ฉบับที่ 263 กระแสต่างแดน

แทนน้ำเปล่า         ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นการใช้น้ำอัดลมในพิธีกรรมโบราณของคนพื้นเมืองในเม็กซิโก ทั้งพ่อหมอแม่หมอ ต่างยืนยันว่าทวยเทพทั้งหลายล้วนพอใจกับสิ่งนี้          ไม่ต่างอะไรกับคนเม็กซิโกทั่วไปที่นิยมดื่มน้ำอัดลมกันจนเป็นนิสัย แม้พื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ยังมีน้ำอัดลมขาย         ที่แปลกคือน้ำสะอาดสำหรับดื่มเป็นสิ่งหาได้ยาก แต่บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลม เช่น โคคาโคลา กลับมีน้ำเพียงพอที่จะใช้ผลิตเครื่องดื่มออกมาตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างไม่รู้จบ         รายงานระบุว่ารัฐบาลอนุญาตให้บริษัทใช้น้ำได้วันละประมาณหนึ่งล้านลิตร แต่เนื่องจากไม่มีการกำกับดูแลปริมาณน้ำที่ใช้จริง ผู้คนจึงสงสัยว่าสาเหตุที่น้ำดื่มขาดแคลน อาจมาการใช้น้ำของบริษัทเหล่านี้         อัตราการเป็นโรคเบาหวานในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้ประชากรเกือบร้อยละ 17 เป็นโรคเบาหวาน และหนึ่งในสามของเยาวชนมีภาวะน้ำหนักเกิน  ของมันต้องขึ้น         ประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 9 ล้านคนในเกาหลีใต้ มีสิทธิขึ้นรถไฟใต้ดินฟรี         นโยบายนี้ถูกใจวัยเก๋า งานวิจัยก็พบว่ามันช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตาย เพราะการเดินทางออกจากบ้านทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย และการพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดีต่อสุขภาพจิต         แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ “โซลเมโทร” หน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการรถไฟไต้ดินของกรุงโซล เพราะขาดทุนอย่างต่อเนื่องปีละแสนล้านวอน (ประมาณ 26,700 ล้านบาท) ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด         เนื่องจากรัฐบาลไม่มีแผนจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะเกรงจะกระทบกับฐานเสียง (ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุนั้นมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 23)  โซลเมโทร จึงประกาศขึ้นราคาค่าตั๋วจาก 1,250 เป็น 1,550 วอน (ประมาณ 42 บาท) ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป   มาเฟียรุกทะเล         เมืองแถบชายฝั่งอัฟริกาใต้เป็นแหล่งผลิตและส่งออกหอยเป๋าฮื้อไปยังหลายประเทศในเอเชีย ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัน         หอยส่วนหนึ่งมาจากฟาร์มที่เลี้ยงอย่างถูกสุขลักษณะและจับขายตามกำหนด ปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แต่ราคาค่อนข้างแพง         อีกส่วนหนึ่งมาจาก “ตลาดล่าง” ที่ดำเนินการโดยมาเฟียท้องถิ่น โดยอาศัยแรงงานราคาถูกของคนหนุ่มสาวที่ยินดีเสี่ยงคุกออกไปลักลอบจับหอยเป๋าฮื้อในทะเล ด้วยราคาที่ถูกลง “ลูกค้า” จึงให้การอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะสุ่มเสี่ยงเรื่องสุขอนามัย           หากไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง หอยเป๋าฮื้อจะหมดไปจากทะเลแถบนั้นภายใน 10 ปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  แนวชายฝั่ง 2,850 กิโลเมตรนี้ไม่มีเจ้าภาพทำหน้าที่เป็น “ยามชายฝั่ง”  กองทัพเรือของเขาซึ่งปราบโจรสลัดเป็นงานหลักก็ไม่มีเขตอำนาจหน้าที่ในระยะ 100 เมตรจากชายฝั่ง  ของถูกยังมี         ปีที่แล้วราคาเนยในเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เป็นไปในทิศทางเดียวกับอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ ที่แพงขึ้นร้อยละ 13.4 โดยเฉลี่ย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.9 ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่ “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 74 ปีก่อน          แต่อยู่ดีๆ ปีนี้ราคาเนยก็ลดฮวบ จาก 2.29 ยูโร (ประมาณ 85 บาท) ลงมาเหลือ 1.59 ยูโร (58 บาท) สำหรับเนยขนาด 250 กรัม         รายงานระบุว่าเป็นเพราะเยอรมนีผลิตน้ำนมวัวได้มากขึ้น แต่คนบริโภคนมน้อยลง และเนยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกแบรนด์ผลิตออกมาในขนาดเดียวกัน ทำให้เปรียบเทียบง่ายเวลาเลือกซื้อ ไม่ว่าร้านไหนก็ไม่ยอมให้ใครถูกกว่า         แต่ข่าวดีจบเพียงแค่นั้น ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างชีส หรือโยเกิร์ตยังคงแพงเหมือนเดิม น้ำมันดอกทานตะวันขนาดหนึ่งลิตร ก็ขึ้นราคาเป็น 5.99 ยูโร (220 บาท) จากราคาเดิม 1.29 ยูโร  รักต้องโอน         ธนาคาร TSB ของอังกฤษเปิดเผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” ผ่านการโอน ระหว่างผู้เสียหาย (ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร) กับมิจฉาชีพที่มาหลอกให้รัก ตามสูตรโรแมนซ์สแกม         ในช่วงโควิด กรณีแบบนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91 และมีมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ประมาณหนึ่งในสามของเหยื่อได้รับการติดต่อผ่านเฟซบุ๊ค และเกือบร้อยละ 25 ติดต่อกันทางแอปทินเดอร์ ทั้งนี้อายุเฉลี่ยของผู้เสียหายคือ 47 ปี         สองในสามของเหยื่อเป็นผู้หญิง ที่โดยเฉลี่ยแล้วสูญเงินคนละประมาณ 6,300 ปอนด์ (250,000 บาท) ในขณะที่เหยื่อผู้ชายเสียไปคนละ 4,600 ปอนด์ (190,000 บาท)              สถิติระบุว่าเหยื่อส่วนใหญ่โอนเงินไปถึง 8 ครั้ง ก่อนจะ “รู้ตัว” โดยร้อยละ 32 รู้ตัวหลังคุยกันได้ประมาณสองสัปดาห์ อีกร้อยละ 27 รู้ตัวประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง อีกร้อยละ 11 “คบ” กันเกินครึ่งปี เขายังพบอีกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว การโอนครั้งแรกถึงครั้งสุดท้ายห่างกันประมาณ 62 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 การปิดหนี้บัตรเครดิตที่เหมือนโดนเอาเปรียบ

        คุณสาวน้อยเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารแห่งหนึ่ง  จำนวนเงินประมาณ 75,000 บาท เพราะเธอมีปัญหาเรื่องการเงินจึงไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ในเวลาที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามต่อมาเธอพอเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง จึงติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอตัดหนี้ปิดบัญชี โดยเธอได้ต่อรองขอลดยอดหนี้ลงมา ต่อรองไปต่อรองมาธนาคารตกลงให้เธอปิดหนี้กับธนาคารด้วยยอดเงินจำนวน 50,000 บาท หลังจากนั้นธนาคารได้ส่งใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาตามที่เธอต่อรองไว้มาให้เธอเรียบร้อย แต่...หลังจากนั้นไม่นานเรื่องกลับไม่เรียบร้อย เพราะเธอได้รับเอกสารคำฟ้องจากศาล คุณสาวน้อยจึงไม่รู้ว่าเธอควรดำเนินการอย่างไรดี จึงขอคำปรึกษา         แนวทางในการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า เมื่อผู้ร้องได้ใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาและตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้ร้องสามารถไปโอนเงินให้กับธนาคารตามข้อตกลงได้ทันที โดยผู้ร้องจะต้องไปโอนเงินที่ธนาคาร ห้ามโอนเข้าไปในบัญชีของเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ธนาคารหรือสำนักงานกฎหมาย เนื่องจากจะไม่มีหลักฐาน         การโอนที่ธนาคารจะมีใบเสร็จหรือสลิปการโอนเงินหรือเปย์อิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน ย้ำต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ร้องต้องโทรแจ้งเจ้าหนี้ หรือธนาคารให้ทราบว่า ผู้ร้องได้โอนเงินตามข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว เมื่อผู้ร้องโอนเงินแล้วหนี้ของผู้ร้องจะเป็นศูนย์หรือบรรลุตามข้อตกลงแล้ว         หลังจากนั้นผู้ร้องต้องร้องขอให้ธนาคารส่ง ใบปิดบัญชี ของผู้ร้องมาไว้เป็นหลังฐานยืนยันว่า ได้รับเงินและได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว (ส่วนเอกสารใบแจ้งยอดหนี้ที่ลดหนี้ลงมาแล้ว ซึ่งธนาคารส่งมาให้ในตอนแรกนั้น ยังไม่ใช่ใบปิดบัญชี ใบลดหนี้เป็นเพียงแต่หลักฐานที่แสดงว่าทางเจ้าหนี้ได้ลดหนี้ให้กับผู้ร้องเท่านั้น)         เมื่อชำระหนี้ตามสัญญากับเจ้าหนี้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ ผู้ร้องต้องให้เจ้าหนี้ถอนฟ้องจากศาล เพราะไม่เช่นนั้นเรื่องจะค้างอยู่ที่ศาล โดยนัดกันไปที่ศาลและทำคำร้องเพื่อขอถอนฟ้อง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แต่ต้องให้เจ้าหนี้ไปด้วยในฐานะผู้ฟ้อง (โจทก์)  ผู้ร้องจะไปขอถอนคนเดียวไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 สั่งของออนไลน์ โอนเงินไปแล้วทำไมต้องจ่ายปลายทางอีก

        “เราสั่งของออนไลน์ เงินก็โอนให้แล้ว แต่จะมาเก็บเงินปลายทาง พอเราไม่ให้และไม่รับสินค้า แม่ค้าบอกว่า เราต้องจ่ายค่าไม่รับของ 150 บาท หรือจริงๆ คือค่าส่ง แม่ค้าทำแบบนี้ได้ไหมคะ”          เป็นคำถามที่คุณนิสา โทรศัพท์มาปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งรายละเอียดมีอยู่ว่า  เมื่อวันที่ 6 เดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา คุณนิสาถูกใจสินค้าตัวหนึ่งซึ่งขายทางร้านออนไลน์ จึงสั่งซื้อด้วยการเลือกจ่ายเงินเข้าบัญชีร้านค้า จนผ่านไปหลายวันสินค้าก็ยังไม่มาจึงทวงถามไปทางร้านค้า ทำให้ทราบว่ายังไม่มีการจัดส่ง ทางร้านรับปากจะรีบนำส่งโดยเร็ว จนวันที่ 15 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำสินค้ามาส่งให้แต่ระบุว่า เป็นการเก็บเงินปลายทาง ตนเองปฏิเสธเพราะได้จ่ายเงินไปทางร้านค้าแล้ว และยังไม่ทันได้ติดต่อกับทางผู้ขาย ไปรษณีย์ก็นำสินค้ากลับไป ต่อมาแม่ค้าติดต่อมาว่า เราปฏิเสธไม่รับสินค้า ต้องจ่ายค่าเสียหายให้เขาเป็นจำนวนเงิน 150 บาท จึงโทรมาปรึกษาว่า จะต้องทำอย่างไร และที่แม่ค้าทวงถามมานั้นถูกต้องหรือไม่ แนวทางแก้ไขปัญหา         การตกลงซื้อขายกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย เป็นการทำสัญญาลักษณะหนึ่ง เมื่อผู้ซื้อคือคุณนิสา เห็นว่าการเก็บเงินปลายทางเป็นการซ้ำซ้อน การปฏิเสธไม่จ่ายเงินย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้ เมื่อสิ่งของกลับคืนไปแล้ว สัญญาก็เป็นอันจบไป การที่คุณนิสาจะถูกเรียกเก็บ 150 บาท โดยผู้ขายอ้างว่า เป็นค่าเสียหายนั้น ทำไม่ได้ เพราะไม่มีการตกลงกันไว้ก่อน ว่าหากเกิดการปฏิเสธจะต้องถูกเรียกเก็บค่าเสียหาย อีกประการหนึ่งคุณนิสา สามารถเรียกร้องขอให้คืนเงินที่โอนไปแล้วเป็นค่าสินค้าคืนได้ เพราะเป็นสิทธิของผู้ซื้อเช่นกัน         คุณนิสารู้สึกสบายใจขึ้น แต่ไม่อยากวุ่นวายเรื่องที่จะทวงเงินค่าสินค้าคืนเพราะเห็นว่า จำนวนเงินไม่ได้มากนัก จึงไม่ติดใจตรงนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ทำอย่างไร... เมื่อเผลอโอนเงินไปผิดบัญชี

หลายคนคงเคยใช้มือถือโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ โดยเฉพาะระบบพร้อมเพย์ ที่ใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้รับได้แล้ว นับว่าสะดวกรวดเร็วกว่าการโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม หรือ หน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร นอกจากไม่เสียเวลารอคิว ยังฟรีค่าธรรมเนียมการโอนอีกด้วย ขอเพียงมีมือถือและอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ทว่าความผิดพลาดในการโอนเงินผ่านแอปฯ ด้วยการกรอกเลขหมายโทรศัพท์ หรือ เลขบัญชีก็สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างเช่นกรณีนี้ ที่ศูนย์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดกำแพงเพชรได้รับร้องเรียนมา        คุณอรวรรณ ได้นำเงินสดจำนวนหนึ่งฝากเข้าบัญชี ธนาคาร A เพื่อที่จะใช้โทรศัพท์มือถือโอนเงินผ่านแอปฯ ไปยังอีกบัญชีหนึ่งซึ่งเป็นของธนาคาร B ขณะที่ใช้แอปฯ โอนเงิน จำนวน 25,500 บาท ด้วยความเร่งรีบ จึงไม่ได้ตรวจทาน ก่อนกดยืนยัน ทำให้เงินจำนวนดังกล่าวถูกโอนเข้าบัญชีคนอื่น เพราะกรอกเลขบัญชีธนาคารสองตัวสุดท้ายผิดไป        เมื่อคุณอรวรรณทราบว่า ตนได้โอนเงินผิดบัญชี ก็รีบเดินทางไปธนาคาร A เพื่อขอความช่วยเหลือทันที เมื่อไปถึงพนักงานธนาคารได้แนะนำให้คุณอรวรรณเดินทางไปยังธนาคาร B เพื่อติดต่อขอข้อมูลเจ้าของบัญชีปลายทางที่โอนผิดไป        เมื่อคุณอรวรรณ เดินทางไปถึงยังธนาคาร B ก็ได้รับแจ้งจากพนักงานของธนาคารว่า ทางธนาคารไม่สามารถให้ข้อมูลลูกค้ากับบุคคลอื่นได้ แต่จะช่วยติดต่อกับเจ้าของบัญชีให้ ขอให้คุณอรวรรณใจเย็นๆ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงต้องส่งเรื่องกลับให้ทางธนาคาร A ดำเนินการตามกระบวนการ        ผ่านไป 60 วัน คุณอรวรรณ ได้รับการติดต่อจากธนาคาร A ว่า ไม่สามารถติดต่อเจ้าของบัญชีได้ ทางธนาคารให้เพียงชื่อที่อยู่และเลขบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยอีก 45 วันต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับในคดียักยอกทรัพย์        ผ่านไปหลายเดือน คุณอรวรรณคิดว่าคงไม่ได้เงินคืนเสียแล้ว จนวันหนึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว และต่อมาศาลได้นัดไกล่เกลี่ย โดยผู้ต้องหาขอให้ญาติเป็นผู้ผ่อนชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืน เดือนละ 500 บาท        อย่างไรก็ตาม หลังการเจรจาไกล่เกลี่ย คุณอรวรรณ ก็ยังไม่มีวี่แววได้รับเงินคืนอีก จึงได้ติดต่อไปยังทนายความของผู้ต้องหาอีกครั้งเพื่อขอความช่วยเหลือ จนผ่านไปอีกกว่าครึ่งปี ญาติผู้ต้องหาจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้ทั้งหมด        นับเป็นเวลาหลายเดือน กว่าที่คุณอรวรรณจะได้เงินทั้งหมดคืน จากความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือ ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคจะใช้บริการโอนเงินผ่านมือถือ ก็ขอให้ตรวจสอบชื่อเจ้าของบัญชีให้แน่ใจเสียก่อน ที่จะกดยืนยันการโอนเงิน เพราะการสละเวลาในการตรวจสอบเพียงเล็กน้อย ย่อมดีกว่าเวลาที่อาจเสียไปอีกมาก เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดตามมา ซึ่งกรณีแบบนี้ เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย        ทั้งนี้ หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ที่คล้ายกัน ก็ขอให้รีบดำเนินการตามขั้นตอน ต่อไปนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.   หากทราบว่าโอนเงินผิด ให้รีบติดต่อเจ้าของบัญชีปลายทางให้โอนเงินคืน (หากสามารถติดต่อได้)        2.   หากติดต่อเจ้าของบัญชีปลายทางไม่ได้ หรือ ถูกปฏิเสธที่จะโอนเงินคืน ให้รีบโทรแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารที่ใช้บริการ แจ้งรายละเอียดต่างๆ เช่น วัน เวลา และจำนวนเงินที่โอนผิด ให้ทางธนาคารช่วยอายัดเงินจำนวนดังกล่าวไว้        3.   รีบเดินทางไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด เพื่อแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน        4.   รอเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางธนาคารดำเนินการตามขั้นตอน        นอกจากนี้ หากท่านบังเอิญได้รับเงินโอนเข้าบัญชีแบบไม่ทราบที่มา ก็ไม่ควรนำเงินจำนวนนั้นไปใช้ โดยเฉพาะหากเป็นเงินที่เจ้าของโอนผิดเข้ามา เพราะท่านอาจโดนฟ้องในคดียักยอกทรัพย์ได้ หรืออาจเป็นแผนของมิจฉาชีพที่หลอกให้ท่านโอนเงินหรือหลอกถามข้อมูลความลับทางบัญชี เช่น เลขที่บัญชี เลขบัตรเดบิต เลขบัตรเครดิต หรือรหัสผ่าน หากท่านได้รับเงินโอนเข้าบัญชีโดยที่ไม่ทราบที่มา ก็ขอให้ลองติดต่อไปยังคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูล ว่าเงินจำนวนดังกล่าวมาจากไหน        หากผู้บริโภคต้องการขอคำแนะนำหรือร้องเรียน กับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดกำแพงเพชร สามารถติดต่อได้ที่ เฟสบุ๊คแฟนเพจ https://www.facebook.com/consumerthai.kp/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 โอนเงินแล้ว บอกไม่ได้รับ แล้วใครจะรับผิดชอบระหว่างธนาคารหรือคนรับโอน

ธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกและหลากหลายช่องทางในปัจจุบัน ช่วยสร้างความคล่องตัวให้กับผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างมากมาย แม้แต่ธุรกรรมอย่างการโอนเงิน ไม่ต้องไปหน้าเคาน์เตอร์หรือตู้เอทีเอ็มเราก็สามารถทำผ่านอินเตอร์เน็ตได้เช่นเดียวกันคุณเขมวิภากับน้องสาวสนใจจะเข้าอบรมเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะจัดอบรมกันที่จังหวัดพัทลุงโดยบริษัทโซล่า เซล แห่งหนึ่ง ซึ่งจะจัดในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา เธอจึงโอนเงินจำนวน 5,500 บาทผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง จากบัญชีธนาคารทหารไทยของเธอไปที่ธนาคารกรุงไทยของผู้รับโอน ซึ่งก็คือตัวแทนบริษัทโซล่า เซล ดังกล่าว ในตอนเย็นของวันที่ 24 ตุลาคมวันที่ 25 ตุลาคม ระบบเอสเอ็มเอสได้แจ้งเข้ามาที่มือถือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ โดยแจ้งทั้งทางมือถือผู้โอนและผู้รับโอนพอวันที่ 26 ไปถึงหน้าห้องอบรม ปรากฏว่า ทางผู้จัดบอกว่า “ยังไม่ได้รับเงิน” (ไม่มีเงินในบัญชี) จึงไม่อนุญาตให้เข้าอบรม “ดิฉันร้อนใจโทรไปสอบถามทางคอลเซนเตอร์ 1558 พนักงานยืนยันว่ารายการสำเร็จเรียบร้อย แต่ถ้าอยากให้เช็ครายละเอียดขอเวลาสักหน่อย” คุณเขมวิภาเห็นว่าไหนๆ ก็มาถึงที่แล้ว ไม่เข้าอบรมไม่ได้ จึงให้น้องสาวกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มมาจ่ายให้กับทางผู้จัดการอบรม และขอให้ทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวนนี้ไว้แล้วระหว่างที่อบรมน้องสาวของคุณเขมวิภาได้ไปติดต่อกับธนาคารทหารไทยสาขาพัทลุงให้ช่วยตรวจสอบ แต่ถูกปฏิเสธบอกไม่มีอำนาจต้องรอคอลเซนเตอร์ ซึ่งต้องใช้เวลาสำหรับการตรวจสอบถึง 7 วันวันที่ 1 พฤศจิกายน ครบ 7 วันคอลเซนเตอร์ไม่โทรมา คุณเขมวิภาต้องโทรไปเอง คำตอบเดิมคือยืนยันว่า การโอนเงินสำเร็จ เงินไปอยู่ในบัญชีผู้รับแล้วดึงกลับมาไม่ได้ “ดิฉันโทรกลับไปทางผู้จัดการอบรม ทางนี้ก็ยืนยันว่า ไม่มียอดเงินเข้า แต่ไม่ยอมแสดงหลักฐานบัญชี บอกแต่ว่าเป็นเอกสารของบริษัท แต่ส่งจดหมายเพื่อเป็นเอกสารยืนยันกับดิฉันว่า ไม่ได้รับเงินจริงๆ” คุณวิภาจึงต้องย้อนไปธนาคารอีกครั้งเพื่อยื่นเรื่องให้ตรวจสอบและคืนเงิน ทางธนาคารแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบ เมื่อรอผลการตรวจสอบทางสำนักงานใหญ่ธนาคารยืนยันเหมือนเดิมว่า รายการโอนสำเร็จ “ตอนนี้ดิฉันเริ่มหงุดหงิดแล้วค่ะ จึงโทรไปหาบริษัทฯ บริษัทฯ ก็ปฏิเสธเช่นเดิม และขอให้เอาหลักฐานมาแสดงว่าเงินเข้ายังบัญชีปลายทางจริงๆ ทั้งสองฝ่ายต่างปฏิเสธแล้วคนที่เสียหายอย่างดิฉัน จะไปเอาเงิน 5,500 บาทนี้ คืนจากใครค่ะ” การแก้ไขปัญหาเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้แล้ว ทางฝ่ายธนาคารน่าจะมีหลักฐานที่ชัดเจนกว่าทางบริษัทฯ ที่ไม่ยอมแสดงหน้าบัญชีให้เห็นว่า มีรายการโอนเงินเข้าในเวลาและจำนวนดังกล่าวตามที่ทางธนาคารทหารไทยยืนยัน ทางศูนย์พิทักษ์ฯ จึงแนะนำให้คุณเขมวิภา ทำหนังสือถึงบริษัทอย่างเป็นทางการเพื่อขอคืนเงิน โดยระบุเนื้อหาและเอกสารที่ยืนยันว่าการโอนเงินนั้นสำเร็จ โดยทางศูนย์ฯ ได้ช่วยประสานกับทางบริษัทฯ ด้วย เพราะถ้าหากบริษัทยืนยันว่า ทางตนเองไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวควรแสดงหลักฐานยืนยัน หากไม่มีหลักฐานก็ควรคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้กับผู้บริโภคเพราะทางบริษัทฯ ได้รับเงินสดสำหรับเป็นค่าอบรมไปแล้วสุดท้ายบริษัทก็คืนเงินจำนวน 5,500 บาทให้กับคุณเขมวิภาเรียบร้อย แต่เงินจำนวนนี้ไปค้างอยู่กับบริษัทถึง 13 วัน (25 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน) แหม มันน่าเอาเรื่องต่อจริงๆ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ” ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น” ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >