ฉบับที่ 243 นักโภชนาการก็มา ใบอนุญาตโฆษณาก็มี

        ผลิตภัณฑ์อาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนักยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอยู่เรื่อยๆ แม้หลายรายจะโดนดำเนินคดีฐานโฆษณาเกินจริงไปแล้วก็ตาม  และแม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะร่วมมือกับหน่วยงานร่วมต่างๆ พยายามช่วยกันกวดขันและออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุม แต่อย่าลืมว่าผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ต่างก็พัฒนาวิธีการของตนเองให้หลบเลี่ยงกฎหมายได้อยู่เรื่อย         ล่าสุดพบผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่แชร์กันมาในโซเชียล เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็มีข้อความที่บอกถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนัก และเนื่องจากข้อกำหนดตามกฎหมาย การโฆษณาสรรพคุณอาหารไม่สามารถนำบุคลากรทางการแพทย์มาประกอบการยืนยันได้ ผู้ผลิตจึงเลี่ยงไปใช้ข้อความอ้อมๆ ดังนี้          “ซื้อ (ชื่อผลิตภัณฑ์) แถมที่ปรึกษานักโภชนาการตัวจริง ลดได้ไวกว่าใคร สบายใจกว่า แถมฟรีด้วยนะ         1. ได้ผลจริง ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงินฟรี  กินยังไงให้ถูกวิธี ได้ผลดีที่สุด ลดเร็วที่สุด        2. ลดน้ำหนักได้อย่างถาวร ไม่กลับมาโยโย่ นักโภชนาการจะบอกวิธีที่หยุดทานแล้วไม่กลับมาโยโย่        3. ไม่ต้องกังวลผลข้างเคียง มั่นใจปลอดภัย รู้ลึก รู้จริง แก้ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง            มีสารสกัดจากพริกอเมริกาช่วยในการเผาผลาญมากถึง 5 เท่า                  ที่น่าสังเกตคือในภาพที่โฆษณา มีการใช้ภาพของบุคคลที่สวมเสื้อสีขาวคล้ายๆ เสื้อกาวน์ และมีหูฟังตรวจไข้คล้องคออยู่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าบุคคลในภาพน่าจะเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ในด้านล่างของภาพยังมีข้อความว่า “บริการฟรีดูแลลูกค้า ระหว่างทาน โดยนักโภชนาการลดน้ำหนัก” แต่ยังมีลูกเล่นอีก ด้วยข้อความว่า “เบอร์สายด่วนนักโภชนาการจะส่งให้เฉพาะลูกค้าที่ชำระเงินแล้วเท่านั้น”         และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โฆษณาชิ้นนี้ยังมีการนำใบอนุญาตโฆษณาอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมทั้งแสดงข้อความเน้นอย่างชัดเจนว่า  “มั่นใจทุกคนโฆษณาไม่เกินจริง ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข” ที่น่าสังเกตคือมีการเบลอข้อความบางจุด และไม่มีการนำข้อความหรือภาพที่ได้รับอนุญาตจริงๆมาแสดง ซึ่งหากใครดูผ่านๆ แล้วไม่ฉุกคิดก็คงนึกว่าได้รับการอนุญาตให้โฆษณาแบบที่เห็นมาข้างต้นได้  แต่ถ้าผู้บริโภคที่พอมีความรู้มาบ้าง ก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่ยอมให้ใช้ข้อความหรือภาพประกอบการโฆษณาที่ชวนให้เข้าใจผิดอย่างนี้แน่นอน        ผู้บริโภคในยุคนี้จึงต้องรอบคอบและอย่าเพิ่งรีบเชื่อในสิ่งที่เห็น แม้จะมีการสดงข้อมูลว่า มีนักวิชาการ หรือใบอนุญาตโฆษณาแล้วก็ตาม ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนะครับว่า มันโอเวอร์เกินจริงหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจปรึกษาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคก่อนจะไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และจะปลอดภัยกว่าครับ

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันการเลือกเทรนเนอร์และนักโภชนาการ

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนใส่ใจเรื่องของสุขภาพทั้งในด้านอาหารการกินและการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น มีเทรนด์สุขภาพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเทรนการลดน้ำหนัก แต่หากมีการใส่ใจแบบหวังผลลัพธ์ไวทันตาเห็น อาจตกเป็นเหยื่อได้โดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอยากสุขภาพดีโดยอาศัยทางลัด อย่าง การอดอาหาร กินอาหารเสริม หรือพึ่งพา Health Coach ที่ไม่ได้เรียนจบมาทางด้านโภชนาการโดยตรง แค่อาศัยจากการเรียนคอร์สโภชนาการมาบ้าง ดังนั้นผู้บริโภคต้องมีความรู้เท่าทันเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง         ความหมายของ “เทรนเนอร์ และ นักโภชนาการ”        “เทรนเนอร์” คือ (Trainer) ผู้ที่มีความรู้ด้านฟิตเนส ที่จะต้องพัฒนาและนำวิธีการออกกำลังกายที่แตกต่างกันไปเฉพาะแต่ละคนไปสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นผู้นำในการออกกำลังกายของกลุ่มคนที่มีสุขภาพดีหรือกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่มีข้อจำกัดทางการแพทย์ โดยประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การออกกำลังกายไปสอนบุคคลคน ด้วยเทคนิคการสอนที่หลากหลาย ปลอดภัย เกิดประสิทธิภาพ และทำให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีต่อบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา รักษา หรือทำให้เกิดผลสูงสุดต่อสุขภาพให้กับแต่ละบุคคล รวมทั้งมีความสามารถเพียงพอที่จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการออกกำลังกาย กระตุ้นจูงใจให้บุคคลดูแลรักษาสุขภาพ และเป็นผู้นำด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ เทรนเนอร์ จะทำหน้าที่เทรนการออกกำลังกายอย่างถูกวิธีให้กับผู้คน          “นักโภชนาการ” หรือ “นักกำหนดอาหาร” คือผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและสารอาหารอย่างรอบด้าน เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในการวางแผนให้คำปรึกษาและเตรียมอาหารตามหลักโภชนาการสำหรับบุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วย นอกจากนั้นนักโภชนาการยังทำหน้าที่เป็นคนศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและทดลองตำรับอาหารใหม่ พัฒนาสูตรอาหารตามหลักวิชาการและโภชนาการ กำหนดรายการอาหาร คำนวณคุณค่าของอาหารที่ใช้บริโภค ควบคุมและให้คำแนะนำการประกอบอาหารเฉพาะโรค การถนอมอาหารหรือ แปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมถึงการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการแก่สาธารณชน ดังนั้นแล้วด้วยเทรนด์อาหารคลีนที่กำลังมาแรง นักโภชนาการที่คิดค้นและพัฒนาสูตรอาหารจึงมีความจำเป็นมาก           ปัจจุบันนักกำหนดอาหารในประเทศไทยนั้น จะต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพกับ “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย” โดยจะได้รับคำว่า กอ.ช หรือ CDT ต่อท้ายซึ่งย่อมาจาก “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” หรือ “Certified dietitian of Thailand” ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี  นักโภชนาการที่ไม่ได้สอบขึ้นทะเบียนวิชาชีพนักกำหนดอาหารจะไม่สามารถขึ้น Ward ดูคนไข้ได้และไม่สามารถเขียนใบสั่งอาหารเพื่อกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานในแต่ละมื้อได้ ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้มีประกาศจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหาร เรื่อง ผลการพิจารณาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร ที่ปฏิบัติงานด้านการกำหนดอาหาร โดยมีผู้ที่ผ่านการอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการกำหนดอาหาร จำนวน 371 คน และผู้ที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต จำนวน 88 คน ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อได้           สิ่งที่ต้องรู้ในการจ้างเทรนเนอร์และนักโภชนาการ        การจ้างเทรนเนอร์ มีการแยกราคาเทรนออกมาเป็น 2 แบบ         1. แบบส่วนตัว หรือ แบบยืนสอนในยิม (On-field)         แบบส่วนตัว ราคาค่อนข้างหลากหลาย โดยเฉลี่ยแล้วมีอัตราราคาอยู่ที่ชั่วโมงละ 300-1,200 บาท/ชั่วโมง หรืออาจจะสูงถึง 1,500/1,800/2,000 หากเป็นเทรนเนอร์ต่างชาติตามฟิตเนสหรือเทรนเนอร์เซเลบริตี้          2. แบบออนไลน์ หรือ เทรนออนไลน์ (Online Training)          แบบออนไลน์ ซึ่งอัตราจ้างไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก อยู่ที่เฉลี่ย 1000-2000 /เดือน โดยส่วนมากจะมีโปรโมชั่นราคาเฉลี่ยถูกลง ซึ่งรายละเอียดการเทรนออนไลน์ จะเน้นดูแลอาหารที่ลูกค้ากินและดูแลเรื่องตารางการออกกำลังกาย        การจ้างนักโภชนาการส่วนตัว จะให้บริการในเรื่องโภชนาการเพื่อควบคุมน้ำหนัก โภชนาการเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และโภชนาการสำหรับผู้มีโรคประจำตัว โดยมีอัตราเฉลี่ยราคา 700-3000 บาทต่อเดือน อัตราเฉลี่ยข้อมูลจากเว็บ https://www.bumrungrad.com/th/packages/nutrition-tele-consultation         ลักษณะการให้บริการของเทรนเนอร์และนักโภชนาการที่ดี          คำแนะนำในการเลือกเทรนเนอร์เพื่อการลดน้ำหนักหรือปรับรูปร่าง         1) เลือกคนที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ         ควรรู้เป้าหมายตัวเองก่อนว่าอยากจะออกกำลังกายเพื่อจุดประสงค์อะไรเช่น อยากลดไขมัน เพิ่มกล้ามเนื้อ  ลดน้ำหนัก หากอยากฝึกซ้อมเพื่อวิ่งมาราธอน ควรเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัวที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ         2) เลือกระดับราคาที่เหมาะสม         สาเหตุที่คนไม่อยากใช้บริการเทรนเนอร์เพราะรู้สึกว่ามีราคาที่แพง ดังนั้นควรเลือกในอัตราราคาที่เหมาะสมต่อรายได้ตัวเอง และศึกษาส่วนลด​ โปรโมชั่น เปรียบเทียบราคาเพื่อเกิดความคุ้มค่ากับตัวเองมากที่สุด         3) เลือกที่นิสัยที่ใช่         เทรนเนอร์บางคนมีความรู้ที่มากแต่สื่อสารไม่เก่งเท่าไหร่ ซึ่งแบบนี้ทำให้การออกกำลังกายของคุณไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกเทรนเนอร์ส่วนตัว ควรศึกษาลักษณะนิสัย โดยลองสอบถามพูดคุยกับเขา หรือศึกษาข้อมูลจากการรีวิวผ่านลูกค้าคนอื่น ๆ         สุดท้าย ขอเสนอทางเลือกที่จะไม่ขอตารางอาหารการกินเป๊ะๆ จากเทรนเนอร์ เพราะแต่ละคนมีลักษณะร่างกายและปัจจัยที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าต้องกินอะไร หากทำไปโดยไม่เข้าใจ ถึงอาจจะเห็นผลแต่ในผลลัพธ์ที่ได้จะอยู่กับคุณไม่นาน เนื่องจากขาดความเข้าใจ และคุณไม่สามารถทำตามได้ทั้งหมด ถึงเทรนเนอร์จัดตารางให้คุณ แต่คุณไม่ชอบ ไม่สอดคล้องกับตัวคุณเอง คุณก็ทำไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นควรตรวจสอบว่าบุคคลนั้นหรือแบรนด์นั้น ๆ ว่ามีใบอนุญาตหรือมีประสบการณ์หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของตัวเราเอง ข้อมูลอ้างอิง        https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/944 เจาะลึก “อาชีพนักกำหนดอาหาร” ในยุคเทรนสุขภาพ นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 242 เดือนกันยายน 2563        https://traindee.co/uncategorized ราคาตลาดของเทรนเนอร์ 30 ตุลาคม 2021        https://hellokhunmor.com เทรนเนอร์ส่วนตัว ควรมีไหม? แล้วเลือกยังไงให้เหมาะสม        https://sorbdd.com        http://www.careercast.com/content/10-least-stressful-jobs-2011-2-dietitian อาชีพ นักโภชนาการ

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

อย. ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล สุ่มตรวจไขมันทรานส์ในอาหารกลุ่มเสี่ยง พบปริมาณลดลง หลังประกาศใช้ กม.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลตรวจสอบการสุ่มตัวอย่างในผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยง พบว่า มีปริมาณไขมันทรานส์ลดลง หลังบังคับใช้กฎหมายห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เมื่อ 9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมานายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย และเป็นหนึ่งในมาตรการการลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 เป็นต้นมา นั้น คุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) ได้ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ได้แก่ โดนัททอด พาย พัฟ เพสทรี ครัวซองค์ และบัตเตอร์เค้กผลการสุ่มตัวอย่างจำนวน 45 ตัวอย่าง พบว่า ปริมาณไขมันทรานส์เฉลี่ยของทุกผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วง 0.09 - 0.31 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งอยู่ในปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวัน คือ 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และมีปริมาณลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ซึ่งอยู่ในช่วง 0.42 - 1.21 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค นอกจากนี้ ปริมาณไขมันทรานส์สูงสุดที่พบในทุกผลิตภัณฑ์มีปริมาณลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจผลิตภัณฑ์ก่อนประกาศฯ มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ มีเพียงบางผลิตภัณฑ์มีปริมาณไขมันทรานส์ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคเกินจากปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบที่มีไขมันทรานส์ตามธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เช่น เนย นม ชีส เป็นต้นนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา)เลขาธิการฯ อย. แถลงเพิ่มเติมว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเนยเทียม (มาการีน) และเนยขาว (ซอทเทนนิ่ง) ส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจก่อนหน้าที่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับ พบว่า มีปริมาณน้อยมาก โดยอยู่ในช่วง 0.01-0.37 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันและไขมันมีการปรับกระบวนการผลิตไปใช้วิธีการผลิตอื่นแทนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ดี อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ ณ สถานที่ผลิตน้ำมันและไขมัน 3 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่กระจายสินค้าให้แก่ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในประเทศ ไม่พบการผลิตน้ำมันและไขมันโดยใช้กระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้วคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ในส่วนของการสุ่มตรวจของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่าน โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ภายใต้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์   จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค  ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภคยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้ใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน 1 หน่วยบริโภคสารี อ๋องสมหวัง (เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)ส่วนการทดสอบโดนัท นิตยสารฉลาดซื้อเลือกทดสอบโดนัทช็อกโกแลตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยได้สุ่มซื้อโดนัทรสช็อกโกแลต จากร้านขายโดนัทและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 13 ยี่ห้อ (ยี่ห้อเดิมที่เคยเก็บตัวอย่าง เมื่อเดือน ก.พ.61) นำส่งห้องปฏิบัติการมาตรฐานเพื่อตรวจวิเคราะห์หาปริมาณไขมันทรานส์ รวมถึงสารกันบูดประเภทกรดซอร์บิก (Sorbic acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic acid) โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงของผลิตภัณฑ์ขนมอบ จำพวกเค้กกาแฟ โดนัท และมัฟฟิน ซึ่งเท่ากับ 55 กรัม (ตามบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 182 พ.ศ. 2541) พบว่า โดนัทช็อกโกแลตทุกตัวอย่างมีปริมาณไขมันทรานส์ ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ โดนัทช็อกโกแลต / บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.03 กรัมต่อน้ำหนักโดนัท 55 กรัม และตัวอย่างที่พบปริมาณไขมันทรานส์ต่อหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ โดนัทรสช็อกโกแลต ไอซ์ เกลซ / คริสปี้ครีม พบปริมาณไขมันทรานส์ 0.14 กรัม ต่อ น้ำหนักโดนัท 55 กรัมศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต (อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล) ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ กระบวนการดำเนินงาน ที่มีการเร่งรัดภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาส่วนประกอบทดแทน การให้ข้อมูลและความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม การพัฒนากระบวนการวิเคราะห์ให้ถูกต้องแม่นยำ การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการประเมินและแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมในเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด การร่วมกันระหว่างภาครัฐ วิชาการและประชาสังคมในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชน นับเป็นเบื้องหลังความสำเร็จที่เป็นต้นแบบให้กับประเทศต่างๆได้ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค อย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จะติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่บทความ "ผลทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และ สารกันบูด ในโดนัทช็อกโกแลต ภาค 2"บทความ "ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ"

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลากโภชนาการ สิ่งจำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพ

ความสำคัญและระดับการควบคุมข้อมูลโภชนาการหรือฉลากโภชนาการ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รู้ถึงคุณค่าทางด้านโภชนาการหรือปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่ร่างกายจะได้รับเมื่อรับประทานเข้าไป และเป็นการยกระดับให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว ถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ดังนั้นหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในทุกประเทศทั่วโลก จึงต่างให้ความสำคัญกับการแสดงฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างไรก็ตามระดับการแสดงข้อมูลโภชนาการมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลโภชนาการบนฉลาก(Mandatory) เป็นลักษณะบังคับว่าต้องมี ถ้าไม่มี จะมีบทลงโทษ และกลุ่มที่ผู้ประกอบการสามารถแสดงฉลากได้ตามความสมัครใจ (Voluntary) คือ กฎหมายไม่บังคับ – จะแสดงฉลากหรือไม่ก็ได้1) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่กฎหมายบังคับให้มีการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร ได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู), สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เม็กซิโก, อาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลัมเบีย, เอกวาดอร์, ปารากวัย, อุรุกวัย, อิสราเอล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, จีน (+ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง), เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไต้หวัน, ไทย, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์  ซึ่งประเทศเหล่านี้จะกำหนดตามกฎหมายให้ผู้ประกอบการต้องแสดงฉลากโภชนาการถึงแม้ว่าจะไม่มีการแสดงคำกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือคำกล่าวอ้างทางสุขภาพก็ตาม โดยจะกำหนดว่าสารอาหารตัวใดจะต้องถูกแสดงบ้างและจะแสดงในลักษณะใด (เช่น ต่อ 100 กรัม หรือ ต่อหน่วยบริโภค เป็นต้น) นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการแสดงรูปแบบอื่น ๆ ของฉลากโภชนาการได้โดยสมัครใจ อีกด้วย 2) ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่ให้มีการแสดงฉลากโภชนาการโดยสมัครใจโดยรัฐให้การสนับสนุนแนวทางในการแสดงข้อมูล ได้แก่ กลุ่มประเทศอาหรับ (Gulf Cooperation Council : GCC) (ประกอบด้วย บาห์เรน, คูเวต, กาตาร์, โอมาน, ซาอุดิอาระเบีย, และสหรัฐอาหรับเอมิเรต: ยูเออี), เวเนซุเอล่า, ตุรกี, สิงโปร์, ฟิลิปปินส์, ญี่ปุ่น, เคนยา, เมาริเทียส, ไนจีเรีย, และอาฟริกาใต้ ซึ่งกฎหมายของประเทศกลุ่มนี้จะให้รัฐเป็นผู้กำหนดว่าสารอาหารใดบ้างที่ต้องมีการแสดงบนฉลากและต้องแสดงฉลากในลักษณะใดแต่ไม่ได้บังคับว่าจะต้องแสดงเว้นเสียแต่ว่ามีการกล่าวอ้างทางโภชนาการหรือกล่าวอ้างทางสุขภาพของอาหารนั้น ๆ หรือเป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อการควบคุมน้ำหนัก   ภาพประกอบ : แผนภูมิภาพแสดงการแบ่งกลุ่มประเทศที่มีการแสดงฉลากโภชนาการตามกฎหมายกระแสโลกในการทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสโลกในเรื่องการแสดงข้อมูลโภชนาการได้มุ่งไปสู่การทำเป็นกฎหมายภาคบังคับ เห็นได้จากการที่ มาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) (Codex Alimentarius Commission, 2012) ซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2555 นั้น ได้แนะนำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับแม้ว่าอาหารนั้นจะไม่มีการกล่าวอ้างทางโภชนาการก็ตามในหลายประเทศที่เคยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นกฎหมายฉลากโภชนาการแบบภาคบังคับ เช่น ประเทศจีนก่อนหน้านี้ใช้กฎหมายฉลากโภชนาการแบบสมัครใจ ต่อมาเมื่อได้นำมาตรฐานอาหารสากล(โคเด็กซ์) มาใช้ จึงเปลี่ยนให้ฉลากโภชนาการเป็นฉลากภาคบังคับและให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ด้านสหภาพยุโรป (อียู) ได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการให้ข้อมูลด้านอาหารแก่ผู้บริโภคในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ซึ่งทำให้ฉลากโภชนาการเป็นกฎหมายภาคบังคับภายในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 แต่ยังมีหลายสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องทำก่อนถึงกำหนดในวันที่ 13 ธันวาคม 2559 หนึ่งในนั้นคือ การหาข้อสรุปว่า รูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการ แบบใดเหมาะสม เข้าใจง่าย และจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากที่สุด จึงทำให้มีการสนับสนุนทุนทำโครงการวิจัย ชื่อว่า FLABEL ที่พบข้อมูลว่า ใน 27 ประเทศสมาชิกของอียูและตุรกี มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 85 จาก 5 กลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหลังบรรจุภัณฑ์ (Back of Pack : BOP) มีผลิตภัณฑ์ร้อยละ 48 ที่ใช้ฉลากโภชนาการแบบ แสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (Front of Pack : FOP) นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 84 ของผลิตภัณฑ์จะแสดงข้อมูลโภชนาการใน รูปแบบเป็นตาราง หรือ เป็นเส้นตรง (ตารางโภชนาการหรือกรอบข้อความโภชนาการ) โดยที่มีเพียงร้อยละ 1 แสดงข้อมูลด้วยสัญลักษณ์สุขภาพ (health logos) และในบรรดาฉลากแบบ แสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้า ทั้งหมด รูปแบบฉลาก หวาน มัน เค็ม (Guideline Daily Amounts :GDA) และ การกล่าวอ้างทางโภชนาการ เป็นรูปแบบที่แพร่หลายที่สุด ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานกลางของฉลากโภชนาการแบบแสดงข้อมูลด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ (FOP)การโต้เถียงเรื่องการใช้ฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ของโลก ส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศในทวีปเอเชีย ได้สร้างความประหลาดใจแก่โลก โดยได้ประกาศใช้ การแสดงฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแสดงในรูปแบบที่เรียกว่า ฉลาก “หวาน มัน เค็ม” (GDA) เป็นประเทศแรกในเดือน พ.ค. 2554 โดยประกาศใช้ในขนมเด็ก 5 กลุ่ม หลังจากนั้นฉลากรูปแบบนี้ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลในหลายประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา) โดยมีสิ่งที่รัฐต้องตัดสินใจคือ จะทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้านี้เป็นกฎหมายภาคบังคับหรือไม่ และถ้าใช่ ควรที่จะต้องเพิ่มเติมเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจของคุณค่าทางโภชนาการที่แสดงผ่านการใส่สี (แบบสีสัญญาณไฟจราจร) หรือ การให้สัญลักษณ์ “เครื่องหมายสุขภาพ” (ตราที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีโภชนาการเหมาะสมตามเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ตรารูปหัวใจ : สมาร์ทฮาร์ท, เครื่องหมายรูปรูกุญแจสีเขียว) หรือให้ข้อมูลเป็นเปอร์เซ็นของการบริโภคต่อวัน เช่น ฉลาก หวาน มัน เค็ม : GDA ท่ามกลางการตัดสินใจต่าง ๆ เหล่านี้ รูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร (Traffic Light) ของสหราชอาณาจักร (UK) เป็นจุดสนใจและได้รับการโต้เถียงอย่างกว้างขวาง กลุ่มผู้บริโภคจำนวนมาก องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) สายสุขภาพ และบางรัฐบาลในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค ได้ประกาศสนับสนุนรูปแบบฉลากโภชนาการด้านหน้าบรรจุภัณฑ์แบบสีสัญญาณไฟจราจรของสหราชอาณาจักรขณะที่รัฐบาลทั้งหลายกำลังตัดสินใจว่าจะใช้ฉลากโภชนาการแบบด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยข้องต่าง ๆ ของตนอย่างไรนั้น รูปแบบย่อยทั้งหลายของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็แพร่หลายไปภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล, องค์กรระหว่างประเทศ, NGOs, กลุ่มองค์กรภาคอุตสาหรรม และบริษัทต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลโภชนาการได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การผลักดันให้เกิดการหลอมรวมเป็นรูปแบบเดียวกันจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ นปี พ.ศ. 2555 แผนกสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรได้เสนอรูปแบบฉลากที่รวมฉลาก GDA เข้ากับสีสัญญาณไฟจราจร และ ตัวหนังสือบรรยายโภชนาการ อย่างไรก็ตามยังคงมีการโต้เถียงในเรื่อง การระบุคำบรรยายใต้สัญลักษณ์สีสัญญาณไฟจราจรว่า “สูง” “ปานกลาง” และ “ต่ำ” บนฉลาก และ เกณฑ์ทางโภชนาการควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ซึ่งรูปแบบนี้ถูกนำไปใช้โดยความสมัครใจของร้านขายปลีกขนาดใหญ่ทั้งหลายเป็นที่เรียบร้อย แต่ผู้ผลิตอาหารจำนวนมากยังคงลังเลที่จะเข้าร่วมดำเนินการในสหรัฐอเมริกา มีรายงานระยะที่ 1 จาก the Institute of Medicine (IOM) Committee ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 แนะนำว่า ควรต้องมีระบบเฉพาะในการระบุข้อมูลโภชนาการที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค 4 ประเภท คือ ค่าพลังงาน (แคลอรี่), หน่วยบริโภค (serving size), ไขมันทรานส์ (trans fat), ไขมันอิ่มตัวและโซเดียม ส่วนในรายงานระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ได้ระบุเรื่องของการเปิดกว้างของผู้บริโภค ความเข้าใจ และความสามารถในการการใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ ซึ่งได้ให้คำแนะนำแก่ อย. (USFDA) และหน่วยงานด้านเกษตร (USDA) ของสหรัฐไว้ว่า ควรต้องมีการพัฒนา ทดสอบและบังคับใช้รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของฉลากโภชนาการแบบแสดงหน้าบรรจุภัณฑ์ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมด และได้ให้คำแนะนำให้การบังคับใช้มาตรการฉลากนี้ว่า จะต้องเกิดจากความมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด และกลุ่มผู้มีความสนใจที่หลากหลาย สำหรับรูปแบบฉลากที่แนะนำนั้น IOM เสนอให้แสดงเป็นสัญลักษณ์แสดงปริมาณแคลอรี่ต่อหน่วยบริโภคและแสดงคะแนนเป็นดาวโดยเทียบจากคุณค่าทางโภชนาการ ด้านไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียม และน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ ที่ต่ำกว่าเกณฑ์โภชนาการ  ไม่เพียงแค่ภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องฉลากโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มภาคเอกชนของสหรัฐฯ ได้แก่ สมาคมร้านค้าของชำ สถาบันการตลาดอาหาร และผู้แทนของบริษัทชั้นนำด้านการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และและกลุ่มผู้ค้าปลีก ได้นำเสนอ ฉลากแบบสมัครใจเรียกว่า fact-based FOP nutrition labelling ที่แสดงข้อมูลพลังงาน และสารอาหารสำคัญ (ไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาล) ด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์ ซึ่ง อย. ของ สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนฉลากแบบนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า  ต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสารอาหารของผลิตภัณฑ์อีกหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของกระแสการทำให้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์กลายเป็นมาตรฐานสากลคือ การที่ สหภาพยุโรป ได้ประกาศใช้กฎหมาย ข้อมูลด้านอาหารเพื่อผู้บริโภค ที่อนุญาตให้มีการใช้ฉลากโภชนาการแบบสมัครใจในบางรูปแบบได้ ทำให้มีการแสดงข้อมูลทางโภชนาการ สี ภาพ หรือ สัญลักษณ์ ซึ่งต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ได้มีการออกเอกสารถาม-ตอบ (Q&A) เพื่อสร้างความชัดเจนในการบังคับใช้มาตรการนี้ออกมา โดยในเอกสารได้ยืนยันว่า กิโลจูล (หน่วยของค่าพลังงาน)สามารถใช้ได้บนฉลากโภชนาการแบบสมัครใจด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะแสดงเดี่ยว ๆ หรือจะแสดงคู่กันกับ กิโลแคลอรี ก็ได้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในงานประชุมของรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้มีความเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการพัฒนาฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่เข้าใจและแปลความได้ง่าย แต่ยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนการแสดงฉลากรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยทันที ซึ่งต่อมา ในประเทศออสเตรเลีย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับทิศขึ้นชุดหนึ่งขึ้นมาทำงานในเรื่องนี้ เช่นเดียวกันกับในนิวซีแลนด์ ที่ได้มีกลุ่มทำงานมาพัฒนาแนวทางและคำแนะนำต่อการจัดทำฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าผลิตภัณฑ์ แต่มิได้มีรูปแบบเฉพาะเจาะจงออกมาเช่นกัน ซึ่งความน่าจะเป็นของรูปแบบฉลากโภชนาการของทั้งสองประเทศนี้น่าจะมีความคล้ายคลึงกันมาทางฝั่งทวีปเอเซียกันบ้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ประเทศเกาหลีใต้ กลายเป็นประเทศแรกในเอเซียที่ประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรโดยสมัครใจในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเด็ก และภายหลังเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกระดับการแสดงฉลากในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจรในขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มเป็นกฎหมายภาคบังคับโดยให้มีผลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลให้ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้รูปแบบฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรภายใต้กฎหมายภาคบังคับ นับแต่นั้น ได้มีการผ่านร่างกฎหมายสองฉบับ ฉบับแรก ว่าด้วยการแสดงฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรในอาหารที่เด็กชื่นชอบได้แก่ ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม กับ กฎหมายฉบับที่สองซึ่งกำหนดให้มีการแสดงฉลากโภชนาการทั้งแบบสีสัญญาณไฟจราจรและแบบคุณค่าทางโภชนาการต่อวันที่ใส่สีเพื่อแสดงเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจ การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นรุ่งอรุณแห่งมาตรการฉลากโภชนาการที่น่าจะช่วยให้ประเทศอื่น ในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค เจริญรอยตาม ก็เป็นได้ข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบฉลากโภชนาการยังไม่ยุติข้อถกเถียงที่ว่ารูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดจะมีประสิทธิภาพที่สุด จะดำเนินต่อไปในยุโรป, เอเซีย-แปซิฟิค, และอเมริกา ในช่วงอนาคตอันใกล้ การศึกษาวิจัยที่มากขึ้นจะเป็นประโยชน์และช่วยยืนยันประเด็นนี้ รัฐบาล NGOs ผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าปลีกได้ร่วมกันสำรวจว่า รูปแบบฉลากโภชนาการแบบใดที่ผู้บริโภคชื่นชอบที่สุด ด้วยเหตุผลใด และรูปแบบใดจะส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อและการสร้างสมดุลในการเลือก แม้จะมีข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ให้คำตอบได้ แต่ยังคงไม่มีข้อสรุปใด ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายว่าจะไปในทิศทางใดกัน อย่างไรก็ตาม มีความชัดเจนว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหารที่ง่ายกว่าในปัจจุบันแก่ผู้บริโภค ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ แบบภาคบังคับ เป็นเครื่องมือทางสาธารณสุขที่ช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ฮ่องกง มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย และเหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อเมื่อมันเหมาะสมต่อหน้าที่ของมัน ซึ่งก็คือ ผู้บริโภคมีความเข้าใจและใช้มัน ในสหรัฐฯ ความความเติบโตทางความเห็นที่ว่า ข้อมูลโภชนาการแบบเดิม ๆ อย่างเดียวไม่เพียงพอ หรือ มันไม่สามารถเข้าใจและใช้ได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่อีกแล้ว อย. สหรัฐฯ จึงได้ประกาศภารกิจเร่งด่วนในการทบทวนการแสดงโภชนาการในรูปแบบ ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการเสียใหม่ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงข้อมูลโภชนาการด้านหน้าผลิตภัณฑ์ (FOP) ขณะที่ฉลากหวาน มัน เค็ม (GDA) ได้รับการสนับสนุนจำนวนมากจากกลุ่มผู้ผลิตอาหาร และผู้กำหนดนโยบาย ความเป็นประโยชน์ในการเป็นแนวทางประกอบการเลือกของผู้บริโภคจะขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการให้การศึกษาผู้บริโภคให้สามารถใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร------------------------------สถานการณ์ด้านฉลากโภชนาการของประเทศไทย นับแต่การประกาศใช้ข้อมูลโภชนาการ/ ตารางโภชนาการ ในปี พ.ศ. 2541 ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการควบคุมฉลากโภชนาการแบบสมัครใจมาโดยตลอด จนถึงการบังคับใช้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม (จีดีเอ) ในปี พ.ศ. 2554 ที่ยกระดับการควบคุมทางกฎหมายของฉลากโภชนาการจากสมัครใจมาสู่กฎหมายภาคบังคับ โดยควบคุมการแสดงฉลากโภชนาการในอาหาร กลุ่มขนมขบเคี้ยว 5 ประเภท ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดกรอบหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, และเวเฟอร์สอดไส้ แต่ก็ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรูปแบบการแสดงฉลากโภชนาการอย่างต่อเนื่อง  ย้อนไปในปี พ.ศ. 2553 มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติระบุว่า ให้มีฉลากโภชนาการอย่างง่าย(ฉลากโภชนาการแบบแสดงด้านหน้าบรรจุภัณฑ์) ในรูปแบบสีสัญญาณไฟจราจร จึงนำมาซึ่งการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมและนำเสนอรูปแบบฉลากสีสัญญาณไฟจราจรแก่ อย. อย่างไรก็ตาม อย. กลับได้ประกาศใช้ฉลากหวาน มัน เค็ม แทนที่ฉลากสีสัญญาณไฟจราจรตามมติสมัชชา และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา อย. ได้ขยายการควบคุมจากผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว 5 ประเภทมาเป็น อาหาร 5 กลุ่ม ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ, ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ, ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง, ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบหรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส, สาหร่ายทอด หรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอด หรืออบกรอบหรือปรุงรส), ช็อกโกแลต, ผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต, เวเฟอร์สอดไส้, คุ้กกี้, เค้ก, และ พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้), อาหารกึ่งสำเร็จรูป (ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้นไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตามพร้อมซองเครื่องปรุง, และ ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง), และอาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจำหน่าย  นอกจากการทำให้ฉลากโภชนาการแบบหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากแบบบังคับแล้ว อย. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานวิชาการในการทำการศึกษารูปแบบฉลากโภชนาการแบบสัญลักษณ์สุขภาพและได้ออกประกาศให้มีการแสดงฉลากโภชนาการแบบสมัครใจขึ้นมาอีก 1 รูปแบบ ใช้ชื่อว่า สัญลักษณ์โภชนาการ (สัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ) โดยได้มีการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่ง ทางเลือกสุขภาพนี้ คือเครื่องหมายที่ช่วยให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีปริมาณสาร อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ดีต่อสุขภาพ  ด้านฝั่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีการรณรงค์เพื่อผลักดัน ให้ อย. พิจารณาบังคับให้ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร แทนที่ฉลากแบบหวาน มัน เค็ม โดยได้มีดัดแปลงรูปแบบจากรูปแบบของสหราชอาณาจักรมาเป็นสัญญาณไฟจราจรแบบไทย และได้นำประเด็นเข้าสู่การเรียนการสอนในโรงเรียน พัฒนาเด็กและอาจารย์ในโรงเรียนให้มีความรู้ในการอ่านฉลากอาหารและฉลากโภชนาการรูปแบบต่างๆ รวมทั้งสามารถใส่สีสัญญาณไฟจราจรลงบนฉลากอาหารได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มทำงานในโรงเรียนจำนวน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายผล ขยายการดำเนินงานให้ครอบคลุมใน 8 จังหวัดของภาคตะวันตกตามการแบ่งเขตขององค์กรผู้บริโภค ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ฉลากโภชนาการรูปแบบใดจะเหมาะสมสำหรับประเทศไทย สมควรหรือไม่ที่ควรต้องมีรูปแบบเดียว หรือจะให้มีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจนั้น ยังคงต้องการการศึกษาเพื่อยืนยัน ว่าฉลากรูปแบบใดกันแน่ ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคมากที่สุดข้อมูล Global Update on Nutrition Labelling Executive Summary January 2015Published by the European Food Information Council. www.eufic.org/upl/1/default/doc/GlobalUpdateExecSumJan2015.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ฉลาดที่จะฉลาด

มีการโฆษณาทางอินเตอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมากเกี่ยวกับการดื่มหรือบริโภคอาหารมหัศจรรย์บางชนิด ที่ทำให้มีเชาว์ปัญญาสูงขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของสมองอย่างแท้จริงคือ น้ำตาลกลูโคส ซึ่งให้พลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการส่งกระแสในระบบประสาทขณะคิด หลายท่านคงมีประสบการณ์ว่า ทันทีที่ความเข้มข้นของน้ำตาลนี้ในสมองต่ำลง ปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่เกิดขึ้นคือ ไขว่คว้าหาอาหาร(แป้งต่างๆ ) ที่ให้น้ำตาลดังกล่าวมาใส่ปาก ถ้าจะให้ดีต้องมีของแถมคือ สารต้านออกซิเดชั่น ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของสมอง เนื่องจากเวลาสมองใช้น้ำตาลกลูโคสไปสร้างเป็นพลังงานนั้นมีการส่งผ่านอิเล็กตรอนเป็นจำนวนมาก โอกาสเกิดอนุมูลอิสระจึงสูง ดังนั้นเมื่อมีผู้ตั้งประเด็นถามกับผู้เขียนว่า ในทางด้านอาหารและโภชนาการแล้ว กินอะไรถึงจะทำให้เด็กฉลาด สอบเข้าเรียนต่อในสาขายอดนิยมในสังคมไทยของมหาวิทยาลัยดีๆ ได้ ผู้เขียนจึงมักเลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ เนื่องจากผู้เขียนไม่เชื่อว่า การกินอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้คนฉลาดขึ้น เพราะความฉลาดของคนนั้นขึ้นกับปัจจัยทั้งสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรม ซึ่งไม่สามารถทำได้ในช่วงสั้นๆ ก่อนสอบ นักวิชาการด้านการศึกษากล่าวว่า เด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ปิดตนเองจากสังคม มักมีความสามารถในการนึกคิดแก้ปัญหาได้น้อยกว่าเด็กที่มีโอกาสเห็นอะไรต่อมิอะไรที่เกิดในสังคม ดังนั้นการให้ความรู้ต่างๆ ตั้งแต่เด็กยังเล็กจึงสำคัญมากต่อกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา แต่ที่สำคัญกว่าคือ การทำให้สมองของเด็กพร้อมเปิดรับการฝึกที่จะเรียนรู้   เราคงยอมรับกันว่า ถ้าเด็กได้กินดีอยู่ดี โอกาสที่เด็กจะฉลาดย่อมสูงขึ้น แต่เราก็ยังเห็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะการเงินดีทำความเลวได้สุดๆ ดังนั้นคำว่ากินดีอยู่ดีนั้นจะต้องควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีรวมถึงการอบรมสั่งสอนที่ถูกต้องที่ครอบครัวป้อนให้ ผู้เขียนได้ลองสังเกตผู้คนที่อยู่ในสังคมของผู้เขียนก็พบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนฉลาดคือ สมาธิ(รวมถึงความขยัน) หรือ พันธุกรรมที่ดี (คู่ไปกับอาหารและโภชนาการที่ดี) และถ้าจะฉลาดมาก ๆ ต้องมีทั้งสองปัจจัยไปด้วยกัน ก่อนจะไปต่อในเรื่องของความฉลาด คงต้องกลับมาทำความเข้าใจกันว่า ฉลาดและดี นั้นไม่ใช่คำเดียวกัน เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าในสังคมไทยนั้น คนโกงชาติมักเป็นคนฉลาดในการทำสิ่งที่ดีเฉพาะกับตนเอง โดยไม่สนใจผลว่าสิ่งที่ตนกระทำก่อความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองอย่างไร ดังนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่า ความพยายามหาทางให้เด็กไทยฉลาดนั้นยากหนักหนา แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ การหาทางกำกับให้เด็กไทยที่ฉลาดเป็นคนดีมีศีลธรรม ไม่คดในข้องอในกระดูกจนทำให้ประเทศไทยติดโผขี้โกงลำดับต้น ๆ ของโลก เราเชื่อกันว่าความฉลาดของคนอยู่ที่สมองซึ่งเป็นอวัยวะกำหนดความคิด สังเกตได้ว่าเด็กสองคนที่มองเห็นสิ่งเดียวกัน อาจแสดงออกถึงความเข้าใจหรือยอมรับในสิ่งที่เห็นต่างกัน แม้ว่าเด็กทั้งสองจะมีอายุใกล้กันและเลี้ยงดูมาคล้ายกันเช่นพี่กับน้อง ผู้เขียนได้เข้าไปดูการบรรยายหนึ่งใน Youtube ซึ่งผู้บรรยายเป็นอาจารย์ด้านระบบประสาทท่านหนึ่งจากฮาร์วาร์ด ผู้บรรยายเล่าถึงการทดลองในสัตว์ทดลองว่า การที่สัตว์จะยอมรับรู้อะไรหรือไม่นั้นขึ้นกับว่าเซลล์ที่รับรู้นั้นทำงานถูกต้องหรือไม่ โดยหลักการแล้วเซลล์ที่เกี่ยวกับการรับรู้(เซลล์ประสาท) ต้องมีสุขภาพดีจากการได้รับสารอาหารเต็มที่(เด็กขาดสารอาหาร ไม่ว่าสารอาหารใด มักแสดงออกด้วยอาการปัญญาอ่อนที่ไม่ได้เกิดจากพันธุกรรม) จากนั้นการทำงานของเซลล์จึงเกิดขึ้นโดยมีการสร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่ในการรับการกระตุ้นเพื่อส่งสัญญาณไปยังส่วนที่เกี่ยวกับการรับรู้ มีงานวิจัยทางด้านระบบประสาทสัมผัสเช่น กลิ่นรสที่จมูกหรือลิ้นสรุปผลว่า ถ้าโปรตีนที่เป็นตัวรับสัมผัสนั้นไปปรากฏที่เส้นประสาทที่ต่างกันผลย่อมต่างกัน กล่าวคือ ถ้าโปรตีนตัวรับสัมผัสไปปรากฏที่เส้นประสาทที่ทำให้เรารู้สึกชอบ การเรียนรู้ของสมองจะสอนให้ชอบกลิ่นหรือรสนั้น แต่ในทางตรงข้ามถ้าโปรตีนตัวรับสัมผัสไปปรากฏที่เส้นประสาทที่ทำให้เรารู้สึกไม่ชอบ การกระตุ้นระบบประสาทด้วยสิ่งเดียวกันย่อมส่งผลไปในทางตรงข้าม คำอธิบายนี้อาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้เขียนถึงเกลียดกลิ่นคาวปลาต่างๆ จนแทบไปยอมกินอาหารที่มีปลาเป็นองค์ประกอบ ในขณะที่ทุกคนในครอบครัวชอบกินปลา ในระบบอินเตอร์เน็ตนั้น ไม่ว่าจะค้นข้อมูลด้วยภาษาไทยหรืออังกฤษใน Google ก็พบว่ามีเว็บไซต์มากมายที่พูดถึง อาหารที่ทำให้สมองทำงานได้ดี ยิ่งถ้าไปดูใน Youtube ด้วยแล้ว มีนักวิชาการและนักวิชาเกินมากหน้าหลายตามาให้ข้อมูลซึ่งหลายคลิปแฝงการค้าเข้าไปด้วย ผู้ชมจึงควรใช้หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้าช่วยในการตัดสินว่าควรเชื่อหรือไม่ อย่างไรก็ดีมีเว็บหนึ่งให้ความรู้ค่อนข้างกลางๆ เกี่ยวกับการทำให้มนุษย์มีประสาทรับรู้ดีขึ้นโดยเป็นบทความเรื่อง 10 Easy Ways To Boost Your Cognitive Performance ของ Gregory Myers (เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2013) ใน http://listverse.com   บทความนั้นกล่าวว่า มนุษย์ต้องใช้สมองคิดทุกวันเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ แต่ในหลายสถานการณ์เราต้องการให้สมองสามารถรับรู้เพื่อคิดดีขึ้นกว่าปรกติเช่น ขณะสอบข้อเขียน ขณะทำงานในโครงการสำคัญ หรือขณะที่พยายามเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จึงมีความสำคัญที่จะต้องหาอะไรสักอย่างมากระตุ้นกระบวนการรับรู้ให้สามารถคิดได้ดีกว่าเดิม Gregory Myers กล่าวว่ามี 10 แนวทางที่น่าจะกระตุ้นให้การรับรู้เพื่อแก้ปัญหาดีขึ้น โดยมี 3 แนวทางที่เกี่ยวข้องกับการกิน ดังนี้ การดื่มกาแฟสามารถกระตุ้นให้ระบบประสาทตื่นตัว โดยมีข้อแม้ว่าต้องนอนหลับให้อิ่มก่อน (ไม่ใช่ดูบอลจนตีห้าแล้วดื่มกาแฟเพื่อเข้าสอบในตอนแปดโมงเช้า ชาติหน้าบ่ายๆ คงสอบผ่าน) งานวิจัยทางประสาทวิทยาหลายชิ้นกล่าวว่า สารแคฟเฟอีนในกาแฟเป็นตัวกระตุ้นให้ระบบประสาทตื่นตัว มีสมาธิในงานที่น่าเบื่อหน่ายและปรับปรุงความคิดทุกอย่างที่เกี่ยวกับเชาว์ปัญญา ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาประมวลเหตุผลและตอบสนองของสมองให้สั้นลง อย่างไรก็ดีการได้รับแคฟเฟอีนไม่ได้หมายความว่าผู้ได้รับมีสมองไวตลอดไป เพราะมันดีแค่เพียงช่วงที่แคฟเฟอีนออกฤทธิ์เท่านั้นเอง เครื่องดื่มอีกประเภทที่มีการแนะนำว่า ดื่มแล้วความคิดความอ่านอาจดีขึ้น(นักการเมืองหลายคนที่เป็นจอมเขียนโครงการจึงจมปลักอยู่กับมัน) คือ ไวน์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้นที่จะทำให้การรับรู้ของสมองดีขึ้น โดยคาดว่าเป็นผลเนื่องจากสารต้านออกซิเดชั่นในไวน์เป็นตัวรับผิดชอบ ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ปริมาณที่เหมาะสมในการดื่มนั้นมักถูกละเลย เนื่องจากผู้ดื่มลืมรับรู้ว่าควรพอแค่ไหน กลับเอาแต่สนุกกับความผ่อนคลายสมองมากไปจนเมาแม้ต้องเข้าประชุม…… แนวทางที่สามนั้นไม่ใช่ตัวอาหารแต่เป็นการปรับพฤติกรรมการการกินที่แปลกมาก โดยแนะนำว่า ถ้าอยากให้สมองแล่นควรงดอาหารก่อนทำกิจสำคัญ ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลพบว่า หนูทดลองที่ถูกงดให้อาหารมีการรับรู้ต่อข้อมูลดีกว่าอีกกลุ่มที่ได้อาหาร ผลการทดลองนี้นักวิจัยอภิปรายสรุปความหมายว่า เราน่าจะทำงานได้ดีขึ้นเพราะเราต้องการให้มันเสร็จเสียทีเพื่อจะได้กินอาหาร คล้ายกับเป็นการสร้างแรงจูงใจของพระเจ้าตากสินที่สั่งทุบหม้อข้าวก่อนการบุกยึดเมืองจันทบุรีกระมัง ดังนั้นโดยสรุปแล้วการที่เด็กจะฉลาดหรือไม่ฉลาดนั้น อาจต้องรอการค้นคว้าในอนาคตที่สามารถพิสูจน์ได้จริงทางวิทยาศาสตร์ว่า ปัจจัยการกินอาหารอะไรหรือใช้กระบวนการอย่างไรจึงทำให้สมองเด็กฉลาดถาวรพ่วงกับการเป็นคนดีของสังคมด้วย   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point