ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2564

คปภ.มีคำสั่งห้าม "สินมั่นคง" ยกเลิกประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ          จากกรณีบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศยกเลิกแผนประกันภัยโควิด เจอ จ่าย จบ หรือ COVID 2 in1 อ้างเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19  ที่ไม่สามารถควบคุมได้จึงใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์นั้น  นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า จะใช้อำนาจตามกฎหมาย อาศัยมาตรการ 29 อนุ 2 ตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย เพื่อสั่งยกเลิกเงื่อนไขของสินมั่นคงประกันภัยทั้งหมด เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนเหมือนเดิม         ด้านนายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากกรณีที่สินมั่นคงประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ สมาคมได้ดำเนินการสอบถามบริษัทประกันวินาศภัยรายอื่นที่เป็นสมาชิก ซึ่งขายกรมธรรม์ประกันประกันโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ และได้รับแจ้งว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่ขายกรมธรรม์ดังกล่าวอยู่ ไม่มีนโยบายในการยกเลิกกรมธรรม์แต่อย่างใด จี้รัฐแก้กฎหมายพนันออนไลน์สถิติสูงช่วงโควิด        รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัย ได้ศึกษาภาพรวมการเล่นพนันออนไลน์ ชี้การสำรวจจากปี 2562-2564 มีรูปแบบไม่แตกต่างกันที่นิยมเล่นสูงสุด คือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง รองลงมาคือพวก slot machine และจำนวนผู้เล่นปี 2562  จากเดิม 8 แสนกว่าคนพุ่งสูงขึ้นมาในปี 2564 ประมาณ 1.9 ล้านคน ชี้ให้เห็นว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดมีผู้เล่นการพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น  จากการสัมภาษณ์พบว่า เป็นผู้เล่นกลุ่มใหม่และเป็นผู้เล่นออฟไลน์ ที่เปลี่ยนมาเล่นออนไลน์แทน เนื่องจากสถานที่ปิดจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้เล่นส่วนมากมีช่วงอายุเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็ว ส่วนใหญ่สาเหตุการเล่น ประมาณ 90% มาจากการเข้าถึงที่สะดวกง่าย โปรโมชั่น ปกปิดเป็นความลับ และมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกจับ รศ.นวลน้อย จึงแนะว่า รัฐควรมีการจัดการอย่างจริงจัง คิดในรูปแบบบริบทใหม่เพราะเศรษฐกิจสังคมมีการพัฒนาไปเยอะ ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือบทลงโทษการเล่นพนันออนไลน์  มีเพียงกฎหมายที่เกี่ยวกับการพนันที่ออกมาตั้งแต่ปี 2478 ถึงมีการปรับปรุงแต่ยังล้าสมัย ไม่ชัดเจนในบทลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย ควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการจัดการให้ชัดเจน ครอบคลุม กรณีหมิงตี้พบยื่นร้องเรียนกว่า 500 ราย ด้านมลพิษอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย         พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล ใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า ศูนย์รับแจ้งความเสียหาย สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ได้สอบปากคำผู้ที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 500 ราย รวมมูลค่าความเสียหายที่ได้รับแจ้งจากผู้ได้รับผลกระทบเบื้องต้นประมาณ 250 ล้านบาท ด้านกรมควบคุมมลพิษ โดยนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้ประสานสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 (นครปฐม) และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 (นนทบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ คพ. ในการประชุมหารือเพื่อสรุปความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังเพลิงไหม้โรงงานดังกล่าว จากผลการตรวจสอบพบว่าสถานการณ์มลพิษในพื้นที่ดีขึ้นตามลำดับ เหลือเพียงการตรวจสอบสารเคมีและกากของเสียอันตรายที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่โรงงาน เพื่อหาแนวทางการจัดการ บำบัดและขนย้ายออกไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป          “ในส่วนของการสื่อสารกับประชาชน คพ.ได้จัดทำอินโฟกราฟิกให้ความรู้ในเรื่องการข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนเมื่อกลับเข้าที่พักอาศัยหลังเกิดเพลิงไหม้ และคำแนะนำการใช้น้ำรอบพื้นที่เกิดเหตุ ซึ่งน้ำฝน น้ำคลอง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสและนำน้ำฝนมาใช้ในการอุปโภคบริโภคในช่วงนี้ ส่วนน้ำประปา สามารถใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ ประชาชนที่มีการรองน้ำประปาใส่ภาชนะไว้ ให้มีฝาปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการปนเปื้อน”  ขึ้นภาษีผ้าอนามัยแบบสอด         จากกรณีมีราชกิจจานุเบกษาประกาศ ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2564  ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนเกิดแฮชแท๊กเทรนด์ทวิตเตอร์  #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคกลัวว่าจะมีการขึ้นภาษี เนื่องจากถูกจัดเป็นเครื่องสำอางนั้น         นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึง กรณีที่มีการประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง จะทำให้ต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอัตราภาษีของผ้าอนามัยอยู่ที่ 30% และกรมสรรพสามิตไม่มีนโนบายการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยตามที่เป็นข่าว และไม่เคยมีการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอม ในอัตราภาษีตามมูลค่า 8% ทั้งนี้ ปัจจุบันผ้าอนามัยไม่ถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่สตรีต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าส่งผลกระทบ ก็ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ นสพ.ฐานเศรษฐกิจพาดหัวข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง         วันที่ 11 กรกฎาคม 2564 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจและในเว็บไซต์ข่าว  ได้ทำการพาดหัวข่าวว่า “เปิดปมศาลปกครองกลาง ไฟเขียวดีล ‘ซีพี-โลตัส’ ยกคำฟ้อง 37 องค์กรผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะผู้ฟ้องคดีนี้ ได้ชี้แจงว่า เป็นการพาดหัวข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง สร้างความเข้าใจผิดว่าศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องคดีการควบรวม ซีพีและโลตัส ซึ่งข้อเท็จจริงคือศาลเพียงยกคำร้องกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ “ไฟเขียว ดีล ซีพี-โลตัส” การรายงานข่าวเช่นนี้ถือเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบให้กับคู่กรณีของคดี ในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งการกระทำนี้อาจถือว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของศาล ผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้ข้อเท็จจริงคือ ในระหว่างการพิจารณาคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า มูลนิธิและผู้ร่วมฟ้อง ได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค คู่แข่งทางการค้า และผู้ผลิตสินค้าการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค ไว้เป็นการชั่วคราว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ายังไม่มีเหตุให้คุ้มครอง แต่ในส่วนของคดี ศาลยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำคำคัดค้านคำให้การยื่นต่อศาล การกระทำเช่นนี้อาจถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลเท็จกับสาธารณะ เป็นการหมิ่นศาล และผิดจรรยาบรรณสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ แก้ไขสาระสำคัญของข่าวให้ถูกต้อง ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 เพื่อนบ้านเป็นโรงงานส่งเสียงดัง หรือเลี้ยงสุกรมีกลิ่นเหม็น

เพื่อนบ้านเป็นโรงงานส่งเสียงดัง หรือเลี้ยงสุกรมีกลิ่นเหม็นเราจะคุ้มครองสิทธิตนเองอย่างไรเมื่อพูดถึงการคุ้มครองสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของตนเอง เพื่อให้ได้อยู่ในที่อยู่อาศัยหรือสิ่งแวดล้อมที่ดี ถือเป็นสิทธิผู้บริโภคสากลที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ของเรา  และกฎหมายไทยเราก็มีการเขียนเรื่องนี้ไว้ว่า ใครก็ตามจะใช้สิทธิ หากทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดือดร้อนเกินไปกว่าปกติ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้น มีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อจัดการความเดือดร้อน ทั้งนี้ไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนเพื่อให้เห็นภาพชัด ก็ขอยกตัวอย่างคดีหนึ่ง โจทก์เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง และบังเอิญเพื่อนบ้านเปิดฟาร์มเลี้ยงสุกร อยู่ไปอยู่มาดูแลไม่ดี เพราะต่อมาได้เลี้ยงสุกรมากขึ้นจึงได้ใช้ผ้าพลาสติกคลุมคอกสุกรแล้วใช้พัดลมดูดเอากลิ่นเหม็นสิ่งปฏิลออกจากคอกสุกรส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นรบกวนสุขภาพและอนามัยของโจทก์ เขาทนไม่ไหว ก็ไปฟ้องคดี ให้เพื่อนบ้านกำจัดสิ่งเน่าเหม็น และย้ายที่เลี้ยงไปที่อื่น  ศาลก็ตัดสิน โดยใช้หลักกฎหมายดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2555 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่  8309/2548คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2555ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337 บัญญัติไว้ในกรณีที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดใช้สิทธิของตนจนเป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะใดๆเกินกว่าที่บุคคลทั่วไปจะทนได้ เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป อันเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนจากกลิ่น เสียง แสงสว่าง หรือมลภาวะนั้นให้มีสุขลักษณะที่ดิน โดยคำฟ้องของ ผ.มีคำขอให้ ฉ.กำจัดสิ่งปฏิกูลที่รบกวนสุขภาพอนามัยของ ผ.ด้วย แสดงให้เห็นว่าการขจัดความเดือนร้อนที่ ผ.ได้รับอาจทำได้โดยวิธีอื่น หาใช้ต้องขับไล่ ฉ.ตามฎีกาของ ผ. ดังนั้น ที่ ผ.ฎีกาขอให้ขับไล่ ฉ.ให้ขนย้ายสุกรไปเลี้ยงให้ห่างไกลจากบ้านของ ผ.จึงเป็นวิธีการที่เกินกว่าความจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผ.ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า อบต.ออกข้อบัญญัติอย่างไร รวมทั้งไม่นำสืบว่า ฉ.ฝ่าฝืนข้อบัญญัติดังกล่าวอย่างไร คำขอของ ผ.ที่ให้ ฉ.กำจัดสิ่งเน่าเหม็นอันเกิดจากมูลสุกรเป็นคำขอที่ไม่ชัดเจนพอที่จะบังคับให้ ฉ.ปฏิบัติได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เจตนารมณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1337 เป็นคนละปัญหากับการดำเนินการของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะเข้าแก้ไข คำขอของ ผ.ไม่มีความหมายกว้างเกินไปและไม่ชัดเจนพอที่ ฉ.จะปฏิบัติได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ผ. ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ ฉ.กำจัดสิ่งปฎิกูลเน่าเหม็นอันเกิดสจากมูลสุกรที่ ฉ.เลี้ยงไว้คำพิพากษาที่ 8309/2548การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่ การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองเมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไปการตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่นค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 กระแสต่างแดน

ฮ่องกงกับปัญหา “ห้องกรง” แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่และมีความยอดเยี่ยมในหลายๆ ด้าน แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกของเมืองพื้นที่จำกัดอย่างฮ่องกงเห็นจะหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การสำรวจครั้งล่าสุดพบว่าประชากรกว่า 80,000 คน (ส่วนใหญ่เป็นคนว่างงาน  คนรายได้น้อย ผู้อพยพ คนพ้นโทษออกจากคุก หรือคนที่สติไม่ดี) อาศัยอยู่ในที่ๆ แทบไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ที่อยู่อาศัย” ได้เลย “ห้องกรง” หรือ “บ้านกรง” นั้นจะมีพื้นที่ประมาณ 1 เตียงเดี่ยว หรือประมาณ 3 ตารางเมตร ที่ใช้ลูกกรงตาข่ายกั้นห้องแทนผนังทึบ แต่ขอบอกว่าค่าเช่าไม่ถูกเลย เขาจ่ายกันประมาณ 1,400 เหรียญ (5,600 บาท) ต่อเดือน อัตรานี้เพิ่มจาก 1,000 เหรียญเมื่อต้นปี ส่วน “บ้านกล่อง” นั้นก็พอจะอยู่กันได้หลายคนหน่อย ครอบครัวหนึ่งซึ่งประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว อาศัยอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตารางเมตร พวกเด็กๆบอกว่าไม่มีปัญหา เพราะสามารถขึ้นไปกินข้าว ทำการบ้าน หรือเล่นเกมต่างๆ บนหลังคาตึกได้ ครอบครัวนี้ไม่คิดจะขยับขยายไปไหน เพราะค่าเช่า 1,500 เหรียญ (6,000 บาท) ต่อเดือนนั้นเหมาะสมแล้วกับรายได้ 4,000 เหรียญ (16,000 บาท) ของครอบครัว   บ้านกรงและบ้านกล่องเหล่านี้ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในย่าน ชัม ชุย โป (ที่คนไทยรู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งขายสินค้าแฟชั่นราคาส่งแบบประตูน้ำบ้านเรา) ที่แคบไม่เท่าไร แต่ปัญหาคือ พื้นที่แออัดในตึกสูงเหล่านี้ทำให้การระบายอากาศไม่ดีเท่าที่ควร เขาสำรวจพบว่าร้อยละ 80 ของผู้อยู่อาศัยใน “กล่อง” และร้อยละ 70 ของผู้อยู่อาศัยใน “กรง” นั้น มีอาการของโรคเรื้อรังอย่างใดอย่างหนึ่ง ร้านนี้สตรีเท่านั้น กระทรวงแรงงานของซาอุดิอาระเบียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการบังคับให้บรรดาร้านเพชร ร้านทอง เปลี่ยนมาจ้างพนักงานที่เป็นสตรีทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่เคยออกมาก่อนหน้านั้น ที่ระบุว่าห้างร้านใดๆ ที่ขายสินค้าสำหรับผู้หญิงจะต้องใช้พนักงานที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น แต่ฝ่ายร้านทองพากันออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่างานลักษณะนี้ผู้หญิงไม่น่าจะเอาอยู่ เพราะร้านเหล่านี้จะมีผู้คนมากมายเบียดเสียดกันตลอดวัน ปะปนกันไปทั้งลูกค้า ทั้งโจรนอกเครื่องแบบ บ้างก็ว่านโยบายนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจ้างงาน เนื่องจากทุกวันนี้พนักงานขายในร้านค้าต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชายหนุ่ม ซึ่งขายกันมาจนมีความเชี่ยวชาญ ถ้าเปลี่ยนเป็นจ้างผู้หญิงแล้ว หนุ่มๆ เหล่านี้จะไปทำอาชีพอะไร  กินได้โล่ งานวิจัยในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ระบุว่า ปริมาณการบริโภคช็อกโกแลตของประชากรนั้นมีส่วนสัมพันธ์กับจำนวนคนที่ได้รับรางวัลโนเบลในประเทศนั้นๆ สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตราส่วนของผู้ได้รับรางวัลโนเบลต่อจำนวนประชากรสูงที่สุด นั้นเขากินช็อกโกแลตกันเฉลี่ยคนละ 120 แท่ง (แท่งละ 85 กรัม) หรือ 10.2 กิโลกรัม/ปี  ตามด้วยประเทศสวีเดน และเดนมาร์ก ที่ประชากรมีการบริโภคช็อกโกแลตรองลงมา ส่วนสหรัฐฯ นั้นอยู่ในระดับกลางๆ งานวิจัยระบุว่าถ้าสหรัฐต้องการมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลเพิ่มขึ้น 1 คน ประชากรอเมริกันก็ต้องช่วยกันบริโภคโกโก้เพิ่มขึ้นอีก 125 ล้านกิโลกรัมต่อปี เอริค คอร์เนล แพทย์ชาวอเมริกันที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในปีค.ศ. 2001 ให้ความเห็นว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะการบริโภคช็อกโกแลตนั้นสัมพันธ์กับความมั่งคั่งของประเทศ และความมั่งคั่งของประเทศนี้เองที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานวิจัยคุณภาพสูงควรค่าแก่รางวัลโนเบล แต่หมอคอร์เนลย้ำว่า ต้องบริโภคช็อกโกแลตชนิดที่น้ำตาลน้อย (dark chocolate) มันถึงจะมีประโยชน์ต่อสมอง หัวใจ และการควบคุมน้ำหนักตัว พูดง่ายๆ คืออย่าพลาดไปทานขนมรสช็อกโกแลตหวานๆ เข้าทีเดียว เดี๋ยวจะได้ผลในทางตรงกันข้าม นี่คงเป็นนิมิตหมายอันดีของคนทั้งโลก เพราะเดี๋ยวนี้คนเราหันมาบริโภคช็อกโกแลตกันมากขึ้น ทุกๆ วินาที เราชาวโลกจะบริโภคช็อกโกแลตกันประมาณ 95 ตัน ที่ญี่ปุ่น ยอดขายช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ในจีนยอดขายก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 แม้แต่ในอินเดียที่คนร้อยละ 50 ไม่เคยลิ้มรสช็อกโกแลต ยอดขายก็ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 แต่คุณทราบหรือไม่ว่าร้อยละ 85 ของตลาดช็อกโกแลตโลก เป็นของบริษัทข้ามชาติเพียง 6 เจ้า ได้แก่ เฮอร์ชีย์  มารส์  ฟิลลิปมอริส เนสเล่  แคดบิวรี่ และเฟอเรโร่   ไม่ร้องก็ต้องลด ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียนบริการโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ตัดสินใจปลดพนักงานออก เพราะจำนวนเรื่องร้องเรียนลดลงไปจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ 20 เนื่องจากองค์กรนี้ได้รับเงินสนับสนุนตามจำนวนเรื่องร้องเรียน รายได้ของหน่วยงานจึงลดลงไปโดยปริยาย พนักงานจำนวนหนึ่งจากทั้งหมด 266 คนจึงต้องออกไปหางานใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของที่ออสเตรเลียก็คล้ายๆกับที่บ้านเรา ได้แก่ สัญญาณไม่ดี ค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม และการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค ณ จุดขาย รัฐที่มีเรื่องร้องเรียนต่อหัวประชากรมากที่สุด ได้แก่ รัฐวิคตอเรีย ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ย 10.6 เรื่อง ต่อประชากร 1,000 คน  แต่ถ้าดูในระดับเมืองแล้ว เมืองบริสเบนของรัฐควีนส์แลนด์ มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดถึง 15.6 เรื่อง ต่อประชากร 1,000 คน   ที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าปีนี้จะมีเรื่องร้องเรียนโดยรวมลดลงจากปีก่อน แต่เรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกลับเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 10 สืบเนื่องจากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง   แม้ว่าจะมีคนหลายหมื่นที่ยังมีเรื่องอยากร้องเรียน แต่องค์กรนี้เขายังยืนยันจะลดจำนวนพนักงาน โดยให้เหตุผลว่าข้อบังคับใหม่ที่ออกมาควบคุมการให้บริการโทรคมนาคมให้เป็นมิตรต่อผู้บริโภคมากขึ้นนั้น คงจะทำให้เรื่องร้องเรียนลดลงไปกว่าเดิม   ของถูก เหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เมืองการาจี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดในปากีสถานที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 250 ราย   ข่าวนี้ทำให้เกิดคำถามมากมาย ตั้งแต่มาตรฐานความปลอดภัยของสถานประกอบการ การคอรัปชั่นในรัฐบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ โรงงานดังกล่าว มีคนทำงานอยู่ 500 คน (รวมผู้หญิง 50 คน) ในขณะเกิดเหตุ (หลังหกโมงเย็น) สาเหตุของไฟไหม้ยังไม่ชัดเจน แต่ที่ชัดคือ โรงงานซึ่งเป็นตึกสองชั้นที่เก็บสต๊อกสีย้อมและผ้าฝ้ายไว้ในตัวอาคารนั้น มีทางออกเพียงทางเดียว และไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ทางหนีไฟ” ไฟไหม้ในเอเชียแต่ร้อนกันไปถึงยุโรป เมื่อสื่อมวลชนออกมาเปิดเผยว่าโรงงานดังกล่าวคือโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับห้างค้าปลีกสัญชาติเยอรมันที่เน้นสินค้าประเภทเสื้อผ้าราคาประหยัดยี่ห้อ KiK นั่นเอง จึงเกิดเสียงวิพากษ์กันหนาหูว่านักธุรกิจเยอรมันไม่ได้ใส่ใจกับสภาพการทำงานของคนที่ทำงานในโรงงาน เท่าที่ควร KiK แสดงความรับผิดชอบด้วยการมอบเงิน 500,000 เหรียญ ให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่องค์กรพัฒนาเอกชน Sudwind เขาออกมาเรียกร้องให้บริษัทมีมาตรการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ต้องดูแลผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุไฟไหม้แต่ไม่มีงานทำหรือไม่สามารถทำงานได้ด้วยเช่นกัน ข่าวบอกว่าการณรงค์เรื่องความรับผิดชอบต่อสภาพการทำงานในโรงงานผลิตนี้ ยังไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร เพราะกฎหมายเยอรมันยังไม่ได้บังคับให้ผู้ประกอบการตรวจสอบสภาพการทำงานในบริษัทที่รับจ้างผลิต ที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น ที่ผ่านมานั้นเป็นการทำตามความสมัครใจมากกว่า แต่เรื่องนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยเร็ว เพราะขณะนี้คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพิจารณาออกข้อบังคับให้บริษัทต่างๆ เปิดเผยข้อมูลว่าสินค้าของตัวเองนั้นผ่านกระบวนการผลิตอย่างไร โดยใคร ที่ไหน ในสภาพการทำงานเช่นใด เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >