ฉบับที่ 243 วันตรวจสอบข่าวลวงโลก ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน

        เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสาร National Fact-Checking Network- IFCN ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลก ได้จัดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปีเป็นวันตรวจสอบข่าวลวงโลก หรือ International Fact-Checking Day         ในวันที่ 2 เมษายน 2021 นี้ โคแฟค-เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสารในประเทศไทย ได้จับมือกับภาคีเครือข่าย 39 องค์กร ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เราประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าในระหว่าง 1 ปีนับจากนี้ จะช่วยกันรณรงค์ให้พลเมืองรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารและสร้างผู้ตรวจสอบข่าวสาร (Fact-Checkers) ในสังคมยุคดิจิทัล เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากข่าวลือข่าวลวงในโลกออนไลน์ที่นับวันจะมีมากและซับซ้อนขึ้น         โอกาสนี้ ได้จัดเวทีสัมมนาหัวข้อ “ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฉายภาพความคืบหน้ากิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับกลไกการตรวจสอบและสร้างผู้ตรวจสอบข่าวสาร ที่แต่ละภาคส่วนกำลังขับเคลื่อนอยู่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในประกาศเจตนารมณ์ต่อไป         การตรวจสอบความลวงในภาวะวิกฤติรอบโลก         จากประสบการณ์ทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง(Fact-Checking) มากว่า 15 ปี วันนี้คุณ Baybars Orsek ในฐานะผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบสากล ได้ย้ำว่าการขยายความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายประเทศทั่วโลกนั้นสำคัญและจำเป็นมาก โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด-19 นี้ ที่การตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวลวงข่าวเท็จนั้นยากกว่าการหาต้นตอของโรคระบาดเสียอีก         “ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่เรายังเผชิญอยู่ คือการค้นหาต้นตอของข้อมูลเท็จเหล่านั้น บางทีมันยากที่เราจะระบุว่าสิ่งนี้เป็นข้อมูลที่แท้จริงหรือไม่ นั่นคือสาเหตุว่าทำไมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจึงจำเป็นต้องดำเนินงานกับหลายๆ หน่วยงาน ก็เพื่อให้เรามีคลังข้อมูล มีแหล่งข้อมูล และมีความรู้ที่มากขึ้น”         ในยุคดิจิทัลที่ข่าวสารมากมายอยู่รายล้อมตัวเรา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่กระจายได้กว้างและเร็วมาก หากจะนั่งตรวจสอบข่าวทีละชิ้นๆ คงไม่ทันการณ์ ดังนั้นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีรูปแบบการทำงาน เครื่องมือ และเทคโนโลยี ที่หนุนเสริมให้ตรวจสอบข่าวลือข่าวลวงที่ต้นทางได้ทันท่วงที         คุณ Baybars ยกตัวอย่างว่าการหักล้างความคิดและความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง (debunking) แล้วก็ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปในขณะเดียวกันนั้น เป็นโมเดลที่ใช้รับมือกับข้อมูลที่บิดเบือน (disinformation) และข้อมูลเท็จ (misinformation) ได้ผลดี อีกทั้งยืนยันว่าทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะการเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้         “บางทีคุณแค่ตรวจสอบข้อมูลบางอย่างเพื่อดูแลคนในครอบครัวเอง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ถ้าคุณสงสัยว่าข่าวสารที่เห็นอาจก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลใดได้ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกครั้ง เพราะคนบางกลุ่มเขาอาจหลงเชื่อข้อความลวงหรือข่าวปลอมได้ง่ายๆ ดังนั้นเราต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ดีที่สุด”         โอกาสและอุปสรรคการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเทศไทย         พฤติกรรมการบริโภคสื่อของคนไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะยึดติดกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ตนใช้บ่อย และมักเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อมาจากคนใกล้ชิด จึงแชร์โดยไม่เช็กให้ชัวร์ก่อน ในขณะเดียวกันกลไกการตลาดก็บังคับให้ผู้ผลิตสื่อออนไลน์ทั้งหลายต่างเร่งทำยอดผู้ชม แข่งกันสร้างเนื้อหาให้ถูกใจมากกว่าถูกต้อง จึงส่งผลให้เกิดการแพร่สะพัดของข่าวลือข่าวลวงได้เร็วในวงกว้าง         คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ เผยความรู้สึกว่า         “วงจรการทำงานของแฟคต์เช็กเกอร์ คือ collect – choose – check – create ความท้าทายคือเรื่องเวลาและความเร็ว ตอนนี้ทุกคนให้มูลค่ากับการไลฟ์ ให้คุณค่ากับความสด ต้องรีบทำอะไรบางอย่างเพื่อให้คนแชร์ต่อ หรือทำให้คนอยากรู้อยากได้คำตอบตลอดเวลา อันนี้เป็นแรงกดดันหนึ่งของแฟคต์เช็กเกอร์ บางครั้งเราอึดอัดว่าเราไม่สามารถจะหยุดกระแสที่น่าเป็นห่วงด้วยข้อเท็จจริงได้ทัน”         การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ แม้ ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย’ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ประชาชนอาจยังเข้าไม่ถึง นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน แต่การเป็นหน่วยงานภาครัฐก็มีข้อกังขาถึงความเป็นกลาง ซึ่งคุณสันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ ชี้แจงว่า         “เราเปิดศูนย์นี้มาปีครึ่ง จะมีเรื่องสุขภาพและสมุนไพรมาให้ตรวจสอบค่อนข้างเยอะ เรามีเงื่อนไขว่าต้องทำข่าวให้เป็นกลางที่สุด ต้องมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ เรายอมรับว่าต้องมีไบแอสจากสังคมอยู่แล้ว แต่การจะลดไบแอสแล้วทำให้เรื่องเหล่านี้ขับเคลื่อนต่อไปได้คือ เราก็ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์”         คุณอภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค ได้ตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคเชิงโครงสร้างว่า         “ในเมืองไทยการเข้าถึงข้อมูลข่าวยังยากอยู่ ถ้าเทียบกับในอเมริกาที่เขาแฟคต์เช็กกันเรียลไทม์ได้ อ้างอิงข้อมูลเปิดได้ สิ่งที่สังคมไทยต้องทำมากขึ้นคือเรื่องโอเพ่นดาต้าและดิจิทัลโกเวอเมนต์ที่เราจะเช็กข้อมูลต่างๆ บนหน้าเว็บไซต์ได้ง่ายๆ ซึ่งล่าสุดมีดีเบตเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารเวอร์ชั่นใหม่กันอยู่ว่า จะนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือเปล่า”         อย่างไรก็ตาม คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีโอกาสจะลดข่าวปลอมลงได้ว่า         “ผมเห็นโซเชียลมีเดียมา 6-7 ปี ช่วงบูมๆ เขาจะไม่มีคัดกรองอะไร ทุกคนจะผลิตอะไรก็ได้ แต่วันนี้ยูทูป เฟสบุค ทวิตเตอร์ เริ่มมีการคัดกรอง ให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ดีๆ ดังนั้นเราเห็นโอกาสแล้วว่าเมื่อทุกคนพยายามจะทำของที่ดี ก็จะไม่ผลิตเฟคนิวส์กันออกมา”         คุณณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการ Fact-Check สำนักข่าวเอเอฟพี ประจำประเทศไทย มองว่าสิ่งที่หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อนมานั้นเดินถูกทางแล้ว         “ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นคนตระหนักถึงข้อมูลข่าวสารเท็จเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ด้วย เห็นเขาก็มีการตรวจ มีการแย้งกันเองในโพสต์ต่างๆ วันนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้สังคมของเราเสริมสร้างวัฒนธรรมการตั้งคำถามและตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังแข็งแกร่งขึ้นทุกๆ วัน”         ข้อค้นพบเชิงวิชาการในประเด็นการสื่อสารในโลกออนไลน์         งานวิจัยเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการตรวจสอบข่าวปลอม ระหว่างนักข่าวมืออาชีพและคนทั่วไปที่ใช้สื่อออนไลน์ ทีมนักวิจัยใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมศาสตร์มารวบรวมข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและวิเคราะห์ร่วมกันในเชิงนิเทศศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่าเมืองไทยยังมีช่องว่างในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ บรรยากาศหลายๆ อย่างอาจทำให้นักข่าวไม่สามารถตรวจสอบได้เต็มที่ โดยเฉพาะข่าวการเมือง รวมทั้งอาจเป็นโอกาสให้หลายคนสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นแฟคเช็กเกอร์ในเรื่องที่ตนสนใจและยังเป็นช่องว่างในประเทศไทยอยู่ ทั้งนี้ผู้วิจัยสังเกตว่าถ้าเป็นข่าวที่ชัดเจนว่าปลอม คนจะไม่ค่อยแชร์         โครงการพัฒนาทักษะนักการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อรู้เท่าทันข่าวลวง ได้พัฒนาเป็นหลักสูตรออนไลน์ ที่เหมาะกับนักศึกษาและนักข่าวท้องถิ่น ให้ใช้โปรแกรมการจัดเรียง คัดกรอง และประมวลผลข้อมูลมานำเสนอเป็นข่าวอย่างถูกต้องในรูปแบบที่น่าสนใจได้ ซึ่ง ดร.จิรเวทย์ รักชาติ คณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่ เล่าว่า “บางครั้งเราใช้อารมณ์ในการเล่าเรื่อง ก็เลยมีข่าวเชิงอารมณ์เยอะ จึงนำไปสู่เฟคนิวส์ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมองหาวิธีการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล ฝึกให้นักศึกษาเขาพร้อมมาอยู่ในโลกยุคใหม่ที่เราคุยกันด้วยข้อมูล”         ในส่วนบริบทความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ ที่ปรึกษา Deep South COFACT สรุปว่า “ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้คือ เมื่อเกิดประเด็นขัดแย้ง ไม่มีองค์กรอิสระที่มาตรวจความถูกต้องของข่าว มันก็เลยแพร่กระจายข่าวลือข่าวลวงไปได้ไกล ในฐานะนักวิชาการ ถ้าเรานั่งรอ เราจะเข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าไปฝังตัวอยู่ในเพจต่างๆ ดูว่ามีข้อมูลอะไรในพื้นที่การสื่อสารนั้นบ้าง เพื่อที่เราจะนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์”         สรุปบทเรียนของชุมชนโคแฟค         โคแฟคชายแดนใต้ (Deep South COFACT)         คุณมะรูฟ เจะบือราเฮง เล่าว่าทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ได้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมมือกับเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยใช้โมเดลในองค์กร digital for peace คือนำนวัตกรรมแบบเปิดที่มีหลายๆ ฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐที่อยู่ในพื้นที่ หน่วยงานวิชาการ องค์กรเอกชน สื่อท้องถิ่น แล้วก็หน่วยงานภาคประชาสังคม มีการเชื่อมโยงทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบแค่ข้อเท็จจริง แต่ยังมองไปว่าข้อเท็จจริงนั้นจะช่วยป้องกันอันตราย หรือช่วยทำนายเหตุการณ์ข้างหน้าได้อย่างไรอีกด้วย         อีสานโคแฟค (Esan COFACT)         คุณกมล หอมกลิ่น เล่าว่าได้ทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เริ่มทำงานเมื่อตุลาคม 2563 โดยร่วมมือกับเครือข่าย 7 สถาบันการศึกษา 3 องค์กรด้านสื่อในพื้นที่ ใช้โมเดลที่ชวนให้ชาวบ้านตระหนัก ฉุกคิด แล้วใช้เครื่องมือตรวจสอบได้ เพื่อร่วมกัน “หยุดข่าวลวง ทวงความจริง” โดยพยายามกระจายกำลังคนให้อยู่ในเขตทั่วพื้นที่ภาคอีสานมากที่สุด ตั้งเป้า 120 คน จากนั้นจะขยับทำงานเชิงรุกมากขึ้น ให้ทีมงานเข้าไปในพื้นที่ ชวนชาวบ้านมองปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแล้วตั้งคำถาม และหาความจริงร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือโคแฟค เว็บไซต์อีสานโคแฟค.org และล่าสุดได้ตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวลวงชุมชนแห่งแรกของภาคอีสาน ที่ จ.อุดรธานี         โคแฟคภาคเหนือ         ผช.ศ.ดร.ณภัทร เรืองนภากุล เล่าว่าได้ทำงานกับโคแฟคมาเกือบ 1 ปีแล้ว การสร้างชุมชนผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ภาคเหนือมีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยเข้าไปดูว่าแต่ละกลุ่มอ่อนไหวกับข้อมูลแบบไหน มีข้อมูลแบบไหนที่กำลังหลอกลวงพวกเขาอยู่ แล้วเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมและตรงกับความสนใจของแต่ละกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา-จัดกิจกรรมสร้าง young fact- checker กลุ่มผู้บริโภคสื่อวิทยุและโทรทัศน์- ทำเทรนนิ่งเพื่ออัพสกิลและรีสกิลกับเครือข่ายในทุกภาค กลุ่มแรงงานข้ามชาติ-สอนตรวจสอบข้อเท็จจริงและผลิตสื่อในภาษาของตน(ไทยใหญ่,พม่า) ล่าสุดในกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินและการพูด-สอนตรวจสอบข้อเท็จจริงบนฉลากโภชนาการ โดยแต่ละโครงการจะแบ่งผู้รับผิดชอบชัดเจน ซึ่งได้ผลลัพธ์และผลตอบรับจากทุกกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี         การรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุ         ผศ.ดร.นันทิยา ดวงภุมเมศ เล่าว่าในต่างประเทศมีการวิจัยว่าผู้สูงอายุเป็นคนแชร์ข่าวลือมากที่สุดแต่ในไทยยังไม่มีการสำรวจ ส่วนงานวิจัยเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุนี้ทำต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว โดยผ่านกลไกของโรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในพื้นฐานความคิดว่าผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตัวเองจากการบริโภคสื่อและดูแลตัวเองได้ ความยากคือ หนึ่ง-ผู้สูงอายุไทยเกิดในยุคที่ไม่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม สอง-เกิดในยุคที่สื่อมีไม่มากและสิ่งที่ออกมาผ่านสื่อถูกกรองมาแล้ว เชื่อถือได้ ดังนั้นแม้ผ่านการอบรมและได้คาถารู้ทันสื่อคือ “หยุด...คิด...ถาม...ทำ” ติดตัวไว้แล้ว ก็เพิ่งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้นในปีนี้เอง คือกลุ่มผู้สูงอายุเริ่มถามกันเองในกลุ่มไลน์ว่าข่าวนี้จริงหรือเปล่า เริ่มรู้เท่าทันสื่อกันบ้างแล้ว สิ่งสำคัญคือกลุ่มผู้สูงอายุยังต้องการเครื่องมือที่ไว้เช็คข่าวลวงต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นสุขภาพ        เช็คให้ชัวร์ที่ ‘โคแฟค’        โคแฟค (COFACT THAILAND) เป็นองค์กรด้านตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งมาได้ 1 ปี มีแนวคิดที่จะใช้เทคโนโลยีภาคพลเมืองคู่ขนานกับวารสารศาสตร์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมุ่งหวังส่งเสริมให้พลเมืองทุกคนเป็นแฟคต์เช็กเกอร์ คือรู้เท่าทันข่าวสารและใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอย่างฉลาด        โคแฟคได้สร้างเครื่องมือออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วไว้ให้บริการสืบค้น หากใครได้รับข้อมูลที่ชวนสงสัย อย่าเพิ่งแชร์ ให้มาเช็กให้ชัวร์ที่โคแฟค โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ cofact.org พิมพ์คีย์เวิร์ดเพื่อเช็กก่อนได้ ซึ่งในฐานข้อมูลจะแบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ คือ จริง--ไม่จริง--จริงบางส่วน--มีความเห็นส่วนตัว--รอตรวจสอบ หรือส่งข้อมูล/รูปภาพมาในไลน์ @cofact แล้วทีมงานจะไปตรวจสอบให้แผนงานในปีนี้ โคแฟคจะเดินสายไปเทรนนิ่งในภูมิภาคต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและพลเมืองมีทักษะการเป็นแฟคต์เช็กเกอร์ต่อไป.

อ่านเพิ่มเติม >