ฉบับที่ 217 ของแปลกๆ ในขวดน้ำอัดลม

        แม้ว่าการผลิตสินค้าทุกวันนี้จะทันสมัยมาก แต่ความผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้ เช่น กรณีพบของแปลกปลอมในผลิตภัณฑ์อาหารที่ปิดสนิท ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ อย่าเพิกเฉย หากประสบปัญหาควรร้องเรียนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการผลิตและถ้ามีผลกระทบต่อสุขภาพต่อจิตใจก็สามารถเรียกร้องสิทธิได้        คุณภูผา ชอบกินน้ำอัดลมรสโคล่าในขวดแก้วเอามากๆ  คือต้องดื่มทุกวัน จากร้านค้าเจ้าประจำจนคุ้นเคยกับเจ้าของร้านเป็นอย่างดี ขนาดที่ว่าสามารถเดินไปเปิดตู้แช่แล้วหยิบมาดื่มได้เลย สิ่งที่ทำให้คุณภูผาถูกใจที่สุดคือ ตู้แช่ร้านนี้จะเย็นจัดจนน้ำโคล่าในขวดแก้วกลายเป็นวุ้น        วันหนึ่งในเดือนที่อากาศร้อนมากๆ คุณภูผาเดินไปหยิบน้ำอัดลมจากร้านค้าตามปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือ วันนั้นพอดูดวุ้นน้ำแข็งใกล้หมด สังเกตเห็นว่า มีสิ่งแปลกปลอมลักษณะแผ่นสีน้ำตาลแก่ๆ ดูแล้วคล้ายเป็นเศษใบตอง จึงสงสัยว่าสิ่งแปลกปลอมคืออะไรกันแน่ แล้วทำไมเข้าไปอยู่ในขวดน้ำอัดลมได้ ดื่มแล้วจะเป็นอันตรายไหม  จึงโทรศัพท์ไปแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ตามเบอร์ที่แจ้งไว้ข้างขวด พนักงานของบริษัทรับเรื่องไว้และส่งเจ้าหน้าที่มารับตัวอย่างสินค้าไปตรวจสอบ พร้อมนำโค้ก 1 แพ็คมาเปลี่ยนให้แก่คุณภูผาเป็นการเยียวยาเบื้องต้น  อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่คุณภูผาต้องการ ที่อยากรู้คือ มันเข้าไปอยู่ได้อย่างไร แต่จนผ่านไป 3 เดือนคุณภูผาก็ยังไม่ทราบข้อมูลใดๆ จากบริษัท จึงแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องให้แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่าการกระทำของผู้ผลิตอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และรับจะติดตามเรื่องให้        เมื่อติดต่อไปยังบริษัท พนักงานแจ้งว่าจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องคือคุณภูผาโดยเร็ว แต่เมื่อสอบถามคุณภูผาได้รับการแจ้งว่า ไม่มีการติดต่อใดๆ จากบริษัท ศูนย์ฯ จึงติดต่อประสานงานอีกครั้ง ต่อมาพนักงานของบริษัทติดต่อกลับมายังศูนย์พิทักษ์ว่า บริษัทได้ตรวจสอบสินค้าในรุ่นการผลิตเดียวกันกับที่พบสิ่งปนเปื้อนแล้ว ปรากฏว่าไม่พบสิ่งผิดปกติ และตรวจสอบระบบการผลิตและทดสอบแล้วพบว่า ไม่น่าจะมีสิ่งแปลกปลอมลงไปในขวดได้ ทั้งนี้ยินดีให้มูลนิธิเข้าร่วมตรวจสอบกระบวนการผลิต ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ร้องและบริษัท ซึ่งตัวแทนบริษัทอธิบายกระบวนการผลิตให้ผู้ร้องและมูลนิธิทราบ และให้ดูคลิปวีดีโอทดสอบระบบการผลิต ในกระบวนการเซ็นเซอร์ขณะล้างขวดแก้วที่พบปัญหา และแจ้งว่าที่ล่าช้าเนื่องจากพนักงานที่รับผิดชอบเกิดอุบัติเหตุ จึงหยุดงานเป็นเวลา 1 เดือน ทำให้ไม่ได้ติดต่อผู้ร้อง บริษัทได้กล่าวขออภัยผู้ร้อง และมอบหนังสือชี้แจงเหตุการณ์และการแก้ปัญหาไว้ที่มูลนิธิ ผู้ร้องไม่ได้ติดใจในกระบวนการผลิต อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ มีข้อเสนอให้บริษัทชดเชยค่าเสียเวลาให้แก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 5,000 บาท ซึ่งบริษัทยินดีชดเชยค่าเสียเวลาให้ผู้ร้องตามที่เสนอ เรื่องจึงเป็นอันยุติ พบปัญหาสิ่งปนเปื้อนในอาหารจัดการเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย        2.หากรับประทานเข้าไปแล้ว ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน        3. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน        4. โทรแจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดีว่า เราต้องการให้บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น        5. ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น หมายเหตุ : หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง *ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >