ฉบับที่ 249 กระแสต่างแดน

ดราม่า (ไก่) เกาหลี        สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเกาหลี นอกจากดราม่าที่ดูแล้วติดหนึบ ก็เห็นจะเป็น “KFC” Korean Fried Chicken หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไก่ทอดเกาหลี” นั่นเอง เมนูไก่ทอดที่ว่านี้เป็น “อาหารเกาหลี” ที่คนชอบมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของคน 8,500 คนจาก 17 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยสถาบันส่งเสริมอาหารและกระทรวงเกษตรของเกาหลี ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา   แต่การโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นเมื่อนักวิจารณ์ชื่อดังคนหนึ่งถามในเฟสบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าภูมิใจจริงหรือ” ไม่เห็นมีส่วนผสมที่เป็นของเกาหลีดั้งเดิม แถมไก่เลี้ยงในเกาหลีก็ตัวเล็กและเนื้อน้อยจนต้องปรุง “ซอส” ให้เป็นจุดขายแทน แล้วยังบอกอีกว่า “คนมีเงิน” เขาไม่กินหรอก แน่นอนว่าสมาคมผู้ผลิตไก่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ส่วน “คนมีเงิน” ที่ถูกพาดพิงก็รีบแสดงตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดเกาหลีทันที (ไก่เนื้อที่เกาหลี จะถูกจับขายเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม)  ไม่หวาน ขายไม่ออก?        บริษัทมอนเดลีซ เปิดตัว “โอรีโอ ซีโร่” ในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองเทรนด์จากโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ “ลด” หรือ “ปราศจาก” น้ำตาล กำลังมาแรง ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดมากนัก ที่เลือกทดลองในตลาดจีนก่อนก็เพราะโอรีโอที่ขายในจีนเป็นสูตรที่หวานน้อยกว่าที่ขายในอเมริกาอยู่แล้ว  การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “คุกกี้ไร้น้ำตาล” จึงน่าจะไม่ยาก บริษัทบอกว่าสารที่ใช้แทนคือ “มอลทิทอล” ที่ไม่ได้ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปมากนัก ถ้าไม่ได้กินเป็นประจำ ก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คุกกี้ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ข้อมูลจากบริษัทการตลาดในจีนระบุว่า คำว่า “ไม่มีน้ำตาล” ที่แสดงบนฉลากอาหาร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีนมากนัก เครื่องดื่มประเภทไร้น้ำตาลในจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.25 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2019) แต่บริษัทยืนยันจะขายขนมสูตรใหม่นี้ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะปังแน่นอน  อีกกลุ่มเสี่ยง        ในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอย่างปกติได้คือโรคสมองเสื่อม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55.2 ล้านคน ร้อยละ 75 ของประเทศทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจาก “ดิสรัปชั่น” ทางด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหรือความบกพร่องทางสมอง เมื่อเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสในปี 2020 นั่นหมายความว่า “ผู้ป่วย” โรคสมองเสื่อมในระยะแรก จะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้เพราะไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแย่ลงเพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวจากญาติพี่น้อง และองค์การอนามัยโลกยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคสมองเสื่อม มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย  หมดทางสู้        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรีลังกาปฏิเสธปุ๋ยออกานิก 20,000 ตันที่สั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่าปุ๋ยล็อตดังกล่าวมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Erwinia ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่า ธนาคารประชาชนแห่งศรีลังกาก็ระงับการชำระเงินค่าปุ๋ย 4.9 ล้านเหรียญให้กับบริษัทชิงเต่า ซีวิน ไบโอเทค (Qingtao Seawin Biotech) ตามคำสั่งศาล จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำธนาคารนี้ ส่วนชิงเต่าฯ ซึ่งส่งออก “ปุ๋ยสาหร่าย” ไปยัง 50 กว่าประเทศ รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ก็เรียกร้องค่าชดเชยที่ “เสียชื่อ” ไปถึง 8 ล้านเหรียญ เขายืนยันว่าปุ๋ยดังกล่าวผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานภายนอกแล้ว  ในที่สุดศรีลังกา (ซึ่งเป็นหนี้จีนอยู่ 5,000 ล้านเหรียญ) ก็ยอมจ่ายเงิน 6.7 ล้านเหรียญให้บริษัทชิงเต่าฯ นำปุ๋ยล็อตดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในเรือบรรทุกสินค้ากลับคืนไป แล้วจัดส่งปุ๋ยล็อตใหม่มาแทน ผู้บริโภคที่นั่นกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนและราคาแพง ซ้ำร้ายยังหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารปลอดภัย เพรารัฐฯ ยกเลิกแผนการทำเกษตรแบบออกานิกอีกด้วย  แผนสละแชมป์        สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหภาพยุโรปรวมกัน และมากกว่าจีนถึงสองเท่า รายงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในปี 2016 อเมริกาสร้างขยะพลาสติกถึง 42 ล้านตัน เฉลี่ยประมาณคนละ 130 กิโลกรัมต่อปี ตามด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ (99 และ 88 กิโลกรัมตามลำดับ) รายงานซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมาย Save Our Seas 2.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 ยังระบุอีกว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล เท่ากับการเทขยะหนึ่งคันรถลงทะเลทุกหนึ่งนาที และหากการทิ้งยังเป็นไปในอัตรานี้ เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลปีละ 53 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักปลาทั้งหมดในมหาสมุทรผู้จัดทำรายงานนี้เรียกร้องให้อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ และการติดตามควบคุมการทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2022 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >