ฉบับที่ 275 ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน

        ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คงจำกันได้ว่าคนไทยเราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพง และน่าจะบ่นกันมากขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปเพราะว่าการใช้ไฟฟ้าจะพุ่งตามอุณหภูมิของอากาศที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าของปีนี้จะสูงกว่าของเมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงถัดไปก็น่าจะสูงขึ้นกว่านี้อีก เพราะถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่รัฐบาลขอให้จ่ายแทนผู้บริโภคไปพลางก่อน ขอย้ำนะครับว่า ค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ทั้งหมดของค่าไฟฟ้า แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ กฟผ. จ่ายแทนเราไปก่อน อีกไม่นานเขาก็ต้องเรียกคืน         เรามาดูภาพรวมกันสักนิดครับ เมื่อปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้ารวมกัน 8.2 แสนล้านบาท แต่ในปีล่าสุดคือ 2566 ข้อมูลมีแค่ 9 เดือนแรกของปีเท่านั้น แต่ถ้าคิดแบบบัญญัติไตรยางค์ ค่าใช้จ่ายของทั้งปีก็จะประมาณ 9.6 แล้นล้านบาท คือสูงกว่าของปีก่อนถึง 1.4 แสนล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 17%) ทั้งนี้เป็นเพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในเมื่อประเทศเรามีแหล่งก๊าซฯ เป็นของตนเอง แต่ไม่พอใช้ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาผันผวนมาก จึงมีคำถามง่ายๆ ว่า ทำไมเราไม่เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งไม่ต้องซื้อ ไฟฟ้าที่ได้ก็ถูกกว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ทุกชนิด         นี่แหละครับ คือประเด็นที่เราจะคุยกันเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคใช้ประกอบในการตัดสินใจตามชื่อบทความนี้         เพื่อให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น เรามาดูข้อมูลของประเทศอื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกันก่อน ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก เอาเฉพาะที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านอย่างเดียวนับถึงสิ้นปี 2566 มีจำนวนกว่า 3.6 ล้านหลังคา ประเทศนี้มีประชากรเพียง 25 ล้านคน (คิดคร่าวๆก็ประมาณ 8.3 ล้านหลังคา)  โดยในรัฐออสเตรเลียใต้ได้ติดตั้งไปแล้วถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของจำนวนบ้าน (หมายเหตุในหมู่บ้านที่ผมอยู่ ซึ่งอยู่ในจังหวัดนนทบุรีได้ติดตั้งแล้ว 0.8% ของจำนวนบ้านทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงเกือบ 1 เท่าตัว เฮ้!) มีผลงานวิจัยถึงความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียว่า ทำไมจึงนิยมติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมาก พบว่ามีเหตุผล 3 ข้อ คือ (1) ค่าไฟฟ้าในออสเตรเลียแพงมาก ราคาขายปลีกรวมภาษีแล้วเฉลี่ย 8.20 บาทต่อหน่วย (ของไทย 4.84 บาท,เวียดนาม 2.85 บาท)   (2) เป็นประเทศที่มีแสงแดดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่อพื้นที่ที่เท่ากันจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมากกว่าของประเทศไทยเราประมาณ 10-15% และ (3) เขารู้สึกอายที่ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโลกร้อน (คนออสเตรเลียปล่อยก๊าซฯ 15.0 ตันต่อคนต่อปี,ไทย 3.8 เวียดนาม 3.5)         จากข้อมูลของ Our World In Data พบว่าในปี 2565 โดยเฉลี่ย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เวียดนามและไทย ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้เฉลี่ยต่อคนได้ 1,484 ,826, 269 และ 70 หน่วย ตามลำดับ  ผมยกเอาข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นมาด้วยก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าในประเทศที่แสงแดดไม่ค่อยดีนัก แต่เขาก็ยังให้ความสำคัญที่จะนำพลังงานแสงแดดมาใช้ประโยชน์  โดยน่าจะมีเหตุผลที่คล้ายกับความเห็นของชาวออสเตรเลียที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัจจัยสำคัญคืออะไร         ปัจจุบัน รัฐบาลไทยมีกฎระเบียบที่จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ไม่เหมือนกับประเทศออสเตรเลียและเวียดนาม กล่าวคือ  ใน 2 ประเทศดังกล่าวเขาอนุญาตให้ไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านผลิตได้ในเวลากลางวัน แต่ไม่ได้ใช้หรือเหลือจากการใช้แล้วสามารถไหลย้อนเข้าไปในระบบสายส่งได้ เปรียบเหมือนกับการฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่งก่อน พอถึงเวลากลางคืนเจ้าของบ้านก็เอาไฟฟ้าที่ได้ฝากไว้มาใช้ เมื่อครบเดือนก็คิดบัญชีกันตามมิเตอร์ที่บันทึกไว้ หากเราผลิตได้น้อยกว่าที่ใช้ เราก็จ่ายค่าไฟฟ้าส่วนเกินในราคาปกติ หากเราใช้มากกว่าที่ผลิตได้ ทางการไฟฟ้าก็จ่ายส่วนที่เกินไปให้เจ้าของบ้าน ในอัตราค่าไฟฟ้าที่เท่ากับที่ขายให้เรา นักวิชาการเรียกระบบนี้ว่า Net Metering หรือการหักลบหน่วยไฟฟ้า  ปัจจุบันระบบนี้มีการใช้กันแล้วกว่า 68 ประเทศทั่วโลก ทั้งประเทศร่ำรวยและยากจน เช่น สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา เป็นต้น         ประเทศไทยไม่ได้ทำเช่นดังกล่าวนั้น แต่จะรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้ในราคา 2.20 บาทต่อหน่วย (ในขณะที่ขายให้ผู้บริโภครวมภาษีแล้วประมาณ 4.84 บาทต่อหน่วย) และรับซื้อเพียงระยะเวลา 10 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานจริงนานถึง 25 ปี  ด้วยมาตรการดังกล่าว ต้องลงทุนติดตั้งมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว ราคาประมาณ 2 พันบาทซึ่งไม่มีความจำเป็นหากใช้ Net metering   นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่าแบบของวิศวกรไฟฟ้าอีกประมาณ 5 พันบาทเมื่อนโยบายพลังงานของประเทศเราเป็นอย่างนี้ ผู้บริโภคควรจะทำอย่างไร   นอกเหนือจากการร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้เหมือนกับประเทศอื่นแล้ว เราลองมาพิจารณารายละเอียดให้ลึกกว่านี้ ดังนี้ หนึ่ง  ต้นทุนในการติดตั้ง         เท่าที่ผมติดตามที่ประกาศขายกันในอินเตอร์เนตและสอบถามจากผู้รับติดตั้งบางราย พบว่า ถ้าติดขนาด 3 กิโลวัตต์จะใช้เงินลงทุนประมาณ 8.4 หมื่นบาท (เมื่อ 5 ปีก่อนประมาณ 1.1 แสนบาท) รวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 91,000 บาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 110 หน่วยต่อกิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ซึ่งก็ไม่แตกต่างกันมากนักสำหรับในประเทศไทย) ดังนั้น หากเป็น 3 กิโลวัตต์ตลอดเวลา 25 ปี จะผลิตไฟฟ้าได้รวม 99,000 หน่วย ต้นทุนเฉลี่ยตลอด 25 ปีเท่ากับ 0.85 บาทต่อหน่วย (91,000 หารด้วย 99,000)  การประมาณการดังกล่าวนี้อาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้างเล็กน้อย และเป็นการคิดโดยไม่รวมค่าดอกเบี้ยหรือค่าเสียโอกาสจากดอกเบี้ย สอง ผลตอบแทนจากการติดตั้ง         ในการคำนวณที่แสดงในตารางข้างล่างนี้อยู่บนสมมุติว่า         (1)        อัตราค่าไฟฟ้าเท่าเดิมทุกอย่าง โดยค่าเอฟทีเท่ากับเดิมคือ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย        (2)        เดิมบ้านที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ใช้ไฟฟ้าจำนวน 600 หน่วยทุกเดือน ค่าไฟฟ้า 2,878.29 บาท เฉลี่ย 4.80 บาทต่อหน่วย        (3)        เมื่อติดตั้งแล้ว แบ่งการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจำนวน 330 หน่วยต่อเดือน เป็น 5 กรณี ๆ แรก ใช้เอง 24% และขาย 76% ในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วย จนถึงกรณีที่ 6 ใช้เอง 76% และขาย 24%         ผลการคำนวณพบว่า กรณีแรก (ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง 24%) จะให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเวลา 7.9 ปี (ดูตารางในภาพ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ชวนคิดเรื่องการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน

        นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศผิวโลกในปี 2567 จะสูงกว่าของปีที่แล้วซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่มีการจดบันทึกมา  สาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล) แล้วลอยขึ้นไปทำหน้าที่เป็นผ้าห่มโลก ดังนั้นเมื่อเรายังคงปล่อยก๊าซฯ ต่อไปผ้าห่มก็จะหนาขึ้น โลกจึงร้อนขึ้นตามกลไกที่ตรงไปตรงมาที่เราเข้าใจกันอยู่แล้ว         คราวนี้หันมามองตัวเราเองบ้าง เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้นและจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเยอะด้วย เนื่องจากเราอยู่ในเขตร้อนของโลก เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  แต่ไม่ว่าจะแก้ไขอย่างไรก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ทั้งจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่มากขึ้นและอัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นอัตราก้าวหน้า นั่นคือยิ่งใช้จำนวนมาก อัตราค่าไฟฟ้าก็จะกระโดดขึ้นเป็นเหมือนขั้นบันได บางคนพูดตลกว่า “เห็นใบแจ้งค่าไฟฟ้าแล้วจะหนาว”         เรื่องที่ผมขอชวนคิดในวันนี้เกี่ยวกับการประหยัดค่าไฟฟ้าภายในบ้าน หากท่านใดพิจารณาแล้วเห็นว่าพอจะปฏิบัติได้ก็ลงมือทำเลยครับ ท่านที่ไม่สามารถทำได้ก็ขอเพียงรับรู้และบอกเล่ากันต่อไป         เรื่องมีอยู่ว่า ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วยต่อเดือนควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU  ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าคิดตามเวลาที่ใช้ (Time of Use)         กล่าวคือ ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึง 9 โมงเช้าของวันจันทร์ถึงวันศุกร์และตลอด 24 ชั่วโมงของวันเสาร์และอาทิตย์ (เราเรียกว่าเป็นช่วงนอกพีค Off Peak) อัตราค่าไฟฟ้าจะมีราคาถูกและเป็นอัตราคงที่ด้วย จะใช้มากหรือใช้น้อยก็มีอัตราเท่าเดิม (เฉพาะค่าไฟฟ้าอย่างเดียวหน่วยละ 2.6369 บาทต่อหน่วย) แต่ถ้าใช้นอกเหนือจากช่วงเวลาดังกล่าว(ช่วงพีค) อัตราค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น (ค่าไฟฟ้าอย่างเดียว 5.7982 บาทต่อหน่วย) ในขณะที่มิเตอร์แบบธรรมดาประเภทผู้อยู่อาศัย 1.2 อัตราค่าไฟฟ้าประมาณ 4.19 บาทต่อหน่วยและเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้มาก อัตรายิ่งเพิ่มขึ้น        โปรดอ่านช้าๆ อีกครั้งครับ         ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU ถ้าเราใช้ไฟฟ้าไม่มากพอ เราจะไม่ได้ประโยชน์ บางกรณีค่าไฟฟ้าจะมากกว่ามิเตอร์แบบเดิมเสียด้วยซ้ำ  สมมุติว่าเราใช้ไฟฟ้าเดือนละ 1,000 หน่วย หากใช้มิเตอร์แบบเดิม (ประเภท 1.2) จะเสียค่าไฟฟ้ารวมในช่วงมกราคมถึงเมษายน 2567 เดือนละ 4,941 บาท   เมื่อเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์แบบ TOU  และมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าในพีคและนอกพีค ดังตาราง         อนึ่ง จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวง พบว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิเตอร์ TOU ประเภทแรงดันต่ำ เท่ากับ 6,640 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)  ดังนั้นหากสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเท่ากับ 200:800 การเปลี่ยนมิเตอร์ก็จะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 7 เดือน  หากเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เป็น 300:700 ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนจึงจะคุ้มทุน         เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นทางเลือกที่มากขึ้น ผมจึงลองสมมุติสถานการณ์ใหม่ คือ ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 800 หน่วย ถ้าใช้มิเตอร์เดิมจะเสียค่าไฟฟ้าเดือนละ 3,910 บาท ถ้าเปลี่ยนเป็น TOU แล้วมีสัดส่วนการใช้เป็น 200:600 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเป็น 3,300 บาท ลดลง 610 บาท นั่นคือ ระยะเวลาคุ้มทุนจะเป็น 11 เดือน         ถ้าใช้ไฟฟ้าเดือนละ 600 หน่วย มิเตอร์เดิมจะจ่ายค่าไฟฟ้ารวม 2,878 บาท แต่ถ้าเป็นมิเตอร์ TOU โดยมีสัดส่วน 200:400 ค่าไฟฟ้าใหม่จะเท่ากับ 2,651 บาท ลดลง 227 บาท ดังนั้นต้องใช้เวลานาน 29 เดือน จึงจะคุ้มทุน ข้อควรระวังและคำแนะนำ          (1)        ต้องมีการวางแผนการใช้ไฟฟ้าตามเวลาที่กำหนด เช่น ซักผ้า (ด้วยเครื่อง) ก่อน 8 โมงเช้า เปิดแอร์นอนหลัง 4 ทุ่ม และรีดผ้าวันเสาร์ เป็นต้น ผู้บริโภคควรพิจารณารายละเอียดอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น ในแต่ละวันเราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่นอกบ้านหรือในบ้าน         (2)        จากผลการคำนวณดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าใช้ไฟฟ้าน้อยเดือนละ 600 หน่วย ต้องใช้เวลา 29 เดือนจึงจะคุ้มทัน แต่ถ้าใช้ตั้งแต่เดือนละ 800 หน่วยขึ้นไปยิ่งมีความน่าสนใจ ยิ่งใช้มากยิ่งคุ้มทุนเร็วขึ้น        (3)        ผู้บริโภคที่มีรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ควรเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ครับ รถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ชาร์จไฟฟ้าครั้งละ 20 หน่วย สามารถแล่นได้ 100 กิโลเมตร ถ้าเราชาร์จแบตเตอรี่หลัง 4 ทุ่ม ก็ยิ่งเพิ่มสัดส่วนการใช้นอกพีคเพิ่มขึ้น ความคุ้มทุนก็จะยิ่งเร็วขึ้น ใช้ไฟฟ้าอัตรา 2.64 บาทต่อหน่วย แล่นได้ 5 กิโลเมตร เฉลี่ยรถยนต์คันนี้ใช้เชื้อเพลิงกิโลเมตรละ 53 สตางค์ ถูกกว่าการใช้น้ำมันหลายเท่าตัว         ถ้าไม่คุ้มแล้วจะเรียกว่าอะไร          อ้อ ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นการคิดบนฐานของการประหยัดค่าไฟฟ้าเท่านั้น อันเนื่องมาจากกติกาของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน ตอนต่อไปผมจะชวนคิดเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเรื่องของการประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญของโลก โปรดติดตามกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 BKK Rail รวมเส้นทางรถไฟฟ้า

        ระบบสาธารณูปโภค ด้านการให้บริการการเดินรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ได้เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2542 เพื่ออำนวยความสะดวกและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งระบบรถสาธารณะประเภทรถไฟฟ้า ได้เข้ามาเป็นตัวเลือกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหลัก จนแทบจะไม่รู้จักการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางกันแล้ว        เมื่อกล่าวถึงการเดินทางในรูปแบบรถไฟฟ้านั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะคุ้นเคยต่อการเดินทางในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ใช่ว่าจะคุ้นเคยกับทุกเส้นทาง รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่แทบจะไม่มีความคุ้นเคยกับการเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าเลย ดังนั้นฉบับนี้ขอเอาใจทุกคนที่ยังสับสนกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในทุกรูปแบบ          เพียงกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า BKK Rail ของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android บนสมาร์ทโฟนได้เลย         การใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก มีให้เลือกเส้นทางรถไฟทั้งหมด 9 สี 9 สาย ได้แก่ สายที่ 1 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท (สีเขียวอ่อน) เดินทางจากสถานีคูคตไปสถานีเคหะฯ สายที่ 2 รถไฟฟ้า BTS สายสีลม (สีเขียวเข้ม) เดินทางจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีบางหว้า สายที่ 3 รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน เดินทางจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีบางแค และสถานีบางซื่อไปสถานีท่าพระ สายที่ 4 รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เดินทางจากสถานีเตาปูนไปสถานีคลองบางไผ่ สายที่ 5 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงเข้ม เดินทางจากสถานีกลางบางซื่อไปสถานีรังสิต สายที่ 6 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงอ่อน เดินทางจากสถานีบางซื่อไปสถานีตลิ่งชัน สายที่ 7 รถไฟฟ้าสายสีทอง เดินทางจากสถานีกรุงธนบุรีไปสถานีคลองสาน สายที่ 8 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ ARL เดินทางจากสถานีพญาไทไปสถานีสุวรรณภูมิ และสายที่ 9 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือ YL เดินทางจากสถานีลาดพร้าวไปสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในปี 2567 จะเปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู เดินทางจากสถานีแครายไปสถานีมีนบุรี         เมื่อกดเลือกเส้นทางรถไฟจากทั้งหมด 9 สี 9 สายแล้ว แอปพลิเคชันจะปรากฎสถานีทั้งหมดของสายรถไฟนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกสถานีที่ต้องการ โดยจะแสดงช่วงตารางเวลาที่รถไฟฟ้าจะเดินทางมาถึงสถานี พร้อมกับรายละเอียดสิ่งอำนาวยความสะดวก นอกจากนี้ยังสามารถกดเชื่อมต่อไปยัง Google Map เพื่อแสดงแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานีนั้นได้อีกด้วย         อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ จะเป็นการค้นหาข้อมูลของเส้นทางเดินทาง โดยเลือกสถานีจุดเริ่มต้น และสถานีจุดหมายปลายทางที่จะไป เพียงเท่านี้แอปฯ ก็จะแนะนำเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดให้ผู้ใช้เลือก แถมยังคำนวณเวลาที่ใช้เดินทาง ราคาค่าโดยสาร และจำนวนสถานีเพิ่มเติม         เมื่อเดินทางไปไหนไม่ถูก ลองเปิดใช้แอปพลิเคชัน BKK Rail ที่ได้รวบรวมเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 สี 9 สายมาไว้ที่เดียวกันดู แล้วจะรู้ว่าแอปพลิเคชันนี้เป็นตัวช่วยให้กับนักเดินทางที่ไม่ชำนาญเส้นทางได้มากเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 การทดสอบประสิทธิภาพทางเทคนิคของพัดลม

        พัดลมเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีใช้ประจำบ้านในเกือบทุกครัวเรือน จากรายงานสรุปผลที่สำคัญ การใช้จ่ายพลังงานของครัวเรือน พ.ศ. 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนไทยมีพัดลมไว้ประจำบ้านในอัตราส่วนสูงถึงร้อยละ 98.60 ของครัวเรือนทั้งหมด[1] จัดเป็นอัตราสูงสุดเมื่อเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นอุปกรณ์ไว้ใช้งานในครัวเรือน  พัดลมไฟฟ้านั้นมีหลายแบบ ซึ่งแบบที่นิยมกันในปัจจุบันทั้งชนิดตั้งโต๊ะ ตั้งพื้น ติดผนัง ระบายอากาศ แขวนเพดาน และส่ายรอบตัว แต่ละแบบก็เหมาะสมกับการใช้งานในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีมาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนดเฉพาะคุณลักษณะด้านความปลอดภัย โดยเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 934-2558 (มอก. 934-2558)         สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพในการใช้พลังงานของพัดลมครั้งนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ได้ออกแบบและกำหนดการทดสอบ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การทดสอบประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2) ระดับความดังเสียงของพัดลมระหว่างการทดสอบ และ 3) ค่ามุมส่ายสูงสุด  ซึ่งกำหนดขอบเขตคุณสมบัติทางด้านเทคนิคสำหรับการสุ่มซื้อสินค้าที่จะนำทดสอบดังนี้         1 สินค้าต้องมีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม         2 เป็นพัดลมที่ใช้ในครัวเรือนขนาดใบพัดไม่เกิน 16 นิ้ว และ         3 กำลังไฟฟ้าที่ระบุไม่เกิน 70 วัตต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สุ่มซื้อมาทดสอบมีสมบัติเบื้องต้นตามที่ระบุไว้ในฉลากและคู่มือการใช้งาน ตามตารางที่ 1         การให้คะแนนเพื่อจัดลำดับแต่ละประเด็นของการทดสอบ ขึ้นอยู่กับอันดับของผลการทดสอบแต่ละประเด็นโดย ผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับดีที่สุดจะได้คะแนน 15 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนลำดับสุดท้ายจะได้ 1 คะแนน สำหรับการจัดลำดับขั้นตอนสุดท้านคือการนำคะแนนที่ได้ของการทดสอบแต่ละประเด็นมารวมกัน  สรุปผลการทดสอบ         จากผลการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพและทางเทคนิคของพัดลมจำนวน 15 ผลิตภัณฑ์ ทั้งสามประเด็น ผลิตภัณฑ์ของ Mi รุ่น JLLDS01XY ได้คะแนนสูงสุด คือ 39 คะแนน ผลิตภัณฑ์ Misumaru รุ่น AP-SF1602AT ได้คะแนนรวม 32 คะแนน และผลิตภัณฑ์ที่ได้อันดับ 3 ซึ่งได้คะแนนรวมเท่ากันทั้งสามผลิตภัณฑ์ คือ 31 คะแนน ได้แก่ Toshiba รุ่น F-ASY50TH (W) Mitsubishi รุ่น LV16-GA SF-GY และ Mamaru รุ่น DFS-9136[1] (พัดลม (ร้อยละ 98.6) โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 96.4) หม้อหุงข้าวไฟฟ้า (ร้อยละ 93.1) ตู้เย็น (ร้อยละ 92.2) โทรทัศน์ (ร้อยละ 91.7))  และหลอดไฟนีออน (ร้อยละ 90.7)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ชีวิตเสี่ยงภัย จากหม้อแปลงไม่ได้มาตรฐาน!

        การพักอาศัยอยู่ใกล้ทางสาธารณะอาจจะมีปัญหาได้เสมอ ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยจนเป็นเรื่องใหญ่ เสี่ยงอันตรายได้ถึงชีวิต เช่นเรื่องราวของคุณนัด ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ หมู่ 2 ถนนกาญจนวนิช ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลามานานนับสิบปี โดยหน้าบ้านของคุณนัดนั้นมีเสาไฟฟ้าถึง 3 เสา คุณนัดไม่คิดว่า เสาไฟหน้าบ้านที่มีมานานจะเป็นอันตรายได้ จนเมื่อแขวงการทางได้ยกระดับทางหน้าบ้านให้สูงขึ้นอีกราว  2 เมตร นั่นจึงทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ถูกต้องตามมาตรฐานคือสูงกว่าระดับพื้น 4 เมตร กลับเป็นหม้อแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะสูงกว่าระดับพื้นเพียง 2 เมตร!           สถานการณ์ดังกล่าวกลับยิ่งเลวร้ายลง เมื่อนานวันสายไฟ สายสัญญาณต่างๆ ที่ติดตั้งและพาดผ่านหม้อแปลงและเสาไฟยิ่งมากขึ้น มากขึ้น กระจุก ยุ่งเหยิงอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้เดินผ่านสัญจรไปมา ยิ่งในช่วงหน้าฝนตกหรือพายุเข้าอาจเกิดฟ้าผ่าลงสายไฟฟ้าแรงสูง จนทำให้แรงดันไฟฟ้าวิ่งมาถึงหม้อแปลง เสี่ยงเกิดอัคคีภัยได้ และหากมีไฟฟ้ารั่วออกมา อาจทำให้ไฟดูดผู้คนบริเวณใกล้เคียงได้         คุณนัดอดรนทนเห็นต่อไม่ไหว จึงติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช. เขตสงขลา) ให้เข้ามาจัดการสายไฟที่พะรุงพะรัง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการแล้วก็ทำเพียงมัดรวมสายไว้ แต่นานวันเข้าสายไฟก็กลับมายุ่งเหมือนเดิม  อีกทั้งคุณนัดยังได้แจ้งไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ขอให้ตรวจสอบและแก้ไข ยกหม้อแปลงขึ้นแต่กลับได้รับการชี้แจงว่า การย้ายระดับหม้อแปลงไฟฟ้า คุณนัดจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง อ้าว ! ทำไมภาระกลายมาเป็นของคุณนัด โดยค่าดำเนินการทั้งสิ้นอยู่ที่ประมาณ 78,056.50 บาท คุณนัดเห็นว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลา ผลักภาระที่จะต้องดำเนินการเองให้ประชาชนรับผิดชอบ จึงแจ้งมายังมูลนิธิฯเพื่อขอความช่วยเหลือ  แนวทางการแก้ไขปัญหา           หลังจากคุณนัดได้เข้ามาร้องเรียน และขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่า ความเดือดร้อนจากกรณีติดตั้งหม้อแปลงที่ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา  จึงแนะนำให้คุณนัดทำหนังสือร้องเรียนปัญหาถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ต่อมาคุณนัดแจ้งว่า ได้ดำเนินการส่งหนังสือถึงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำหนังสือถึงสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขตแล้ว จนล่าสุดวันที่ 4 พ.ย. 2566  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดสงขลาได้ติดต่อพูดคุยกับคุณนัดว่าจะเข้ามาดำเนินการให้หม้อแปลงไฟฟ้าติดตั้งตามมาตรฐาน ภายในเดือน ก.พ. 2567 ทั้งนี้ คุณนัดและเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะรอติดตามการทำงานครั้งนี้ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2566

เตือน! “อย่าซื้อขนมโรลออน” ที่ลักลอบนำเข้าไทย        3 กันยายน 2566 ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยว่า พบขนมบรรจุขวดที่มีหัวเป็นลูกกลิ้ง ที่เรียกโดยทั่วไปว่า “โรลออน” วางจำหน่ายใกล้โรงเรียน และช่องทางออนไลน์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไม่ได้รับอนุญาต สังเกต คือ ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลข อย. รวมถึงไม่ทราบส่วนประกอบหรือส่วนผสม และไม่มีผู้นำเข้า         ทางอย.จึงขอเตือนว่าไม่ควรซื้อมาบริโภค ซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงได้รับอันตราย หรือใช้วัตถุกันเสีย สี วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งอาจมีสารปนเปื้อนจากการผลิตจากภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ขนมที่ได้รับอนุญาตต้องมีฉลากภาษาไทยระบุข้อมูลให้ครบถ้วน  สำหรับ ผู้นำเข้าและจำหน่าย ขนมที่ไม่ขออนุญาตนำเข้ามีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  BTS ชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าขัดข้องไม่ยอมปิดขณะเดินทาง         จากกรณีที่มีดราม่าระบบรถไฟฟ้า BTS ขัดข้อง โดยได้มีผู้ใช้ติ๊กต๊อกบัญชี @star111042 ได้โพสต์คลิปประตูรถไฟฟ้า BTS เปิดขณะวิ่งอยู่ พร้อมแคปชันระบุว่า "เมื่อคนซวยๆ อย่างฉันมาขึ้นรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าเลยซวยไปด้วย” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่มีประตูรถไฟฟ้าเปิดค้างไว้ ขณะเดินทางระหว่างสถานีบางจาก-สถานีปุณญวิถี หลังเกิดเหตุ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงได้ออกมาชี้แจงกรณีประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากระบบความปลอดภัยมีสัญญาณแจ้งเตือนประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า (TC) จึงรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องศูนย์ควบคุม (CCR) และประสานเจ้าหน้าที่ไปยืนดูแลบริเวณประตูที่ขัดข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารเข้าใกล้ประตู พร้อมทั้ง ได้ดำเนินการแก้ไขประตูดังกล่าวที่สถานีถัดไป        อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบขบวนรถไฟฟ้าดังกล่าว และประตูที่ขัดข้องอย่างละเอียด เพื่อหามาตรการป้องกันเพิ่มเติม ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นอีก อย่าซื้อ นมแม่แช่แข็งให้ลูกกิน         20 กันยายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก Drama-addict ได้โพสต์เตือนกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง ที่มีการโพสต์ ซื้อ-ขาย นมแม่แช่แข็ง โดยมีการระบุข้อความว่า "มีคนไปโพสต์ในกลุ่มเลี้ยงลูกกลุ่มหนึ่ง บอกว่ามีนมแม่แช่แข็งเหลือ จะขาย คนก็แชร์ไปหลายพันละ อันนี้เตือนแม่ๆ ว่า นมแม่นี่ ของใครของมัน ไม่ควรเอานมแม่คนอื่นมาป้อนให้ลูกตัวเอง ถ้าไม่ผ่านการตรวจเชื้อ และผ่านธนาคารนมแม่มาแล้ว เพราะนมแม่ เป็นสารคัดหลั่งชนิดหนึ่งซึ่งมีโอกาสที่จะมีเชื้อต่างๆ จากแม่ที่ผลิตนมนั้น เช่น HIV ไวรัสตับบี ไวรัสตับซี EBV CMV herpes  ซึ่งหากเด็กติดเชื้อขึ้นมาเรื่องใหญ่” นอกจากนี้  ปกติหากนมแม่เหลือและอยากแบ่งปันให้คนอื่น  จะมีธนาคารนมแม่ ที่เขาจะตรวจสอบว่าแม่ติดเชื้อไหม นมปลอดภัย มีการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ ยาต่างๆ หรือไม่ เพื่อให้เด็กที่กินนั้นปลอดภัย Bangkok Airways ประกาศ “ชั่งน้ำหนักผู้โดยสาร สัมภาระก่อนบิน”         17 กันยายน 2566 หลังจากที่สายการบินต่างชาติ เช่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ได้มีการออกกฎชั่งน้ำหนักและสัมภาระผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อสำรวจและนำมาคำนวณกำหนดการกระจายน้ำหนักบนเครื่องบิน ลดการใช้เชื้อเพลิงนั้น         ทางบางกอก แอร์เวย์ส สายการบิน ประเทศไทย ก็ได้ออกมาประชาสัมพันธ์ ถึงกรณีดังกล่าวอีกด้วย โดยระบุข้อความดังนี้ “เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการบินพลเรือนสากล เรื่องการใช้ข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานสำหรับคำนวณน้ำหนักผู้โดยสารและสัมภาระถือขึ้นเครื่อง เพื่อให้ปริมาณน้ำหนักของเที่ยวบินอยู่ภายใต้ขอบเขตการกำหนดน้ำหนักอากาศยานสำหรับการวิ่งขึ้นสูงสุด (Maximum Take-Off Weight) และทำการบินได้ด้วยความปลอดภัย ตั้งแต่ 15 ก.ย. ถึง 31 ต.ค. 66 เป็นต้นไป บริษัทขออนุญาตเก็บข้อมูลโดยการชั่งน้ำหนักผู้โดยสารรวมสัมภาระถือขึ้นเครื่อง ณ บริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่อง จึงขอความร่วมมือจากท่านผู้โดยสารชั่งน้ำหนัก นอกจากนี้  บริษัทขอยืนยันว่าข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ และจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงข้อมูลเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยมาตรฐานเท่านั้น มพบ.เผยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบช่วงโควิดจะได้รับเงินคืนจาก “Thai Air Asia X”         หลังจาก วันที่ 31 สิงหาคม 66 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการ สายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” รหัสเที่ยวบิน XJ บริการสายการบินราคาประหยัด เส้นทางไปต่างประเทศ หลังได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดทำการบินขนส่งผู้โดยสารมานานกว่า 2 ปี         15 กันยายน 2566 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (XJ)” มีผลครอบคลุมเจ้าหนี้ทุกคนที่เป็นผู้โดยสาร ทั้งผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และผู้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่างได้สิทธิรับคืนเงินทั้งหมด โดยไม่มีดอกเบี้ยตามข้อเรียกร้องทั้ง 2กรณี ส่วนที่ก่อนหน้านี้ มีผู้โดยสาร 11 คน พากันมายื่นร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคให้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนผู้บริโภค มูลค่าความเสียหายกว่า 4 แสนบาทนั้น ทางมูลนิธิฯ ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนให้ดำเนินการหาทนายฟ้องคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพื่อเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทาง “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ยื่นคำร้องค้าน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ จำหน่ายคดีที่ผู้บริโภคฟ้องเพราะศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น คดีอื่นๆ ที่มีการยื่นฟ้องหรือบังคับคดีจึงต้องหยุดชั่วคราวเพื่อรอการฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม ศาลมีข้อแม้ว่า หากสายการบินไม่จ่ายหนี้ตามสัญญา ก็จะเดินหน้าในกระบวนการทางศาลต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 269 ถึงเวลาต้องเปลี่ยนเป็นรถอีวี หรือยัง

        ปรากฎการณ์อีวีหรือยานยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ในปี 2565 ยอดขายรถอีวีอยู่ที่ประมาณ 10.2 ล้านคัน เทียบกับสามล้านคันเมื่อสามปีก่อนหน้า ปัจจุบันในบรรดารถยนต์ที่จำหน่ายออกไปทุกๆ 20 คัน จะมี 3 คันที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และองค์การพลังงานระหว่างประเทศยังคาดการณ์ไว้ว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของปี 2566 จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคัน           ในจำนวน 10.2 ล้านคันที่ว่านั้น หากแยกออกมาดูจะพบว่า 5.9 ล้านคันคือยอดขายในประเทศจีน ตามด้วย 990,000 คัน ในสหรัฐอเมริกา อันดับถัดมาคือเยอรมนี (830,000 คัน) และอังกฤษ (370,000 คัน) ในขณะที่เกาหลีใต้เข้ามาเป็นอันดับ 8 ด้วยยอดขาย 131,000 คัน         อีกประเทศที่มาแรงแม้จะไม่ติดอันดับเรื่องยอดขายคือนอร์เวย์ เพราะมีสัดส่วนการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก (ร้อยละ 88 จากยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมดในปี 2565)         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอชวนคุณไปสำรวจสถานการณ์ “การยอมรับ” รถอีวีของผู้บริโภคในหลากหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เราได้ทำการสำรวจไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาด้วย         เริ่มจาก ประเทศจีน ที่บรรลุเป้าหมายการมียอดขายรถยนต์ “พลังงานใหม่” ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ในประเทศไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 (ก่อนกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ถึงสามปี)  ในขณะที่ปีนี้ยอดจองรถดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคที่เคยตั้งใจจะรอให้รถอีวีราคาถูกลง ก็เริ่มตัดสินใจซื้อแล้วเพราะสถานการณ์เริ่มชัดเจนว่าราคารถคงจะไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว นอกจากจากนี้ยังรีบซื้อเพราะช่วงนี้มี “โปรโมชัน” จากรัฐบาล ทั้งเรื่องการลดหย่อนภาษี คูปองเงินสด หรือการยกเว้นค่าจดทะเบียน เป็นต้น        ความคึกคักของตลาดรถไฟฟ้าในจีน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ เห็นได้จากราคาหุ้นของบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เช่น Xpeng  Nio  และ Li Auto ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงที่ดีดตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปีนี้รายได้จากการจำหน่ายรถไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรีและชนิดปลั๊กอินของผู้ประกอบการในจีนที่ขยันทำรถรุ่นใหม่ๆ พร้อมฟังก์ชันดึงดูดใจออกมาให้เลือกมากมาย จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าอีกด้วย         แต่ใน อเมริกา รถอีวียังไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากเท่าที่ควร การสำรวจล่าสุดโดยสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก ร่วมกับสำนักข่าวเอพี พบว่าร้อยละ 47 ของคนอเมริกัน ยังคิดว่า “เป็นไปได้น้อยมาก” ที่รถคันต่อไปที่พวกเขาจะซื้อจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลหลักสองข้อคือพวกเขาคิดว่ายังมีสถานีชาร์จไม่เพียงพอ และรถก็ยังมีราคาค่อนข้างแพง        มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่ตอบว่า “เป็นไปได้มาก” หรือ “เป็นไปได้อย่างยิ่ง”แต่ความพยายามของภาครัฐและเอกชนก็ไม่ด้อยไปกว่าจีน รัฐบาลของนายโจ ไบเดน ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ร้อยละ 50 ของรถยนต์ที่จำหน่ายจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และจะต้องมีสถานีชาร์จอย่างน้อย 500,000 สถานีทั่วประเทศ         หน่วยงานของรัฐบาลกลางก็มีแผนจะจัดซื้อยานยนต์ไฟฟ้าขนาดกลางและเล็กจำนวน 13,000 คันในปีงบประมาณ 2566 ก่อนจะเปลี่ยนรถที่ใช้ในราชการทั้งหมดเป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2570 สำหรับรถเล็ก และปี 2578 สำหรับรถขนาดกลางและใหญ่        ภาคธุรกิจก็มีส่วนร่วม เช่น Amazon นำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการจัดส่งสินค้าแล้วกว่า 3,000 คัน และประกาศว่าจะเพิ่มเป็น 100,000 คันภายใน 7 ปีข้างหน้า บริษัทที่ทำธุรกิจด้านวัสดุในการผลิตแบตเตอรี Cirba Solutions ก็ให้คำมั่นว่าจะจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอต่อการผลิตรถอีวีหนึ่งล้านคันภายใน 5 ปี         ด้าน Walmart มีแผนจะติดตั้ง “สถานีชาร์จเร็ว” ตามสาขาต่างๆ ของห้างหลายพันสาขาภายในปี 2573 ส่วน Google ก็รับปากว่าจะให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลผ่านเครื่องมือค้นหาตัวใหม่ที่นำข้อมูลของรัฐเข้ามาประมวลผลด้วย มาดูกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปกันบ้าง         สหภาพยุโรปประกอบด้วย 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันไม่ต่ำกว่า 477 ล้านคน ร้อยละ 75 ของคนเหล่านี้อาศัยอยู่ในเขตเมือง             ปลายปี 2565 มีรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี จดทะเบียนในสหภาพยุโรปทั้งหมด 3,056,849 คัน คิดเป็นร้อยละ 1.19 ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในสหภาพยุโรป         ในปี 2565 องค์กร EAFO (European Alternative Fuels Observatory) ได้ทำการสำรวจความตั้งใจของผู้บริโภคเรื่องการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า พฤติกรรมการใช้และการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงปัญหาและความท้าทายที่พบ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม เดมมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สโลเวเนีย และสเปน         การสำรวจครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 16,664 คน ประกอบด้วยคนใช้รถอีวี (380 คน) และคนไม่ได้ใช้รถอีวี (16,284 คน)        เมื่อถามถึงทัศนคติและแรงจูงใจที่มีต่อยานยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี พบว่าหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่างรู้จักรถประเภทนี้เป็นอย่างดี ร้อยละ 41 มีความสนใจในรถอีวี ในขณะที่ร้อยละ 54 ของคนที่ยังไม่เคยใช้รถอีวี ก็มีทัศนคติที่ดีต่อรถชนิดนี้         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่ารถอีวีมีข้อดีเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นทางเลือกที่ประหยัด แต่เมื่อถามถึงเหตุผลที่จะไม่เลือกใช้รถอีวีก็พบว่า อันดับหนึ่งคือราคาที่ยังแพงเกินไป (ร้อยละ 26) ตามด้วยความกังวลว่ายังมีสถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ (ร้อยละ 18) ส่วนหนึ่งไม่อยากซื้อมาใช้เพราะที่บ้านไม่มีจุดชาร์จ (ร้อยละ 10) และบางคนก็กลัวจะขับไปไกลไม่ได้ (ร้อยละ 7)         ที่น่าสนใจคือมีถึงร้อยละ 31 ที่ตั้งใจจะซื้อรถอีวีภายในห้าปี อีกร้อยละ 9 มีแผนจะซื้อในช่วงห้าถึงสิบปีข้างหน้า ร้อยละ 13 ตอบว่าคิดจะซื้อแต่ยังไม่ได้กำหนดเวลา ส่วนอีกร้อยละ 47 ที่เหลือยังไม่คิดจะซื้อรถอีวี         การสำรวจส่วนที่สองมีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น “ผู้ขับขี่รถอีวี” 1,387 คน ในภาพรวมพบว่า “บุคลิกของคนขับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป” คือ ชายอายุ 35 ปี พักอาศัยในบ้านเดี่ยว มีรายได้ต่อเดือนระหว่าง 2,000 ถึง 3,999 ยูโร (ประมาณ 76,000 ถึง 152,000 บาท) และมีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป         เมื่อแยกดูพฤติกรรมการใช้รถพบว่า ร้อยละ 62 ใช้รถอีวีมาไม่เกินสามปี ร้อยละ 97 ใช้ทุกวันหรือหลายครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ใช้เพื่อไปซื้อของ หรือกิจกรรมอื่นๆ อย่างการเดินทางไปพบแพทย์ระยะทางเฉลี่ยต่อวันคือ 126 กิโลเมตร         ในเรื่องของความเป็นเจ้าของ ร้อยละ 70  เป็นเจ้าของรถเอง ในขณะที่ร้อยละ 22 ใช้วิธีเช่ารถขับ ที่เหลืออีกร้อยละ 8 ใช้รถของบริษัท กลุ่มที่เป็นเจ้าของรถเอง        ร้อยละ 41               ซื้อมาในราคาระหว่าง 20,000 ถึง 40,000 ยูโร (760,000 ถึง 1,500,000 บาท)        ร้อยละ 31               จ่ายมากกว่า 40,000 ยูโร         ร้อยละ 18               จ่ายระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 ยูโร (380,000 ถึง 760,000 บาท) กลุ่มที่เช่าขับ ค่าเช่าอยู่ที่เดือนละไม่เกิน 500 ยูโร (19,000 บาท)         ร้อยละ 67 เป็นรถอีวีใหม่ อีกร้อยละ 33 เป็นรถอีวีมือสอง         เรามาดูพฤติกรรมการชาร์จของผู้ใช้รถกลุ่มนี้กันบ้าง จากคำถามเรื่องระยะเวลาที่ผู้ใช้รถยินดีจะรอคิวชาร์จ พบว่ามีถึงร้อยละ 37 ที่ตอบว่า “ไม่รอ”  ตามด้วยร้อยละ 33 ที่ตอบว่ายินดีรอ 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง อีกร้อยละ 25 ที่เหลือตอบว่าระยะเวลาที่ยินดีรอคือ 15 นาที         สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากสถานีชาร์จมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ ความเร็วในการชาร์จการเข้าถึงสถานีชาร์จและการจ่ายเงินที่สะดวกผ่านแอปฯ หรือบัตรเงินสด ตามด้วยการคิดค่าบริการตามกระแสไฟฟ้าที่ชาร์จ (ไม่ใช่ต่อนาทีหรือต่อครั้ง)         มาดูที่ ประเทศไทย ของเรากันบ้าง ตลาดรถไฟฟ้าบ้านเรากำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ยอดจดทะเบียนรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ในช่วงห้าเดือนแรกของปีพ.ศ. 2566 อยู่ที่ 32,450 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่าร้อยละ 470          คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือ “บอร์ดอีวี” คาดว่าในอีกสองปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาไม่ต่างจากรถยนต์สันดาป บอร์ดตั้งเป้าว่าในปี 2568 จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (จักรยานยนต์ รถยนต์ รถปิกอัพ รถบัส รถบรรทุก) รวม 1,055,000 คัน และจะเพิ่มเป็น 15,580,000 คันในปี 2578         ไม่เพียงการใช้ในประเทศเท่านั้น ประเทศไทยยังต้องการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งเอเชียภายในปี พ.ศ. 2573 และผลักดันให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 30 ในปีดังกล่าว ขณะนี้มีอย่างน้อยสองบริษัทจากประเทศจีน (BYD และ Great Wall Motor) ที่ประกาศจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยที่ระยองแล้ว  ตัวอย่างมาตรการกระตุ้นความต้องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและการลงทุนของไทย    -  เงินอุดหนุน 150,000  บาทสำหรับรถ EV ที่ผลิตในประเทศ    - การลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ ร้อยละ 2    - การลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจดทะเบียนรถ    - การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 13 ให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศไทย    - การขยายโครงข่ายสถานีชาร์จให้ได้ 12,000 แห่งทั่วประเทศ ภายในปีพ.ศ. 2573          นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น บ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ 1,125 คน* เรื่องความรู้พื้นฐานและความคิดเห็นเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในระหว่างวันที่ 25 - 30 เมษายน ที่ผ่านมา         เราพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64.9 เชื่อว่าไทยมีความพร้อมสำหรับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยังพบว่า ร้อยละ 64.7 คิดว่าราคาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบันมีความเหมาะสมดีแล้ว และคนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 83.8) เห็นด้วยว่ามาตรการลดหย่อนภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าจาก 8% เหลือ 2% ของภาครัฐ สามารถส่งเสริมให้คนซื้อรถยนต์อีวีมาใช้งานมากขึ้น         ในแง่ของสิ่งแวดล้อม มีถึง ร้อยละ 85.8 ที่เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM2.5 ในอากาศได้         ขณะเดียวกันเราพบว่ามีเรื่องที่ผู้บริโภคยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น         กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 59.8 ไม่ทราบว่ารถยนต์ไฟฟ้ามี 4 ประเภท (ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV Plug-in Hybrid Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง FCEV Fuel Cell Electric Vehicle / รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี หรือ BEV Battery Electric Vehicle)        ร้อยละ 61.5 ไม่ทราบว่าวิธีการชาร์จไฟรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. Quick Charger ในสถานีอัดประจุไฟฟ้า 2. Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box และ 3. Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับในบ้าน        ร้อยละ 60.5 ไม่ทราบว่ากรมการขนส่งทางบกให้การลดหย่อนภาษีประจำปี สำหรับรถประเภท BEV (รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว)                       ร้อยละ 57.4 ไม่ทราบว่าระยะเวลารับประกันแบตเตอรีโดยผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจำกัดอยู่ที่ประมาณ 8 ปี          ทั้งนี้คนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.5) มองว่าภาครัฐควรให้ข้อมูลด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากับประชาชนผ่านหน่วยงานของรัฐให้มากขึ้น         ความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามเรื่องข้อจำกัดของรถอีวี และความพร้อมของสถานีชาร์จ         ร้อยละ 86.4 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป         ร้อยละ 73.3 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขับขี่        ร้อยละ 72.2 เห็นด้วยว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดในการขับขี่บนถนนที่มีน้ำท่วมขัง         ร้อยละ 64.6 เชื่อว่าปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพียงพอ เอกสารอ้างอิง https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2023/04/17/fact-sheet-biden-harris-administration-announces-new-private-and-public-sector-investments-for-affordable-electric-vehicles/ https://www.cnbc.com/2023/04/11/nearly-half-of-americans-say-its-unlikely-theyll-buy-an-ev-next-poll.html https://www.iea.org/energy-system/transport/electric-vehicles https://www.scmp.com/business/companies/article/3230136/chinas-ev-frenzy-drives-carmaker-stocks-outperformance-hang-seng-index-red-hot-sales-show-no-signs https://alternative-fuels-observatory.ec.europa.eu/system/files/documents/2023-06/2022%20EAFO_CountryReport_EU.pdfhttps://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1073646https://techsauce.co/news/board-ev-aim-thailand-electric-vehicle-production-base https://www.bangkokbanksme.com/en/23-4up-when-thailand-wants-to-move-towards-electric-vehicle-hub

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 268 ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ นวัตกรรมแห่งอนาคตที่ต้องเตรียมรับมือ

        กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวในเวทีงาน Innovation Keeping The World ที่จัดไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ว่า ประเทศไทยมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า BEV ซึ่งรวมทั้ง BEV Plug-In Hybrid และรถไฮบริด BEV ในปี 2565 มากกว่า 20,816 คัน คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าร้อยละ 400 เมื่อเทียบกับปี 2564         ขณะที่ https://marketeeronline.co/archives/311702  ระบุข้อมูลจากกรุงศรี ออโต้ (Krungsri Auto) ว่า สัดส่วนสินเชื่อใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อยู่ที่ 4,624 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 217 ซึ่งเกินเป้าไปแล้วจากยอดสินเชื่อใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล มกราคม-พฤษภาคม 2566 ที่ 1,440 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดสินเชื่อใหม่ EV ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน         สองย่อหน้าข้างบนเหมือนกำลังส่งสัญญาว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เช่นกัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกขณะ ทั้งยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมในบางมิติ แต่ก็สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมในบางมุมซึ่งต้องมานั่งคุยกันว่าจะแก้ไขอย่างไร         ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) ให้มากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะสิ่งที่ต้องเตรียมไม่ใช่แค่เงินในกระเป๋า แต่กินความถึงวิธีคิด (mindset) ใหม่ๆ กับอีกหลายเรื่องที่ต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงเพื่อวางกติกากับเทคโนโลยีที่มาแน่ๆ ชิ้นนี้ รู้จักรถยนต์ไฟฟ้า รู้จักตัวเอง         สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบ่งได้ 4 ประเภทคือ ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ (HEV, Hybrid electric vehicle) เป็นลูกผสมที่ใช้น้ำมันทั่วไปและมอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่        ยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV, Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งใช่ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าเช่นกัน แต่เพิ่มระบบเสียบปลั๊กชาร์จไฟ (plug-in)         ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV, Battery Electric Vehicle) เป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและใช้พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้าจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว         และสุดท้าย ยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV, Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) โดยเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจากภายนอก สามารถจุพลังงานจำเพาะได้สูงกว่าแบตเตอรี่ในปัจจุบัน แต่สถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจนยังมีน้อยมาก         นอกจากการรู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแบบไหนบ้างแล้ว ก่อนจะซื้อผู้บริโภคควรต้องศึกษาหาข้อมูลให้มากและพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน ตั้งแต่จุดประสงค์ในการใช้งาน ถ้าทำอาชีพเซลล์ต้องขับระยะทางไกลๆ ติดต่อกัน การวางแผนชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้มีพลังงานเพียงพอตลอดก็อาจยุ่งยากกว่าคนที่ใช้แค่ขับไปทำงานทั่วไป         เมื่อเป็นรถยนต์ไฟฟ้าผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจุของแบตเตอรี่กับระยะทางที่วิ่งได้ไกลที่สุด ระยะเวลาในการชาร์จเพราะการชาร์จไฟกระแสสลับกับกระแสตรงกินเวลาต่างกัน รวมถึงพิจารณาหัวจ่ายไฟฟ้าที่ใช้กับรถ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นออกแบบที่ชาร์จแบตเฉพาะของตนทำให้หาหัวชาร์จยากจึงอาจทำให้ไม่สะดวก ขณะเดียวกันก็ต้องสำรวจด้วยว่าในเมืองที่ตนพักอาศัยมีแหล่งชาร์จจุดใดบ้าง         ส่วนการบริการหลังการขายเป็นสิ่งที่ผู้จำหน่ายต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว ผู้บริโภคมีสิทธิถามเพื่อรับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้     ศึกษาและวางแผนก่อนซื้อ         ปารัช ทวีศักดิ์ ยอมไม่มีรถขับอยู่หลายปีเพื่อรอซื้อรถไฟฟ้า สาเหตุเพราะน้ำมันมีราคาแพงและเธอเชื่อว่ามันจะเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาแทนที่รถยนต์น้ำมัน เธอเล่าว่า         “ใช้เวลานานเหมือนกัน ยอมที่จะไม่ใช่รถเลย น่าจะประมาณหกเจ็ดปีได้ แต่หมายถึงว่าเราก็ใช้รถกับแฟน เราให้เขาใช้โดยที่ไม่ซื้อคันใหม่ เก็บเงินไว้ก่อนเพื่อรอรถไฟฟ้าอย่างเดียวเพราะเรารู้ว่ารถไฟฟ้าเข้ามาแล้ว แล้วทั่วโลกให้การยอมรับ ระหว่างนี้ก็ศึกษาเรื่องระบบไฟว่าต้องเติมยังไง ก็ค่อยๆ ศึกษา สอบถามจากพนักงานขาย เสิร์ชดูบ้าง เข้าไปอยู่ตามกลุ่มเฟสบุ๊ค เป็นกลุ่มรถของยี่ห้อนี้ ยี่ห้ออื่นด้วย ค่อยๆ หาข้อมูลไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะรับรถ”         รถยนต์ไฟฟ้าที่ปารัชซื้อมาในเวลานั้นไม่ได้อยู่ในช่วงที่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล เธอจึงซื้อมาในราคาล้านต้นๆ แต่เมื่อนำมาคำนวณแล้วเธอคิดว่าคุ้มเมื่อเทียบกับการจ่ายค่าน้ำมัน เธอยกตัวอย่างว่าถ้าวิ่ง 2,000 กิโลเมตรต่อเดือนเธอจะจ่ายค่าไฟแค่ 1,000 บาท แต่ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมันตัวเลขจะขยับขึ้นไปถึง 6,000 บาท         สำหรับคนที่ลังเลกับการซื้อรถไฟฟ้า หนึ่งในความลังเลใหญ่คือจุดชาร์จ เพราะต่อให้เป็นการชาร์จที่บ้าน ปารัชก็ยังรู้สึกยุ่งยากเนื่องจากต้องไปทำเรื่องกับการไฟฟ้าเพื่อนำมิเตอร์มาติด         “มิเตอร์มีสองแบบด้วย แบบทีโอยูกับแบบธรรมดา ธรรมดาก็ราคาปกติ จ่ายเท่าที่เราจ่ายค่าไฟ แต่ถ้าเป็นทีโอยู หลังสี่ทุ่มถึงเก้าโมงเช้าเรทราคาจะลดไปครึ่งหนึ่ง แต่จะเสียค่าหม้อแปลงเพิ่ม นี่เลือกแบบทีโอยูแล้วติดเฉพาะรถไฟฟ้าอย่างเดียว แยกหม้อกับของที่บ้านเลย”         ปารัชยอมรับว่าหลังจากหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแล้วก็ไม่อยากกลับไปใช้รถยนต์น้ำมันอีกเลย ส่วนหนึ่งคงเพราะเธอสามารถปรับตัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้แล้ว ใช่ การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การศึกษาข้อมูล แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือการปรับวิธีคิด (mindset) ปรับ mindset         การเติมพลังงานให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าแตกต่างจากรถยนต์น้ำมัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องปรับพฤติกรรมและวางแผนพลังงานที่จะใช้กับรถของตนให้เพียงพอ ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่าการชาร์จที่บ้านถือว่าคุ้มค่าที่สุดเพราะสามารถเลือกได้ว่าจะชาร์จเวลาใด ช่วงไหน ควรติดตั้งมิเตอร์แบบใด         “เราควรชาร์จไฟรถเวลาไหนอย่างไร ชาร์จให้เต็มพอดีๆ แล้วก็ตัดหรือถนอมแบตเตอร์รี่ มันก็ต้องคิดว่าถ้าจะถนอมให้ใช้ได้นานก็ควรหลีกเลี่ยงการชาร์จกระแสตรงถ้าไม่จำเป็น บริหารการชาร์จกระแสสลับที่บ้าน เป็นวิธีคิดที่อาจจะต้องเรียนรู้ซึ่งผมคิดว่าไม่ยาก เพียงแต่จะซับซ้อนกว่าการเติมน้ำมัน”         แม้ปัจจุบันจะมีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและจะมากขึ้นอีก แต่ก็ยังมีจำกัดกว่าปั๊มน้ำมัน ผู้ขับขี่จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงให้รัดกุม ต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าถ้าแบตใกล้หมดจะเติมจุดไหน อย่างไร เพราะต่อให้มีจุดชาร์จก็อาจใช้ไม่ได้ เนื่องจากกำลังซ่อมแซม มีคนจองไว้ หรือหัวชาร์จใช้ไม่ได้กับรถที่ขับ         ประเด็นนี้สอดคล้องกับปารัช เธอเล่าว่าเราจะต้องหาจุดเติมไฟใกล้บ้าน ต้องคำนวณว่ารถจะต้องวิ่งได้กี่วัน เพราะตัวรถแต่ละรุ่นไม่เท่ากัน รถของเธอวิ่งได้ประมาณ 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง แต่ก็มีคำแนะนำว่าถ้าชาร์จแบบเร็วไม่ชาร์จเต็มถึง 500 กิโลเมตร และถ้าต้องเดินทางออกจากบ้านและชาร์จไฟระหว่างทางก็ต้องรอทำให้ต้องคำนวณเรื่องเวลาด้วย เธอสรุปว่า         “มีรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีการวางแผนค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนรถน้ำมันที่วิ่งเข้าปั๊มเติมปุ๊บปั๊บเสร็จ”         การขับด้วยความเร็วเป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน คนขับรถยนต์น้ำมันจะรู้รอบเครื่องเมื่อเร่งความเร็วซึ่งเป็นการเตือนผู้ขับให้รู้ตัวว่าขับเร็วเกินไปหรือไม่และชะลอความเร็วลง ในทางกลับกัน ความเงียบของรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ไม่มีเสียงเตือนจากเครื่องยนต์ ผู้ขับอาจไม่รู้ตัวจึงเสี่ยงทั้งต่ออุบัติเหตุและการทำผิดกฎจราจร        ความเงียบยังก่อความไม่ราบรื่นอีกประการหนึ่ง หากเป็นการขับในชุมชน คนที่สัญจรไปมา สัตว์จร หรือสัตว์เลี้ยงอาจไม่รู้ตัว แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นจะสร้างเสียงเทียมขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะดังเพียงพอต่อการได้ยิน จึงเป็นหน้าที่ของผู้ขับที่ต้องคอยระมัดระวังในส่วนนี้ ความยุ่งยากของผู้บริโภคในเวลานี้         นอกจากความคิดและพฤติกรรมที่ต้องปรับยังมีประเด็นที่แผ่กว้างกว่าเรื่องเชิงปัจเจก ตัวอย่างเช่นเบี้ยประกัน ชัยภวิศร์ กล่าวว่า         “ถ้ารถมูลค่าเท่าๆ กัน ในความเข้าใจผม เบี้ยประกันรถไฟฟ้าจะสูงกว่ารถน้ำมันระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงขนาดสองสามเท่า ประกันภัยในช่วงแรกที่ปีล่าสุดจะแถมประกันภัยประเภท 1 มาให้ ส่วนปีที่ 2 เราจ่ายเองบางทีค่าประกันสูงทำให้ผู้บริโภคตกใจได้ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรณรงค์คุยกันว่าค่าประกันภัยจำเป็นต้องแพงขนาดนี้หรือไม่         “หรือถ้ามีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยรถที่เรียกว่า active safety ทำยังไงไม่ให้รถเกิดอุบัติเหตุเสียก่อน ไม่ว่าจะเบรกเองอัตโนมัติ มีระบบเลี้ยวหักหลบอัตโนมัติ อะไรก็แล้วแต่ ซึ่งช่วยลดอุบัติเหตุ จะช่วยลดเบี้ยประกันได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปทำงานเชิงนโยบายกัน แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ทำให้เบี้ยประกันลดลงมา เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องเผื่อเงินไว้สำหรับการซื้อประกันภัยรถในปีต่อๆ ไป”         อะไรอีก? เบื้องต้นการชาร์จนับเป็นจุดยุ่งยากที่สุดในเวลานี้ นอกจากเรื่องหัวชาร์จที่ไม่เหมือนกันแล้ว ตู้ชาร์จบางแห่งเขียนว่า low priority แปลว่าถ้าไฟบริเวณนั้นตกตู้นั้นจะชาร์จไม่ได้เร็วตามที่ระบุไว้ โดยเฉพาะที่ห่างไกลหรือชนบท ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการชาร์จยาวนานออกไป         และเนื่องจากตู้ชาร์จไฟมีหลายแบรนด์แต่ละแบรนด์มีแอปพลิเคชันของตนเอง ผู้บริโภคต้องโหลดแอปฯ จำนวนมากเพื่อใช้กับตู้ชาร์จแต่ละเจ้าทำให้เกิดความยุ่งยาก บางแอปฯ ยังขอข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมากทั้งที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับการรับบริการ เช่น ขอที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งบัตรประชาชน มันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิมากไปมั้ย แค่จะจ่ายเงินซื้อไฟ ทำไมต้องรู้ที่อยู่ เบอร์โทร บางแอปฯ ถึงกับต้องรู้เลขบัตรประชาชนโดยไม่จำเป็น         อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องก่ำกึ่งว่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ก็คือ จุดชาร์จในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเป็นกระแสสลับและคิดค่าชาร์จเป็นชั่วโมง ไม่ได้คิดเป็นจำนวนหน่วยกระแสไฟ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคชาร์จไฟให้ห้างสรรพสินค้า 3 ชั่วโมงแต่ได้ไฟไปเพียง 30 กิโลวัตต์ แต่ค่าชาร์จชั่วโมงละ 40 บาท ทั้งที่เงิน 120 บาทถ้าชาร์จตามจุดชาร์จข้างนอกเรียกว่าได้พลังงานแทบจะเต็มสองรอบ         ประเด็นต่างๆ เหล่านี้คาดว่าต้องอาศัยเวลาพูดคุย แลกเปลี่ยน ถกเถียง เพื่อสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อลดความยุ่งยากและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เตรียมรับมือพลวัตจากนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า         มิติสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นเรื่องกฎหมาย ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรทางบกมุ่งจัดระเบียบรถยนต์น้ำมัน เมื่อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มปริมาณขึ้น กฎหมายมีความจำเป็นต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกันไปหรือไม่         ชัยภวิศร์คิดว่ากฎหมายเดิมส่วนใหญ่ยังคงใช้ได้ เช่น การจำกัดความเร็ว เมาแล้วขับ เป็นต้น มีเฉพาะเรื่องเสียงที่เขาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องเขียนกฎหมายกำกับว่าในที่ที่ใช้ความเร็วต่ำหรือในเขตชุมชน เสียงเทียมควรจะดังหรือมีลักษณะกระตุ้นเตือนทั้งคนและสัตว์ได้มากพอเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความพลั้งเผลอ         นอกจากนี้ อนาคตที่รถยนต์เปลี่ยนไปเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุว่าเจ้าของรถหรือบริษัทรถยนต์จะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ นี่ก็เป็นประเด็นทางกฎหมายที่ต้องตระเตรียมแนวทางเอาไว         สุดท้ายของท้ายสุด แบตเตอรี่ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทยค่อนข้างหละหลวม ตรงนี้จะกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมหากไม่เตรียมการรับมือ        “เรื่องนี้ฝรั่งคุยกันเยอะ เขาทำก่อนเรา เห็นปัญหาก่อนเรา เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่ตอนนี้มีหลายชนิดและกำลังปรับอยู่เรื่อยๆ กระบวนการจัดการของเสียที่จะเกิดขึ้นถูกเอาไปรียูสได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องดูให้ครบ life cycle ว่าจะเอากลับไปใช้ใหม่ได้กี่รอบ กี่ครั้ง และถึงจุดที่ต้องถูกทำลายจะทำยังไง ต้องบอกว่าบ้านเราการจัดการของเสียพวกนี้ยังด้อยมากๆ แต่ไม่ใช่แค่แบตรถไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นของเสียอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดยังไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีการพูดคุย และยังผลักภาระเป็นของสาธารณะ ไม่ใช่ของผู้ประกอบการ         “บางประเทศผู้ประกอบต้องมีแผนเอาแบตเตอรี่มือถือของตัวเองออกจากตลาดอย่างไร จัดการยังไง เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตซึ่งเมืองไทยยังทำน้อยมาก ต้องมีมาตรการ แรงจูงใจ สนับสนุนผู้ประกอบการที่จัดการเรื่องพวกนี้ได้ดี รวมถึงออกแบบนวัตกรรมที่แบตเตอรี่หรือตัวเครื่องสามารถรีไซเคิล รียูสในเปอร์เซ็นต์สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ในโลกหลายรุ่นจุดขายคือใช้วัสดุเหลือใช้มาผลิตตัวรถ แบตเตอรี่ เอามาเป็นจุดขายว่ารีไซเคิลง่ายขึ้น”         ชัยภวิศร์เสนอข้ามไปอีกขั้นว่า รัฐอาจออกมาตรการสนับสนุนหรือสร้างแรงจูงใจให้การผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ เช่น ส่งเสริมการใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิ้ล การรับจัดการแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพแล้วของผู้ประกอบ หรือตู้ชาร์จไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น         อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ยังคงมีพลวัตต่อเนื่อง ผู้ใช้หรือผู้ที่กำลังคิดจะซื้อควรศึกษาข้อมูลข่าวสารให้ละเอียดรอบคอบ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ได้เวลาต้องปรึกษาหารือว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลักสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 การทดสอบประสิทธิภาพในการให้ความร้อนของเตาแม่เหล็กไฟฟ้า

        เตาแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเตาเหนี่ยวนำไฟฟ้า (Induction Hob) เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาศัยความร้อนจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้า เช่น เหล็ก หรือเหล็กสเตนเลสบางชนิด  ทำให้ภาชนะร้อนขึ้นจนสามารถประกอบอาหารได้ อุปกรณ์ที่ไม่มีความสามารถเหนี่ยวนำแม่เหล็ก  เช่น อะลูมิเนียม แก้ว เซรามิค  จะไม่ทำให้เกิดความร้อนได้ เตาแม่เหล็กไฟฟ้าให้พลังงานความร้อนได้รวดเร็วกว่าเตาแบบธรรมดาและสูญเสียพลังงานน้อยกว่า พลังงานนั้นจะถ่ายทอดไปที่ตัวภาชนะโดยตรงโดยไม่แผ่ความร้อนออกไปเหมือนเตาความร้อนทั่วๆ ไป           ในปัจจุบันเตาแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หลายครัวเรือนนิยมใช้ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่คอนโดมิเนียมหรืออพาร์ทเม้นท์ ซึ่งมักจะประสบปัญหาการประกอบอาหารจากเตาแก๊ส  เนื่องจากที่พักอาศัยบางแห่งไม่อนุญาตให้ใช้แก๊สประกอบอาหาร เตาแม่เหล็กไฟฟ้าจึงถูกพัฒนาขึ้นให้มีลักษณะการใช้งานและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับผู้ที่พักอาศัยในคอนโดมีเนียมหรืออพาร์ทเม้นท์ การทดสอบครั้งนี้เป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการให้ความร้อนของเตาแม่เหล็กไฟฟ้าในแต่ละประเภท และระยะเวลาในการต้มน้ำเดือด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการประหยัดเวลาและพลังงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบ         เตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่นำมาทดสอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีกำลังไฟ ระหว่าง 2,000 – 2,100 วัตต์ มีรายละเอียด ดังนี้   ผลการทดสอบ        การทดสอบประสิทธิภาพของเตาแม่เหล็กไฟฟ้าแต่ละชนิดดำเนินการทดสอบ 2 ครั้ง และนำผลทดสอบทั้ง 2 ครั้งมาหาค่าเฉลี่ย การทดสอบครั้งที่ 1 โดยทำบันทึกค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ (E1) ตั้งแต่เริ่มต้มน้ำจนกระทั่งอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากเดิม 75 K บันทึกค่าอุณหภูมิสิ้นสุดการทดสอบของน้ำ (TF1) ค่ามวลสุดท้ายของน้ำ (mWF1) และเวลาที่ใช้ในการทดสอบ (t1)  และทำการทดสอบ ครั้งที่ 2 โดยหมุนกระทะไป 90 องศา บันทึกค่ามวลของน้ำเริ่มต้น (mWS2) อุณหภูมิของน้ำเริ่มต้นทดสอบ (TS2) และเมื่ออุณหภูมิถึงระดับที่กำหนด ให้บันทึกค่าอุณหภูมิสิ้นสุดการทดสอบของน้ำ (TF2) ค่ามวลสุดท้ายของน้ำ (mWF2) เวลาที่ใช้ในการทดสอบ (t2) และค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ (E2) ผลการทดสอบประสิทธิภาพของเตาไฟฟ้า ตามตารางที่ 2 ดังนี้         จากตารางที่ 2 พบว่า เตาไฟฟ้าชิ้นงานตัวอย่างทั้ง 10 ยี่ห้อ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณลักษณะของเตาไฟฟ้า ตาม มอก. 2589-2556 ที่กำหนดให้ ประสิทธิภาพพลังงาน ไม่ต่ำกว่า 62%         เมื่อเรียงลำดับประสิทธิภาพพลังงานสูงสุด พบว่า อันดับ 1 ยี่ห้อ Toshiba รุ่น IC-20S2PT ประสิทธิภาพ 93.4% อันดับ 2 ยี่ห้อ Sharp รุ่น CY-301 ประสิทธิภาพ 93.2% อันดับ 3 ยี่ห้อ Tefal รุ่น IH7208 ประสิทธิภาพ 92.3 % รายละเอียดตามตารางที่ 3           จากตารางที่ 2 พิจารณาจากระยะเวลาในการต้มน้ำ พบว่า ยี่ห้อที่สามารถต้มน้ำจนเดือดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด อันดับแรก ยี่ห้อ Sharp รุ่น CY-301 เวลาที่ใช้ 293.5 วินาที (4.9 นาที) อันดับที่ 2 ยี่ห้อ Imarflex รุ่น IF-408 เวลาที่ใช้  317.5 วินาที (5.3 นาที) อันดับที่ 3 ยี่ห้อ Minimex รุ่น PIC101 เวลาที่ใช้ 320 วินาที (5.3 นาที) รายละเอียดตามตารางที่ 4          สำหรับยี่ห้อที่มีการใช้พลังงานน้อยที่สุด อันดับแรก Toshiba รุ่น IC-20S2PT ค่าพลังงานที่ใช้ 624.1 kW-s อันดับที่ 2 Hanabishi รุ่น HIC-309 ค่าพลังงานที่ใช้ 628.3 kW-s อันดับที่ 3 Sharp รุ่น CY-301 ค่าพลังงานที่ใช้ 629.6 kW-s รายละเอียดตามตามตารางที่ 5         เมื่อนำผลการทดสอบในเรื่องของประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการประหยัดเวลามาให้ค่าคะแนน เรียงลำดับคะแนนโดยกำหนดให้ยี่ห้อที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดได้ 10 คะแนน และยี่ห้อที่ได้ประสิทธิภาพน้อยที่สุดได้ 1 คะแนน และยี่ห้อที่สามารถต้มน้ำจนเดือดโดยใช้เวลาน้อยที่สุดได้คะแนน 10 คะแนน ส่วนยี่ห้อที่ใช้เวลาในการต้มน้ำจนเดือดมากที่สุดได้คะแนน 1 คะแนน         ผลการจัดอันดับคะแนนในด้านประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและการประหยัดเวลา ตามตารางที่ 6 พบว่า คะแนนจากการทดสอบทั้งสองประเด็น มีดังนี้ อันดับแรก ยี่ห้อ Sharp รุ่น CY-301 คะแนนรวม 19 คะแนน อันดับที่ 2 ยี่ห้อ Toshiba รุ่น IC-20S2PT คะแนนรวม 16 คะแนน อันดับที่ 3 ยี่ห้อ Minimex รุ่น PIC101 คะแนนรวม 15 คะแนน  บทสรุปและข้อเสนอแนะ         จากการทดสอบเตาแม่เหล็กไฟฟ้าด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พบว่า มีประสิทธิภาพตามที่กำหนด อย่างไรก็ตามการกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์เตาไฟฟ้ายังได้กำหนดเกี่ยวกับอักษรหรือเครื่องหมายที่ควรติดแจ้งให้ผู้บริโภคได้รับทราบ         ประกอบด้วย (1) แบบอ้างอิงหรือรุ่นอ้างอิง (2) หมายเลขลำดับเครื่อง (3) ประสิทธิภาพพลังงานเป็น % (4) แรงดันไฟฟ้าที่กำหนดเป็น V (5) ความถี่ที่กำหนด เป็น Hz (6) กระแสไฟฟ้าที่กำหนด เป็น A  (7) กำลังไฟฟ้าเข้าที่กำหนด เป็น W (8) ประเภท (9) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณหุงต้ม เป็น mm (10) ชื่อผู้ทำ หรือโรงงานที่ทำ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน        ในกรณีที่ใช้ภาษาต่างประเทศร่วมด้วยต้องมีความหมายตรงกับภาษาไทยที่กำหนดไว้ข้างต้น ผลิตภัณฑ์เตาแม่เหล็กไฟฟ้าที่นำมาทดสอบทั้ง 10 ยี่ห้อมีฉลากและเครื่องหมายที่แสดงรายละเอียดเป็นไปตามกำหนด แต่ส่วนใหญ่ยังขาดการให้ข้อมูลถึงประสิทธิภาพพลังงาน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับงบประมาณที่สามารถพึงจ่ายได้ หมายเหตุ         การทดสอบคุณลักษณะที่ต้องการด้านประสิทธิภาพพลังงานรวมถึง เตาไฟฟ้าประเภทใช้การเหนี่ยวนำด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 2589-2556

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 แอบดูการผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย

        ประเทศไทยเรากำลังมีปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงมากเป็นประวัติการณ์ มากกว่า 5 บาทต่อหน่วยแล้วรัฐบาลก็อ้างว่าที่แพงเพราะว่าค่าเชื้อเพลิงแพง คือค่าก๊าซธรรมชาติที่ในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ             ผมถามว่า...เรามีเชื้อเพลิงเป็นของตัวเองแล้ว โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ทำไมเราไม่นำมาใช้            รัฐตอบว่า...พลังงานแสงอาทิตย์มันไม่เสถียร กลางคืนไม่มีพระอาทิตย์จะเอาอะไรใช้         แล้วทำไมรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประชากร 40 ล้านคน เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกใช้ไฟฟ้ามากกว่าประเทศไทยเราเกือบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ทำไมเขาจึงผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดมาใช้ได้เยอะมากเลย จากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตามบ้านประมาณ 1.5 ล้านหลังคาเรือน โดยใช้ระบบแลกไฟฟ้ากับรัฐ และต้องย้ำว่า แลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากันด้วย         ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 กันยำยน 2565 ออกมำแล้วว่าให้ส่งเสริมให้ประชาชนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาโดยด่วน โดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (NetMetering) คือแลกไฟฟ้ากันระหว่างผู้ผลิตบนหลังคากับการไฟฟ้า แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงานไม่ทำอะไรต่อ ทั้งๆ ที่มีมติ ครม.ไปนานกว่า 8 เดือนแล้ว ฉบับนี้ ผมจะมาแสดงการผลิตำพลังงานไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เห็นกันว่าเขาทำอย่างไรบ้าง         ผมไปดูข้อมูลการผลิตไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของรัฐนี้ เริ่มตั้งแต่ 7 โมงเช้า โซล่าเซลล์ก็ผลิตได้แล้วจนถึงหนุ่งทุ่มก็ยังทำงานอยู่บางส่วนในบางวัน ผมลองคำนวณคร่าวๆเอาช่วงเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง คิดออกมาเป็นไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 160 ล้านหน่วยต่อวัน ถ้าคิดแบบบ้านเรา  เป็นค่าเชื้อเพลิงหน่วยละ 2.50 บาท ก็ 400 ล้านบาทต่อวัน นี่คือมูลค่าของแสงแดดที่เรมองข้ามที่สามารถนำมาแทนเชื้อเพลิงได้โดยไม่ต้องซื้อ        ช่วงที่มีแดด เขาก็ให้แดดผลิตก่อน ตอนที่ไม่มีแดดก๊าซธรรมชาติก็ผลิตได้เยอะ แต่พอมีแดดเขก็ลดการผลิตจากก๊าซธรรมชาติลง ซึ่งข้อมูลค่าส่วนที่ไม่ต้องไปซื้อก๊าซตรงนี้ก็กลายเป็นรายไดด้ของชาวบ้านไปเลย ในแคลิฟอร์เนียเขาผลิตโซล่าเซลล์เองด้วย เงินจำนวนนี้ก็กระจายอยู่นั้นนอกจากแสงแดดแล้วเขายังใช้เชื้อเพลิงอะไรอีกบ้างในการผลิตไฟฟ้าเรามาดูกันที่รัฐนี้เขาจะพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าล่วงหน้าไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้จะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ เขาจะรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน ล่วงหน้า 1 วันล่วงหน้า 1 ชั่วโมง รู้หมด เผื่อมีอะไรผิดพลาดขนาดไหน จะได้ปรับแผนได้         ในหนึ่งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงเขาจะใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แดดเยอะ ใช้ก๊าซน้อย พอตอนหัวค่ำก็ใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นมา แล้วก็ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่นๆบางส่วน พอใช้แดดหมดแล้วก็ใช้ลม ใช้พลังน้ำ ใช้แบตเตอรื่เขาใช้นิวเคลียร์คคงที่ตลอดทั้งวันทั้งปี ถ่านหินก็ใช้แค่ 2 เมกะวัตต์เท่านั้น เขาใช้หลักว่าพลังานหมุนเวียนซึ่งไม่ต้องซื้อและไม่ปล่อยมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนให้ผลิตมาใช้ได้ก่อนเลย ถ้าลมมาก็ผลิตเลย แดดมาก็ลิตเลย ถ้าพอกับความต้องการดก็จบ ถ้าเหลือก็เก็บเข้าแบตเตอรี่ ถ้าไม่พอก็เอาจากแบตเตอรี่มาใช้         นี่คือการบริหารพลังงานไฟฟ้าโดยปรับเปลี่ยนตามทรัพยากรที่มี เลือกทรัพยากรของฟรีก่อน ที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้ ชาวบ้านผลิตได้ ถ้าไม่พอก็ไปใช้ฟอสซิล ไปใช้นิวเคลียร์ซึ่งเป็นของบริษัทต่างๆทีหลัง หลายคนอาจถามว่า...ทำไมประเทศไทยไม่ทำอย่างนี้ ?         ผมขอตอบว่า...ประเทศไทยเอาพลังงานฟอสซิลก่อน เพราะสามารถผูกขาดได้ แค่นี้ละครับ นี่เป็นมายาคติซึ่งหลายคนไม่เข้าใจเราต้องพยายามอธิบาย ก็ต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อน นอกจากกนี้ ในส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนในภาคไฟฟ้า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่าในช่วงตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น รัฐแคลิฟอร์เนียมีการปล่อยคำร์บอนฯ ในภาคผลิตไฟฟ้าลดต่ำลงจนกระทั่งติดลบ         ผมเองก็สงสัยว่ามันติดลบได้อย่างไร ก็ไปดูว่าเขาใช้พลังงานอะไรบ้างในการผลิต ปรากฏว่าการผลิตไฟฟ้าของเขาในช่วงประมาณบ่าย 3เศษๆ เขามีพลังงานหมุนเวียนเยอะเขามีไฟฟ้าเหลือ เขาส่งออกไปให้รัฐอื่น จึงทำให้การปล่อยคาร์บอนฯของเขาในช่วงเวลาบ่าย 3 เศษๆ นั้นติดลบ นั่นเอง          จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า เราแก้ปัญหาโลกร้อนได้ภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน คือใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าผู้นำมีความกล้าหาญที่จะลดผลประโยชน์ของพวกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลลง         ผมมองว่าปัญหาในการผลิตไฟฟ้าของไทยตอนนี้ คือการผูกขาดคนอื่นผลิตไม่ได้ เขาจะไม่ให้ชาวบ้านผลิตเอง ทั้งๆที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปประเทศไทย ด้านพลังงาน ที่ใช้คำว่า Prosumer (Production byConsumer – ผลิตโดยผู้บริโภค)         ดังนั้น การอ้างว่าไฟฟ้าแพงเพราะเชื้อเพลิงแพงนั้น จริงๆ แล้วมีปัญหาที่ใหญ่กว่าคือ การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้พลังงานที่ตัวเองขายไม่ได้ที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้เท่านั้นแหละครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2566

ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าดำเนินคดีทุกราย!         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยมีประชาชนร้องเรียนว่าพบมีการลักลอบเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาในบริเวณตลาดถนนคนเดินใกล้มหาวิทยาลัยชื่อดัง ย่านเขตประเวศ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.อุดมสุข ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งพบผู้กระทำผิดจริงในขณะกำลังเปิดร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าหลายราย พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อดำเนินการยึดบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าและควบคุมตัวผู้กระทำผิดไปที่ สน.อุดมสุข เพื่อดำเนินคดีฐานขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ สคบ. ขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าหรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หากพบจะดำเนินคดีขั้นเด็ดขาดทุกราย         "บุหรี่ไฟฟ้า"  เป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้เคยมีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้นผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกตัดคะแนนใบขับขี่ ขอคะแนนคืนได้         หลังจากมีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติสำหรับมาตรการตัดแต้มใบขับขี่ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่าหากผู้ขับขี่รายใดถูกตัดคะแนนจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน ท่านสามารถขอคะแนนคืนได้ด้วยการเข้าอบรม ที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศซึ่งมีการเปิดอบรมให้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยสามารถจองคิวผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ DLT Smart Queue แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue (การเข้าอบรมจะมีค่าใช้จ่ายตามหลักสูตร)            กรณีที่ถูกตัดแต้มใบขับขี่จนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักอนุญาตใบขับขี่ (ห้ามขับรถทุกประเภทเป็นเวลา 90 วัน) และหากฝ่าฝืนขับรถขณะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   คนไทยป่วยจากมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน         นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566 พบว่ามีพื้นที่มีค่าฝุ่น PM. เกิน 51 มคก./ลบ.ม. และเริ่มกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด และ กทม. 50 เขต โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่ม 6 จังหวัด ในส่วนพื้นที่ค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วัน มีทั้งหมดจำนวน 36 จังหวัด         ทั้งนี้การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 5 มี.ค. 66 นั้น พบว่ามีผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน กลุ่มผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 คน โรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน โรคตาอักเสบ 242,805 คน โรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน น้ำตาเทียมที่พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ยี่ห้อในอินเดียยังไม่มีขายในไทย        จากกระแสข่าวที่มีศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) นั้น มีการพบเชื้อแบคทีเรียในน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ได้แก่ EzriCare และ Delsam Pharma โดยมีผลิตในประเทศอินเดีย ซึ่งน้ำยาดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน สูญเสียการมองเห็นถึง 8 คนและต้องผ่าลูกตากว่า 4 คนนั้น           สำนักงานคณะกรรมการอาหารและ(อย.) ระบุจากการตรวจสอบของทาง อย.ไม่พบว่ามีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และไม่พบข้อมูลจำหน่ายทางออนไลน์ในไทย โดยทาง อย.มีมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งมีการติดตามข่าวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยในต่างประเทศอย่าใกล้ชิดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ขอให้ผู้บริโภควางใจ มพบ. ยื่นฟ้อง กสทช. กรณีปมควบรวม ทรู-ดีแทค         8 มีนาคม 2566 นายเฉลิมพงษ์ กลับดี และนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สนง.กสทช) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ กสทช. กรณีอนุมัติให้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการ ชี้เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมนัดพิเศษของ กสทช. ครั้งที่ 5/2565 วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้เอกชน มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 อนุมัติให้ควบรวมธุรกิจ ทรู-ดีแทค โดยไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ รับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง        กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า จากเหตุนี้ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะเมื่อประเทศไทย เหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 2 เจ้า อย่างเป็นทางการ และบริษัทใหม่กลายเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ทันที มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 ก่อให้เกิดการผูกขาดธุรกิจโทรคมนาคม โดยไม่ได้เกิดการพัฒนาด้านคุณภาพ สุ่มเสี่ยงต่อการฮั้วราคา ส่งผลต่อค่าโทรศัพท์ที่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ถึง 200 รวมทั้งตลาดมือถือจะอยู่ในภาวะ การแข่งขันตกต่ำ ยากเกินจะฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คณะกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคลงมติ ยื่นฟ้อง คณะกรรมการ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. เป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 มีหมายศาลเรียกให้ไปจ่ายค่าไฟจากบ้านที่ขายไปเมื่อ 20 ปีก่อน

        เรื่องนานขนาดผ่านไปเกือบยี่สิบปี แต่หากผู้บริโภคไม่ได้จัดการในเรื่องสัญญาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าให้เรียบร้อย ปัญหาก็อาจวนกลับมาให้เสียทรัพย์ได้         คุณก้อยติดต่อขอคำแนะนำมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า วันหนึ่งได้รับหมายเรียกของศาลจังหวัดปทุมธานี ตามที่มีคำฟ้องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 โดยยื่นฟ้องฐานค้างชำระหนี้ค่าไฟฟ้า 6 เดือน สิงหาคม - ธันวาคม 2563 และมกราคม 2564 มียอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยรวม 10,300.51 บาท ซึ่งในคำฟ้องนี้ มีคุณก้อยเป็นจำเลยที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าคนปัจจุบันเป็นจำเลยที่ 2         เหตุนี้เกิดขึ้นจากเมื่อ 20 ปีก่อน (พ.ศ. 2544)  นางสะอาด (นามสมมติ) ได้ซื้อบ้านหลังเกิดเหตุกับคุณก้อย ครั้งนั้นคุณก้อยไม่ได้ “สนใจ” ที่จะจัดการยกเลิกหรือเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าให้เรียบร้อย “ยอมรับค่ะว่าไม่ทันคิดอะไร หลังธุรกรรมเรื่องซื้อขายบ้านเรียบร้อย ดิฉันเซ็นมอบอำนาจให้นางสะอาดไปเพื่อให้เขาไปดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นชื่อนางสะอาดแทน” หลังจากที่คุณก้อยมอบอำนาจแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไรอีก เพราะตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร ดังนั้นเมื่อได้หมายเรียกจากศาล จึงพยายามติดต่อนางสะอาดว่าเกิดอะไรขึ้น ได้ความแค่ว่า นางสะอาดขายบ้านหลังนี้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 และไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าหลายเดือน จนเกิดหนี้ค่าไฟฟ้าขึ้น  “ดิฉันถูกฟ้องด้วย เรื่องนี้ดิฉันต้องทำอย่างไรดีคะ”           แนวทางการแก้ไขปัญหา         จากการที่ละเลยไม่เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าของคุณก้อยหลังการขายบ้าน จนกระทั่งผู้เป็นเจ้าของบ้านคนปัจจุบันค้างชำระค่าไฟฟ้านั้น ตามระเบียบของการไฟฟ้า ระบุว่า  “ตามระเบียบว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2562 ข้อ 32 ความรับผิดชอบในการชำระค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องรับผิดชอบค่าไฟฟ้าตลอดไปจนกว่าจะแจ้งบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโอนเปลี่ยนชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ผู้อื่น หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันชำระค่าไฟฟ้า”         หลังจากขอรายละเอียดต่างๆ จากคุณก้อยผู้ร้องเรียนแล้ว ทางมูลนิธิฯ ได้ประสานไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะเกิดข้อสงสัยว่า ธรรมดาเมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าค้างชำระค่าไฟฟ้า 1-2 เดือน การไฟฟ้าจะระงับการจ่ายไฟฟ้าหรือเรียกภาษาชาวบ้านว่า ตัดไฟ แล้วในกรณีนี้ทำไมจึงปล่อยให้มีการใช้ไฟฟ้าต่อไปจนถึง 6 เดือน ซึ่งเท่ากับทำให้ยอดค้างชำระมีจำนวนที่สูงตามจำนวนการใช้ไฟฟ้าไปด้วย         คำถามนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอสามโคก ปทุมธานี ตอบว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นการไฟฟ้าสามโคกในฐานะโจทก์จึงยังมิได้งดจ่ายกระแสไฟฟ้าหรือบอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับจำเลย แต่ได้ติดตามทวงถามและแจ้งหนี้มาโดยตลอด แน่นอนว่าการทวงถามนี้คุณก้อยไม่เคยได้รับข้อมูล เนื่องจากเอกสารต่างๆ ส่งไปยังบ้านเลขที่ของบ้านที่เกิดการใช้ไฟฟ้าและปัจจุบันไม่สามารถติดตามตัวเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าได้         คุณก้อยกังวลใจมาก เพราะตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ทำให้คิดว่าตนอาจต้องรับผิดชอบเรื่องหนี้ก้อนนี้ทั้งหมดเองคนเดียว ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้แนะนำให้คุณก้อยไกล่เกลี่ยโดยขอร้องต่อศาลให้เลื่อนเวลาผ่อนผันออกไปก่อน เพื่อตามตัวผู้ใช้ไฟฟ้าหรือเจ้าของบ้านคนปัจจุบันให้ได้ เพื่อมารับผิดชอบหนี้ที่ก่อไว้ (ตอนนี้บ้านไม่มีผู้อาศัย) ขณะเดียวกันเสนอให้คุณก้อยยื่นคำให้การต่อศาลเป็นเอกสารชี้แจงลำดับเหตุการณ์ ซึ่งทางมูลนิธิฯ ยินดีช่วยร่างให้ พร้อมกับต้องไปคัดทะเบียนราษฎร์ที่เคยปรากฎชื่อตนเองว่าครอบครองบ้านหลังดังกล่าวก่อนขายเปลี่ยนมือเมื่อปี 2544 พร้อมหลักฐานการแจ้งย้ายออกแล้วนำยื่นต่อศาลเพื่อพิจารณา ซึ่งเรื่องราวจะจบลงอย่างไรจะได้นำเสนอต่อไป         ทั้งนี้ฝากเป็นบทเรียนให้แก่ทุกท่าน เมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ควรจัดการบอกยกเลิกสัญญาการใช้ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อมิให้ต้องเกิดปัญหาเช่นเดียวกับผู้ร้องทุกข์รายนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 พลังงานไทยไม่เป็นธรรมตรงไหน?

        เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเสวนาออนไลน์ Just Energy Transition Talk ครั้งที่ 1 ที่ The Cloud กลุ่ม RE100 และป่าสาละ จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนผ่านตัวแทนจากแต่ละภาคส่วน ว่า ‘ทำไมต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม?’ ผมไปในฐานะตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค ตั้งใจและเตรียมตัวเต็มที่เลย ผมไปบรรยายพร้อมกับสไลด์อัปเดตข้อมูลด้านพลังงานกว่า 40 หน้า         ผมยกคำพูดของดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ ผู้ที่ทำงานอย่างไม่ย่อท้อเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลก ที่ว่า “การปล่อยให้พ่อค้าพลังงานฟอสซิลเขียนนโยบายพลังงาน ก็เหมือนกับการปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์การไม่สูบบุหรี่” มาย้ำอีกครั้ง และเสนอภาพให้เห็นว่าการทำนโยบายพลังงานของประเทศเราหรือทุกประเทศ ล้วนถูกผูกขาดอยู่ด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แล้วก็มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือพ่อค้าพลังงานฟอสซิลนั่นเอง นี่ก็คือความไม่เป็นธรรมข้อแรก         ทุกวันนี้เทคโนโลยีพลังงานหลายอย่างมาบรรจบกันในทางที่ดีและราคาถูกลง ซึ่งวิศวกรกลุ่มหนึ่งของ “Institute for Local Self Reliance” (ILSR) ที่ผมติดตามมานานแล้ว เขาบอกว่าเราใช้เทคโนโลยี 5 อย่างคือ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือ โซล่าเซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และกังหันลม ที่เปรียบเหมือน 5 จอมเทพนี้ที่มาปราบระบบพลังงานแบบเก่าที่เราใช้อยู่ตอนนี้ได้เลย         ตอนนี้เริ่มมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าทำได้จริง เช่น การผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากร 40 ล้านคน ที่นั่นใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สามารถส่งไฟฟ้าเข้าสายส่งได้โดยไม่จำกัดจำนวน แสงอาทิตย์มาก่อนใช้ก่อน ลมมาก่อนใช้ก่อน ใช้เต็มที่ไปเลย พอไม่มีแดดแล้วก็ไปเอาไฟฟ้าจากก๊าซมา อย่างบ้านเราผมว่าไฟฟ้าจากชีวมวลเยอะมาก ทำกันดีๆ เอามาใช้ตอนหัวค่ำที่เปลี่ยนผ่านตรงนั้นก็ได้แล้ว จริงๆ รัฐทำได้ทุกอย่าง ถ้าอยากจะทำนะ         หรืออย่างที่หมู่บ้าน Wildpoldsried ทางตอนใต้ของเยอรมัน มีประชากร 2,500 คน สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่เขาใช้ถึง 8 เท่าตัว ตอนที่ได้ 5 เท่าตัว ผมจำตัวเลขได้ว่าเขาขายไฟฟ้าได้ปีละ 4 ล้านยูโร ณ วันนี้อาจจะเป็น 6-7 ล้านยูโรแล้วก็ได้ เขาได้ผสมผสานหลายอย่าง มีกังหันลม มีโซล่าเซลล์ 190 กว่าหลัง อาคารสำนักงานข้าราชการก็ใช้โซล่าเซลล์หมด แล้วเอาเงินมาแบ่งกันตามสัดส่วน         คราวนี้กลับมาดูในบ้านเรา ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ผู้นำประเทศเราบอกว่ามีน้อย ไม่เสถียร กลางคืนจะเอาอะไรใช้ แต่ปรากฎมีข้อมูลสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีมากกว่าที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ถึงหมื่นเท่าตัว และจากที่ผมได้เล่าไปแล้วถึงมติ ครม. 27 ก.ย. 65 (ซึ่งเป็นช่วงที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการณ์นายกรัฐมนตรี) ที่ให้ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านโดยใช้ระบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ได้ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม ติดเข้าไปได้เลย แล้วแลกไฟฟ้ากันในราคาที่เท่ากัน สิ้นเดือนก็มาคิดบัญชีกัน ใครจ่ายมากจ่ายน้อยก็ว่ากันไปตามนั้น แต่มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติเลย         ประเทศไทยเราผลิตไฟฟ้าจากก๊าซมากที่สุดถึง 54% ถ้าเราเปลี่ยนจากก๊าซเป็นแดด จะประหยัดเงินได้ 3 แสนล้านต่อปี นี่เห็นชัด แก้จน สร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ทันทีเลย และทั้งๆ ที่ธรรมชาติของสายส่งไฟฟ้านั้น ไฟฟ้าสามารถเดินได้ 2 ทาง เข้าบ้านเราก็ได้ ออกจากบ้านเราได้ 2  แต่ตลอดมามันเดินทางเดียว คือจากโรงไฟฟ้ามาเข้าบ้านเราอย่างเดียว แล้วเงินของเราก็เดินทางเดียวเหมือนกัน คือจากกระเป๋าเราไปเข้ากระเป๋านายทุน  เราก็เลยจนลงๆ เจ้าของโรงไฟฟ้าก็รวยเอา รวยเอาจนรวยที่สุดในประเทศไทยแล้ว         ปัจจุบันไทยมีการสำรองไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 60% แสดงว่าไฟฟ้าล้นเกิน โดยปกติประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าเขาวัดกันที่อัตราการใช้ประโยชน์ คือดูว่าใน 1 ปี มี 8,760 ชั่วโมง มีการเดินเครื่องเต็มที่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาดังกล่าว โดยปกติโรงไฟฟ้าถ่านหินกับโรงไฟฟ้าก๊าซ เขาจะใช้อัตราการใช้ประโยชน์ 90% ของเวลาเต็มศักยภาพ  ที่น่าแปลกใจคือโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ได้ผลิตถึง 100% ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ได้เพียง 35% ต่ำมาก ในจำนวนนี้มี 5-6 แห่งยังไม่ได้เดินเครื่องเลย แต่ได้เงินไปในรูปของค่าความพร้อมจ่าย นี่คือสัญญาที่เป็นปัญหา สัญญาไม่เป็นธรรม เราทำสัญญายาว 25 ปี ในรูปไม่ซื้อก็ต้องจ่าย เมื่อโลกมีปัญหา เช่น โควิด-19 ประเทศมีปัญหาก้ปรับตัวไม่ได้         ทั้งๆ ที่มีรายงานวิจัยชิ้นหนึ่งขององค์กรพลังงานสากล (IEA) ที่กระทรวงพลังงานของไทยร่วมทำวิจัยอยู่ด้วย ก็เสนอไว้ชัดเจนในเรื่องให้มีความยืดหยุ่น และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนด้วย แต่ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานเราไม่ทำตามผลงานวิจัยที่ตัวเองไปทำ เราทำสัญญาแบบไม่ยืดหยุ่น เทคโนโลยีก็เป็นแบบที่ตายตัว ทั้งๆ ที่โลกทุกวันนี้เป็น VUCA World แล้ว มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และกำกวม แต่เรายังไปยึดอาของเก่า สัญญาเก่า 25 ปี เทคโนโลยีเก่า           ในภาพรวมของพลังงานไทย เราชูคำขวัญ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ปรากฏว่าการพึ่งตนเองด้านพลังงานของเรากลับลดลง  ในปี 2554 เราเคยพึ่งตัวเองได้ 46% จากข้อมูลกระทรวงพลังงาน แต่ตอนนี้เราพึ่งตัวเองได้เพียง 24% เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงอนาคต จะยั่งยืนได้ยังไง แล้วคนจะไม่จนลงได้อย่างไง จนทั้งระดับครอบครัวและระดับประเทศ  เพราะต้องซื้อทุกอย่าง ทั้ง ๆ ที่แสงอาทิตย์ไม่ต้องซื้อ แต่ว่าถูกกฎระเบียบห้ามหมด พ่อค้าพลังงานฟอสซิลมายืนบังแดดอยู่         ประเทศไทยพูดถึงความมั่นคงทางพลังงานคือ มีใช้ มีพอ ราคาถูก แต่ที่จริงแล้วยังต้องมีมิติของคาร์บอนต่ำ เรื่องประสิทธิภาพ เรื่องท้องถิ่นที่ต้องให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ควบคุมทั้งนโยบายและรายได้ รวมถึงมิติความเป็นธรรมอื่นๆ ด้วย         สรุปภาพรวมที่ผมนำเสนอในวันนั้นก็คือ เรื่องนโยบายเป็นเรื่องใหญ่เลย เรื่องแนวคิดพวกนี้ ทำยังไงให้ประชาชนเป็นผู้เขียนนโยบายพลังงาน ซึ่งผมเชื่อว่าโลกนี้ทุกอย่างมีทางออก ถ้าไม่เห็นแก่ตัว มีทางออกแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับีท่ 263 แปรงสีฟันไฟฟ้า

        ตลาดแปรงสีฟันไฟฟ้าทั่วโลกเริ่มคึกคักและมีแนวโน้มจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น หลังผู้คนหันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพอนามัยช่องปากกันมากขึ้น เราได้เห็นความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ราคา รวมถึงแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำผลทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพของแปรงสีฟันไฟฟ้ามาฝากสมาชิกกันอีกครั้ง* (ดูผลการทดสอบครั้งก่อนหน้าได้ใน ฉกลาดซื้อ ฉบับ 251)         เช่นเดียวกับครั้งก่อน การทดสอบแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่การตรวจวัดในห้องปฏิบัติการ และความเห็นจากอาสาสมัครที่ใช้งานจริง โดยคะแนนจะแบ่งออกเป็นสี่ด้าน ได้แก่ ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟัน (ร้อยละ 50)  แบตเตอรี/การชาร์จ (ร้อยละ 30) การใช้งานสะดวก (ร้อยละ 25)  และการปลอดเสียงรบกวน (ร้อยละ 5)          แปรงสีฟันไฟฟ้า 14 รุ่น ที่ทดสอบ (ราคาระหว่าง 715 ถึง 10,500 บาท)* มีทั้งรุ่นที่ใช้ระบบการสั่นของขนแปรง การหมุนของหัวแปรง หรือทั้งสองระบบรวมกัน แปรงส่วนใหญ่ที่เราทดสอบเป็นชนิดที่ชาร์จไฟได้ มีเพียงหนึ่งรุ่นที่ใช้พลังงานจากถ่านอัลคาไลน์        ในภาพรวมเราพบว่าการลงทุนไม่เกิน 3,000 บาท ก็สามารถได้แปรงไฟฟ้ารุ่นที่ได้คะแนนดีที่สุด (Oral-B iO-4n) มาครอบครองได้ หรือถ้าใครไม่อยากจ่ายเกินหนึ่งพัน ก็ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนระดับดี (Dontodent) ให้เลือกใช้ เช่นกัน และยังมีแปรงบางรุ่นที่ผู้ผลิตให้หัวแปรงสำหรับเปลี่ยนมากถึง 3 หรือ 4 หัว แม้ราคาอาจจะสูงขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อคำนวณดูแล้วก็เป็นการลงทุนที่น่าจะคุ้มค่าเช่นกัน        การทดสอบโดยสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศครั้งนี้ทำขึ้นในช่วงปลายปี 2565 เนื่องจาก ฉลาดซื้อ เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ร่วมลงขันจึงสามารถนำผลทดสอบเปรียบเทียบมาเผยแพร่ให้กับผู้ที่จ่ายค่าสมาชิกของเราได้           ราคาที่นำเสนอแปลงจากหน่วยเงินปอนด์หรือยูโร ตามข้อมูลที่พบในอินเทอร์เน็ต โปรดตรวจสอบราคา (รวมถึงค่าจัดส่งหากสั่งซื้อออนไลน์) อีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 263 โรงไฟฟ้าชุมชนกับความจริงที่หายไปจากการอภิปรายในสภาผู้แทน

        ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 152 เมื่อ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566  มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจที่ฝ่ายค้านได้ยกขึ้นมาอภิปราย คือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือ VSPP (Very Small Power Producer) ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์         ฝ่ายค้านโดยคุณสุทิน คลังแสงได้อภิปรายพอสรุปได้ว่า ท่านเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงซึ่งได้แก่ ไม้โตเร็ว และหญ้าเนเปียร์  เป็นต้น แต่ปัญหาอยู่ที่สัดส่วนการลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนกับวิสาหกิจชุมชน โดยระเบียบที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)กำหนดคือ ให้ชุมชนถือหุ้นในสัดส่วน 10% คุณสุทินเสนอว่าควรจะให้ชุมชนถือหุ้นมากกว่านั้นเป็น 60-70% เป็นต้น ต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นมาตอบแบบข่มผู้ตั้งคำถามว่า ให้ไปศึกษาดูให้ดีก่อน วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% เฉพาะในช่วงแรกเท่านั้นแต่สามารถเพิ่มการลงทุนได้ถึง 40% ในปีต่อๆ ไป         ผมได้ตรวจสอบจากเอกสารของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2563 พบว่า ไม่มีการกำหนดเวลาว่าจะให้ชุมชนสามารถเพิ่มทุนเป็น 40% ให้สำเร็จภายในปีใด นั่นแปลว่ายังคงถือหุ้นเท่าเดิมคือ 10% ตลอดอายุสัญญา 20 ปีก็ได้ นอกจากนี้ผมได้ติดตามเอกสาร “ประกาศเชิญชวน” (ออกปี 2564) โดย กกพ.ก็ไม่มีการพูดถึงสัดส่วนการลงทุนแต่ประการใด         ดังนั้นเราพอสรุปได้ว่าเรื่องสัดส่วนการลงทุนที่บอกว่าจะให้ชุมชนถือหุ้นถึง 40% จึงเป็นเรื่องหลอกลวงทั้งพลเอกประยุทธ์นำมาหลอกต่อในสภาและคุณสุทินเองก็ไม่ได้กล่าวถึงสัดส่วนการลงทุนที่ไม่ได้ระบุเวลา นี่คือความจริงที่หายไปประการที่หนึ่ง         ความจริงที่หายไปประการที่สองคือ ขนาดของโรงไฟฟ้า กำหนดว่าต้องไม่เกิน 3 เมกะวัตต์สำหรับที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เช่น เอาหญ้าเนเปียร์มาหมักเป็นก๊าซ) และไม่เกิน 6 เมกะวัตต์สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวล (จากเศษไม้โตเร็ว) คำถามคือโรงไฟฟ้าพวกนี้มีขนาดเล็กมากจริงหรือ         ข้อมูลจากผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศอ.บต. ท่านหนึ่งระบุว่า โรงไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ถึง 4 พันไร่ ถ้าขนาด 3 เมกะวัตต์ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าถึง 12,000 ไร่ การขนหญ้ามาขายก็มีต้นทุนคือค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ดังนั้นโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพจึงควรจะมีขนาดเล็กมาก(ตามชื่อ) แต่ควรเล็กขนาดไหน และข้อมูลจากประเทศเยอรมนีก็พบว่า ทั่วประเทศมีโรงไฟฟ้าชีวมวลและชีวภาพมีขนาดเฉลี่ยเพียง 0.6 เมกะวัตต์เท่านั้น (14,400 โรง 9,300 เมกะวัตต์)  มีอยู่โรงหนึ่งขนาดเพียง 75 กิโลวัตต์ (หรือต้องใช้ 14 จึงได้ 1 เมกะวัตต์) ต้องใช้มูลวัว 120 ตัวเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ เราลองจินตนาการดู การเลี้ยงวัว 120 ตัวก็พอจะเป็นไปได้ถ้าคนในชุมชนร่วมมือกันดีๆ แต่ถ้าเป็น 3 เมกะวัตต์ต้องใช้วัวกว่า 5 พันตัว มันยุ่งยากไม่น้อยเลย         โรงไฟฟ้าชุมชนประเภทนี้สามารถขายไฟฟ้าให้กับ กฟน.และกฟภ.ในราคาที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าทั่วไปถึงประมาณ 50 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้เท่าที่ผมตรวจสอบพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างน้อย 3 โรงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100% ของศักยภาพ ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนที่ทำสัญญากับ กฟผ.สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 45% ถึง 70% ของศักยภาพเท่านั้น (เพราะเรามีโรงไฟฟ้าล้นเกิน) ในเมื่อ (1) บริษัทเอกชนถือหุ้น 90% (2) ขายไฟฟ้าได้ในราคาแพงกว่าและ (3) ได้ผลิตไฟฟ้า 100% ของศักยภาพ ส่งผลให้เจ้าของโรงไฟฟ้ามีระยะเวลาคืนทุนเร็วมากเป็นการเอาเปรียบทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นๆ มากเกินไป         สุภาษิตเยอรมันเตือนไว้ว่า “มีปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด” ซึ่งอย่างน้อย 2 ประการดังที่กล่าวมาแล้วนี่แหละครับ การเมืองไทยมันต้องใช้ภาคประชาชนที่ตื่นรู้คอยตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอย่าให้พลาดสายตานะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นโยบายพรรคการเมืองด้านไฟฟ้า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ช่วงนี้ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป หลายพรรคการเมืองค่อยๆทยอยเสนอนโยบายด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากผมยังไม่เห็นนโยบายที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566  พรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอในเวทีปราศรัยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.50 บาทต่อหน่วย (จากปัจจุบันถ้ารวมภาษีด้วย  5.33 บาทต่อหน่วย)หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ได้นำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเพราะเรามีกำลังผลิตสำรองล้นเกิน หลายโรงไฟฟ้าแม้ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่ก็ยังได้รับเงิน  ซึ่งเป็นความจริงคุณหญิงสุดารัตน์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมพร้อมด้วยวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “เป็นสัญญาทาสทำค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทั้งประเทศ แบบนี้ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ พรรคไทยสร้างไทยจะนำประเด็นนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อยกเลิกสัญญาทาส ที่ปล้นประชาชนไปให้นายทุน ข้าราชการ นักการเมือง ไปเสวยสุข นักการเมืองบางคนเอาเงินที่โกงประชาชนไปใช้เป็นทุนในการซื้อเสียงเลือกตั้ง แล้วเข้ามาโกงพี่น้องประชาชนต่ออีกรอบ” (ไทยรัฐออนไลน์ 15 ม.ค. 66)ต้องขอขอบคุณพรรคไทยสร้างไทยที่ได้นำเสนอมาตรการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศและเป็นภาระที่ไม่จำเป็นธรรมของประชาชนมายาวนานแล้วสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยนำเสนอวิธีการแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบให้กับรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบและไม่ตอบสนองแต่อย่างใดในประเด็นเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินและเป็น “สัญญาทาส” แบบไม่ผลิตเลยก็ยังได้รับเงินจากผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอให้รัฐบาลเปิดเจรจากับคู่สัญญาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเชื่อว่าการเจรจาที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ที่เรียกว่าแบบ Win-Win แต่พรรคไทยสร้างไทยเลือกที่จะให้ “ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ก็ว่ากันตามความเชื่อของพรรคนะครับแต่สิ่งที่สังคมไทยควรหยิบมาพิจารณาเป็นบทเรียนก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่วินิจฉัยด้วยเสียง 6 ต่อ 3 ว่า การที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (ถึงร้อยละ 68 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมด) เป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56ผมว่านโยบายที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่พรรคการเมืองควรนำเสนอนอกเหนือจากเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินก็คือ การพึ่งตนเองด้านพลังงาน โดยการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องกำลังผลิตสำรองล้นเกินเชื้อเพลิงที่ว่านี้ก็คือแสงอาทิตย์ โดยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและราคาถูกลง สามารถคุ้มทุนได้ภายใน 6-8 ปีเรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเล็กๆ ผลิตได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ แต่ทราบไหมว่า ในปี 2021 ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้จำนวนกว่า 85,000 และ 48,000 ล้านหน่วย ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)ในขณะที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้เพียง 4,800 ล้านหน่วยเท่านั้น (จากจำนวนทั้งหมดที่ใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วย) แต่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติกว่า 1.1 แสนล้านหน่วยต่อปี โดยที่การใช้ก๊าซธรรมชาตินอกจากจะถูกปั่นราคาให้สูงลิ่วจากสถาการณ์สงครามแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนด้วยกล่าวเฉพาะออสเตรเลียซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน แต่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 3 ล้านหลัง โดยใช้ระบบหลักลบกลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว เป็นการแลกหน่วยไฟฟ้ากัน(ในราคาที่เท่ากัน)ระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตลอดอายุขัยของอุปกรณ์ 30 ปี ไม่ใช่แค่ 10 ปีที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ตามอำเภอใจด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนติดโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์จำนวน 2 ล้านหลัง ปีละ 5 แสนหลังเมื่อครบจำนวนแล้วผู้บริโภคจำนวนดังกล่าว หากติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3.2 กิโลวัตต์ (ผลิตได้ปีละ 1,380 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วย) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าปีละกว่า 42,000 ล้านบาทนโยบายแบบนี้สามารถตรวจสอบได้ และไม่ขึ้นกับคำวินิจฉัยของศาล  หากเอาตามแนวทางพรรคไทยสร้างไทยเสนอ สมมุติว่าศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการทุจริต ประชาชนก็ไม่ได้อะไรเลย ทั้ง ๆที่ได้ตัดสินใจกาบัตรให้ไปแล้ว เหมือนกับหลายนโยบาย(ของหลายพรรค) ที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลยในคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562ความจริงแล้ว เรื่องนโยบายหักลบกลบหน่วย มติคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการณ์โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  ได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พร้อมกับได้มีหนังสือสั่งการ “ด่วนที่สุด” ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 6 หน่วยงานเพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จนป่านนี้ 4 เดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลยมีคำสั่งใดที่ด่วนกว่า “ด่วนที่สุด” ไหมครับเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชาชนเราต้องรู้เท่าทันทั้งนักการเมืองและกลไกของระบบราชการทุกส่วนให้มากกว่าเดิม รวมทั้งทุกศาลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 โดยสารด่วนที่ยังด่วนไม่ได้ของ รถไฟฟ้า BTS

        ในเวลาเร่งด่วน  เชื่อว่าหลายๆ คนก็มักจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะที่รวดเร็ว ทันใจ รถออกตามเวลาที่กำหนดเพราะคาดหวังว่าจะช่วยให้สามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้ตามเวลาที่ตั้งใจ แต่เรื่องของคุณนิคสะท้อนว่า แม้ผู้บริโภคจะจ่ายค่าโดยสารในราคาเร่งด่วน แต่ก็ยังไม่ได้รับบริการที่สามารถเดินทางไปได้ด่วนอยู่ดี         เรื่องมีอยู่ว่า  คุณนิค ก็เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไปที่ต้องจำเป็นต้องใช้ รถไฟฟ้า BTS ในเวลาเร่งด่วนคือช่วงเวลา 17.00- 17.30 น. ในเวลาดังกล่าวคุณนิคสังเกตว่าผู้โดยสารจำนวนมากต่อแถวรอซื้อบัตรจนเป็นแถวยาว คุณนิคจึงพยายามหลีกเลี่ยง และเพื่อความรวดเร็วจึงซื้อบัตรจากตู้ระบบอัตโนมัติ ด้วยการสแกน QR CODE ไม่ต้องแลกเหรียญ ไม่ใช้เงินสด แต่ครั้งนี้ คุณนิคกลับพบว่า ระบบตู้อัตโนมัติทำงานได้ล่าช้าอย่างมาก หลังจากที่ได้สแกนจ่ายแล้ว  คุณนิครอรับบัตรโดยสารเป็นเวลากว่า 10 นาที เพราะเกรงใจคนที่ยืนต่อแถวข้างหลัง และด้วยความรีบที่จะไปทำธุระต่อ คุณนิคจึงตัดใจเดินออกมาและก็พบว่า ทั้งช่องซื้อบัตรโดยสารกับพนักงาน  ช่องแลกเหรียญแถวยาวมาก จึงหาจังหวะกลับไปซื้อบัตรโดยสารจากระบบตู้อัตโนมัติอีกครั้งในตู้ใหม่ที่อยู่ถัดออกมา การซื้อครั้งที่ 2 คุณนิคยังใช้เวลารอนานกว่า 5 นาทีกว่าบัตรโดยสารจะจ่ายออกมา เมื่อได้รับบัตรแล้ว  คุณนิคจึงรีบวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนเมื่อมองลงมายังพบว่า ตู้ระบบอัตโนมัติที่คุณนิคได้สแกน QR CODE ในครั้งแรกหน้าจอยังคงหมุนค้าง  ไม่สามารถทำอะไรได้ ไม่มีผู้โดยสารมาต่อแถว และไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการอะไรแต่อย่างใด         คุณนิคติดใจการทำงานของตู้ระบบอัตโนมัติอย่างมาก เพราะระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับบัตรโดยสาร ที่สำคัญ BTS สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นการโดยสารด่วน ทันสมัยแต่ในครั้งนี้ คุณนิคกลับใช้เวลาซื้อบัตรโดยสารทั้ง 2 ครั้ง เกือบครึ่งชั่วโมง !!           ปัญหาตู้ระบบอัตโนมัติยังมีต่อมาในครั้งที่ 2  คุณนิคเป็นผู้โดยสารที่ต่อแถวรอซื้อบัตรโดยสาร ด้วยการสแกน QR CODE อีกครั้ง  ครั้งนี้ คนข้างหน้าเจอปัญหาเหมือนที่คุณนิคเคยเจอมาทุกอย่าง คุณนิคเห็นเธอสแกนเงินแล้ว และได้แต่รอบัตรโดยสาร คุณนิครู้ว่าหากยืนรอก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะไม่อาจรู้ได้ว่าระบบจะทำงานได้ตามปกติได้เมื่อไหร่ คุณนิคจึงตัดใจเดินไปต่อแถวซื้อบัตรโดยสารจากพนักงานเพราะขณะนั้นมีคนจำนวนไม่มากนักและคงจะเร็วกว่าได้แต่รอตู้อัตโนมัติที่ยังมีปัญหาอยู่แน่นอน  คุณนิคได้บัตรโดยสารแล้วและยังเห็นคนข้างหน้าเธอยังคงยืนรอบัตรโดยสารออกมาจากตู้!         ครั้งที่ 3 ที่ทำให้คุณนิคสุดทนจนมาเล่ากับฉลาดซื้อครั้งนี้ คือเธอซื้อบัตรโดยสารด้วยการ สแกน QR CODE และเจอกับเหตุการณ์ที่เหมือนกับครั้งแรกทุกอย่างคือ ระบบได้ตัดเงินจากแอปธนาคารของเธอไปแล้วแต่บัตรโดยสารไม่ออกมา คุณนิคโมโหมาก เพราะรับปากว่าจะไปทำธุระสำคัญให้ทันเวลา ซึ่งหากครั้งนี้ไปสแกนซื้อบัตรครั้งใหม่ เท่ากับว่าเธอจะเสียเงินฟรีให้ระบบซื้อตั๋วเป็นครั้งที่ 2 เธอจึงเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ว่าตู้ไม่ยอมจ่ายบัตรจะต้องทำอย่างไร ปรากฏว่า พนักงาน BTS แจ้งให้คุณนิคไปต่อแถวผู้โดยสารที่กำลังรอซื้อบัตรโดยสารกับพนักงานเพื่อแสดงหลักฐานการจ่ายเงินแลกกับบัตรโดยสารได้ต่อไป    คุณนิคมองไปเห็นแต่แถวยาว จึงโมโหมากและบอกกับพนักงานไปว่า “กว่าจะได้สแกน ฉันก็ต่อแถวนานแล้ว พอสแกนแล้วระบบก็ไม่จ่ายบัตร  คุณก็ให้ไปต่อแถวใหม่ที่ยาวมาก ระบบมันมีปัญหาไม่ใช่ความผิดของฉันเลย ถ้ามันเป็นอย่างนี้แล้วจะโดยสารด่วนได้ยังไง ถ้าต่อแถวใหม่กว่าจะถึงฉัน ฉันใช้เวลาซื้อบัตรเกือบ 40 นาทีนะ” แล้วคุณนิคก็จำต้องเดินไปต่อแถวที่ยาวมากดังกล่าว  จึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         คุณนิคและทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ข้อสรุปตรงกันว่า ควรจะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ BTS ดังต่อไปนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกในช่วงเวลาเร่งด่วนได้จริง คือ   1. BTS ควรหมั่นตรวจสอบระบบตู้ซื้อบัตรอัตโนมัติทั้งแบบ สแกน QR CODE และหยอดเหรียญ ว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้ซื้อบัตรจำนวนมากยังสามารถทำงานได้ตามปกติหรือไม่  หากตู้มีปัญหาควรติดประกาศว่า ‘หยุดให้บริการชั่วคราว’เพราะหากเกิดปัญหา ล่าช้า ตู้ไม่สามารถจ่ายบัตรได้ ผู้โดยสารจะเสียเวลาซื้อบัตรนานมากกระทบต่อการใช้ชีวิต การเดินทาง เสียเงินโดยที่ไม่ได้รับบริการอีกด้วยBTS ควรจัดให้มีพนักงานและช่องบริการรับเรื่องร้องเรียน แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นได้ในทุกสถานีขึ้นมาโดยเฉพาะ การที่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจากระบบของ BTS เองและให้ผู้โดยสารต่อแถวร่วมกับช่องขายบัตรเพื่อรอรับการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การให้บริการที่ถูกต้อง เพราะไม่ได้อำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็วขึ้นได้แต่อย่างใด อีกทั้งการเสนอช่องทางให้ร้องเรียนการให้บริการใน 3 ช่องทางผ่านทาง Message  Line และ Call ย่อมจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าให้แก่ผู้โดยสารได้แต่อย่างใด ช่องทางดังกล่าวจึงไม่พอเพียง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ค่าเฉลี่ยกับความมั่นคงด้านพลังงานและของชีวิต

        เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จัดเสวนาเรื่อง “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟฟ้าแพง ขัดรัฐธรรมนูญ?” (อย่าลืมอ่านเครื่องหมายคำถามด้วยนะ) โดยผมเองได้มีโอกาสกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนั้น จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าให้ชาว “ฉลาดซื้อ” ฟังในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ         เอาเรื่องรัฐธรรมนูญก่อนเลยครับ         รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง กำหนดว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”นอกจากนี้ ในมาตรา 72 วรรคห้า กำหนดว่า “ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน” เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เป็นคำที่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2560 สองฉบับก่อนหน้านี้คือปี 2540 และ 2550 ยังไม่มีครับ         เท่าที่ผมติดตามความหมายของ “ความมั่นคงด้านพลังงาน” ค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นอย่างแคบๆ เช่น สามารถมีใช้ตลอดเวลา ราคาไม่แพง หากเป็นกรณีไฟฟ้าก็ต้องให้อุปสงค์กับอุปทานต้องเท่ากันตลอดเวลา เป็นต้น แต่ในระยะต่อมาความหมายเริ่มกว้างขึ้น เช่น มีมิติของความยั่งยืน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำและมีความเป็นธรรม         ความจริงแล้วโลกรู้จัก “ความไม่มั่นคงด้านพลังงาน” ก่อนที่รู้จัก “ความมั่นคงด้านพลังงาน” เสียด้วยซ้ำ โดยเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่ประเทศกลุ่มโอเปค (OPEC) ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปี 2516  Evan Hillebrand ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (University of Kentucky Patterson School สหรัฐอเมริกา) ได้ให้ความหมายที่ลึกซึ้งมากว่า “ความมั่นคงทางพลังงานไม่ใช่แค่เรื่องความสำคัญของพลังงาน แต่เกี่ยวข้องกับว่าพลังงานมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอย่างไร” ย้ำนะครับว่า มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติด้วย เหตุการณ์ประเทศรัสเซียถล่มโรงไฟฟ้าในประเทศยูเครนคงจะเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี มีคนสรุปว่า “ในช่วงที่อุณหภูมิหนาวจัดการทำลายโรงไฟฟ้าคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” มันสาหัสกว่าการทำลายความมั่นคงของชาติเสียอีก         ความมั่นคงด้านพลังงานไม่ใช่แค่หมายถึง (1) การมีพลังงานใช้ตลอดเวลา (2) ในราคาที่สามารถจ่ายได้และมีเสถียรภาพ แต่ยังคงหมายถึง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย (4) มีการปล่อยคาร์บอนและมลพิษน้อย และ (5) มีความเป็นธรรม มีธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล จากความหมายของศาสตราจารย์ Evan Hillebrand และความหมาย 5 ข้อข้างต้นพอสรุปได้ว่า “ประเทศใดไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นไม่มีความมั่นคง” และน่าจะเป็นจริงกับเรื่องทั่วๆ ไปด้วย         ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 คนไทยจ่ายค่าไฟฟ้าทั้งประเทศคิดเป็นมูลค่า 3.65 แสนล้านบาท ซึ่งตอนนั้นค่าไฟฟ้ายังไม่ได้ขึ้นมากนัก ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี ค่าเอฟทีได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (จำได้ใช่ไหมครับ)  ดังนั้นพอจะประมาณได้ว่า ค่าไฟฟ้าปี 2565 ทั้งปีน่าจะประมาณ 7.4-8.0 แสนล้านบาทซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่มีกิจการไฟฟ้า         คราวนี้มาถึงมาตรา 56 ที่พอสรุปให้กระชับได้ว่า การทำให้รัฐเป็นเจ้าของสาธารณูปโภค(ระบบการผลิตไฟฟ้า)น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ แต่เนื่องจากระบบการผลิตไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าซึ่งนับถึงเดือนสิงหาคม 2565 มีจำนวน 53,030 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นของรัฐหรือของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร้อยละ 32 ที่เหลือร้อยละ 68 ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไปแล้ว ส่วนของโครงข่ายสายส่งเป็นของ กฟผ.ทั้ง 100%  และส่วนฝ่ายจัดจำหน่ายซึ่งเป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงรวมกันเป็น 100%  การคิดความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของระบบไฟฟ้าว่าเป็นของรัฐหรือของเอกชนนั้น ควรจะคิดกันอย่างไร จะคิดรวมทั้งระบบทั้ง 3 ส่วน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้กรรมสิทธิ์ของรัฐก็น่าจะไม่น้อยกว่าร้อยละ 51    หรือจะคิดทีละส่วนๆ เพราะถือว่าหากส่วนใดส่วนหนึ่งไม่มีความมั่นคงก็ส่งผลให้ทั้งระบบก็ไม่มีความมั่นคงไปด้วย         ภาพบนเป็นภาพคนเอาเท้าข้างหนึ่งแช่น้ำเย็นอุณหภูมิลบ 60 องศาเซลเซียสซึ่งเย็นกว่าน้ำแข็ง เท้าอีกข้างหนึ่งแช่ในน้ำร้อนบวก 60 องศาเซลเซียส น่าจะพอลวกไข่ได้ เมื่อเป็นดังนี้ หากเราคิดตามหลักการหาค่าเฉลี่ยทางคณิตศาสตร์หรือทางสถิติ เราก็จะได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของคนคนนี้ก็ยังเท่าเดิม คือ 37 องศาเซลเซียส  ทั้งๆที่ ในความเป็นจริงแล้ว เท้าทั้งสองข้างอาจจะเปื่อยพองไปแล้วก็ได้         สิ่งที่ผมยกมาเปรียบเทียบ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ แต่มีคนเขียนเป็นหนังสือชื่อ How to lie with Statistics ขายดีด้วยทั่วโลก และมีคนแปลเป็นภาษาไทยว่า “วิธีปั่นหัวคนด้วยสถิติ”  ผมอธิบายเพิ่มเติมดังรูป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ตามดูการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่ม APEC

        เนื่องจากในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) เรามาตามดูการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าของกลุ่มสมาชิกซึ่งมีจำนวน 21 สมาชิก (บางสมาชิกไม่ได้เป็นประเทศ)         ผมได้รวบรวมข้อมูลในปี 2015 และปี 2021 เพราะว่าในปี 2015 เป็นปีที่มีข้อตกลงปารีสเพื่อให้ประเทศต่างๆช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่วนใหญ่ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ก๊าซนี้คือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติต่างๆ ตามมา แล้วก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่ก็มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานและการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มากขึ้นก็คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง         จำนวนประชากรของกลุ่มเอเปกมีประมาณ 37% ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันถึง 60% ของโลก ดังนั้น หากประเทศใดมีร้อยละของการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2015 กับ 2021 เพิ่มขึ้นมากก็แสดงว่าประเทศนั้นๆให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติด้วยดี เรามาดูกันเลยครับ        จากข้อมูลในรูปข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ในปี 2015 ของประเทศไทยปล่อยมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเล็กน้อย แต่พอถึงปี 2021 กลับต่ำกว่า ในขณะที่ประเทศเวียดนาม เริ่มจากเกือบศูนย์(มากไม่เห็นในรูป) จนพุ่งปรี๊ดถึง 10.53%  ในช่วงเวลาเดียวกัน         ความจริงดังกล่าวได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวที่อยู่มาตลอดนับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติเท่าที่ควร         นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศซึ่งมีราคาผันผวนเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นต้นมา         อนึ่ง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้โซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชน โดยใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า หรือ Net Metering  หากมติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติจริง ผู้บริโภคจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกหลายสตางค์ต่อหน่วยในงวดถัดไป การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศออสเตรเลียซึ่งติดไปแล้วกว่า 3 ล้านหลังคา ทั้งๆ ที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงครึ่งของประเทศไทย         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ซึ่งนอกจากจะเป็นเรื่องปากท้องของผู้บริโภคที่นับวันจะชักหน้าไม่ถึงหลังแล้ว ยังจะช่วยลดภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >