ฉบับที่ 263 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (2)

        จากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่าในปีนี้ประเทศไทยได้มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 หรือบริโภคไม่เกิน 700 - 800 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ภายในปี พ.ศ. 2568         ฉลาดซื้อฉบับที่ 261 (พฤศจิกายน 2565) ได้สำรวจโซเดียมในถั่วอบเกลือ (1) พบปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม ในฉบับนี้เราจะมาสำรวจต่อในกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ดขวัญใจคนรักสุขภาพกัน               นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ ถั่วอัลมอนด์ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 19 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน และราคา นำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 19 ตัวอย่าง ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ 5 ตัวอย่าง ถั่วอัลมอลด์ 5 ตัวอย่าง และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 9 ตัวอย่าง พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 160 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อทองการ์เด้น อัลมอนด์อบเกลือ (มีโพแทสเซียม 220 มิลลิกรัมด้วย) และเจดีย์คู่ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ส่วนยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ในขณะที่ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม (แต่มีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม)          - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 9 กรัม ในยี่ห้อเจดีย์คู่ พิสตาชิโออบเกลือ   ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 3 กรัม         - ยี่ห้อคาเมล พิสทาชิโออบรสธรรมชาติ ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 40 กรัม ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 15 กรัม (ไม่รวมเปลือก) ราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย ราคาแพงสุดคือ 1.15 บาท ส่วนยี่ห้อสแนคทาวน์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ราคาถูกสุดคือ 0.67 บาท  ตารางเปรียบเทียบผลสำรวจฉลากตัวอย่างถั่วอบเกลือ 2 กลุ่ม           จากตารางนี้พบว่า ตัวอย่างถั่วกลุ่มเปลือกแข็ง (Nut) มีปริมาณโซเดียมและโปรตีนต่อหน่วยบริโภคน้อยกว่าตัวอย่างถั่วกลุ่ม (1) แต่มีราคาสูงสุดต่อปริมาณ 1 กรัมแพงกว่าประมาณ 4.4 เท่า ข้อสังเกต         - มี 1 ตัวอย่างที่ได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” คือ ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม หรือ 633.33 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม)         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์นี้ ได้แก่ ยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มี 31.25 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย มี 66.67 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม         - มี 2 ตัวอย่างที่ไม่ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อคาเมล เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ และยี่ห้อลูคาส เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วเกลือ ฉลาดซื้อแนะ        - รสชาติเค็มๆ มันๆ ของถั่วอบเกลือ ทำให้ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน หากเผลอกินมากไปอาจได้รับพลังงานและโซเดียมเกินจำเป็นได้ ปริมาณที่แนะนำกันคือ 30 กรัมต่อวัน (ถั่วพิสทาชิโอ 30 เม็ด อัลมอนด์ 20 เม็ด และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 15 เม็ด อาจมากน้อยกว่านี้นิดหน่อยได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ดถั่วด้วย)         - แม้ไม่มีคำว่าเกลือในชื่อก็ไม่แน่ว่าจะไม่มีโซเดียม จึงควรพิจารณาส่วนประกอบและข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคไตและความดันสูง         - ถ้าเลือกได้ ควรเลือกถั่วอบที่ไม่ปรุงรสใดๆ เลย จะดีต่อสุขภาพมากที่สุด         - ควรเคี้ยวถั่วให้ละเอียดก่อนกลืน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ หากเป็นถั่วเปลือกแข็งเมล็ดใหญ่ควรตำหรือบดให้เล็กลง เพื่อป้องกันการติดคอ สำลัก หรือฟันหักได้         - หากซื้อถั่วถุงใหญ่ ควรแบ่งบริโภคให้พอเหมาะ และเก็บถั่วที่เหลือในภาชนะที่ปิดมิดชิด วางไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงแสงแดดและความชื้นข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.th (เลือกกิน “ถั่ว” ให้ถูก ดีต่อสุขภาพแน่นอน)https://www.pobpad.com (ถั่วพิสตาชิโอ อาหารลดน้ำหนักและบำรุงสุขภาพ/ กินอัลมอนด์อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ/ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ของว่างเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (1)

        จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดขนมขบเคี้ยวประเภท “ถั่ว” ในประเทศไทย ย้อนไปเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 12.3% มูลค่าประมาณ 4,562 บาท เป็นลำดับ 3 รองจากมันฝรั่งและขนมขึ้นรูป (ที่มา:Marketeer ) แต่เชื่อว่าด้วยกระแสความนิยมบริโภคโปรตีนจากพืชที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องอยู่ตอนนี้ หากถามถึงของว่างกินเล่นเพื่อสุขภาพในดวงใจของหลายๆ คนแล้ว ถั่วต่างๆ น่าจะมาวินอย่างแน่นอน เพราะในถั่วแต่ละชนิดนั้นมีโปรตีนสูง ไขมันชนิดดี เส้นใยอาหาร และวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สำคัญอร่อยเคี้ยวเพลิน         ทว่าในถั่วที่ผ่านการปรุงรสต่างๆ อย่าง “ถั่วอบเกลือ” รสชาติเค็มๆ มันๆ นั้น หากเคี้ยวเพลินเกินพอดี ร่างกายอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูงและส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้           นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถัวปากอ้า(ถั่วฟาบา) และถั่วเขียวเลาะเปลือก ซึ่งผู้บริโภครู้จักกันดี หาซื้อง่ายและราคาถูก จำนวน 13 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน พลังงานและราคานำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 13 ตัวอย่าง  ได้แก่ ถั่วลิสง 6 ตัวอย่าง ถั่วลันเตา 3 ตัวอย่าง ถั่วปากอ้า 3 ตัวอย่าง ถั่วเขียวเลาะเปลือก(ถั่วทอง) 1 ตัวอย่าง  พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงเยื่อแดงโรยเกลือ และพี่รี่ ถั่วลันเตาอบกรอบ รสดั้งเดิม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ มีน้อยที่สุด คือ 20 มิลลิกรัม (แต่มีโพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค)         - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 18 กรัม ในยี่ห้อมารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วปากอ้าอบเกลือ และถั่วฟาบาโรยเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 6 กรัม         - ยี่ห้อทองการ์เด้น  ถั่วลันเตาเขียวอบเกลือ  ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 45 กรัม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วฟาบาโรยเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 25 กรัมราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ราคาแพงสุดคือ 0.26 บาท ได้แก่ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ และทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือข้อสังเกตน่าสนใจ        - ด้านการแสดงฉลากโภชนาการ พบว่า การแสดงปริมาณค่าพลังงานทั้งหมดของ มารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน น่าจะให้ข้อมูลผิด โดยเมื่ออ่านฉลากโภชนาการด้านหลังซอง ระบุ ค่าพลังงานทั้งหมด (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม) คือ 520 กิโลแคลอรี แต่ในสัญลักษณ์ด้านหน้า (รูปกระบอก) ระบุว่า ทั้งซอง (ปริมาณบรรจุ 160 กรัม) ซึ่งแบ่งบริโภค 5 ครั้งนั้น มีพลังงานรวม 1040 กิโลแคลอรี หมายความว่า เมื่อหารด้วย 5 ค่าพลังงานต่อหน่วยบริโภคจะเท่ากับ 280 กิโลแคลอรีเท่านั้น  และเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นก็พบว่ามีความสอดคล้องกันว่าน่าจะเป็นการแสดงฉลากผิดพลาด ทำให้ข้อสังเกตส่งผลถึงเรื่องปริมาณของโซเดียมด้วย เพราะด้านหน้าของซองระบุปริมาณโซเดียม 130 มิลลิกรัมหากนำมาหารด้วยหน่วยบริโภคคือ 5 ครั้ง ควรมีค่าโซเดียมในฉลากโภชนาการเพียงแค่ 26 มิลลิกรัมแต่ในฉลากโภชนาการด้านหลังกลับระบุว่า 65 มิลลิกรัม         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า ยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่มีปริมาณโซเดียมเข้าเกณฑ์นี้ คือ 52.63 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียมอยู่ 320 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม หรือ 842 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมต้องระวัง ฉลาดซื้อแนะ         - ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ         -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวเกินวันละ 2 มื้อ          - หากซื้อถุงใหญ่ แนะนำให้แบ่งใส่ภาชนะแต่พอดี แล้วปิดถุง เก็บไว้ไกลมือ จะได้ไม่เผลอหยิบเข้าปากเคี้ยวเพลินจนหมดถุง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น         - ถั่วลิสงมีโปรตีนสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วปากอ้า ถั่วเขียวเลาะเปลือก และถั่วลันเตา ตามลำดับ         - ถั่วปากอ้ามีเส้นใยอาหารสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง และถั่วเขียวเลาะเปลือก ตามลำดับ     ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thairath.co.th ("โรคแพ้ถั่วปากอ้า" หรือ "ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD" โรคที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้)https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1365(มารู้จักโซเดียมกันเถอะ)https://planforfit.com (เลือกถั่วให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง)https://www.gourmetandcuisine.com(ถั่วกับประโยชน์ต่อสุขภาพ)http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=756 (กินถั่วอย่างไร ได้ประโยชน์สูงสุด)https://www.pobpad.com (อาหารโปรตีนสูง ทางเลือกโภชนาการเพื่อสุขภาพ)   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผลสำรวจฉลากเยลลี่พร้อมดื่ม

        เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก         ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย        นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า         ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า        1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B        2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้  ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด )  และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่    ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”         3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน         ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า        1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่  คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี        2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E        3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี           เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง)   ข้อสังเกต        - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง)          - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า  ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน”         - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้  วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก        - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย  ฉลาดซื้อแนะ        - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้        - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้        - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้        -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด        -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา        -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ค่าพลังงานและปริมาณโซเดียมในโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและข้าวต้มสำเร็จรูป

        นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้เลือกซื้อขณะที่อาจต้องกักตัวอยู่บ้านเนื่องในสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ปริมาณโซเดียมมีค่าอยู่ระหว่าง 0-1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2564 สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปและข้าวต้มสำเร็จรูป จำนวน 48 ตัวอย่าง เพื่อดูปริมาณโซเดียมเช่นกัน ซึ่งพบว่ามีค่าอยู่ที่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการสำรวจจากสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมของทางสมาคมเพื่อนโรคไตฯ เป็นตัวตั้งต้น โดยเก็บตัวอย่างสินค้าชนิดเดียวกันได้จำนวน 19 ตัวอย่าง และตัวอย่างใหม่อีก 5 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 24 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจข้อมูลโภชนาการบนฉลากว่ามีสินค้าตัวใดบ้างที่ผู้ผลิตได้มีการปรับลดปริมาณโซเดียมลง  สรุปผลสำรวจ         จากการสำรวจฉลากโภชนาการพบว่า ในจำนวน 19 ตัวอย่างที่เป็นสินค้าชนิดเดียวกันกับการสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า ส่วนใหญ่มีค่าปริมาณโซเดียมเท่าเดิม จำนวน 15 ตัวอย่าง         มี 2 ตัวอย่างที่ปริมาณโซเดียมลดลง ได้แก่ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสหมู (จาก 680 มก. เป็น 660 มก.) และ โอ้โห โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปรสไก่ (จาก 650 เป็น 490 มก.)           และ มี 2 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมเพิ่มขึ้น ได้แก่ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมูสาหร่าย (จาก 610 มก. เป็น 680 มก.) และ คนอร์คัพโจ๊ก รสหมู (จาก 940 มก. เป็น 960 มก.)         ทั้งนี้ค่าปริมาณโซเดียมต่ำสุดที่พบจากผลิตภัณฑ์ คือ 20 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ คนอร์คัพโจ๊ก โจ๊กข้าวหอมมะลิ (เจ)  และปริมาณสูงสุด คือ 1,280 มก./หน่วยบริโภค ยี่ห้อ  มาม่า ข้าวต้มคัพ ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปรสเล้งแซบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเปิดผลทดสอบค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” ให้คุณเลือกรับประทานได้อย่างปลอดภัย

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน ไขมัน โซเดียม ใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี” พบฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง ไม่สอดคล้องกับการบริโภคปกติ  แนะนำกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ 7%         วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีเป็นกำลังที่นิยม เพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีและเป็นอาหารที่ปรุงง่าย รวมทั้งมีรสชาติถูกปากคนไทย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยอาจต้องแลกด้วยการปรุงรสที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ อาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงประเภทหนึ่ง ในการทดสอบครั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้ทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน โดยกำหนดเงื่อนไขและวิธีในการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ละยี่ห้อ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  จากนั้นจึงใช้การวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง คือ 1 ซอง ต้มรับประทาน 1 ครั้ง         สาเหตุที่ฉลาดซื้อทดสอบแล้วพบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่าค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจาก 1) ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และ 2) มีผลิตภัณฑ์สองตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ) อย่างไรก็ตามการทดสอบในครั้งนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์  ดังนี้         1. ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภค (ปริมาณการกินหรือดื่มต่อครั้ง) ไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ คือ แนะนำให้แบ่งหน่วยบริโภคต่อครั้งเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองมีปริมาณเฉลี่ย 120 กรัม หรือ ให้แบ่งรับประทาน 2 ครั้งต่อ 1 ซอง         2. หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า ไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์         นอกจากนี้ ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อมีข้อแนะนำของ "การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ที่จะช่วยรักษาสุขภาพ ตามข้อมูลของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวไว้ว่า โซเดียมอยู่ในเส้นและเครื่องปรุง โดยโซเดียมจะอยู่ในเครื่องปรุง มากกว่าเส้น 3 เท่า มีวิธีการรับประทานเพื่อลดปริมาณโซเดียม โดยถ้าลวกเส้นทิ้งไป 1 น้ำ จะช่วยลดปริมาณโซเดียมลงได้เล็กน้อย แต่ถ้าเลือกกินเฉพาะเส้น ไม่ใส่เครื่องปรุงหรือกินเฉพาะเส้นไม่ซดน้ำซุปจะช่วยลดโซเดียมได้ประมาณ 7% ถ้าจำเป็นต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปควรเติมเครื่องปรุงลดลงหนึ่งในสาม ลดน้ำลงหนึ่งในสาม ใส่น้ำเดือดร้อนๆ เส้นจะได้สุกกำลังดี ข้อควรระวังไม่ควรกินแบบแห้ง เพราะอาจดูดน้ำในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินก็ควรดื่มน้ำตามมากๆ         ดูตารางแสดงผลและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3891

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 สำรวจปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด

        ข้าวโพดมีรสหวานหอมอร่อย กินแล้วได้วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น         แล้วขนมกรุบกรอบที่ทำจากข้าวโพดล่ะ กินแล้วยังได้ประโยชน์ไหม ?         ขนมข้าวโพดอบกรอบ ข้าวโพดทอดกรอบ และข้าวโพดคั่ว ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ที่มีหลากหลายรูปแบบและรสชาติให้เลือกละลานตา เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดใจในกลิ่นหอมของข้าวโพด สัมผัสกรุบกรอบจากกระบวนการขึ้นรูปหรือแปรรูปขนม และรสชาติหวาน มัน เค็ม ติดปาก ชวนให้เคี้ยวเพลินจนหมดห่อแบบไม่รู้ตัว โดยไม่ทันเอะใจว่า ขนมที่กินเล่นอร่อยๆ นี้ มักเคลือบด้วยสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ที่มีโซเดียมในรูปสารประกอบ ซึ่งหากกินบ่อยๆ กินมากครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงสินค้าที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเลือกขนมให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของขนมประเภทนี้               ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมขบเคี้ยวที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สุ่มสำรวจจำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพด        -ขนมจากข้าวโพดทั้งหมด 20 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายห่อละ 15 – 29 บาท และมีน้ำหนักสุทธิ 35 - 75 กรัม         -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากพบว่า ยี่ห้อเซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีสมีโซเดียมสูงที่สุดคือ 390 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด และยี่ห้อคอร์นพัฟฟ์ ข้าวโพดอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณมากที่สุดคือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีปริมาณน้อยที่สุดคือ 20 กรัม ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส ถูกสุดคือ 0.27 บาท ส่วนยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด แพงสุดคือ 0.61 บาท        -ยี่ห้อ เซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีส มีราคาขายถูกที่สุด (15 บาท) ห่อเล็กที่สุด (น้ำหนักสุทธิ 35 กรัม) และมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (390 มิลลิกรัม) หากลองเปรียบเทียบกับยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม ที่มีราคาเท่ากัน มีปริมาณใกล้เคียงกัน (43 กรัม) แต่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (25 มิลลิกรัม) จึงอาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการปรุงแต่งรสชาติกับปริมาณโซเดียมในขนมได้ ตัวอย่างในที่นี้คือรสชีสมีโซเดียมมากกว่ารสนม เพราะกรรมวิธีผลิตชีสนั้นใช้เกลือเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย        -ขนมข้าวโพดอบกรอบ/ทอดกรอบ รสชีส มีจำนวนมากที่สุดถึง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตั้งแต่ 140 - 390 มิลลิกรัม        -จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักหยิบขนมไม่ว่าจากห่อเล็กห่อใหญ่เข้าปากเพลินจนหมดในคราวเดียว ดังนั้นเมื่อลองคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมทั้งห่อแล้วจะพบว่า ยี่ห้อปาร์ตี้ คริสปี้ พาย ข้าวโพดทอดกรอบ รสคอร์นชีส มีโซเดียมมากที่สุดคือ 600 มิลลิกรัม และยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 53.75 มิลลิกรัม        -จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากันในทุกตัวอย่างชุดนี้ พบว่ามี 6 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ คือมีโซเดียมไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, โรลเลอร์ คอร์น ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, ทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส, ชาโชส บีบีคิว โบนันซ่า(ทอร์ทิลล่า ชิพ), ชีโตส ข้าวโพดทอดกรอบ รสอเมริกันชีส แล้วก็ โตโร ข้าวโพดคลุกน้ำตาลและเนย คำแนะนำ        -มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำว่า เด็กอายุ 2- 15 ปี โดยเฉลี่ย ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ และแต่ละมื้อควรได้รับโซเดียมปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัม        -ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ปกครองหรือเด็กเองควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม บนห่อขนม และเลือกซื้อขนมที่มีโซเดียมต่ำ หากเป็นขนมสุดโปรดที่มีโซเดียมสูง ให้แบ่งกิน หรือไม่ควรกินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น          - บางคนเลือกกินขนมกรุบกรอบห่อเล็กๆ เพราะเข้าใจว่ามีโซเดียมน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วบางยี่ห้อแม้ห่อเล็กแต่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่ากินห่อใหญ่ทั้งห่อก็มี             -พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและฝึกให้เด็กไม่กินของจุบจิบหรือขนมระหว่างมื้อ ชวนให้เด็กมากินผัก ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด หรือถั่วต่างๆ และชวนเด็กมาออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ        - ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภคบ้างแล้ว แต่ว่าอาจยังมีราคาสูง และยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างเท่าไหร่นัก ในเบื้องต้นผู้บริโภคเลือกได้โดยมองหาสัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.บนฉลากของขนมนั้นๆ           - ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรสมักมีสีเหลืองสวยชวนกิน ซึ่งอาจใช้สีผสมอาหารสีเหลือง 6 ซึ่งมาจากปิโตรเลียมใส่ลงไป และอาจมีการแต่งรสเทียม เช่น  Methyl benzoate และ Ethyl methylphenidate ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่        - ระวังเด็กเล็กๆ ที่อาจกินขนมข้าวโพดคั่วแล้วติดคอ เพราะมีเมล็ดข้าวโพดส่วนที่ยังแข็งอยู่ปนมาได้ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://thai.ac/news/show/354305http://healthierlogo.comhttps://kukr2.lib.ku.ac.th (บทความขนมขบเคี้ยวจากเครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ปริมาณโซเดียม ไขมัน และพลังงานใน “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลี”

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีหรือที่เรียกว่า “รามยอน” ในภาษาเกาหลีนั้น คนไทยส่วนหนึ่งมักจะเรียกว่า “มาม่าเกาหลี”  ซึ่งปัจจุบันฮิตมาก มีหลายยี่ห้อถูกนำเข้ามาให้เลือกอย่างมากมาย หากจะถามว่าไทยเราได้อิทธิพลความนิยมนี้มาจากไหน ก็คงหนีไม่พ้นจากความโด่งดังของซีรีส์เกาหลีและการชื่นชอบนี้ทำให้หลายคนขณะดูตัวละครกำลังกินรามยอนอย่างเอร็ดอร่อย ก็แทบอยากจะหยิบซองบะหมี่มาต้มตามทันที         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสไตล์เกาหลีนอกจากนิยมกินเพราะอิทธิพลจากซีรีส์เกาหลีแล้ว ก็คงเพราะเป็นอาหารที่กินง่าย และมีรสชาติถูกปากคนไทยด้วย อย่างไรก็ตามรสชาติอร่อยต้องแลกด้วยการปรุงรสที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้นจัดเป็นอาหารที่มีโซเดียมและพลังงานสูงชนิดหนึ่ง         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้เก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเกาหลีที่วางขายในซูเปอร์มาเก็ตทั่วไป จำนวน 14 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อทดสอบหาปริมาณโซเดียม ไขมันและพลังงาน เงื่อนไข วิธีการทดสอบ         ในการเตรียมตัวอย่างเพื่อทดสอบ ทางฉลาดซื้อใช้วิธีการเตรียมตัวอย่างตามขั้นตอนการปรุงที่ระบุบนฉลากของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตามที่แต่ละยี่ห้อระบุ เช่น ยี่ห้อ เอ ระบุ เตรียมน้ำปริมาณ 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟจนเดือดใส่เส้นและเครื่องปรุง ต้มต่อไปอีก 3 นาที เป็นต้น  วิธีการทดสอบใช้วิธีที่ได้มาตรฐาน โดยห้องปฎิบัติการที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ         ผลทดสอบโดยการเตรียมตัวอย่างแบบที่ฉลาดซื้อกำหนดนั้น พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณ พลังงาน ไขมัน และโซเดียม น้อยกว่าที่ฉลากระบุ (ดูตารางแสดงผล) และเนื่องจากฉลากภาษาไทยมีความหลากหลาย บางฉลากมีความคลาดเคลื่อนของการคำนวณ เราจึงนำผลการทดสอบของฉลาดซื้อเทียบกับฉลากโภชนาการที่ระบุบนซองผลิตภัณฑ์ (ภาษาอังกฤษหรือภาษาเกาหลี) และใช้หน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักของผลิตภัณฑ์จำนวน  1 ซอง         การทดสอบของฉลาดซื้อที่พบปริมาณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียมน้อยกว่า ค่าที่ระบุบนฉลาก อาจเกิดจากหนึ่ง ในการทดสอบแบบปกติจะใช้การเตรียมตัวอย่างด้วยผลิตภัณฑ์แบบแห้ง และสอง มีผลิตภัณฑ์ 2 ตัวอย่างที่ในวิธีการปรุงระบุให้เทน้ำออกก่อนปรุงด้วยเครื่องปรุง (เป็นผลิตภัณฑ์แบบแห้งเมื่อปรุงสำเร็จ)           ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับฉลากผลิตภัณฑ์          1.ฉลากภาษาไทย จัดหน่วยบริโภคไม่สอดคล้องกับวิธีการบริโภคตามปกติ กล่าวคือ พยายามแบ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำเป็น 50 กรัม หรือ 60 กรัม ในขณะที่การบรรจุบะหมี่ฯ 1 ซองจะมีปริมาณเฉลี่ยที่ 120 กรัม           2.หลายผลิตภัณฑ์เมื่อคำนวณค่าพลังงาน ไขมันและโซเดียม จากฉลากภาษาเกาหลีหรือภาษาอังกฤษบนซองผลิตภัณฑ์พบว่า คำนวณผิดพลาดไม่ตรงกับฉลากจริงของผลิตภัณฑ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ขนมเวเฟอร์หวานมันกรอบๆ ก็มีโซเดียมนะ

        ใกล้เทศกาลปีใหม่แบบนี้ หากลองสังเกตขนมขบเคี้ยวยอดฮิตที่ใครๆ มักนำมาจัดในกระเช้าของขวัญแล้ว หนึ่งในนั้นน่าจะต้องมี ”ขนมเวเฟอร์” รวมอยู่แน่นอน ด้วยแผ่นแป้งพิมพ์ลายไขว้กันเหมือนรังผึ้งที่กรอบบางเบาเคี้ยวเพลิน ผสานกับเนื้อครีมสอดไส้หรือเคลือบไว้ที่หอมหวานมันอร่อยลิ้น จึงเป็นขนมที่ถูกปากถูกใจทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ รวมถึงผู้สูงอายุมานาน ทั้งยังกินง่าย หาซื้อง่าย มีหลายรสชาติหลากรูปแบบให้เลือกตามชอบ แต่ถ้ากินเยอะๆ บ่อยๆ ก็อ้วนง่ายด้วย เพราะมีทั้งแป้ง น้ำตาล และไขมันที่ให้พลังงานสูง แถมยังพ่วงโซเดียมมาอีก         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยวจำนวน 400 ตัวอย่าง สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงขนมที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมเวเฟอร์ทั้งที่สอดไส้และเคลือบด้วยครีมรสชาติต่างๆ ในรูปแบบสี่เหลี่ยม แบบโรลและแบบสติ๊ก จำนวน 27 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564           ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในขนมเวเฟอร์        -ขนมเวเฟอร์ทั้งหมด 27 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายซองละ 5 - 45 บาท และมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 25 - 86 กรัม        -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อล็อคเกอร์ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้) มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 150 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่าปริมาณน้อยที่สุดคือ 23 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อล็อคเกอร์ 3 ตัวอย่างคือ ครีมคาเคา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมโกโก้),นาโปลิเทนเนอร์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมเฮเซลนัต) และมิลค์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสนม) ส่วนปริมาณที่มากที่สุดคือ 45 กรัม ได้แก่ ยี่ห้อเดลฟี่ท็อป 4 ตัวอย่างคือ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ข้าวพองและคาราเมล, ทริปเปิ้ล ช็อก, คาปูชิโน และสตอเบอร์รี่ กับยี่ห้อล็อคเกอร์ 2 ตัวอย่างคือ วานิลลา (เวเฟอร์สอดไส้ครีมวานิลลา) และโกโก้ แอนด์ มิลค์ (เวเฟอร์รสโกโก้สอดไส้ครีมนม)         ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม และ รสมะพร้าว มีราคาถูกสุดคือ 0.17 บาท ส่วนยี่ห้อล็อคเกอร์ ฟอนแดนท์ (เวเฟอร์สอดไส้ครีมดาร์กช็อกโกแลต มีราคาแพงสุดคือ 1.2 บาท        - จากตัวอย่างขนมขบเคี้ยวทั้งหมดที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สำรวจ ซึ่งแบ่งเป็น 9 ประเภทตามวัตถุดิบนั้นเมื่อเรียงลำดับปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคมากที่สุดในขนมแต่ละประเภทแล้ว พบว่าขนมเวเฟอร์อยู่รั้งท้าย (150 มก.) โดยลำดับที่หนึ่งคือมันฝรั่ง (1,080 มก.) รองลงมาคือปลาเส้น (810 มก.) ข้าวเกรียบและขนมอบกรอบ (560 มก.) สาหร่าย (510 มก.) ข้าวโพด (390 มก.) ถั่วและนัต ( 380 มก.) แครกเกอร์และบิสกิต (230 มก.) และคุกกี้ (220 มก.)        - จากที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจฉลากเวเฟอร์ช็อกโกแลตมาแล้ว ในครั้งนั้นได้ผลออกมาว่ามีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคอยู่ที่ 10 – 120 มิลลิกรัม และมี 6 ตัวอย่างที่นำมาสำรวจในครั้งนี้ด้วย ซึ่งพบว่ายี่ห้อกัสเซ็น เวเฟอร์สอดไส้ครีม รสช็อกโกแลต มีปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคจากเดิม 35 มิลลิกรัม ลดลงเป็น 30 มิลลิกรัม ส่วนอีก 5 ตัวอย่างนั้นยังเท่าเดิม        - จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากัน พบว่าขนมเวเฟอร์ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์ปริมาณโซเดียมนี้แต่อย่างไรก็ตามยังต้องพิจารณาปริมาณพลังงาน น้ำตาล และไขมันควบคู่ไปด้วย        - เมื่อคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมเวเฟอร์ทั้งซอง พบว่ายี่ห้อบิสชิน เวเฟอร์ไส้ครีม กลิ่นส้ม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 45 มิลลิกรัม ยี่ห้อริทซ์ ชีส เวเฟอร์โรล (เวเฟอร์โรลสอดไส้ครีม รสชีส) มีโซเดียมมากที่สุดคือ 225 มิลลิกรัม        - มี 13 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่ากับน้ำหนักสุทธิ โดยมีปริมาณโซเดียมที่ 45 - 95 มิลลิกรัม        - ขนมเวเฟอร์รสโกโก้หรือช็อคโกแลต (แบบเคลือบ/สอดไส้) มีมากที่สุดคือ 10 ตัวอย่าง        - เวเฟอร์แบบสี่เหลี่ยมส่วนใหญ่จะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเวเฟอร์โรลและเวเฟอร์สติ๊กที่เป็นแบบแท่งๆ คำแนะนำ-บางคนอาจสงสัยว่าขนมเวเฟอร์ไม่เค็มแล้วทำไมถึงมีโซเดียมได้ เพราะยังเข้าใจว่าอาหารรสเค็มเท่านั้นที่มีโซเดียม แต่จริงๆ แล้วขนมอบรสหวานมันที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น ขนมเค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ต่างก็มีโซเดียมอยู่ เพราะผงฟูมีโซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบ นั่นเอง ดังนั้นอย่าชะล่าใจกินขนมหวานซ่อนเค็ม(โซเดียม)เพลิน ทำให้ได้รับโซเดียมเกินโดยไม่รู้ตัว- ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ- ผู้ปกครองหรือคุณครูควรฝึกให้เด็กๆ ดูและเปรียบเทียบฉลากหวาน มัน เค็ม ให้เข้าใจพอจะเลือกเองได้  -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม  อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัมหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมเกินวันละ 2 มื้อด้วย    - หลายคนมักกินเวเฟอร์ที่บรรจุในซองเแยกเป็นชิ้นๆ ให้หมดในคราวเดียว เพราะขนมเวเฟอร์ไวต่อความชื้น ถ้าแกะซองแล้วกินไม่หมด ขนมที่เหลือก็จะนิ่มเหนียวไม่อร่อย จึงอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่แนะนำได้หากในฉลากระบุว่าควรแบ่งกินมากกว่า 1 ครั้ง ดังนั้นถ้าเผลอกินไปแล้วก็ต้องมาลดอาหารเค็มๆ อย่างอื่น และออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย- ขนมเวเฟอร์แบบห่อ/กล่องใหญ่ ควรแบ่งขนมใส่จานไว้พอประมาณ แล้วปิดห่อ/กล่องให้สนิท- สำหรับขนมเวเฟอร์แบบแบ่งขายที่ไม่มีฉลากโภชนาการกำกับ หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หรือกินแต่น้อย- ใครชอบกินเวเฟอร์กับเครื่องดื่ม หากไม่อยากให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและไขมันเพิ่มอีก ควรดื่มเป็นน้ำเปล่า ชาร้อน กาแฟดำ หรือน้ำผลไม้คั้นสดเพื่อเลี่ยงโซเดียมจากน้ำผลไม้สำเร็จรูป- อย่าปักใจเชื่อว่าขนมเวเฟอร์ซองเล็กมีปริมาณโซเดียมต่ำกว่าซองใหญ่เสมอไป จริงๆ แล้วยังมีเวเฟอร์ซองเล็กบางยี่ห้อที่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่าซองใหญ่ซะอีกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 160 เรื่องทดสอบ “เวเฟอร์ช็อกโกแลต เผลอเคี้ยวเพลิน อ้วนแน่”ฉลาดซื้อฉบับที่ 243 เรื่องทดสอบ “สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย”http://healthierlogo.com

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 สำรวจปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรส

        "ซอสปรุงรส" เป็นซอสถั่วเหลืองที่มีรสชาติอร่อยเข้มข้น มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ นำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเมนูผัด ต้ม แกง ทอด เหยาะจิ้ม หรือหมักเนื้อสัตว์ก็อร่อย         หลายคนติดความเค็มหวานหอมกลมกล่อมของอาหารรสซอสปรุง จนอาจลืมไปว่าซอสปรุงรสซึ่งผ่านกระบวนการปรุงด้วยส่วนผสมต่างๆ นั้น มักมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง หากเผลอกินมากไปอาจมีอันตรายแอบแฝงและโรคร้ายตามมาได้           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรสอาหารและซอสผัด จำนวน 10 ตัวอย่าง (6  ยี่ห้อ) จากร้านสะดวกซื้อและห้างค้าปลีกมาเปรียบเทียบฉลากว่ายี่ห้อไหนมีปริมาณโซเดียมที่แสดงไว้บนฉลากมากหรือน้อยกว่ากัน  ผลการเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรส        เมื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมในซอสปรุงรสต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 1 ช้อนโต๊ะ (15 มิลลิลิตร) พบว่า         - ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสอาหาร หมักธรรมชาติ มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ 1,280 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค และยี่ห้อแม็กกี้ ซอสผัดสำเร็จรูป ออล-อิน-วัน มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 740 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค         - มี 4 ตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณโซเดียมได้ เพราะไม่มีระบุในฉลากโภชนาการ ได้แก่ ทาคุมิอายิ ซอสผัด สูตรน้ำมันงาและพริกไทย, คิคุแมน ซอสผัด สไตล์ญี่ปุ่น, เด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว และง่วนเชียง ซอสปรุงรสอาหารฉลากเขียว กลิ่นคั่วกระทะ         - จาก 6 ตัวอย่างที่แสดงปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการ พบว่ามีปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,110 มิลลิกรัม /หน่วยบริโภค ข้อสังเกต         หากลองคำนวณเปรียบเทียบราคาในปริมาณต่อหน่วย (100 มิลลิลิตร) พบว่ามีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 บาท             - ยี่ห้อคิคุแมน ซอสผัด สไตล์ญี่ปุ่น มีราคาต่อหน่วยแพงที่สุดคือ 26 บาท         - ยี่ห้อเด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว มีราคาต่อหน่วยถูกที่สุดคือ 3.6 บาท           - พบ 6 ตัวอย่างที่ระบุว่าใส่สารกันเสีย และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ได้ระบุไว้ ในขณะที่ยี่ห้อภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) ระบุชัดเจนว่าไม่ใส่วัตถุกันเสีย         - ทุกตัวอย่างใส่วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร พบ 9 ตัวอย่างใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต/โมโนโซเดียมแอล-กลูตาเมต) และ 8 ตัวอย่างใส่ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์ (ให้รสเข้มข้นกลมกล่อมกว่าผงชูรส 50-100 เท่า แต่มีราคาสูง ในอุตสาหกรรมอาหารจึงใช้ในปริมาณน้อย และเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่แพ้ผงชูรส)         - ยี่ห้อ ทาคุมิอายิ ซอสผัด สูตรน้ำมันงาและพริกไทย ใส่วัตถุปรุงแต่งรสอาหารมากที่สุดคือ 4 ชนิดและมี 3 ตัวอย่างที่ใส่ชนิดเดียว ได้แก่ แม็กกี้ ซอสผัดสำเร็จรูป ออล-อิน-วัน (โมโนโซเดียมกลูตาเมต), ภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) (ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์) และ เด็กสมบูรณ์ ซอสปรุงรสฝาเขียว (โมโนโซเดียมแอล-กลูตาเมต)         - ยี่ห้อภูเขาทอง น้ำซอสปรุงรสฝาเขียว(ซอสถั่วเหลือง) ระบุว่าไม่มีผงชูรส MSG แต่ใช้ไดโซเดียม 5’-ไรโบนิวคลิโอไตด์เป็นวัตถุปรุงแต่งรสอาหาร ซึ่งเป็นโซเดียมชนิดหนึ่ง หากบริโภคในปริมาณมากเกินไปก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต ได้         - ยี่ห้อภูเขาทอง ซอสปรุงรสอาหาร เจ เป็นตัวอย่างเดียวที่ไม่มีส่วนประกอบของข้าวสาลีหรือแป้งสาลีผสมอยู่ น่าจะเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่แพ้กลูเตน คำแนะนำ         - องค์การอนามัยโลกแนะนำให้จำกัดการบริโภคโซเดียมในแต่ละวันให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัม แต่จากผลการวิจัยพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึงเกือบ 2 เท่า ดังนั้นเมื่อเรากินข้าวนอกบ้าน ควรชิมก่อนปรุง ถ้าหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่มได้ยิ่งดี และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่างๆ ส่วนใหญ่ละลายอยู่ในน้ำแกงหรือน้ำซุป         - หากปรุงอาหารเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหารที่มีโซเดียมอยู่ เช่น ซอสปรุงรส น้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ กะปิ ผงปรุงรสหรือซุปก้อน และควรตวงก่อนปรุง หรือเลือกใช้ส่วนผสมสมุนไพรและเครื่องเทศมาปรุง เพื่อช่วยแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหารให้กลมกล่อม รวมทั้งการใช้รสชาติอื่นมาทดแทน เช่น รสเปรี้ยวจากมะนาว รสเผ็ดจากพริก จะช่วยดึงรสเค็มขึ้นมาพร้อมกับยังช่วยให้เจริญอาหารอีกด้วย         - อย่าปรุงมากเกินไป บางคนผัดผักจานเดียวใส่ทั้งซอสปรุงรส น้ำปลา ซอสน้ำมันหอย และผงปรุงรส ยิ่งใส่เยอะร่างกายก็ได้รับโซเดียมเยอะตามไปด้วย ลองเลือกใช้วัตถุดิบที่มีรสอูมามิหรือรสอร่อยกลมกล่อมอยู่ในตัวมาทำอาหาร เช่น เห็ด มะเขือเทศ หอมหัวใหญ่ หัวไชเท้า เนื้อสัตว์ และชีส จะได้ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงหรือซอสต่างๆ ให้มากมาย         - เลือกซื้อซอสปรุงรสในบรรจุภัณฑ์ที่มีสภาพสมบูรณ์ ฝาขวดปิดสนิท ภายนอกขวดไม่ชำรุดหรือมีรอยแกะและหากบ้านไหนมีเด็กๆ ควรเลือกใช้ขวดพลาสติกจะปลอดภัยและสะดวกกว่าใช้ขวดแก้ว         - เลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและมี อย. เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารก่อมะเร็งตระกูล 3-MCPD ที่อาจปนเปื้อนมาจากกระบวนการผลิตซอสปรุงรส         - ผู้บริโภคควรพิจารณาปริมาณโซเดียมบนฉลากโชนาการของผลิตภัณฑ์ก่อนตัดสินใจซื้อข้อมูลอ้างอิงโครงการลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) ในประเทศไทยwww.thaihealth.or.thhttps://my-best.in.th/49587www.smethailandclub.comhttp://webdb.dmsc.moph.go.thhttps://www.greenery.org/articles/g101-01sauce/https://news.thaipbs.or.th/content/280076

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ปลาเส้นปรุงรส โปรตีนสูง ไขมันต่ำ แต่โซเดียมสูงปรี๊ด

        ฉลาดซื้อเคยทำสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์ขนม (ของกินเล่น) ปลาเส้นปรุงรส ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้ขนมอบกรอบหรือขนมขบเคี้ยวอื่นๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า การโฆษณาว่าโปรตีนสูง ไขมันต่ำนั้นไม่ผิด แต่เรื่องโซเดียมนั้นมีเพียบจริงๆ และยังคงไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อประกอบกับข้อมูลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สแนกซ์หรือกลุ่มขนมขบเคี้ยวของสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เราจะนำมาเสนอในครั้งนี้         ในการทำสำรวจฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประจำปี 2564 ของ สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยนั้น ได้เก็บตัวอย่างสินค้ากว่า 400 ตัวอย่าง แบ่งเป็นขนมอบกรอบ ซึ่งทำจากแป้ง และแยกย่อยเป็นประเภทตามวัตถุดิบได้แก่ มันฝรั่ง ข้าวโพด สาหร่าย ถั่ว แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์ คุกกี้ และปลาเส้น (รวมปลาหมึกอบกรอบ ปลาแผ่น) เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาหารที่มีโซเดียมสูงอย่างผู้ป่วยโรคไต ความดันโลหิตสูง และผู้บริโภคทั่วไป โดยเฉพาะเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของสินค้าประเภทนี้ ได้ใช้ในการตัดสินใจเลือกบริโภคหรือเลี่ยงการบริโภคสินค้าที่มีโซเดียมสูง         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลชุดนี้ โดยจะแบ่งเป็นตอนๆ ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ โดยขอประเดิมด้วย ปลาเส้นปรุงรส          สรุปผล การสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรส (รวมปลาแผ่น ปลาหมึกอบกรอบและหมูอบกรอบ) มีข้อสรุปดังนี้        1.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาอ่านฉลากมีทั้งสิ้น 36 ตัวอย่าง        2.ขนาดบริโภคหรือหนึ่งหน่วยบริโภคอยู่ที่ประมาณ 12-43 กรัม        3.มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 180 – 810 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค        4.หน่วยบริโภคแม้จะน้อยแค่ 12-13 กรัม แต่ก็ให้ปริมาณโซเดียมสูงถึง 180 กรัม        5.ยิ่งมีการปรุงรสมาก รสแซ่บ รสเข้มข้น (การใช้วัตถุเจือปนอาหารหลายชนิด เช่น โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ยิ่งมีปริมาณโซเดียมสูง         ติดตามผลการสำรวจได้จากภาพในหน้าถัดไป          คำแนะนำ        1.ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาเส้นปรุงรสของเด็ก และให้รับประทานแต่น้อย เพราะเป็นขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง        2.อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อหรือรับประทาน        3.เลี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมสูง หรือแบ่งบริโภคในวันถัดไป ไม่บริโภคหมดซองในครั้งเดียว หรือเลือกซองเล็กแทนซองใหญ่ (เพราะในแต่ละวันร่างกายต้องรับโซเดียมจากอาหารอื่นๆ ด้วย)         4.ควรส่งเสียงถึงผู้ประกอบการให้พิจารณาจัดทำสินค้าที่ลดปริมาณโซเดียมลงเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน        5.เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มี เลขสารบบอาหารหรือ อย. หรือจากแหล่งจำหน่ายที่น่าเชื่อถือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ฉลาดซื้อ เปิดผลทดสอบครัวซองต์ ยี่ห้อไหนให้พลังงานสูง

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างครัวซองต์ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และใกล้เคียง จำนวน 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เพื่อวิเคราะห์ค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว  ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรีก็เป็นสิ่งทึ่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง แม้ไม่มีรสเค็ม         สรุปผลการวิเคราะห์ครัวซองต์มีดังนี้ ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 – 511 กิโลแคลอรี ตัวอย่างที่มีพลังงานมากที่สุด คือ ครัวซองต์ของร้าน KANOM  สาขา สามย่านมิตรทาวน์ มีพลังงาน 511 กิโลแคลอรี่ (Kcal) ตัวอย่างที่มีพลังงานน้อยที่สุดคือ ครัวซองต์จาก Big C  สาขาบางปะกอก  พลังงาน 415 กิโลแคลอรี่ (Kcal)         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 – 33 กรัม  ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขนมอบเบเกอรี่ที่มีปริมาณไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวที่สูง สำหรับไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 – 1.09 กรัม ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ   ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม  ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pain (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)         ส่วนปริมาณโซเดียมของครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่างนั้นมีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 – 522.26 มิลลิกรัม         สำหรับการตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ รศ.ดร.วันทนีย์  เกรียงสินยศ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ปริมาณไขมันทรานส์ที่พบนั้นเป็นไขมันทรานส์จากธรรมชาติ”  องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization, FAO) แนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันทรานส์ต้องไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน (หรือประมาณ 2 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค) อย่างไรก็ตาม FAO ยังแนะนำปริมาณสูงสุดในการบริโภคไขมันอิ่มตัวที่ไม่เกิน 10% ของค่าพลังงาน (หรือประมาณ 20 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 5 กรัมต่อมื้อ) ไว้ด้วย เนื่องจากตระหนักว่าไขมันทั้งสองประเภทยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงต้องควบคุมปริมาณการบริโภคร่วมกัน”         แม้ประเทศไทยมีการแบนไขมันทรานส์ (ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องไม่มีส่วนประกอบของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 แล้ว แต่ไขมันทรานส์สามารถตรวจพบได้ในผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบบางชนิดที่ได้จากสัตว์เคี้ยวเอื้องซึ่งตามธรรมชาติมีไขมันทรานส์เป็นองค์ประกอบ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น  แต่ทั้งนี้แหล่งที่มาต้องไม่ใช่จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน        ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ส่วนใหญ่ให้พลังงานสูง โดยเฉพาะประเภทที่มีการใช้เนย/ครีมเป็นส่วนประกอบมาก มีทั้งไขมันทั้งหมดและไขมันอิ่มตัวในปริมาณที่สูง การบริโภคเป็นประจำเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงควรระมัดระวังไม่รับประทานมากเป็นประจำ         เพื่อสุขภาพที่ดีควรบริโภคผัก ผลไม้ ให้มากพอ เป็นประจำทุกวัน        อ่านบทความเต็มได้ที่  https://www.chaladsue.com/article/3685         สนับสนุนการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อให้ต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยการสมัครเป็นสมาชิกนิตยสารฉลาดซื้อได้ที่ facebook แฟนเพจนิตยสารฉลาดซื้อ มลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือบริจาคสนับสนุนกิจกรรมทดสอบได้ที่ ธนาคารไยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 319-2-62123-1 และพบกับบูธนิตยสารฉลาดซื้อ O 07 (โอ ศูนย์ เจ็ด) ได้ที่งานหนังสือ ไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 17-25 เมษายน 2564 นี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียม ในครัวซองต์

ขนมอบหรือเบเกอรีที่ร้อนแรงสุด พ.ศ.นี้ ไม่มีใครเกิน ครัวซองต์ (croissant) ซึ่งมีการประชันความอร่อย ความสวยงามของรูปทรง(เลเยอร์) ความกรอบ เบา ฟู และความหอมเนยที่เป็นวัตถุดิบสำคัญกันทั้งแผ่นดิน ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ก็ทนกลิ่นหอมยั่วยวนของครัวซองต์ไม่ไหว ต้องออกไปเก็บตัวอย่างมาถึง 31 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อวัดค่าพลังงาน ไขมัน (ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์) และปริมาณโซเดียม เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากขนมอบชนิดนี้มีค่าพลังงานที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพลังงานจากไขมัน และยังเป็นการเฝ้าระวังเรื่องไขมันทรานส์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องปัญหาหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ปริมาณโซเดียมในขนมอบหรือเบเกอรีก็เป็นสิ่งทึ่ผู้บริโภคควรให้ความสำคัญและตระหนักรู้ ว่านี่คือแหล่งอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณโซเดียมสูง (แม้ไม่มีรสเค็ม)              มาดูกันว่า ครัวซองต์ยอดนิยมแต่ละยี่ห้อมีค่าพลังงาน ไขมัน และโซเดียมเท่าไร                                                                                                หมายเหตุ : เก็บตัวอย่างเดือน กุมภาพันธ์ 2564                                                                                     ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ        ในการแสดงผลด้วยภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ จะเรียงลำดับด้วยผลการทดสอบต่อหนึ่งหน่วยบริโภคหรือ 1 ชิ้น ซึ่งแต่ละยี่ห้อจะมีน้ำหนักไม่เท่ากัน (มีน้ำหนักตั้งแต่ 20 – 94 กรัม)  และนำเสนอเปรียบเทียบในปริมาณต่อน้ำหนัก 100 กรัมไว้ในตาราง         พลังงาน         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี) ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 415 – 511 กิโลแคลอรี        ไขมัน         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง จะมีค่าไขมันรวม ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 21.6 – 33 กรัม             ค่าไขมันอิ่มตัว ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 9.53 – 19.83 กรัม         ไขมันทรานส์ ต่อน้ำหนัก 100 กรัม อยู่ในช่วง 0.13 – 1.09 กรัม ทั้งนี้เมื่อนำมาคำนวณตามปริมาณในหนึ่งหน่วยบริโภค (1 ชิ้น) พบว่ามี 3 ยี่ห้อ ที่มีปริมาณไขมันทรานส์ เกิน 0.5 กรัม  ได้แก่ กาโตว์ เฮ้าส์ (0.56 กรัม/หน่วยบริโภค 52 กรัม) Au bon pein (0.60 กรัม/หน่วยบริโภค 58 กรัม) และ พรมารีย์ เบเกอรี (0.63 กรัม/หน่วยบริโภค 63 กรัม)          โซเดียม         ครัวซองต์ทั้ง 31 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในช่วง 244.83 – 522.26 มิลลิกรัม

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 230 “หมึกแห้งกับโซเดียมและโลหะหนัก”

        เมื่อเอ่ยถึงอาหารทะเลแห้ง ผู้บริโภคหลายคนคงนึกถึงผลิตภัณฑ์จำพวก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม โดยเฉพาะ(ปลา)หมึกแห้ง ที่เมื่อใดทอดหมึกแห้ง กลิ่นหอมรัญจวนก็ฟุ้งไปไกลถึงข้างบ้าน ไม่ว่าจะทอดหมึกแห้งกินกับข้าวต้ม หรือข้าวสวยร้อน ๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน หรือจะเป็นหมึกทอดเคลือบน้ำตาล ต้มหัวไชเท้าหมูสามชั้น ซดน้ำร้อน ๆ ก็ได้อรรถรสไม่แพ้กัน         หมึกแห้งหรือปลาหมึกแห้ง ส่วนใหญ่ทำจากหมึกกล้วย การตากแห้งหมึก เป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่ง เพื่อเก็บเอาหมึกไว้รับประทานได้นานๆ  เราจะพบหมึกแห้งวางขายทั่วไปตามท้องตลาด  ตามร้านขายของฝากในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทำประมง ซึ่งของฝากจำพวกอาหารทะเลแห้งนั้น ก็เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเช่นกัน         ก่อนหน้านี้ ฉลาดซื้อเคยสุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้งส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 8 ตัวอย่าง เมื่อเดือน มกราคม 2553 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) และเพื่อเป็นการติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างหมึกแห้ง จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 13 ตัวอย่าง ส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา  ตรวจการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม รวมถึงการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ (Pyrethroid)  สรุปผลการทดสอบ    - ผลทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม  ผลทดสอบการปนเปื้อนของปรอท         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของปรอท ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล         ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณปรอทที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.009 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.042 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน          ผลทดสอบการปนเปื้อนของตะกั่ว          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ข้อ 4) มีข้อกำหนดให้ตรวจพบ การปนเปื้อนของตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม        ผลการทดสอบ พบว่า ปริมาณตะกั่วที่ตรวจพบในหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ไม่เกินเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของประกาศฯ โดยตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณตะกั่ว น้อยที่สุด อยู่ที่ 0.015 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างหมึกแห้งที่ตรวจพบปริมาณปรอท มากที่สุด อยู่ที่ 0.059 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งไม่เกินมาตรฐาน  ผลทดสอบการปนเปื้อนของแคดเมียม                   ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด ข้อ 1) ได้กำหนดให้ตรวจพบแคดเมียมปนเปื้อนในอาหารจำพวกหมึก เช่น หมึกกระดอง หมึกสาย และหมึกกล้วย  ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม (ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานโคเดกซ์ Codex)          ผลการทดสอบหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น  พบว่า มี 6 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมไม่เกินเกณฑ์ข้อกำหนด และ มี 7 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบการปนเปื้อนของแคดเมียมเกินเกณฑ์ข้อกำหนด ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้     - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์ จำนวน 6 ตัวอย่าง  ได้แก่                 1) หมึกแห้ง จาก ตลาดสี่มุมเมือง ร้าน เจ๊ปู (ปลาเค็ม) ซอย 5            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.104  มก./กก.        2) หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.109  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.264  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดสะพานใหม่ (ยิ่งเจริญ) ร้านวิจิตร            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.583  มก./กก.                        5) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ LAZADA            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.699  มก./กก.        และ          6) หมึกแห้ง จาก ตลาด อตก. ร้านเหมียวกุ้งแห้งปลาเค็ม ห้อง 3/49            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  1.869  มก./กก.  - กลุ่มตัวอย่างหมึกแห้งที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม เกินเกณฑ์ จำนวน 7 ตัวอย่าง ได้แก่        1)  หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.003  มก./กก.        2)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.393  มก./กก.        3) หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  2.537  มก./กก.        4) หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.006  มก./กก.        5) หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.303  มก./กก.         6)  หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.432  มก./กก.และ        7) หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก)            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ  3.872  มก./กก. - ผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา        จากผลทดสอบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา ได้แก่ Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราดังกล่าว - ผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตร        จากผลทดสอบการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ (Pesticides Pyrethroid) ได้แก่ Cyfluthrin, Cypermethrin, Deltamethrin, Fenvalerate, Permethrin, Bifenthrin และ Lambda-cyhalothrin ในผลิตภัณฑ์หมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่างนั้น         ผลการทดสอบ หมึกแห้งทุกตัวอย่าง ไม่พบ การตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรในกลุ่มไพรีทอยด์ ปริมาณโซเดียมในหมึกแห้ง        นอกจากผลการทดสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในตัวอย่างหมึกแห้งแล้ว หากสังเกตปริมาณโซเดียมจากปลาหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง พบว่า        ตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 635.8 มิลลิกรัม / 100 กรัม        ส่วนตัวอย่างหมึกแห้ง ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด ได้แก่ หมึกแห้ง จาก ตลาดแม่กลอง (สมุทรสงคราม) เอ็มแม่กลองอาหารทะเลแห้ง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,739.94 มิลลิกรัม / 100 กรัม เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากหมึกแห้งทั้ง 13 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1,097.27 มิลลิกรัม / 100 กรัม          คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         จากผลการทดสอบด้านบนแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างของหมึกแห้งที่นำมาตรวจวิเคราะห์นั้น มีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมในปริมาณที่ต่างกัน แม้ว่าการปนเปื้อนของตะกั่วและปรอทนั้นจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามข้อกำหนด แต่ยังคงมีการปนเปื้อนของแคดเมียมในตัวอย่างหมึกแห้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่มีการตกค้างในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ คือ ปริมาณเกิน 2 มก./กก.         อย่างไรก็ตามอาหารทะเล เช่น หมึกแห้ง ไม่อาจเลี่ยงการพบโลหะหนักปนเปื้อน เนื่องจากเป็นการตกค้างจากสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ยากต่อการจัดการ เพราะจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหลายหน่วยงานในการไปตรวจสอบหาแหล่งที่มาของตัวอย่างปลาหมึกทั้งหลายที่มีผลการตกค้างของแคดเมียมเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคจะทำได้ก็คือ การเลือกบริโภคหมึกแห้งอย่างพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป ข้อมูลอ้างอิง- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ. 2529) เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน- ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง กำหนดปริมาณการปนเปื้อนสูงสุดของแคดเมียมในอาหารบางชนิด (ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561)- แคดเมียม คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/cadmium-2.pdf)- อะฟลาท็อกซิน คืออะไร (http://www.nfi.or.th/foodsafety/upload/damage/pdf/aflatoxin-2.pdf)- กินหมึกต้องรู้! รู้ลึกเรื่องปลาหมึกแห้ง ม้วนเดียวจบ! (https://www.wongnai.com/food-tips/how-to-make-dried-squid)

อ่านเพิ่มเติม >

‘ฉลาดซื้อ’ เตือน บริโภค ‘โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ ช่วงกักตัวระวังปริมาณโซเดียมเกิน

        ‘นิตยสารฉลาดซื้อ’ เผย ปริมาณโซเดียมใน ‘ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป’ พบ ผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมน้อยสุดเป็น 0 มากสุดมีถึง 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค แต่ไม่เกินปริมาณการบริโภคโซเดียมที่แนะนำต่อวัน ทั้งยังพบ 1 ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากโภชนาการ พร้อมแนะควรบริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคควรเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 31 ตัวอย่าง และนำมาเปรียบเทียบปริมาณโซเดียม พบว่า ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ โจ๊กข้าวกล้อง หอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสผักเจ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 0 มิลลิกรัม และ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป รสปลา ตราเกษตร มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1,350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียม และ ราคาของโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมเท่ากับ 605.23 มิลลิกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17.04 บาทต่อถ้วยหรือซอง         ขณะที่มีผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ตัวอย่าง ‘ไม่มีฉลากโภชนาการ’ ได้แก่ โจ๊กข้าวต้มหอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสดั้งเดิม จึงไม่สามารถเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมได้ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 31 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกุมภาพันธ์ 2563องค์การอนามัยโลก(WHO)แนะนำว่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมต่อร่างกายคือ 2,000 มิลลิกรัม/วัน         อนึ่ง แม้ว่าโซเดียม คือ แร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายและความดันโลหิต โดยทั่วไปร่างกายต้องการโซเดียมประมาณ 1500 มิลลิกรัม/วัน แต่ในชีวิตประจำวันของเราอาจจะบริโภคโซเดียมมากกว่านั้น โดยปริมาณโซเดียมสูงสุดที่บริโภคแล้วไม่อันตราย คือ ไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน หรือเกลือประมาณ 1 ช้อนชา         ทั้งนี้ หากลองคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกิน มื้อละ 666 มิลลิกรัม (2000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มากกว่าครึ่ง มีปริมาณโซเดียมต่ำกว่า 666 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตามหากหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือ บริโภคเป็นครั้งคราว แต่หากมีความจำเป็นต้องบริโภคโจ๊กกึ่งสำเร็จรูป แนะนำว่าสามารถเติมเนื้อสัตว์ หรือ ผัก เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร นอกจากนี้ ควรสังเกตฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ด้วย อ่านรายละเอียด ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3351

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป

        โจ๊ก หรือ Congee เป็นข้าวต้มชนิดหนึ่ง ทำจากปลายข้าวที่นำมาต้มจนเละ เป็นที่นิยมในประเทศแถบเอเชีย คนนิยมกินโจ๊กเป็นอาหารเช้า หรือ อาหารค่ำ เพราะเป็นอาหารรสชาติอ่อนๆ ที่รับประทานง่าย เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย การรับประทานโจ๊ก อาจเติมเนื้อสัตว์ เช่น หมูสับ เนื้อไก่ต้ม ไข่ไก่ ต้นหอม ขิงซอย แล้วปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและพริกไทย เพื่อเพิ่มความอร่อย ซึ่งโจ๊กนั้นไม่เพียงหารับประทานได้จากร้านขายโจ๊ก ปัจจุบันโจ๊กบรรจุซองสำเร็จรูปหรือแบบถ้วย ก็มีวางจำหน่ายหลากหลายให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกมากขึ้น         ฉลาดซื้อได้เคยนำเสนอข้อมูลปริมาณโซเดียมของผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยไว้เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบกันแล้ว ฉบับนี้ขอนำเสนอข้อมูลปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปกันต่อ เนื่องจากโจ๊กสำเร็จรูป มักมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง ดังนั้นการสังเกตฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์จึงสำคัญ         ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งแบบถ้วยและแบบซอง จำนวน 31 ตัวอย่าง และนำมาเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภค ติดตามได้ในตารางรายละเอียด สรุปผลการสำรวจฉลาก        จากการสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการในผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 31 ตัวอย่าง ทั้งแบบซองและแบบถ้วยพบว่า         ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปที่มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุด คือ โจ๊กข้าวกล้อง หอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสผักเจ มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 0 มิลลิกรัม และ ที่มีปริมาณโซเดียมมากที่สุด คือ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป รสปลา ตราเกษตร มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 1350 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค         เมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียม และราคาของโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 31 ตัวอย่าง จะได้ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมเท่ากับ 605.23 มิลลิกรัม และราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17.04 บาทต่อถ้วยหรือซอง         อย่างไรก็ตามในการสำรวจฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ตัวอย่าง ที่ไม่มีฉลากโภชนาการ ได้แก่ โจ๊กข้าวต้มหอมมะลิ กึ่งสำเร็จรูป ตราเอ็นทูเอ็น รสดั้งเดิม จึงไม่สามารถเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 สำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย (ภาค 2)

        บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือ Instant Noodles เป็นอาหารทางเลือกสำหรับคนที่รีบเร่ง เพราะง่ายต่อการบริโภคแบบด่วนซ้ำราคาถูก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปส่วนใหญ่มีส่วนประกอบจาก แป้งสาลี, น้ำมันปาล์ม, เกลือ, น้ำตาล เครื่องเทศชนิดต่างๆ และผงปรุงรส  บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีหลายรสชาติและราคาถูก ทำให้ผู้คนนิยมบริโภค จนบางครั้งก็กลายเป็นตัวเลือกสำหรับบางมื้อที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างชาวมนุษย์เงินเดือนที่บางเดือนนั้นมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก        นอกจากนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังถูกใช้ในการทำบุญตักบาตร เพราะเป็นอาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน หรือกิจกรรมที่ต้องพักค้างแรมในสถานที่ห่างไกลจากแหล่งอาหาร เช่น การเข้าค่ายหรือเดินป่า หรือแม้กระทั่งเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยจากน้ำท่วม บ่อยครั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ถูกใช้เป็นอาหารเพื่อการยังชีพ         โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วยที่ง่ายต่อการปรุง เพราะแค่เติมน้ำร้อนและรอให้เส้นบะหมี่พองตัว ก็สามารถบริโภคได้ทันที ไม่ต้องฉีกซองเทใส่ชามให้ยุ่งยาก บางยี่ห้อยังออกแบบถ้วยบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย หรือ สามารถฉีกแยกชิ้นส่วนเพื่อแยกขยะตอนทิ้งได้อีกด้วย         บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณโซเดียมสูง ปริมาณแตกต่างกันไปตามรสชาติ ดังนั้นการเลือกบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผู้บริโภคควรพิจารณาดูปริมาณโซเดียมบนฉลากประกอบด้วย         ฉลาดซื้อ ในโครงการสนับสนุนการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในรูปแบบถ้วย (รวมถึงวุ้นเส้น ราเมง และอูด้ง) ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ จำนวน 23 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อนำมาสำรวจปริมาณโซเดียม ซึ่งผลการสำรวจปริมาณโซเดียมจากข้อมูลบนฉลาก แสดงได้ดังตารางต่อไปนี้ตารางแสดงผลการสำรวจปริมาณโซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย 23 ตัวอย่างเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือน มกราคม 2563สรุปผลการสำรวจฉลาก         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 23 ตัวอย่าง พบว่า         ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยน้อยที่สุด ได้แก่ ราเมงกึ่งสำเร็จรูปแบบแห้ง รสชีสสูตร เผ็ด ตราซัมยัง มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 700 มิลลิกรัม          และผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยที่มีปริมาณโซเดียมต่อถ้วยมากที่สุด ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำ ตรานิสชิน คัพนูดเดิล (อิ่มเต็มคัพ) มีปริมาณโซเดียมเท่ากับ 2360 มิลลิกรัม ซึ่งเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ ร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน          โดยหากคำนวณจากการบริโภคมื้ออาหารหลัก วันละ 3 มื้อ เราควรได้รับปริมาณโซเดียมต่อมื้อโดยประมาณไม่เกิน มื้อละ 666 มิลลิกรัม (2000 ÷ 3) ซึ่งหากดูปริมาณโซเดียมในตัวอย่างผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยทั้งหมด 23 ตัวอย่าง จะเห็นว่าทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมเกิน 666 มิลลิกรัม         เมื่อปี พ.ศ. 2560 ฉลาดซื้อ เคยสุ่มเก็บตัวอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยมาแล้ว จำนวน 15 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 191 โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย) แต่พบว่ามีเพียง 7 ตัวอย่างเท่านั้น ที่แสดงฉลากโภชนาการ ซึ่งเมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากฉลากโภชนาการ จะได้ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยโดยประมาณเท่ากับ 1,514 มิลลิกรัม และ เมื่อเฉลี่ยปริมาณโซเดียมจากที่เก็บตัวอย่างในครั้งนี้ จำนวน 23 ตัวอย่าง จะได้ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยโดยประมาณเท่ากับ 1,497 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อลองเทียบเคียงกันแล้ว พบว่ามีค่าเฉลี่ยไม่ต่างกันมากนัก คำแนะนำในการบริโภค         การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากการเติมเนื้อสัตว์ ไข่ หรือผักลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าสารอาหารตามคำแนะนำข้างถ้วยแล้ว ไม่ควรเติมเครื่องปรุงรสเค็ม เช่น น้ำปลา หรือ ซีอิ๊ว เพิ่มเติมลงไปอีก หรือ อาจเติมเครื่องปรุงรสที่ให้มาในซองเพียงครึ่งส่วน หรือ หลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำซุปจนหมดถ้วย เพื่อลดการบริโภคโซเดียมที่อยู่ในน้ำซุปให้น้อยลง         นอกจากนี้ ยังไม่ควรบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวัน หรือบ่อยจนเกินไป เพราะการได้รับปริมาณโซเดียมมากๆ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิต โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงโรคกระดูกพรุนได้ เพราะเรายังอาจได้รับโซเดียมจากอาหารในมื้ออื่นๆ อีก ซึ่งร่างกายอาจได้รับโซเดียมเกินปริมาณที่เหมาะสมต่อวันข้อมูลอ้างอิง- “โซเดียม ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม” เว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) - “แนวทางและการบริโภคโซเดียม (ที่เหมาะสม)” (www.fostat.org/less-salt)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 โซเดียมในเมล็ดทานตะวัน เมล็ดแตงโมและเมล็ดฟักทองอบ

เมื่อสี่สิบปีก่อนอาจไม่มีใครทราบว่าเมล็ดทานตะวันอบแห้งนั้นสามารถทานได้ เมล็ดอบแห้งที่นิยมสมัยก่อนนั้นจะเป็นเมล็ดแตงโมหรือที่เรียกว่า เม็ดก๋วยจี๊ มากกว่า เมล็ดฟักทองก็มีบ้าง ต่อมาเมื่อมีการเพาะปลูกต้นทานตะวันมากขึ้น เพราะเป็นพืชที่สร้างรายได้ที่ดี ด้วยสามารถนำทุกส่วนมาทำประโยชน์ได้เกือบทั้งหมด  โดยเฉพาะการสร้างตลาดเรื่องการบริโภคเมล็ดทานตะวันในลักษณะของอาหารเพื่อสุขภาพ ทั้งน้ำมันสกัด ยอดอ่อนทานตะวัน และเมล็ดอบแห้ง  ปัจจุบันเมล็ดทานตะวันอบแห้ง จึงกลายเป็นของว่างที่ได้รับความนิยมแซงหน้าเมล็ดแตงโมไปเรียบร้อย  เมล็ดทานตะวันอบแห้ง ตามนิยามของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.739/2548) หมายถึง  ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำเมล็ดทานตะวันดิบที่คัดเมล็ดเสียและลีบออกมาต้มในน้ำเกลือแล้วทำให้แห้ง อาจนำมากะเทาะเปลือกแล้วคัดแยกเมล็ดออกจากเปลือก มาตรฐานทั่วไป คือต้องสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ สิ่งสกปรก ขนาดของเมล็ดที่บรรจุในซองหรือบรรจุภัณฑ์ควรมีขนาดใกล้เคียงกันและเป็นเมล็ดสมบูรณ์ เมื่อมองไปบนชั้นวางสินค้าประเภทเมล็ดอบแห้ง เราจะพบเมล็ดทานตะวันอบแห้งหลายยี่ห้อ มีทั้งที่ไม่แกะเปลือกและกะเทาะเปลือกแล้ว ซึ่งฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างเมล็ดทานตะวันอบแห้งมาจำนวน 12 ผลิตภัณฑ์ และเก็บตัวอย่างเมล็ดแตงโมและเมล็ดฟักทองอีก 7 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 19 ตัวอย่าง ส่งไปทดสอบเพื่อหาสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน ทราย กรวด ชิ้นส่วนหรือสิ่งปฏิกูลจากสัตว์ ว่า มีหรือไม่ (ผลทดสอบจะนำเสนอในฉบับถัดไป) และเปรียบเทียบฉลากจากทุกผลิตภัณฑ์ โดยเลือกที่โซเดียมเป็นหลัก เพราะของว่างชนิดนี้จะได้รสอร่อยกลมกล่อมต้องมีเกลือเป็นตัวชูรส ซึ่งหากกินเล่นกินเพลินไปก็อาจได้รับโซเดียมเพิ่มขึ้นไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นก่อนอร่อยเพลินครั้งต่อไป โปรดดูตารางที่ฉลาดซื้อนำเสนอผลการเปรียบเทียบฉลาก ผลิตภัณฑ์เมล็ดอบแห้งที่มีโซเดียมสูง ได้แก่• เมล็ดทานตะวันอบ ตรา ปาป้าฮัท (ไม่แกะเปลือก)  ปริมาณโซเดียม 250 มก./หน่วยบริโภค 25 กรัม (1000 มก./100 กรัม)• เมล็ดทานตะวัน ตรา ซันสแนคดั๊งค์ (กะเทาะเปลือก) ปริมาณโซเดียม 150 มก./หน่วยบริโภค 25 กรัม(600 มก./100 กรัม)• เมล็ดฟักทอง ตราทองการ์เด้น (กะเทาะเปลือก) ปริมาณโซเดียม 190 มก./หน่วยบริโภค 33 กรัม(575.7 มก./100 กรัม) • เมล็ดแตงโม ตรา M16 (ไม่แกะเปลือก) ปริมาณโซเดียม 105 มก./หน่วยบริโภค 20 กรัม(525 มก./100 กรัม)-------------------------------------------------------------------------คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดทานตะวันอบแห้ง ต่อ 100 กรัม• พลังงาน 584 กิโลแคลอรี 29%• คาร์โบไฮเดรต 20 กรัม 15%• โปรตีน 20.78 กรัม 37%• ไขมัน 51.46 กรัม 172%• ใยอาหาร 8.6 กรัม 23%• วิตามินเอ 50 หน่วยสากล 1.6%• วิตามินบี 1 1.480 มิลลิกรัม 123%• วิตามินบี 2 0.355 มิลลิกรัม 27%• วิตามินบี 3 8.335 มิลลิกรัม 52%• วิตามินบี 5 1.130 มิลลิกรัม 22%• วิตามินบี 6 1.345 มิลลิกรัม 103%• วิตามินบี 9 227 ไมโครกรัม 57%• วิตามินซี 1.4 มิลลิกรัม 2%• วิตามินอี 35.17 มิลลิกรัม 234%• ธาตุแคลเซียม 78 มิลลิกรัม 8%• ธาตุเหล็ก 5.25 มิลลิกรัม 63%• ธาตุแมกนีเซียม 325 มิลลิกรัม 81%• ธาตุแมงกานีส 1.950 มิลลิกรัม 85%• ธาตุฟอสฟอรัส 660 มิลลิกรัม 94%• ธาตุโพแทสเซียม 645 มิลลิกรัม 14%• ธาตุโซเดียม 9 มิลลิกรัม 1%• ธาตุสังกะสี 5.00 มิลลิกรัม 45%• ธาตุทองแดง 1.800 มิลลิกรัม 200%• ธาตุซีลีเนียม 53 ไมโครกรัม 96%% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

อ่านเพิ่มเติม >