ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >