ฉบับที่ 267 กระแสต่างแดน

ปรับปรุงมารยาท          หนึ่งในเรื่องร้องเรียนบริการแท็กซี่กรุงโซลอันดับต้นๆ คือ มารยาทของคนขับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดจาไม่ดีกับผู้โดยสาร เพื่อสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริการขนส่งสาธารณะ เทศบาลกรุงโซลจึงออกระเบียบที่เข้มขึ้น ก่อนหน้านี้ค่าปรับอยู่ที่ 100,000 วอน (2,700 บาท) แต่ระเบียบใหม่เพิ่มค่าปรับเป็น 200,000 วอน และเพิ่มโทษให้ “หยุดขับ” เป็นเวลาหนึ่งเดือน รวมถึงอาจยกเลิกใบอนุญาตขับแท็กซีด้วย คนขับแท็กซีบุคคลยังต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และถูกตัดเงินช่วยเหลือรายเดือนจากเทศบาล (2,500 วอน หรือ 65 บาท) เป็นเวลาหกเดือน ส่วนคนขับที่สังกัดบริษัทจะถูกตัดเงินช่วยเหลือ (5,000 วอน) เป็นเวลา 2 เดือน หากถูกร้องเรียนเข้ามา 10 ครั้ง ผู้โดยสารก็มีโอกาสถูกปรับเช่นกัน ระเบียบที่เริ่มใช้เมื่อแปดปีที่แล้วกำหนดให้ผู้โดยสารที่อาเจียนในรถแท็กซีต้องจ่ายค่าปรับ 150,000 วอน เช่นกัน งดจ่ายยา         ข่าวครูอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตนิวไทเปให้ยากล่อมประสาทกับเด็ก จนเด็กมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง นำไปสู่การรวมตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองหน้าศาลากลางเมืองไทเป เพื่อเรียกร้องให้รัฐดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และกำหนดบทลงโทษให้หนักขึ้น สารที่ตรวจพบในเลือดของเด็กคือฟีโนบาร์บิทัล ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มักใช้ในการบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล คาดว่าเด็กน่าจะได้รับยาดังกล่าวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ผ่านมา ข่าวนี้ส่งผลให้สังคมไต้หวันออกมาวิพากษ์วิจารณ์รวมถึง “บุลลี่” โรงเรียนและคุณครูอนุบาลอย่างหนัก และเกินเลยไปจากโรงเรียนและครูที่เป็นข่าว สหภาพโรงเรียนอนุบาลจึงออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้สมาชิกยกเลิกรับภาระดูแล “ให้ยา” กับนักเรียนที่ป่วย โดยขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กที่บ้านเอง รถไฟเชื่อมสัมพันธ์         ประชาชนและผู้อยู่อาศัยถาวรในฝรั่งเศสและเยอรมนีที่มีอายุระหว่าง 18 – 27 ปี สามารถลงทะเบียนขอรับ “ตั๋วรถไฟฟรี” เพื่อใช้เดินทางเป็นเวลา 7 วันโดยไม่กำหนดจำนวนเที่ยว ตั๋วดังกล่าวมีทั้งหมด 60,000 ใบ (แจกในเยอรมนี 30,000 ใบให้ไปขึ้นรถไฟเที่ยวในฝรั่งเศส และแจกในฝรั่งเศส 30,000 ใบเพื่อให้นำไปใช้เดินทางในเยอรมนี) ใครมาก่อนได้ก่อน โดยเขาจะส่งตั๋วในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปทางอีเมล โครงการดังกล่าวเป็นการฉลองความสัมพันธ์ 60 ปี ระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก และยังเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศด้วยรถไฟ ซึ่งเป็นวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มากขึ้นด้วย เงื่อนไขการใช้ตั๋วก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ไปได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกขบวน ไม่เว้นแม้แต่รถไฟความเร็วสูง เพียงแต่ถ้าขึ้นขบวนที่มี “ค่าธรรมเนียมการจอง” ก็ต้องจ่ายเอง   ไม่ง่ายตลอด          คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission ฟ้องบริษัท Amazon ต่อศาลเมืองซีแอตเทิล ด้วยข้อกล่าวหาว่าบริษัท “หลอก” ให้ผู้บริโภคต่ออายุบริการ Amazon Prime โดยไม่ได้ให้ความยินยอม (เพราะไม่รู้ตัว) และยังออกแบบระบบให้การขอยกเลิกบริการเป็นเรื่องยาก FTC ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องความซับซ้อนของระบบ ที่ต้องผ่าน 5 ขั้นตอนกว่าจะยกเลิกได้(หากใช้คอมพิวเตอร์) และ 6 ขั้นตอน (หากทำผ่านมือถือ) ทั้งนี้ FTC ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการปฏิบัติดังกล่าวในอนาคตด้วย บริษัทให้ข้อมูลว่าเขาตั้งใจออกแบบให้ทั้งการสมัคร ต่ออายุ และการยกเลิกบริการเป็นเรื่องง่ายเพื่อเอาใจสมาชิก และบอกว่าการฟ้องร้องดังกล่าวมีข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ถูกต้อง Amazon Prime เป็นผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมีสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และมีรายได้ต่อปี 25,000 ล้านเหรียญ ค่าเสียหายหนักมาก        นักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนชาวอิตาลีสองคนจากองค์กร Last Generation ถูกศาลวาติกันสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 28,000 ยูโร (หนึ่งล้านกว่าบาท) หลังไปประท้วงชูป้าย “ไม่เอาก๊าซ ไม่เอาถ่านหิน” ใต้ประติมากรรมหินอ่อนโบราณ “เลโอคูนและลูกชาย” ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีค่าปรับ 1,620 ยูโร (62,400 บาท) และโทษจำคุกรอลงอาญาอีกเก้าเดือน พวกเขาบอกว่าโทษดังกล่าวไม่ยุติธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้แตะต้องตัวรูปปั้นเลย แค่พยายามใช้กาวเพียงเล็กน้อยติดเข้ากับฐานของรูปปั้นเท่านั้น และการกระทำของพวกเขาก็สะท้อนเจตนารมณ์ของพระสันตปาปาฟรานซิสที่ต้องการให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รูปปั้นดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์วาติกัน เป็นหนึ่งในงานประติมากรรมชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประติมากรรมเดวิด และวีนัส  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 อะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติ ปี 2565

        สารอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 (Aflatoxin M1) M หมายถึง Milk ก็คืออะฟลาท็อกซินที่พบในน้ำนมสัตว์เมื่อโคนมกินอาหารที่ปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ซึ่งเป็นสารพิษก่อมะเร็งที่สร้างจากเชื้อรา จะถูกแปลงเป็นอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แล้วหลั่งออกมาในน้ำนม หากผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กๆ ดื่มนมที่ปนเปื้อนนี้เข้าไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้         ในฉลาดซื้อฉบับที่ 203 (มกราคม 2561) ได้เผยผลทดสอบปริมาณสารอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติจากร้านค้าทั่วไป จำนวน 27 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แต่อยู่ในปริมาณที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX)         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติจำนวน 24 ตัวอย่าง แบ่งเป็น นมโรงเรียน 8 ตัวอย่าง จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร และผลิตภัณฑ์นมรสธรรมชาติจำนวน 16 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อ จากร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ และตัวแทนจำหน่ายนม เมื่อเดือนมกราคม 2565 นำมาทดสอบโดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อดูว่ายังมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 อยู่หรือไม่ ถ้ามี มีปริมาณเท่าไรเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่  414)  พ.ศ. 2563  เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ระบุว่า น้ำนม คือ น้ำนมดิบจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือเติมแต่งส่วนผสมอื่น  มีลักษณะเป็นของเหลวสำหรับการบริโภคโดยตรง หรือนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปก่อนการบริโภค กำหนดให้มีอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในน้ำนมได้ไม่เกิน 0.5  ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลการทดสอบ         จากนมทั้งหมด 24 ตัวอย่าง พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ใน 20 ตัวอย่าง พบปริมาณในช่วง < 0.20 – 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และไม่พบ 4 ตัวอย่าง ดังนั้นทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดสรุปเปรียบเทียบผลทดสอบปี 2561 กับปี 2565         จากตารางการเปรียบเทียบนี้พบว่า เปอร์เซ็นต์ตัวอย่างนมที่พบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ปริมาณที่พบในนมโรงเรียน และปริมาณน้อยที่สุดที่พบในนมที่ขายทั่วไปนั้น ต่างก็มีค่าตัวเลขที่ลดลง แต่ปริมาณที่พบสูงสุดในนมที่ขายทั่วไปกลับมีค่าเพิ่มขึ้น 0.12 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาโดยไม่รวมยี่ห้อเดียวที่มีปริมาณสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้เข้าไปด้วย ในตัวอย่างนมที่ขายทั่วไปอื่นๆ จะพบปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 อยู่ที่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ภัยโควิดกับรถรับส่งนักเรียน

        การเข้ามาของโควิด-19 เกือบสองปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกชีวิตบนโลกต้องเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ   ซึ่งอาจจะมีบางส่วนที่เตรียมตัวตั้งรับอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ตั้งตัวรับไม่ทัน หลายธุรกิจต้องล้มพับแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ขณะที่อีกหลายธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ต่างต้องกัดฟันสู้ต่อ ทั้งที่มองไม่เห็นอนาคตว่าสิ่งที่เคยรุ่งโรจน์จะกลับมาได้หรือเปล่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่แทบจะล่มสลายลงในช่วงเวลาเพียงสองปีที่โควิด-19 คืบคลานเข้ามา         ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เพียงทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในทุกมิติต้องรีเซ็ตจัดระบบตัวเองใหม่เท่านั้น ระบบการศึกษาของชาติที่มีนักเรียนนับล้านคนอยู่ในระบบก็ได้รับผลกระทบที่ไม่น้อยไปกว่ากันด้วย อีกทั้งการไม่มีมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สำหรับนักเรียนทั่วประเทศของรัฐบาล ยิ่งส่งผลให้ระบบการศึกษาต้องหยุดชะงัก กระทรวงศึกษาธิการต้องสั่งการให้โรงเรียนทุกแห่งปรับการเรียนการสอนนักเรียนเป็นออนไลน์แทนการเรียนแบบออนไซต์หรือการไปโรงเรียนตามปกติ นัยนึงเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่อีกนัยนึงก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่รู้จะจัดการป้องกันให้ปลอดภัยได้อย่างไร         แม้การเรียนออนไลน์จะลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและติดเชื้อโควิด 19 ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการเรียนการสอนในโรงเรียนและการเดินทางระหว่างบ้านไปโรงเรียนของนักเรียน แต่ข้อจำกัดที่สำคัญของการเรียนออนไลน์ คือ การมุ่งสนองนโยบายรัฐเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมของนักเรียนส่วนใหญ่ เพราะนักเรียนจำนวนมากยังมีความไม่พร้อม และเข้าไม่ถึงหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นระบบอินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์จำเป็น เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ฯลฯ          แน่นอนว่าคงจะมีนักเรียนในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ตามภูมิภาคเท่านั้นที่มีศักยภาพพอจะเข้าถึงการเรียนสอนออนไลน์ แต่ยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศที่เข้าไม่ถึงสิ่งเหล่านี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซ้ำเติม และเพิ่มช่องว่างทางสังคมให้เด่นชัดมากขึ้น  โดยการตอกย้ำผ่านมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ไม่มีความชัดเจนหรือแนวทางแก้ไขปัญหา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่กล้าให้ความมั่นใจในความปลอดภัยนักเรียนทั่วประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ก่อนหน้านี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันสำหรับเด็กและนักเรียน แต่เมื่อรัฐบาลเริ่มจัดสรรวัคซีนสำหรับนักเรียนและกำหนดมาตรการให้วัคซีนกับนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปีแล้ว ก็คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียนสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้เหมือนเดิม         เพราะอย่างไรก็ดีชีวิตการเรียนของนักเรียนก็คือ การได้พบปะเพื่อนฝูง ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนสนธนาระหว่างกัน นี่คือชีวิตวัยเรียนที่มีคุณค่าที่มีข้อบ่งชี้ถึงการพัฒนาการของเด็กนักเรียนวัยนี้ มากกว่าการนั่งเรียนกับคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่ไม่มีตัวตน        เมื่อรัฐบาลประกาศให้ทุกคนต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ให้ได้ ถึงเวลาต้องเปิดประเทศและเปิดเรียนสำหรับนักเรียนทุกคนแล้ว โดยยืนยันแล้วว่า 1 พ.ย. 2564 คือ วันเปิดภาคเรียนเทอมสองของโรงเรียนทั่วประเทศ ท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้ปกครองที่ห่วงว่า ถ้านักเรียนไปโรงเรียนแล้วจะโชคร้ายติดโควิด-19 หรือไม่ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะออกประกาศเพิ่มความเชื่อมั่นว่า โรงเรียนและสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามหลักเกณฑ์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความไว้วางใจดีขึ้นแม้แต่น้อย         เพราะการเปิดเทอมครั้งนี้ หมายถึง การเดินทางของนักเรียนทั่วประเทศ โดยที่ยังมีนักเรียนจำนวนมากที่มีทางเลือกจำกัด ไม่มีพ่อแม่ไปส่งหรือไม่มีรถจักรยานยนต์ขับขี่ไปเอง นักเรียนเหล่านี้ต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะที่มีโอกาสต้องพบเจอเพื่อนนักเรียนจากโรงเรียนอื่นหรือบุคคลอื่นที่โดยสารมาในรถคันเดียวกัน โดยที่ไม่รู้ว่าคนเหล่านี้มีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดเป็นจุดเสี่ยงหรือคลัสเตอร์ใหม่สำหรับการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้ทุกเวลา และก็เป็นอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ภายหลังเปิดเทอมสองได้ไม่นาน หลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคต่างก็พบว่ามีนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 กันแล้ว เช่น โรงเรียนที่นครราชสีมา หรืออุบลราชธานีที่เกิดคลัสเตอร์รถรับส่งนักเรียน ส่งผลให้ต้องปิดโรงเรียนแล้วอย่างน้อย 2 แห่ง และอยู่ระหว่างการควบคุมอีก 3 แห่ง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มนี้ เกิดจากนักเรียนหลายพื้นที่มาใช้รถรับส่งนักเรียนคันเดียวกัน ทำให้การระบาดแพร่เชื้อเป็นไปอย่างรวดเร็ว นักเรียนจำนวนมากจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงตามไปด้วย         สิ่งเหล่านี้คือข้อเรียกร้องที่อยากสะท้อนไปถึงกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบก ในฐานะสองหน่วยงานหลักที่ต้องกำกับและจัดการความปลอดภัยของนักเรียนในทุกกลุ่ม และโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นช่องว่างของปัญหาที่รอการแก้ไข เพราะการป้องกันที่ยากที่สุด คือ การป้องกันในที่สาธารณะที่อยู่นอกเขตโรงเรียนนั่นเอง         ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาและกรมการขนส่งทางบกที่ต้องเป็นเจ้าภาพร่วมกันกำหนดมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนหรือรถโดยสารสาธารณะอย่างเป็นขั้นตอนที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง โดยความยินยอมร่วมมือของทุกฝ่าย (ถ้าขอความร่วมมือแล้วไม่ยอมก็ต้องมีมาตรการบังคับ) ทั้งโรงเรียน สำนักงานขนส่งจังหวัด ตำรวจ ผู้ปกครอง และคนขับรถรับส่งนักเรียน  เพื่อให้มั่นใจว่าการเดินทางไปกลับบ้านและโรงเรียนของนักเรียนทุกคนจะต้องปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 และจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนที่ยังเป็นปัญหาใหญ่หลอกหลอนอยู่จนวันนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ปัญหารถรับส่งนักเรียน ยังรอมาตรการที่จริงจังจากรัฐ

        รู้หรือไม่ ประเทศไทยมีนโยบายทางการศึกษาให้เด็กเรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถือเป็นสิทธิของเด็กและเป็นบริการของรัฐ ที่เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนถึงการศึกษาภาคบังคับรวม 12 ปี  ซึ่งนโยบาย “เรียนฟรี” ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยถึงสามฉบับติดต่อกัน (รัฐธรรมนูญปี 40 , 50 และ 60)           แม้บทบัญญัติด้านการศึกษาในรัฐธรรมนูญทั้งสามจะถูกสลับจับย้ายประโยคไปมา แต่ความหมายโดยรวมคือการเรียนฟรี 12 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในความเป็นจริงการศึกษาของรัฐที่ไม่มีค่าใช้จ่ายนั้นใช้ไม่ได้จริง ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางไปโรงเรียนด้วย ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงเป็นภาระและความรับผิดชอบของผู้ปกครองฝ่ายเดียว         สำหรับนักเรียนใน กทม. ด้วยการคมนาคมที่ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะการขนส่งมวลชน เด็กนักเรียนดูจะมีทางเลือกมากกว่าเด็กนักเรียนในต่างจังหวัด         ระบบขนส่งสาธารณะที่ไร้ทิศทาง อีกทั้งบ้านเรือนที่อยู่ไกลจากโรงเรียนมาก หากผู้ปกครองไม่สามารถไปส่งถึงโรงเรียนได้ ทางออกจะมีเพียงสองทาง คือ หนึ่ง ออกรถจักรยานยนต์ให้ลูกขับขี่ไปโรงเรียน ซึ่งแม้จะสะดวกแต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง และ สอง จัดหารถรับส่งนักเรียนให้ลูกโดยสารไปโรงเรียนแทน แต่ก็กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ผู้ปกครองไม่เคยรู้ว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับบุตรหลานไปนั้นส่วนใหญ่ “ไม่ปลอดภัย”         ทำไมรถรับส่งนักเรียนถึงไม่ปลอดภัย ?          จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ชัดว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) มีความรุนแรงจากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน  เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้นักเรียนได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาต รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบนั้นกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น  และยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถ ซึ่งผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด         ทั้งยังพบว่าในหลายพื้นที่ รถรับส่งนักเรียนถูกดัดแปลงสภาพรถต่อเติมที่นั่ง และเป็นรถที่ไม่ได้ขออนุญาต  ขาดอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ควรมีในรถ  รวมถึงความประมาทเลินเล่อและพฤติกรรมเสี่ยงของคนขับรถบางคน เช่น ล่วงละเมิดทางเพศ ขับรถเร็ว หรือ ลืมเด็กไว้ในรถ นอกจากนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถรับส่งนักเรียน จำนวนมากยังขาดความเข้าใจ และแรงสนับสนุนองค์ความรู้ที่ถูกตรงเกี่ยวกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย         ตอกย้ำความเสี่ยงที่เกิดกับการเดินทางของนักเรียนทุกวันนี้ คือ รัฐขาดความจริงใจในการแก้ไขปัญหา กลไกของรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ที่ผ่านมาจึงมุ่งแต่ออกกฎระเบียบบังคับให้ทำตาม แต่ขาดการประเมินว่าปฏิบัติตามได้หรือไม่ หรือแม้แต่จำนวนรถรับส่งนักเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันรัฐก็ยังไม่รู้จำนวนที่แท้จริง เพราะผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ยินยอมนำรถมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด สะท้อนถึงความผิดผลาดของระบบจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ต้องการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยสิ้นเชิง         อย่างไรก็ดีแม้การเดินทางมาโรงเรียนของนักเรียนในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัย และอาจทำให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนได้ แต่หลักการสำคัญของระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย คือ         การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้ง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีประสานงาน  ให้ความรู้  สื่อสารที่เป็นระบบ รวมถึงเป้าหมายการทำให้เรื่องการจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัยเป็นมาตรการองค์กรหรือนโยบายของโรงเรียน เพื่อความต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอนของการจัดการ รวมถึงผลักดันไปสู่การเป็นแผนจังหวัดในการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย เพื่อเป้าหมายร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัยขั้นสูงสุดให้กับนักเรียน ซึ่งเรื่องแบบนี้อาจจะไม่ไกลเกินฝัน ถ้าทุกคนคิดช่วยกันจริง ๆ เพื่ออนาคตของลูกหลานเราทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฏาคม 2563

5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยใบหน้าสำเร็จ        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไฟเขียว 5 แบงก์เปิดบัญชีเงินฝากด้วยเทคโนโลยีจดจำใบหน้าสำเร็จ จากทดสอบทั้งหมด 14 ราย พร้อมออกหลักเกณฑ์ ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ให้บริการทางการเงิน         นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตอนนี้มี 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย กรุงเทพ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย และซีไอเอ็มบี ไทย ได้ออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) ภายหลังจากธปท.ได้เปิดทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคาร บนแพลตฟอร์ม NDID (National Digital ID) เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากผ่านหลักเกณฑ์การรู้จักลูกค้าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีชีวมิติในการเปรียบเทียบใบหน้า (Facial recognition) เพื่อให้บริการเป็นวงกว้าง         “จากการทดสอบเราจะดูความแม่นยำของการยืนยันตัวตน ซึ่งในการทดสอบประมาณ 99.50% สามารถยืนยันได้แม่นยำ และอีก 0.50% อาจจะมีเรื่องของแสงของภาพอาจมืดไป หรือใบหน้าที่อาจมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนั้น ธปท.จึงอยากให้ประชาชนไปอัพเดตข้อมูลกับธนาคารให้เป็นปัจจุบันที่สุด เพื่อจะได้รับบริการที่สะดวกยิ่งขึ้น”         ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ ในการให้บริการทางการเงินเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่นำ Biometrics มาใช้ในการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการเปรียบเทียบใบหน้า แนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสมเพียงพอ และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง  คาดธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเติบโตขึ้นรับยุคนิวนอร์มัล        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ประเทศไทยช่วง 1-2 ปีถัดจากนี้ อาจมีธุรกิจฟาร์มปลูกผักในเมืองเพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปลูกที่ให้ผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่และหนึ่งหน่วยเวลาที่สูงกว่าปกติ สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคเพื่อสุขภาพ รวมถึง COVID-19 ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจนี้จำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้เข้าถึงความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีของคนเมือง         โดยทำเลที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญในการลงทุน ได้แก่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีผู้คนอาศัยหรือสัญจรเป็นจำนวนมาก อาทิ ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคารสูง เป็นต้น เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเป้าหมายที่สนใจและพร้อมเต็มใจจ่ายกับสินค้ากลุ่มนี้ อาทิ คนรักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกายหรือผู้รักการทำอาหาร ส่วนในระยะต่อไปกลุ่มลูกค้าใหม่ที่น่าจับตาคาดว่า น่าจะอยู่ในกลุ่มของโรงแรม โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการสินค้าคุณภาพสูงเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้า ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น โรงเรียนสังกัดกทม.ห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม ขนมกรุบ ลดภาวะฟันผุในเด็ก         นายณัฐพงศ์ ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. เปิดเผยว่า จากการสำรวจนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาทั่วประเทศ เกี่ยวกับสุขภาพทางช่องปาก พบเด็กนักเรียนมีฟันผุในระยะเป็นรูถึงร้อยละ 50 เฉลี่ย 1-2 ซี่/คน ดังนั้นสำนักการศึกษา กทม. จึงวางแนวทางปฏิบัติสำหรับโรงเรียนสังกัด กทม. ในเรื่องการจำหน่ายอาหารว่าง เครื่องดื่มในโรงเรียน โดยห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม อาหารกรุบกรอบ ลูกอมทุกชนิด อาหารประเภทปิ้งย่างที่ไม่สะอาดมีโภชนาการต่ำและไม่ปลอดภัยให้เป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอาหารจะต้องมีคุณค่าตามหลักโภชนาการ สะอาดและปลอยภัยแก่นักเรียน พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องการจำหน่ายอาหารแก่บุคลากรและร้านค้าทั้งในโรงเรียนและบริเวณรอบโรงเรียน ตลอดจนให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ อบรมให้ความรู้แก่นักเรียนในการเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ พร้อมให้คำแนะนำนักเรียนหลีกเลี่ยงการซื้ออาหารเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์โดยเฉพาะบริเวณรอบโรงเรียน เครือข่ายผู้ป่วยยื่นคัดค้าน ประกาศแพทยสภา 10 หน้าที่อันพึงปฏิบัติ        ตามที่แพทยสภาได้ออกประกาศแพทยสภา ที่ 50/2563 เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยได้กำหนดหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยไว้ 10 ข้อ และมีผลในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 นั้น         8 กรกฎาคม 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เครือข่ายผู้ป่วยทุกประเภททั่วประเทศ (Healthy Forum) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอให้ยกเลิกประกาศแพทยสภา เรื่อง หน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วย เนื่องจากพบว่า การออกประกาศดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ ขัดต่อกฎหมาย ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของแพทยสภาตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ซึ่งประกาศฯ นั้นไม่ได้ให้อำนาจแพทยสภาในการออกคำสั่งให้ผู้ป่วยหรือประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย          ประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยในหลายข้อ มีประเด็นปัญหาที่จะส่งผลต่อการพิจารณาคดีทางการแพทย์ในปัจจุบัน สะท้อนทัศนคติทางการแพทย์ที่คับแคบ มองว่าประชาชนไม่สนใจปัญหาสุขภาพของตนเอง ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การทำข้อตกลงระหว่างประเทศ สังคม สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหาร และปัญหาสารเคมีทางการเกษตร เป็นต้น           นอกจากนี้กระบวนการในการจัดทำประกาศหน้าที่อันพึงปฏิบัติของผู้ป่วยนี้นั้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยเอง  ภาครัฐและประชาชนร่วมใจพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล        กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ได้มีมติเห็นชอบต่อแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล พ.ศ. 2563-2565 ซึ่งครอบคลุมการพัฒนา ตั้งแต่ระบบการกำกับดูแลด้านยา (ต้นน้ำ) ผู้ประกอบวิชาชีพและสถานบริการสุขภาพ (กลางน้ำ) และ ประชาชน ครอบครัวและชุมชน (ปลายน้ำ) ทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ วัคซีน ยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ใช้เพื่อการรักษา ยาสมุนไพร/ยาแผนโบราณ และยาสำหรับสัตว์ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มุ่งหมายใช้เป็นยา         คนไทยทุกคนสามารถมาร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่ (new normal) เพื่อ ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล หรือเรียกว่า “Rational Drug Use country” ได้โดยยึดหลักว่าความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ซึ่งมีสมุทัยคือสาเหตุของการเกิดโรค การแก้ไขต้องเริ่มจากเหตุเพื่อนำไปสู่ความสุขทั้งกายและใจ เริ่มจากการปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเพื่อไม่นำโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคเกาต์ โรคไต ตลอดจนโรคจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การใช้สารเสพติด มาสู่ตน รวมไปถึงการนำบุตรหลานและบุคคลในครอบครัวไปรับวัคซีนต่าง ๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด การกระทำเช่นนี้จะลดโอกาสป่วย ลดความจำเป็นในการใช้ยาลงได้อย่างมหาศาล แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องทำความรู้จักกับยาที่ได้รับและตั้งใจที่จะใช้ยานั้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์ ไม่หยุดยาเอง ไม่เลือกกินหรือไม่กินยาบางชนิด เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่ใช้หรือไม่ประสงค์จะใช้ยาต่อต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ตั้งใจไปเรียนตัดเสื้อ ถูกเรียกเงินเพิ่มจนเกือบตัดใจ

        ปัจจุบันมีการขายคอร์สเรียนหลากหลายในหน้าโซเชียล โปรโมชันหลายอย่างก็เร่งรัดจนผู้บริโภคตัดสินใจอย่างขาดความระมัดระวังทำให้เสียประโยชน์ อย่างไรก็ตามการโฆษณานั้นหากไม่ตรงไปตรงมา ผู้บริโภคก็มีสิทธิร้องเรียนเพื่อพิทักษ์สิทธิตนเองได้         คุณรุ่งรัตน์ สนใจเรียนตัดเสื้อและทำผม ลองค้นหาโรงเรียนหลายแห่งทางอินเทอร์เน็ต พบโฆษณารับสมัครเรียนบนหน้าเฟซบุ๊ก ของโรงเรียนตัดเสื้อทำผมเก่าแก่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เป็นโปรฯ ช่วงโควิด รับสมัครนักเรียนแค่ 10 คนเท่านั้น เมื่อติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามรายละเอียด คุณรุ่งรัตน์พบว่าหากต้องการเรียน ต้องจ่ายเงินค่าเรียนทันทีก่อนหมดโอกาส โดยพนักงานแจ้งว่าใกล้เต็มแล้ว         คุณรุ่งรัตน์จึงโอนเงินทันที เป็นจำนวน 8,900 บาท ตามที่ระบุบนโฆษณา ซึ่งเป็นค่าเล่าเรียนในระยะเวลา 30 ชั่วโมง เมื่อโอนเงินเรียบร้อย ก็รู้สึกว่าตนเองรีบร้อนไปหน่อย ไม่ทันได้สอบถามรายละเอียดอื่นๆ จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงเรียนเพื่อขอรายละเอียดตารางเวลาเรียน ช่วงแรกๆ ยังไม่ได้รับคำตอบ จึงเข้าใจว่าผู้เรียนคงยังไม่ครบจำนวน ต่อมาประมาณ 1 อาทิตย์มีโทรศัพท์แจ้งจากทางโรงเรียนว่าให้เข้าไปเรียนได้ แต่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 6,000 บาท “ตกใจมากค่ะ บอกกับทางพนักงานไปว่า ตนเองมีเงินเท่าที่จ่ายไป 8,900 บาทเท่านั้น” ในโปรฯ ไม่เห็นรับรู้เลยว่าจะมีการจ่ายเพิ่ม ทางพนักงานบอกว่า ไม่จ่ายเพิ่มก็เรียนไม่ได้ “แล้วดิฉันก็กังวลมากเพราะในใบเสร็จระบุว่า จ่ายแล้วไม่คืนเงินทุกกรณี” ได้ไปแจ้งความไว้แล้ว และติดต่อร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ทาง สคบ.แจ้งว่า กรณีของคุณรุ่งรัตน์เป็นการเรียนเพื่อหารายได้ จึงไม่เข้าข่ายคดีผู้บริโภค “แล้วจะต้องทำอย่างไรดี” คุณรุ่งรัตน์ปรึกษามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องนี้เข้าข่ายการทำสัญญา ศูนย์ฯ แนะนำให้คุณรุ่งรัตน์ทำหนังสือถึงโรงเรียนสอนตัดเสื้อทำผมดังกล่าว เพื่อบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน (การทำจดหมายควรใช้แบบไปรษณีย์ตอบรับเพื่อเป็นหลักฐาน) จำนวน 8,900 บาท โดยทำสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อการติดตามเรื่อง         ต่อมาได้รับแจ้งจากคุณรุ่งรัตน์ว่า ทางโรงเรียนได้รับคุณรุ่งรัตน์เป็นนักเรียนแล้ว โดยไม่ต้องจ่ายเงินจำนวน 6,000 บาทเพิ่ม ทั้งนี้ทางโรงเรียนแจ้งว่า เป็นความผิดพลาดของพนักงานที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง คุณรุ่งรัตน์เองก็ตั้งใจเรียนจริงๆ เมื่อเห็นว่าไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว จึงตกลงไปเรียนตามที่ตั้งใจไว้และขอยุติเรื่องการบอกเลิกสัญญา ลงเอยด้วยดีไป หวังว่าจะมีช่างตัดเสื้อและทำผมดีๆ เพิ่มขึ้นอีกราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ร้อง...โรงเรียนไม่สะอาด

        โรงเรียนนั้นเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของลูก ก่อนคุณพ่อคุณแม่จะให้ลูกเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็มีการศึกษาข้อมูลโรงเรียนเป็นอย่างดี ยิ่งลูกยังอยู่ในวัยเล็กๆ การดูแลความปลอดภัย สวัสดิภาพ ความสะอาดของโรงเรียนยิ่งต้องมีมากขึ้นด้วย เพราะเด็กเล็กจะติดเชื้อโรคได้ง่าย         คุณภูผามีลูกเล็กสองคน ลูกชายวัยสามขวบหนึ่งคน และลูกสาววัยขวบกว่าอีกหนึ่งคน ลูกชายของเขาอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาล 1 เขาและแฟนจึงได้เลือกโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงใกล้บ้าน เพื่อง่ายต่อการรับส่ง ในเดือนมิถุนายนเด็กนักเรียนในโรงเรียนเริ่มป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก และลูกชายของเขาก็ติดโรคมือเท้าปากจากโรงเรียน จึงต้องหยุดเรียนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างลูกชายหยุดเรียนเขาได้ข่าวจากผู้ปกครองทางไลน์กลุ่มว่าที่โรงเรียนมีเด็กป่วยเพิ่มขึ้นตลอด และก่อนให้ลูกชายกลับไปเรียน เขาได้ไปขอใบรับรองแพทย์อีกครั้งว่าลูกชายหายจากโรคมือเท้าปากแล้ว แต่เมื่อลูกชายไปเรียน กลับติดโรคมือเท้าปากอีกครั้ง และครั้งนี้ลูกสาวก็ติดโรคมือเท้าปากด้วย         คุณภูผาต้องเสียค่ารักษาพยาบาลของลูกสองคน 2 ครั้งเป็นเงินเกือบ 100,000 บาท เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เขารู้สึกว่าทางโรงเรียนไม่ได้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ทำให้ไม่มีความมั่นใจที่จะให้ลูกของเขาเรียนที่โรงเรียนนี้อีกต่อไป จึงได้ติดต่อไปยังโรงเรียนแจ้งลาออกและขอเงินค่าเทอมคืน          หลังจากนั้นภูผาได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งช่วยดำเนินการประสานงานกับโรงเรียน ทางโรงเรียนแจ้งเขาว่าจะคืนเงินค่าเทอมให้เพียง 40% เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท จากค่าเทอม 47,000 บาท และค่าแรกเข้าอีกรวมเป็นเงิน 62,000 บาท ทั้งที่ลูกชายของเขาเพิ่งไปเรียนได้เพียง 1 เดือนกว่า เมื่อสช.ประสานงานไปยังโรงเรียน โรงเรียนได้มีมาตรการควบคุมโรคโดยปิดโรงเรียนเพียง 3 วัน ซึ่งตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต้องกำหนดมาตรการโรคโดยปิดชั้น หรือปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่โรงเรียนก็ไม่ได้ทำตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ และไม่มีมาตรการคัดแยกเด็กนักเรียนที่ป่วยกับไม่ป่วยออกจากกัน ทั้งยังจัดกิจกรรมเล่านิทาน ให้เด็กนักเรียนหลายห้องมารวมกัน จึงทำให้มีการแพร่เชื้อได้ง่าย ภูผารู้สึกว่าถูกโรงเรียนเอาเปรียบจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนะนำว่า ผู้ร้องสามารถขอเงินคืนได้ เพราะกรณีดังกล่าวเป็นการผิดสัญญาจ้าง หากโรงเรียนไม่สามารถทำได้ตามสัญญา ผู้ร้องก็มีสิทธิเรียกเงินในส่วนที่เหลือคืน และการที่โรงเรียนได้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องแล้วว่าจะคืนเงินให้ 40 % นั้น ถือว่าเป็นการยอมรับการยกเลิกสัญญาแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันไม่สามารถตกลงในเรื่องจำนวนเงินที่จะคืนได้          ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้เชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างโรงเรียนและผู้ร้อง โดยผู้ร้องเสนอให้โรงเรียนหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่เข้าเรียนและคืนเงินจำนวน 40,000 บาท แต่ตัวแทนโรงเรียน ยืนยันคืนเงิน 40 % ของเงินค่าเล่าเรียนจำนวน 47,000 บาท เป็นเงินจำนวน 18,800 บาท ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ ผู้ร้องจึงขอให้ศูนย์พิทักษ์ช่วยเหลือด้านทนายความในการดำเนินคดีกับโรงเรียน         ผู้ร้องได้ดำเนินการฟ้องคดีกับโรงเรียนและเจ้าของโรงเรียนเป็นคดีผู้บริโภค เรื่อง ผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ต่อมาสามารถตกลงกันได้ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โรงเรียนตกลงคืนเงินค่าแรกเข้าและค่าเล่าเรียนให้กับผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 62,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตเขาก็เปลี่ยน แต่จะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน

        เมื่อวันที่ 9 เดือนมกราคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กําหนดอาหารที่ห้ามผลิต นําเข้า หรือจําหน่ายไขมันทรานส์ มีผลบังคับใช้ นับว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับผู้บริโภคไทยเรื่องหนึ่ง ที่จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในกระบวนการผลิตอาหารในประเทศไทยเราอีกต่อไป เรื่องราวเหล่านี้แม้จะถือว่าเป็นก้าวแรกของความสำเร็จเรื่องหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จในระยะเวลาอันสั้นเลย เพราะกว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ได้ผ่านการทำงานอย่างหนัก ทั้งในเรื่องการศึกษาข้อมูลและแรงผลักดันจากหลายส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และที่ลืมไม่ได้เลยคือ นักวิชาการด้านโภชนาการหลายๆ ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารศึกษา ในคณะ กรรมการอาหารแห่งชาติ และ เป็นผู้คร่ำหวอดในวงการอาหาร ทั้งงานด้านวิจัย พัฒนาและผลักดันนโยบายเกี่ยวกับอาหารในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน  ฉลาดซื้อจึงถือโอกาสนี้พาไปฟังเรื่องราวการทำงานของท่านว่ามีความยาก ความสนุกอย่างไรกับงานด้านการเฝ้าระวังความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารของคนไทยนมโรงเรียน เหมือนง่ายแต่ไม่ง่าย        คำถามที่ว่าประสบการณ์การทำงานที่สร้างความหนักใจที่สุด คำตอบน่าจะเป็นเรื่องนมโรงเรียน งานวิจัยนี้ ได้ดำเนินการในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2541-2546  ถือว่ามีผลสำเร็จมาก เพราะการวิจัยชิ้นนี้ได้มองปัญหาในขณะนั้นอย่างตรงไปตรงมาที่สุด ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเรายังต้องนำเข้านมผงจากต่างประเทศเพราะมีราคาถูกกว่า เนื่องจากประเทศไทยเราไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่า นมกล่องยูเอชทีมีราคาสูง เนื่องจากมีต้นทุนจากค่ากล่องนมยูเอชทีเป็นสัดส่วนที่สูงมาก ในการดำเนินการวิจัย ก็มีการเลือกใช้นมโรงเรียนในรูปแบบที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากความเหมาะสมและค่าใช้จ่าย ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า ในโรงเรียนใหญ่ๆที่มีศักยภาพ  สามารถนำนมผงมาเตรียมเป็นนมโรงเรียน เพราะนมผงสมัยใหม่ละลายน้ำธรรมดาได้ง่าย ไม่เป็นภาระ ถ้าให้เด็กดื่มภายใน 30 นาที ก็ปลอดภัย ส่วนโรงเรียนที่อยู่ใกล้โรงงานผลิตนม ผลการวิจัยเสนอว่าขนส่งเป็นนมถังใหญ่ ซึ่งเหมือนกับพวกโรงเรียนฝรั่งใหญ่ๆ ที่เขาก็ใช้นมถังตักให้เด็ก แต่เพื่อป้องกันถังใส่นมสกปรก ก็แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกใบใหญ่ๆ มาใส่นมก่อนวางลงในถัง วันหนึ่งๆ โรงเรียนหนึ่งก็ใช้เพียง 3-4 ถุงเท่านั้น และถุงพลาสติกใบใหญ่ที่ใช้ใส่นมแล้ว ก็สามารถนำมาล้างแล้วทำเป็นเสื้อคลุมกันฝนให้เด็กๆได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องใช้นมกล่องยูเอชที ซึ่งทำให้ต้นทุนนมโรงเรียนสูง เพราะเฉพาะค่ากล่องยังไม่รวมค่านม ก็ตกกล่องหนึ่งตั้ง 1.10 -1.20 บาทแล้ว  ต้นทุนนี้ควรนำมาใช้เป็นค่านมให้เด็กดีกว่า  นมกล่องยูเอชทีควรให้เฉพาะโรงเรียนที่ทุรกันดารจริงๆ เพราะขาดครู และไม่มีน้ำสะอาด แนวคิดนี้  ทีมวิจัยนำเสนอที่จังหวัดเชียงราย ทางจังหวัดตกลง เลยทดลองทำวิจัยทั้งจังหวัดเป็นเวลา 1 ปี  ช่วยแก้ปัญหาขยะกล่องนมล้นเมืองในขณะนั้น เพราะเดิมต้องใช้รถขยะเข้าขน โดยขนครั้งละ 3,000-4,000 กล่อง จึงต้องรอให้ได้จำนวนกล่องนมจนเต็มรถขยะแล้วค่อยขน กล่องนมจึงถูกทิ้งไว้ที่โรงเรียน เนื่องจากนมที่เหลือติดก้นกล่องบูดเน่าง่าย จึงส่งกลิ่นเหม็นไปหมด สร้างปัญหาให้โรงเรียน การเตรียมนมเอง จึงช่วยลดปัญหาดังกล่าว  โรงเรียนใหญ่ๆที่ทดลองใช้นมผง เราเตรียมนมผงแพคถุงละ 1 กิโลกรัม แล้วโรงเรียนไปเติมน้ำ โดยทางโรงเรียนได้ใช้เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 เป็นผู้เตรียมนมเลี้ยงน้องชั้นเล็ก และนักเรียนทุกคนก็หัดล้างแก้วใส่นมกันเอง จนโครงการเข้าที่ ส่งผลให้เมื่อเสร็จสิ้นโครงการวิจัย โรงเรียนมีเงินค่านมโรงเรียนเหลือหัวละ 2 บาท จากที่ขณะนั้นรัฐให้หัวละ 5 บาท เลยสามารถทำการวิจัยโครงการนมโรงเรียนในช่วงปิดเทอมได้อีก ซึ่งก็ได้เห็นผลสำเร็จ เพราะช่วยให้เด็กๆ ได้มีนมดื่มในช่วงปิดเทอม ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพเด็กๆ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้แม้จะได้ผลสำเร็จ และผู้ให้ทุนคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มอบรางวัล 1 ใน 10 การวิจัยที่มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยม การวิจัยดังกล่าว ก็จำเป็นต้องหยุด เพราะผลการวิจัยกระทบถึงผลประโยชน์ของผู้อื่น/หน่วยงานอื่น ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้         ตอนเริ่มโครงการ มันดูขุ่นมัวเหมือนอยู่ในน้ำขุ่นๆ มองไม่เห็นอะไรเป็นอะไร แต่ก่อนปิดโครงการ หลังจากเราได้ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายจนเกิดแนวร่วมที่เห็นประโยชน์จริงๆ ทั้งเกษตรกร โรงนม โรงเรียนและแม้แต่จังหวัด เมื่อทุกอย่างแจ่มชัดขึ้น เหมือนกับน้ำที่ขุ่นเกิดการตกตะกอน  บทเรียนในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราทำงานด้วยกัน คลุกคลีกัน เปิดใจกัน เราก็สามารถตกตะกอนปัญหา ช่วยกันกรองมันออกไป เราจะเจอว่าตะกอนที่ก่อปัญหาอย่างจงใจ มันไม่ได้มีเยอะอย่างที่คิดผูกมิตรดีกว่าสร้างศัตรู        ในอดีตที่ผ่านมา สังคมไทย นักวิชาการและผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นภาคเอกชน จะไม่ทำงานร่วมกัน หากนักวิชาการไปทำงานให้ภาคเอกชน จะถูกมองในแง่ลบ ดังนั้น เมื่อผมไปเชิญภาคเอกชนมาร่วมทำโครงการฉลากทางเลือก(Healthier Choice Logo ) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ หลายคนมองว่าผมไปทำดี เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง เราสงสัยเขา เขาก็สงสัยเรา ปัญหาก็จะเกิดน้อยลงหรือไม่เกิดเลย ถ้าเราได้พูดจาอธิบายและรับฟังซึ่งกันและกัน การทำงานในโครงการ Healthier Logo กรรมการบางท่านก็เครียดเรื่องการทำงานร่วมกับเอกชน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนคนอื่นมองไม่ดี มีการเอื้อประโยชน์กัน ก็เรียนท่านว่าประเด็นหลักๆ มันก็มีสองทาง ท่านจะมองเรื่องเดียวกันให้เป็นลบหรือบวก        ถ้าเรามองลบ เราต้องหาคนรับผิดชอบและลงโทษผู้ที่เป็นต้นเหตุ ซึ่งก็คงจะมีหลากหลายไปหมด เพราะอาหารที่เมืองไทยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงกับโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เพราะอาหารส่วนใหญ่มีน้ำตาลสูง โซเดียมสูง และไขมันสูง คนที่จะถูกให้รับผิดชอบก็ต้องเป็นคนขายน้ำตาล คนขายของเค็ม คนขายของมัน  คนปรุงและขายอาหาร คนผลิตอาหาร อุตสาหกรรมอาหาร  สมัยก่อนคนขายวัตถุดิบที่หวาน มัน เค็ม ก็พยายามผลิตมากๆ เพื่อลดต้นทุนและตอบสนองความต้องการความขาดแคลนของผู้บริโภค  พอเศรษฐกิจดีขึ้น ราคายังถูกลงอีก คนก็หาซื้อหากินได้มากขึ้น แถมมีตัวช่วยลดกิจกรรมทางกายลง คนกลุ่มหนึ่งก็พอใจว่าราคาอาหารไม่แพงดี อีกกลุ่มก็โวยวายว่าปล่อยมายังไงให้เต็มตลาด นักวิชาการก็เรียกร้องรัฐว่า หากยังปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ ประเทศต้องวิบัติแน่  ถ้าถามคนขายอาหาร คนขายก็คงอยากขายอาหารที่ดี มีผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภค เขาก็คงอยากเปลี่ยนสูตร แต่เปลี่ยนแล้วก็กลัวขายไม่ได้ ถ้าเขาขายไม่ได้หรือได้น้อยลง เราก็ผิดด้วยที่ไม่ได้ให้การศึกษากับผู้บริโภค เช่น เราตั้งเกณฑ์ว่า โซเดียมในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอุตสาหกรรม 1 ซองต้องมีโซเดียมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม แต่ คนทั่วไปกินบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ทั่วไปกินโดยที่ยังไม่ได้ปรุงก็มีโซเดียมอยู่ที่ชามละ 1,500 - 2,000 มิลลิกรัมแล้ว  แถมก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเจ้าก็มีโซเดียมสูงถึง 4,000 – 5,000 มิลลิกรัม “ถ้านิสัยเราเปลี่ยน ผู้ผลิตมันก็เปลี่ยน แต่เราจะทำยังไงให้ผู้บริโภคเปลี่ยน” ถึงได้มีแนวคิดว่า จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป เพราะถ้าไปกล่าวหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาแล้วไม่ทำอะไรมันก็จบไม่มีประโยชน์ นักวิชาการอยู่ตรงกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมก็ว่าเรา กลุ่มผู้บริโภคก็บ่นเรา ทั้งสองฝ่ายก็รอว่าใครจะเริ่มเปลี่ยนก่อน ถ้าจะดูกันให้ลึกซึ้งจริงๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ยากมากมีความเฉพาะตัวตน สังคมและวัฒนธรรมสูงมาก ภาครัฐต้องร่วมมือกัน ทั้งงานส่งเสริม และการบังคับใช้กฎหมาย        การที่เราได้ทำงานในโครงการ Healthier logo ที่เรามุ่งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์อาหารอุตสาหกรรมและนิสัยผู้บริโภคให้ลดหวาน มัน เค็ม ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจ คือมักเจอการตีความที่เลยเถิดของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ได้เครื่องหมายนี้ว่า ผลิตภัณฑ์ดีในเรื่องอื่นด้วย มิใช่น้ำตาลต่ำ โซเดียมต่ำหรือไขมันต่ำ การสร้างความเข้าใจในส่วนนี้ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งพบว่าการเจรจาและขอร้องกันโดยตรง ได้รับความร่วมมือกว่าที่ไปวางมาตรการอื่นในเชิงลบ        จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การทำงานร่วมกับภาครัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่มีทั้งหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้และหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปราม หน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ก็ว่าอีกหน่วยงานว่าไม่ยอมออกกฏหมายมาจัดการภาคเอกชน ส่วนหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามก็ต้องรับหน้าภาคเอกชนที่กังวลกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงการยอมรับของผู้บริโภค นั่นหมายถึง ยอดจำหน่ายหรือรายได้ของภาคเอกชน ทั้งที่การทำงานมันต้องขนานกันอย่างมีประสิทธิภาพและเสริมซึ่งกันและกัน  เมื่อเริ่มทำโครงการ Healthier Logo นี้ เราขอหน่วยงานที่ออกกฏหมายปราบปรามมาช่วย เพื่อให้ Logo มีหน่วยงานรัฐรองรับ ส่วนเกณฑ์ด้านโภชนาการต้องเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้ความรู้ร่วมดำเนินการ แต่เนื่องจากงานเกี่ยวกับภาคเอกชน ทำให้เกิดความไม่สนิทใจกัน การไม่สนิทใจกัน ทำให้ไม่รู้ถึงความคาดหวังของอีกฝ่าย เกิดความด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา ทั้งที่ภาครัฐต้องชี้นำสังคมให้มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ เช่น การให้ความรู้ที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง การสร้างฐานข้อมูลด้านคุณค่าโภชนาการที่ถูกต้อง เพียงพอ และทันสมัย เท่าทันปัญหาโภชนาการที่เป็นพลวัตสำหรับทุกภาคส่วนต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณค่าโภชนาการของอาหาร แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร เพราะไปเสียเวลาในการหวาดระแวงกัน ทำงานไม่ประสานกัน ไม่พูดคุยกันอย่างจริงใจ ถ้าร่วมมองปัญหาร่วมกัน การแก้ปัญหาเชิงระบบและพหุภาคีจะเกิดขึ้นพฤติกรรมติดหวานมันเค็มไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ สาธารณสุขเชิงป้องกันหรือแม้แต่รักษาก็ต้องการโภชนาการที่เหมาะสมทั้งสิ้น พฤติกรรมการบริโภคจึงมีความสำคัญมาก ประสบการณ์เรื่องนี้มีมากมาย ที่ยกตัวอย่างคือเจลลี่ที่สถาบันโภชนาการพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาการกลืน โดยมีสารอาหารครบ กลืนง่าย รสชาติยอมรับได้ ราคาไม่แพง เราได้พบชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง เมียเขาบอกว่าสามีเป็นมะเร็งกินอะไรไม่ได้ หมดแรงนอนอยู่กับบ้าน พอให้กินเจลลี่ที่มีสารอาหารครบ อีก 2-3 วัน มีแรงขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างต่อได้ มันมีแรง นี่คือความมหัศจรรย์ของโภชนาการที่ถูกตามหลักวิชาการ แต่ทำอย่างไรให้ถึงประชาชนได้ เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชุมชนแห่งหนึ่ง มีคุณป้าคนหนึ่งขึ้นเวทีกับลูกสาว ลูกสาวบอกว่าเขาเกือบเสียคุณแม่ของเขาไปเมื่อปีที่แล้ว คุณแม่ป่วยเป็น NCDs แทบทุกโรค  เธอพยายามให้แม่งดอาหารหวาน มัน เค็มทุกอย่าง แม่ทนไม่ไหว ก็เลยด่าลูกเป็นประจำว่า “มึงอกตัญญู ตอนที่กูเลี้ยงมึงมามึงอยากกินอะไรกูก็ให้มึงกิน พอกูจะแ_กอะไรมึงก็ห้ามกูทุกอย่าง” ลูกสาวทนไม่ไหวไปบอกหมอ หมอก็แนะนำว่า “ไม่เป็นไร คุณป้าอายุขนาดนี้ ให้เปลี่ยนพฤติกรรมคงยากแล้ว ให้แกกินไปตามสบาย เราก็ให้กินยารักษาเอา อีกสักปีนึง ก็ต้องล้างไตไป ให้แกมีความสุขเถอะ” แต่ลูกสาวก็รับไม่ได้ วันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจคุยกับแม่ว่า “ แม่อยากกินอะไรเดี๋ยวจะไม่ขัดใจแล้ว หนูจะกตัญญู หากแม่ป่วย หนูจะพาไปรักษาอย่างดี หมอดีๆ มีเยอะแยะ หนูยอมเสียตังค์ หากแม่ตายหนูจัดงานให้สมเกียรติ แต่ตอนที่แม่นอนฟอกไต เข็มที่ทิ่มเข้าตัวแม่เองนะ หนูรับให้ไม่ได้ อันอื่นหนูช่วยได้หมด แล้วช่วงที่แม่ทรมานก่อนตายแม่รับเองนะ หนูช่วยไม่ได้จริงๆ” จากที่ฟังลูกสาวพูด  แม่เลยคิดได้ แล้วปรับพฤติกรรมการกินใหม่ ตามที่ลูกสาวแนะนำ คุณป้าบอกว่าลูกสั่งอะไรก็ต้องกินตาม อันที่จริง ลูกสาวก็ไม่ได้มีความรู้อะไรซับซ้อน ก็ลดหวานมันเค็มธรรมดา ให้กินผักผลไม้เยอะขึ้น คุณป้าบอกว่าภายใน 6 เดือน ไปหาหมอ ก็พบว่าอาการดีขึ้นมาก โดยไม่ต้องฟอกไตแล้ว และงดยาได้ในที่สุด คุณป้าเล่าไปก็ร้องไห้ไป ดีใจที่ร่างกายแข็งแรงขึ้น ชีวิตยืนยาวด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี เราจะเห็นความมหัศจรรย์ของโภชนาการและความซับซ้อนของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ แต่ละบ้าน แต่ละคน ต้องใช้เทคนิคแตกต่างกันไป บางบ้านก็ปล่อยคือตายไป แต่บางบ้านที่เขาชนะใจตัวเองได้ก็ดีขึ้น มันเป็นเคล็ดลับที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญการมีความตระหนักรู้ทางโภชนาการจำเป็นมาก         ประเด็นเรื่องไขมันทรานส์                           ไขมันทรานส์จะเกิดขึ้นในไขมันไม่อิ่มตัวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ไขมันทรานส์คือไขมันไม่อิ่มตัว ที่มีการจับไฮโดรเจนแบบทรานส์ ในธรรมชาติ เมื่อสัตว์เคี้ยวเอื้องกินไขมันไม่อิ่มตัวที่มีอยู่ในอาหารเข้าไป ไขมันไม่อิ่มตัวเหล่านั้นก็เปลี่ยนไขมันทรานส์ นั่นคือไขมันทรานส์ชนิดที่ 1 ที่พบได้ในธรรมชาติ ส่วนไขมันทรานส์ชนิดที่สอง พบในน้ำมันพืชที่เราใช้ทำกับข้าว ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ในขั้นตอนขจัดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออก เช่น น้ำมันถั่วเหลืองที่สกัดได้เริ่มต้น จะมีสารที่ไม่บริสุทธิ์ออกมาจำนวนมากจากเมล็ดถั่วเหลือง วิธีกำจัดสารไม่บริสุทธิ์ก็ต้องผ่านขั้นตอนการตกตะกอนต่างๆมากมาย และสุดท้ายก็ต้องขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ด้วยการให้ความร้อน จนกลิ่นเหล่านี้ระเหยไป ในน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ เราก็ต้องทำเช่นกัน กระบวนการนี้เรียกว่ากระบวนการ deodorization ซึ่งใช้ความร้อน 127-130 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ขั้นตอนนี้ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวส่วนหนึ่งเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์ แต่เปลี่ยนน้อยมาก ดังนั้น น้ำมันทั่วๆ ไปที่เราใช้ทำอาหารที่บ้าน เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ที่ผ่านขั้นตอนการดึงกลิ่นออกไปแล้ว ก็จะมีไขมันทรานส์อยู่ประมาณ 0.8 0 – 2%( ไม่เกินนี้) เพราะฉะนั้นการที่เราบอกว่าห้ามกิน ไขมันทรานส์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันยังแทรกซึมในอาหารในวัฒนธรรมการกินทั่วไป แต่ที่น่าห่วง คือ พวกไขมันทรานส์ที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ ที่ตอนนี้มีกฎหมายห้ามใช้กรรมวิธีนี้แล้ว        หลังกฎหมายมีผลบังคับ ทำไมยังพบว่าอาหารบางประเภทมีไขมันทรานส์สูง เพราะอะไร                หากเป็นไขมันทรานส์ธรรมชาติเราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่ผิดกฎหมาย แต่ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือ PHO (Partially Hydrogenated Oils) ต้องควบคุม จากหลักฐานประกอบเพื่อยืนยัน ได้แก่ หนึ่ง คือ เอกสารรับรองจากโรงงานผลิตน้ำมัน (certificate of analysis)ที่ระบุว่าไม่ใช่หรือไม่ได้ใช้ PHO ในการผลิต สอง คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร  และ สาม คือปริมาณไขมันและโปรไฟล์กรดไขมันในอาหาร ถ้ามีไขมันทรานส์ มากกว่า 20 % ในน้ำมันทั้งหมด ก็เป็น PHO ชัวร์แน่นอน บางทีอาจสูงถึง 60 % เลย  ถ้าในน้ำมันมีไม่เกิน 2 % ไม่ใช่ PHO อย่างแน่นอน นอกจากนี้ เราก็สามารถดูได้จากข้อมูลพื้นฐาน ถ้าไม่ใช้ PHO ส่วนใหญ่จะพบไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดย 0.5 กรัมนี้ถือว่ามากแล้ว ถ้าพบว่าเกิน 0.5 กรัม ต้องดูหลักฐานอื่นประกอบด้วย                หากพบว่าอาหารชนิดใดมีกรดไขมันทรานส์สูงเกิน 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ต้องพิจารณาปริมาณไขมันและโปรไฟล์ของกรดไขมันเพิ่มเติม บางทีคนขายใส่เนยเยอะมาก ไขมันทรานส์ก็จะสูงตาม แต่เนยธรรมชาติก็มีไขมันทรานส์เพียง 5% ซึ่งต่างจาก PHO ที่มีไขมันทรานส์มากกว่า 20% ก็จะประมาณได้ว่าควรมีไขมันทรานส์เท่าไร ที่มาจากเนยจริง นอกจากนี้ การดูโปรไฟล์ของกรดไขมันว่าเป็นชนิดไหนก็เป็นเครื่องยืนยัน เพราะไขมันทรานส์ในเนยจะมีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่น หลังจากนั้น ก็ควรไปสอบสวนเพื่อยืนยันที่ร้านหรือโรงงานด้วย (เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องเข้าไปทำ)            ถ้าเป็นทรานส์ธรรมชาติไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่เหมาะที่เราจะบริโภคใช่ไหม                    พูดยากมาก เพราะนักวิชาการยังมองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน กลุ่มหนึ่งบอกว่าจากธรรมชาติไม่เป็นอะไร แต่อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่ามันก็คือทรานส์ (ก็อันตรายสิ) แม้แต่ในการประชุมวิชาการขององค์การอนามัยโลก( WHOX ก็ยังมีการถกเถียงกัน  ดังนั้น ความเสี่ยงของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพ เราคงต้องดูตามปริมาณที่บริโภค(หน่วยบริโภค) มิใช่ต่อร้อย เพราะเป็นประเด็นความปลอดภัย ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก ที่ระบุว่าในหนึ่งวัน ไม่ควรกินไขมันทรานส์เกิน 2.2 กรัม ถ้าหารด้วย 5 มื้อ ก็คือ 0.4 – 0.5 กรัมต่อมื้อ องค์การอนามัยโลกบอกว่าไม่ควรจะกินเกินนี้  จากการสำรวจดูทั่วไปๆ พบที่เกินกว่า 0.5 กรัมต่อมื้อ มีน้อยมาก ส่วนที่เจอเกิน 0.5 มันไม่มีกฎหมายกำหนด                   เนื่องจากกฎหมายห้าม PHO ไม่ได้ห้าม trans fat เพราะฉะนั้นการดูว่าผิดกฎหมายหรือเปล่าเราต้องพิสูจน์ก่อนว่าเป็น PHO หรือเปล่า ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ต้องเอาตัวอย่างที่พบว่ามีไขมันทรานส์เกินกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค ส่งไปวิเคราะห์ตามแนวทางที่กล่าวไว้ข้างต้น        นอกจากเรื่องไขมันทรานส์ อาจารย์คิดว่าเรื่องไหนจำเป็นและเร่งด่วนขณะนี้                 เรื่องยาพืชและยาสัตว์ เพราะเราต้องการให้คนกินผักผลไม้เยอะๆ เราก็ไม่อยากให้การปนเปื้อนสารเคมีในเนื้อสัตว์ทั้งหลาย ปัจจุบันนี้คนไทยกินเนื้อสัตว์มากอยู่แล้ว แต่ผักผลไม้คนไทยยังกินน้อย จึงเราก็อยากให้คนไทยกินผักและผลไม้ให้มากขึ้นถึงวันละ 400 กรัม เพราะฉะนั้น จึงต้องมีระบบการดูแลที่ดี ทั้งผักผลไม้นำเข้าและที่ปลูกเองในบ้านเรา เพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น และสร้างความมั่นใจในการกิน คือ ต้องดูตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ต้องให้การศึกษากับเกษตรกร ให้เกษตรกรมีความรู้ และเกิดรายได้ที่เพียงพอ ขณะเดียวกัน ต้องสร้างปลายทาง คือ ผู้บริโภคที่มีพลังในการต่อรองเพื่อให้ได้อาหารคุณภาพและปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 203 อะฟลาทอกซินเอ็มวัน ในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน

โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพอะฟลาทอกซินเอ็มวันในนมรสธรรมชาติและนมโรงเรียน นมโคเป็นอาหารที่มีสารอาหารเกือบครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียมในนมนั้นมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่ร่างกายเสื่อมไป จึงเหมาะเป็นอาหารสำหรับคนทุกวัย การบริโภคนมของไทยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ลิตร/คน/ปี โดยในปี 2559 มีมูลค่าการตลาดประมาณ 60,000 ล้านบาท เนื่องจากนมเป็นแหล่งอาหารที่ดีจึงมีการส่งเสริมให้เด็กไทยได้ดื่มนมฟรีหรือที่เรียกว่า นมโรงเรียนด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังในเรื่องความปลอดภัยในอาหารที่มีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงอาสาสอดส่องเรื่องของนม โดยลำดับแรกเป็นเรื่องของการทดสอบหาปริมาณสารพิษจากเชื้อรา อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 (อะฟลาทอกซิน ชนิด บี 1 ถ้าอยู่ในน้ำนมจะเรียกว่า อะฟลาทอกซิน เอ็ม 1) ซึ่งเป็นสารพิษธรรมชาติชนิดร้ายแรงต่อมนุษย์ ซึ่งแม้ได้รับในปริมาณน้อยก็ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้ การเก็บตัวอย่างครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 6 ภูมิภาครวมทั้งอาสาสมัครผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ช่วยเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนจำนวนรวมทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง และทีมฉลาดซื้อได้สุ่มเก็บตัวอย่างนมรสธรรมชาติทุกประเภทจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้ออีกจำนวน 13 ตัวอย่าง รวมเป็นจำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 27 ตัวอย่าง เพื่อทดสอบหาปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 การทดสอบใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยค่าต่ำสุดที่สามารถระบุได้คือ 0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ผลทดสอบทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลทดสอบพบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานทั้งของไทย และโคเด็กซ์(CODEX) โดยเกณฑ์มาตรฐานของไทยนั้นยังไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจงของค่าปริมาณอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในน้ำนม จึงใช้อิงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินได้ไม่เกิน 20 พีพีบี (20  ส่วนในพันล้านส่วน) หรือ 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วนมาตรฐานของ USFDA และ CODEX กำหนดไว้อย่างชัดเจนเรื่อง ปริมาณอะฟลาทอกซิน เอ็ม 1 ในน้ำนม ต้องไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/กิโลกรัม จากตัวอย่างจำนวน 27 ตัวอย่างนั้น ตรวจพบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ในช่วง น้อยกว่า 0.03-0.08 ไมโครกรัม/กิโลกรัม การตรวจพบในปริมาณที่น้อยนี้นับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 นักเรียนเขาคิดอย่างไรกับเรื่องรถโรงเรียน

ปี 2558 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 17 ครั้ง บาดเจ็บ 212 คน เสียชีวิต 24 รายปี 2559 รถรับส่งนักเรียนเกิดอุบัติเหตุ 27 ครั้ง บาดเจ็บ 231 คน เสียชีวิต 4 รายการเดินทางไปร่ำเรียนหนังสือของเด็กไทยในทุกวันนี้ มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ผู้ปกครองเลือกวิธีการให้ลูกโดยสารไปกับ “รถรับส่งนักเรียน” โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เด็กทั้งเดินทางสะดวกสบายและประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่พ่อแม่จะต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนเอง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เชื่อมั่นด้วยว่า มีความปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกหลานไปกับรถโดยสารประจำทางหรือขับขี่รถไปเอง แต่จะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคนไหนบ้าง ที่จะตระหนักว่า รถรับส่งนักเรียนที่มารับลูกของเรานั้น ก็มีความเสี่ยงอันตรายมากเช่นกัน   จากการติดตามสถานการณ์ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดกับรถรับส่งนักเรียนในหลายปีที่ผ่านมา ของโครงการ Safe Thai Bus ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค พอที่จะสรุปปัญหาได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตของลูกหลานเรา มาจากสาเหตุหลักคือการนำรถยนต์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพื่อเป็นรถรับส่งนักเรียนโดยเฉพาะไปทำเป็นรถรับส่งนักเรียน หรือการใช้รถยนต์ผิดประเภทนั่นเอง  จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีรถจดทะเบียนรถรับส่งนักเรียน จนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน 22,861 คัน แบ่งเป็น รถตู้ จำนวน 15,781 คัน, รถสองแถว จำนวน 3,175 คัน และรถกระบะปิคอัพ จำนวน 2,667 คัน และมีการนำรถมาใช้ผิดประเภทจำนวน 2,788 คัน (อ้างอิงจาก ข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560) ซึ่งจากการทำงานของโครงการฯ แล้วจำนวนรถที่มีการใช้ผิดประเภทน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีกมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันของเรื่องรถรับส่งนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น ทางโครงการฯ จึงได้ ทำการสำรวจจากผู้ใช้บริการโดยตรงคือ น้องๆ นักเรียน ว่าสภาพการใช้งานจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร  โดยมีอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาคทั่วประเทศเป็นผู้รวบรวมข้อมูล   การสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน  ในการสำรวจสภาพการให้บริการของรถรับส่งนักเรียน ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดยอาสาสมัครเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค พบว่า ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล ประเภท รถตู้ และรถกระบะดัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งสองแถว มาใช้รับจ้างรับส่งนักเรียนทั้งในและนอกเขตจังหวัดเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเป็นรถที่มีขนาดเล็ก เมื่อนำไปรับส่งนักเรียน อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับนักเรียน นอกจากนี้ยังไม่มีกฎระเบียบควบคุมในเรื่องความปลอดภัย รถรับส่งนักเรียนลักษณะนี้เป็นรถไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการปรับปรุงสภาพตัวรถให้มีความปลอดภัยสำหรับใช้รับส่งนักเรียน  และเพราะไม่ได้มีที่มาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือเป็นรถที่ไม่ได้รับอนุญาต  จึงมากมายไปด้วยปัญหา ทั้งพนักงานขับรถไม่มีคุณภาพ การขับรถเร็วไม่เคารพกฎจราจร บรรทุกเด็กนักเรียนเกินกว่าที่นั่งของรถที่กฎหมายกำหนด ไม่มีคาดเข็มขัดนิรภัย การปรับเบาะที่นั่งเป็นเบาะยาวในรถตู้ ดัดแปลงสภาพส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรง รถมีสภาพเก่าไม่เหมาะกับการให้บริการ รวมถึงการไม่จัดทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของการรับส่งนักเรียนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง   ลักษณะการเดินทางไป-กลับโรงเรียนและค่าใช้จ่ายต่อเดือน นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามของโครงการฯ พบว่า กลุ่มใหญ่ที่สุด คือ 894 คน จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด 2,996 คน ต้องเดินทางไปโรงเรียนในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร รองลงมาคือ เดินทางในระยะ 16-20 กิโลเมตร 837 คน หรือ ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 28 ตามลำดับ โดยมีนักเรียนที่ใช้ระยะเดินทางไม่เกิน 5 กิโลเมตรอยู่เพียงร้อยละ 7 หรือ 224 คน  โดยเวลาที่เสียไปกับการเดินทางปรากฏว่า น้องนักเรียนส่วนใหญ่ไปถึงโรงเรียนในเวลาไม่เกิน 30 นาที ถึง 1,401 คน จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,265 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาตอบว่า ราว 30 นาที – 1 ชั่วโมง จำนวน 1,200 คน หรือร้อยละ 37 (ถึงไวจริงๆ ) สำหรับค่ารถที่จ่ายให้กับบริการรถรับส่ง มีผู้ตอบว่า อยู่ในช่วงราคา 300-600 บาท มากที่สุด (1,252 คน) และอยู่ในช่วงราคา 600-900 บาทต่อเดือนรองลงมา (1,029 คน) หรือคิดเป็นร้อยละ 41 และร้อยละ 34 จากผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนนี้ทั้งหมด 3,043 คน  รถตู้ คือรถยอดนิยมนำมาทำรถรับส่งนักเรียน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดภาพรวม พบว่า รถตู้ ถูกนำมาทำเป็นรถรับส่งนักเรียนมากสุด โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,869 คน รองลงมา คือ รถกระบะ รถสองแถว รถบัส และ รถสี่ล้อใหญ่ หรือ คิดเป็นรถตู้ ร้อยละ 46 รถกระบะ ร้อยละ 25 รถสองแถว ร้อยละ 11 รถบัส ร้อยละ 9 และรถสี่ล้อใหญ่ ร้อยละ 4จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดจำนวน 4,081 คน    แต่เมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานจะนิยมรถกระบะมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 42 รถสองแถว และรถบัสกลายเป็นอันดับรองๆ ลงมา มากกว่ารถตู้ ซึ่งตอบแบบสอบถามเพียง ร้อยละ 8 เท่านั้น เหตุผลที่ต้องใช้บริการรถรับส่งนักเรียน                เรื่องความสะดวกติดโผมาอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยมาเป็นอันดับสอง และตอบว่า ไม่มีทางเลือกเป็นอันดับ สาม (ร้อยละ 44 ร้อยละ 19 และไม่มีทางเลือก ร้อยละ 13) สภาพขณะโดยสารตอกย้ำเรื่องความไม่ได้มาตรฐานของรถรับส่งนักเรียน              จากการรวบรวมข้อมูล เราพบว่า เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการใช้บริการครั้งล่าสุดยังพบว่า มีคนที่ไม่มีที่นั่ง หรือต้องยืนไปโรงเรียน อยู่ที่ร้อยละ 15 และอีกร้อยละ 86 ไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังพบว่า ภายในรถไม่มีอุปปกรณ์ความปลอดภัย เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ถึงร้อยละ 31 และร้อยละ 29 ตอบว่าไม่ได้สังเกตหรือไม่ทราบว่ามีไม่มี(อาจเพราะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย) จากข้อมูลที่ได้ออกไปรวบรวมมาในครั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจหากจะพบว่า รถรับส่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่ให้บริการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ได้  ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ทำอย่างจริงจัง มีการปล่อยปละละเลยหรืออนุโลมมาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำรถยนต์ส่วนบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตมาวิ่งรับส่งนักเรียนแบบผิดกฎหมายอย่างทั่วถึงเช่นในปัจจุบัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 นางอาย : โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน

ในวัยเด็ก ไม่ใครก็ใครหลายคนคงจะเคยได้ยินหรือร้องเพลงประสานเสียงในโรงเรียนของตนว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบไปโรงเรียน (ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” หากพินิจพิจารณาเนื้อเพลงประสานข้างต้นจริงๆ แล้ว แม้แต่เด็กๆ ที่ไร้เดียงสาเอง ก็คงตระหนักกันโดยไม่ยากว่า เป็นเพลงที่เขียนขึ้นจากจุดยืนของ “คุณครูใจดีทุกคน” มากกว่าจะเป็นมุมมองจาก “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” ที่ไม่รู้ว่าลึกๆ แล้ว “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” กันจริงหรือไม่ แล้วเหตุใดโรงเรียนจึงกลายเป็นสถาบันที่ต้องจับเอา “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” มาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ใน “โรงเรียนของเราน่าอยู่” แถมยังติดตั้งโลกทัศน์ให้ด้วยว่า “คุณครูก็ใจดีทุกคน” คำตอบต่อข้อคำถามนี้อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “นางอาย” โครงเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “อภิรดี” หรือ “นาง” เด็กสาวแสนสวยแสนซนผู้เป็นบุตรีคนเดียวของรัฐมนตรี “เด่นชาติ” มีเหตุให้บังเอิญไปร่วมงานปาร์ตี้บ้านเพื่อนที่กำลังมั่วสุมเสพยาอยู่ จนเธอถูกตำรวจจับโดนหางเลขไปด้วย และกลายเป็นข่าวดังพาดหัวใหญ่ลงหน้าหนังสือพิมพ์ นี่จึงเป็นสาเหตุให้นางถูกบิดาส่งตัวไปเรียนต่อที่โรงเรียนคอนแวนต์หญิงล้วนที่ปีนัง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้นางได้มารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ อย่าง “สินีนาฏ” “สายสุดา” “มีนา” “จอยคำ” และอีกหลายๆ คนเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง นางก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ร่วมกับคนอื่น และการประพฤติตนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ข้อบังคับของโรงเรียนอีกด้วย  ภาพของโรงเรียนคอนแวนต์แห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียนและคุณครูซิสเตอร์(ใจดี!!!)มากหน้าหลายตา ได้สะท้อนให้เราเห็นบทบาทหลายด้านของโรงเรียน ในฐานะสถาบันสำคัญที่เด็กและเยาวชนต้องมาใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลานานหลายปี โดยในลำดับแรกนั้น สถาบันโรงเรียนมีสถานะไม่ต่างจาก “ตะแกรง” ที่ใช้ร่อนชนชั้นทางสังคม นั่นหมายความว่า หากใครสักคนจะมีสิทธิ์เข้าไปร่ำเรียนศึกษาถึงปีนังได้แล้ว ก็ต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงในระดับหนึ่ง เหมือนกับจอยคามที่พยายามปกปิดฐานะจริงๆ ของทางบ้าน เพราะกลัวเพื่อนในกลุ่มสังคมจะรับไม่ได้ หรือสินีนาฏที่เมื่อมารดาถูกศาลฟ้องล้มละลาย เธอก็แทบจะถูกปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนต่อไปได้เลย และแม้ต่อมาในภายหลัง ละครจะได้ให้ข้อสรุปเป็นคำอธิบายว่า มิตรภาพของเด็กๆ ที่มีให้แก่กันนั้น สำคัญเสียยิ่งกว่าการตัดสินคุณค่าจากสถานภาพทางชนชั้นของปัจเจกบุคคล แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันที่คอยคัดกรองเด็กจากชนชั้นที่ต่างกัน ก็มิอาจปฏิเสธไปได้โดยง่ายนัก นอกจากบทบาทของโรงเรียนที่ทำหน้าที่ร่อนกรองสถานะชนชั้นทางสังคมแล้ว หากสังคมหนึ่งๆ มี “ความต้องการ” บางชุดที่อยากให้ “เด็กในวันนี้” เป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” และเชื่อฟังในกฎกติกามารยาทของระบบ “ในวันหน้า” ก็เป็นโรงเรียนอีกนั่นแหละที่ถูกมอบหมายบทบาทหน้าที่ของการ “ขัดเกลา” และเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดให้เด็กๆ ยอมรับว่า โรงเรียนที่มีกฎเกณฑ์ร้อยแปดช่างเป็น “โรงเรียนของเราน่าอยู่” เสียนี่กระไร เฉกเช่นที่นางเองก็ถูกบททดสอบของการขัดเกลาตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาในขอบขัณฑสีมาของโรงเรียนคอนแวนต์ ตั้งแต่การที่เธอต้องละทิ้งความฝันที่อยากเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ ไปจนถึงการที่ชีวิตถูกพรากออกไปจากโลกโซเชียลที่เธอชื่นชมกับการโพสต์ภาพถ่ายอัพสเตตัสอยู่เป็นอาจิณ  จากบททดสอบแรกดังกล่าว นางกับเพื่อนๆ ก็ยังถูกฝึกให้ยอมรับในกฎระเบียบของโรงเรียน และพูดวลีที่ว่า “Yes, Madam” จนติดเป็นพฤตินิสัย เพราะหากไม่ยอมรับในข้อตกลงที่ว่านี้ บทลงโทษหลากหลายก็จะถูกบริหารโดยบรรดา “คุณครูใจดีทุกคน” ตั้งแต่การนั่งสก็อตจัมพ์ ยืนคาบไม้บรรทัด สั่งอดอาหาร ล้างจานในโรงครัว ทำความสะอาดห้อง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่แน่ๆ บททดสอบกับบทลงโทษเหล่านี้ ก็มีการสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น และยังถูกอ้างความชอบธรรมว่ามีประสิทธิภาพในการขัดเกลาบุคลิกนิสัยของเด็กผู้หญิง เหมือนกับประโยคที่ “เอมอร” มารดาของนางที่เคยเรียนในคอนแวนต์เดียวกันมาก่อน ได้กล่าวกับลูกสาวในวันมอบตัวเข้าโรงเรียนว่า “แม่เชื่อว่า ถ้าลูกรู้จักตัวลูกอย่างที่แม่รู้จัก ได้เห็นโลกกว้างกว่านี้ ลูกจะเปลี่ยนใจ”  เพราะฉะนั้น จากบุคลิกนิสัยที่เคยกระโดกกระเดก จากเด็กผู้หญิงที่เคยทำตัวขัดขืนอำนาจของผู้ใหญ่ หรือจากนางผู้แก่นแก้วที่เคยทำตัวแตกแถวไปจากระเบียบบรรทัดฐานของสังคม ยี่สิบสี่ชั่วโมงในโรงเรียนที่ดำเนินสืบเนื่องมาวันต่อวันก็ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กหญิงค่อยๆ ได้รับการ “ขัด” และ “เกลา” จนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ดำเนินชีวิตไปตาม “ความต้องการ” ของสังคมในที่สุด ด้วยข้อเท็จจริงที่ตัวตนของเด็กนักเรียนค่อยๆ ถูกแยกออกจากความปรารถนาที่มีมาแต่เดิมก่อนจะเข้าสู่สถาบันโรงเรียนเช่นนี้เอง ประโยคที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนหญิงเหล่านี้ผ่านปากตัวละครสายสุดาที่พูดว่า “ไม่มีใครเข้าใจการคิดถึงบ้านได้มากเท่ากับเด็กนักเรียนประจำหรอก” จึงกลายเป็นวาทะที่สะเทือนจิตใจของใครก็ตามที่เข้ามาได้ยินยิ่งนัก เมื่อมาถึงฉากจบ หลังจากที่ตัวละครทั้งหลายผ่านการกล่อมเกลาจนสำเร็จการศึกษาและแยกย้ายกันไปตามครรลองชีวิตของตน ผู้ชมจึงได้เห็นภาพการครองคู่ระหว่างนางกับ “ธนาธิป” ท่านกงสุลพระเอกที่เลี้ยงต้อยนางเอกมาตลอดเรื่อง หรือคู่ของสินีนาฏกับ “ชัยพล” และสายสุดากับ “คัมพล” ที่ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมาจนถึงบทสรุปอย่างเป็นสุข และในขณะเดียวกัน ละครก็ยังยืนยันให้เห็นด้วยว่า สถาบันโรงเรียนก็ได้ “ขัดเกลา” ให้เด็กหญิงนางผู้ที่เคยเป็น “นางม้าดีดกะโหลก” ไม่อยู่ในรีตในรอยของสังคม กลับกลายเป็น “นางอาย” ที่รู้จักเขินอายเพราะผ่านการขัดสีฉวีวรรณมาจนเป็นกุลสตรีที่ดีของสังคมไปแล้ว  ดังนั้น จึงยังคงเป็นความจำเป็นและไม่ผิดอันใด ที่เด็กๆ ทั้งหลายต้องสืบทอดร้องเพลงกันต่อไปว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่” ควบคู่ไปกับ “คุณครูที่แสนใจดีทุกคน” และที่สำคัญ เด็กๆ ทุกคนก็ยัง “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2556 นมโรงเรียนไม่ปลอดภัย พบผลการตรวจที่น่าตกใจ เมื่อนมโรงเรียนที่แจกให้เด็กนักเรียนดื่มตามโรงเรียน ยังมีความเสี่ยงของเชื้อแบคทีเรียที่เกินค่ามาตรฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจสอบตัวอย่างนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยูเอชที ที่ผลิตจากโรงนมขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และกลุ่มสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม ระหว่างปี พ.ศ.2553 - 2555 จำนวน 450 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างที่ไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 42 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 9.3 เมื่อจำแนกตามรายการตรวจวิเคราะห์พบตัวอย่างไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ พบปริมาณแบคทีเรียเกินมาตรฐานมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบ เชื้อบาซีรัส ซีเรียส เชื้ออีโคไล และเชื้อโคลิฟอร์ม โดยพบนมพาสเจอร์ไรส์ไม่ได้มาตรฐานมากกว่านมยูเอชที นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องคุณค่าทางโภชนาการไม่ได้มาตรฐาน คือมีโปรตีนต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ โดยทางกระทรวงสาธารณสุขคาดว่าสาเหตุที่นมโรงเรียนพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์นั้นมาจาก ความไม่ได้มาตรฐานในการผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการขนส่งและเก็บรักษาที่ไม่มีคุณภาพในการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม     หลอกลวง 100% ยาลดสัดส่วนเฉพาะจุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกโรงเตือนสาวๆ ที่คิดจะทานยาที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยลดสัดส่วนเฉพาะจุด ว่ายาดังกล่าวอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง อย.ไม่เคยมีการรับรอง และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมียาลดสัดส่วนเฉพาะจุด อย.ได้ออกตรวจและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ขายยาในลักษณะดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีการโฆษณาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดหลายประการ ทั้งการผลิตยา หรือ นำเข้ายา โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ขออนุญาตในการขึ้นทะเบียนยา ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาเกินจริง และโฆษณาโอ้อวด โดยจะรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดทั้งผู้ขาย และแหล่งที่ผลิต ตาม พ.ร.บ.ยา 2522 ยาดังกล่าวนอกจากจะไม่มีผลตามที่โฆษณาอวดอ้างแล้ว ยังอาจก่อผลเสียต่อร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบของ อย. เชื่อว่าน่าจะเป็นยาประเภทอาหารเสริม ประเภทแอลคานิทีน ที่เพิ่มการเผาผลาญ และมักพบว่ามีการแอบเติมยาที่ อย.ถอนทะเบียน โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีผลข้างเคียงทั้งทำให้ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต   ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้า (กำลังจะ) ล้นประเทศ!!! มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โครงการพัฒนาแนวทางการประเมินปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าในช่วงปี พ.ศ.2555-2559 หากไม่มีการดำเนินการกำจัดขยะอันตรายอย่างถูกต้อง ประเทศไทยเราจะมีซากขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ล้นประเทศ โดยสัดส่วนของขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละประเภทที่คาดการไว้มีดังนี้  โทรทัศน์ 12 ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพ/วิดีโอ 4 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียงขนาดพกพา 17 ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร 7 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ/โทรศัพท์บ้าน 48 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 11 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 3 ล้านเครื่อง และตู้เย็น 4 ล้านเครื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อย่างที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้คือเรื่องของ ทีวีดิจิตอล ที่อาจทำให้หลายครอบครัวต้องเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่เพื่อรองรับการส่งสัญญาณทีวีแบบใหม่ ขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ถ้าหากไม่ได้รับการจัดการที่ดีจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งหาวิธีจัดการขยะอันตรายเหล่านี้อย่างถูกวิธี ด้านผู้บริโภคเองก็ต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งการลดปริมาณการใช้ แยกขยะ และไม่นำขยะอันตรายไปทิ้งในที่ที่ไม่ได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเหมาะสม   เดินหน้ายกเลิกการใช้แร่ใยหิน ทั้งๆ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้แร่ใยหิน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ปี 2553 แต่จนถึงขณะนี้บ้านเราก็ยังไม่มีกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้การใช้แร่ใยหินอย่างจริงจังสักที ล่าสุดในงานแถลงข่าวเรื่อง “สังคมไทยต้องไร้แร่ใยหิน” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แจ้งว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกเลิกการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กระเบื้องแผ่นเรียบ 2.กระเบื้องยางปูพื้น 3.ผ้าเบรกและคลัตช์ 4.ท่อซีเมนต์ใยหิน และ 5.กระเบื้องมุงหลังคา หลังจากได้ไปดำเนินการจัดทำแผนและกรอบเวลายกเลิกการนำเข้าผลิตและจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบเพื่อสรุปเสนอเป็นแผนขอความเห็นชอบจาก ครม. โดยจะมีการนำเสนอเข้า ครม. พิจารณา ให้ไทยยกเลิก 5 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่ทำจากแร่ใยหินภายใน 5 ปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่ใยหินอย่างผ้าเบรกและคลัตช์ที่มีกรอบระยะเวลาในการยกเลิก 5 ปี จะดำเนินการเฉพาะส่วนของรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลขนาดเล็กก่อน เนื่องจากในรถบรรทุกยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ส่วนท่อซีเมนต์ใยหินจะให้ยกเลิกเฉพาะท่อที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 400 มม.เพราะท่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 400 มม.ขึ้นไป กรมชลประทานมีหนังสือถึง ก.อุตสาหกรรม ว่าขอให้มีการขยายเวลาในการยกเลิก เนื่องจากติดขัดเรื่องความพร้อมในการผลิต ส่วนอีก 3 ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะเสนอให้ยกเลิกภายใน 5 ปี   องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กระตุ้น กสทช. ทำงาน ก่อนเกิดปัญหา “ซิมดับ” คนที่ใช้โทรศัพท์มือถือเครือข่ายทรูมูฟ รู้กันหรือยังว่า วันที่ 15 กันยายนที่จะถึงนี้ สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ที่ทางผู้ให้บริการทำไว้กับทาง กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะหมดลง ซึ่งหมายความว่าต้องเกิดการเปลี่ยนเรื่องการใช้งานของผู้ใช้บริการ อาจจะต้องมีการโอนย้ายผู้ให้บริการ หรือที่เลวร้ายที่สุดคือ อาจไม่สามารถใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ของเครือข่ายดังกล่าวได้ หรือพูดง่ายๆ คือเกิดปัญหา “ซิมดับ” คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เป็นห่วงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดูเหมือนจะยังหาทางออกให้ผู้บริโภคไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระฯ จึงได้ทำหนังสือเรียกร้องให้ทาง กสทช. เร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน โดยข้อเรียกร้องในการแก้ปัญหาประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และกำหนดวันในการจัดการประมูลคลื่นใหม่โดยเร่งด่วน 2.ควบคุมกำกับ ไม่ให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้ยังคงทำสัญญาให้บริการอยู่ ต้องไม่ทำสัญญาให้บริการเกินวันที่ 15 กันยายน 2556 3.เร่งรัดให้บริษัทผู้ให้บริการทั้งสองราย แจ้งให้เจ้าของเลขหมายทุกรายทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยทันที และมีบริการให้ผู้บริโภคติดต่อสอบถามฟรี รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายให้เต็มตามศักยภาพ คือ 3 แสน เลขหมายต่อวัน พร้อมทั้งคืนเงินคงเหลือในระบบให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ทาง กสทช. เองทราบเรื่องการหมดสัมปทานมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่กลับไม่ยอมจัดการปัญหา คือการจัดประมูลสัมปทานใหม่ กลับนิ่งเฉยจนใกล้วันหมดอายุ จนกำลังจะกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคซึ่งแทบจะยังไม่รู้ข้อมูลใดๆ เลยว่าสัญญาณมือถือที่ใช้อยู่กำลังจะหยุดลง ซึ่งความจริงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะรับทราบข้อมูลดังกล่าว เพื่อผู้บริโภคจะได้มีโอกาสเลือกที่จะยังคงอยู่ในระบบ ย้ายค่าย หรือทวงถามค่าชดเชยที่ผู้บริโภคควรได้รับ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 ปฏิรูประบบการศึกษาไทยวันนี้ “เด็กยังถูกจับเป็นตัวประกัน”

 เมื่อวันก่อนประมาณกลางเดือน พฤษภาคม 2553 ช่วงเกือบ 1 ทุ่ม ผู้เขียนได้เห็นแม่กับลูกคู่หนึ่งมาหาคนข้างบ้าน(สมุทรสงคราม) หน้าตาเขาทุกข์โศกมาก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เป็นลูก ผู้เขียนไม่รู้จักว่าเขาเป็นใคร แต่ด้วยหน้าตาที่อมทุกข์ของทั้ง 2  คนทำให้ผู้เขียนแวะเข้าไปทัก เพื่อถามว่าไปไหนกัน มืดค่ำแล้ว แม่เด็กก็บอกทั้งน้ำตาว่า มาหากู้เงิน มีเงินให้กู้บ้างไหม? ดอกเบี้ยเท่าไรก็ยอม(นั่น..งงไปเลยเรา) ก็เลยได้สอบถามถึงต้นสายปลายเหตุที่ต้องกู้เงินในครั้งนี้  ได้ความว่าที่ต้องมาหากู้เงินให้ได้ในวันนี้ เพราะหากกู้ไม่ได้ในวันนี้ลูกสาวที่มาด้วยจะต้องถูกตัดสิทธิในการเรียนต่อ   ซึ่งเด็กอยากเรียนต่อ แม่เด็กก็อยากให้ลูกเรียนเพราะไม่มีสมบัติอะไรจะให้ลูกนอกจากการศึกษาที่พอกัดฟันเพื่อลูกได้ผู้เขียนจึงถามต่อว่าทำไมเด็กถึงจะไม่ได้เรียน  ก็ได้คำตอบว่า เพราะลูกเรียนโรงเรียนเอกชนในจังหวัด ตอนที่เอาลูกเข้าโรงเรียนนี้ทั้งที่รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะตอนนั้นที่บ้านมีเรือประมงเป็นของตนเองจึงพอมีรายได้ในการส่งลูกเรียน แต่มาระยะหลังๆ เมื่อตอนน้ำมันแพง อาชีพนี้ก็เริ่มจะไปไม่ไหวมีหนี้สินเพิ่มขึ้นมาก จนสุดท้ายเรือก็ถูกยึดไปในที่สุด เมื่อเรือถูกยึดแม่ก็ออกไปรับจ้างในโรงงาน พ่อเด็กก็ไปสมัครเป็นยาม รายได้จึงไม่มากนัก  ทำให้หมุนค่าเทอมลูกไม่ทัน จึงติดหนี้ค่าเทอมอยู่กับโรงเรียนบางส่วน  ซึ่งปีนี้ลูกจบ ม. 3 แล้ว ลูกไปสมัครเรียนต่อที่ โรงเรียนเทคนิคสมุทรสงคราม และได้เข้าเรียนตามที่ต้องการแต่เมื่อ 2 วันก่อน โรงเรียนเทคนิคได้บอกให้เด็กมาเอาใบยืนยันจบ ม. 3 ที่โรงเรียนเดิม หากไม่ได้เด็กก็จะหมดสิทธิเรียนทันที  แม่เด็กจึงได้ไปประสานงานที่โรงเรียนเดิมเพื่อขอถ่ายเอกสารใบจบไปให้โรงเรียนใหม่  ปรากฏว่าโรงเรียนเดิมยื่นคำขาดมาว่า หากแม่เด็กหาเงินมาจ่ายค่าเทอมไม่ได้ โรงเรียนจะไม่ยอมถ่ายใบจบให้  ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงต้องออกหากู้เงินอย่างที่เห็น หากกู้ไม่ได้วันนี้ลูกคงหมดโอกาสเรียนต่อ ผู้เขียนได้ฟังแล้วรู้สึกสะท้อนใจนี่นะหรือการปฏิรูประบบการศึกษาไทย  ขนาดปฏิรูปแล้วเด็กก็ยังถูกจับเป็นตัวประกันอยู่เช่นเดิม ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด  ไม่มีเงินแล้วให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชนทำไม?  จนแล้วไม่เจียมตัว  เว่อร์   ก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรจับเด็กเป็นตัวประกันอย่างนี้ เห็นเงินสำคัญกว่าอนาคตเด็กปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ต้องแก้กันเอง  แต่เด็กต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา เขาอยากเรียนเขาต้องได้เรียน เรื่องอื่นๆ ก็ไปตกลงกันเอง   ผู้เขียนจึงแนะนำให้แม่เด็กไปที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม  เพื่อขอให้เขาหาวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นก่อน ส่วนเรื่องหากู้เงินไปใช้หนี้โรงเรียนค่อยมาว่ากันทีหลัง เมื่อแม่เด็กไปที่ศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ได้ประสานงานไปทั้ง 2 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนเดิมและโรงเรียนใหม่ จากนั้นศูนย์ฯ ได้ประสานไปยังผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ช่วยประสานในการแก้ปัญหาให้เด็กได้เรียนอีกทางหนึ่ง  ผลการเจรจาโรงเรียนเดิมยอมให้ถ่ายเอกสารใบยืนยันการจบไปให้โรงเรียนใหม่  จนทำให้เด็กคนนี้ได้เรียนต่อ ส่วนเรื่องหนี้สินค่อยว่ากันไป วันก่อนได้เห็นข่าวว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่าน พรบ.การปฏิรูปการศึกษาไปแล้ว จึงขอให้คำนึงถึงปัญหาเหล่านี้ด้วยนะท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่อย่างนั้นนโยบายการศึกษาอาจเป็นได้แค่เรื่องที่ได้แต่ ลูบๆ คลำๆ ไม่ไปถึงการปฏิรูปจริงๆ ซะที พับผ่าซิ.... 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 88 โรงเรียนกวดวิชา

กลับมาอีกครั้งกับผลสำรวจของฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ (ลำปาง เพชร์บูรณ์ ลพบุรี สระบุรี กาญจณบุรี ตราด สมุทรสงคราม สตูล ยะลา มหาสารคาม และอำนาจเจริญ) คราวนี้เราเลิกไปป้วนเปี้ยนแถวโรงเรียน แต่ไปสอบถามจากผู้ปกครอง จำนวน 498 คน ในฐานะที่เป็นแหล่งทุนสำหรับการเรียนพิเศษของเด็กๆ ทั้งในช่วงเปิดและปิดเทอม กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ปกครอง อายุระหว่าง 41-50 ปี และร้อยละ 60 เป็นผู้หญิงร้อยละ 32 จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ร้อยละ 26 มีการศึกษาระดับประถมศึกษา ตามด้วยอีกร้อยละ 24 ที่มีการศึกษาระดับมัธยม ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 28) รับราชการ ตามด้วย ร้อยละ 24 ที่ทำธุรกิจส่วนตัว รายได้ของครอบครัวของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 35) อยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 บาท อีกร้อยละ 26 มีรายได้น้อยกว่า 10,000 บาท อีกร้อยละ 28 มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทลูกหลานของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 43) กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร้อยละ 64 ของนักเรียน เลือกเรียนสายวิทย์ เกือบร้อยละ 40 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 2.5 ถึง 3 อีกร้อยละ 32 มีเกรดเฉลี่ยระหว่าง 3 ถึง 3.5 จากกลุ่มตัวอย่างที่เครือข่ายของเราไปสัมภาษณ์ พบว่ามีถึงร้อยละ 34 ที่เรียนกวดวิชาและในกลุ่มนี้  มีถึงร้อยละ 79 ที่ใช้บริการโรงเรียนกวดวิชา ที่เหลือเรียนตัวต่อตัวกับครูสอนพิเศษ จำนวนวิชาที่เรียนต่อเทอมหนึ่งวิชา 40.5สองวิชา 36.1สามวิชา 19มากกว่าสามวิชา 4.4วิชาที่เด็กๆนิยมเรียนเรียงตามลำดับความนิยมในกรณีที่เรียนเพียงหนึ่งวิชานั้น วิชาที่เด็กๆ เลือกเรียนคือ คณิตศาสตร์ (ร้อยละ 62.6) รองลงมาได้แก่ อังกฤษ (ร้อยละ 38) ฟิสิกส์ (ร้อยละ 28) และเคมี (26)  ว่าแต่ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงต้องเรียนกวดวิชา สิ่งที่ผู้ปกครองกลุ่มนี้เห็นว่าเป็นเหตุผลหลักที่เด็กๆไปเรียนพิเศษ คือ เรียนเพื่อต้องการทำคะแนนให้ดีขึ้น (ร้อยละ 77.5) รองลงมาได้แก่เพื่อการเตรียมตัวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย (ร้อยละ 49.2) ตามด้วยการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ (ร้อยละ 45.2) มี ร้อยละ 26.3 ที่ให้เหตุผลว่าลูกหลานไปเรียนพิเศษ เพราะเรียนตามเพื่อนในห้องไม่ทัน (ร้อยละ 26.3) มีเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้นที่ตอบว่าเด็กไปเรียนเพราะต้องการมีกิจกรรมนอกบ้าน และไปสังสรรค์กับเพื่อนหลังเรียน เกณฑ์ในการพิจารณาเลือกโรงเรียน / ผู้สอนพิเศษให้กับบุตรหลาน คุณวุฒิของผู้สอน                 64.6ชื่อเสียงของผู้สอน            41.5เลือกตามคำแนะนำจากผู้ปกครองอื่นๆ     30.5แผ่นพับ/โฆษณา                14.8มาดูเรื่องเงินกันบ้างค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษ โดยประมาณส่วนใหญ่ (ร้อยละ 31.2) มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท ต่อภาคเรียน แต่ที่น่าสนใจคือมีอีกร้อยละ 25 ที่เสียค่าใช้จ่ายเทอมละมากกว่า 4,000 บาท กลุ่มที่ใช้จ่ายเรื่องเรียนพิเศษเทอมละ 2,001 – 3,000 บาท และ 3,001 – 4,000 บาท มีประมาณร้อยละ 18 และมีไม่ถึงร้อยละ 8 ที่จ่ายน้อยกว่า 1,000 บาท    ในกลุ่มที่เรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีมากกว่าร้อยละ 30 ที่ใช้จ่ายมากกว่า 4,000 บาทค่าใช้จ่ายในเดินทางค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเรียนพิเศษแต่ละครั้งของเด็กส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 50 ถึง 100 บาท หนึ่งในสี่ใช้น้อยกว่า 50 บาท และมีถึงร้อยละ 16 ที่มีค่าเดินทางมากกว่า 200 บาทบทสรุปความคุ้มค่าของการลงทุนหนึ่งในสี่ของผู้ปกครองเหล่านี้เชื่อว่าบุตรของตนมีผลการเรียนดีอยู่แล้วก่อนเรียนพิเศษ     ประมาณร้อยละ57 เชื่อว่าบุตรมีผลการเรียนดีขึ้นหลังเรียนพิเศษ แลประมาณร้อยละ 42 ใส่ใจการเรียนมากขึ้นหลังจากไปเรียนพิเศษแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีอยู่บ้าง (ร้อยละ 9) ที่ตอบว่าไม่มีความแตกต่างของผลการเรียนก่อนและหลังการเรียนพิเศษแล้วที่ไม่เรียนเพราะอะไรสาเหตุหลักคือเรื่องของความไม่พร้อมทางการเงิน (ร้อยละ 23.3) มีประมาณร้อยละ 20 ที่เห็นว่าบุตรหลานของตนเองมีผลการเรียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการกวดวิชาก็ได้ ร้อยละ 10 เห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องเรียน และที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียนกวดวิชาจริงๆ มีเพียงร้อยละ 3     เท่านั้น ______________________________________________________

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 86 แอบดูร้านเน็ต รอบรั้วโรงเรียน

ปัจจุบันธุรกิจอีกหนึ่งชนิดที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็นในบริเวณรอบๆสถาบันการศึกษา ได้แก่ร้านอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตนั้นเพิ่มขึ้นแน่นอน ข้อมูลจากสถาบันรามจิตติก็ระบุว่าร้อยละ 25 ของเด็กไทย เข้าอินเทอร์เน็ตทุกวันหลายคนเห็นว่าการมีร้านดังกล่าวเป็นสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้เด็กสามารถค้นคว้าหาข้อมูล ทั้งมาทำการบ้านตามที่อาจารย์สั่ง ทั้งได้เปิดโลกทัศน์จากเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้ต่างๆ แต่บางคนก็วิตกว่าจะเป็นแหล่งชุมนุมของเด็กๆที่นิยมเกมออนไลน์ เข้าไปดูภาพลามกอนาจาร หรือสนทนากับคนแปลกหน้าผ่านโปรแกรมแชทต่างๆ อย่างที่เคยได้ยินข่าวกันเสียมากกว่า จะนั่งสงสัยอยู่ก็ใช่ที่ ฉลาดซื้อร่วมกับเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ ภาคประชาชน ในจังหวัด ลำปาง เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ลพบุรี ตราด สมุทรสงคราม สตูล และยะลา จึงส่งสายสืบไปคุยกับเด็กๆที่เข้าใช้บริการในร้านอินเทอร์เน็ตบริเวณรอบๆ โรงเรียน ว่าพวกเขาใช้เงิน ใช้เวลาในนั้นอย่างไรสายสืบของเรา หลอก เอ้ย สอบถามข้อมูลจากเด็กนักเรียน 346 คน จากจังหวัดต่างๆ เป็นเด็กชายและเด็กหญิงอย่างละครึ่ง และในกลุ่มที่เราสำรวจนั้น มีถึงร้อยละ 20 เป็นเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ห้า รองลงมาได้แก่เด็กใน มัธยมสี่และสามเข้าร้านเน็ตกันบ่อยไหม ?เกือบร้อยละ 30 ของเด็กกลุ่มนี้ เข้าร้านเน็ตสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ประมาณร้อยละ 20 เข้าเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ที่เข้าทุกวันมีร้อยละ 13 ช่วงเวลาที่เด็กๆ เข้าใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดได้แก่ 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม (ร้อยละ 47) รองลงมาคือช่วงบ่ายโมง ถึง 4 โมงเย็น (ร้อยละ 19) ตามด้วยช่วง 8 โมงเช้า ถึงเที่ยง (ร้อยละ 15)ใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไรกันบ้าง ?กิจกรรมที่ทำมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน เช่นหาข้อมูลทำรายงาน  รองลงมาคือการเล่นเกมส์ออนไลน์และการสนทนาออนไลน์ หาข้อมูลทำรายงาน          ร้อยละ 68เล่นเกมส์ออนไลน์             ร้อยละ 54สนทนาออนไลน์*              ร้อยละ 48หาข้อมูลเพื่อความบันเทิง (เช่น หาข้อมูลดารา/นักร้องที่ชอบ)    ร้อยละ 30ดาวน์โหลดเพลง            ร้อยละ 26*ในกลุ่มที่เราสำรวจ โปรแกรม/เว็บสนทนาที่นิยมใช้มากที่สุดได้แก่ MSN (ร้อยละ 59) ตามด้วย Hi5 เว็บที่เป็นข่าวฮือฮากันอยู่ขณะนี้ (ร้อยละ 20)>> และเมื่อถามเด็กๆว่า สิ่งพวกเขาใช้ประโยชน์มากที่สุดจากอินเทอร์เน็ตได้แก่อะไร คำตอบคือ เพื่อการศึกษาและเพื่อเล่นเกมส์ในระดับที่พอๆกัน (ร้อยละ 41 และ 40 ตามลำดับ) กลุ่มที่ใช้เพื่อการศึกษานั้น 1 ใน 4 เป็นเด็กชั้นมัธยมปีที่ 5 กลุ่มที่ใช้เพื่อเล่นเกม ร้อยละ 18 เป็นเด็กชั้นมัธยมปีที่ 1 อยู่ในร้านกันนานแค่ไหนเด็กๆส่วนใหญ่ (ร้อยละ 47) ตอบว่าใช้เวลาในการเข้าอินเทอร์เน็ตแต่ละครั้ง ประมาณ 2 ชั่วโมงมีประมาณ ร้อยละ 18 ที่ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงต่อครั้งกลุ่มที่ใช้เวลา 2 ชั่วโมง นั้น ร้อยละ 47 ใช้เพื่อการศึกษา ที่เหลือใช้เพื่อเล่นเกม แชท หรือ ดูข่าวบันเทิงกลุ่มที่ใช้เวลา 3 ชั่วโมง นั้น ร้อยละ 51 ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเล่นเกมกลุ่มที่อยู่นานกว่า 5 ชั่วโมงนั้น เกือบร้อยละ 70 ใช้เพื่อเล่นเกมเช่นกัน แล้วเล่นเกมอะไรกันบ้างเกมยอดนิยมในหมู่เด็กๆที่เราไปสำรวจ ได้แก่เกมแนวต่อสู้ (ร้อยละ 41) รองลงมาได้แก่เกมกีฬา (ร้อยละ 20) ตามด้วยเกมทำครัวและแฟชั่น (ร้อยละ 12)เอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายที่ร้านเน็ตร้านอินเทอร์เน็ตเหล่านี้คิดค่าบริการ 10/15/20 บาท ต่อชั่วโมง เกือบร้อยละ 60 ของเด็กๆเหล่านี้ บอกว่าขอเงินจากพ่อแม่มาใช้บริการ อีกประมาณร้อยละ 39 บอกว่าใช้เงินที่เก็บสะสมไว้ ส่วนที่เหลืออีกไม่กี่คนนั้นได้เงินจากญาติหรือเพื่อนส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น เกือบครึ่งหนึ่งของเด็กๆ บอกว่าใช้ไม่เกิน  50 บาทต่อสัปดาห์ ร้อยละ 32 ใช้ไม่เกิน 100 บาทต่อสัปดาห์ ร้อยละ 17 ใช้ระหว่าง 100 – 300 บาท เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชาย มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่แตกต่างกัน หรือไม่กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษานั้นเป็นเด็กหญิงร้อยละ 62 เด็กชายร้อยละ 38กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมส์นั้นเป็นเด็กชายร้อยละ 67 เด็กหญิงร้อยละ 33กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เกิน 2 ชั่วโมงนั้น จะเป็นเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย แต่ในกลุ่มที่อยู่ในร้าน 3 ชั่วโมงขึ้นไป จะเป็นเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ======>>> ตามกฎหมายแล้ว ร้านจะต้องไม่ให้เด็กเข้าใช้บริการหลังเวลาสี่ทุ่ม แต่สายสืบของเราพบว่าร้อยละ 19 ของร้านอินเทอร์เน็ตในบริเวณรอบๆโรงเรียนในเขตที่เราไปสำรวจนั้นยังมีเด็กๆเข้าใช้บริการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดตราด มีร้านที่ยังให้บริการกับเด็กหลังสี่ทุ่มถึง 9 ร้าน จากทั้งหมด 20 ร้าน ที่เราไปสังเกตการณ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 87 เด็กไทยกินอะไรกันหน้าโรงเรียน

เพื่อเป็นการต้อนรับเปิดเทอม ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนผู้อ่านไปป้วนเปี้ยนแถวหน้าโรงเรียนกันอีกแล้ว เราได้ยินข่าวกันบ่อยครั้งเรื่องภาวะโภชนาการเกินของเด็กไทยสมัยนี้  จึงทำการสำรวจว่าเด็กๆของเราเลือกรับประทานอาหารว่าง (หรือบางครั้งก็อาจเป็นอาหารหลัก) อะไรกันบ้างจากร้านหรือรถเข็นบริเวณรอบๆโรงเรียนและเช่นเคยเราได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี  สมทรสงคราม ตราด อำนาจเจริญ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ลำปาง มหาสารคาม สตูล และยะลา กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กนักเรียนระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 465 คน เป็นเด็กหญิงร้อยละ 65 เด็กชายร้อยละ 35ร้อยละ 63 มีอายุระหว่าง 13 –16 ปี และประมาณร้อยละ 63 เช่นกัน ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4เด็กๆได้เงินมาโรงเรียนวันละกี่บาทค่าขนม    ร้อยละไม่เกิน 10 บาท    4.511 - 20 บาท    15.121 -30 บาท    12.931 - 40 บาท    16.641 - 50 บาทt    22.251 - 60 บาท    18.7มากกว่า 60 บาท    10.1เกือบร้อยละ 40 ใช้จ่ายไม่เกิน 10 บาท ต่อครั้ง มีประมาณร้อยละ 22 ที่ใช้จ่ายมากกว่า 20 บาทต่อครั้ง เด็กๆ กินอะไรกันเราพบว่าเมนูยอดฮิตหน้าโรงเรียน 5 อันดับต้น ได้แก่ (ตามลำดับ)1.    น้ำอัดลม/น้ำหวาน2.    ไอศกรีม3.    ลูกชิ้นทอด/ปิ้ง4.    ผลไม้5.    ขนมขบเคี้ยว    ซื้อทุกวันเลยหรือเปล่าร้อยละ 43.4 บอกว่าซื้อทุกวันอีกร้อยละ 35.5 ซื้อสัปดาห์ละหลายครั้งมีเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ตอบว่า นานๆจะซื้อสักครั้งสาเหตุที่ซื้อทาน1.    หาซื้อได้ง่าย2.    หิว3.    อร่อยเรื่องนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจโดยองค์กรต่างๆก่อนหน้านี้ เรื่องสภาวะโภชนาการเกินในเด็กไทย อย่างน้อยๆ เมื่อโรงเรียนเลิกปุ๊ป เด็กออกมาหน้าโรงเรียนก็หาอาหารรับประทานปั๊ป และที่รับประทานกันเป็นส่วนใหญ่ก็ดูจะเป็นอาหารพวกที่มีแป้ง น้ำตาล และน้ำมัน ในปริมาณสูง (น่าจะดีเหมือนกันถ้าผลไม้ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง) แต่คงจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องของความสะอาด และการปนเปื้อนในอาหาร เพราะในกลุ่มนักเรียนที่ซื้อทุกวันหรือซื้ออาทิตย์ละหลายครั้งนั้น มีมากกว่าร้อยละ 40 ที่เคยมีอาการเจ็บป่วยจากการรับประทานอาหารดังกล่าวเด็กๆอยากให้ ร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย บริเวณรอบโรงเรียน ปรับปรุงอะไรบ้างเรื่องความสะอาดเป็นเรื่องที่เด็กๆ อยากให้มีการปรับปรุงมากที่สุดรองลงมาได้แก่ปริมาณ  ราคา และรสชาติตามลำดับคิดยังไงกับจำนวน ร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย รอบๆโรงเรียนร้อยละ 57 คิดว่าเท่าทีมีอยู่ก็เหมาะสมแล้วร้อยละ 31 บอกว่า ยังมีน้อยไป น่าจะมีร้านมาเปิดเพิ่มอีกมีร้อยละ 12 ที่บอกว่ามีร้านมาตั้งหน้าโรงเรียนมากเกินไปพ่อแม่/ ผู้ปกครองหรือครูเคยเตือนหรือเปล่ามากกว่าร้อยละ 50 ของเด็กที่ตอบคำถามบอกว่า พ่อแม่/ ผู้ปกครอง / ครู เคยห้ามหรือเตือนเรื่องอาหารจากร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย บริเวณรอบโรงเรียนแต่การห้ามหรือตักเตือนยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆได้ เพราะ ในกลุ่มที่ตอบว่าได้รับการห้ามหรือเตือนเรื่องอาหารหน้าโรงเรียนนี้ มีมากกว่าร้อยละ 40 ที่ยังซื้ออาหารดังกล่าวรับประทานทุกวัน อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ซื้อทานสัปดาห์ละหลายครั้ง มีเพียงไม่เกินร้อยละ17 เท่านั้นที่ลดการบริโภคลงเป็นนานๆครั้ง ปัญหาที่เด็กๆ เคยพบจากการรับประทานอาหาร จากร้าน/ รถเข็น/ แผงลอย บริเวณรอบโรงเรียน ตามลำดับ1.    ภาชนะไม่สะอาด2.    อาหารไม่สดใหม่    3.    ผู้ขายมารยาทไม่ดี    4.    ผู้ขายมีการเลือกปฏิบัติ (เช่น ถ้าเป็นคนรู้จักกันไม่ต้องต่อคิว) 5.    เคยเจอสิ่งแปลกปลอม ในอาหาร เช่น หนอน แมลงสาบเคยมีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการรับประทานอาหารดังกล่าวหรือไม่ร้อยละ 43.4 ตอบว่าเคยเกิดขึ้น นานๆครั้ง ร้อยละ 3.4 ตอบว่าเคยเกิดขึ้นบ่อยๆร้อยละ 53.1 ตอบว่าไม่เคยเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 ทดสอบเป้โรงเรียนของใครโอเคกว่ากัน

กระเป๋าสะพายหลังหรือที่เราเรียกกันติดปากว่าเป้นั้นเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กนักเรียนที่แต่ละวันมีสัมภาระต้องนำติดตัวไปด้วยจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่สมุด หนังสือ กระติกน้ำ กล่องข้าว และอื่นๆอีกมากมาย   สมาชิกของฉลาดซื้อคงจำกันได้ว่าในฉบับที่ 76 เมื่อปี 2550 เราเคยทำสำรวจน้ำหนักที่เด็กๆวัยประถมต้องแบกไปโรงเรียนกันในแต่ละวันและ พบว่ากว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนจำนวน 368 คนที่เราไปสำรวจนั้น แบกน้ำหนักกระเป๋าเกินกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวเอง เนื่องจากเป้สะพายหลังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเด็กในการบรรจุสิ่งของต่างๆไปโรงเรียน เพราะมันสามารถช่วยกระจายน้ำหนักของสิ่งของได้ดีกว่ากระเป๋าชนิดอื่นๆ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงกลับมาอีกครั้งด้วยการสุ่มนำกระเป๋าสะพายหลังที่โรงเรียนต่างๆเป็นผู้จ้างผลิตและจัดจำหน่ายให้กับนักเรียน มาลองทดสอบดูว่าจะมีความแข็งแรงทนทานเพียงใด โดยตัวอย่างที่นำมาทดสอบนั้นเป็นเป้จากโรงเรียนในกรุงเทพมหานครและอีก 7 จังหวัดคือ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ตราด สมุทรสงคราม ยะลา และลำปาง จำนวนทั้งหมด 23 โรงเรียน ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 180 -250 บาท ผู้ปกครองโปรดทราบ ไม่ควรให้เด็กๆถือหรือสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักเกิน ร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัวของพวกเขา เช่นเด็กที่มีน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ก็ไม่ควรแบกกระเป๋าหนักที่หนักเกินกว่า 3 กิโลกรัม เป็นต้น สายสะพายเป้นั้นควรปรับให้ได้ระดับที่เหมาะสม คือให้เป้แนบกับหลัง และตัวเป้ไม่ห้อยอยู่ในระดับต่ำกว่าบั้นเอวของเด็ก ที่สำคัญหัดให้เด็กๆเคยชินกับการสะพายเป้ด้วยสายทั้งสองข้าง เพราะการสะพายเพียงข้างใดข้างหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดที่ต้นคอ ไหล่และหลังได้ ที่มา: ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บใน เด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นักเรียนไทยได้เริ่มใช้เป้สะพายหลังแทนการหิ้วกระเป๋าเมื่อปีพ.ศ. 2527 โดยรมว.ศึกษาธิการซึ่งขณะนั้นคือนาย ชวน หลีกภัย ได้สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการให้องค์การค้าของคุรุสภาผลิตกระเป๋าสะพายหลังตามแบบจากต่างประเทศ เพื่อขายให้กับนักเรียนในราคาถูกมติชน วันที่ 5 มกราคม 2551 เป้ของใครจะทนทานกว่ากัน ฉลาดซื้อร่วมกับห้องปฏิบัติการของบริษัท เอส จีเอส ได้ทำการทดสอบกระเป๋าเป้นักเรียนทั้ง 23 ใบใน 5 ประเด็นต่อไปนี้ 1. ความต้านทานแรงดึง 2. ความต้านทานแรงฉีกขาด3. ความแข็งแรงของสายสะพายบ่า4. ความคงทนต่อการขัดถู5. ความสามารถในการบรรจุ ผลทดสอบความแข็งแรงของกระเป๋าเป้นักเรียนในด้านต่างๆ มีดังนี้ เป้ทุกใบที่ทดสอบมีความคงทนต่อการขัดถูก มากกว่า 20,000 ครั้ง (โดยเครื่องทดสอบ Martindale wear & abrasion ที่ขัดถูชิ้นผ้าทดสอบจนขาดด้วยค่าความดัน 12 กิโลปาสคาล) และเมื่อเราทดลองบรรจุน้ำหนัก 5 กิโลกรัม เป็นเวลานาน 30 นาที พบว่าไม่มีเป้จากโรงเรียนไหนปริแตก ทั้งในบริเวณของตะเข็บก้นกระเป๋าและตะเข็บสายสะพายบ่า น่าเสียดาย เรายังไม่พบเป้ที่ดีพร้อมในทุกๆด้าน เป้ที่ใช้วัสดุที่มีความทนทานต่อแรงดึงและแรงฉีกขาดสูงกลับมีสายสะพายที่ไม่แข็งแรงเท่าไรนัก (บ้างก็ด้ายที่เย็บฉีกขาด บ้างก็วัสดุที่ใช้ทำตัวเป้ขาดบริเวณตะเข็บ) ที่สำคัญเป้เหล่านี้มีสายสะพายที่ความกว้างน้อยกว่า 6 เซนติเมตร เช่นเป้ของโรงเรียนพินิจวิทยา โรงเรียนวัดลาดเป้ง และโรงเรียนเทพมงคลรังสี เป็นต้น และในทางกลับกัน เป้ที่มีสายสะพายขนาดที่เหมาะแก่การสะพายของเด็กๆ (ประมาณ 6 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการกดทับบริเวณไหล่ และไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาท) กลับมีวัสดุที่มีความทนทานต่อแรงดึงหรือการฉีกขาดต่ำ เช่น เป้ของโรงเรียนสตรียะลา และโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง เป็นต้น ผลทดสอบความแข็งแรงของกระเป๋าเป้นักเรียน   หมายเหตุ: 1. ความต้านทานแรงดึง (Tensile Strength) โดยวิธีทดสอบหาค่าแรงดึงขาดแบบแกรบ (BS EN ISO 13934-2 : 1999; Instron CRE-Grab method) ประเภทของเครื่องทดสอบ Instron CRE แบบอัตราการยืดตัวคงที่ (CRE: Constant-rate-of-extension) ระยะห่างของปากจับ 100 มิลลิเมตร ความเร็วในการทดสอบ 50+/- มิลลิเมตร/นาที ในทิศทางการดึงออกตรงๆ โดยจะวัดแรงต้านทานแรงดึงทั้งทางด้านเส้นยืน (ด้านแนวตั้ง) และด้านเส้นพุ่ง (ด้านแนวนอน) ของชิ้นผ้าทดสอบมีหน่วยการวัดเป็นกิโลแรง (Kgf: Kilogram-force)2. ความต้านทานแรงฉีกขาด (Tearing Strength) โดยวิธีทดสอบการฉีกขาดแบบ single tear (BS EN ISO 13937-2 : 2000; Single tear method) ประเภทของเครื่องทดสอบ Instron CRE แบบอัตราการยืดตัวคงที่ (CRE: Constant-rate-of-extension) ระยะห่างของปากจับ 100 มิลลิเมตร ความเร็วในการทดสอบ 100 มิลลิเมตร/นาที ในทิศทางการดึงเพื่อทำให้ผ้าฉีกขาด ในทิศทางการดึงออกตรงๆ โดยจะวัดแรงต้านทานแรงดึงทั้งทางด้านเส้นยืน (ด้านแนวตั้ง) และด้านเส้นพุ่ง (ด้านแนวนอน) ของชิ้นผ้าทดสอบมีหน่วยการวัดเป็นกิโลแรง (Kgf: Kilogram-force)3. ความแข็งแรงของสายสะพายบ่า (Attachment Strength of Handle/Shoulder Strap) เป็นวิธีทดสอบของบริษัท SGS เป็นเครื่องทดสอบแบบ Instron CRE (SGS In-House Method ; Instron CRE Tester) ระยะห่างของปากจับ 75 มิลลิเมตร ความเร็วในการทดสอบ 300 มิลลิเมตร/นาที ปากจับขนาด 3x2 นิ้ว (Jaw face) ความแข็งแรงของสายสะพายบ่าจะวัดจากแรง ที่ทำให้เกิดการปริขาดเกิดจาก 2 สาเหตุ ซ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 93 กระแสต่างแดน

โดย ศศิวรรณ ปริญญาตร สิทธิของโจ๋กิมจิเออนะ จะมีใครคิดบ้างว่าแต่ละวันที่เด็กๆ หิ้วกระเป๋าหรือแบกเป้ไปโรงเรียนนั้น พวกเขาต้องถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง อย่างน้อยก็มี สส.ควอน ยอง กิล จากพรรคแรงงานประชาธิปไตยของเกาหลีใต้นี่แหละที่คิด วันก่อนแกก็เพิ่งจะเสนอ พรบ.การศึกษา ฉบับแก้ไข เพื่อส่งเสริมการพิทักษ์สิทธิตามรัฐธรรมนูญของเด็กนักเรียนประถมและมัธยมต้น เนื่องในโอกาส “วันนักเรียนแห่งชาติ” ที่จัดกันมาแล้ว 78 ครั้งนั่นเองคาดว่าถ้าพรบ. ฉบับใหม่นี้ผ่านการพิจารณา โจ๋เกาหลีคงได้มีเฮ สส.ควอนบอกว่าถึงเวลาแล้วที่โรงเรียนจะต้องหยุดการละเมิดสิทธิของเด็กๆ โดยใช้การศึกษาบังหน้า โรงเรียนต้องให้สิทธิกับนักเรียนในการเลือกทรงผมที่พวกเขาชอบ ต้องไม่นัดให้เด็กมาเรียนนอกเวลาปกติเช่น เช้าหรือดึกเกินไป ต้องไม่ใช้วิธีรุนแรงในการลงโทษนักเรียน และที่สำคัญ ต้องไม่มาเปิดกระเป๋า เปิดเป้ตรวจค้นสมบัติส่วนตัวด้วย อ้อ! ลืมบอกไปว่า กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดไว้ว่าเด็กๆ จะต้องได้รับประทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียนทุกวันอีกด้วย คุณควอนยืนยันว่า สิ่งที่โรงเรียนควรจะใส่ใจและส่งเสริมให้กับเด็กๆ ได้มี คือความคิดสร้างสรรค์และการรู้จักเรียนรู้ที่จะมีวินัยในตนเองมากกว่า โจ๋ไทยอ่านข่าวนี้แล้ว คงอยากได้ สส.แบบนี้บ้างสินะ +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ รับสมัครนักแอบถ่าย ... รายได้ดีต่อไปช่องทางหารายได้เพิ่มเติมสำหรับนักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน หรือคุณตาคุณยายวัยเกษียณ ที่ประเทศเกาหลี คือ การรับจ็อบเป็นปาปาราซซี่ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้ไปแอบถ่ายว่าใครกิ๊กใครที่ไหนหรอกนะ เขาทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานรัฐ คอยหาหลักฐานเอาไว้มัดตัวผู้กระทำผิด เช่น คนที่สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ พวกที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง หรือเจ้าของร้านที่แอบแจกถุงหิ้วให้ลูกค้าฟรีๆ (ตามกฎหมายเกาหลี เค้าให้คิดเงินค่าถุงด้วย) ค่าตอบแทนจากงานนี้น่าสนใจทีเดียว หลังพวกเขาส่งหลักฐานให้ทางการ เช่นภาพตอนกระทำผิด พร้อมกับข้อมูลที่จะช่วยให้สืบหาตัวผู้กระทำผิดได้ (เช่นหมายเลขทะเบียนรถ) ไปยังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พวกเขาจะได้ “เงินรางวัลนำจับ” อย่างต่ำ 50,000 วอน หรือประมาณ 12,000 บาท (รายได้ดีมากๆ) แต่ค่าตอบแทนนี้จะแปรผันตามความร้ายแรงของความผิดที่กระทำด้วย เด็กนักเรียนคนหนึ่งบอกว่า “เขามีรายได้ถึง 8 ล้านวอน หรือประมาณ 196,000 บาท จากการทำงานแอบถ่ายเป็นเวลาสองสัปดาห์” (โอ้ ...มีคนทำผิดมากมายจนเด็กเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ จะดีใจดีมั้ยเนี่ย) ที่สำคัญ งานนี้เป็นที่นิยมมากถึงกับมีโรงเรียนที่เปิดอบรมคอร์สสำหรับปาปาราซซี่โดยเฉพาะ ค่าเล่าเรียนสำหรับแต่ละคอร์ส (ใช้เวลาประมาณ 3 – 7 วัน) ก็ประมาณ 350,000 วอน (ประมาณ 8,500 บาท) โดยโรงเรียนจะสอนให้รู้จักเทคนิควิธีการถ่ายแบบซ่อนกล้องและการตัดต่อภาพเพื่อการนำเสนอเพื่อการดำเนินคดีด้วย ข่าวบอกว่าทางการเกาหลีใต้ไม่อยากจะใช้งบประมาณของรัฐมาจ่ายเหล่าปาปาราซซี่มากนัก ก็เลยคิดจะลดค่าตอบแทนลง แต่จริงๆ แล้วเขาคงแอบหวังให้อาชีพนี้สูญพันธ์ไปในที่สุด เพราะไม่มีใครทำผิดกฎหมายอีกต่อไป ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   ผู้ดีอังกฤษสิ้นหนทางทำกิน?ขณะนี้ประเทศอังกฤษกำลังพบกับความยากจนชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกชนชั้นไม่ว่าจะเป็นชนชั้นบัตรเดบิต บัตรเงิน บัตรทอง หรือบัตรแพลตตินั่ม เจมี่ โอลิเวอร์ พ่อครัวหนุ่มชื่อดังที่หลายคนเคยเห็นแกมาทำกับข้าวให้เราดูทางช่องเคเบิ้ลทีวี กล่าวต่อคณะกรรมาธิการด้านสุขภาพในรัฐสภาอังกฤษว่า นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยที่มีสถิติว่า ประชากรอังกฤษที่มีความสามารถในการทำกับข้าวกินเองได้นั้นมีอยู่เป็นจำนวนน้อยมากๆ โดยทั่วไปในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจถดถอยและการทำมาหากินฝืดเคือง ผู้คนก็จะต้องพยายามตัดลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ลงรวมถึงค่าอาหารด้วย เชฟเจมี่แกบอกว่า สมัยก่อนครอบครัวอังกฤษยังรู้จักทำอาหารที่ดี มีประโยชน์กินแม้จะต้องเผชิญกับงบที่จำกัด แต่ในปัจจุบันสิ่งที่คนอังกฤษนิยมทำเพื่อประหยัดเงิน หาใช่การทำกับข้าวกินเองที่บ้านไม่ ทางเลือกในยามทุนต่ำของคนอังกฤษทั้งคนที่มีฐานะและคนที่รายได้น้อย คือการพึ่งพาอาหารฟาสต์ฟู้ด อันเนื่องมาจากความเคยชินกับความสำเร็จรูป และความสะดวกสบายนั่นเอง แต่หากได้ลองทบทวนกันจริงๆ แล้ว ทางเลือกนี้ไม่ได้ทำให้ค่าใช้จ่ายของครอบครัวลดลงเลย สิ่งที่คุณพ่อครัวคนดังกล่าวต้องการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ คือการที่คนในประเทศหันมาเรียนรู้วิธีการทำอาหาร และหันมาพึ่งตนเองให้มากขึ้น +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ จอแบน ราคาไม่แบนคุณคงสังเกตแล้วว่า ราคาของจอภาพที่ใช้ในโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือได้ลดลงฮวบฮาบในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา แต่เชื่อหรือไม่ ว่าที่ลดนั้นมันยังลดได้ไม่เร็วพอ ทั้งนี้เพราะกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาเขาได้สืบพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตหลายๆ เจ้า ผนึกกำลังกันตรึงราคาของจอแอลซีดีเอาไว้ให้นานที่สุด ทั้งๆ ที่ราคาควรลดได้ตั้งนานแล้ว แอลจี จากเกาหลี ชาร์ปจากญี่ปุ่น และบริษัทหลอดภาพชุงวาจากไต้หวัน รับสารภาพว่า พวกเขาได้มีส่วนร่วมในกระบวนการที่ดึงราคาจอแอลซีดีไว้ และตอนนี้โดนศาลสั่งปรับทั้งหมด 585 ล้านเหรียญ (ประมาณสองหมื่นกว่าล้านบาท) ไปเรียบร้อย โดยแอลจีบริษัทเดียวก็โดนปรับไป 400 ล้านเหรียญ (ประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันล้านบาท) แล้ว ตามข่าวบอกว่า เงินค่าปรับดังกล่าวยังไม่สะท้อนถึงความเสียหายต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกานั้น บริษัทอาจโดนปรับเป็นสองเท่าของรายได้ที่มาจากการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย แต่ตัวเลขที่ออกมานั้นเป็นตัวเลขที่ผ่านการเจรจาต่อรองแล้วนั่นเอง อย่างไรก็ตามขณะนี้การสอบสวนก็ยังดำเนินการต่อไปทั้งใน ยุโรป จีน และเกาหลีใต้ด้วยเช่นกันซึ่งมูลค่าความเสียหายทั่วโลกก็น่าจะสูงกว่านี้อีกหลายเท่าตัว ข้อมูลการตลาดระบุว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาจอแอลซีดี ขนาด 15 นิ้วสำหรับโน้ตบุ๊ค นั้นลดลงจากประมาณ 3,400 บาท ลงมาเป็น 2,200 บาท หรือจอโทรทัศน์ขนาด 32 นิ้ว ก็ลดลงจาก 11,200 เป็น 7,800 บาท ถามว่า ราคาจอลดลงแล้วเป็นไง อ้าวเรื่องนี้สำคัญนะคุณ เพราะเงินที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อโน้ตบุ๊คนั้น เป็นค่าจอภาพเสียร่วม 10-20% เชียวนะเออ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ เราต้องพึ่งมันแล้วพี่น้องพี่น้องครับ ... ในที่สุดเราก็มีทางออกสำหรับปัญหาอาหารขาดแคลนในอนาคตแล้ว นักวิทยาศาสตร์เขาคิดไปคิดมาก็พบว่าที่แท้ทางแก้ก็ไม่ใช่อะไรที่ไหน เป็นมันนั่นเอง ผู้รู้บอกว่า “มันฝรั่งหรือโปเตโต้” นี่แหละ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะอาหารหลักของประชากรในประเทศที่กำลังพัฒนาแทนที่ข้าวหรือข้าวสาลี ที่มักจะมีราคาผันผวนอย่างรุนแรงตามกลไกตลาด รัฐบาลของหลายๆประเทศ อย่างเช่น จีน เปรู และมาลาวี ได้เริ่มรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาปลูกและบริโภคมันฝรั่งกันมากขึ้น ประเทศจีนนั้นมีผลผลิตมันฝรั่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 จากปี 2548 จนถึง 2550 โดยการรณรงค์ให้มันฝรั่งเป็นหนทางช่วยให้หายจน ส่วนที่เปรูนั้นประธานาธิบดี อลัน การ์เซีย ได้ออกมาประกาศชักชวนให้ประชาชนหันมาช่วยกันกินขนมปังที่ทำจากมันฝรั่งกันให้มากขึ้น ก่อนหน้านี้มันฝรั่งดูเหมือนจะเป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันเฉพาะในโลกตะวันตกเท่านั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปัจจุบันจีนและอินเดียเป็นประเทศที่มีการบริโภคมันฝรั่งมากเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสามของโลกแล้ว ว่ากันว่าองค์การสหประชาชาติ เคยคิดจะประกาศให้ปี 2551 เป็น “ปีมันฝรั่ง” แต่ไม่มีใครรับไอเดียนี้ไปทำต่อ เพราะตอนนั้นราคาข้าวยังไม่พุ่งขึ้นเป็นสองเท่า (ว่ากันว่าสหประชาชาติเองก็ต้องการเงินเพิ่มอีก 500 ล้านเหรียญ เพื่อเตรียมไว้ซื้อข้าวที่ราคาแพงขึ้น) เหตุที่ต้องพึ่งมัน ก็เพราะว่ามันฝรั่งนั้นมีข้อดีอันเนื่องมาจากข้อเสียของมันนั่นเอง เพราะมันฝรั่งมีปัญหาเรื่องระยะเวลาจำกัดในการขนส่ง มันจึงไม่เป็นสินค้ายอดฮิตในตลาดการเงินระดับนานาชาติ ทำให้ราคาของมันยากแก่การเก็งกำไร จึงทำให้ราคาไม่ผันผวนขึ้นลงมากนัก มันฝรั่งเป็นแหล่งสารอาหารทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินและแร่ธาตุอย่างสังกะสีและเหล็ก แถมยังใช้พลังงานและน้ำในการปลูกน้อยกว่าข้าวสาลี ที่สำคัญปลูกที่ไหนก็ได้ แล้วเก็บเกี่ยวได้เลยภายในสามเดือนอีกด้วย เยี่ยมไปเลยล่ะทีนี้ +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ระวังยาผสมอาหารเสริมอย. สหรัฐออกมาเตือนผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์ยาผสมอาหารเสริมของไบเออร์ ที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดนั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าใช้ได้ผล ยาดังกล่าวจึงยังถือเป็นยาเถื่อนอยู่ในขณะนี้ ผลิตภัณฑ์สองตัวที่ยังไม่ได้รับอนุญาตได้แก่ Bayer Aspirin with Heart Advantage และ Bayer Women’s Low Dose Aspirin + Calcium ตอนนี้ทางการยังไม่ได้สั่งให้เก็บผลิตภัณฑ์ทั้งสองออกจากชั้น แต่เตือนให้ไบเออร์รีบดำเนินการขออนุญาตโดยด่วนหรือไม่ก็ต้องหยุดขายก่อนที่จะถูกดำเนินคดี แต่ทางบริษัทยืนยันว่า ตนเองมีสิทธิที่จะขายยาดังกล่าว แล้วก็ขอยืนยันสรรพคุณที่อ้างไว้ในโฆษณาหรือที่ข้างกล่องด้วย ไบเออร์อ้างว่าได้แจ้งในโฆษณาแล้วว่าให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแอสไพรินผสมอาหารเสริมดังกล่าว และผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่ามีประโยชน์ต่อหัวใจก็ได้แจ้งแก่ผู้บริโภคแล้วว่าไม่สามารถใช้แทนยาลดโคเลสเตอรอลได้ แต่เรื่องจริงคือ ผลิตภัณฑ์ตัวที่ว่ากลับแจ้งไว้ที่กล่องว่า ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอล ในขณะที่อีกตัวหนึ่งที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงก็อ้างว่าช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง และป้องกันโรคกระดูกผุ ทางอย.สหรัฐฯ ยืนยันชัดเจนว่า ไบเออร์ฝ่าฝืนนโยบายของทางการ และข้อความเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนในจุดประสงค์ของผลิตภัณฑ์ และยังไม่มีข้อมูลว่าเมื่อใช้ไปนานๆ จะเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายใดๆ หรือไม่ ตามกฎหมายสหรัฐนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างวิตามินหรือสมุนไพรนั้นสามารถขายในท้องตลาดได้เลยโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ก่อนว่าปลอดภัย หรือใช้ได้ผล แต่การนำเอาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารวมกับยาที่ได้รับการรับรองแล้ว หมายความว่าต้องมีการส่งตรวจอีกครั้งหนึ่ง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 ตัวอย่างหลักสูตร การคุ้มครองผู้บริโภคในโรงเรียน: ความเท่าทันสื่อ (Media Competency)

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการบทความนี้ผมได้แปลสรุปมาจากสื่อการเรียนการสอนของ องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ที่ได้จัดทำสื่อให้กับคุณครูและเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดทำหลักสูตรดังกล่าวมีองค์กรภาคเอกชนหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมกันทำงาน  สำหรับเนื้อหาในเรื่องความเท่าทันสื่อนี้ องค์กรคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่างานบางอย่างรัฐไม่ได้ดำเนินการเอง แต่สนับสนุนให้องค์กรภาคเอกชนดำเนินการ แม้แต่เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนในการศึกษาขั้นพื้นฐานรัฐก็ไม่ได้ผูกขาดไว้คนเดียว องค์กรปกครองส่วนท้องถื่นในบ้านเราที่มีความเข้มแข็งในการปกครองตนเอง ก็น่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับ โรงเรียนในสังกัดกันบ้างนะครับ ในปี 1998 ผลการศึกษาของ JIM* การใช้มัลติมีเดียของวัยรุ่นอายุระหว่าง 12- 19 ปี พบว่ามีเพียง 19 % เท่านั้นที่ใช้อินเตอร์เน็ต และ 20 % ที่ไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับอินเตอร์เน็ตหรือ โทรศัพท์มือถือเลย ในขณะที่ผลการศึกษาในปี 2010 กว่า 90 % ของวัยรุ่นเล่นอินเตอร์เน็ตทุกวันและวันละหลายครั้ง วัยรุ่น 97 % มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว และหากนับรวมสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และยูทูบ ตลอดจนเกมส์คอมพิวเตอร์ จะเห็นว่าสื่อทั้งหลายเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวของวัยรุ่น เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ รับทราบ และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ ครู อาจารย์ยุคนี้ ที่กลัวว่าสื่อยุคใหม่จะส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรมวัยรุ่นยุคนี้ จนเป็นที่มาของความเสื่อมในด้านวัฒนธรรม (Sittenverfall) การแพร่หลายของสื่อประเภทต่างๆ นี้ มีผลต่อวัยรุ่นอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผลทางด้านบวก หรือผลทางด้านลบ เป็นทั้งโอกาสและเป็นทั้งความเสี่ยง หน้าที่อย่างหนึ่งของคุณครูและพ่อแม่ต่อการรับมือกับสภาพของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็คือ เข้าไปทำความรู้จัก เรียนรู้ นำตัวอย่างที่ดีมาสอน อธิบายเรื่องความเสี่ยงและความน่ากลัวของสื่อ ให้วัยรุ่นรับฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่วัยรุ่นในยุคนี้จะต้องเรียนรู้ และสามารถคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนกำหนดการใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ เหล่านี้ ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นที่มาของหลักสูตร การเท่าทันสื่อ (Media Competency) พัฒนาการและการสนับสนุน หลักสูตรการเท่าทันสื่อ จะมีกระบวนการดังต่อไปนี้ คือความรู้ในเรื่องสื่อ (Knowledge) กระบวนการการประเมินผล (Reflexion) และกระบวน การการจัดการ (Take action) จากกระบวนการเรียนรู้การเท่าทันสื่อตามแนวความคิดดังกล่าว วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ คือ การสามารถวิเคราะห์การใช้สื่อต่างๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งกระบวนการประเมินผล จะเป็นกระบวนการสำคัญ เนื่องจากเด็กวัยรุ่นจำนวนมากได้ใช้สื่อต่างๆ อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การที่เปิดโอกาสให้เด็กสามารถทำการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้สื่อของตัวเอง การอภิปรายในเรื่องงานอดิเรกอื่นๆ ในเวลาว่าง และสามารถทำการประเมินระดับของการเสพติดสื่อได้ สำหรับคุณครูหรือพ่อแม่ที่ เกิดก่อนปี 1980 นั้นต้องเข้าใจว่า เป็นพวกอพยพเข้ามาสู่ยุคดิจิตอล(Digital Immigrants) ในขณะที่เด็กที่เกิดหลังปี 1980 นั้น จะเป็นพวกชนพื้นเมืองยุคดิจิตอล(Digital Natives) เนื่องจากคนกลุ่มนี้พอเกิดมาจำความได้ ก็รู้จักสื่อต่างๆ ที่รายรอบตัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เกิดมารุ่นก่อนต้องทำความเข้าใจในการสอน Media Competency ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นกัลยาณมิตรต่อกันและกัน คือ ไม่ได้เห็นดีเห็นงามด้วยกับบางสิ่งบางอย่างที่คนรุ่นใหม่กระทำทุกเรื่อง แต่ภายใต้ความหวังดีที่มีให้นั้น ก็สามารถเป็นที่ปรึกษากับพวกเขาเหล่านั้นได้ เนื่องจากพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีวุฒิภาวะที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมกว่าเด็กวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยที่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนการเจริญเติบโต เนื้อหาในหลักสูตรนั้นทางองค์กรผู้บริโภค ได้จัดเตรียมไว้ให้กับคุณครูทางอินเตอร์เน็ต คุณครูสามารถดาวน์โหลด เพื่อมาประกอบการเรียนการสอนในห้องได้ นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้คุณครูสามารถประเมินหลักสูตร เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้กับฝ่ายจัดทำหลักสูตรได้อีกด้วย เยอรมันเป็นชาติที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาทุกระดับ และสิทธิในการได้รับการศึกษาก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้ตราไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของไทย เพียงแต่เขาเอาจริง และทำจริงมากกว่าของเราในตอนนี้   *JIM เป็นโครงการการสำรวจอิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็กวัยรุ่น โดยทุกๆปี โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1998 จะทำการสอบถามวัยรุ่นจำนวน 1,000 คน ในประเด็นดังต่อไปนี้ การทำกิจกรรมในยามว่าง หัวข้อที่สนใจและแหล่งของข้อมูล รายการโทรทัศน์ที่ชื่นชอบ การใช้สื่อประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ การใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต แนวความคิดในการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์กับโรงเรียน การใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point