ฉบับที่ 252 กะรัตรัก : ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก

               ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต         หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร         คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน         แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้         ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา         ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน         สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน         จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…”         เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด”         ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง         ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด         หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน         เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…”         แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา         เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์         ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้         ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทุ่งเสน่หา : ฤๅจะสิ้นสุดยุคชนบทโรมานซ์กันแล้ว?

        ด้วยชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ว่า “ทุ่งเสน่หา” ก็ชวนให้ผู้เขียนเข้าใจไปได้ว่า เนื้อหาของละครน่าจะผูกโยงเรื่องราวดื่มด่ำรักโรแมนติกของพระเอกนางเอก โดยมีฉากหลังเป็นท้องทุ่งบ้านนา         ไม่ต่างไปจากภาพที่เราเคยคุ้นชินกับตัวละคร “พี่คล้าว” และ “น้องทองกวาว” ที่วิ่งพลอดรักครวญเพลงกลางท้องนาว่า “…โอ้เจ้าช่อนกยูง แว่วเสียงเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ซ้ำหอมน้ำปรุงที่แก้มนงคราญ” ซึ่งปรากฏอยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่สร้างใหม่กันมาแล้วหลายครั้งครา         แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพินิจพิเคราะห์ลงไปในเรื่องราวของ “ทุ่งเสน่หา” แล้ว ชื่อเรื่องอาจจะฟังดูเป็นอุดมคติแบบรักโรมานซ์ของชนบทในอดีต ทว่าอันที่จริงนั้น แม้จะมีกลิ่นอายของรักโรแมนติกอยู่บ้าง แต่ลึกลงไปกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ละครกลับซุกซ่อนความเป็นจริงบางอย่างที่ดำรงอยู่ในชุมชนชนบทไทยไว้อย่างน่าสนใจ         ย้อนกลับไปราวกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แม้ด้านหนึ่งเส้นกราฟทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีแนวโน้มจำเริญเติบโตขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง เศรษฐกิจที่ทันสมัยก็ต้องแลกมาด้วยการล่มสลายของท้องถิ่นชนบทไทยภายในไม่กี่ทศวรรษถัดมา ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงเกิดอาการโหยหา “สวรรค์ที่ห่างหาย” ให้หวนกลับคืนมาสู่สำนึกการรับรู้ของตน แบบที่เห็นๆ กันในละครโทรทัศน์ชนบทโรแมนติกแนว “มนต์รักลูกทุ่ง” นั่นเอง         ก็คงไม่ต่างจากภาพบางส่วนของชุมชนบ้านทุ่งอย่าง “หนองน้ำผึ้ง” ที่เราสัมผัสเห็นจากการช่วงชิงความรักและพิชิตหัวใจหญิงงามของหมู่บ้านอย่าง “ยุพิณ” ระหว่างชายหนุ่มสองคนคือ “ไพฑูรย์” หนุ่มที่เป็นรักแรกปั๊ปปี้เลิฟกับฉากที่เขาว่ายน้ำในบึงกอบัวเพื่อมาพลอดรักกับนางเอกสาว และ “มิ่งขวัญ” อ้ายหนุ่มคนยากไร้ที่ใช้เสียงเพลงลูกทุ่งครวญบอกความในใจให้กับเธอคนเดียวที่เขาแอบรักมาทั้งชีวิต         แต่กระนั้น ภาพรักโรแมนติกที่เราสัมผัสอยู่หน้าจอ ก็ดูจะเป็นเพียง “หน้าฉาก” หวานชื่น ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องราวให้เห็นเป็นระยะๆ แบบเดียวกับชื่อละคร “ทุ่งเสน่หา” ทว่า กับโครงเรื่องหลักจริงๆ ของละครกลับหาใช่จะเป็นเล่าเรื่องราวความรักโรมานซ์ของคนชนบทอย่างเดียวไม่         พลันที่ตัวละคร “สำเภา” ปรากฏตัวขึ้นมาในฐานะหญิงวัยกลางคนที่เป็นนายทุนท้องถิ่นรายใหม่ของหมู่บ้านหนองน้ำผึ้ง ละครก็ได้เผยให้เห็นอีกโฉมหน้าหนึ่ง ซึ่งเป็น “หลังฉาก” ของท้องทุ่งชนบทที่มิได้มีแต่เรื่องราวเสน่หาผูกพันรักใคร่แต่เพียงด้านเดียว        ปมปัญหาใหญ่ของเรื่องน่าจะเริ่มขึ้นเมื่อผีพนันอย่าง “บุญยืน” พ่อของยุพิณ ได้ลอบไปขโมยควายจากบ้านของสำเภาในกลางดึกคืนหนึ่ง และเพราะควายมีสถานะเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจของเกษตรกรชนบท การขโมยควายจึงไม่ต่างจากการตัดเส้นเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิตของชาวนากันเลยทีเดียว ในแง่นี้ บุญยืนจึงมีฐานะไม่ต่างจากคนที่แม้จะ “รู้จักรักใคร่” แต่หาใช่จะ “รู้หน้าไม่รู้ใจ” ไปพร้อมๆ กัน         แม้ในทางหนึ่ง “คนบ้านเดียวกันแค่มองตากันก็เข้าใจอยู่” ก็ตาม แต่สำหรับสำเภาแล้ว ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งของชีวิตคน “บ้านใกล้เรือนเคียง” แบบบุญยืน กลับทำให้ตัวละครหญิงกลางคนคนนี้เริ่มระแวงสายสัมพันธ์กับคนคุ้นเคย จนถึงกับพูดเปรยด้วยความคับแค้นใจว่า “คนบ้านเดียวกันไม่น่าจะทำกันแบบนี้”         จากนั้นปฏิบัติการแก้เผ็ดแก้แค้นก็เริ่มต้นขึ้น พร้อมๆ กับการเผยให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า แม้แต่ในแดนดินถิ่นรักโรแมนติกของชนบทนั้น ก็คลุกเคล้าไว้ด้วย “ความขัดแย้ง” ไม่ต่างจากสังคมถิ่นอื่นทั่วไปนักหรอก         ท่ามกลาง “สวรรค์บ้านทุ่ง” อันดูสวยงามนั้น ปลาตัวใหญ่ก็ยังคอยเลาะเล็มเลือกกินเหยื่อตัวเล็กกว่าเป็นมังสาหารอยู่เป็นอาจิณ เฉกเช่นสำเภาในฐานะปลาใหญ่ก็อาศัยอำนาจบารมีและความมั่งคั่งทางฐานะเศรษฐกิจขูดรีดเอาเปรียบลูกบ้านที่อยู่ในขอบขัณฑ์ของหนองน้ำผึ้งได้ไม่ต่างกัน         เริ่มตั้งแต่การวางแผนเข้ามาจัดการชีวิตลูกชายสองคน โดยพรากยุพิณไปจากลูกชายคนรองเพื่อให้แต่งงานกับ “ไพรวัลย์” บุตรชายคนโตที่ขาพิการเป็นโปลิโอแทน นัยหนึ่งก็เพื่อแก้แค้นบุญยืนที่กล้าหยามศักดิ์ศรีคนบ้านเดียวกัน กับอีกนัยหนึ่งก็หวังจะให้ไพฑูรย์ได้ไปแต่งงานกับ “จันทร” ลูกสาวของ “จำเรียง” เจ้าของโรงสีข้าวที่มีฐานะทางการเงินทัดเทียมกับครอบครัวของสำเภามากกว่า         ในแง่นี้ สถานะทางเศรษฐกิจจึงกลายมาเป็นตัวแปรที่ใช้จำแนกชนชั้นของคนชนบทออกจากกัน และยังเป็นปัจจัยนำไปสู่ความขัดแย้งที่ทับทวีคูณระหว่างตัวละครแห่งบ้านทุ่งบ้านนาอันแสนเปี่ยมสุข เหมือนกับฉากที่ยุพิณปะทะคารมกับเพื่อนที่กลายมาเป็นศัตรูหัวใจอย่างจันทร ซึ่งลึกๆ แล้วก็คาดหวังจะครอบครองฉกชิงไพฑูรย์ไปจากเธอ         “เจ็บตัวมันยังน้อยกว่าเจ็บใจ ความเจ็บใจที่มีเพื่อนรักทรยศคอยแทงข้างหลง มันคือที่สุดของความเจ็บใจ” และ “คนอย่างมึงไม่มีปัญญาหาผัว ต้องให้แม่เอาเงินมาซื้อ” ก็เป็นคำพูดของยุพิณที่บอกนัยได้ชัดเจนว่า มิตรภาพในหมู่คนชนบทเอง ในบางครั้งก็เป็นเพียงสายสัมพันธ์ที่วางอยู่บนบางเงื่อนไขเช่นกัน         ยิ่งไปกว่านั้น หากพี่คล้าวและน้องทองกวาวเคยใช้ “สวรรค์บ้านทุ่ง” เป็นตัวจักรยึดโยงสำนึกรักบ้านเกิดเอาไว้ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง แต่ในฉากชนบทของบ้านหนองน้ำผึ้งนั้น แรงเกาะเกี่ยวดังกล่าวกำลังถูกท้าทายจากแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ เพราะตัวละครที่หลากหลายในเรื่องต่างก็มีแนวโน้มจะพร้อมใจละทิ้งท้องทุ่งรวงทอง เพื่อไปแสวงหาชีวิตในสังคมเมืองที่ดูจะมั่งคั่งมั่นคงกว่า         ไม่ว่าจะเป็นไพฑูรย์ที่ภายหลังจันทรเสียชีวิตลง ก็เลือกจะมาแต่งงานออกเรือนกับ “จันทร” อดีตน้องสะใภ้ เพื่อดูแลกิจการโรงสีข้าวที่ตัวเมืองปากน้ำโพ หรือมิ่งขวัญที่ภายหลังออกจากเกณฑ์ทหารแล้ว ก็เลือกจะลงหลักปักฐานเซ้งตึกเพื่อเปิดร้านข้าวมันไก่สูตรเด็ด ก่อนจะได้มาลงเอยครองรักกับยุพิณ ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็นเจ้าของบิวตี้ซาลอนชื่อดังของจังหวัดนครสวรรค์         และที่น่าสนใจก็คือตัวละคร “แก้วใจ” เด็กสาวกะโปโลแห่งท้องทุ่งบ้านนา ที่สำเภาเองก็รักเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่เธอก็พร้อมที่จะ “ไปเป็นนักร้องให้เขาล้วงมันเจ็บในทรวงไม่หาย” หรือแม้แต่เลือกไปแสวงโชคแต่งงานอยู่กินกับสามีฝรั่งยังเมืองนอกเมืองนา         ในทางหนึ่งนั้น ละครเองก็พยายามจะยืนยันความเชื่อที่ว่า “เนื้อคู่กันแล้วก็คงไม่แคล้วกันไปได้” เหมือนกับเพลงลูกทุ่งที่มิ่งขวัญร้องเกี้ยวยุพิณตลอดทั้งเรื่อง หรือแม้แต่จะสร้างภาพว่า อ้ายหนุ่มบ้านนาต่างมีรักแท้ที่แสนมั่นคง เหมือนกับที่มิ่งขวัญเองก็พูดว่า “ต่อให้การรักเอ็งมันต้องเสียใจไปทุกวัน ข้าก็จะรักเอ็ง”          แต่ในท้ายที่สุดแล้ว กลิ่นอายความรักของชนบทที่คละเคล้าไว้ด้วยความขัดแย้งที่ซับซ้อน การขูดรีดผลประโยชน์ การวางแผนหลอกลวง ไปจนถึงการล่มสลายแห่งการละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ก็อาจจะตั้งคำถามกับเราๆ ได้ว่า หรือนี่อาจจะเป็นภาพแบบใหม่ของชุมชนชนบทที่หาใช่รักโรแมนติกแบบที่เราเคยรับรู้กันมา?

อ่านเพิ่มเติม >