ฉบับที่ 199 ไฟโตสเตอรอล

ไฟโตสเตอรอล (phytosterol น่าจะออกเสียงว่า ไฟ-โต-สะ-เตีย-รอล) เป็นพฤกษเคมีที่เข้ามาสู่วิถีชีวิตของผู้บริโภคหลายท่าน ที่ปรับตัวให้เข้ากับความเป็นอยู่แบบไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้บางช่วงของชีวิตล่องลอยไปกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต จนทำให้กลายเป็นคนลดพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เกิดโรคเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายเร็วกว่าที่ควรเป็น เช่น มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง มีข้อมูลบอกกล่าวในเว็บที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบว่า ราว 50 ปีมาแล้ว ชาวฟินแลนด์เคยมีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก่อน จนทำให้คนวัยทำงานเสียชีวิตสูงที่สุดในโลก ด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด รัฐบาลฟินแลนด์และเอกชนได้ระดมนักวิจัยมาคิดหาสิ่งที่ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด จนปี 1972 นักวิจัยก็ประสบความสำเร็จค้นพบว่า ไฟโตสเตอรอล มีผลในการลดโคเลสเตอรอลในเลือดของชาวฟินแลนด์ ส่งผลให้ภายใน 5 ปีหลังจากนั้น อัตราการตายเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดของชาวฟินแลนด์ในวัยทำงาน ลดลงถึงร้อยละ 70 ซึ่งทำให้องค์การอนามัยโลกจัดอันดับคุณภาพชีวิตของชาวฟินแลนด์ว่า ดีเป็นที่ 11 ของโลกผู้เขียนได้ข้อสังเกตหนึ่งจากการเข้าไปดูเว็บขายผลิตภัณฑ์ที่มีไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบ คือ ชนิดของพฤกษเคมีที่อยู่ในโฆษณาในบ้านเรานั้นมักเป็น แพลนท์สตานอล (แต่ในต่างประเทศนั้นมีแพลนท์สเตอรอลด้วย) จึงฉุกใจว่า ชื่อต่างๆ ของพฤกษเคมีกลุ่มนี้ น่าจะมีความหมายในส่วนลึก ใช่แต่ว่าจะพูดแค่ ไฟโตสเตอรอล เท่านั้นอะไรคือ ไฟโตสเตอรอลคำว่า สเตอรอล นั้นเป็นชื่อของกลุ่มสารเคมี(ที่เป็นอนุพันธ์แอลกอฮอล์ของสารกลุ่มที่เรียกว่า steroid ซึ่งน่าจะออกเสียงว่า ส-เตีย-รอยด์) มีองค์ประกอบค่อนข้างซับซ้อนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์ที่สนในเรื่องนี้เห็นสูตรโครงสร้างแล้วควรจำได้ทันที สเตอรอลที่เรารู้จักดีมากๆ คือ โคเลสเตอรอล ส่วนในกรณีของ ไฟโตสเตอรอล นั้นมีความหมายว่าเป็น สเตอรอลที่ถูกสร้างขึ้นในพืช ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ แพลนท์สเตอรอล (plant sterol) และแพลนท์สตานอล (plant stanol) ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า สเตอรอลและสตานอล ตามลำดับ สำหรับสูตรโครงสร้างทางเคมีของสารทั้งสองนั้น มีความต่างกันเล็กน้อยแต่มีผลต่างกันทางชีวเคมีพอควรไฟโตสเตอรอลทั้งสองกลุ่มนั้น ขณะผ่านเซลล์ลำไส้เล็กเพื่อเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนใหญ่ถูกระบบชีวเคมีของเซลล์ขับสารกลุ่มนี้กลับออกไปสู่ลำไส้เล็ก จึงมีเพียงส่วนน้อยที่เข้ากระแสเลือด กลุ่มนักวิจัยอเมริกันกล่าวว่า อาหารที่มีปริมาณไฟโตสเตอรอลและโคเลสเตอรอลใกล้เคียงกันนั้น มีเพียงร้อยละ 5 ของแพลนท์สเตอรอลและร้อยละ 0.5 ของแพลนท์สตานอล เท่านั้น ที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดของเรา เมื่อเทียบกับโคเลสเตอรอลจากอาหารที่ผ่านเข้าสู่กระแสเลือดถึงร้อยละ 50แพทย์คนหนึ่งในอินเทอร์เน็ตตั้งข้อสังเกตว่า แพลนท์สเตรอลส่วนที่เข้าสู่ระบบโลหิตได้นั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายได้ถ้ามีมากไป ทั้งนี้เพราะสารนี้มีสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับโคเลสเตอรอล ดังนั้นเมื่อมีปริมาณในเลือดมากก็อาจเกาะผนังหลอดเลือดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ ประเด็นข้อสังเกตนี้เป็นที่สนใจอย่างยิ่งของนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ ในขณะที่แพลนท์สตานอลนั้นยังไม่มีข้อมูลที่เป็นสัญญานบ่งว่าก่อปัญหาดังกล่าวไฟโตสเตอรอลที่ขายในตลาดส่วนใหญ่ ได้จากการแยกออกมาจากน้ำมันพืชระหว่างการปรับสภาพให้น้ำมันพืชดูใสขึ้น สารที่แยกได้เหล่านี้ถูกขายให้กับโรงงานผลิตอาหาร เพื่อใช้เสริมให้อาหารนั้นดูดีขึ้นในลักษณะที่อาจเรียกว่า อาหารวัตถุประสงค์พิเศษ หรือใช้ผลิตเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยตรง เพื่อขายแก่ผู้ที่หวังว่า สารเคมีธรรมชาตินี้น่าจะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดซึ่งสูงผิดปรกติการยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลในลำไส้เล็กเกิดเนื่องจาก ไฟโตสเตอรอลสามารถเข้าไปแย่งที่โคเลสเตอรอลในส่วนที่เป็นไขมันของ ไมเซลส์ (micelles คือ ของผสมของสิ่งที่ได้จากอาหารที่กินเข้าไปแล้วไม่ละลายน้ำผสมกับน้ำดีที่ส่งมาจากถุงน้ำดี) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ไขมันถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็ก ส่งผลให้โคเลสเตอรอลจากอาหารที่ไม่ถูกรวมเข้าไปในไมเซลส์ต้องออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระอาหารที่มีสเตอรอลและสตานอลสูงคือ ถั่วและพืชน้ำมันอื่นๆ (เช่น งา เมล็ดฝ้าย มะกอกฝรั่ง) ธัญพืชที่ไม่ขัดสีรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผักหลายชนิดและผลไม้(เช่น กล้วย ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่)ปริมาณไฟโตสเตอรอลจากอาหารธรรมดานั้น อาจเพียงพอกับความต้องการของคนธรรมดาที่ กินอาหารอย่างระวังแหล่งของโคเลสเตอรอล แต่สำหรับคนที่กินไม่เลือกหรือมีปัญหาโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเองตามพันธุกรรมนั้น แค่อาหารธรรมดานั้นอาจไม่พอในการช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มองเห็นโอกาสรวย จึงนำเอาพฤกษเคมีที่ถูกสกัดออกออกจากน้ำมันมันพืชมาเติมลงในอาหารบางชนิดที่เหมาะสม เช่น เนยเทียม มายองเนส โยเกิร์ต น้ำส้มคั้น ขนมอบกรอบหรือเป็นผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยตรงการยอมรับถึงประโยชน์และความปลอดภัยที่สามารถใช้อ้างบนฉลากของผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมไฟโตสเตอรอลเป็นองค์ประกอบนั้น Wikipedia ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่ถูกกำหนดโดยองค์กรสำคัญๆ เช่น EFSA (The European Foods Safety Authority) ของสหภาพยุโรปที่ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US.FDA) และกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดา สำหรับรายละเอียดนั้นท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปอ่านหาความรู้ได้ด้วยตนเองอ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงพอเข้าใจว่า บทความนี้เขียนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า เมื่อท่านมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงแล้ว อาจมีแพทย์บางคนแนะนำให้ท่านกินผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แทนยากลุ่ม สแตติน (เพื่อเลี่ยงผลข้างเคียงของยา) แต่ท่านก็มีสิทธิเลือกทางอื่นเพิ่มได้ ด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้ปรกติแล้วร่างกายเราผลิตน้ำดีที่ตับ โดยใช้โคเลสเตอรอลจากเลือดเป็นวัตถุดิบ น้ำดีนั้นมีส่วนสำคัญต่อการดูดซึมไขมันผ่านลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด โดยหลังการทำงานแล้วน้ำดีจะเคลื่อนลงสู่ลำไส้ใหญ่ แล้วถูกดูดซึมกลับไปที่ถุงน้ำดี เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้นวิธีลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจึงสามารถทำได้ ด้วยการรบกวนการดูดซึมกลับของน้ำดีที่ลำไส้ใหญ่โดยอาศัยเพกติน(ซึ่งมีในผักและผลไม้หลายชนิด) เป็นตัวจับน้ำดีแล้วพาออกจากร่างกายไปพร้อมกับอุจจาระ ส่งผลให้มีการนำโคเลสเตอรอลจากเลือดมาสร้างน้ำดีที่สูญเสียไป ดังนั้นโคเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลงได้ในชีวิตประจำวัน เราสามารถเพิ่มปริมาณของเพกตินในลำไส้ใหญ่จากการกินถั่วต่างๆ ผลไม้ตระกูลส้ม แครอท ฟักทอง กล้วย มัน แอปเปิล สตรอเบอร์รี่ ถั่วเขียว มะเขือเทศ องุ่น แตงโม แตงกวา สับปะรด เป็นต้น(อาหารเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วมีไฟโตสเตอรอลธรรมชาติอยู่แล้วเช่นกัน) ดังนั้นแพทย์หลายท่าน จึงแนะนำคนไข้ให้เพิ่มการกินผักและผลไม้ที่มีเพกตินสูง เพื่อแก้ไขปัญหาโคเลสเตอรอลสูงในเลือดเป็นลำดับแรกก่อนการใช้ยาแหล่งหาความรู้เพิ่มเติมข้อมูลที่ท่านสามารถสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการที่เพกตินสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือดได้นั้น เช่น Pectin penta-oligogalacturonide reduces cholesterol accumulation by promoting bile acid biosynthesis and excretion in high-cholesterol-fed mice ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Chemico-Biological Interactions ชุดที่ 272 (2017) หน้าที่ 153-159 และ The Interaction Between Insoluble and Soluble Fiber ในหนังสือ Dietary Fiber for the Prevention of Cardiovascular Disease หน้าที่ 35-59 ซึ่งพิมพ์ในปี 2017 และข้อมูลในวารสาร Foods, Nutrients and Food Ingredients with Authorised EU Health Claims ชุดที่ 2 หน้า 153-174 ในปี 2015 ซึ่งระบุว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีเพกตินสามารถใส่ข้อความบนฉลากอาหารว่า “Pectins contribute to the maintenance of normal blood cholesterol concentrations” ถ้ามีเพกตินเป็นองค์ประกอบที่สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับเข้าร่างกาย 6 กรัมต่อวัน

อ่านเพิ่มเติม >