ฉบับที่ 220 โรงพยาบาลบริการไม่เป็นมิตร

        ทุกคนต่างทราบดีว่า การเข้าใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐนั้น ความสะดวกสบายเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากความแออัดของผู้ป่วยที่รอเข้าใช้บริการในแต่ละวัน จากสถิติสาธารณสุขระบุว่า ในปี พ.ศ.2561 รพ. รัฐ มีจำนวนผู้ป่วยนอกสูงถึง 71.83 ล้านคน ตรวจรักษา 247.34 ล้านครั้ง เฉลี่ย 3.44 ครั้งต่อคน (ที่มา ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) ด้วยเหตุนี้ความไม่พอใจต่องานบริการจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอด ซึ่งบางเรื่องก็สามารถจัดการแก้ไขให้ลุล่วงได้ ขอเพียงแต่ละฝ่ายได้สื่อสารกันด้วยเหตุผล         คุณเพียงใจเข้าใช้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อกลับมารักษาตัวที่บ้านพบว่าเกิดอาการหน้าบวม ตาบวม คาดว่าน่าจะเกิดจากการแพ้ยาจึงหยุดยา แต่อาการยังไม่ดีขึ้นติดต่อกับทางฝ่ายเภสัชกรรมของโรงพยาบาลได้รับคำแนะนำให้มาที่แผนกฉุกเฉิน จึงขอให้ญาติช่วยพามาส่งที่โรงพยาบาล เวลาประมาณ 12.00 น. เมื่อพยาบาลห้องฉุกเฉินวัดความดันให้บอกว่า “ทำไมไม่ไปที่ตึก...” (ซึ่งเป็นตึกที่ตรวจรักษาทั่วไป) จากนั้นให้เจ้าหน้าที่เข็นรถพาไปส่งยังตึกดังกล่าว แต่เมื่อเข็นรถมาได้สักพัก เจ้าหน้าที่เข็นรถถามญาติผู้ป่วยว่า “รู้จักตึก...ใช่ไหม ไปถูกไหม” ญาติตอบไปว่า “รู้จัก” เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า “ถ้างั้นเข็นไปเองนะ” แล้วเดินจากไปทันที         ญาติคุณเพียงใจจึงต้องช่วยเข็นรถพามาที่ตึกดังกล่าว คราวนี้เมื่อพยาบาลคัดกรองตรวจสอบประวัติคนไข้แล้วได้แจ้งว่า “รอ 4 โมงเย็นนะค่อยพากลับไปตรวจที่ตึกเดิม(ฉุกเฉิน)” คุณเพียงใจรู้สึกว่าตนเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี คำแนะนำก็ทำให้เกิดความลำบากในการรักษา จึงโทรแจ้งประชาสัมพันธ์ของโรงพยาบาลเพื่อขอคำแนะนำ ก็ได้รับแจ้งว่า “คุณไปหาข้าวกินก่อนแล้วค่อยมาตามนั้น เพราะที่ตึก...เตียงไม่ว่าง” คุณเพียงใจจึงอดตัดพ้อไม่ได้ว่า “ถ้าดิฉันตายไปหรือเป็นอะไรมา โรงพยาบาลรับผิดชอบแล้วกัน” ฝ่ายประชาสัมพันธ์ตอบกลับว่า “ตกลงร้องเรียนใช่ไหมคะ” คุณเพียงใจจึงแจ้งมาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า อยากให้ช่วยบอกทางโรงพยาบาลให้ปรับปรุงแก้ไขวิธีปฏิบัติงาน เพราะเห็นว่าไม่เป็นมิตรกับประชาชน แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์ฯ ได้ขอข้อมูลจากคุณเพียงใจเพิ่มเติมเพื่อทำหนังสือถึงทางโรงพยาบาล ขอให้ตรวจสอบคุณภาพบริการและแก้ไขปัญหา ซึ่งต่อมาได้รับการแจ้งว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางโรงพยาบาลได้รับทราบปัญหาแล้วและได้แก้ไขเรื่องดังกล่าว ทั้งเรื่องการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรในเรื่องการเข็นรถและการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ส่วนเรื่องความแออัดและความล่าช้าในการตรวจรักษา ทางโรงพยาบาลได้พิจารณาที่จะจัดตั้งคลินิกเสริมในช่วงบ่ายโดยเร็วที่สุด” ศูนย์ฯ ได้ส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อผู้ร้อง คุณเพียงใจพอใจที่ทางโรงพยาบาลมีแนวทางแก้ไขปัญหาและเข้าใจเรื่องความแออัดของผู้ป่วย แต่ก็อยากที่จะเห็นบริการที่เป็นมิตรจากโรงพยาบาลเพียงเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >