ฉบับที่ 208 ไม่พอใจบริการบริษัทหาคู่ ทำอะไรได้บ้าง

บริการแม่สื่อหรือการหาคู่ดูตัว ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะมีมาแต่โบราณ เพียงแค่ไม่ได้เป็นธุรกิจใหญ่โตเช่นปัจจุบัน มีการประมาณการว่า ธุรกิจจัดหาคู่ เฉพาะตลาดเมืองไทยนั้น มูลค่าปีละกว่า 5,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตได้อีก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากอยู่คนเดียวไปตลอด แต่จะเที่ยวไปค้นหาเองอาจไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย  ธุรกิจนี้จึงตอบสนองชีวิตคนเหงาที่ไม่ค่อยมีเวลา ด้วยการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้บริการที่น่าจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน ให้ได้มาเจอกัน เพียงแค่จ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ให้บริการ ซึ่งมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงล้านบาทคุณลัดดาเป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่สนใจบริการจัดหาคู่  โดยก่อนจะมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เธอได้จ่ายเงิน 40,000 บาทให้แก่บริษัทจัดหาคู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเธอตรวจสอบแล้วว่า มีชื่อเสียงพอสมควรตามคำอ้างของพนักงานที่ว่า เคยออกรายการโทรทัศน์และมีการรับรองธุรกิจจากต่างประเทศ จำนวนเงินที่จ่ายนี้เป็นแพ็กเกจที่จะได้รับคำแนะนำให้ออกเดท(นัดพบ) กับบุคคลที่ทางบริษัทคัดเลือกจากฐานข้อมูลของบริษัท โดยรับรองว่าจะพยายามหาผู้ที่มีความเหมาะสมตามความต้องการที่คุณลัดดาได้เคยตอบแบบสอบถามไว้ “ก่อนจะมีเดทแรก บริษัทส่งโปรไฟล์คู่เดทมาให้ดิฉันดู ต้องบอกว่า ไม่ตรงกับความต้องการที่ดิฉันเคยทำสัมภาษณ์ไว้ แต่พนักงานก็พยายามโน้มน้าวว่า ส่วนที่ไม่ตรงกับสเปคของคุณนั้น ไม่เป็นสาระสำคัญของชีวิตคู่”เมื่อได้พบกันจริง คุณลัดดาผิดหวังมากกับคู่เดทที่บริษัทเลือกให้ เพราะเขาไม่เพียงไม่ตรงกับคนที่ใช่ เขายังเป็นผู้ชายที่ทำในสิ่งที่เธอเคยให้ข้อมูลไว้กับบริษัทว่า เธอไม่ชอบพฤติกรรมแบบนี้เอามากๆ เธอจึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนทั้งหมดในการเจรจาด้วยตัวเองนั้น เธอได้รับคำตอบว่า บริษัทจะคืนเงินให้ส่วนหนึ่ง แต่เธอไม่ยินยอม บริษัทก็ขอเป็นเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทคืนเงินให้ทั้งหมด คุณลัดดาต้องเซ็นยินยอมในเอกสารเป็นภาษาอังกฤษว่าจะไม่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ในสื่อทุกชนิด เรื่องนี้ทำให้คุณลัดดาเห็นว่า ไม่เป็นธรรม และเชื่อว่าเพราะเหตุนี้เมื่อตอนที่เธอค้นหาข้อมูลในคราวแรก จึงไม่เคยมีเรื่องการร้องเรียนบริษัทนี้ในสื่อใดๆ เลย เธอมองว่าทำให้เธอเสียโอกาสในการพิจารณาเข้าใช้บริการสำหรับเรื่องที่คุณลัดดาขอคำปรึกษามีอยู่ 2 ประเด็น1.สามารถขอรับเงินคืนทั้งหมด โดยไม่เซ็นสัญญาเรื่องห้ามเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่2.สามารถเรียกค่าเสียหายอะไรได้บ้าง เพราะต้องเสียเวลาไปนัดพบกับบุคคลที่ไม่ใช่ตามที่เคยให้ข้อมูลแก่บริษัทไว้ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างเจรจาเพื่อให้ผู้ร้องได้ประโยชน์สูงสุด แต่ขอตอบคำถามทั้งสองข้อไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภคท่านอื่น กรณีนี้เป็นการซื้อขายบริการ ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามสัญญา คู่สัญญามีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาได้ กรณีที่บริษัทมีเงื่อนไขว่า จะคืนเงินทั้งหมดหากยินยอมเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล บริษัทสามารถทำได้ และถึงแม้จะมีการไกล่เกลี่ยกันในชั้นศาล ข้อตกลงดังกล่าวนี้ก็ยังทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากดำเนินการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษา สามารถนำผลของคดีมาเผยแพร่ได้ เงื่อนไขนี้เป็นอันตกไป ส่วนในเรื่องของค่าเสียหาย ผู้ร้องสามารถเรียกเพิ่มเติมเป็นค่าเสียเวลา ค่าเดินทางได้ตามที่เกิดขึ้นจริง สุดท้ายคุณลัดดาฝากถึงผู้บริโภคท่านอื่นๆ ที่กำลังตัดสินใจใช้บริการธุรกิจจัดหาคู่ ให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องการที่จะต้องออกไปพบกับคู่เดท เพราะอาจจะเสียความรู้สึกและเกิดอันตรายได้ หากคนที่บริษัทนัดให้มาเจอกันนั้นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ไม่พอใจหลังเซ็นสัญญา

สิ่งสำคัญก่อนตกลงเซ็นชื่อลงในสัญญาใดๆ คือ เราต้องรู้และเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ของสัญญานั้น เพราะบางทีคู่สัญญาของเราก็ไม่ได้บอกทุกรายละเอียดที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายกับเรา และอาจทำให้เรารู้สึกภายหลังว่าสัญญาดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม หรือรู้อย่างนี้ไม่เซ็นชื่อไปก็ดี ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมศรีได้ดูโฆษณาทางโทรทัศน์เกี่ยวกับการนวดแผนไทย โดยศูนย์บริการนวดแผนไทยแห่งหนึ่ง ซึ่งโฆษณาว่าช่วยรักษาโรคให้ดีขึ้นได้ เธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามรายละเอียดต่างๆ แต่ศูนย์บริการแนะนำว่าให้มาตรวจอาการดูก่อน จึงสามารถวินิจฉัยการรักษารวมทั้งค่าใช้จ่ายได้ ทำให้เธอและคุณแม่เดินทางไปที่ศูนย์ดังกล่าว ภายหลังการวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ แพทย์ก็แจ้งว่าเธอควรรักษาอาการเข่าเสื่อม บ่าแข็งและตะคริว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงไปมากกว่านี้ ส่วนคุณแม่ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นก็ควรทำการรักษาด้วยการนวดบำบัด เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้พิการได้ ทั้งนี้สำหรับค่าใช้จ่ายจะคิดราคาเป็นคอร์สรักษา 10 ครั้ง 65,000 บาท โดยแบ่งจ่ายล่วงหน้า 55,000 บาทก่อนได้ หลังได้รับทราบรายละเอียดดังกล่าว คุณสมศรีก็ตัดสินใจตกลงเข้ารับบริการ และทำการรักษาในครั้งแรก ซึ่งเมื่อรักษาเสร็จพนักงานก็นำเอกสารมาให้เซ็นเพิ่มเติม โดยแจ้งว่าเป็นส่วนของการรับทราบผลการรักษา และยอดค้างชำระ อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกว่าพนักงานเร่งรัดให้เธอรีบเซ็นชื่อและไม่ให้ใบเสร็จรับเงิน รวมทั้งไม่ให้สำเนาของเอกสารดังกล่าว วันรุ่งขึ้นเธอจึงโทรศัพท์ไปสอบถามถึงเอกสารที่ได้เซ็นชื่อไป โดยขอให้พนักงานถ่ายรูปข้อความในเอกสารส่งมาให้ดู และเมื่อได้อ่านเอกสารดังกล่าวแล้วก็รู้สึกว่าข้อสัญญาเอาเปรียบมากเกินไป เช่น หากทำผิดสัญญาจะต้องเสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญา นอกจากนี้ยังตะหนักว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นที่เคยใช้บริการมา เธอจึงต้องการยกเลิกสัญญาดังกล่าวและขอเงินคืนในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยผู้ร้องตรวจสอบรายละเอียดของสัญญา และสอบถามถึงข้อเท็จจริงก่อนการตกลงทำสัญญาดังกล่าว ซึ่งพบว่าผู้ร้องรับทราบรายละเอียดต่างๆ ก่อนเซ็นชื่อแล้ว เช่น ราคาหรือจำนวนครั้งที่สามารถใช้บริการได้ เพียงแต่เธอไม่พอใจที่พนักงานเร่งรัดให้เซ็นเอกสาร โดยไม่แนะนำให้อ่านรายละเอียดก่อน หรือไม่แจ้งข้อผูกมัดต่างๆ รวมทั้งเรื่องค่าบริการที่เพิ่งตระหนักได้ภายหลังว่าแพงเกินไป เมื่อเทียบกับที่อื่นที่เคยใช้บริการมา จากกรณีนี้หากผู้ร้องต้องการยกเลิกสัญญา พบว่าเป็นไปได้ยากเพราะเธอรับทราบรายละเอียดของการเข้ารับบริการและพึงพอใจก่อนตัดสินใจเซ็นชื่อแล้ว ซึ่งแม้ภายหลังศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ แล้วพบว่าค่าบริการของที่นี่แพงกว่าที่อื่นก็ไม่สามารถบอกเลิกได้ อย่างไรก็ตามศูนย์พิทักษ์สิทธิได้แนะนำให้ผู้ร้องไปเจรจาต่อรองกับแพทย์ที่ทำการรักษาให้ก่อน โดยหากเห็นว่าค่าบริการแพงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นที่เคยรักษาในวิธีการอย่างเดียวกันมาก็ควรขอต่อรองราคา ซึ่งนับว่าโชคดีที่ทางศูนย์บริการยินยอมลดให้ 10,000 บาท และทางผู้ร้องก็พอใจและยินดีใช้บริการต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของสัญญาที่ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดให้เสียค่าปรับและโดนฟ้องคดีอาญาหากทำผิดสัญญานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้บริการจะถูกฟ้องร้อง หากทำผิดข้อตกลงในสัญญาที่กำหนดไว้ แต่หากถูกฟ้องแล้วก็ต้องมาตรวจสอบว่า สัญญาดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปจริงหรือไม่ โดยหากพิสูจน์ได้ว่าเอาเปรียบเกินสมควรจริง ตามกฎหมายก็จะบังคับให้ชดใช้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี หรือตีความในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 ศัลยกรรมแล้วไม่เป็นที่คิด

การศัลยกรรมในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ทำศัลยกรรมดูดี หรือมีความมั่นใจในรูปร่างหน้าตาของตนเองมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากเราตัดสินใจแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งไปแล้ว แต่ไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้เราควรทำอย่างไรคุณปราณีเข้ารับการศัลยกรรมเสริมจมูกและตัดปีกจมูกที่คลินิกแห่งหนึ่ง ในอัตราค่าบริการ 45,000 บาท ภายหลังการผ่าตัด 2 อาทิตย์พบว่า ปีกจมูกไม่เท่ากัน ด้านซ้ายมีการยุบตัวมากกว่าด้านขวา มีขาซิลิโคนนูนออกมาทางด้านขวาของจมูก และมีอาการปวดที่จมูกด้านขวา เธอจึงกลับไปที่คลินิกอีกครั้ง เพื่อให้แพทย์ท่านเดิมตรวจรักษา แต่แพทย์คนดังกล่าวกลับแจ้งว่าต้องรอประมาณ 1 เดือน จมูกจึงจะเข้าที่และหากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวดไปก่อน อย่างไรก็ตามด้วยความไม่สบายใจเธอไปเข้ารับการรักษาที่คลินิกแห่งอื่น ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าต้องเอาซิลิโคนออก เนื่องจากเกรงว่าขาซิลิโคนอาจทะลุ ทำให้เธอต้องผ่าตัดใหม่และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวดดังกล่าว เธอจึงมีความประสงค์ให้ทางคลินิกเดิมรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังการเจรจาผู้ร้องมีข้อเสนอต่อทางคลินิกคือ ขอให้ชดเชยเยียวยาที่จ่ายไปแล้วจริง และค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องในอนาคตเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยผู้ร้องไม่ได้เรียกร้องค่าทำศัลยกรรมจมูกจำนวน 45,000 บาทคืน ซึ่งทางคลินิกแห่งนี้ได้ชี้แจงว่าสำหรับกรณีของผู้ร้องเป็นกรณีแก้ไข เพราะคนไข้เคยรับการรักษามาแล้วจากคลินิกอื่น ซึ่งคลินิกของตนได้ให้คำปรึกษาและทำการรักษาให้ตามที่คุยและตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามเมื่อคนไข้ทำการผ่าตัดไหมไป 7 วัน พบว่าคนไข้มีความกังวลเป็นอย่างมาก ว่าจมูกไม่เท่ากัน ทรงจมูกไม่สวยอย่างที่ต้องการ ทางคลินิกจึงแนะนำให้รอสักพัก เพราะศัลยกรรมต้องใช้เวลาเพื่อให้แผลหายดีและเข้าที่ภายใน 3-6 เดือน ซึ่งในขณะนั้นจมูกของคนไข้ยังมีอาการบวมอยู่ ต่อมา 2 อาทิตย์ คนไข้ได้เข้ามาให้แพทย์ดูอีกครั้งว่า มีตุ่มข้างในรูจมูกด้านขวา แพทย์ได้ทำการตรวจและนำแนะให้คนไข้ว่า อาจเป็นอาการบวมที่ยังไม่ยุบดี หรือเป็นแผลนูนจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับชนิดของผิวคนไข้ หรืออาจจะเป็นปลายซิลิโคน ที่ยังไม่เข้าที่ แพทย์จึงแนะนำให้คนไข้ฉีดยา และทานยา เพื่อลดอาการอักเสบ และอาการบวม ซึ่งต้องรอเป็นเวลา 1 อาทิตย์ จึงจะยุบลง นอกจากนี้ได้อธิบายขั้นตอนการดูแลรักษา แต่คนไข้ไม่พอใจและเรียกร้องให้คลินิกรับผิดชอบ ซึ่งคลินิกเห็นว่าการทำศัลยกรรมต้องรอคอย เพราะแต่ละกรณีการหายของแผลไม่เหมือนกัน แต่คนไข้ปฏิเสธที่จะรักษาและเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งทำให้ทางคลินิกเห็นว่าเกินกว่าเหตุ เพราะไม่ได้ทำให้คนไข้พิการหรือจมูกผิดรูป ดังนั้นจะยินยอมเยียวยาค่าเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท เป็นค่าเอาซิลิโคนออกให้ ซึ่งถ้าทางผู้เสียหายไม่พอใจ สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้     เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และต้องดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่ต้องการทำศัลยกรรม จำเป็นต้องเก็บหลักฐานต่างๆ เอาไว้ให้ครบถ้วนเผื่อในกรณีที่เกิดปัญหาเช่นนี้ โดยควรถ่ายรูปเปรียบเทียบให้ชัดเจน สำหรับก่อนและหลังทำศัลยกรรม ใบเสร็จรับเงิน รวมถึงใบรับรองแพทย์ที่น่าเชื่อถือ เมื่อเราเข้ารับคำปรึกษาเพื่อแก้ไขในส่วนต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ไม่พอใจสินค้า ยินดีคืนเงิน

นักช้อปหลายๆ คนคงเคยประสบปัญหาซื้อของแล้วได้ของที่ไม่โดนใจ แม้ตอนจ่ายตังค์ซื้อจะดูโอเค แต่พอกลับมาบ้านเกิดรู้สึกว่ามันไม่ใช่ อาจเพราะซื้อโดยไม่ทันคิด ว่าของนั้นเราอยากได้จริงๆ หรือเปล่า ซื้อแล้วจะเอาไปใช้อะไร หรือซื้อมาซ้ำทั้งๆ ของที่บ้านก็มีอยู่แล้ว เมื่อสติเรากลับคืนมาแล้วเกิดฉุกคิดได้ ว่าจริงๆ เราไม่อยากได้หรือจำเป็นต้องใช้ของที่เพิ่งซื้อมา ทีนี้คำถามที่ตามมาคือ ของที่เราซื้อมาแล้วเกิดรู้สึกไม่พอใจ เน้นว่าแค่รู้สึกไม่พอใจ คือของที่ซื้อมาไม่ได้ชำรุดหรือมีปัญหา แค่เราเกิดเปลี่ยนใจไม่อยากได้ของที่ซื้อมา เรามีสิทธิ์ที่จะนำของไปขอคืนเงินกับร้านค้าที่เราซื้อของมาได้หรือเปล่า? “รับประกันความพึงพอใจในสินค้า ไม่พอใจเรายินดีคืนเงิน” ถ้าประโยคนี้ไม่ใช่แค่คำโฆษณา ผู้บริโภคอย่างเราก็น่าจะมีสิทธิขอคืนเงินได้...ใช่มั้ย?   ซื้อของแล้วเกิดเปลี่ยนใจ ขอคืนเงินได้ แม้จะดูเป็นเรื่องแปลกๆ อยู่สักหน่อย ที่ของที่เราตัดสินใจซื้อด้วยความเต็มใจตอนอยู่ที่ร้าน กลับกลายเป็นของที่เราไม่อยากได้เมื่อกลับมาอยู่บ้าน แต่เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เราในฐานะผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลในเรื่องการซื้อสินค้าและบริการ ไม่ใช่แค่เรื่องราคา คุณภาพ หรือข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ แต่ยังครอบคลุมถึงเรื่องสำคัญอย่าง “การรับประกันสินค้า” ซึ่งถือเป็นบริการลูกค้าที่เหล่าห้างร้านต่างๆ ต้องมีไว้คอยบริการให้กับคนซื้อของ   ไม่ว่าเราจะซื้อของจาก ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกชื่อดังทั้งหลาย หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะขอคืนสินค้าเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินได้ แต่ว่าก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่แต่ละที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นเราในฐานะผู้บริโภคนักช้อป จำเป็นมากที่ต้องรู้ถึงรายละเอียดเงื่อนไขการขอคืนสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ   ก่อนจ่ายเงินซื้อของ ต้องเช็คเงื่อนไขการเปลี่ยน - คืน ตอนนี้เรารู้กันแล้วว่า ของที่เราซื้อมาแล้วเกิดปัญหา ชำรุด สินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณา หรือรู้สึกไม่พึงพอใจในตัวสินค้า เราสามารถนำไปขอคืนเงินได้ แต่ว่าต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ร้านค้าผู้ขายกำหนดไว้ แล้วเราจะรู้ถึงเงื่อนไขเหล่านั้นได้อย่างไร? ง่ายที่สุดก็คือการสอบถามโดยตรงจากพนักงานขาย ซึ่งถือเป็นช่องทางที่เราเข้าถึงขอมูลต่างๆ เกี่ยวกับสินค้าได้ง่ายที่สุด (แม้ว่าจากการทดสอบของฉลาดซื้อเรื่องการขอคืนสินค้า เราจะพบว่ามีหลายที่ที่พนักงานขายสินค้าคนเดิมอาจเปลี่ยนเป็นคนละคน จากพนักงานที่น่ารักดูเป็นมิตรตอนที่พูดเชิญชวนให้เราซื้อของ อาจกลายเป็นพนักงานขายที่ดูไม่อยากปฏิสัมพันธ์กับใครและไม่ค่อยสุภาพ ในเวลาที่เราไปติดต่อขอคืนสินค้า) การสอบถามข้อมูลเงื่อนไขการคืนสินค้าจากพนักงานขายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่นักช้อปทุกคนควรปฏิบัติ เพราะปัจจุบันข้อมูลเรื่องการขอคืนสินค้าดูยังเป็นเรื่องลึกลับเข้าถึงยาก อาจจะมีบ้างในห้างสรรพสินค้าแบบแห่งที่แจ้งขอมูลเรื่องการขอเปลี่ยน – คืนสินค้าไว้ที่จุดบริการลูกค้า หรือในเว็บไซต์ของห้าง และที่ใกล้ตัวคนซื้อขึ้นมาหน่อยคือในใบเสร็จ แต่ก็ยังมีให้เห็นแค่ไม่กี่แห่ง (จากการทดสอบเราพบแค่ที่ Big C เท่านั้น) แถมข้อมูลก็ไม่ละเอียด เพราะแจ้งเพียงแค่ให้เก็บใบเสร็จไว้เป็นหลักฐานในการขอเปลี่ยน – สินค้าเท่านั้น   เงื่อนไขในการขอคืนสินค้าที่เราควรรู้ -ระยะเวลา – เพราะความที่ไม่ได้มีกฎหมายบังคับชัดเจนเรื่องการคืนสินค้า ทำให้การกำหนดระยะเวลาในการคืนสินค้าของห้างร้านแต่ละแห่งแตกต่างกันไป 7 วันบ้าง 15 วันบ้าง 30 วันบ้าง เพราะฉะนั้นระยะเวลาในการขอคืนสินค้านับจากวันที่ซื้อจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอันดับแรกๆ ที่เราควรรู้ นอกจากนี้สินค้าแต่ละประเภทก็มีการกำหนดระยะเวลาการขอคืนสินค้าที่แตกต่างกัน เช่น อาหารสด อนุญาตให้คืนสินค้าภายในวันที่ซื้อเท่านั้น หรือถ้าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าก็อาจให้คืนสินค้าภายใน 10 – 15 วัน -สถานที่คืนสินค้า – ส่วนใหญ่จะต้องติดต่อขอคืนสินค้าที่จุดบริการลูกค้าในแผนกของห้างร้านสาขาที่เราได้ซื้อสินค้ามา และทางผู้ขายเขาจะรับประกันเฉพาะค่าสินค้าที่เรามาขอคืนเท่านั้น ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ผู้ขายไม่รับผิดชอบ -สภาพของสินค้า – แน่นอนว่าสินค้าที่นำมาขอคืนสินค้าในกรณีที่สินค้าไม่ได้ชำรุดหรือเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน สินค้านั้นต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด คืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ใกล้เคียงตอนที่ซื้อมา (กรณีที่แกะกล่องเอาของออกไปใช้แล้ว) ต้องพยายามอย่าให้ไม่มีร่องรอยการใช้งานหรือชำรุดเสียหาย ถ้าเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องอยู่ครบถ้วน รวมถึงเอกสารต่างๆ ที่มพร้อมกับสินค้า ผู้ขายมักจะใช้คำจำกัดความง่ายๆ ว่าสินค้าที่นำมาคืนนั้น ต้องอยู่ในสภาพที่ “สามารถนำมาขายได้ต่อ” -หลักฐานในการขอคืนสินค้า – หลักๆ ก็คือใบเสร็จการซื้อสินค้า ไม่มีไม่ได้ นอกจากนี้อาจจะมีหลักฐานการจ่ายผ่านบัตรเครดิต กรณีซื้อสินค้าผ่านบัตร บางที่อาจให้ผู้ขอคืนสินค้าต้องกรอกเอกสารเพิ่มเติม -วิธีการคืนเงิน – ส่วนใหญ่ผู้ขายก็จะคืนให้ตามวิธีที่เราจ่ายเมื่อตอนซื้อ ถ้าจ่ายด้วยเงินสดก็จะคืนเป็นเงินสด ถ้าจ่ายผ่านบัตรก็จะคืนกลับไปในบัตร แต่ก็บางที่แม้จะจ่ายผ่านบัตรแต่ก็คืนให้เป็นเงินสด โดยจะมีการกำหนดวงเงินเอาไว้ เช่น ไม่เกิน 5,000 บาท (การคืนเงินผ่านทางบัตรเครดิตต้องคอยตรวจเช็คยอดเงินให้ดี เพราะผู้ขายมักจะคืนเงินหลังจากตกลงคืนสินค้าเรียบร้อยแล้ว 1 – 2 เดือน) ในการสำรวจของฉลาดซื้อเรายังพบว่ามีห้างสรรพสินค้าอยู่ 2 แห่ง ที่ไม่ได้คืนเป็นเงินสดแต่คืนมาเป็นคูปองเงินสดราคาเท่าราคาสินค้า คือที่ เดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน และ เอ็มโพเรียม (ทั้ง 2 ห้างอยู่ในเครือเดียวกัน คือ บริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป) ซึ่งนั้นเท่ากับว่าเป็นการบังคับผู้บริโภคกลายๆ ว่าต้องกลับมาซื้อของกับทางห้างอีกหากไม่อยากให้เงินนั้นสูญไปเฉยๆ แม้คูปองเงินสดนั้นจะไม่ได้กำหนดวันหมดอายุ แต่ก็ดูแล้วไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภคสักเท่าไหร่ -สินค้าบางอย่างไม่สามารถขอคืนเงินได้ – ถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ควรรู้ก่อนซื้อสินค้า ยิ่งในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนสินค้าจากเหตุผลด้านความพึงพอใจ ไม่ใช่เพราะสินค้าชำรุดหรือมีปัญหา สินค้าที่ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่ยอมให้คืนอย่างเด็ดขาด ก็มีอย่างเช่น ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ถุงเท้า หนังสือ แบตเตอรี่ ซีดี ฯลฯ และที่ต้องดูให้ดีคือ ในกลุ่มสินค้าลดราคา สินค้าราคาพิเศษ สินค้าลดล้างสต๊อก สินค้าเหล่านี้ก่อนจะซื้อต้องสอบถามให้ดีเรื่องการขอเปลี่ยนคืนสินค้า อย่าหลงซื้อโดยเห็นแก่ราคาที่ถูกกว่า ถ้าใช้ไปไม่นานแล้วเสียขึ้นมา จะเอากลับไปเปลี่ยนหรือขอคืนเงินไม่ได้ เดี๋ยวจะต้องมาปวดใจได้ของไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป   การขอเปลี่ยน – คืนสินค้า ในมุมของกฎหมาย หลังจากฉลาดซื้อเราได้ทดสอบดูเรื่องเงื่อนไขและมาตรการการขอเปลี่ยน – คืนสินค้ากับบรรดาห้างร้านต่างๆ แล้ว เราก็พบข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า แต่ละที่แต่ละแห่งต่างก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ตัวเองจะกำหนด ทั้งๆ ที่สินค้าอาจจะเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ราคาเท่ากัน แต่เงื่อนไขการขอคืนสินค้าไม่เหมือนกัน นั้นเป็นเพราะว่าเราไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดใดๆ ที่ดูแลในเรื่องนี้ แม้จะมี พ.ร.บ. ที่พูดถึงเรื่องสินค้าอย่าง พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย แต่ก็ดูแลเฉพาะสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าไม่ปลอดภัยเท่านั้น หรือ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง ก็คุ้มครองเฉพาะคนซื้อของแบบขายตรง ที่ดูจะเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด ก็คงเป็น “โครงการส่งเสริมการรับประกันคุณภาพสินค้าและบริการประเภทธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง” ที่ทางกรมการค้าภายในทำไว้กับบรรดา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ ที่ให้มีการกำหนดเงื่อนไขการเปลี่ยน – คืนสินค้า แต่ว่าก็เป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น   ถ้าขอคืนไม่ได้...ให้กฎหมายช่วย สำหรับคนที่พบปัญหา ไปขอคืนสินค้าแล้วไม่ได้รับการบริการ ไม่ได้เงินคืน เปลี่ยนสินค้าไม่ได้ หรือผู้ขายปฏิเสธความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง อย่าเพิ่งหมดหวัง เพราะเรายังสามารถใช้กฎหมายเป็นตัวช่วยจัดการปัญหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เรื่อง ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ได้กำหนดให้ผู้ขายสินค้าต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ซึ่งทำให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถฟ้องร้องเพื่อพิจารณาเรียกร้องการชดเชยได้ โดยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาวิธีคดีผู้บริโภค ช่วยในการฟ้องร้อง   สิ่งที่ต้องทำเมื่อจะไปขอคืนสินค้า 1.ตรวจสอบเงื่อนไขการคืนสินค้าของร้านที่เราจะไปขอคืนสินค้าให้ดีและละเอียดที่สุดเท่าที่จะได้ สอบถามข้อมูลจากหลายๆ ทาง ในเว็บไซต์ของร้าน โทรถามกับร้านโดยตรง หรือจากคนที่เคยมีประสบการณ์ขอคืนสินค้า 2.เตรียมหลักฐานการซื้อสินค้าไว้ให้ครบถ้วนที่สุด เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ซื้อสินค้าต้องรักษาหลักฐานการซื้อไว้ให้ดีที่สุด โดยเฉพาะใบเสร็จ 3.พยามยามรักษาสภาพของสินค้าที่เราจะนำไปขอคืนให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด รวมถึงเอกสารต่างๆ ของสินค้า หรือแม้แต่หีบห่อบรรจุก็ต้องพยายามรักษาให้คงสภาพเหมือนเมื่อตอนที่ซื้อมาให้มากที่สุด 4.ยิ่งติดต่อขอคืนเร็วมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะเราจะสามารถจัดการสภาพของสินค้าและเอกสารต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ทางร้านค้าเองสามารถตรวจสอบข้อมูลการซื้อสินค้าของเราได้ง่ายด้วยเช่นกัน 5.ข้อนี้สำคัญ ต้องพยายามรักษาอารมณ์ของตัวเองให้ดี เพราะแน่นอนการไปติดต่อเพื่อขอคืนสินค้า (โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดจากความไม่พึงพอใจในสินค้า) พนักงานที่รับเรื่องจากเราอาจมีบ้างที่ไม่ค่อยยินดีที่จะให้บริการ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด หากเราต้องการให้การติดต่อขอคืนสินค้าของเราประสบความสำเร็จ เราเองต้องเป็นฝ่ายที่พยายามสื่อสารด้วยท่าทีสุภาพ แต่ก็ต้องรักษาสิทธิอย่างเต็มที่ ซึ่งการที่เราเตรียมตัวตามที่บอกไว้ในข้อ 1 - 3 มาอย่างดี ย่อมทำให้เรามีน้ำหนักเพียงพอที่จะได้รับบริการที่เหมาะสม   เงื่อนไขการขอคืนสินค้าของห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ ชื่อ ระยะเวลาในการขอคืนสินค้า สินค้าที่ยกเว้นในการขอคืนสินค้า หมายเหตุ โลตัส 30 วัน - เครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องแจ้งขอคืนสินค้าภายใน 7 วัน สินค้าอาหารสด และสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ รับเปลี่ยน-คืนได้ก่อนวันหมดอายุ บิ๊กซี 30 วัน ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน ซีดี สินค้าลดราคา เครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องแจ้งขอคืนสินค้าภายใน 10 วัน สินค้าอาหารสด เบเกอรี่ คืนก่อนวันหมดอายุ ท็อป และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ 7 วัน - - เซเว่น อีเลฟเว่น 7 วัน - สินค้าที่เสียก่อนวันหมดอายุ แฟมมิรี มาร์ช 7 วัน - สินค้าที่เสียก่อนวันหมดอายุ ฟูดแลนด์ - - สินค้าคุณภาพไม่ดี แม็คโคร 7 วัน - อาหารสดและแช่แข็ง ต้องแจ้งขอคืนสินค้าภายในวันที่ซื้อสินค้าเท่านั้น เซ็นทรัล 14 วัน ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน เครื่องประดับ เครื่องสำอาง หนังสือ ไส้ปากกา ผ้า สินค้าลดราคา - โรบินสัน 14 วัน ชุดว่ายน้ำ ชุดชั้นใน เครื่องประดับ เครื่องสำอาง หนังสือ ไส้ปากกา ผ้า สินค้าลดราคา - เดอะ มอลล์ 7 วัน สินค้าลดราคาพิเศษ - เพาเวอร์บาย 7 วัน กล้องถ่ายรูป, กล้องวีดีโอ, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, โน๊ตบุ๊ค, แท็บเล็ต, สินค้าตัวโชว์, สินค้าลดล้างสต๊อก, ทีวีจอใหญ่กว่า 30 นิ้ว สินค้าที่ใช้แล้ว หรือ แกะกล่องแล้วไม่รับคืน มีดังนี้ ตู้เย็น, แผ่นซีดี, วีดีโอเทป, คอมพิวเตอร์ ซอฟแวร์, ฟิล์ม, ถ่านไฟฉาย, ถ่านชาร์จ, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องซักผ้า, เครื่องดูดฝุ่น, ไมโครเวฟ, เครื่องครัวขนาดเล็ก, ผ้าหมึก, อุปกรณ์ทำความสะอาด   ผลการสำรวจบริการคืนสินค้าของห้างสรรพสินค้าและห้างค้าปลีก   ห้างสรรพสินค้า /สาขา สินค้า ราคา ได้ ไม่ได้ วันที่ซื้อ วันที่คืน ง่าย ยาก เพราะ โรบินสัน /รังสิต เสื้อยืดหมีพูห์ 495- /   - 8 เมย.56 11 เมย.56 สยามพารากอน เสื้อยืด ยี่ห้อ Lantona 445-   / ไม่ให้คืนสินค้า ไม่มีเหตุผล 8 เมย.56 11 เมย.56 เทสโก้ โลตัส/สุขุมวิท 50 เสื้อยืดคอกลม 169- /   - 9 เมย.56 10 เมย.56 แม็คโคร/รังสิต เสื้อกีฬา ยี่ห้อ FBT 149- /   - 8 เมย.56 11 เมย.56 เดอะมอลล์/งามวงศ์วาน เสื้อยืดเด็ก ยี่ห้อ Tom&jerry 390-   / ต้องรอเป็นเวลาประมาณ 1 ชม. เนื่องจากทางแคชเชียร์ต้องยื่นเอกสารการทำคืนสินค้าให้ผู้จัดการแผนกต่าง ๆ รวม 3 ท่าน และไม่สามารถคืนเป็นเงินสด จึงคืนมาเป็นคูปองเงินสดราคาเท่าราคาสินค้า ไม่กำหนดวันหมดอายุ แต่ต้องมาใช้ซื้อสินค้าในเครือเท่านั้น 6เมย.56 10 เมย.56 บิ๊กซี /สี่แยกบ้านแขก เสื้อเชิ้ต 359- /   - 10 เมย.56 11 เมย.56 เอ็มโพเรียม เสื้อกล้ามผู้หญิง Giordano 200-   / ต้องรอเป็นเวลาประมาณ 15 นาที เนื่องจากทางแคชเชียร์ต้องยื่นเอกสารการทำคืนสินค้าให้ผู้จัดการเซ็นอนุมัติ แต่ไม่สามารถคืนเป็นเงินสด จึงคืนมาเป็นคูปองเงินสดราคาเท่าราคาสินค้า ไม่กำหนดวันหมดอายุ แต่ต้องมาใช้ซื้อสินค้าในเครือเท่านั้น 10 เมย.56 11 เมย.56 โตคิว       / ไม่ให้คืนเพราะพนักงานอ้างว่าหากให้คืนสินค้า พนักงานต้องจ่ายค่าสินค้าชิ้นนั้นแทน 10 เมย.56 11 เมย.56   เงื่อนไขในการสำรวจ 1.อาสาสมัครจะต้องซื้อเสื้อจากร้านที่ส่วนของทางห้างโดยตรง (ไม่ใช่ร้านที่มาเช่าพื้นที่) 2.ต้องนำเสื้อที่ซื้อมาไปติดต่อขอคืนสินค้า โดยต้องให้เหตุผลในการเปลี่ยนว่าไม่พอใจในสินค้าเท่านั้น เช่น ไม่ชอบสี หรือใส่แล้วไม่ชอบ 3.ติดต่อขอคืนสินค้าโดยที่ สินค้ายังอยู่ในสภาพเดิม และมีใบเสร็จเป็นหลักฐาน

อ่านเพิ่มเติม >