ฉบับที่ 263 โรงไฟฟ้าชุมชนกับความจริงที่หายไปจากการอภิปรายในสภาผู้แทน

        ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 152 เมื่อ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566  มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ฝ่ายค้านได้ยกขึ้นมาอภิปราย คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือ VSPP (Very Small Power Producer) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์         ฝ่ายค้านโดยคุณสุทิน คลังแสงได้อภิปรายพอสรุปได้ว่า ท่านเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงซึ่งได้แก่ ไม้โตเร็ว และหญ้าเนเปียร์  เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่สัดส่วนการลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนกับวิสาหกิจชุมชน โดยระเบียบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำหนดคือ ให้ชุมชนถือหุ้นในสัดส่วน 10% คุณสุทินเสนอว่าควรจะให้ชุมชนถือหุ้นมากกว่านั้นเป็น 60-70% เป็นต้น ต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นมาตอบแบบข่มผู้ตั้งคำถามว่า ให้ไปศึกษาดูให้ดีก่อน วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% เฉพาะในช่วงแรกเท่านั้นแต่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ถึง 40% ในปีต่อๆ ไป         ผมได้ตรวจสอบจากเอกสารของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2563 พบว่า ไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะให้ชุมชนสามารถเพิ่มทุนเป็น 40% ให้สำเร็จภายในปีใด นั่นแปลว่ายังคงถือหุ้นเท่าเดิมคือ 10% ตลอดอายุสัญญา 20 ปีก็ได้ นอกจากนี้ผมได้ติดตามเอกสาร “ประกาศเชิญชวน” (ออกปี 2564) โดย กกพ.ก็ไม่มีการพูดถึงสัดส่วนการลงทุนแต่ประการใด         ดังนั้นเราพอสรุปได้ว่าเรื่องสัดส่วนการลงทุนที่บอกว่าจะให้ชุมชนถือหุ้นถึง 40% จึงเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งพลเอกประยุทธ์นำมาหลอกต่อในสภาและคุณสุทินเองก็ไม่ได้กล่าวถึงสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ได้ระบุเวลา นี่คือความจริงที่หายไปประการที่หนึ่ง         ความจริงที่หายไปประการที่สองคือ ขนาดของโรงไฟฟ้า กำหนดว่าต้องไม่เกิน 3 เมกะวัตต์สำหรับที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เช่น เอาหญ้าเนเปียร์มาหมักเป็นก๊าซ) และไม่เกิน 6 เมกะวัตต์สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล (จากเศษไม้โตเร็ว) คำถามคือโรงไฟฟ้าพวกนี้มีขนาดเล็กมากจริงหรือ         ข้อมูลจากผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.บต. ท่านหนึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 4 พันไร่ ถ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าถึง 12,000 ไร่ การขนหญ้ามาขายก็มีต้นทุนคือค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพจึงควรจะมีขนาดเล็กมาก(ตามชื่อ) แต่ควรเล็กขนาดไหน และข้อมูลจากประเทศเยอรมนีก็พบว่า ทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพมีขนาดเฉลี่ยเพียง 0.6 เมกะวัตต์เท่านั้น (14,400 โรง 9,300 เมกะวัตต์)  มีอยู่โรงหนึ่งขนาดเพียง 75 กิโลวัตต์ (หรือต้องใช้ 14 จึงได้ 1 เมกะวัตต์) ต้องใช้มูลวัว 120 ตัวเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ เราลองจินตนาการดู การเลี้ยงวัว 120 ตัวก็พอจะเป็นไปได้ถ้าคนในชุมชนร่วมมือกันดีๆ แต่ถ้าเป็น 3 เมกะวัตต์ต้องใช้วัวกว่า 5 พันตัว มันยุ่งยากไม่น้อยเลย         โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้สามารถขายไฟฟ้าให้กับ กฟน.และกฟภ.ในราคาที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าทั่วไปถึงประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้เท่าที่ผมตรวจสอบพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างน้อย 3 โรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% ของศักยภาพ ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ทำสัญญากับ กฟผ.สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 45% ถึง 70% ของศักยภาพเท่านั้น (เพราะเรามีโรงไฟฟ้าล้นเกิน) ในเมื่อ (1) บริษัทเอกชนถือหุ้น 90% (2) ขายไฟฟ้าได้ในราคาแพงกว่าและ (3) ได้ผลิตไฟฟ้า 100% ของศักยภาพ ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้ามีระยะเวลาคืนทุนเร็วมากเป็นการเอาเปรียบทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นๆ มากเกินไป         สุภาษิตเยอรมันเตือนไว้ว่า “มีปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด” ซึ่งอย่างน้อย 2 ประการดังที่กล่าวมาแล้วนี่แหละครับ การเมืองไทยมันต้องใช้ภาคประชาชนที่ตื่นรู้คอยตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอย่าให้พลาดสายตานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >