ฉบับที่ 187 8 ปี บทเรียนการใช้กฎหมายคดีผู้บริโภค

ความเป็นมา            ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องคุณภาพสินค้าหรือบริการ  และขาดอำนาจในการต่อรอง เช่นในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เท่าเทียม ตลอดจนไม่อาจเท่าทันความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจ นั่นทำให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น กระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภค ที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตน ทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง จึงทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ขึ้น เพื่อตามให้ทันเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการแก่ผู้บริโภค โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น สังเกตได้จากการที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดเจนให้ศาลมีอำนาจในการเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร โดยมีหลักการที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการดำเนินคดี คือ ความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว และเป็นธรรมขณะเดียวกันยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากการบังคับใช้กฎหมาย พบว่ายังมีปัญหาข้อขัดข้องหลายประการทั้งปัญหาด้านข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างแท้จริง อันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้  ที่มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรมประเทศไทยได้บังคับใช้กฎหมาย พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว มีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่น่ากังวล คือ คนที่นำคดีมาฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ประกอบธุรกิจ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งสะท้อนว่า กฎหมายมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ที่ให้มีระบบวิธีพิจาณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคธรรมดาสถานการณ์การฟ้องคดีผู้บริโภค            หลังจากที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2551 นั้น จากข้อมูลสถิติคดีของสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551  - 2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคขึ้นสู่ศาลจำนวน  2,794,208 คดี  ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 ของคดีผู้บริโภค ที่เข้าสู่สารบบคดีของศาลเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค  โดยเฉพาะในปี 2558 มีคดีผู้บริโภคที่ขึ้นสู่ศาลทั่วราชอาณาจักร จำนวน 592,561 คดี จากคดีแพ่งทั้งหมด 847,551 คดี หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของคดีแพ่งทั้งหมด   นอกจากนี้ในคดี ผู้บริโภคที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลในปี พ.ศ.2558 นั้น  ประเภทข้อหาแห่งคดี 5 อันดับแรกของข้อมูลการฟ้องคดี  เป็นคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภค มีดังนี้สินเชื่อบุคคล / กู้ยืม / ค้าประกัน จำนวน 250,527 ข้อหาบัตรเครดิต จำนวน 99,822 ข้อหากองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จำนวน 92,775 ข้อหาเช่าซื้อ (รถยนต์) จำนวน 73,071 ข้อหาเช่าซื้อ (รถจักรยานยนต์) จำนวน 5,194 ข้อหาจากสถิติข้อหาแห่งคดี หรือการฟ้องคดีผู้บริโภคของศาล จะเห็นได้ชัดเจนว่า การฟ้องคดีผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเป็นจำเลย เพื่อบังคับให้ผู้บริโภคชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ  จึงทำให้มีหลายคนวิตกว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจาณาคดีผู้บริโภคฯ จะตกเป็นเครื่องมือให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในการทวงหนี้ และทำให้คดีแพ่งที่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มีมากเกินไป อย่างที่เรียกว่า “คดีล้นศาล” ซึ่งส่งผลกระทบดังนี้  1 ผลกระทบต่อความรวดเร็วในการดำเนินคดี            การมีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภค เข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และการที่กฎหมายคดีผู้บริโภคกำหนดให้ศาลต้องนัดพิจารณาภายใน 30 วันนับแต่ยื่นฟ้อง เพื่อจะเป็นวิธีพิจารณาพิเศษที่ทำให้คดีเสร็จไปโดยเร็วนั้น ปรากฏว่าในทางปฏิบัติ ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีคดีอื่นที่ไม่ใช่ผู้บริโภคเข้าสู่ระบบคดีผู้บริโภคของศาลจำนวนมาก ทำให้วันนัดของศาลเต็ม จึงไม่อาจทำตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนดไว้ได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี เจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ไม่อาจบรรลุผลได้เต็มที่2  ผลกระทบต่อผู้บริโภคในการต่อสู้คดี            เนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ได้นำระบบไต่สวนมาใช้ กล่าวคือศาลสามารถไต่สวนหาความจริง โดยเรียกบุคคลหรือพยานหลักฐานได้เอง   แต่ที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ศาลจะใช้อำนาจในส่วนนี้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภค เช่น ฟ้องให้ชำระหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อ กู้ยืมเงิน ซึ่งคดีลักษณะดังกล่าว จะมีการไปฟ้องยังภูมิลำเนาของผู้บริโภคที่โดยมากมักไม่ได้อยู่อาศัยเนื่องจากเข้ามาทำงานในกรุงเทพ หรือจังหวัดอื่น ทำให้เสียโอกาสต่อสู้คดี อีกทั้งศาลก็จะถือข้อเท็จจริงตามที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอ โดยไม่ได้ใช้อำนาจไต่สวนคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบเข้ากับการที่มีคดีอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้มากเกินไป ทำให้บทบาทของศาลในการไต่สวนคดีทำได้ไม่เต็มที่  มีส่วนทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีผู้บริโภคอื่นไปด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ            สำหรับสาเหตุในเรื่องการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาคดีได้อย่างจริงจังหลายประการนั้น  จากการเสวนาแลกเปลี่ยนในหลายเวทีและจากการสังเคราะห์ข้อมูล ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่าปัญหาโดยสรุปมีดังนี้ยังต้องใช้ทนายความในการดำเนินคดี แม้ว่ากฎหมายจะบทบัญญัติให้ผู้บริโภคที่จะฟ้องคดีสามารถฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ยื่นฟ้องคดีด้วยวาจา โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้บันทึกและจัดทำคำฟ้องให้ รวมถึงการฟ้องคดีด้วยเอกสาร ไม่ต้องมีทนายความเป็นผู้จัดทำคำฟ้องให้ โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็นผู้ตรวจเอกสารและจัดทำคำฟ้องให้เช่นกัน แต่กระบวนการดังกล่าวก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกเบื้องต้นเท่านั้น เพราะเมื่อฟ้องคดีและศาลรับคำฟ้องไว้แล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องจัดหาทนายความเพื่อมาดำเนินคดีแทน ในคดีเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะคดีที่มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อน เช่น คดีทางการแพทย์  รวมถึงการจัดทำคำร้อง คำแถลง ต่างๆ เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีด้วยตนเองได้การนิยามของคำว่า “คดีผู้บริโภค” และ “ผู้บริโภค” ไม่ชัดเจน ทำให้นอกจากผู้บริโภคจะมีสิทธิฟ้องคดีผู้บริโภคแล้ว กฎหมายยังให้สิทธิผู้ประกอบการฟ้องคดีผู้บริโภคได้ด้วย ก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาล เนื่องจากคดีส่วนมากที่เข้ามาอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัตินี้เป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจประเภทสถาบันการเงิน ไฟแนนซ์ เป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคเพื่อขอให้ชำระหนี้ ทำให้มีปริมาณคดีผู้บริโภคกลุ่มนี้ขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินคดี และทำให้ศาลและเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ตามบทบาทได้อย่างไม่เต็มที่ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคให้การ บังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้วางไว้เจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความมุ่งหมายที่จะให้ ศาลเข้ามามีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ ในคดีแพ่งมากขึ้นเพื่อลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันในการ ต่อสู้คดีระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ โดยการวางแนวทางการพิจารณาไปในทางระบบไต่สวนมากขึ้น จึงได้กำหนดให้มี "เจ้าพนักงานคดี” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือศาลให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมาย กำหนดไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการสืบหาพยานหลักฐานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี   อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีก็ยังไม่เพียงพอ คือ ในปัจจุบันมีเจ้าพนักงานคดีประจำอยู่ที่ศาลแห่งละหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เพียงพอ เป็นเหตุให้ไม่มีเจ้าพนักงานคดีมากพอที่จะตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการคดี ซึ่งในทางปฏิบัติเจ้าพนักงานคดีที่ถูกส่งไปประจำศาลในจังหวัดต่างๆกลับถูกใช้ให้ไปทำงานในด้านธุรการด้านอื่นๆ โดยไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีอย่างแท้จริง ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่กฎหมายไม่ได้ยกเว้น แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้บริโภคฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งปวง แต่ในทางปฏิบัติพบว่า การเสียค่าธรรมเนียมฟ้องคดี หากเป็นผู้บริโภคที่ฟ้องคดีนั้นค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นเกือบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีอย่างมากสำหรับการเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้สะดวกมากขึ้น แต่นอกจากค่าธรรมเนียมฟ้องคดีแล้ว ในกระบวนพิจารณาคดียังมีค่านำหมาย ค่าส่งคำคู่ความ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ พบว่ายังมีการลักลั่นของศาลแต่ละแห่ง ที่ยังคงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับผู้บริโภคที่ฟ้องคดีอยู่ศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและขาดความชำนาญในการไต่สวน พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ศาลใช้ระบบไต่สวนในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ศาลจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นหาความจริง มีอำนาจที่จะให้มีการรวบรวมพยาน เอกสาร สืบพยาน หรืองดสืบพยาน ไม่ใช่รอพยานหลักฐานจากคู่ความ การกำหนดกรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ เกี่ยวกับการสืบพยานค่อนข้างยืดหยุ่น เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง ระบบไต่สวนจึงเหมาะสมกับคดีที่ คู่ความมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก เช่น คดีผู้บริโภค นี้ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่าศาลยังใช้อำนาจหรือมีบทบาทในการไต่สวนในคดีผู้บริโภคยังไม่เต็มที่ เนื่องด้วยศาลยังมีทัศนคติและความเคยชินอยู่กับจารีตปฏิบัติในระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน พบได้ในหลายกรณีที่ศาลเลือกจะไม่ใช้อำนาจในส่วนนี้ แต่จะถามหาทนายความจากผู้บริโภคเพื่อให้มาดำเนินคดีแทน หากเป็นเช่นนี้ผู้บริโภคก็ยังคงต้องว่าจ้างทนายความ และทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายยังไม่อาจเป็นจริงได้ บทเรียนการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกว่า 8 ปี ที่มีคดีผู้บริโภคเข้าสู่สารบบของศาลทั่วราชอาณาจักรมากถึงกว่า  2.8 ล้านคดี แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคเสียมากกว่านั้น ย่อมน่าสนใจว่าทำไมผู้บริโภคจึงไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีเท่าที่ควร เมื่อได้นำข้อมูลจากการช่วยเหลือผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมาวิเคราะห์ ก็พบว่าเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น  ความเสียหายที่ได้รับเมื่อคิดเป็นมูลค่านั้นเล็กน้อยเกินไป ไม่คุ้มค่าทนาย ค่าใช้จ่าย  หรือความกังวลว่า จะมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานานในการดำเนินคดี สิ่งเหล่านี้ย่อมสะท้อนว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีกฎหมายเพื่อช่วยให้การฟ้องคดีไม่ยุ่งยากเช่นในอดีตจากสถิติการให้ความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในการช่วยดำเนินคดีให้ผู้บริโภคที่ถูกผู้ประกอบธุรกิจละเมิดสิทธิ ตั้งแต่ปี 2551 –  2558  พบว่า มีคดีผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือ จำนวน 289 คดี แบ่งเป็นคดีชุดรถโดยสารสาธารณะ    จำนวน    183     คดีคดีประกันภัย                    จำนวน     52     คดี       คดีผิดสัญญา                    จำนวน     31     คดีคดีละเมิด                        จำนวน     23     คดีและแม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพียงองค์กรเดียวที่มีนโยบายและความสามารถเพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิในการฟ้องคดีผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนมากถึง 289 คดี  โดยเป็นคดีที่หลากหลาย เช่น รถยนต์ชำรุดบกพร่องผู้ประกอบธุรกิจผิดสัญญา กรณีอาคารชุด และบ้านจัดสรร เรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับปริมาณคดีผู้บริโภคทั้งหมดของศาลนับตั้งแต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ต้องถือว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ข้อเสนอ            แนวทางต่อไปนี้อาจช่วยในการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้แก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค” และ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ให้ชัดเจน  ปัญหาหลายประการที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการดำเนินคดี การทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดี หรือการทำหน้าที่ของศาลในการไต่สวนคดี มีสาเหตุประการหนึ่งคือ มีคดีที่ไม่ควรจัดว่าเป็นคดีผู้บริโภคเข้ามาอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงสมควรจัดคดีเหล่านี้ให้ไปอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามเดิม ซึ่งได้แก่ คดีที่ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องทวงหนี้จากผู้บริโภคโดยไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคแต่อย่างใด และคดีเกี่ยวกับสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันเพื่อประโยชน์ทางการค้าของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย การแก้ปัญหานี้อาจกระทำได้โดยการแก้ไขคำนิยาม “คดีผู้บริโภค” , “ผู้บริโภค”   และ “ ผู้ประกอบธุรกิจ” ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือโดยการออกกฎหมายแก้ไขคำนิยามเหล่านี้เพิ่มและพัฒนาศักยภาพของเจ้าพนักงานคดี การมีเจ้าพนักงานคดีไม่เพียงพอและไม่มีประสบการณ์นั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดทำคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ ให้แก่เจ้าพนักงานคดี เพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างเจ้าพนักงานคดี การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอควรจัดให้มีการเผยแพร่แนวคำวินิจฉัยของศาล เพื่อจะได้พิจารณาได้ว่าคดีใดควรเป็นคดีผู้บริโภค เพราะการได้ทราบแนวคำวินิจฉัยจะทำให้เกิดความชัดเจน และทำให้คดีที่จะนำขึ้นสู่การวินิจฉัยลดน้อยลง ซึ่งก็จะสามารถแก้ไขปัญหาความล่าช้าของคดีได้บ้างให้ศาลฎีกาออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน ในหลายคดีที่ผู้บริโภคชนะในชั้นอุทธรณ์แต่คดีก็ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจมักจะขออนุญาตฎีกา ทำให้คดีล่าช้าไม่เสร็จไปโดยเร็ว ดังนั้นจึงเสนอให้ศาลฎีกา ออกข้อกำหนดประธานศาลฎีกา กำหนดเวลาพิจารณาคำสั่งการขออนุญาตฎีกาที่ชัดเจน เช่น ภายใน 60 หรือ 90 วัน เพื่อให้คดีผู้บริโภคเสร็จไปโดยเร็วพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมและการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค แม้กระบวนพิจารณาของคดีผู้บริโภคจะอยู่บนพื้นฐานของระบบไต่สวน แต่ในทางปฏิบัติผู้พิพากษาส่วนใหญ่มีภาระต้องพิจารณาทั้งคดีผู้บริโภค คดีแพ่งทั่วไปและคดีอาญาด้วย และยังเคยชินอยู่กับการพิจารณาคดีที่อยู่บนพื้นฐานของระบบกล่าวหาและยังขาดความชำนาญในการไต่สวน โดยศาลไม่ได้ใช้บทบาทในเชิงไต่สวนแต่กลับถามหาทนายความของฝ่ายผู้บริโภค             ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ในเชิงการบริหาร ด้วยการพัฒนาการบริหารงานของศาลยุติธรรมโดยแยกออกตามสายงานตามระบบการพิจารณาคดีแบบกล่าวหาและแบบไต่สวน เพื่อให้ผู้พิพากษามีความชำนาญและไม่เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่ และการจัดทำคู่มือตุลาการในการปฏิบัติหน้าที่ในคดีผู้บริโภค หรือการจัดตั้งศาลแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อการพิจารณาคดีผู้บริโภคไปในทิศทางเดียวกันข้อมูลรศ. ดร. อนันต์ จันทรโอภากร. “ปัญหาข้อขัดข้องการบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 42,ฉบับที่ 3 (2556)

อ่านเพิ่มเติม >