ฉบับที่ 263 โรงไฟฟ้าชุมชนกับความจริงที่หายไปจากการอภิปรายในสภาผู้แทน

        ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 152 เมื่อ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566  มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ฝ่ายค้านได้ยกขึ้นมาอภิปราย คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือ VSPP (Very Small Power Producer) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์         ฝ่ายค้านโดยคุณสุทิน คลังแสงได้อภิปรายพอสรุปได้ว่า ท่านเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงซึ่งได้แก่ ไม้โตเร็ว และหญ้าเนเปียร์  เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่สัดส่วนการลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนกับวิสาหกิจชุมชน โดยระเบียบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำหนดคือ ให้ชุมชนถือหุ้นในสัดส่วน 10% คุณสุทินเสนอว่าควรจะให้ชุมชนถือหุ้นมากกว่านั้นเป็น 60-70% เป็นต้น ต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นมาตอบแบบข่มผู้ตั้งคำถามว่า ให้ไปศึกษาดูให้ดีก่อน วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% เฉพาะในช่วงแรกเท่านั้นแต่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ถึง 40% ในปีต่อๆ ไป         ผมได้ตรวจสอบจากเอกสารของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2563 พบว่า ไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะให้ชุมชนสามารถเพิ่มทุนเป็น 40% ให้สำเร็จภายในปีใด นั่นแปลว่ายังคงถือหุ้นเท่าเดิมคือ 10% ตลอดอายุสัญญา 20 ปีก็ได้ นอกจากนี้ผมได้ติดตามเอกสาร “ประกาศเชิญชวน” (ออกปี 2564) โดย กกพ.ก็ไม่มีการพูดถึงสัดส่วนการลงทุนแต่ประการใด         ดังนั้นเราพอสรุปได้ว่าเรื่องสัดส่วนการลงทุนที่บอกว่าจะให้ชุมชนถือหุ้นถึง 40% จึงเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งพลเอกประยุทธ์นำมาหลอกต่อในสภาและคุณสุทินเองก็ไม่ได้กล่าวถึงสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ได้ระบุเวลา นี่คือความจริงที่หายไปประการที่หนึ่ง         ความจริงที่หายไปประการที่สองคือ ขนาดของโรงไฟฟ้า กำหนดว่าต้องไม่เกิน 3 เมกะวัตต์สำหรับที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เช่น เอาหญ้าเนเปียร์มาหมักเป็นก๊าซ) และไม่เกิน 6 เมกะวัตต์สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล (จากเศษไม้โตเร็ว) คำถามคือโรงไฟฟ้าพวกนี้มีขนาดเล็กมากจริงหรือ         ข้อมูลจากผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.บต. ท่านหนึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 4 พันไร่ ถ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าถึง 12,000 ไร่ การขนหญ้ามาขายก็มีต้นทุนคือค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพจึงควรจะมีขนาดเล็กมาก(ตามชื่อ) แต่ควรเล็กขนาดไหน และข้อมูลจากประเทศเยอรมนีก็พบว่า ทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพมีขนาดเฉลี่ยเพียง 0.6 เมกะวัตต์เท่านั้น (14,400 โรง 9,300 เมกะวัตต์)  มีอยู่โรงหนึ่งขนาดเพียง 75 กิโลวัตต์ (หรือต้องใช้ 14 จึงได้ 1 เมกะวัตต์) ต้องใช้มูลวัว 120 ตัวเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ เราลองจินตนาการดู การเลี้ยงวัว 120 ตัวก็พอจะเป็นไปได้ถ้าคนในชุมชนร่วมมือกันดีๆ แต่ถ้าเป็น 3 เมกะวัตต์ต้องใช้วัวกว่า 5 พันตัว มันยุ่งยากไม่น้อยเลย         โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้สามารถขายไฟฟ้าให้กับ กฟน.และกฟภ.ในราคาที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าทั่วไปถึงประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้เท่าที่ผมตรวจสอบพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างน้อย 3 โรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% ของศักยภาพ ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ทำสัญญากับ กฟผ.สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 45% ถึง 70% ของศักยภาพเท่านั้น (เพราะเรามีโรงไฟฟ้าล้นเกิน) ในเมื่อ (1) บริษัทเอกชนถือหุ้น 90% (2) ขายไฟฟ้าได้ในราคาแพงกว่าและ (3) ได้ผลิตไฟฟ้า 100% ของศักยภาพ ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้ามีระยะเวลาคืนทุนเร็วมากเป็นการเอาเปรียบทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นๆ มากเกินไป         สุภาษิตเยอรมันเตือนไว้ว่า “มีปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด” ซึ่งอย่างน้อย 2 ประการดังที่กล่าวมาแล้วนี่แหละครับ การเมืองไทยมันต้องใช้ภาคประชาชนที่ตื่นรู้คอยตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอย่าให้พลาดสายตานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 กระแสต่างแดน

โรงเรียนปิด “โรงไฟฟ้า” เปิด               รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปิดโรงเรียนประถมจำนวนมากเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดโจทย์ให้คิดกันว่าจะใช้ประโยชน์จากโรงเรียนปลดระวางเหล่านี้อย่างไร         จนกระทั่งบริษัท ELM Inc. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เขาเสนอขอใช้พื้นที่ในสระว่ายน้ำของโรงเรียน (เพราะทักษะการว่ายน้ำถือเป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีสระว่ายน้ำ) เป็นพื้นที่สำหรับแผงโซลาลอยน้ำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาโอเวอร์ฮีทในวันที่ร้อนเกินไป ส่วนห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ก็ดัดแปลงเป็นห้องเก็บคอนเวอร์เตอร์         โรงเรียนแรก (จากทั้งหมด 15 โรง ในโครงการ) ที่เริ่มติดตั้งระบบดังกล่าว อยู่ในเขตมินามิซัตสึมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ สระว่ายน้ำทั้งสองแห่งของโรงเรียน (สระ 25 เมตร และสระ 6 เมตร) ที่รองรับแผงโซลาเซลล์ได้รวมกัน 160 แผง จึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 61,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่บริษัทจะขายให้กับ คิวชูอิเล็กทริคพาวเวอร์ ผู้ประกอบการด้านพลังงานในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นปั่นไม่ทันจีน         ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายจักรยานจะแซงยอดขายรถยนต์ ... อย่างน้อยๆ ก็ในยุโรป เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17 ล้านคน แต่มีจักรยาน 22.1 ล้านคัน ในขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองโคเปนเฮเกน ใช้จักรยานในการเดินทาง         ร้อยละ 90 ของจักรยานที่คนยุโรปใช้ ผลิตในประเทศจีน เมื่อจีนลดกำลังการผลิต/ปิดโรงงาน และการขนส่งทำได้ล่าช้า (เพราะคอนเทนเนอร์จะจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมันบรรจุสินค้าจนเต็มเท่านั้น) บวกกับความต้องการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด ยุโรปจึงขาดแคลนจักรยาน         ความจริงยุโรปก็ผลิตจักรยานเองได้ เขาผลิตได้ถึง 2.7 ล้านคันในปี 2019 ผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี แต่จักรยานเหล่านี้ราคาแพงกว่าจักรยานจีนซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า         คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำการสอบสวนกรณีที่จีนส่งจักรยานไฟฟ้าเข้าไปตีตลาดในราคาต่ำ (เพราะได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากรัฐบาล) จนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในยุโรปไม่ต่ำกว่า 800 ราย  บ่อขยะของยุโรป        โปแลนด์รับขยะหลายพันตันในยุโรปเพื่อ “นำมารีไซเคิล” โดยร้อยละ 70 ของขยะเหล่านั้นมาจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นขยะจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรีย         เกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกเมื่อธุรกิจรับกำจัดขยะในโปแลนด์ถูกเปิดโปงว่า ไม่ได้รีไซเคิลขยะที่ได้มา หลักๆแล้วนำไปทิ้งรวมในบ่อขยะ ซ้ำร้ายบางทีก็เผาทิ้งเพื่อประหยัดต้นทุน ให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมแบกรับผลกระทบ           บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้ “ขยะรีไซเคิล” เช่นกระดาษ หรือพลาสติก สามารถถูกส่งไปยังประเทศในกลุ่มโดยไม่ต้องรายงานตัวเลข เขาก็เลยให้ต้นทางจั่วหัวขยะสารพัดชนิดว่าเป็น “ขยะรีไซเคิล” ก่อนส่งมาที่โปแลนด์        รัฐบาลโปแลนด์ยังโดนวิจารณ์หนัก ที่อนุญาตให้เอกชนไปรับขยะจากประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ขยะในบ้านตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลมากพอ ไม่มีเทคโนโลยีการกำจัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่มีการกำกับดูแลหลังออกใบอนุญาตด้วย ปัญหาไม่มุ้งมิ้ง         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เดนมาร์กสั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งประเทศ (1,500 กว่าฟาร์ม) และสั่งประหารชีวิตมิงค์ทั้ง 17 ล้านตัว ตามด้วยการออกกฎห้ามการเลี้ยงมิงค์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 หลังพบว่ามีตัวมิงค์ติดเชื้อโควิดชนิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการหาวิธีรักษาโรคโควิด-19         แต่คำสั่งนี้ผิดกฎหมายและกำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดของรัฐบาล         อย่างไรก็ตามล่าสุดสภาเดนมาร์กมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 1,600 ล้านยูโร (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์และพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนี้ไม่ล้มละลายและสามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่หลังสิ้นสุดการแบน         แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในโลก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วย “ฟื้น” มันขึ้นมาอีก         เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลกมันยังไม่สุก         คนอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งมานาน สถิติระบุว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนพึ่งพา “อาหารเย็นแช่แข็ง” แต่งานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กลับพบว่าพวกเขาเตรียมอาหารกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะและมัก “การ์ดตก” ไม่ระมัดระวังเหมือนเตรียมอาหารดิบ           จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างที่มาประกอบอาหารแช่แข็งในครัวทดลอง จำนวน 403 คน เขาพบว่าร้อยละ 97 ไม่ล้างมือระหว่างประกอบอาหาร (อีกร้อยละ 3 ที่ล้าง ก็ทำได้ไม่ถูกต้อง) และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 165 องศา ในการประกอบอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เพราะเชื้อโรคยังไม่ตาย         ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 61 ของคนที่เคยป่วยหรือมีคนในครอบครัวล้มป่วยเพราะอาหาร ก็ยังไม่ “เปลี่ยน” วิธีการเตรียมอาหารอีกด้วย         USDA แนะนำให้จัดการกับอาหารแช่แข็งเสมือนเราจัดการกับอาหารดิบไว้ก่อนเป็นดีที่สุด แม้ว่ามันจะดูเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้เหมือนผ่านการทำสุกแล้วก็ตาม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสต่างแดน

งานวิจัยมีธงเรามักเข้าใจว่าคำแนะนำด้านโภชนาการนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน แต่ถ้าได้รู้ที่มาที่ไปของงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของคำแนะนำเหล่านั้น เราอาจต้องคิดใหม่เดือนที่แล้วอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งในชั้นใต้ดินของห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้รู้ว่าในยุค 60 นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นรับจ้างอุตสาหกรรมอาหารทำงานวิจัยที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า ไขมันคือสาเหตุหลักของโรคหัวใจ (น้ำตาล จึงรอดตัวจากการถูกสังคมรังเกียจ) ทุกวันนี้ค่ายอาหารก็ยังคงใช้วิธีเดิม งานวิจัยที่ได้ข้อสรุปชวนพิศวงว่า เด็กที่ไม่ได้รับประทานช็อคโกแล็ตแท่งมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่ทานบ่อยๆ ก็เป็นงานที่ได้รับทุนจากเฮอร์ชียส์ ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตรายใหญ่นั่นเอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ศึกษาเรื่องการเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยของบริษัทอาหารพบว่าร้อยละ 90 ของงานเหล่านี้ มีข้อสรุปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อผู้ให้ทุน นี่นับเฉพาะการสนับสนุนที่ทำอย่างเปิดเผยเท่านั้น ...ไม่เอาวันหมดอายุเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมันเป็นบัตรของขวัญแล้วทำไมอายุของมันจึงถูกจำกัดอยู่แค่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เท่านั้น ผลการสำรวจความเห็นของนักช้อปโดยองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ระบุว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม และมูลค่าความสูญเสียจากการใช้บัตรกำนัล “ไม่ทันเวลา” สูงถึง 10 ล้านเหรียญต่อปี (250 ล้านบาท) จากกระแสเรียกร้องให้ขยายวันหมดอายุออกไปเป็น 5 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ “ยกเลิกวันหมดอายุ” สำหรับบัตรกำนัลเหล่านี้ไปเลย เสียงตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 25 ราย ยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข บางร้านยกเลิกวันหมดอายุ ในขณะที่บางเจ้าเลือกแบบขยายเวลาแต่ร้านค้าบางแห่งยังยืนยันใช้ระยะเวลา 1 ปีเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าผู้ถือบัตรจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเขาจะผ่อนผันหรือไม่ก็ออกบัตรใหม่ให้ ... ถ้าจะทำขนาดนั้นแล้วจะกำหนดวันหมดอายุไปทำไมกันมีขึ้นต้องมีลงผู้ใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์คงจะมีความสุขมากขึ้นในปีหน้า เพราะสภาการขนส่งสาธารณะประกาศปรับลดค่าโดยสารลงร้อยละ 4.2 สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปผู้ใช้รถสาธารณะจำนวน 2.2 ล้านคน ทั้งที่ถือบัตรเดินทางสำหรับผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และนักเรียน ต่างก็จะได้รับส่วนลดต่อเที่ยวระหว่าง 1 ถึง 27 เซนต์แล้วแต่ระยะทางและประเภทของบัตร เขาสามารถลดค่าโดยสารได้เนื่องจากปีนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลง แต่ไม่แน่ว่าต่อไปจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ สิงคโปร์ขาดแคลนพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าจึงแย่งกันเสนอเงินเดือนเพื่อให้ได้ตัวบุคลากรคุณภาพมาอยู่กับบริษัท พขร. ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 บาท นี้ต้องผ่านการอบรมหลายขั้นตอนทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐ นอกจากจะขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องงานบริการ ระบบการออกตั๋ว ไปจนถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยเคลียร์ไม่ได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาหลอกหลอนผู้คนที่ฟุกุชิมะอีกครั้ง หลังพบตะกอนกัมมันตรังสีในถังบำบัดน้ำเสียของศูนย์บริการล้างรถสูงเกินระดับที่รัฐกำหนดไปถึง 7 เท่าหลังเหตุระเบิดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ฝุ่นเถ้าต่างๆ ก็ปลิวมาติดรถยนต์ที่อยู่ในรัศมี เมื่อผู้คนในเมืองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและนำรถไปล้างในศูนย์บริการเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,700 แห่งในจังหวัดฟุกุชิมะ กากตะกอนเหล่านี้จึงไปรวมกันอยู่ที่นั่นห้าปีผ่านไป ถังบำบัดเริ่มเต็มจึงต้องมีการตักตะกอนออก แต่ตะกอนเหล่านี้ไม่ธรรมดา ไม่สามารถใช้พลั่วตักออกเฉยๆ เพราะเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ต้องหาวิธีที่ปลอดภัยเพียงพอ และเมื่อตักออกมาแล้วก็ต้องหาวิธีทิ้งที่ปลอดภัยอีกเช่นกันสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ล้างรถเคยเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทโตเกียวพาวเวอร์ออกมารับผิดชอบ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะกฎหมายดูแลมาไม่ถึงตะกอนในถังบำบัด ... นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเคลียร์กันได้ง่ายๆคุณคิดอะไรอยู่ทุกวันเฟสบุ้คถามผู้คนกว่า 1,700 ล้านคนว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และผู้คนเหล่านี้ก็ยินดีตอบเสียด้วย งานสำรวจจากสหรัฐฯ ที่ติดตามโพสต์ของคนอเมริกัน 555 คน พบว่าสิ่งที่พวกเขาบอกเฟสบุ้คผ่านถ้อยคำหรือรูปภาพ รวมถึงความถี่ในการบอกนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของพวกเขา เช่น คนที่ชอบสังคมมักจะโพสต์เรื่องราวกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน คนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของตัวเองมักโพสต์เกี่ยวกับแฟนบ่อยๆ คนมีปัญหา จะเรียกร้องความสนใจหรือแสวงหาการยอมรับ และคนหลงตัวเองจะโพสต์ความสำเร็จเกี่ยวในการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เป็นต้น หลายคนบำบัดอารมณ์ตัวเองด้วยระบายความคับข้องใจลงในโพสต์ แต่งานวิจัยจากเม็กซิโกพบว่าการทำแบบนี้จะส่งผลร้ายมากกว่า และถึงกับออกคำเตือนให้คนเหล่านั้นไปพบแพทย์ตัวจริงแต่บอกไว้ก่อน การตัดขาดจากแวดวงออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางออก มันอาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังมีปัญหาหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 กระแสต่างแดน

ยังไม่พร้อมความพร้อมในการอพยพผู้อยู่อาศัยในบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าเซนได(ซึ่งคาดว่าจะกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม) ยังคงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของญี่ปุ่นทั้งประเทศการสำรวจโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีพบว่า มีสถานพยาบาล 2 แห่งจาก 85 แห่ง และศูนย์พักฟื้น 15 แห่ง จาก 159 แห่งในรัศมี  30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเท่านั้นที่เตรียมพร้อมแผนอพยพในกรณีฉุกเฉินถ้ารวมความพร้อมในเขตโรงงานนิวเคลียร์ทั้งประเทศจะพบว่า มีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นจัดทำแผนอพยพแล้ว ในปี 2012 รัฐบาลญี่ปุ่นขยายเขตการเตรียมตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ จากรัศมี 8 – 10 กิโลเมตรเป็น 30 กิโลเมตร และกำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ ระบุสถานที่พักสำหรับคนไข้ เส้นทางการอพยพ รูปแบบการเดินทางขนส่งที่จะใช้ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการอพยพผู้ป่วยและชาวบ้านเหมือนเหตุการณ์ที่เมืองฟุกุชิมะนอกจากนี้ยังกำหนดให้เมืองและหมู่บ้าน 135 แห่งในรัศมี 30 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าทุกโรง รวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่สามารถอพยพด้วยตนเองได้เอาไว้ด้วย แต่การสำรวจพบว่า 1 ใน 4 ของหมู่บ้านเหล่านี้ยังไม่ได้ทำ ปัจจุบันเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทุกตัวในญี่ปุ่นถูกพักงาน แต่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ กำลังผลักดันให้เซนไดเป็นโรงงานแรกที่เริ่มใช้งานเตาดังกล่าวอีกครั้ง ภายใต้มาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น และในอนาคตอัน โรงไฟฟ้าทากาฮามาและโรงไฟฟ้าอิคาตะก็จะเริ่มเดินเครื่องเตาเหล่านี้เช่นกัน   ระวัง “ของนอก” อาหารปลอมจากจีนระบาดไปหลายประเทศ จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินข่าวว่าคนจีนก็ไม่ไว้ใจอาหารในประเทศตัวเองผู้ประกอบการหลายเจ้าจึงไม่ยอมพลาดโอกาสจัดหาสินค้าแบรนด์นอกเข้ามาสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอาหาร “ปลอดภัยและมีคุณภาพ”  นมผงสำหรับทารกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ว่า บรรดาผู้ผลิตนมผงยี่ห้อที่ได้รับความน่าเชื่อถือในต่างประเทศต้องกำหนดโควตาการส่งออกไปยังประเทศจีน เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนในประเทศตัวเอง แม้แต่นักท่องเที่ยวที่ถือโอกาสไปหิ้วมาด้วยตนเองก็เริ่มพบอุปสรรค เพราะต้นทางเขาจำกัดจำนวนซื้อ (ฮ่องกงอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อได้คนละ 2 กระป๋อง ออสเตรเลียให้ซื้อได้คนละ 4 กระป๋อง) โอกาสใหม่สำหรับพ่อค้าหัวใสจึงบังเกิด เขาเอาใจผู้นิยมของนอกด้วยการ “จ้าง” โรงงานในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านผลิตภัณฑ์นม อย่างออสเตรเลีย เป็นผู้ผลิตให้ บนกระป๋องมีฉลากที่ระบุว่า “มาจากออสเตรเลีย” และ “ได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่ดูแลผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลีย” แล้วขายออนไลน์ในราคาถูกจนไม่น่าเชื่อขนาดรวมค่าจัดส่งแล้ว นมผงกระป๋องขนาด 1,800 กรัม ราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นมันเป็นสินค้า “จากออสเตรเลีย” ที่คุณหาซื้อไม่ได้ในออสเตรเลียแน่ๆ แล้วก็ได้แต่สงสัยว่ามัน “ผลิตในออสเตรเลีย” จริงหรือเปล่า  อยากรู้ ต้องได้รู้กฎหมายที่กำหนดให้ไม่ต้องมีการติดฉลากอาหารที่มีส่วนประกอบผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือ  Safe and Accurate Food Labeling Act กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาอเมริกันเร็วๆ นี้ร่างกฎหมายนี้มีคนตั้งชื่อให้ว่า DARK Act หรือ Denying Americans the Right–to-Know Act เพื่อประชดที่กฎหมายดังกล่าวละเมิดสิทธิที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่ามีอะไรอยู่ในอาหารที่พวกเขารับประทาน Just Label It หนึ่งในองค์กรที่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวระบุว่า ร้อยละ 90 ของคนที่พวกเขาสอบถาม เห็นด้วยกับการติดฉลาก และยังมีอีกกว่า 200,000 คนที่ลงชื่อออนไลน์ว่าไม่เห็นด้วยกับ “พรบ. มืด” ดังกล่าว ดาราสาวกวินเน็ธ พาลโทรว์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอมาร่วมประท้วงในฐานะคุณแม่ที่ต้องการให้ลูกๆได้สิ่งที่ดีและสมควรได้รู้ว่าเธอกำลังให้พวกเขารับประทานอะไร  คุณแม่ของเธอก็มาด้วยเพราะเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ต้องพิสูจน์อีกมากเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ด้านอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า การติดฉลากจะทำให้ผู้บริโภคสับสน แถมยังต้องจ่ายเงินมากขึ้นถึงปีละ 500 เหรียญ (17,500 บาท) ต่อครัวเรือน แถมยังแขวะดาราสาวว่าหาเรื่องเกาะกระแสแก้ตกเทรนด์หรือเปล่า    ปัจจุบัน จีน บราซิล รัสเซีย ออสเตรเลีย ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศอื่นๆ รวม 64 ประเทศ มีกฎหมายบังคับการติดฉลากระบุว่ามีส่วนผสมที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรมแล้ว    โดนเรียกคุยหลังจากชาวเน็ตในสิงคโปร์พากันแชร์รูปพนักงานร้าน BreadTalk เทนมถั่วเหลืองยี่ห้อ Yeo’s ลงในขวดแบ่งของทางร้าน ที่ติดฉลากว่า “freshly prepared” (ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทางร้านทำเองทุกวัน)ทางร้านออกมาขอโทษและหยุดขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว BreadTalk ยอมรับว่าเขาแบ่งนมถั่วเหลืองพาสเจอไรส์ยี่ห้อเย่วอี้มาใส่ขวดขายในร้านจริง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ร้านอาหารนิยมทำ(แต่ร้านอื่นเขาไม่ได้ติดฉลากที่ว่านะคุณ)ร้านให้เหตุผลว่าปกติแล้วขวดเหล่านั้นเป็นขวดสำหรับใส่น้ำผลไม้คั้นสด ไม่ได้ใช้สำหรับนมถั่วเหลือง และจะดูแลไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก  แต่นั่นยังไม่เพียงพอ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ CASE – Consumers Association of Singapore บอกว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และเรียกร้านขนมปังเจ้าดังสัญชาติสิงคโปร์ (ซึ่งมีสาขาอยู่ในบ้านเราด้วย) เข้ามาพูดคุยปรับความเข้าใจเนื่องจากฉลากทำให้เข้าใจได้ว่าทางร้านเป็นผู้ผลิตนมถั่วเหลืองเองทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการมีราคาสูงกว่านมถั่วเหลืองที่เทจากกล่อง ผู้บริโภคจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวได้   บอลลิวูดลดโลกร้อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลและสร้างผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางของทีมงาน นักแสดง การใช้แสง สี เสียง และเอฟเฟคต่างๆ รวมถึงอาหารการกิน ไหนจะวัสดุต่างๆที่นำมาสร้างฉากอีก ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิด “รอยเท้าคาร์บอน” ภาพยนตร์เรื่อง “Aisa Yeh Jahaan” เป็นภาพยนตร์อินเดียเรื่องแรกที่มีการบันทึกข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน การถ่ายทำภาพยนตร์ดรามาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเรื่องนี้ สร้างคาร์บอนไดออกไซด์ 78.47 ตัน คิดจากการใช้พลังงานทั้งทางตรง (ไฟฟ้าที่ใช้) และทางอ้อม (อาหาร การเดินทาง ฯลฯ)  เพื่อเป็นการชดเชยมลพิษที่สร้างขึ้น ผู้สร้างต้องปลูกต้นไม้ทั้งหมด 560 ต้น แนวทางการวัดและจัดการร้อยเท้าคาร์บอนสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ถูกกำหนดขึ้นโดยสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ BAFTA ของอังกฤษ และ PGA ของอเมริกา ที่ผ่านมาพบว่าหนังค่ายเล็กๆ จะสร้างคาร์บอนฯประมาณ 100 ตัน แต่ถ้าเป็นหนังฟอร์มยักษ์ ก็อาจสร้างคาร์บอนฯ ได้มากถึง 10,000 ตันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของลอนดอนเจ้าเดียวก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตัน ต่อปี (เทียบเท่ากับปริมาณจากบ้าน 24,000 หลังเลยทีเดียว)  

อ่านเพิ่มเติม >