ฉบับที่ 202 คิดหน้าคิดหลังกับ “โคคิวเท็น”

ผู้เขียนมีอาการปวดกล้ามเนื้อที่น่องค่อนข้างบ่อยในระยะ 5-6 ปีมานี้ พยายามหาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือถึงสาเหตุก็หาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะมักอธิบายแบบกว้างๆ ตรงกับอาการบ้างไม่ตรงบ้าง จึงเข้าใจเอาเองในขั้นต้นว่า เป็นไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นหรือเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยาปรับความดันโลหิต ชนิดที่มีผลต่อการทำงานของแคลเซียมที่กล้ามเนื้อ ทั้งนี้เพราะอาการนี้เกิดหลังเริ่มกินยา ผู้เขียนจึงลองเพิ่มการกินอาหารที่มีแร่ธาตุมากขึ้นโดยเฉพาะ แคลเซียมและแมกนีเซียม นอกจากกินอาหารที่มีแร่ธาตุมากขึ้นแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งที่มีผู้แนะนำและหยิบยื่นให้ลองกินฟรี โดยใช้พื้นความรู้ว่า ตะคริวนั้นอาจเกิดเนื่องจากการออกกำลังกายประจำวันของผู้เขียน สินค้านั้นคือ โคคิวเท็น ซึ่งเป็นสารชีวเคมีที่ผู้เขียนไม่ค่อยศรัทธาว่ากินแล้วได้ผล เพราะข้อมูลจากงานวิจัยที่เคยอ่านและจากตำราที่เคยเรียนชวนให้มีความสงสัยว่า โคคิวเท็นที่กินเข้าไปนั้นสามารถเข้าไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเพื่อทำงานได้จริงหรือไม่อะไรคือ โคคิวเท็นโคคิวเท็นนั้นเป็นสารชีวเคมีที่เราสร้างขึ้นมาใช้เอง(จากองค์ประกอบต่างๆ ในอาหาร จึงไม่น่าเรียกว่า วิตามิน) โดยหน้าที่หลักของโคคิวเท็นคือ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเคลื่อนย้ายอิเล็คตรอนในระบบการสร้างสารให้พลังงานสูงในเซลล์เรียกว่า เอทีพี (ATP ย่อมาจาก adenosine triphosphate) ซึ่งเมื่อใดที่เซลล์ของร่างกายต้องการสร้างสารชีวเคมีใดๆ พลังงานที่ใช้สร้างจะมาจากการสลายสารเอทีพีมีผู้ตั้งคำถามว่า เราต้องการโคคิวเท็นสักเท่าไร ร่างกายจึงจะปรกติสุข คำตอบนั้นควรเป็นในลักษณะว่า ความต้องการสารชีวเคมีใดๆ ของร่างกายแต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน ปัจจัยหนึ่งคือ สภาวะแวดล้อมของแต่ละคน ซึ่งมีการดำเนินชีวิตต่างกันไป เช่น มนุษย์เงินเดือนนั่งทำงานในห้องปรับอากาศ ย่อมต้องการสารเอทีพีเพื่อให้พลังงานต่างไปจากนักกีฬาอาชีพที่ต้องออกแรงให้ได้เหงื่อทุกวัน ดังนั้นปริมาณโคคิวเท็นที่กล้ามเนื้อของคนที่มีกิจกรรมในแต่ละวันที่ต่างกันก็น่าจะต่างกันไปด้วยแต่คำถามซึ่งเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับโคคิวเท็นคือ สารชีวเคมีนี้มีสัมฤทธิผลต่อร่างกายในการสร้างเอทีพีแก่ร่างกายมนุษย์หรือไม่เมื่อกินเข้าไป ผู้เขียนพบข้อมูลจากเว็บในอินเทอร์เน็ตของหน่วยงานที่คิดว่าเชื่อถือได้แน่คือ NIH หรือ National Institute of Health ของสหรัฐอเมริกาซึ่งกล่าวว่า โคคิวเท็นนั้นดูจะมีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ แม้ว่ายังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจนนักในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม NIH ไม่ได้กล่าวถึงประโยชน์ของโคคิวเท็นในคนที่มีสุขภาพปรกติแต่อย่างใดนอกจากเรื่องของประโยชน์ของโคคิวเท็นแล้ว NIH ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของสารชีวเคมีนี้ว่า ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในคนที่เป็นชิ้นเป็นอันมักกล่าวว่า โคคิวเท็นนั้นมีผลข้างเคียงที่ผู้(จำต้อง) บริโภคต้องทนบางประการ โดยมีรายงานว่า ผู้บริโภคบางคนนอนไม่หลับ ระดับเอ็นซัมบางชนิดในตับสูงขึ้น มีผื่นแดงที่ผิวหนัง คลื่นไส้ ปวดตอนบนของหน้าท้องเวียนหัว แพ้แสง ปวดหัว มีอาการกรดไหลย้อน และอ่อนเพลีย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ NIH เตือนว่า สตรีมีครรภ์ไม่ควรกินโคคิวเท็นตลอดไปจนถึงช่วงกำลังให้นมลูก และที่สำคัญห้ามลืมคือ ใครก็ตามที่ต้องกินยาชื่อ วอร์ฟาริน ซึ่งใช้บำบัดอาการเลือดข้นนั้น ถ้ากินโคคิวเท็นเข้าไปยานี้จะมีฤทธิ์ลดลงจนไม่เกิดผลเหตุที่โคคิวเท็นเป็นประเด็นที่น่าสนใจในปัจจุบันเพราะ ราคาแพง อีกทั้งมีข้อมูลว่า กินเข้าไปแล้วดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้งานค่อนข้างยาก ดังที่นายแพทย์ Julian Whitaker กล่าวไว้ในบทความชื่อ Choosing the right CoQ10 Supplement ว่า การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้จำเป็นต้องกินในรูปแบบที่พอดูดซึมได้บ้างคือ Ubiquinol (อ่าน ยู-บิ-ควิ-นอล) ไม่ใช่ ubiquinone (อ่าน ยู-บิ-ควิ-โนน) ซึ่งถูกดูดซึมยากมาก บทความนี้หาอ่านได้ที่ www.drwhitaker.com/choosing-the-right-coq10-supplement โคคิวเท็นนั้นในความเป็นจริงมีพี่น้องหลายตัว เพราะเป็นสารชีวเคมีหนึ่งในตระกูลที่เรียกว่า โคเอ็นซัมคิว(Coenzyme Q) คำว่า เท็นหรือสิบ นั้นเป็นการระบุ จำนวนของหน่วย isoprenyl ซึ่งเป็นหน่วยไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบกันเป็นหางของโมเลกุลของสารชีวเคมีชนิดนี้ด้วยจำนวนที่มีมากถึง 10 หน่วยของ isoprenyl ของโคคิวเท็นนั้น ได้ส่งผลทำให้สารชีวเคมีนี้มีความสามารถในการละลายน้ำค่อนข้างน้อย จึงทำให้โคคิวเท็นกระจายตัวในลำไส้เล็ก ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นน้ำเพื่อการถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายยากมาก จำเป็นต้องทำให้โคคิวเท็นอยู่รูปที่ผ่านเข้าสู่เซลล์ของลำไส้เล็กด้วยกรรมวิธีขั้นสูง ดังนั้นราคาของโคคิวเท็นจึงต่างกันไปตามยี่ห้อที่ใช้เทคนิคเฉพาะตัวที่ต่างคิดค้นเอง ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตได้ให้ความรู้โดยรวมว่า การดูดซึมของโคคิวเท็นนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2-3 เท่านั้น  เมื่อศึกษาในหนูทดลอง รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาในมนุษย์ (ซึ่งก็ดูไม่ต่างไปจากการศึกษาในหนู) นั้นสามารถหาอ่านได้จากบทความชื่อ Coenzyme Q10: Absorption, tissue uptake, metabolism and pharmacokinetics. ตีพิมพ์ในวารสาร Free Radical Research หน้าที่ 445–453 ของชุดที่ 40(5) ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม ปี 2006 สำหรับพฤติกรรมของโคคิวเท็นนอกเหนือจากการทำงานในไมโตคอนเดรียแล้ว โคคิวเท็นเป็นสารต้านการออกซิเดชั่นที่ช่วยทำให้การทำงานของเซลล์เป็นไปอย่างที่ควรเป็น มีรายงานว่าโคคิวเท็นนั้นช่วยทำให้สารต้านออกซิเดชั่นอื่นเช่น วิตามินอีที่ถูกใช้งานแล้วในการกำจัดอนุมูลอิสระในเซลล์กลับฟื้นคืนมาทำงานได้เหมือนเดิม ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโคคิวเท็นคือ การใช้ในคนทั้งที่เป็นโรคเกิดจากความบกพร่องทางพันธุกรรมทำให้มีโคคิวเท็นในระดับต่ำ และในคนที่มีความต้องการสูงแต่ได้ไม่พอจากกินจากอาหาร เพราะแม้ว่าโคคิวเท็นมีในปลา เนื้อสัตว์และธัญพืช แต่ก็มีอยู่ในระดับที่จัดว่าต่ำ จึงทำให้หลังกินอาหารดังกล่าวแล้วอาจไม่สามารถเติมในส่วนที่พร่องไปของร่างกายNIH กล่าวว่า การเสริมโคคิวเท็นนั้นน่าจะมีประโยชน์บ้างในคนไข้ที่เกี่ยวกับโรคหัวใจและเส้นเลือด อาการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อที่เกิดจากผลของยาบางชนิด ความผิดปรกติในระบบสืบพันธุ์ และอีกหลายอาการ อย่างไรก็ดีงานวิจัยในเรื่องดังกล่าวนี้ยังไม่ชัดเจนพอ จนยากที่จะสรุปผลที่แท้จริงปัจจุบันมีรายงานเกี่ยวกับโคคิวเท็นที่สรุปว่า โคคิวเท็นมีประโยชน์ต่อคนไข้อาการหัวใจผิดปรกติ โดยคนไข้มักดีขึ้น(แต่คงไม่เท่าเมื่อมีสภาพปรกติก่อนป่วย) โดยรายงานนี้เป็นการศึกษาแบบ meta-analysis หรือการวิเคราะห์อภิมาน ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลของการศึกษาอื่นที่อยู่ในกรอบงานเดียวกันว่ามีผลไปในทางเดียวกันหรือไม่ โดยงานวิจัยในช่วงปี 2007-2009 ให้ผลออกมาว่า สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับหัวใจเมื่อได้รับโคคิวเท็นพร้อมกับสารอาหารอื่นๆ แล้วดูว่าจะมีอาการดีกว่าผู้ที่ถูกผ่าตัดเช่นเดียวกันแต่ไม่ได้รับสารนี้ ส่วนการกินโคคิวเท็นในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงนั้น ดูแล้วผลไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิมนักหากแต่มีประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีผู้พยายามใช้โคคิวเท็นแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ซึ่งพบว่า ในผู้ชายนั้นคุณภาพของอสุจิดูดีขึ้น(เข้าใจว่าเป็นการเทียบกันในกลุ่มผู้ที่บ่มิไก๊ด้วยกัน) แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงที่ว่าดีขึ้นนั้นช่วยในการแก้ปัญหามีบุตรยากหรือไม่ ดังนั้นในปัจจุบัน (2017) NIH ได้มีการให้ทุนเพื่อศึกษาผลของโคคิวเท็นต่อการบำบัดอาการกล้ามเนื้ออ่อนล้าของผู้ได้รับยาสตาติน ภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีสูงอายุ และผลในการบำบัดมะเร็งเต้านม

อ่านเพิ่มเติม >