ฉบับที่ 179 รู้เท่าทันการกินไข่ไก่แช่น้ำส้มสายชู

ในขณะนี้มีการเผยแพร่และส่งต่อในเว็บไซต์มากมายว่า ให้กินไข่ไก่สดแช่ในน้ำส้มสายชู เพราะเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนโบราณ  มีคุณค่าต่อร่างกายมากมาย  กระแสความตื่นตัวเรื่องนี้มาจากไหน  เราลองมารู้เท่าทันกันเป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนจริงหรือ    ความเชื่อเรื่องประโยชน์ของน้ำส้มสายชู ไม่เพียงแต่เป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนเท่านั้น  ศาสตร์การแพทย์ดั้งเดิมทุกชาติทุกภาษาล้วนเชื่อว่าน้ำส้มสายชูมีประโยชน์ต่อร่างกาย  ในคัมภีร์เน่ยจิงของจีนกล่าวว่า “น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวมีรสขม เปรี้ยว  และอุ่น  เมื่อรสขมและเปรี้ยวรวมกัน จะทำหน้าที่ระบายหรือลุ  จึงใช้เป็นทั้งอาหารและยาในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ได้แก่ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดี ไม่อุดตัน  บำรุงพลังชีวิตของตับ ขับสารพิษ และประโยชน์อื่นๆ     ไข่แช่ในน้ำส้มสายชู ยังใช้เป็นอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังและความแข็งแรงสำหรับนักรบซามูไรของญี่ปุ่น  โปรตีน วิตามินในไข่ จะถูกดูดซึมได้เป็นอย่างดี  เปลือกไข่ไก่หนึ่งฟองประกอบด้วยแคลเซียม 1,800 มิลลิกรัม   (เทียบเท่ากับนมวัวสดยูเอชที รสจืด 1.6 ลิตร.....ผู้เขียน)  ซึ่งคนไทยควรกินแคลเซียมวันละ 800 มิลลิกรัม  นอกจากนี้ในไข่ไก่ยังอุดมด้วยวิตามินดี ซึ่งทำให้กระดูกแข็งแรงและอายุยืนยาว  ปัจจุบัน คนญี่ปุ่นก็ยังนิยมดื่มไข่ไก่ที่แช่ในน้ำส้มสายชูจนเปลือกไข่ละลาย และตอกไข่ผสมกับน้ำส้มสายชูที่แช่ไข่นั้น เพราะถือว่าเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง     ในการแพทย์ดั้งเดิมอื่นๆ ต่างเชื่อว่า น้ำส้มสายชูมีประโยชน์และใช้รักษาอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดศีรษะ เจ็บคอ อ้วน เป็นต้น   เครื่องดื่มเก่าแก่และยอดนิยมของชาวเวอร์มอนต์ ในอเมริกา ก็ใช้น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล 2 ช้อนชา น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ละลายในน้ำ 1 ถ้วย  พบว่าช่วยปรับน้ำปัสสาวะให้กลับมาเป็นภาวะกรด (ค่ากรดด่างของปัสสาวะปกติ เท่ากับ 4.6-8) อะไรเกิดขึ้นเมื่อไข่ไก่แช่ในน้ำส้มสายชู    เมื่อนำไข่ไก่แช่ในน้ำส้มสายชู จะเห็นฟองอากาศเกิดขึ้นที่เปลือกไข่ทั้งฟอง  ฟองอากาศเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาเนื่องจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรดน้ำส้ม (น้ำส้มสายชู) และแคลเซียมคาร์บอเนตที่เปลือกไข่  กรดน้ำส้มจะละลายแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกไข่  กลายเป็นไอออนของแคลเซียมละลายอยู่ในน้ำส้มสายชู  ส่วนคาร์บอเนตจะกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ที่เห็นเป็นฟองอากาศ  เปลือกไข่จะค่อยๆ หายไปภายใน 24-48 ชั่วโมง เหลือแต่เยื่อหุ้มไข่ที่หุ้มไข่ขาวและไข่แดงไว้ข้างใน     ดังนั้นในน้ำส้มสายชูที่แช่ไข่จะมีไอออนของแคลเซียมละลายอยู่  ซึ่งเป็นแหล่งแคลเซียมที่สำคัญสำหรับร่างกาย  เมื่อฉีกเยื่อหุ้มไข่ออก ไข่ขาวและไข่แดงก็จะไปผสมกับน้ำส้มสายชูที่มีแคลเซียมของเปลือกไข่ละลายอยู่  เราจึงได้ประโยชน์ไข่ไก่สด  แคลเซียม  และน้ำส้มสายชู ไปพร้อมๆ กัน     นับเป็นความชาญฉลาดของบรรพบุรุษ และการแพทย์ดั้งเดิมที่ได้ค้นพบอาหารบำรุงร่างกาย    ประเทศไทยต้องเสียเงินมากมายในการซื้อยาเม็ดแคลเซียมเพื่อให้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน  และผู้สูงอายุ  นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการกินนมวัวเพื่อให้ได้แคลเซียมจากนมวัว  เท่านี้ยังไม่พอ มีการใส่แคลเซียมลงในนมเพื่อให้เป็นไฮแคลเซียมอีกด้วย  ราคาก็สูงขึ้นตามค่าโฆษณา  แต่เรากลับละเลยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สามารถหาแหล่งแคลเซียมราคาถูก  และสามารถทำเองได้  ไม่ว่าจะจากอาหารพื้นบ้าน  สมุนไพรบางชนิด  รวมถึงแคลเซียมจากเปลือกไข่     เรื่องไข่แช่ในน้ำส้มสายชูเป็นตัวอย่างภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ดี   เราสามารถประยุกต์และพัฒนาการดึงแคลเซียมจากเปลือกไข่ในน้ำส้มอื่นๆ  น้ำมะนาว  น้ำมะขาม  และนำมาใช้เป็นน้ำส้มไฮแคลเซียม แข่งกับนมไฮแคลเซียมบ้าง     ที่สำคัญ ต้องล้างทำความสะอาดเปลือกไข่เป็นอย่างดี  เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคปนเปื้อนในน้ำส้มสายชู                                    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 กระแสต่างแดน

  บัตรของเรา เรทของเรา บริษัทบัตรเครดิตวีซ่างานเข้า เมื่อถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียฟ้องในข้อหาพยายามใช้อำนาจทางการตลาดผูกขาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ   ข่าวบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น นักท่องเที่ยวที่ถอนเงินจากตู้กดเงินอัตโนมัติด้วยบัตรวีซ่าจะต้องใช้อัตราแลกเงินที่วีซ่าเป็นผู้กำหนดเท่านั้น   แม้คุณจะเลือกจ่ายค่าสินค้าบริการด้วยบัตรเครดิต บริษัทเขาก็กำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ที่เปิดรับการจ่ายเงินด้วยบัตรวีซ่าใช้อัตราแลกเปลี่ยนของเขาอยู่ดีนั่นแหละ   คณะกรรมการฯ เป็นห่วงว่าจะเกิดการผูกขาดในธุรกิจบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเจ้าอื่นจะพากันล้มหายตายจาก ไม่เหลือทางเลือกให้ผู้บริโภคในที่สุด  นั่นสินะ.. เวลาจะแลกเงินเรายังต้องเสาะหาว่าจะไปแลกเงินกับเจ้าไหนดีให้ได้อัตราสูงที่สุด แต่เวลาใช้บัตรเรากลับหมดทางเลือกไปซะอย่างนั้น     ภาษีที่เลี่ยงได้ คือกำไรของเรา? เว็บไซต์ www.ethicalconsumer.org ของอังกฤษกำลังชักชวนให้ผู้บริโภคบอยคอตอเมซอน ร้านหนังสือออนไลน์ที่เรารู้จักกันดี เพื่อกดดันให้บริษัทจ่ายภาษีให้สมน้ำสมเนื้อกับผลกำไรมหาศาลเสียที   อเมซอนไม่ใช่บริษัทเดียวที่เลี่ยงภาษี แต่ที่ถูกเพ่งเล็งหนักเพราะเว็บนี้เขาเชื่อว่าอเมซอนใช้การเลี่ยงภาษีเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการทำธุรกิจ   รายงานในหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่า 1 ใน 4 ของลูกค้าของบริษัทอยู่ในอังกฤษ คิดเป็นยอดขายในประเทศนี้ถึง 7,500 ล้านปอนด์ (350,000 ล้านบาท) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา   แต่บริษัทไม่ได้เสียภาษีจากผลกำไรดังกล่าวให้กับรัฐบาลอังกฤษเลย เขาคาดว่าการสูญเสียครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 100 ล้านปอนด์ (4,600 ล้านบาท)   เมื่อพ.ศ. 2551 นิตยสาร Business Week ระบุว่าอเมซอนจ่ายภาษีให้รัฐบาลอเมริกันเพียงร้อยละ 4 ของผลกำไรเท่านั้น ... น้อยกว่าอีก 488 บริษัทที่อยู่ใน 500 อันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ   ถัดมาอีก 3 ปี อเมซอนใช้เงิน 5 ล้านเหรียญ(ประมาณ 150 ล้านบาท) สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายภาษีของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากขึ้นด้วย       ใครอยากบอยคอตก็ให้ไปซื้อหนังสือจากเว็บของสำนักพิมพ์โดยตรง หรือไม่ก็อุดหนุนร้านหนังสือแถวบ้านดีกว่า(แต่ใครจะเข้าไปเปิดดูตัวอย่างหนังสือจากเว็บของอเมซอนฟรีๆ อันนี้ไม่ว่ากัน)     เมื่อสตาร์บัคส์ชักจะไม่หอมกรุ่น หลังจากสตาร์บัคส์อังกฤษถูกเปิดโปงในรัฐสภาว่ามีมาตรการเลี่ยงภาษีที่ “ไร้จริยธรรม” บริษัทจึงรีบแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกนโยบายลดเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานเสียเลย โดยให้เหตุผลว่าต้องลดรายจ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือมาจ่ายภาษีมากขึ้น   นโยบายนี้มีผลต่อพนักงานประมาณ 7,000 คน ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์กว่า 750 สาขาในอังกฤษ ที่ต่อไปนี้จะไม่ได้ค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน 30 นาที ค่าจ้างในวันแรกของการลาป่วย เงินโบนัสพิเศษ หรือแม้แต่คูปองกินฟรีในวันเกิด   พนักงานบอกว่าพวกเขามีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ หนึ่งเซ็นรับทราบข้อตกลง/เงื่อนไขการจ้างงานใหม่ แล้วทำงานต่อไปเงียบๆ อย่าหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยเป็นอันขาด สองไม่เซ็นก็ได้ แต่ต้องลาออกไปโดยพลัน   สตาร์บัคส์แถลงว่า รายจ่ายของธุรกิจร้านกาแฟของบริษัทหมดไปกับค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานมากที่สุด บริษัทจึงใช้เวลาในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาปรับโครงสร้างรายจ่ายให้สมดุลกับการพัฒนาธุรกิจ   บริษัทบอกว่าได้ทำความเข้าใจกับพนักงานแล้ว โดยบางคนได้รับคำอธิบายจากผู้จัดการว่าสตาร์บัคส์ขาดทุนค่อนข้างมากในยุโรป จึงต้องหาวิธีลดรายจ่ายลง   แต่รายงานข่าวในช่วงก่อนหน้านี้บอกว่า ด้วยวิธีการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำให้สตาร์บัคส์เสียภาษีเพียง 8.6 ล้านปอนด์ (403 ล้านบาท) จากรายได้ทั้งหมด 3,100 ล้านปอนด์ (145,200 ล้านบาท) ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา   ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็ตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทนี้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา 15 ปีที่เปิดกิจการในอังกฤษ ทั้งๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 30   และที่สำคัญยังแถลงต่อผู้ถือหุ้นว่าบริษัททำกำไรได้ร้อยละ 15 ต่อปีด้วย   ตกลงมันยังไงกันแน่? แล้วทำไมภาระภาษีถึงมาตกอยู่กับพนักงานรายได้น้อยไปเสียได้?     บอกแล้วให้ซื้อรถใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์สิงคโปร์ (คล้ายๆ สคบ.บ้านเรา) ปีนี้ได้แก่ “รถมือสอง” ที่เบียดแชมป์เก่าอย่าง “ผลิตภัณฑ์ความงาม” ตกถนนไปเลย   ข่าวบอกว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถมือสองที่เคยครองอันดับ 9 ในปีที่แล้ว ขึ้นจากมาครองตำแหน่งแชมป์ในปีนี้ ด้วยสถิติเรื่องร้องเรียนถึง 2,255 กรณี (เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80)   สาเหตุเพราะปัจจุบันการจะซื้อรถใหม่ที่สิงคโปร์นั้นต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่อง “ใบรับรองการเป็นเจ้าของรถ” ที่สูงถึง 92,100 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ... โอ้แม่เจ้า ... นี่ยังไม่ได้รวมราคารถเลยนะ) ที่สำคัญเขาบอกว่าใบรับรองฯ ที่ว่านี้ยังสามารถแพงได้อีก   ก็คงมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อรถใหม่ได้ ส่วนครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางก็ต้องพึ่งรถมือสองซึ่งนอกจากจะเกเรอยู่บ่อยๆ แล้วยังจะฝ่าฝืนนโยบายลดมลพิษด้วยการพ่นควันดำกระจาย...ให้รัฐบาลปวดหัวอีกด้วย     เวียดนามร้องซีพีขายไข่ไก่แพง หลังจากชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามามากว่าราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี   กรมอุตสาหกรรมและการค้าแห่งนครโฮจิมินห์เรียกตัวแทนของซีพีเวียดนามเข้าชี้แจงนโยบายการตั้งราคาไข่ไก่ของบริษัทโดยด่วน   กรมฯ บอกว่า ไข่ที่นำเข้าตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วก็ยังเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ  ราคาอาหารไก่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แล้วเหตุใดซีพีท่านจึงขึ้นราคาเสียเล่า   ซีพีออกมายอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับราคาไข่ไก่ขึ้นหลายครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเทศกาลเต๊ดหรือตรุษจีนของเวียดนาม ที่ความต้องการสูงเป็นพิเศษ แต่สัญญาว่าต่อไปนี้จะตั้งราคาให้เป็นธรรมขึ้น   เกษตรกรขายไข่ให้ซีพีในราคาฟองละ 1550 ด็อง (2.2 บาท)  รวมค่าขนส่งค่าบรรจุหีบห่อแล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ด็อง (2.4 บาท) แต่ ณ วันที่ 15 มกราคม ซีพีเวียดนามขายที่ราคา 2,500 ด็อง (3.5 บาท)   ตามกฏหมายเวียดนาม การฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีความผิด ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 5 – 10 ของรายได้บริษัท   ปี 2011 ซีพีเวียดนามมีรายได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (44,670 ล้านบาท) //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 20 เรื่องที่ไม่อยากให้คุณเป็นไทยเฉย

ไข่ไก่ 2013 คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าราคาไข่ไก่ มันสามารถสะท้อนความสามารถในการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลได้จริงหรือ งานวิจัย*ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างราคาไข่ไก่ (เบอร์ 3 เพราะเป็นขนาดที่คนนิยมบริโภคมากที่สุด) กับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 ถึง เมษายน พ.ศ. 2554 และนำมาหาค่าความสัมพันธ์ระยะยาวด้วยวิธี Johansen Co-integration Test นั้น พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสามเลย ส่วนสาเหตุที่ไข่ไก่นาทีนี้ราคาขึ้นไปถึงฟองละ 5 บาทนั้น ท่านว่ามีอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องที่คาดเดาได้ เช่น แพงเพราะต้นทุนเพิ่ม ไม่ว่าจะค่าแรง หรือราคาอาหารสัตว์ (ข่าวบอกว่าอาหารเลี้ยงไก่นั้นราคาสูงกว่าไข่ไก่ถึงร้อยละ 76) บ้างก็ว่าไข่ไก่แพงเพราะแม่ไก่อ่อนแอเป็นโรค จึงออกไข่ได้น้อยลง จากที่เคยทำได้ 300 ฟองต่อปี ก็ลดลงมาเหลือ 280 ฟองเท่านั้น  ไหนจะปัจจัยเรื่องลมฟ้าอากาศที่ทำให้แม่ไก่ร้อนอกร้อนใจ ไข่ไม่ค่อยออกอีก นอกจากนี้การที่เนื้อไก่อินเทรนด์เพราะราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ทำให้แม่ไก่จำเป็นต้องเออลี่รีไทร์มาถูกขายเป็นไก่เนื้อเร็วขึ้น และการชะลอการนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่เนื่องจากไข่ไก่ล้นตลาดเมื่อปีก่อนก็มีส่วนทำให้มีแม่ไก่ในกระบวนการผลิตน้อยลงเช่นกัน นี่ยังไม่นับไปถึงเรื่องของการมีอำนาจเหนือตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายและการเลี้ยงไก่ที่ทำในรูปแบบของเกษตรพันธะสัญญาที่อาจจะน่าวิตกกว่าเรื่องของราคาไข่ด้วยซ้ำ   เราลองข้ามโลกไปดูราคาไข่ไก่ที่ต่างประเทศกันบ้าง ที่อังกฤษนั้นไข่ไก่ก็ราคาสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 เพราะผู้คนนิยมบริโภคไข่จากไก่ที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารดัดแปรพันธุกรรม ประกอบกับข้อกำหนดการเลี้ยงไก่ของสหภาพยุโรปที่ให้มีการปรับปรุงสภาพกรงไก่ สำหรับไก่ไข่ยืนกรง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย ลืมบอกไปว่า ... เดือนกันยายนนี้เตรียมพบกับรายการไข่ไก่ซูเปอร์เซลกันได้ เพราะมีแนวโน้มว่าไข่ไก่จะล้นตลาดกันอีกแล้วพี่น้อง!! งานวิจัยปี 2554 โดย กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ ธนพร ศรียากูล และ ชยงการ ภมรมาศ   ไม่อ้วนเอาเท่าไหร่ เด็กไทยทุก 10 คน จะมีอย่างน้อย 1 คนที่เป็นโรคอ้วน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามจากหลายฝ่ายในการช่วยกันหาวิธีจัดการกับปัญหาโฆษณาอาหารเด็ก วายร้ายที่มีส่วนทำลายสุขภาพเด็กไทย ความแรงของโฆษณาขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม ฟาสต์ฟู้ด สามารถสะกดจิตเด็กๆ ให้รบเร้าพ่อ – แม่จนต้องยอมควักตังค์ซื้อหามาเอาใจลูก และอาหารที่โฆษณาทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะหน้าจอทีวีนั้น ต่างอุดมไปด้วย น้ำตาล โซเดียม ไขมัน และพลังงาน ที่มากเกินพอดี ส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กทั้งฟันผุ เบาหวาน ความดันโลหิต แม้ประเด็นปัญหาโฆษณาอาหารสำหรับเด็กจะถูกยกให้เป็นเรื่องต้องจัดการเร่งด่วน แต่ในโลกของความจริง เด็กๆ ยังคงถูกกระตุ้นให้ตกเป็นทาสของอาหารทำร้ายสุขภาพอยู่ตลอดเวลา อย่างกรณีน้ำอัดลมที่มีผลสำรวจว่าร้อยละ 30ของเด็กอายุ 6 – 15 ปี ดื่มน้ำอัดลม 5 – 6 ขวดต่อสัปดาห์ และมีถึง ร้อยละ10 ที่ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน สภาพปัญหาสะท้อนว่ามาตรการที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดปริมาณการโฆษณา การควบคุมช่วงเวลาการออกอากาศ ห้ามแจกของเล่นหรือชิงโชคในขนม ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางที่ดีขึ้น สุดท้ายภาระก็คงตกอยู่ที่ผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกๆ หลานๆ อย่างใกล้ชิดแต่เพียงลำพังโดยขาดมาตรการสนับสนุนใดๆ จากรัฐ   BPA กับการเบี่ยงเบนทางเพศ การศึกษาวิจัยถึงอันตรายของ BPA ได้รับความสนใจและโต้เถียงกันยาวนานมาก กว่าจะเป็นที่ยอมรับในปี ค.ศ. 2009 ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะ Bisphenol A (BPA) เป็นส่วนประกอบสำคัญของพลาสติกและเรซิน ชนิด polycarbonate ที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประจำวัน ตั้งแต่เคลือบภายในกระป๋องอาหารจนถึงขวดนมทารก BPA เป็นสารรบกวนฮอร์โมนเพศ เอสโตรเจน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย การได้รับสาร BPA จึงอาจส่งผลทำให้ฮอร์โมนทางเพศในร่างกายเกิดความผิดปกติก่อให้เกิดการเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ และส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางเพศ โดยกลุ่มเสี่ยงสำคัญคือเด็กทารกและเด็กเล็ก ที่มีความสามารถในการกำจัด BPA ออกจากร่างกายได้ต่ำ หลายประเทศจึงสั่งห้ามผลิต นำเข้าและใช้ขวดนมที่ผลิตจากพลาสติกชนิด polycarbonate (PC) ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป แคนาดา สหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ยูเออี บางประเทศแม้ไม่ได้สั่งแบนแต่ผู้ผลิตพร้อมใจกันรับผิดชอบต่อสังคมโดยยกเลิกการผลิตและจำหน่ายขวดนมที่มีสาร BPA ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ประเทศไทยหน่วยงานรับผิดชอบหลักอย่าง อย. สคบ. และสมอ. ยังศึกษาข้อมูลอยู่ โดยคุณแม่ไทยที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยขวดนม ต้องใส่ใจใฝ่รู้กันเอาเอง เลี่ยงขวดนมพลาสติกได้ก็เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ให้ใช้ที่เขียนว่า BPA Free และรอมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคจากภาครัฐอย่างมีความหวังต่อไป   จับได้...แต่ไล่ไม่ทัน  ใครที่บ้านติดเคเบิลทีวีหรือดูโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียม คงจะสงสัยเหมือนกันว่า ไอ้ช่องทีวีที่มีให้ดูเป็นร้อยๆ ช่อง ทำไมโฆษณาส่วนใหญ่ถึงได้มีแต่พวกอาหารเสริม ไม่แก้โรคสารพัด ก็เสริมความงาม หรือไม่ก็เสริมสมรรถภาพทางเพศ  เรียกว่าเปิดไปช่องไหนก็เจอ จากที่ไม่สนใจพอดูไปนานๆ อาจจะเคลิ้มเผลอตัวสั่งซื้อมาใช้ไม่รู้ตัว บ้านเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องปัญหาโฆษณาอาหารเสริมที่เป็นปัญหาหลายฝ่าย ตั้งแต่ กสทช. สคบ. อย. สมาคมผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และสมาคมโฆษณาไทย แต่การทำงานเหมือนจะยังประสานกันไม่ลงตัว เคเบิลทีวีจึงคงเป็นแหล่งทำเงินของพ่อค้าอาหารเสริม หนึ่งจุดสำคัญที่ทำให้บรรดาพ่อค้าผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพโม้สรรพคุณยังคงโฆษณาขายของกันอย่างคึกคัก ก็เพราะบทลงโทษผู้ทำผิดที่แสนจะน้อยนิด คือปรับแค่ 30,000 บาท สำหรับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง เมื่อปีที่แล้ว อย. ได้ตรวจจับสินค้าที่เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงได้กว่า 1,000 รายการ มูลค่ามากกว่า 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอาหารเสริมซึ่งขึ้นทะเบียนกับ อย. ถูกต้อง แต่ว่าพอไปทำโฆษณากับโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง โม้กันไปใหญ่โต จริงๆ อย.เขาแค่ออกทะเบียนเพื่อรับรองว่ากินได้ไม่ตายเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นใครที่ยังปักใจเชื่อว่าอาหารเสริมที่มี อย. รับรองแล้วต้องเป็นของดี คงต้องคิดใหม่ทำใหม่   ทิ้งกันลง อีก 6 เดือนข้างหน้า  หากไทยเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการออกอากาศโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลได้ คาดว่าจะมีทีวี 20 ล้านเครื่อง ถูกทิ้งและกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อันตรายแก่ดาวโลก WEEE(Waste from Electrical and Electronic Equipments) เป็นศัพท์ที่หมายถึง ซากเครื่องใช้หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กในการทำงานที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน (off-spec) หรือหมดอายุการใช้งาน หรือล้าสมัย ซึ่งแบ่งเป็น 10 ประเภท ใหญ่ ๆ 1 ประเภทในนั้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยะจากทีวีเก่าเป็นสิ่งอันตรายมาก เพราะมีโลหะหนักทั้ง ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ฯลฯ ซึ่งหากได้รับการจัดการที่ไม่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ นอกจากขยะจากทีวีเก่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ แกดเจทยอดฮิต อย่าง โทรศัพท์ แทบเล็ต ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย  เพราะผู้บริโภคมักเบื่อง่าย อะไรใหม่ก็รีบคว้าไว้ ทิ้งของเก่าให้เป็นขยะ ในยุโรปขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มจำนวนขึ้นร้อยละ 3-5 ต่อปี  ซึ่งเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าขยะประเภทอื่นถึง 3 เท่า เอเชียเองก็ไม่น้อยหน้าชาวโลก เพราะมีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 12 ล้านตันต่อปี ข้อมูล  : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ , ส่วนของเสียอันตราย, สำนักจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ   ไม่มีสาย แต่มีเสี่ยง ข้อมูลล่าสุด ณ ปี ค.ศ. 2011 ระบุว่าร้อยละ 85 ของประชากรโลกมีโทรศัพท์มือถือใช้ (หกพันล้านเลขหมาย) และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา อันตรายจากการใช้โทรศัพท์มือถือนั้นเป็นที่ตระหนักกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และที่มีหลักฐานชัดเจนที่สุดคือการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเนื้องอกในสมองในเด็กเล็ก แต่ก็มีงานวิจัยที่ได้ข้อสรุปออกมาในทางตรงข้ามเช่น งานวิจัยของสมาคมโรคมะเร็งเดนมาร์คที่พบว่าอัตราการเกิดมะเร็งของกลุ่มตัวอย่างไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงก่อนมีการใช้โทรศัพท์มือถือ แม้ปัจจุบันมีมาตรการป้องกันอันตรายจากความร้อนที่ปล่อยออกมาจากเครื่องโทรศัพท์ เช่น มาตรฐาน ICNIRP (The International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection) ที่ควบคุมระดับการแผ่คลื่นแม่เหล็กฯ จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อของมนุษย์มีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมารองรับ อันตรายอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในระดับดีเอ็นเอ และสิ่งที่น่ากลัวกว่าสัญญาณจากเครื่องโทรศัพท์ คือสัญญาณจากเสาส่งที่ถูกปล่อยออกมาตลอดเวลา แถมเสาสัญญาณเหล่านี้ อยู่ดีๆ ก็ผุดขึ้นมาแบบไม่ถามชาวบ้านชาวช่องเสียด้วย ถ้าจำกันได้ เมื่อต้นปีชาวบ้านที่พะเยาได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้ประกอบการย้ายเสาสัญญาณออกไปตั้งห่างจากตัวหมู่บ้านอย่างน้อย 400 เมตร เรื่องจบลงที่ผู้ประกอบการถูกปรับ 9,000 บาท แต่ไม่มีการสั่งย้ายเสาแต่อย่างใด การดูแลจัดการเรื่องนี้ยังไม่ชัดเจน แต่ความต้องการสัญญาณคุณภาพ ความเร็วในการรับ/ส่งข้อมูล (ซึ่งเราเชื่อว่าจะมาพร้อมกับระบบ 3G) ก็ทำให้ผู้ประกอบการตอบสนองด้วยการเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณขึ้นอีก ข้อมูลจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ระบุว่าขณะนี้มีจำนวนสถานีฐานของผู้ประกอบการเพื่อรองรับบริการ 3G ทั้งหมด 3,650 สถานีทั่วประเทศ แยกเป็น AIS 3,512 สถานี  DTAC 130 สถานี และTRUE Move H อีก 8 สถานี ว่าแต่เราสามารถลดการเพิ่มจำนวนเสาสัญญาณ ด้วยการให้ผู้ประกอบการใช้เสาสัญญาณร่วมกันเหมือนในบางประเทศได้หรือไม่? ที่ผ่านมาผู้ประกอบการให้เหตุผลเรื่องความคล่องตัว จึงต้องต่างคนต่างตั้ง แล้วใครจะช่วยไขข้อข้องใจผู้บริโภคได้บ้าง?   ค้าปลีก หลังจากยินข่าวว่าบริษัทเจ้าของกิจการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของไทยเข้าซื้อกิจการห้างค้าส่งขนาดใหญ่แล้ว หลายคนอาจวิตกว่านี่อาจหมายถึงการใช้อำนาจผูกขาดที่ทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง เพราะสองเจ้านี้รวมกันก็มียอดขายเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายจากกิจการค้าปลีกค้าส่งในประเทศแล้ว ข่าวดีคือคุณไม่จำเป็นต้องตกใจมากนัก เพราะเขาเป็นห้างคนละประเภทที่มีลูกค้าคนละกลุ่ม ข่าวร้ายคือทางเลือกของเราถูกจำกัดมานานแล้ว ปัจจุบันเรามีกิจการค้าปลีก 3 รายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง และทั้งหมดถือว่าเข้าข่าย “มีอำนาจเหนือตลาด” ตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 แต่ตามกฎหมายแล้วห้างเหล่านี้ยังไม่ได้กระทำความผิดใดๆ จนกว่าจะใช้อำนาจดังกล่าวกีดกันคู่แข่งไม่ให้เข้าสู่ตลาดได้ กระทรวงพาณิชย์จึงทำได้แค่จับตาดูอย่างใกล้ชิด สิ่งที่น่าห่วงไม่แพ้เรื่องของการผูกขาดคือ เรายังไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องการค้าที่เป็นธรรมในขณะที่ห้างค้าปลีกเหล่านี้กำลังขยายสาขาออกไปอย่างต่อเนื่อง  ด้วยอำนาจการต่อรองสูง ผู้ประกอบการจึงสามารถกำหนดราคารับซื้อที่ต่ำมากๆ จากเกษตรกรหรือผู้ผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นผลต่อความยั่งยืน เพราะบรรดาซัพพลายเออร์เหล่านี้อาจถูกบีบจนไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ หันไปดูรอบบ้านในอาเซียนกันบ้าง ข้อมูลจากธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่าประเทศไทยเราครองแชมป์ด้วยสถิติอัตราส่วนระหว่างจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ 370 ร้านต่อประชากรในเขตเมือง 1 ล้านคน ในขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียตามมาติดๆ ที่ 293 และ 208 ร้าน  ส่วนเวียดนาม (ซึ่งมีประชากรมากกว่าไทย 1.2 เท่า) นั้นมีจำนวนร้านค้าปลีกสมัยใหม่น้อยกว่าไทยถึง 50 เท่า   แข่งกันขึ้นราคา ผ่านปี 2556 มาได้ครึ่งทาง สินค้าต่างๆ พาเหรดเดินหน้าขึ้นราคากันอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ ที่ทยอยขึ้นมาแบบต่อเนื่อง ราคาตั๋วรถไฟฟ้า BTS ที่ปรับราคาขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา อ้อ ค่าทางด่วนด้วย ไม่นับรวมพวกสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง หมู เห็ด เป็ด ไก่ พืชผักผลไม้ ที่ขึ้นเอาๆ จนผู้บริโภคอย่างเราได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ดูเงินหายไปจากกระเป๋าแบบทำอะไรไม่ได้ แถมแว่วๆ ว่าพอถึงเดือนกรกฎาคม ราคาก๊าซหุงต้มจะปรับเพิ่มขึ้นอีก กระทรวงพาณิชย์ออกมายอมรับตรงๆ ว่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้าราคาแพงเข้ามาที่หน่วยงานเป็นจำนวนมาก ขณะที่กรมการค้าภายในที่รับหน้าที่ดูแลราคาสินค้า ก็ถึงกับสะอึกเมื่อเห็นผลการสำรวจราคาสินค้า ที่ปรับขึ้นแทบจะทุกอย่าง โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ราคาเขยิบขึ้นมากสุดที่ประมาณ 13.14% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มองแง่ดี คราวนี้ล่ะเป็นโอกาสได้ผอมสมใจ ไม่ต้องเปลืองงบประมาณรณรงค์ลดอ้วนกันแล้ว   ปรับราคาก๊าซหุงต้ม รัฐบาลเอาแน่ หลังงึกๆ งักๆ กันมาได้ครึ่งปี 2556 นี้แล้ว กระทรวงพลังงานก็ประกาศเอาแน่ กรกฎาคมนี้ ราคาก๊าซหุงต้มต้องขึ้นแน่ๆ  จากที่ประกาศเสียงดังไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์/กก. จากระดับปัจจุบันที่ 18.13 บาท/กก. ให้ขึ้นไปเท่ากับราคาก๊าซ LPG ในภาคขนส่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 21.38 บาท/กก. แล้วค่อยพิจารณาการปรับขึ้นราคาทั้งภาคครัวเรือน และภาคขนส่งไปพร้อม ๆ กัน ให้ถึง 24.82 บาทต่อกิโลกรัม ถามว่ากระทบกับประชาชนไหม โถ จะถามทำไม? ไม่กระทบสิแปลก แม้รัฐจะพยายามหาวิธีช่วยบรรเทาปัญหาไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินให้กับผู้ใช้ก๊าซ สูงสุดไม่เกินเดือนละ 36 บาท หรือใช้วิธีแจกบัตรส่วนลดเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มในราคาเดิมให้กับพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่-แผงลอย ก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากเท่าไหร่ เพราะเป็นแค่มาตรการระยะสั้น หลอกให้สบายใจมากกว่า รัฐจะเอาเงินที่ไหนมาชดเชยให้ได้มากมาย ข่าวว่าทำโครงการอื่นขาดทุนไปหลายแสนล้านแล้ว ความจริงถ้าขึ้นราคาแล้วผลตอบแทนมันกลับมาช่วยคนส่วนใหญ่ในประเทศ คงไม่อึดอัดเท่ากับรู้ข้อมูลว่า ราคาก๊าซที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมดจะเป็นรายได้ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ผ่านทางธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมันที่ ปตท. เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เหมาะแล้วที่เขาออกมาตั้งคำถามกันมากมายว่า กระทรวงพลังงานไทยเพื่อใคร   นิยมเป็นหนี้ ? นอกจากเราจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าของ “บ้านหลังแรก” และ “รถคันแรก” ของขวัญจากรัฐบาลชุดนี้แล้ว คนไทยยังได้ของแถมสุดพิเศษอีกหนึ่งชิ้น นั้นคือ “หนี้ก้อนแรก” ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยที่รวบรวมจากธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ รายงานตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ของประเทศไทยในปี 2555 ภาระหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 439,490 บาท จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดราวๆ 20 ล้านครัวเรือน โดยหนี้สินครัวเรือนทั้งระบบคิดเป็นเงินถึง 8,818,217 ล้านบาท ตัวเลขหนี้ครัวเรือนนี้ขึ้นทุกปีและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกเรื่อยๆ แม้จะให้ภาพของการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น แต่ก็เป็นไปในลักษณะการกู้ยืมกับสถาบันการเงิน เป็นการสร้างหนี้ และอาจส่งผลเสียหากไม่มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี ไม่สามารถชำระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นแบบนั้นระบบเศรษฐกิจทั้งระบบก็จะเจอปัญหา ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ หนี้ที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นหนี้เสีย สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้แสดงตัวเลขสัดส่วนรายได้ทั้งประเทศและสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในปี 2555 ที่ผ่านมา โดยรายได้ทั้งประเทศขยายตัวที่ 7.3% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัว 21.6% ชี้ให้เห็นว่าคนไทยเราก่อหนี้สูงกว่ารายได้ถึง 3 เท่า   TPP กับผู้บริโภค เดือนกรกฎาคมนี้ผู้แทนจาก 12 ประเทศในทวีปอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก จะมีการเจรจาข้อตกลง  Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก รอบที่ 18 กันที่ประเทศมาเลเซีย สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้แสดงความห่วงใยจากมุมมองของผู้บริโภคดังนี้ ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจะยกระดับการคุมครองลิขสิทธิ์ให้เข้มกว่าที่องค์กรการค้าโลกยอมรับ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันน้อยลง ในขณะที่ราคาสินค้าลิขสิทธิ์จะเพิ่มสูงขึ้น และงานสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติอาจไม่ได้รับการเผยแพร่ในเวลาอันควร ความเป็นส่วนตัว การลดระดับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวในการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ท หมายถึงผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เพราะข้อมูลเหล่านี้อาจถูกนำไปเก็บไว้ในประเทศที่ไม่เข้มงวดเรื่องนี้ เช่นสหรัฐอเมริกา (ที่เพิ่งจะเป็นข่าวไปว่า แอบเก็บข้อมูลโทรศัพท์และการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวบ้าน) เป็นต้น อาหารปลอดภัย ความตกลงนี้อาจมีผลต่อการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อาหารดัดแปรพันธุกรรม ในประเทศต่างๆ เพราะมีตัวอย่างแล้วว่าข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นอุปสรรคในการห้ามนำเข้าสินค้าที่ตนเองรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เช่นกรณีสหภาพยุโรปถูกองค์กรการค้าโลกลงโทษ เพราะห้ามนำเข้าเนื้อวัวปนเปื้อนฮอร์โมน เพราะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ชัดถึงอันตรายจากการใช้ฮอร์โมนดังกล่าว นอกจากนี้บริษัทยังสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ในศาลระหว่างประเทศ เช่นที่บริษัทฟิลลิป มอริส กำลังฟ้องรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างออสเตรเลียกับฮ่องกง กรณีที่ออสเตรเลียออกกฎหมายให้ซองบุหรี่ต้องเป็นซองที่ไม่มีสีสันดึงดูดใจ   หลัก(ไม่)ประกันสุขภาพ สุขภาพของคนไทยกว่า 50 ล้านคน ฝากไว้กับระบบหลักประสุขภาพถ้วนหน้า จากเดิมที่เป็นความหวังให้คนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรายได้น้อยให้มีโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลอย่างมีมาตรฐานและเท่าเทียม แต่วันนี้ระบบหลักประสุขภาพถ้วนหน้ากำลังส่งสัญญาณที่ชวนให้ต้องเป็นห่วง กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องดำเนินงานโดยถูกปัญหาหลายอย่างรุมเร้า ที่ชัดที่สุดคือเรื่องเงิน ที่โรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ในระบบหลักประกันถ้วนหน้าต่างต้องเจอกับภาวะขาดทุน เนื่องจากเงินกองทุนที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคนจ่าย ไม่เพียงพอกับภาระที่โรงพยาบาลต้องรับผิดชอบ แม้จะมีการให้ผู้เข้ารับการรักษากลับมาร่วมจ่าย 30 บาทอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่ก็คงไม่ช่วยแก้ปัญหาได้มากนักเพราะเป็นการเรียกเก็บแบบสมัครใจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านคนทำงานที่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ารับบริการ รวมทั้งระบบข้อมูลสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง อีกปัญหาที่สำคัญคือความไม่โปร่งใสของผู้บริหารหลักประกันสุขภาพที่ส่งผลต่อการบริหารงานทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยยังคงเต็มไปด้วยคำถามถึงความจริงใจจริงจังในการดูแลสุขภาพของคนไทย งานหนัก คนไข้มาก ยังเป็นอีกปัจจัยที่เร่งให้บุคลากรด้านสาธารณสุขในภาครัฐ หนีไปซบอกเอกชนที่จ่ายค่าตอบแทนสูง และงานหนักน้อยกว่า   การแพทย์เชิงท่องเที่ยว ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์เชิงท่องเที่ยวของไทยเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดสุดๆ ถึงร้อยละ 13 ต่อปี จนอาจกล่าวได้ว่าไทยคือหนึ่งในผู้นำของธุรกิจนี้ จากข้อมูลประมาณการของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุ จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ารับบริการการรักษาพยาบาลในประเทศไทย คือ 1.98 ล้านคน ปี 2553 และ 2.24 ล้านคน ปี 2554 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี  2547 ที่มีประมาณ 1.1 ล้านคน นับว่าเพิ่มเป็นเท่าตัวในเวลาเพียงไม่นาน โดยร้อยละ 60 เป็นคนต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ และร้อยละ 30 เป็นกลุ่มที่ตั้งใจเดินทางมารับบริการทางการแพทย์โดยเฉพาะ การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลอำนวยความสะดวกเต็มที่  ล่าสุดคือการยกเว้นวีซ่าให้กับคนไข้และญาติที่จะเข้ามารักษาตัวในเมืองไทย สำหรับ 6 ประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ คูเวต บาห์เรน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วยเป็นลูกค้ากระเป๋าหนักและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำแล้วสำเร็จ รัฐยังเล็งเป้าเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับประเทศที่มองว่าน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าชั้นดีอื่นๆ ด้วย จากการแพทย์เชิงท่องเที่ยวที่นำรายได้เข้าประเทศอย่างมากมายนี้ รัฐบาลจึงเร่งดำเนินโครงการเมดิคัลฮับอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดึงเอาโรงเรียนแพทย์เข้ามาเปิดแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนด้วย หลายฝ่ายเลยเกิดความกังวลขึ้นว่า ต่อไปประเทศไทยจะเกิดการรักษาสองมาตรฐานขึ้นหรือไม่ ระหว่างคนไทยที่ใช้ระบบประกันสุขภาพที่ยังมีปัญหา กับคนต่างชาติที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทรัพยากรทางการแพทย์ที่รัฐไทยและคนไทยเป็นผู้ลงทุน   “แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” บทเรียนราคาแพง ผ่านมา 1 ปีกว่า การจัดการแก้ปัญหาเรื่องแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส มาถึงตรงที่คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบแล้วว่าแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส มีการกระทำที่เข้าข่ายกระทำความผิด ฐานฉ้อโกงประชาชน เพราะในช่วงเวลาที่กิจการมีปัญหาถูกประกาศล้มละลายจนต้องปิดให้บริการในหลายสาขา แต่ก็ยังพบว่าบริษัทได้โอนเงินออกไปต่างประเทศ โดยระหว่างที่ปิดให้บริการ แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส ก็ไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบใดๆ ซ้ำยังมีการหักเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จากนี้ ป.ป.ง. ก็จะร่วมมือกับ สคบ. และกรมบังคับคดีเพื่อติดตามยึดทรัพย์นำมาเฉลี่ยชดเชยให้กับผู้เสียหายที่มีมากกว่า 1,700 ราย รวมความเสียหายแล้วสูงถึง 50 ล้านบาท กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส ถือเป็นอุทาหรณ์ที่ดี สำหรับคนที่กำลังคิดจะทำสัญญาใช้บริการต่างๆ ที่ต้องมีการจ่ายเงินด้วยวงเงินสูงๆ และผูกพันสัญญากันระยะยาว เพราะเงินที่จ่ายไป ไม่ว่าจะด้วยความเชื่อมั่นในชื่อเสียงของเจ้าของบริการ หรือถูกชักจูงหว่านล้อมจนยอมจ่าย เงินของเราอาจหายไปในพริบตาหากเจอผู้ประกอบการที่ไร้จริยธรรม   แบนสารเคมีการเกษตร ความพยายามอยู่ที่ไหน ไทยเรานำเข้าสารเคมีการเกษตรสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือประมาณ 520,000 ตัน คิดเป็นเงินมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยสารเคมี 4 ชนิด คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และ อีพีเอ็น ซึ่งจัดเป็นกลุ่มที่อันตรายร้ายแรงรวมอยู่ในนั้นด้วย จากความพยายามของกลุ่มนักวิชาการและเกษตรกรที่รวมตัวกันเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีเกษตรอันตราย 4 ชนิดข้างต้น ที่ผ่านมาเกือบใกล้จะเป็นความจริงแล้ว หากไม่ถูกคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานบอก “ไม่รับรองการขอยกเลิกการขึ้นทะเบียน” ไปเสียก่อน ท่านคณะกรรมการฯ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายท่านไม่เชื่อข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรจัดทำมาประกอบการเสนอให้ยกเลิก แถมยังให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นใหม่เพื่อให้ภาคเอกชนบริษัทนำเข้าสารเคมีนำข้อมูลมาแย้งกับข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร แล้วมีหรือที่บริษัทนำเข้าสารเคมีจะทำข้อมูลเพื่อให้สินค้าของตัวเองถูกแบน เป็นเสมือนการเปิดช่องให้บริษัทสารเคมียังขายสินค้าได้ต่อไปในระหว่างที่ยังรอการนำเสนอข้อมูล เอาน่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น กลุ่มรณรงค์ยังคงต้องทำงานกันต่อไปเพื่อผลักดันให้เกิดการยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีอันตราย ซึ่งถ้าการยกเลิกการขึ้นทะเบียนเป็นผลเมื่อไหร่ ก็หมายถึงผู้บริโภคจะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารเคมีมากขึ้นไปด้วย   แร่ใยหิน แม้ปัจจุบันไทยได้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินชนิดต่างๆ ไปหมดแล้ว แต่ตัวที่ร้ายที่สุด คือแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ หรือ ไวท์ แอสเบสตอส ยังมีวางจำหน่ายอยู่ ซึ่งอาจจะมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดอย่างน้อย 1,295 คนต่อปี จากแร่ใยหิน หากยังฝืนใช้กันต่อไป มีหลักฐานทางการแพทย์ชิ้นใหม่ๆ ออกมาสนับสนุนอยู่ตลอดเวลาว่า แร่ใยหิน ชนิดไครโซไทล์ (Chrysotile)  เป็นส

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point