ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ระวัง เผลอกดลิงก์แอปฯเงินกู้ มือถือโดนดูดข้อมูล ถูกประจานว่าหนีหนี้

        ภัยออนไลน์เดี๋ยวนี้มีมาสารพัดรูปแบบ หากไม่ระมัดระวัง อาจตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพได้ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ให้ลูกเล็กใช้มือถือดูการ์ตูนหรือเล่นเกมต่างๆ  เด็กๆ อาจเผลอกดลิงก์อันตรายที่เด้งขึ้นมาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เหมือนอย่างลูกชายของคุณขวัญใจก็ได้         คุณขวัญใจเล่าว่า วันหนึ่งลูกชายวัย 2 ขวบ หยิบโทรศัพท์มือถือของเธอไปเล่น แล้วบังเอิญไปจิ้มกดโหลดแอปฯ เงินกู้เงินด่วนฟ้าผ่า ผ่านลิงก์จากโฆษณาในยูทูป หลังจากนั้นเธอก็โดนแอปฯ นี้ ดูดเอาข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างในมือถือไปใช้ โดยพวกมิจฉาชีพได้โทรไปหลอกทุกคนที่มีรายชื่อในคลังเบอร์โทรศัพท์ของเธอว่า เธอได้กู้เงินจากแอปฯไปแล้วไม่ชำระคืน และยังพูดข่มขู่ให้พวกเขาจ่ายเงินคืนแทนเธอด้วย อีกทั้งยังนำรูปของเธอที่อยู่ในโทรศัพท์ไปโพสต์ประจานตามสื่อต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหายมาก จนเธอต้องถูกไล่ออกจากงาน คุณขวัญใจจึงได้นำเรื่องนี้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา ในกรณีนี้คุณขวัญใจยังไม่สูญเสียเงินให้แก่มิจฉาชีพแต่อย่างใด ทางมูลนิธิฯ จึงแนะนำดังนี้        1. รีบดำเนินการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ให้พนักงานสอบสวน ตำรวจ สืบหาผู้กระทำความผิด หรือมิจฉาชีพ หรือคนร้ายดังกล่าว ในการหลอกดูดข้อมูลคลังเบอร์โทรศัพท์ที่มีอยู่ในมือถือไปใช้        2. รีบติดต่อทางไลน์ หรือทางเฟซบุ๊ก หรือโทรติดต่อกับทุกรายชื่อที่มีเบอร์บันทึกไว้ในมือถือ เพื่อแจ้งให้พวกเขารู้ว่า ตอนนี้มือถือของตัวเองถูกดูดข้อมูลไป ถ้ามีคนร้ายหรือมิจฉาชีพโทรไปขอให้โอนเงินมาใช้หนี้แทนตน อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 กระแสต่างแดน

รู้เร็วมีสิทธิรอด        ญาติของชายวัย 66 ปีที่ถูกพบเสียชีวิตในห้องน้ำของ MRT ฮ่องกง เตรียมฟ้องบริษัท หลังได้รับแจ้งจากบริษัทว่าปุ่มกดขอความช่วยเหลือฉุกเฉินในห้องน้ำสำหรับผู้พิการไม่ทำงาน          เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชายคนดังกล่าวซึ่งมากับภรรยาขอตัวไปเข้าห้องน้ำ แต่หายไปนานจนผิดสังเกต ภรรยาจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ช่วยตามหา แต่ก็ไม่มีใครพบตัว ผ่านไปกว่าสี่ชั่วโมง พนักงานทำความสะอาดพบชายคนดังกล่าวเสียชีวิตอยู่ในห้องน้ำผู้พิการ ในฝั่งห้องน้ำหญิง บริษัทแจ้งว่าความล่าช้าดังกล่าวเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสาร         เมื่อห้องน้ำในสถานีดังกล่าวเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็พบว่า “ปุ่มฉุกเฉิน” ในห้องน้ำดังกล่าวใช้งานไม่ได้ แต่ไม่มีหลักฐานว่าในวันเกิดเหตุ ผู้เสียชีวิตได้กดปุ่มนั้นหรือไม่ เพราะห้องคอนโทรลไม่พบสัญญาณเรียกเข้า          อย่างไรก็ตามบริษัทเตรียมติดตั้งเครื่องตรวจจับ “ความไม่เคลื่อนไหว” เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ที่อาจหมดสติในห้องน้ำได้ทันเวลา โดยจะเริ่มจากสถานีที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดก่อนงบฯ แก้เหงา         เพราะความเหงาไม่เข้าใครออกใคร รัฐบาลเนเธอร์แลนด์จึงอนุมัติงบประมาณ 40 ล้านยูโร (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการหรือการวิจัยใดๆ ก็ตามที่จะช่วย “ต่อต้านความเหงา” ภายใต้หลักความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ที่ต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย และเป็นส่วนหนึ่งของอะไรสักอย่าง        การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งเนเธอร์แลนด์ที่ทำขึ้นในปี 2021 กับผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 7,000 คน พบว่า ร้อยละ 40 ของคนอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความรู้สึกเหงา ในจำนวนนี้บางส่วนตอบว่าเหงาหนักมาก ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากก่อนโควิดระบาดถึงร้อยละ 7         ที่น่าสนใจคือกลุ่มวัยรุ่น ก่อนโควิดมีเพียงร้อยละ 8 แต่หลังจากนั้นเพิ่มเป็นร้อยละ 13.5 ในทางกลับกันจำนวนผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปี ที่รู้สึกเหงากลับลดลง (จากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 9)        ที่เขาต้องจริงจังเพราะความเหงาไม่ได้มาเล่นๆ มันอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นอีกมากมาย เช่น โรคซึมเศร้า การคิดฆ่าตัวตาย โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เป็นต้น เงินเปิดก๊อกไม่ได้         ปีนี้ “แอลเอ” แล้งเป็นประวัติการณ์ เทศบาลจึงต้องออกระเบียบจำกัดการใช้น้ำของครัวเรือน แต่สำหรับ”ชาวบ้าน” บางส่วนที่เป็นเศรษฐีหรือดาราฮอลลิวูด “ค่าปรับ” อย่างเดียวอาจไม่สามารถหยุดพวกเขาได้         บางเขตจึงใช้มาตรการติดตั้ง “อุปกรณ์จำกัดการไหลของน้ำ” ในบ้านที่ใช้น้ำเกินขีดจำกัดมากกว่าร้อยละ 150 เกินสี่ครั้ง (เกณฑ์นี้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2021) การประปาท้องถิ่นบอกว่าหลังจากดำเนินการมาสองสัปดาห์ ยังไม่เจอบ้านไหนโวยวายหรือขู่ฟ้อง        ทางออกสำหรับรายที่ไม่ต้องการให้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว เช่น ซิลเวสเตอร์ สตาโลน คือการทำจดหมายยืนยันว่าจะหาวิธีลดการใช้น้ำลงให้ได้ ส่วนมาดอนนานั้น รายงานข่าวระบุว่าเธอรอดไป เพราะสามารถอธิบายได้ว่า มิเตอร์น้ำที่ขึ้นรัวๆ นั้น เป็นเพราะก๊อกรั่ว และเธอได้ดำเนินการซ่อมแล้ว        การทำงานของอุปกรณ์ดังกล่าว (ซึ่งใช้เวลาติดตั้งไม่กี่นาที) ไม่เป็นอุปสรรคต่อการกดชักโครกตามปกติ เพียงแต่จะอาบน้ำและล้างจานพร้อมกันไม่ได้ ส่วนการรดน้ำต้นไม้นั้นเป็นไปไม่ได้เลยเยอรมันก็ตื่นตูม         ฤดูหนาวใกล้เข้ามาแล้ว สินค้าที่คนเยอรมัน “ต้องมี” นาทีนี้คือเครื่องทำความร้อนชนิดใช้ไฟฟ้า เพราะเครื่องที่แต่ละบ้านมีอยู่ล้วนเป็นแบบใช้ก๊าซ ซึ่งอาจไร้ประโยชน์ทันทีถ้ารัสเซียหยุดส่งก๊าซมาให้        ยอดขายฮีทเตอร์ไฟฟ้าในเยอรมนีจนถึงเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 958,000 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 76 น่าสนใจว่าเทรนด์ดังกล่าวไม่เกิดขึ้นใน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ซึ่งต้องพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียเหมือนกัน หากเฉลี่ยรวมทั้งห้าประเทศจะพบว่ายอดขายลดลงร้อยละ 5.1 ด้วยซ้ำ        ไม่ใช่แค่ซื้อเยอะขึ้น พวกเขายังซื้อชนิดเบอร์ใหญ่ไฮเอนด์ ซึ่งใช้กำลังไฟสูง ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า โอกาส “โอเวอร์โหลด” จะมีสูงมาก ถ้าทุกบ้านเปิดใช้พร้อมกัน         เจ้าหน้าที่รัฐต้องออกมาให้สติว่าพวกเขากลัวจนลืมไปหรือเปล่าว่า กรณีที่ก๊าซขาดแคลน บ้านเรือน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง จะต้องได้สิทธิในการใช้ก๊าซก่อนภาคธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้วตามกฎหมาย          และยังแนะนำว่าถ้าจะซื้อก็ขอให้ซื้อผ้าห่มไฟฟ้า ถูกกว่า อุ่นกว่า แถมประหยัดไฟกว่าด้วยคุมก่อน เคลียร์ทีหลัง        แอปฯ Buy Now Pay Later (BNPL) กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย เพราะถูกใจนักช้อปที่ไม่มีหรือไม่ต้องการผ่อนบัตรเครดิต เพราะกู้ง่าย ไม่มีค่าธรรมเนียม        ในอเมริกา หลังการระบาดของโควิด แอปฯ ประเภทนี้ (เช่น Klarna Affirm ZipCo Paypal และ After Pay) มีผู้ใช้มากขึ้นถึง 200% มียอดเงินกู้รวมกันมากถึง 24,200 ล้านเหรียญ         แต่แอปฯ BNPL ไม่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดการรายงานเครดิต คนที่จะปล่อยกู้ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ คู่แข่ง หรือบริษัทสินเชื่ออื่นๆ จะไม่มีทางรู้ได้ว่าคนที่จะเป็นลูกหนี้ตัวเองนั้นมีหนี้มาแล้วเท่าไร มีความสามารถในการชำระเงินหรือไม่ และ BNPL ยังกำหนด “ค่าปรับ” การชำระเงินล่าช้าได้ตามใจ อย่างที่เคยเป็นข่าวในออสเตรเลีย        สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินของสหรัฐฯ (Consumer Financial Protection Bureau) จึงเริ่มจับตากิจการนี้  แม้จะไม่มีอำนาจโดยตรงแต่ก็มั่นใจว่าสามารถกำกับดูแลบริษัทเหล่านี้ได้ เพราะทำกิจการไม่ต่างกับบริษัทเงินกู้แบบดั้งเดิม ถ้าใครข้องใจอะไรเดี๋ยวค่อยมาว่ากัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แอปฯ เงินกู้คนกรุงเริ่มใช้แล้ว 22 %

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 (กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง)         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3         รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3         โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7         รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4         โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 “315 กาล่า” เมื่อไชน่าแฉผู้ประกอบการ

        ประเทศจีนถือฤกษ์วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล เป็นวันเปิดโปงพฤติกรรมที่ “ไม่น่ารัก” ของผู้ประกอบการ ผ่านรายการถ่ายทอดสดของสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ China Central Television (CCTV) ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ         สองชั่วโมงเต็มของรายการ “315 กาล่า” เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการลุ้นกันตัวโก่ง หวั่นตัวเองจะโดนแฉออกสื่อ เพราะ CCTV เขาใช้วิธีส่งนักข่าวเข้าไปแฝงตัวเพื่อเก็บหลักฐานการละเมิดสิทธิผู้บริโภค บางรายถึงขั้นเตรียมออกแถลงข่าวขอโทษเอาไว้เลย         ในภาพรวมของการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียน 980,000 เรื่องในปี 2563 และได้ดำเนินการเรียกร้องเงินคืนให้กับผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 7,400 ล้านบาท         สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนระบุว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนพอๆ กันระหว่างสินค้าและบริการ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีจำนวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริการหลังการขายเพิ่มขึ้น ในขณะที่การร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าด้อยคุณภาพลดจำนวนลง ที่ยังมีร้องเรียนเข้ามามากคือ อุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่ทำยอดขายถล่มทลายตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด         รายงานของ CCTV ระบุว่านมผงสำหรับทารกที่ผลิตในประเทศจีนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง หลังจากผู้บริโภคขาดความมั่นใจและหันไปพึ่งพานมผงนำเข้าอยู่หลายปี         ในรายการ 315 กาล่า ครั้งที่ 39 นี้ อุตสาหกรรมที่โดนเล่นงานหนักที่สุดเห็นจะไม่พ้นบรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กเทค” ทั้งหลาย         ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายออนไลน์ยังมาแรง เช่น โฆษณาหลอกลวง การใช้ข้อมูลตั้งราคาต่างกันสำหรับลูกค้าต่างกลุ่ม รวมถึงการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าปลอม เป็นต้น         เว็บ UC Browser ของค่ายอาลีบาบา และเว็บ 360 ถูกประณามเพราะไม่รับผิดชอบต่อสุขภาพความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วยการรับโฆษณาจากสถาบันการแพทย์ที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีกรณีไลฟ์สดขายรังนกที่ทำยอดสั่งซื้อได้ถึง 15 ล้านหยวน แต่สิ่งที่ผู้ซื้อได้รับกลับกลายเป็นแค่น้ำเชื่อม!         ทางการจีนยังใช้พื้นที่ในรายการดังกล่าวเปิดตัว “แนวปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมออนไลน์” ที่กำหนดให้แพลตฟอร์มตลาดกลางออนไลน์ต้องมีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เช่น ต้องขออนุญาตจากผู้บริโภคก่อนเก็บข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ให้ผู้ขายมีสิทธิเปิดร้านได้หลายแพลตฟอร์ม และเก็บคลิปไลฟ์สดขายของเอาไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 3 ปี         ที่ฮือฮาที่สุดคือ การละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าในโชว์รูมของค่ายสุขภัณฑ์ Kohler ค่ายรถยนต์ BMW รวมถึงร้านเสื้อผ้า MaxMara ด้วยการเก็บข้อมูลสแกนใบหน้าลูกค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เรื่องนี้โป๊ะแตกเพราะผู้ให้บริการระบบกล้องวงจรปิด Suzhou Ovopark Network Technology ยอมรับว่าได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวนมหาศาลในร้านเหล่านี้ และยอมรับอีกว่าบริษัทในฐานะผู้ดูแลระบบ มีข้อมูลของลูกค้าจำนวน “หลายร้อยล้าน” ใบหน้าเลยทีเดียว         ข้อมูลที่ว่านี้สามารถนำไปสร้างโปรไฟล์ลูกค้า เพิ่มข้อมูลส่วนตัว ระบุเพศ อายุ อารมณ์ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดแบบเจาะจงได้         หลังถูกเปิดโปง Suzhou Ovopark Network Technology บอกว่าได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบการทำงานของตนเองและจะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนได้ทราบ ส่วน Kohler ก็ออกแถลงการณ์ว่าเขาใช้กล้องวงจรปิดเพื่อนับจำนวนลูกค้าเท่านั้น บริษัทไม่ได้เก็บ วิเคราะห์ หรือส่งต่อข้อมูลนั้นให้ใคร แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ เราได้รื้อถอนกล้องดังกล่าวออกจากโชว์รูมทั้งหมดตั้งแต่คืนวันที่ 15 มีนาคมแล้ว บริษัทกล่าว         อีกธุรกิจที่ถูกแฉคือ ผู้ให้บริการแอปฯ จัดหางาน Zhaopin.com, Liepin.com, และ 51job.com ที่นำข้อมูลประวัติการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของผู้สมัครงานไปขาย และยังปล่อยให้รั่วไหลไปยัง “ตลาดมืด” ที่สำคัญคือแต่ละแอปฯ อ้างว่าตัวเองมีบัญชีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านคน         หลังจบรายการ ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถืออย่าง Huawei, Xiaomi, OPPO และ VIVO ได้ถอนแอปฯ ของสามบริษัทนี้ออกจากร้านขายแอปฯ ของตัวเองทันที         ด้านเจ้าของแอปฯ ก็รับปากจะไปตรวจสอบจัดการระบบให้รัดกุมและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้ใครต่อใครเข้ามาดาวน์โหลดเรซูเม่ของผู้ใช้ได้ตามใจชอบ บางเจ้าตั้งทีมขึ้นมาควบคุมดูแลการปรับปรุงโดยเฉพาะด้วย         ค่ายรถยนต์ก็โดนเช่นกัน ผู้ใช้รถหรู Infiniti ของค่ายนิสสัน และผู้ใช้รถหลายรุ่นของ Ford เช่น focus หลายรายพบปัญหาเกี่ยวกับระบบเกียร์ นิสสันถูกแฉในรายการว่าพยายาม “ปิดกั้น” ลูกค้าไม่ให้ร้องเรียน ในขณะที่ฟอร์ดไม่แจ้งเตือนผู้ใช้รถและไม่จัดการซ่อมแซมให้โดยสมัครใจ         แน่นอนว่าบริษัทต้องรีบเสนอทางออกทันทีหลังรายการจบ นิสสันบอกว่าจะปรับปรุงการสื่อสารกับลูกค้า ในขณะที่ฟอร์ดเสนอให้ผู้ใช้นำรถที่มีปัญหาเกียร์เข้ามาซ่อมฟรีได้เลย         อีกเรื่องที่น่าสนใจของ 315 Gala ปีนี้ คือกรณีผู้สื่อข่าวที่แฝงตัวเข้าไปเป็นพนักงานขายเพื่อเก็บข้อมูลของบริษัทขายรถมือสองแห่งหนึ่งที่มีคนร้องเรียนว่าขายรถในราคาแพงเกินจริง กว่าบริษัทจะรู้ตัวว่ามี “สปาย” ผู้สื่อข่าวคนนี้ก็ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นถึงรองผู้อำนวยการที่เข้าประชุมร่วมกับผู้บริหารคนอื่นๆ เป็นประจำ และมีลูกน้องในสังกัดไม่ต่ำกว่า 10 คน         เจ้าตัวบอกว่าตอนแรกที่เป็นพนักงานขาย เขาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล “อินไซด์” ที่เป็นประโยชน์ต่อการเปิดโปงได้ เขาจึงพยายามทำยอดขายให้ได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งได้เลื่อนตำแหน่ง ที่สำคัญคือเงินเดือนในตำแหน่งใหม่นี้สูงกว่าที่สถานีโทรทัศน์ CCTV จ่ายให้เขาเกือบสามเท่า หัวหน้างานที่สถานีฯ จึงหมั่นโทรหาเขาทุกวัน เพราะกลัวลูกน้องจะแปรพักต์ไปอยู่กับบริษัทขายรถมือสอง            สามารถดูคลิปวิดีโอรายการได้ที่ www.315.cctv.com

อ่านเพิ่มเติม >