ฉบับที่ 264 กิน..กัญ...จน...มึน

        “แม้กัญชาจะปลดล็อคเสรี แต่ถ้าผลีผลามใช้แบบไม่ระมัดระวัง กัญชาที่เป็นพืชสมุนไพรก็อาจจะทำให้เราเสี่ยงภัยได้ง่ายๆ”         ตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่ทีมเราเจอในโรงพยาบาล หลังปลดล็อคกัญชาเสรี จำได้ว่าในช่วงเย็นของวันหนึ่ง เภสัชกรได้รับแจ้งจากพยาบาลห้องฉุกเฉินให้ไปสอบสวนเคสคนไข้รายหนึ่ง สอบถามข้อมูลคนไข้ พบว่าคนไข้ชายไทยวัยกลางคนถูกนำส่งมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจไม่สะดวก คนไข้มีอาการมึนชาตามร่างกาย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียนอย่างมาก         เมื่อสอบถามข้อมูลจากภรรยาที่นำคนไข้มาส่งได้ความว่า สามชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาลสามีเธอกินต้มไก่ ใส่กัญชา ซึ่งปกติก็ใส่แค่ใบกัญชา แต่ครั้งนี้ไม่รู้นึกครึ้มอะไรเลยใส่มันทั้งใบและช่อดอก แถมแอบกระซิบว่าที่บ้านมีต้นกัญชาปลูกไว้ใส่ในต้มไก่ในปริมาณเยอะพอสมควร ตอนกินยังพูดว่าอร่อยฟาดต้มไก่หมดเกลี้ยงไปสองถ้วย แถมอาหารมื้อนี้ยังมีดื่มเบียร์ร่วมวง ด้วยพออิ่มเรียบร้อยจึงเกิดเรื่องสามีเกิดอาการขึ้นมาซึ่งตนก็ไม่คาดมาก่อนว่าจะทำให้เกิดอาการเช่นนี้จึงรีบพาส่งโรงพยาบาล         เภสัชกรจึงอธิบายให้ภรรยาฟังว่า กัญชา เป็นพืชสมุนไพรและพืชท้องถิ่น ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจนำมาประกอบอาหาร ในกรณีบริโภคกัญชาเป็นอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้น ควรพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยง ส่วนที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาปรุงใส่อาหารมากที่สุดคือ ใบ ใบสดที่เพิ่งเก็บจากต้นซึ่งส่วนนี้จะไม่มีสารเมาแต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระลดการอักเสบ เราอาจนำมากินกับน้ำพริกหรือผสมกับผักอื่นๆ กินแบบสลัดได้         แต่สิ่งที่เราต้องระวังคือ เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อนหรือเก็บไว้นานๆ จะมีสารเมาที่เรียกว่าสาร THC และสารต้านเมาที่เรียกย่อๆ ว่า CBD เกิดขึ้น โดยใบอ่อนจะมีปริมาณสารข้างต้นมากกว่าใบแก่ สารสองชนิดนี้ พบปริมาณสูงสุดเมื่อต้นกัญชามีอายุ 2 เดือน ดังนั้นหากจะนำใบแห้งมาปรุงอาหารผ่านความร้อนตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เราอาจใช้ได้ประมาณวันละ 5- 8 ใบ และแนะนำให้เริ่มใช้ในขนาดน้อยๆ ก่อน คือประมาณครึ่งใบต่อวัน         นอกจากใบแล้วส่วนอื่นๆ ของกัญชาก็สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร เช่น ใช้ใบกัญชาปรุงรสของน้ำซุป เช่น ต้ม แกง ตุ๋น ใช้ยอดกัญชา ใส่ผัดเผ็ด แกงเผ็ด เหมือนใบกะเพรา ใบโหระพา ใช้ใบอ่อนกัญชาเป็นผักสด จิ้มน้ำพริก น้ำบูดู หั่นใส่ในข้าวยำ ใส่แกงส้ม แกงกะทิ แกงมัสมั่น หรือในเมนูผัด บางพื้นที่ใช้รากและกิ่งก้านกัญชา มาใส่ทำน้ำซุปแต่ในส่วนของช่อดอกต้องระวัง ไม่นำมาใช้ในการปรุงอาหารเพราะมีสารที่ทำให้มึนเมามากอาจเกิดอันตรายได้         นอกจากนี้ผู้ที่เพิ่งเริ่มกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อาจมีอาการข้างเคียงเช่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มออกฤทธิ์แสดงผล หลังกินไปแล้วประมาณ 30-60 นาที และจะแสดงอาการเด่นชัดที่เวลาหนึ่งชั่วโมงและอยู่ได้นานถึงประมาณหกชั่วโมง ดังนั้นผู้ที่เพิ่งกินกัญชาหรือเริ่มกินเป็นครั้งแรก ควรเริ่มกินที่ครึ่งใบแล้วรอดูผลหลังการกิน 2 ชั่วโมง หากมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ หากมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งหรือดื่มชารางจืดเพื่อบรรเทาอาการ

อ่านเพิ่มเติม >