระยะยาวโดยไม่สูญหาย     ส่วนแนวทางในการยุติการนำเข้า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้เครือข่ายนักวิชาการและกลุ่มองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีการนำเสนอเหตุผลและหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินมากเพียงใดก็ตาม แต่ภาครัฐก็ยังไม่มีการประกาศเป็นนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีมาตรการระดับประเทศที่จะนำไปสู่การสร้างหลักประกันสูงสุดให้กับประชาชน  กุญแจดอกสำคัญอยู่ที่หน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นหลักแทนที่จะมองถึงผลได้ผลเสียแต่ในเชิงเศรษฐกิจ     หรืออาจต้องทำดำเนินการตามข้อเสนอของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องการแบนแร่ใยหิน และ คณะกรรมการพิจารณาสารเคมี 3 ชนิด คือ คณะกรรมการชุดเดียวกัน ซึ่งมีกลุ่มคนที่สนับสนุนการใช้สารพิษรวมอยู่ ซึ่งเมื่อดูแล้วจะพบว่า   ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกันที่กระทบกับสุขภาพประชาชน ดังนั้นมันมีความชัดเจนแล้วว่ามันมีผลต่อสุขภาพ หากยังมีการใช้เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณผู้ป่วยขึ้นไปอีก สิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้ทั้งสองเรื่องมีความเป็นไปได้ คือ    การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตัวคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจ หรือไม่ก็ต้องพิจารณาให้มีการแบนไปเลยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2556 ภาชนะอะลูมิเนียม อันตรายแฝงเพียบ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำการสุ่มทดสอบภาชนะประเภทอะลูมิเนียม เพื่อตรวจสอบดูคุณภาพความเหมาะสม และความปลอดภัยในการใช้บรรจุอาหาร โดยได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างภาชนะอะลูมิเนียม จำนวน 21 ตัวอย่าง ประกอบด้วย หม้อ กระทะ ถาดใส่อาหาร ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงราย นครพนม การทดสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การหาองค์ประกอบทางเคมี และการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งจากการทดสอบองค์ประกอบทางเคมีพบว่าตัวอย่างที่ไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดเกือบทั้งหมดเป็นภาชนะประเภทอะลูมิเนียมโลหะผสม ซึ่งพบปริมาณตะกั่ว สังกะสี และทองแดง สูงเกินเกณฑ์กำหนด สำหรับการทดสอบการละลายของโลหะหนักจากภาชนะตัวอย่าง ซึ่งเลียนแบบการใช้งานเวลาหุงต้มหรือปรุงอาหารประเภทกรด พบว่ามีปริมาณอะลูมิเนียม ตะกั่ว เหล็ก และสังกะสี ละลายออกมาในสารละลายตัวแทนอาหาร โดยเฉพาะภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม มีโลหะเหล่านี้ละลายออกมาสูงกว่าภาชนะอะลูมิเนียม ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารประเภทกรด การใช้ภาชนะอะลูมิเนียมน่าจะปลอดภัยจากโลหะปนเปื้อนมากกว่าการใช้ภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสม   สำหรับข้อสังเกตในการเลือกซื้อระหว่างภาชนะประเภทอะลูมิเนียม และอะลูมิเนียมโลหะผสมคือภาชนะอะลูมิเนียมโลหะผสมผิวไม่ค่อยเรียบอาจมีรูพรุน มีความมันวาวน้อยกว่า และมีสีเข้มกว่า อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของโลหะจากภาชนะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ประเภทอาหารที่ปรุง ระยะเวลา อุณหภูมิ------------------------------------------------------------------------------   “น้ำหมัก” ขายดี แถมมีงบ กสทช. ช่วย!? ปัญหาเรื่องการหลอกลวงขายสินค้าพวกผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหารเสริม ยังคงเป็นมหาวายร้ายทำลายสุขภาพและหลอกปล้นเงินผู้บริโภค ที่ยิ่งนับวันก็มีแต่จะสร้างปัญหารุนแรงมากขึ้นทุกที ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาหลงลืมหน้าที่ตัวเองหรืออ่อนด้อยฝีมือ ปัญหาเหล่านี้ถึงยังไม่ถูกกวาดล้างจัดการสักที แถมล่าสุดมีการออกมาแฉโดยเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ว่างบประมาณที่ทาง กสทช. จัดสรรลงพื้นที่เพื่อจัดให้มีการอบรบผู้ประกาศระดับภูมิภาคเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ที่ทุกต้องเรื่องการรับฟังสื่อโฆษณาต่างๆ จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของสินค้าโอ้อวดหลอกลวงสรรพคุณ แต่ลับหลังกลับมีการแอบขายน้ำหมักกันเป็นล่ำเป็นสัน ถึงขนาดที่มีการสร้างเครือข่ายให้ผู้อบรมเอาไปขายต่อยังสถานีวิทยุของตัวเอง นายประวิทย์ หันวิสัย เจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในพื้นที่มีปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามคลื่นวิทยุชุมชน มีการเปิดสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 30 รอบ ใน 1 วัน ทั้งยังใช้เทคนิคนำผู้มีชื่อเสียงอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้ประกอบวิชาชีพมาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ มีการใช้ของรางวัลล่อใจ เช่น ซื้อผลิตภัณฑ์แล้วส่งมาชิงโชคมอเตอร์ไซค์ และทองคำ รวมถึงมีการสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่เป็นหน้าม้าว่าผลิตภัณฑ์ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเปิดเสียงของเก่า ทั้งที่คนที่สัมภาษณ์ว่าใช้ดี ตายเพราะการใช้ผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็มี ซึ่งพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเท่าที่ทราบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 3 ราย โดยรายแรกเกิดจากการใช้ยาแผนโบราณ แต่พบว่ามีส่วนประกอบของยาแผนปัจจุบัน และมีจุลินทรีย์ในอัตราที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีก 2 รายเสียชีวิตจากการดื่มน้ำหมัก เพราะมีโรคประจำตัวอยู่คือ มะเร็วกระดูกและพาร์กินสัน ปัญหาหนึ่งที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐจับไม่ได้ไล่ไม่ทันสถานีวิทยุเหล่านี้ เพราะสินค้าที่เป็นปัญหามักจะคอยเปลี่ยนชื่อสินค้าไปเรื่อยๆ เวลาที่เกิดปัญหามีเรื่องร้องเรียน เมื่อสินค้าถูกนำไปตรวจสอบก็จะรีบเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ทันทีทั้งที่เป็นตัวเดิม ทำให้ อย. ต้องนำผลิตภัณฑ์เดิมในชื่อใหม่ไปตรวจสอบอีกครั้ง กว่าจะส่งต่อให้ กสทช.ดำเนินการสั่งปิดสถานี ซึ่งกว่าจะทราบผลก็ใช้เวลานาน 2-3 เดือน เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็เปลี่ยนชื่อใหม่แล้ว สินค้าก็ถูกโฆษณาขายใหม่ไปแล้วเรียบร้อย     สธ.ตัวการ ทำเมืองไทยเป็นเมือง “แร่ใยหิน” รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รักษาการ รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติตามการนำเสนอของ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัด สธ.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งมติดังกล่าวเป็นการสวนทางกับการยกเลิกการใช้แร่ใยหินทั่วโลก เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) เปิดเผยว่ามีความพยายามที่จะให้ข้อมูลลดทอนความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การว่าจ้างทำวิจัย จัดประชุมนำเสนอข้อมูล เพื่อทำให้สังคมสับสน ซึ่งมติของทาง สธ.ที่ยังคงให้ใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ได้ในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการค้ากับทางรัสเซียที่เป็นประเทศส่งออกแร่ใยหินให้กับไทย ซึ่งทั้งๆ ที่ผ่านมา สธ.เองเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอข้อมูลในเรื่องนี้ว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายและต้องยกเลิก ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ แต่ในยุค นพ.ประดิษฐ พบว่า มีขบวนการสนับสนุนให้มีการขายสินค้าอันตราย เครือข่าย T-BAN จึงมีมติเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกมติรับให้สินค้าแร่ใยหินไม่เป็นอันตราย พร้อมเรียกร้องให้เปิดเผยผลการประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินต่อสังคมด้วย   คาราบาวแดงทำแสบ หลอกชิงทอง 100 บาท พอถูกรางวัลจ่ายเงินแค่ 100 เดียว เหตุการณ์เกิดขึ้นกับแม่ค้าชาว จ.สุโขทัย ท่านหนึ่ง ที่ได้ร่วมชิงโชคกับเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” โดยได้ขูดสติกเกอร์ "ขูดปั๊บรับโชคร้อยถึงล้านกับแพคบาวแดง" แล้วพบข้อความระบุว่า "คุณคือผู้โชคดี ได้รับทองคำมูลค่า 100 บาท" แม่ค้าท่านนี้ดีใจสุดขีดเพราะโชคดีจะได้เป็นเศรษฐี แต่ฝันก็มีอันต้องสลายเมื่อโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทเครื่องดื่มคาราบาวแดงเพื่อขอรับรางวัล กลับได้รับคำตอบว่า ข้อความที่ระบุในสติกเกอร์นั้น หมายถึงได้รับเงินสด 100 บาท ไม่ใช่ทองคำหนัก 100 บาท ทางคาราบาวแดงได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า การทำโปรโมชั่นขูดปั๊บรับโชคจะแจกเป็นทองคำตามมูลค่าที่แจ้งไว้นั้น หมายถึงมูลค่าราคา ไม่ได้หมายถึงน้ำหนัก เป็นเรื่องน่าเจ็บใจที่ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่จงใจเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างชัดเจนแบบนี้ แม้ผู้บริโภคที่หลงเชื่อคำโฆษณาท่านนี้จะไม่ได้ฟ้องเอาผิดกับทางบริษัท แต่ในทางกฎหมายสามารถนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลได้ โดยให้ศาลตีความ ว่าการใช้ถ้อยคำที่หวังสร้างให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ฝากเตือนเรื่องการชิงโชคชิงรางวัลจากการซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งพบว่ามีมากในปัจจุบัน ซึ่งนั้นเป็นเพียงกลยุทธ์หวังกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิตสินค้าเท่านั้น มีผู้โชคดีเพียงไม่กี่รายที่ได้รับรางวัล และแทบไม่มีการตรวจสอบว่ารางวัลที่แจกนั้นมีการแจกจริงอย่างที่โฆษณาหรือไม่     ปัญหาอาหารปี 56 ปนเปื้อนเรื่องน่าห่วง ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด พะเยา ลำปาง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล ได้ทำการสรุปเรื่องร้องเรียนปัญหาอาหารไม่ปลอดภัยระหว่างช่วง ก.ย. 55 - ธ.ค. 56 มีรวมกันทั้งสิ้น 152 กรณี แบ่งปัญหาได้เป็นประเด็นต่างๆ เช่น ปัญหาอาหารปนเปื้อน ปัญหาคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐาน การแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง การโฆษณาอาหาร/ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ปัญหาอาหารเสียก่อนวันหมดอายุ การผลิต/แหล่งผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ สำหรับปัญหาอาหารปนเปื้อนนั้น ที่พบจากกรณีร้องเรียนเช่น พบการปนเปื้อนของ เส้นผม ขน เล็บ แมลงสาบ หรือเกิดความผิดปกติขออาหาร เช่น มีตะกอน ขึ้นรา และเน่าเสีย รวมถึงการใช้สารเคมีที่ไม่ควรใช้ในอาหาร เช่น ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ โดยมีตัวอย่างปัญหาที่พบบ่อยและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เชื้อราในขนมปัง ก้อนขาวในนมกล่อง และสิ่งแปลกปลอมในนมผงสำหรับเด็ก สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านอาหาร เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้นำเรื่องเข้าหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยประเด็นที่จะทำการหารือร่วมกันประกอบด้วย 1.การพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม 2.ปรับปรุงนโยบายฉลากโภชนาการให้เป็นแบบสีสัญญาณไฟจราจรเขียว เหลือง แดง แทนที่การใช้ฉลากโภชนาการแบบสีเดียว (GDA) 3.ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด และ 4.ในการแก้ไข พ.ร.บ.อาหาร ฉบับใหม่ ให้เพิ่มบทลงโทษให้มีความรุนแรงมากขึ้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2556 นมโรงเรียนไม่ปลอดภัย พบผลการตรวจที่น่าตกใจ เมื่อนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กนักเรียนดื่มตามโรงเรียน ยังมีความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่เกินค่ามาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ พบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่ได้มาตรฐาน คือมีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าสาเหตุที่นมโรงเรียนพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้นมาจาก ความไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเก็บรักษาที่ไม่มีคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม     หลอกลวง 100% ยาลดสัดส่วนเฉพาะจุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกโรงเตือนสาวๆ ที่คิดจะทานยาที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยลดสัดส่วนเฉพาะจุด ว่ายาดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย.ไม่เคยมีการรับรอง และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมียาลดสัดส่วนเฉพาะจุด อย.ได้ออกตรวจและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ขายยาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดหลายประการ ทั้งการผลิตยา หรือ นำเข้ายา โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนยา ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง และโฆษณาโอ้อวด โดยจะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งผู้ขาย และแหล่งที่ผลิต ตาม พ.ร.บ.ยา 2522 ยาดังกล่าวนอกจากจะไม่มีผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจก่อผลเสียต่อร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบของ อย. เชื่อว่าน่าจะเป็นยาประเภทอาหารเสริม ประเภทแอลคานิทีน ที่เพิ่มการเผาผลาญ และมักพบว่ามีการแอบเติมยาที่ อย.ถอนทะเบียน โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต   ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำลังจะ) ล้นประเทศ!!! มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ประเทศไทยเราจะมีซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ โดยสัดส่วนของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่คาดการไว้มีดังนี้  โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วิดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้คือเรื่องของ ทีวีดิจิตอล ที่อาจทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ถ้าหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีจัดการขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งการลดปริมาณการใช้ แยกขยะ และไม่นำขยะอันตรายไปทิ้งในที่ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม   เดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้การใช้แร่ใยหินอย่างจริงจังสักที ล่าสุดในงานแถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ 2.กระเบื้องยางปูพื้น 3.ผ้าเบรกและคลัตช์ 4.ท่อซีเมนต์ใยหิน และ 5.กระเบื้องมุงหลังคา หลังจากได้ไปดำเนินการจัดทำแผนและกรอบเวลายกเลิกการนำเข้าผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจาก ครม. โดยจะมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณา ให้ไทยยกเลิก 5 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ทำจากแร่ใยหินภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินอย่างผ้าเบรกและคลัตช์ที่มีกรอบระยะเวลาในการยกเลิก 5 ปี จะดำเนินการเฉพาะส่วนของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กก่อน เนื่องจากในรถบรรทุกยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินจะให้ยกเลิกเฉพาะท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.เพราะท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 มม.ขึ้นไป กรมชลประทานมีหนังสือถึง ก.อุตสาหกรรม ว่าขอให้มีการขยายเวลาในการยกเลิก เนื่องจากติดขัดเรื่องความพร้อมในการผลิต ส่วนอีก 3 ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะเสนอให้ยกเลิกภายใน 5 ปี   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กระตุ้น กสทช. ทำงาน ก่อนเกิดปัญหา “ซิมดับ” คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายทรูมูฟ รู้กันหรือยังว่า วันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ที่ทางผู้ให้บริการทำไว้กับทาง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเรื่องการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะต้องมีการโอนย้ายผู้ให้บริการ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่สามารถใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าวได้ หรือพูดง่ายๆ คือเกิดปัญหา “ซิมดับ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดูเหมือนจะยังหาทางออกให้ผู้บริโภคไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จึงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ทาง กสทช. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร่งด่วน 2.ควบคุมกำกับ ไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังคงทำสัญญาให้บริการอยู่ ต้องไม่ทำสัญญาให้บริการเกินวันที่ 15 กันยายน 2556 3.เร่งรัดให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองราย แจ้งให้เจ้าของเลขหมายทุกรายทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยทันที และมีบริการให้ผู้บริโภคติดต่อสอบถามฟรี รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 3 แสน เลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ทาง กสทช. เองทราบเรื่องการหมดสัมปทานมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ยอมจัดการปัญหา คือการจัดประมูลสัมปทานใหม่ กลับนิ่งเฉยจนใกล้วันหมดอายุ จนกำลังจะกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคซึ่งแทบจะยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลยว่าสัญญาณมือถือที่ใช้อยู่กำลังจะหยุดลง ซึ่งความจริงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าว เพื่อผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่จะยังคงอยู่ในระบบ ย้ายค่าย หรือทวงถามค่าชดเชยที่ผู้บริโภคควรได้รับ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 ไดร์เป่าผมกับแร่ใยหิน

ใครที่ติดตามข่าวสารเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่บ้าง น่าจะเคยได้ยินข่าวการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคที่พยายามผลักดันให้ภาครัฐฯ ออกข้อบังคับให้มีการยกเลิกการผลิตและนำเข้าสินค้าที่มีส่วนประกอบของ “แร่ใยหิน” ซึ่งเป็นต้นเหตุของการทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด โดยเจ้าวายร้ายแร่ใยหินถือเป็นส่วนผสมหลักในสินค้าก่อสร้าง ทั้ง ซีเมนต์ ฝ้าปูผนัง กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น  อ่านถึงตรงนี้แฟน “ฉลาดซื้อ” อย่าเพิ่งทำเป็นไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างถ้าไม่ได้เป็นช่าง ชีวิตประจำวันก็คงไม่ได้ข้องเกี่ยว แต่แร่ใยหินอยู่ใกล้ชิดเรามากกว่านั้น เพราะความจริงแร่ใยหินมีอยู่ทั้งใน เครื่องปิ้งขนมปัง แป้งฝุ่น เครื่องอบไอน้ำ และไดร์เป่าผม ...เริ่มรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นแล้วใช่มั้ย... “ฉลาดซื้อ” เราเป็นพวกขี้สงสัยและห่วงใยผู้บริโภคทุกคน เราจึงอาสาไขข้อสงสัยด้วยผลทดสอบ “แร่ใยหินในไดร์เป่าผม” แร่ใยหิน ทำไมมาอยู่ใน ไดร์เป่าผม!?  แร่ใยหิน จะทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในฉนวนนำความร้อนสำหรับไดร์เป่าผม เพราะแร่ใยหินมีคุณสมบัติในการทนความร้อนได้ดี ซึ่งเวลาใช้ไดร์เป่าผมแร่ใยหินจะหลุดล่อนออกมาและผู้ใช้ก็จะหายใจเอาแร่ใยหินเข้าไป หากมีการหายใจรับเอาแร่นี้เข้าไปในปริมาณมากเป็นเวลานานๆ ก็จะส่งผลร้ายกับปอดของเรา เสี่ยงจะทำให้เป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้  ปี 1981 เคยมีผลสำรวจในอเมริกา พบว่าไดร์เป่าผมและเครื่องอบผมที่ใช้อยู่ตามบ้านและในร้านเสริมสวย มีปริมาณแร่ใยหินหลุดออกมาในระหว่างการใช้งานเกินมาตรฐานความปลอดภัย ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.01 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร โดยพบหลุดปลิวออกมามากที่สุดที่ 0.11 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งทำให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกา  ออกประกาศเตือนผู้บริโภค และขอความร่วมมือให้บริษัทเรียกเก็บคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยออกจากท้องตลาด กว่า 20 ล้านชิ้น และนำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมการใช้แร่ใยหินในการผลิตฉนวนความร้อนในปี 1989   ผ่าพิสูจน์แร่ใยหินในไดร์เป่าผม“ฉลาดซื้อ” ได้รับความช่วยเหลือจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ในการทดสอบพิสูจน์หาแร่ใยหินในไดร์เป่าผมโดยผลการวิเคราะห์ชนิดสารประกอบในชิ้นงานฉนวนกันความร้อนในไดร์เป่าผม ทั้ง 11 ตัวอย่าง โดยใช้เทคนิคการเลี้ยวเบนของรังสีเอกซ์ (X-ray diffraction, XRD) พบว่าฉนวนกันความร้อน ทั้งหมดผลิตจากแร่มัสโคไวต์ (muscovite, KAl2(Si,Al)4O10(OH)2) แร่นี้มีสมบัติทนความร้อน และต้านทานกระแสไฟฟ้าได้ดี จึงนิยมผลิตเป็นฉนวนกันความร้อนและฉนวนไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ไดร์เป่าผม และเตาไมโครเวฟ การวิเคราะห์ชนิดสารประกอบในครั้งนี้ไม่พบพีคที่ตรงกับพีคของแร่ใยหิน   สรุปก็คือ เราไม่พบแร่ใยหินในตัวอย่างไดร์เป่าผมที่ทดสอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เรายังคงสามารถเสริมสวย เสริมหล่อ จัดแต่งทรงผม ด้วยไดร์เป่าผมอย่างสบายใจกันได้อยู่แต่...อย่างไรก็ตามวิธีการเตรียมตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้ยังมีขีดจำกัดไม่สามารถตรวจสอบแร่ใยหินที่ปนเปื้อนในปริมาณน้อยได้ การตรวจสอบแร่ใยหินในปริมาณน้อยควรดำเนินการ ทดสอบตามมาตรฐาน   PLM) ช่วยยืนยันผลทดสอบจากเทคนิค XRD ด้วย ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” จึงตั้งใจว่าจะต้องมีการทดสอบเพื่อเป็นการยืนยันผลอีกครั้ง   รู้จัก “แร่ใยหิน” แร่ใยหิน หรือ  แอสเบสตอส (asbestos) คือ กลุ่มแร่อนินทรีย์ตามธรรมชาติชนิด ไครโซไทล์ มีคุณสมบัติทนความร้อนได้ดี แถมยังแข็งแรงและมีความยืดหยุ่น จึงทำให้แร่ใยหินกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในสินค้าจำพวกวัสดุก่อสร้าง ทั้งในแผ่นฝ้าปูผนัง กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อซีเมนต์ นอกจากนี้ยังมีอยู่ในสินค้าอื่นๆ เช่น ผ้าเบรก เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องอบผม ไดร์เป่าผม เครื่องสำอางจำพวกแป้งฝุ่น อันตรายของแร่ใยหิน คืออนุภาคของแร่ใยหินเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปจับอยู่ที่ปอดเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดอักเสบ   สถานการณ์แร่ใยหินรอบโลกในช่วงปี 1950 – 1980 ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้ง อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเป็นจำนวนมากในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆ อย่างในปี 1950 สหรัฐอเมริกาเคยมีการใช้แร่ใยหินสูงสุดถึง 4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จนกระทั่งในปี 1986 มีรายงานว่าพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดในอเมริกาถึง 68 ราย และเริ่มพบในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงอันตรายของแร่ใยหิน จนนำไปสู่มาตรการการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไปแล้ว 47 ประเทศ   สำหรับในเมืองไทยในช่วงปี 1990 – 2000 มีการใช้แร่ใยหินอยู่ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก ไทยเราถือเป็นประเทศที่มีการใช้แร่ใยหินต่อคนต่อปีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก1 (อันดับ 1 คือรัสเซีย) เหตุผลเพราะประเทศไทยเรายังไม่มีความตื่นตัวถึงอันตรายของแร่ใยหินซึ่งก่อให้เกิดมะเร็งปอด เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้มีผลในทันทีแต่อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 20 ปี ทำให้เราจึงยังมองข้ามอันตรายของแร่ใยหิน และผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่เรามักมองกันว่าเกิดจากสาเหตุอื่นเป็นหลัก นั่นเป็นเรามองข้ามอันตรายของฝุ่นละอองของแร่ใยหินซึ่งอาจปลิวอยู่ในบ้านหรืออาคารที่เราพักอาศัยอยู่ *มีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตอันใกล้นี้อาจมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดกว่า 1,295 คนต่อปี2   เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักนายกรัฐมนตรี และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงการควบคุมการใช้แร่ใยหิน เพื่อร่วมกันทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องอันตรายของแร่ใยหินแก่ประชาชนทั่วไป บังคับใช้กฎหมายตรวจสอบเรื่องการใช้ฉลากคำเตือนกับผู้ประกอบการ ร่วมกันเป็นเครือข่ายตรวจสอบและเฝ้าระวังสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหิน รวมทั้งผลักดันให้เลิกใช้แร่ใยหินในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศไทย  1ข้อมูลจากเอกสาร “พิษภัยจากแร่ใยหิน มาตรการแร่ใยหินในไทย : มาตรการที่ต่ำกว่าสากล”.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)2ข้อมูลจากเอกสาร “พิษภัยจากแร่ใยหิน มะเร็งปอดและโรคปอดจากแร่ใยหิน”.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point