ฉบับที่ 254 ผลทดสอบหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก (อายุระหว่าง 5-12 ปี)

        ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทั่วไปและเด็กเล็ก เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค อีกทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อได้บางส่วน อย่างไรก็ตามปัจจุบันหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่มีมาตรฐานกำกับ  สำหรับหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว (มอก. 2424-2562) และหน้ากากแบบ N 95 (มอก.2480-2562) แต่สำหรับหน้ากากอนามัยเด็กนั้น มาตรฐานที่กำหนดอาจยังไม่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเด็กเล็กมีสภาพร่างกายต่างจากผู้ใหญ่ สำหรับคุณสมบัติของหน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับเด็กนั้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลต่างของค่าความดันอากาศ นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น         และในปี พ.ศ. 2565 นี้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังพิจารณาผลักดันให้ สินค้าหน้ากากอนามัยเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงร่วมกันทดสอบหน้ากากอนามัยที่ระบุบนฉลากว่าสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-12 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการผลักดันเพื่อออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่หมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็กด้วยเช่นกัน         คณะทำงานได้เก็บตัวอย่างสินค้าทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง โดยทดสอบสองรายการ ที่กำหนดใน มอก.2424-2562 และ มอก. 2480-2562 ได้แก่        1) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก (Filter Efficiency)        2) ทดสอบผลต่างความดันของอากาศ (Pressure Difference: DP) ผลการทดสอบ        1.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และการแพทย์ศัลยกรรมตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562         ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 3 ยี่ห้อ ผลการทดสอบพบว่า ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ทุกยี่ห้อ ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ผลต่างความดันอยู่ในเกณฑ์ของ มอก. ทุกยี่ห้อ (ดูตารางที่ 1)         2.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไปตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562         ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 11 ยี่ห้อ สำหรับประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ยี่ห้อ Unicharm ต่ำกว่าเกณฑ์         สำหรับยี่ห้อ ที่มีค่า ผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ Glowy Star ยี่ห้อ Lotus’s ยี่ห้อ KSG ยี่ห้อ Iris OYAMA และ ยี่ห้อ Linkcare (ดูตารางที่ 2)         3.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ประเภท FFP2 KN95 KF94 และ N95 ตาม มอก. 2480-2562        ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 6 ยี่ห้อ สำหรับประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ทุกยี่ห้อ เป็นไปตามเกณฑ์         สำหรับยี่ห้อที่มีค่าผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ SUMMIT PEREON ยี่ห้อ Minicare ยี่ห้อ Kuwin และ ยี่ห้อ Kangju (ดูตารางที่ 3)         4.เครื่องหมาย มอก. จากการตรวจสอบข้อมูลหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่จำหน่ายอยู่โดยทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม ยกเว้นยี่ห้อ Welcare ที่มีการระบุเครื่องหมายมาตรฐานอยู่บนบรรจุภัณฑ์คำแนะนำการเลือกหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก        ข้อมูลจากทางองค์กรทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ได้แนะนำว่า หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กนั้น ค่าของผลต่างความดัน ไม่ควรเกิน 50% ของมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบการหายใจของเด็กต่างจากผู้ใหญ่ หน้ากากอนามัยที่มีผลต่างความดันมาก อย่างหน้ากากอนามัยชนิด N95 อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการเลือกซื้อหน้ากากอนามัยให้เด็กคือ        1.ควรเลือกชนิดที่มีค่ากรองอนุภาคเป็นไปตามมาตรฐาน         2.เลือกชนิดที่มีค่าผลต่างความดันต่ำกว่า 50% ของค่ามาตรฐาน         3.ในกรณีที่จำเป็นต้องให้เด็กใช้หน้ากากอนามัยชนิด N 95 ไม่ควรใส่เกิน 1 ชม. และเมื่อเข้าในอาคารควรถอดออกเพื่อพักหายใจ         4.ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยจะใช้งานได้ดีเมื่อการสวมใส่หน้ากากนั้นกระชับไปกับรูปหน้าของเด็ก ปัจจุบัน (ข้อมูลถึงเดือนมีนาคม 2565) มีผู้ประกอบการสมัครใจยื่นขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 9 ราย ดังนี้1.บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) แบรนด์  Welcare 2.บริษัท เมดิเชน จำกัด แบรนด์ MedCmask 3.บริษัท เคเอส โกลเด้น จำกัด แบรนด์ SureMask / G Lucky / KSG 4.บริษัท วิชัย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด แบรนด์ WCE Mask5.บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด แบรนด์ HYGUARD6.บริษัท เอส.เจ.อีควิปเมนท์ แอนด์ แคร์ จำกัด แบรนด์ GAMSAI7.บริษัท เบฟเทค จำกัด แบรนด์ BevTech 8.บริษัท เอ็มไนน์ เมดิคอล อีควิปเม้นท์ จำกัด แบรนด์ M9 9.บริษัท เฮลท์เวย์ ซัพพลาย จำกัด แบรนด์ LIVE SEF และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2480-2562 หน้ากาก N 95 แล้ว จำนวน 1 ราย ดังนี้ 1.บริษัท มารีอา โปรดักส์ จำกัด แบบไม่มีลิ้นระบายอากาศ แบรนด์ MARI-R[1] มาตรฐาน มอก. 2424-2562ขอบคุณภาพประกอบจาก ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยอนุบาลสาธิต ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มมหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 โปรแกรมเพื่อความปลอดภัยออนไลน์

        เมื่อธุรกรรมหลายๆ อย่างพากันย้ายขึ้นไปบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต หลายคนจึงต้องการมั่นใจว่า “ทีมรักษาความปลอดภัย” ที่ใช้อยู่หรือวางแผนจะใช้นั้นมีประสิทธิภาพแค่ไหน ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนคุณมาดูผลทดสอบโปรแกรมเพื่อความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้ในช่วงต้นปี 2021 มีทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน และทั้งที่ใช้กับระบบปฏิบัติการ Mac และ Window คะแนนรวม 100 ได้จากคะแนน 3 ด้านดังนี้         -       ร้อยละ 65              ประสิทธิภาพในการคุ้มครองความปลอดภัย (เช่น การตรวจจับและจัดการไวรัสทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หรือประสิทธิภาพของฟังก์ชัน anti-phishing เป็นต้น) โปรแกรมที่ใช้คือ WINDOW 10 และ MacOS ในเวอร์ชันที่อัปเดตล่าสุด และในคอมพิวเตอร์ที่ใช้จะต้องมีโปรแกรมอย่าง Adobe Reader, Edge, Internet Explorer 11, Firefox, Chrome, Thunderbird, VLC, และ 7zip ติดตั้งอยู่ด้วย        -       ร้อยละ 25              ความสะดวกการใช้งาน (เริ่มตั้งแต่ความยากง่ายในการติดตั้ง เวลาที่ใช้ โปรแกรมเสริม รวมถึงอัปเดตและการแจ้งเตือนต่างๆ) เป็นคะแนนจากผู้เชี่ยวชาญ 3 คนที่ใช้โปรแกรมทุกตัว แล้วตอบแบบสอบถาม ให้ความเห็นเกี่ยวกับโปรแกรมต่างๆ        -       ร้อยละ 10             การไม่สิ้นเปลือง “พื้นที่” ในการติดตั้ง รวมถึงการไม่ทำให้เครื่องทำงานช้า         หมายเหตุ โปรแกรมที่เราทดสอบมีทั้งแบบโหลดฟรีและแบบที่ต้องจ่ายเงิน โดยอย่างหลังนั้นราคาจะแตกต่างกันไปตามจำนวนอุปกรณ์และจำนวนปีที่ผู้ใช้เลือก มีตั้งแต่ปีละ 299 บาท (สำหรับอุปกรณ์เดียว) ไปจนถึง 3,750 (ใช้ได้ถึง 7 อุปกรณ์) นอกจากนี้ยังอาจมีโปรโมชันอื่นๆ ที่ทำให้ราคาถูกลงด้วย โปรดตรวจสอบราคาโปรแกรมตามความต้องการอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 244 อย่างนี้ก็ได้เหรอ เมื่อต้องเจอโควิด (1)

        การระบาดของโควิด 19 ในระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ และเกิดความตื่นตัวของผู้คนในการแสวงหาสิ่งต่างๆ มาป้องกันตัวหรือต่อสู้กับเจ้าเชื้อโควิด 19 กันจ้าละหวั่น นักวิชาการและนักวิชาเกิน เช่น ผู้ผลิต ผู้ขาย หลายท่านก็ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน ยิ่งให้ข้อมูลบางทีชาวบ้านก็ยิ่งสับสนเพราะมันดูน่าเชื่อถือไปหมด สุดท้ายพอตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็อ่อนระทวยเสียเงินไปหามากินมาใช้ไปตามๆ กัน         ผมพยายามรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและตัดสินใจได้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ อะไรน่าเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง สรุปพอหอมปากหอมคอในช่วงนี้ดังนี้ 1. ห้ามเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย1.1 ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงสู่ปอด         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึง คือ โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้         นอกจากนี้ การที่มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำมะนาวมากลั้วคอแทน ก็ไม่สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน 1.2 ห้ามตุนยา Hydroxychloroquine เพื่อใช้รักษาโควิด-19         ตามที่มีการแชร์ข้อความว่า "ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาหายทุกราย ให้หาซื้อยามาไว้ที่บ้าน" ทางกรมการแพทย์ได้ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันยา Hydroxychloroquine ถูกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดรักษาได้หายทุกรายตามที่กล่าวอ้าง และในแนวทางการรักษาล่าสุด มีการแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาไม่ถูกวิธีทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อมและมีโอกาสทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยมากขึ้น 1.3 ตระเวณหา ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ เพื่อมากักตุนใช้เองที่บ้าน         จากการที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ถูกนำมาใช้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางคนถึงกับพยายามตระเวณไปตามร้านยาเพื่อเสาะหายานี้ หรือหายาต้านไวรัสอื่นๆ มากักตุนไว้กับตัวเองเพื่อใช้รับประทานป้องกันการติดโควิด         ขอย้ำเตือนว่า ยาต้านไว้รัสเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์และใช้เมื่อจำเป็น การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อร่างกายตนเองแล้ว ยังจะยิ่งทำให้เกิดการดื้อยาจนส่งผลเสียต่อระดับประเทศได้ 1.4 กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง กินรักษาโควิด 19         ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สรุปได้ชัดเจนว่า กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ การหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากินจึงไม่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำจะเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 240 รู้ทันขบวนพาเหรดผลิตภัณฑ์สู้โควิด

ตอนนี้ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง นอกจากเชื้อที่ระบาดได้อย่างรวดเร็วแล้ว ความตื่นกังวลของผู้คนก็ระบาดได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน สิ่งที่ตามมาเหมือนเดิมคือบรรดาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ก็เริ่มทยอยออกมาเรื่อยๆ และน่าจะมีมากขึ้นไปอีก โดยมีสังคมออนไลน์เป็นตัวช่วยกระพือส่งต่อข้อมูลผิดๆ สเปรย์พ่นปากและลำคอฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19          ผลิตภัณฑ์นี้เริ่มมีการโฆษณาและส่งต่อๆ กันในโลกโซเชียล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพ่นปากและลำคอที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องรีบออกมาชี้แจงและเตือนประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สเปรย์สำหรับพ่นปากและคอ ที่ผ่านการขออนุญาตจาก อย.นั้น  เป็นเพียงสเปรย์ที่มีตัวยาโพวิโดน ไอโอดีน ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นเพียงยาฆ่าเชื้อโรค ลดอาการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ตามที่มีการกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังบอกอีกว่า การโฆษณาขายโดยแสดงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สเปรย์ดังกล่าว ถือเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางยา มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หน้ากากชนิดต่างๆ และชนิดมีวาล์วระบายอากาศ         มีการแชร์ภาพแสดงข้อมูลประสิทธิภาพของหน้ากากชนิดต่างๆ โดยระบุว่าชนิดนั้นดีกว่าชนิดนี้ มีการอ้างอิงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคแต่ละชนิดของหน้ากากต่างๆ ทำให้ผู้คนหลงเชื่อและแชร์ภาพกันต่อๆ ไป และกังวลว่าเมื่อใช้หน้ากากต่างๆ จะใช้กันโควิดไม่ได้ และพยายามจะหันมาใช้หน้ากากชนิด N95 ซึ่งราคาแพงกว่า ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว หน้ากากผ้า หน้ากากฟองน้ำ หน้ากากทางการแพทย์ ก็สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ เพียงแต่ใช้ให้ถูกวิธี ล่าสุดยังมีความเข้าใจผิดอีกว่า หน้ากากแบบมีวาล์วระบายอากาศ นอกจากจะใส่สบายกว่าแล้ว ยังป้องกันโควิด-19 ได้ดีอีกด้วย จนนักวิชาการต้องงัดข้อมูลและรีบออกมาเตือนว่า การที่มันมีช่องระบายอากาศจะยิ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะมันมีช่องให้เชื้อโควิด-19 เล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย ชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง         เร็วๆ นี้มีคนดังในโลกโซเชียลซื้อชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองมาใช้ และบอกว่าตนเองปลอดภัย เพราะตรวจแล้วให้ผลเป็นลบจนนักวิชาการต้องออกมาเตือนกันใหญ่ ความจริงแล้ว ชุดตรวจโควิด-19 ในลักษณะแบบนี้ มีการผลิตออกมาหลายแบบ การจะเอามาใช้ในประเทศต้องได้รับอนุญาตจาก อย. และมักจะให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้เบื้องต้นในบางเงื่อนไข แต่ทั้งนี้ก็ต้องยืนยันผลด้วยการตรวจในห้องแล็บทุกครั้ง การที่ประชาชนนำไปใช้ด้วยตนเองโดยไม่มีข้อมูลทั้งระยะเวลาที่ใช้การอ่านผลเอง อาจจะยิ่งทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะผลที่ได้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น อาจเกิดผลบวกลวง (ตัวเราไม่มีเชื้อ แต่ชุดตรวจให้ผลออกมาว่าเจอเชื้อ) แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือผลลบลวง (ตัวเรามีเชื้อ แต่ชุดตรวจให้ผลออกมาว่าไม่มีเชื้อ) ทำให้ผู้ใช้เข้าใจผิดว่าตนเองปลอดภัยและอาจไปแพร่เชื้อโควิด-19 ให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ผดทดสอบหน้ากากอนามัย จากองค์กรผู้บริโภคต่างประเทศ

        ในยุคที่คนทั้งโลกต้อง “สวมหน้ากาก” เข้าหากัน จึงเป็นธรรมดาที่คนจะตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมัน กรณีของ “หน้ากากอนามัยเกรดการแพทย์” นั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะกว่าจะเรียกตัวเองเช่นนั้นได้ ก็ต้องผ่านมาตรฐานหลายประการ         แต่สภาผู้บริโภคแห่งฮ่องกง (ผู้จัดพิมพ์ CHOICE นิตยสารเพื่อผู้บริโภค) ก็ไม่ยอมปล่อยผ่าน เขาทดสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 30 ยี่ห้อ (ผลิตในฮ่องกง 18 ยี่ห้อ  ผลิตในจีน 8 ยี่ห้อ ที่เหลือผลิตจากไต้หวัน และเวียดนาม) สนนราคาชิ้นละ 2-9 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 8-35 บาท)          เขาพบว่า 29 รุ่นมีประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียและอนุภาคทั่วไปได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จึงถือว่าวางใจได้พอสมควร ในภาพรวมหลายยี่ห้อทำได้ดี แต่ไม่ดีเท่าที่เคลม ราคาแพงกว่าไม่ได้แปลว่าดีกว่า และหลายยี่ห้อไม่น่าซื้อเพราะสายคล้องคุณภาพไม่ดี        แต่ที่ต้องระวังคือยี่ห้อ Perfetta Disposable High Filtration Face Mask ที่ผลิตในเวียดนาม (ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 8 บาท) ที่ฉลากอ้างว่ามีประสิทธิภาพกันอนุภาคทั่วไปได้ 99.99% แต่เขาทดสอบพบว่าทำได้เพียง 86.64% เท่านั้น แถมสายคล้องหูก็ยืดย้วยง่ายด้วย ติดตามตารางแสดงผลการทดสอบแบบเต็มๆ ได้ที่        https://www.consumer.org.hk/ws_en/news/specials/2020/coronavirus-prevention-collection.html          ไปดูการทดสอบ “หน้ากากผ้า” ชนิดใช้ซ้ำ ซึ่งป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดี โดยไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมกันบ้าง         องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษหรือนิตยสาร Which? ซึ่งได้ทดสอบหน้ากากผ้าชนิดใช้ซ้ำได้ รูปแบบต่างๆ จำนวน 15 ตัวอย่างที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา        Which? ทดสอบและให้คะแนนในด้านต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการป้องกันแบคทีเรีย การหายใจได้สะดวก ความรู้สึกสบายในการสวมใส่ และความทนทานต่อการซักโดยไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป           หน้ากากผ้าสองยี่ห้อที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ NEQI และ Bags of Ethics ที่ขายในราคาชิ้นละ 5 ปอนด์ (ประมาณ 200 บาท) แต่ถ้าใครอยากประหยัดเงินอาจเลือก Step Ahead ที่คะแนนน้อยกว่าเล็กน้อยแต่ราคาถูกกว่ามาก (2 ปอนด์ หรือประมาณ 80 บาท)         ในภาพรวม มีหน้ากากผ้าที่สามารถป้องกันละอองฝอยได้ถึงร้อยละ 99 แต่ก็มีบางรุ่นที่กันได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น         Which? ให้คำแนะนำ “ไม่ควรซื้อ” กับหน้ากากผ้า 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Termin8 / Etiquette / และ White Patterned สองยี่ห้อแรกซึ่งวางขายในร้านขายยา โต้ว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร กฎหมายไม่ได้กำหนดเกณฑ์แบบที่ Which? ทดสอบ ส่วนยี่ห้อสุดท้ายที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ASDA นั้น ทางห้างเรียกเก็บออกจากชั้นไปแล้ว ข้อค้นพบจากการทดสอบหน้ากากผ้า-  การป้องกันจะดีขึ้นตามจำนวนชั้นของผ้า ใส่ฟิลเตอร์ได้ยิ่งดี (แต่ฟิลเตอร์ก็เป็นขยะอีก) หน้ากากผ้าที่ไม่ควรซื้อใช้คือหน้ากากผ้าโพลีเอสเตอร์ที่มีชั้นเดียว-  หน้ากากที่ดีต้องมีสมดุลระหว่างประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อกระจายและการระบายอากาศที่ดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความชื้นทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเราอาจเอามือไปขยับบ่อยๆ หรือไม่ก็รำคาญจนไม่อยากใส่ต่อ-  หน้ากากผ้าแบบทำเองก็ใช้ได้ดี การทดสอบพบว่าหน้ากากผ้าที่ตัดเย็บตามแพทเทิร์นที่รัฐบาลอังกฤษแชร์ออนไลน์ สามารถกรองละอองได้ร้อยละ 73 และเมื่อผ่านการซัก 5 ครั้ง กลับสามารถกรองได้ถึงร้อยละ 81 ด้วย! แต่อาจมีปัญหาเรื่องการสวมแล้วอึดอัดไม่สบาย-  การให้คำแนะนำในการใช้บนฉลาก (ทั้งในการใช้งานและการซักทำความสะอาด) ยังทำได้ไม่ดี มีถึง 6 เจ้าที่ไม่ระบุว่า “ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์” และมี 7 เจ้าไม่แจ้งวิธีการใช้อย่างปลอดภัย            องค์กรผู้บริโภคอื่นๆ ที่ทดสอบหน้ากากผ้า ได้แก่ Forbrugerradet Taenk ของเดนมาร์ก ที่ทดสอบทั้งหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการกรองไม่ต่างกันนัก  ในขณะที่ UFC-Que Choisir ของฝรั่งเศส ทดสอบหน้ากากที่ทำจากผ้าหลากชนิด เขาพบว่าผ้าฝ้ายชนิดที่ใช้ทำเสื้อยืด หรือแม้แต่ทิชชูคลิเน็กซ์ ก็ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อโรคเหมือนกัน ทางด้าน Altroconsumo ของอิตาลี ก็ทดสอบหน้ากากผ้า และพบว่ามันสามารถกรองละอองฝอยได้ระหว่างร้อยละ 80-90 แตกต่างกันตรงที่บางรุ่นใส่แล้วหายใจสะดวก บางรุ่นสวมแล้วอึดอัด เช่นเดียวกับ Deco Proteste ของโปรตุเกส

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ควรใช้ Far UVC ฆ่าเชื้อในสถานบริการหรือไม่

        องค์ประกอบของแสงอาทิตย์นั้นแบ่งง่าย ๆ เป็น แสงที่มองเห็นได้ (visible light) และ แสงที่มองเห็นไม่ได้ (invisible light) โดยแสงที่มองเห็นได้นั้นอยู่ในแถบความยาวคลื่นช่วงระหว่าง 400 – 700 นาโนเมตร ส่วนแสงที่มองไม่เห็นนั้นมีสองกลุ่มคือ กลุ่มที่มีความยาวคลื่นเกิน 700 นาโนเมตรขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า อินฟราเรด (infrared) มีพลังงานต่ำกว่าพลังงานของแสงสีต่างๆ และอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความยาวคลื่นต่ำกว่า 400 นาโนเมตรลงมา ซึ่งเรียกว่า อัลตราไวโอเล็ท (ultraviolet หรือ UV) นั้น มีพลังงานสูงกว่าพลังงานของแสงที่มองเห็นได้        แสงอัลตราไวโอเล็ทนั้นมักแบ่งง่าย ๆ (www.who.int/uv/uv_and_health/en/) เป็น 3 ระดับคือ UVA (ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร), UVB (ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร) และ UVC (ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร) โดย UVA นั้นไม่ค่อยก่อปัญหาอะไรนักเพียงแค่ทำให้คนที่ผิวคล้ำโดยกำเนิดแล้วคล้ำหนักขึ้นกว่าเดิม แสง UVB เป็นแสงที่เมื่อส่องผิวราว 15-20 นาที ในช่วงเช้าและบ่ายแก่ ๆ จะช่วยในการสร้างวิตามินดี แต่ถ้ามากไปก็จะไม่ค่อยดี ระดับความร้อนอันตรายต่อผิวหนังชั้นล่างที่เป็นเซลล์มีชีวิตในลักษณะที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และมีโอกาสขยายต่อเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ส่วนแสง UVC นั้นยังไม่ต้องพูดถึงเพราะแม้เป็นแสงที่มีพลังงานสูงมากจนฆ่าเซลล์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี แต่แสง UVC นี้ถูกดูดซับไว้ด้วยก๊าซโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก        ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 นั้นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายวิถีชีวิตแบบเดิมของมนุษย์ มนุษย์ปรับตัวให้อยู่กันแบบ นิวนอร์มอล อย่างไรก็ดีมีข่าวเรื่องหนึ่งที่ทั้งน่าตื่นเต้นและชวนให้กังวล นั่นคือ มีแนวความคิดในการใช้แสงที่มีความยาวคลื่นในช่วง far UVC (207-222 นาโนเมตร ซึ่งต่ำกว่าช่วงความยาวคลื่นที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคทั่วไปคือ ราว 245 นาโนเมตร) ช่วยในการฆ่าไวรัสที่ก่อโรคดังกล่าว โดยที่คนซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นและได้รับแสง far UVC ไม่ได้รับอันตราย         แนวความคิดนี้มันช่าง  โหด มัน ฮา เพราะ แสง far UVC นั้นเป็นแสงที่มีพลังงานทำลายล้างได้สูงกว่าแสง UVC ที่ 245 นาโนเมตรเสียอีก ซึ่งโดยพื้นฐานความเข้าใจของคนทั่วไปแล้ว แนวความคิดในการใช้แสงกลุ่ม UV เพื่อฆ่าไวรัสที่ก่อให้เกิด Covid-19 นั้น ควรทำได้เฉพาะการฆ่าไวรัสที่ปนเปื้อนบนพื้นผิววัตถุเท่านั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อมีข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มในการใช้แสงกลุ่ม UV ในสถานที่ที่มีคนอยู่ได้ เลยเป็นประเด็นที่ควรหาความรู้มาศึกษากัน    Far-UVC light กับการฆ่าเชื้อโรค        ผู้เขียนได้พบข้อมูลจากบทความวิจัยเรื่อง Far-UVC light: A new tool to control the spread of airborne-mediated microbial diseases (doi:10.1038/s41598-018-21058-w) ซึ่งเผยแพร่ใน www.nature.com/scientificreports เมื่อปี ค.ศ. 2018 ในบทความแสดงให้เห็นว่า แสง far UVC ที่ขนาดความเข้มข้นต่ำคือ 2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตรของแสง far UVC ที่ความยาวคลื่น 222 nm สามารถฆ่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 ที่อยู่ในฝอยน้ำ (aerosol) ได้มากกว่าร้อยละ 95 และกล่าวว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ประหยัดสุดและได้ผลดีในการฆ่าไวรัสเช่น ไข้หวัดใหญ่ที่กระจายในอาคาร (ผลงานนี้ตีพิมพ์ก่อนมีการระบาดของ Covid-19)         งานวิจัยที่กล่าวถึงข้างบนเป็นผลงานของทีมนักวิจัยที่ Center for Radiological Research ของ Columbia University Irving Medical Center (CUIMC) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกลุ่มที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา ในแวดวงที่ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่างๆ ของแสง UV เข้าใจว่า หน่วยงานนี้น่าจะมีความร่วมมือกับทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยทางญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะได้มีข้อมูลเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตถึงการทดสอบหลอด Care222® series ของบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นที่ปล่อยแสงความยาวคลื่น 222 นาโนเมตร (far UVC) ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ฆ่าเชื้อในห้องปลอดเชื้อของโรงพยาบาลต่างๆ ว่า ได้ผลดี โดยมีเอกสารรับรองประสิทธิภาพของการใช้แสง far UVC ในการทำลายไวรัส ชื่อ Performance test for virus inactivation efficacy by UV irradiation จากสถาบัน Kitasato Research Center for Environmental Science (KRCES) สังกัด Kitasato University         ตัวอย่างงานวิจัยเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้แสง far UVC ในการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ของกลุ่มนักวิจัยของ Columbia University นั้นเช่น บทความเรื่อง Germicidal Efficacy and Mammalian Skin Safety of 222-nm UV Light ตีพิมพ์ใน Radiation Research ปี 2017 ได้แสดงให้เห็นว่า far UVC (222 นาโนเมตร) ขนาด 0.036 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร สามารถฆ่า methicillin-resistant Staphylococcus aureus ได้ และในบทความเรื่อง 207-nm UV Light—A Promising Tool for Safe Low-Cost Reduction of Surgical Site Infections. II: In-Vivo Safety Studies ตีพิมพ์ใน PLoS ONE ปี 2016 กล่าวถึงการฉายแสง far UVC (207 นาโนเมตร) ขนาด 157 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร นาน 7 ชั่วโมง ให้กับหนูถีบจักรสายพันธุ์ที่ไม่มีขน (hairless SKH1-Elite strain 477 mice) แล้วปรากฏว่าเมื่อเวลาผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังการได้รับแสง นักวิจัยได้ทำการศึกษาผิวหนังของหนูและพบว่า แสงที่ความยาวคลื่น 207 นาโนเมตรนั้นไม่ก่ออันตรายต่อผิวหนังหนู         ล่าสุดในปี 2020 ทีมนักวิจัยจาก Columbia University ได้เผยแพร่ข้อมูลในบทความชื่อ Far-UVC light (222 nm) efficiently and safely inactivates airborne human coronaviruses (doi: 10.1038/s41598-020-67211-2.) ใน www.nature.com/scientificreports ซึ่งเป็นการรายงานผลการทดลองใช้แสงที่ความยาวคลื่น 222 นาโนเมตรด้วยขนาดของแสงที่ 1.7 และ1.2 มิลลิจูลต่อตารางเซนติเมตร ฆ่าเชื้อ coronavirus สายพันธุ์ alpha HCoV-229E และ beta HCoV-OC43 ที่อยู่ในสภาพเป็นละอองฝอย (aerosol) ตามลำดับได้สำเร็จถึงร้อยละ 99.9 จึงเสนอว่าการใช้แสง Far UVC ในลักษณะดังกล่าวน่าจะฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโรค Covid-19 ได้ (โคโรนาไวรัสมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่ใช้ในการทดลอง) ด้วยขนาดความเข้มข้นของแสงที่จำกัดไว้ที่ประมาณ 3 มิลลิจูล/ตารางเซนติเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ร้อยละ 90, 95, 99.5 และ 99.9 ด้วยระยะเวลาการฉายแสง 8 นาที,11 นาที, 16 นาที และ 25 นาที ตามลำดับ โดยไม่ทำอันตรายต่อผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น         สมมุติฐานที่อธิบายว่า far UVC ฆ่าไวรัสและเชื้อโรคอื่นๆ โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวหนังและน่าจะรวมถึงชั้นเนื้อเยื่อของตานั้นเพราะแสงในระดับ far UVC ไม่สามารถทะลุผ่านเซลล์ชั้นบนๆ ของผิวหนังซึ่งตายแล้วรวมถึงชั้นเนื้อเยื้อ (tear layer) ของลูกตาได้ ดังปรากฏในคำสัมภาษณ์ของ David J. Brenner ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของ Columbia University Irving Medical Center ในบทความเรื่อง Far-UVC Light Could Safely Limit Spread of Flu, Other Airborne Viruses ของเว็บ www.photonics.com         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า มีผู้เสนอให้ใช้แสง far UVC บนเครื่องบินโดยสาร ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่ในกรณีฉุกเฉินที่ทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่บนเครื่องก่อนนำเครื่องลงที่สนามบินปลายทาง อย่างไรก็ดีผู้เขียนยังรู้สึกระแวงว่า จริงหรือที่ว่าแสง far UVC นั้นไม่เป็นอันตรายต่อตามนุษย์ ทั้งนี้เพราะ แสง far UVC นั้นมีพลังงานสูงมาก  จึงอาจทำให้เกิดความร้อนแก่บริเวณที่แสงสัมผัสหรือทำให้น้ำตาที่อยู่ในลูกตามีอุณหภูมิสูงขึ้น ถ้าผู้บริหารการใช้แสงไม่ชำนาญในการควบคุมปริมาณความเข้มแสงและช่วงเวลาการสัมผัสที่ถูกต้อง         ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดที่หาได้นั้นกล่าวว่า ปัจจุบัน US.FDA ยังไม่รับรองการใช้แสง far UVC ในสถานบริการที่มีผู้บริโภคอยู่ เพียงแต่ยอมให้หลอดกำเนิดแสงชนิดนี้ถูกใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และห้องที่ต้องปลอดเชื้อเช่น ห้องผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมีใครพยายามซื้อหลอดที่ให้แสง far UVC (ซึ่งอาจมีขายใน platform online ในไม่ช้านี้) เพื่อฆ่าไวรัสในสถานบริการในขณะที่มีผู้บริโภคอยู่ด้วย เช่น ผับ บาร์ อาบอบนวด สนามมวยหรือโรงภาพยนต์ เนื่องจากกระบวนการยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคต่างๆ เช่น ระยะห่างระหว่างบุคคล (personal distancing) นั้นทำได้ลำบาก สถานที่ดังกล่าวจึงน่าจะเป็นเป้าหมายของสินค้านี้ แม้ยังไม่มีการประเมินความปลอดภัยก่อนก็ตาม “อย่าหาทำ”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ช่วยกันหยุดการทำมาหากินกับการป่วยออนไลน์

        ประชาชนจำนวนมาก หากเทียบเคียงในอดีต คงไม่แตกต่างจากขบวนการขอทานที่ตัดแขนตัดขาเด็กเพื่อขอทานตามสถานที่สาธารณะ จะแตกต่างกันเพียงการใช้ระบบดิจิทัลเท่านั้น รับรู้ประเด็นข่าวได้รับการช่วยเหลือที่รวดเร็วมากกว่าระบบแบบเดิม             ภาพเด็กป่วยสร้างอารมณ์ร่วมให้กับสังคมไทยได้เป็นอย่างมากในการขอรับบริจาค ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและความไม่เชื่อมั่นบางอย่างในระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศ การใช้เงินในการรักษาพยาบาลช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งที่ทุกคนที่ป่วยควรเข้าถึงการรักษาได้ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพของแต่ละคน ไม่ว่าระบบราชการ ประกันสังคม หรือบัตรทอง         ความไม่เข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบรักษาพยาบาลที่รองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลในระบบอื่นๆ โดยทุกคนจะได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิการรักษาตามทะเบียนบ้านกับหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีระบบที่ชัดเจน ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การขอย้ายสิทธิ โดยที่สิทธิประโยชน์รองรับการรักษาโรคทุกโรคตามมาตรฐาน ทั้งนี้ในแต่ละปีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะมีการรับฟังความเห็นเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันฯ ให้ครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นขอให้ประชาชนทุกคนตรวจสอบสิทธิการรักษาของตัวเองด้วยการโทรสอบถามที่สายด่วน สปสช. โทร 1330         ถึงเวลาที่ภาครัฐควรทบทวนการสร้างระบบการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานเดียวให้เกิดขึ้นได้จริงๆ เพราะเชื่อว่าเวลาที่เราป่วย เราต่างต้องการบริการ การตรวจหรือยาที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือแม้แต่นายกรัฐมนตรี หากได้รับบริการสุขภาพมาตรฐานเดียวกันจะช่วยสร้างความมั่นใจในการไปรับบริการ         การระบาดของโควิด19 ในปัจจุบัน บริการสาธารณสุขที่ทุกคนได้รับเป็นมาตรฐานเดียวกันหมดทั้งประเทศเหมือนการใช้บริการในกรณีฉุกเฉิน แต่การรักษาโรคเรื้อรังและการเจ็บป่วยอื่นๆ ยังมีหลายมาตรฐานนี่คือสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาในฐานะที่เป็นมนุษย์         กรณีข้างต้นนี้ทำให้เราเรียนรู้ร่วมกันว่า สังคมปัจจุบันทำให้เรารู้จักเพื่อนออนไลน์มากกว่าเพื่อนข้างบ้าน คนเก็บขยะ คนกวาดถนนที่เราเห็นทุกวัน การช่วยเหลือปันน้ำใจทำได้ทุกที่ทุกแห่ง และโดยเฉพาะเพื่อนบ้าน ชุมชนหรือสังคมใกล้ตัว ไม่จำเพาะออนไลน์ที่เราตรวจสอบได้ยากยิ่ง หรืออย่างน้อยก็ต้องมั่นใจว่าการบริจาคนั้นผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เราเชื่อถือซึ่งมีอยู่มากมาย ที่สำคัญการบริจาคควรจะเป็นเรื่องการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของคนที่ป่วยหรือคนดูแลมากกว่า ที่เขาอาจจะไม่ได้ทำงานหรือรักษาตัวจนตกงาน หรือเราต้องช่วยผลักดันให้รัฐมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าเรื่องบำนาญแห่งชาติ ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า การบริจาคเหมือนการให้ทานให้ไปแล้วถือว่าจบ แต่ต้องไม่ส่งเสริมให้เกิดการฆ่าชีวิตเพื่อรับบริจาค หรืออย่างน้อยเราไม่เป็นฟันเฟืองสนับสนุนให้ทำแบบนี้ได้อีกต่อไปกรณีเหตุการณ์หญิงสาวรายหนึ่งขอรับบริจาค โดยอ้างว่าลูกป่วยด้วยโรคที่หายาก จนได้รับเงินบริจาคจาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 สิวและผื่นแพ้ที่มาจากการสวมหน้ากากอนามัย

        เมื่อหน้ากากอนามัยกลายเป็นของจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่กลายมาเป็นเรื่องกวนใจอาจไม่ใช่แค่รู้สึกอึดอัด  แต่มันคือ อาการผื่นแพ้หน้ากากและบางคนเกิดปัญหาสิวขึ้นมาอย่างมิอาจเลี่ยง เรามาหาวิธีรับมือกันเถอะ         การสวมหน้ากากตลอดวันและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดผื่นหรือตุ่มแดง มีอาการคันบริเวณที่สวมหน้ากาก​ หรือบริเวณใบหูได้ แบบนี้คืออาการผื่นแพ้ ถ้ารุนแรงถึงขั้นมีตุ่มน้ำ น้ำเหลืองซึมรีบพบแพทย์ทันที ในรายที่อาการเบาๆ แค่ผื่นแดง คันยิบๆ  อาจต้องเปลี่ยนหน้ากากอนามัย เลือกประเภทและขนาดที่เหมาะสม และสำคัญต้องรักษาความสะอาด อย่าประหยัดเกินไป หน้ากากอนามัยราคาลดลงแล้ว ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็ควรเป็นครั้งเดียวทิ้ง ชนิดผ้าซักได้ ต้องหมั่นทำความสะอาด        การระคายเคืองหรือแพ้ สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการเสียดสี​ การสวมใส่ที่แน่นเกินไป เพราะขนาดหน้ากากไม่เหมาะกับใบหน้า หรือสายคล้องตึงเกินไปทำให้บริเวณใบหูถูกเสียดสี ตลอดจนความอับชื้นจากเหงื่อ ครีมและเครื่องสำอางที่ทาบนใบหน้า การแพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของหน้ากาก​ เช่น กาวผ้า สีย้อมผ้า พลาสติก​ ยาง ดังนั้นต้องทดลองหาให้พบหน้ากากที่เหมาะกับตนเอง          สิวจากการสวมหน้ากาก        สาเหตุของการเกิดสิวเมื่อใช้หน้ากากอนามัยพบได้บ่อยสองลักษณะ คือ การเสียดสีของหน้ากากกับผิวหน้า ซึ่งอาจรบกวนการผลัดเซลล์ผิว บริเวณที่ถูกเสียดสีจึงปรากฎสิว และอีกสาเหตุที่พบบ่อย คือ ความอบอ้าวที่เกิดจากการใส่หน้ากากทำให้น้ำมันถูกขับจากผิวมากขึ้น เมื่อรวมกับเครื่องสำอางหรือครีมที่เคลือบผิวหน้าอาจก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนจนกลายเป็นสิว          วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาสิวจากการใส่หน้ากากอนามัย         1.ควรงดแต่งหน้าในช่วงที่สิวเห่อ เพื่อลดปัญหาการอุดตัน ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เจลแต้มสิวที่ช่วยให้สิวยุบไว อาจเลือกมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า อ่านฉลากและคู่มือการใช้ให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนจากการแพ้สารในเจล         2.หากสิวหายแล้วควรเลือกเครื่องสำอางที่เนื้อเบาๆ (ถ้าเป็นได้ก็งดแต่งหน้าสักพักสำหรับคนที่เป็นสิวง่าย)         3.รักษาความสะอาดของผิว เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบล้างหน้า         4.ลดเวลาการสวมใส่หน้ากากลง สวมเฉพาะเมื่อจำเป็นหรืออยู่ในสถานที่สาธารณะ         5.เปลี่ยนหน้ากากให้บ่อย อย่าใช้ซ้ำ กรณีหน้ากากผ้าซักใช้ใหม่ทุกวัน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 หยุดเบอร์โทรรบกวน ด้วยแอปพลิเคชั่น “กันกวน”

        ช่วงสภาวะที่ยังคงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างต่อเนื่องแบบนี้ ส่งผลให้หลายองค์กรทำงาน “หาลูกค้า” ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำเป็นต้องลงพื้นที่ตามแหล่งชุมชน ต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยตนเอง อย่างกลุ่มที่ทำงานขายประกัน ขายบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนลูกค้าแบบตัวต่อตัว        เมื่อไม่สามารถหาลูกค้าในรูปแบบเดิมได้ จึงต้องหันมาใช้รูปแบบการโทรศัพท์ถึงกลุ่มเป้าหมายแทน แต่บางครั้งการโทรศัพท์เพื่อขายสินค้าและบริการในลักษณะนี้ก็ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจกับกลุ่มเป้าหมายเท่าใดนัก บางทีไม่ใช่แค่เพียงการขายประกัน ขายบัตรเครดิต ขายตรงเท่านั้น แต่บางกลุ่มก็มาในรูปแบบมิจฉาชีพที่ทำให้เกิดการเสียเงินผ่านค่าโทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว  ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชน แถมก่อให้เกิดความรำคาญกับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย         สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เห็นถึงปัญหาและพัฒนาแอปพลิเคชั่น “กันกวน” ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมีสิทธิ์ในการปิดกั้นการโฆษณาการขายสินค้าและบริการที่ไม่ต้องการเองได้ และเป็นฐานข้อมูลในการร่วมกันดูแล คอยแลกเปลี่ยนข้อมูลของกลุ่มธุรกิจที่ใช้โทรศัพท์มาขายสินค้าหรือบริการ โดยแอปพลิเคชั่น “กันกวน” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         หลังจากเปิดแอปพลิเคชั่น “กันกวน” มาใช้ในครั้งแรก จะต้องกรอกเลขโทรศัพท์มือถือและหมายเลขบัตรประชาชนเพื่อให้ระบบตรวจสอบ และสร้างบัญชีด้วยการใส่ชื่อนามสกุล เมล เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่น โดยแอปพลิเคชั่นนี้จำเป็นต้องเปิดอนุญาตการใช้งานให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์ด้วย เพื่อให้เข้าไปกลั่นกรองเบอร์ที่มีการขายสินค้าและบริการไม่ให้โทรศัพท์เข้ามากวนคุณได้         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมีรายการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ทั้งหมดที่ถูกส่งรายงานเข้ามาว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่มีการโฆษณาและการขาย ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลกลางจำนวนทั้งสิ้น 494 หมายเลข โดยฐานข้อมูลนี้ทุกคนสามารถร่วมส่งข้อมูลที่เห็นว่าเบอร์โทรศัพท์ไหนเข้าข่ายรบกวนและเป็นการขายสินค้าและบริการได้ เพียงกดปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายบวก แล้วกรอกรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์นั้นลงไป และเลือกกดแจ้งไปยังแอปฯ กันกวน เพื่อให้ กสทช. ดำเนินการจัดประเภทเป็นเบอร์รบกวน และนำข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลกลางเพื่อส่งข้อมูลเบอร์ดังกล่าวไปยังทุกคนที่ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ หรือเลือกกดปิดกั้น เพื่อดำเนินการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามาสำหรับสมาร์ทโฟนเครื่องนี้เท่านั้น         การเลือกกดแจ้งไปยังแอปพลิเคชั่นกันกวน จะถูกแบ่งการปิดกั้นเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มขายประกัน กลุ่มขายบัตรเครดิต กลุ่มทวงถามหนี้ กลุ่มขายเกมส์ออนไลน์ กลุ่มขายคอนเทนต์ออนไลน์ กลุ่มขายสื่อลามก กลุ่มโฆษณารบกวน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถตั้งค่าเองเพื่อเลือกอนุญาตไม่ปิดกั้นเฉพาะบางเบอร์ได้ และตั้งค่าให้ปรับปรุงฐานข้อมูลแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย         ใครมีปัญหาการโทรมากวนใจเพื่อขายสินค้าและบริการในช่วงนี้ ลองใช้แอปพลิเคชั่น “กันกวน” กันดูนะคะ เป็นตัวเลือกที่สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ป้องกันโควิดแบบไหน ถึงเสี่ยงโควิด

แม้ผู้บริโภคจะปฏิบัติตามคำแนะนำต่างๆ เพื่อป้องกันตนเองจากโควิด 19 อย่างเคร่งครัดแล้ว แต่ก็พบความเข้าใจผิดหลายๆอย่างที่เราก็คาดไม่ถึง ทำให้ผู้บริโภคหลายรายยังคงเสี่ยงต่อโควิด 19 จึงขอทำความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้ความเสี่ยงดังกล่าวลดลง         กินร้อน : คำว่ากินร้อนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงห้ามใครกินอาหารที่เย็น หรือต้องกินอาหารที่ร้อนควันฉุยเท่านั้น แต่หมายถึงให้กินอาหารที่ปรุงจนสุกใหม่ๆ เพราะการปรุงอาหารให้สุกโดยผ่านความร้อนนั้น ความร้อนจะฆ่าเชื้อโรคตาย ส่วนใครจะกินตอนร้อนๆ ทันที หรือทิ้งไว้ให้คลายร้อนก็ได้ ส่วนอาหารที่เย็น เช่น เครื่องดื่ม หวานเย็น ไอศครีม ฯลฯ ก็กินได้ เพียงแต่ขอให้ตรวจสอบให้มั่นใจก่อนว่า ได้ผ่านกรรมวิธีที่สะอาดมาก่อนถึงปากเราหรือเปล่า         ช้อนกลาง : เนื่องจากเราไม่อาจจะรู้ได้ว่า มือของใครไปสัมผัสเชื้อโรคมาแล้วบ้าง ดังนั้นการกินอาหารโดยมีช้อนกลางเพียงอันเดียวแต่ทุกคนมาใช้ร่วมกัน ก็อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะช้อนที่สะอาดก็อาจจะเจอมือของบางคนที่อาจมีเชื้อโรคมาสัมผัส และเมื่อมือของเราที่แม้จะทำความสะอาดแล้วไปสัมผัส ก็จะทำให้มือเราติดเชื้อโรคได้ ดังนั้นการใช้ช้อนกลางจึงหมายถึงการใช้ช้อนกลางในวงกินข้าว (ที่ไม่ใช่ช้อนที่เราใช้ตักอาหารเข้าปาก) ที่แต่ละคนมีเป็นของตนเอง เพื่อใช้ตักอาหารในวงสำรับให้ตนเองเท่านั้น เพราะช้อนของเราจะมีเพียงตัวเราเท่านั้นที่สัมผัสมัน แต่ถ้ามันยุ่งยาก วิธีง่ายๆ คือ ตักกับข้าวหรืออาหารใส่จานเราตั้งแต่แรกให้เป็นอาหารจานเดียวไปเลย จะได้ไม่ต้องปวดหัวหาช้อนหลายอันให้วุ่นวาย         ล้างมือ : ผู้บริโภคหลายคนคิดว่าการล้างมือบ่อยๆ จะป้องกันเชื้อโควิดได้ เพราะจำมาเพียงว่า เชื้อโควิด 19 เจอสบู่ก็ตายแล้ว ซึ่งมีส่วนถูกแต่ยังไม่หมด เพราะการล้างมืออย่างรวดเร็ว ไม่ถูสบู่ให้ทั่วทุกซอกทุกมุมทั้งซอกนิ้วและข้อมือ และยังใช้เวลาล้างมือแบบรวดเร็ว ก็อาจจะทำให้เชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อโควิด 19 หลงเหลืออยู่ตามบริเวณที่ไม่โดนสบู่ หรืออาจโดนสบู่แต่ยังไม่ทันจะตาย ก็เจอน้ำชะล้างเอาคราบสบู่ไปแล้ว ดังนั้นการล้างมือจึงต้องล้างให้ทั่วทุกซอกทุกมุมและใช้เวลาให้มือสัมผัสสบู่สักครู่หนึ่ง มีคนแนะนำง่ายๆ ว่า เวลานานประมาณร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ หรือเพลงช้างช้างช้างจบสองรอบประมาณนั้นก็น่าจะใช้ได้         บางคนใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ หรือใช้แอลกอฮอล์สเปรย์พ่นมือ แม้จะเลือกยี่ห้อที่มีปริมาณของแอลกอฮอล์ได้ตามมาตรฐาน และมีฉลากดูต้องแล้ว แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี เช่น พอมือสัมผัสเจลหรือแอลกอฮอล์ ก็ไม่ถูให้ทั่ว บางคนยังเอามือไปเช็ดเสื้อผ้าให้แห้งอีก แบบนี้แอลกอฮอล์ก็ไม่สามารถไปฆ่าเชื้อโควิดได้ วิธีที่ถูกต้องคือไม่ต้องเช็ดมือ ปล่อยให้มันแห้งไปเอง แอลกอฮอล์จะได้ไปฆ่าเชื้อโรคให้ตายหมด         ใส่หน้ากาก : เราใส่หน้ากากไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ละอองฝอยจากน้ำมูกหรือน้ำลายจากการไอหรือจามของคนอื่นหรือเชื้อโควิดที่อาจฟุ้งอยู่ในบริเวณนั้น เข้ามาสู่ปากหรือจมูกเรา ขณะเดียวกันหากเรามีเชื้อโรค หน้ากากก็จะกันไม่ให้กระเด็นไปสู่คนอื่นๆ ดังนั้นเมื่อเราสวมหน้ากากแล้ว เราไม่ควรเอามือของเราไปสัมผัสด้านนอกของหน้ากาก เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าบริเวณนั้นมีเชื้อโรคมาติดอยู่หรือไม่ หรือถ้าเผลอไปสัมผัสแล้ว ควรรีบล้างมือให้สะอาดทันที และเมื่อจะถอดก็ควรระวังไม่ให้มือสัมผัสบริเวณด้านนอก จับสายคล้องหูแล้วถอดออกจะปลอดภัยกว่า และควรเปลี่ยนหน้ากากทุกวัน ถ้าใช้หน้ากากผ้าก็ให้ซักทำความสะอาดทุกวัน อย่าทิ้งไว้รวมๆ กันแล้วค่อยมาซัก เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ถอดบทเรียนการรักษาโควิด-19 ในไทย

        นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อปลายปี 2019 ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 211 ประเทศ โดยยอดป่วยสะสมอยู่ที่ 6,031,023 ราย เสียชีวิต 366,812 ราย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2563) แต่ก็ยังไม่มีที่ว่าการระบาดจะยุติในเร็ววัน นักวิชาการทางการแพทย์คาดการณ์ว่าทั่วโลกยังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ไปจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค         ขณะนี้มีนักวิจัยในหลายประเทศกำลังเร่งมือพัฒนาทั้งวัคซีนป้องกันโรคและยารักษาออกมาใช้ หลายประเทศมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ยังไม่มียาจำเพาะต่อการรักษาโควิด-19 โดยตรง ตอนนี้การรักษาโควิดจึงเป็นเรื่องของการศึกษาและปรับใช้สูตรยาสำหรับการรักษาโรคอื่นๆ มาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19         สำหรับประเทศไทย (สัมภาษณ์เมื่อเดือน พฤษภาคม 2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ได้สรุปแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมามีรายงานข่าวเป็นระยะว่าประเทศต่างๆ มีการใช้ยาบางประเภทแล้วได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ซึ่งประเทศไทย โดยกรมการแพทย์ร่วมกับเครือข่ายโดยเฉพาะโรงเรียนแพทย์ อยู่ระหว่างการสรุปผลการรักษา ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ ถอดบทเรียน และปรับแนวทางคำแนะนำที่เป็นมาตรฐานสำหรับประเทศไทยเป็นระยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากันอีกครั้ง โดยจะบวกกับข้อมูลในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้         อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้ ถ้าดูจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่มาจากการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนหนึ่ง เบื้องต้นเฉพาะข้อมูลที่มีการสรุปตรงกันคือการรักษาจะไม่ใช่การใช้ยาตัวเดียว แต่ต้องเป็นสูตรผสมหรือยาสูตรคอคเทล ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าสูตรคอคเทลจะต้องเป็น สูตร 1. ยาต้านเอชไอวี 2 ตัวคือ “โลพินาเวียร์ (lopinavir)” กับ “ริโทนาเวียร์ (ritronavir)  บวกกับยาตัวที่ 3 คือยาต้านไวรัส “ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” หรือสูตร 2.ยาต้านเอชไอวี 2 ตัวคือ “โลพินาเวียร์” กับ “ริโทนาเวียร์ บวกกับยาตัวที่ 3 คือยาต้านไวรัส “โอเซลทรามิเวียร์ (Oseltamivir)”        หากจำได้จะมีเคสผู้ป่วยชาวจีนที่เข้ารับการรักษาที่รพ.ราชวิถี ซึ่งเคยมีคนบอกว่าใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล แต่ปรากฏว่าถ้าให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2 ตัว บวกกับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือบวกกับยาโอเซลทรามิเวียร์ ตัวใดตัวหนึ่งได้ผล ทำให้ผู้ป่วยนอนรพ.สั้นลง เฉลี่ยผู้ป่วยจะนอนรพ.ประมาณ 8-9 วัน ถ้าเทียบกับการให้ยาต้านเอชไอวี บวกกับยา “คลอโรควินฟอสเฟต (chloroquine phosphate)  หรือ ยารักษาโรคมาลาเรีย ไฮดร็อกซี่คลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ผู้ป่วยจะนอนรพ.เฉลี่ย 13 วัน ซึ่งขณะนี้มีรายงานว่าองค์การอนามัยโลกได้ให้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว        อย่างไรก็ตาม การให้ยาคอกเทลสูตรยาต้านไวรัสเอชวี 2 ตัวบวกตัวที่ 3 เป็นโอเซลทรามิเวียร์ นั้นได้ให้เฉพาะผู้ป่วยชาวจีนที่รพ.ราชวิถีเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นมาตรฐาน ตอนนี้จึงมีเพียงสูตรที่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นตัวที่ 3 เท่านั้น ที่ผ่านมาเราจะให้ฟาวิพิราเวียร์เฉพาะในผู้ป่วยอาการหนัก แต่ก็มีการปรับมาเป็นการให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีภาวะปอดอักเสบทุกราย และกำลังพิจารณาอยู่ว่าจำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยโควิดที่เริ่มมีอาการเลยหรือไม่          นพ.สมศักดิ์ บอกด้วยว่าที่ผ่านมามีการใช้ยาอีกหลายตัว เช่น อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะช่วยอะไร ส่วน ยาต้าน “ไซโตไคน์ สตอร์ม (cytokine storm)” ก็ยังมีการใช้เพียงบางรายเท่านั้น อีกวิธีหนึ่งคือการใช้พลาสมาของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว แต่เพิ่งมาเริ่มเก็บพลาสมาในระยะหลังที่ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยน้อยลงแล้ว ทำให้มีการนำไปใช้จริงในผู้ป่วยไม่กี่รายเท่านั้น จึงยังบอกอะไรไม่ได้         อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลกในโครงการทดลอง โซลิดาริที ไทรอัล (Solidarity Trial) ร่วมกับอีกประมาณ 30 ประเทศ ในการทดลองยาแต่ละสูตร ประมาณ 4-5 สูตร อาทิ  ยาเรมเดซิเวียร์" (Remdesivir) ซึ่งได้มีการทดลองใช้ในประเทศอื่นบ้าง หรือยาไซโตไคน์สตอม หน่วยงานหลักๆ ที่เข้าร่วมน่าจะมีทั้งโรงเรียนแพทย์ รพ.ราชวิถี รพ.ทรวงอก และน่าจะมีรพ.บำราศนราดูรด้วย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยและต้องอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ป่วยด้วย         อีกด้านหนึ่ง คือสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเป็น รพ.เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อฯ ที่รับส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการหนักจากทุกจังหวัด โดย นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รองผอ.สถาบันบำราศราดูร ฝ่ายควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้ถอดบทเรียนการรักษาผู้ป่วยโควิด -19 ก่อนการระบาดระลอกแรกจะคลี่คลายว่า ที่สถาบันมีผู้ป่วยทุกประเภทกว่า 200 ราย อายุต่ำสุดคือทารกวัย 47 วัน และสูงสุดอายุ 83 ปี ช่วงอายุที่พบมากสุดคือ 21-30 ปี เป็นชาย 60% หญิง 40% ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 90% อีก 10% เป็นชาวต่างชาติ มากที่สุดคือชาวจีนประมาณ 8% อีก 2% คือชาติอื่นๆ โดยเฉลี่ยผู้ป่วยนอนรพ. 2 สัปดาห์         สำหรับกลุ่มอาการของโรคมี 4 ลักษณะตามคำนิยามขององค์การอนามัยโลก คือ         อาการน้อยสุดหรือไข้หวัดพบ 60% รองลงมาคือปอดอักเสบเล็กน้อย 21%  ปอดอักเสบรุนแรง 13% และปอดอักเสบและระบบหายใจล้มเหลว ADRS 6%         เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขผู้ป่วยหนักทั่วประเทศไทยและทั่วโลก จะอยู่ที่ 3% แต่สถาบันบำราศฯ รับส่งต่อผู้ป่วยมาจากรพ.ทั่วประเทศจึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักสูงถึง 6% หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยผู้ป่วยหนักทั่วโลก         ทั้งนี้ถ้าผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง เมื่อเข้ารับการรักษาจากบวกจะกลายเป็นลบใช้เวลาเฉลี่ย10 วัน ส่วนกลุ่มอื่นๆ ประมาณ 12 วัน ดังนั้นเฉลี่ย 10-12 วัน สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจมีอยู่ 10% โดยบางคนต้องให้ออกซิเจนความเร็วสูง และบางส่วนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพราะหายใจเองไม่ได้          ส่วนยารักษานั้น ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องได้รับยาเหมือนกัน คนที่มีแค่อาการไข้หวัดก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยา แค่สังเกตอาการก็เพียงพอ โดยกลุ่มนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด         เนื่องจากสถาบันบำราศฯ เป็นสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยรายแรกๆ ของประเทศ ในขณะที่ข้อมูลการรักษามีน้อยมาก แนวทางการรักษาก็ยังไม่มี จึงต้องมีการศึกษางานวิจัยของต่างประเทศและ ใช้ความรู้ที่มีอยู่ทบทวนและประชุมทีมแพทย์ สร้างสูตรยาให้กับผู้ป่วย โดยมี 3 กลุ่ม คือ 1. ยาต้านไวรัสเอชไอวี 2. ยารักษาโรคมาลาเรีย ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และ 3. ยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์          ต่อมาหลังจากที่เริ่มมีผู้ป่วยหนักเมื่อเดือน ก.พ. ก็ประสานนำเข้า “ยาเรมดิสซีเวีย” ชนิดฉีดตัวแรกเข้ามาใช้กับผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่สามารถรับยาด้วยการกินได้         ที่สำคัญยังได้สร้างกรอบการรักษาใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย เช่น นำยาลดการอักเสบกลุ่มที่ลดสารเคมี “ไซโตไคม์” ในร่างกาย ซึ่งเกิดในผู้ป่วยวิกฤต ระบบการหายใจล้มเหลว รวมถึงความพยายามในการนำพลาสมาของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วมารักษาผู้ป่วยใหม่ การใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (Extracorporeal membrane oxygenation : ECMO) ทำให้ภาพรวมการรักษาหายสูง อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.8 % ในขณะที่ภาพรวมของโลกอยู่ที่ 7%         มาต่อที่ความพยายามในการพัฒนายาและวัคซีนของไทย จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าในส่วนของการพัฒนาวัคซีนมีหลายหน่วยงานที่เริ่มเดินหน้า และที่มีความคืบหน้าไปมากคือการวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม” ผอ.พัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า จุฬาฯ ได้เลือกเทคโนโลยี mRNA ที่ใช้เอสโปรตีน (s protein) ทั้งตัว จากการทดลองในหนูพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี และเริ่มฉีดให้กับสัตว์ใหญ่ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะรอประมาณ 4-6 สัปดาห์ถึงจะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันโควิด-19 อีกครั้ง          หากได้ผลดีก็จะเริ่มทดลองในมนุษย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 เฟส         เฟสแรกเป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฯ ต่ำ ประมาณ 100 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละ 10-15 คน โดยให้วัคซีนในโดสที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นขนาดสูง กลาง ต่ำ         เฟสที่ 2 เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่มีทั้งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโคโรนา 2019 สูง และต่ำ ประมาณ 500 กว่าคน         และเฟสที่ 3 ใช้อาสาสมัครที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง และบางส่วนต้องใช้อาสาสมัครที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อด้วย โดยใช้อาสาสมัครประมาณหลักพันคน          อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ได้ประสานโรงงานผลิตวัคซีน mRNA 2 แห่ง คือ บริษัทไบโอเนท สหรัฐอเมริกา และไบโอเนทเยอรมัน เพื่อผลิตวัคซีนจำนวน 10,000 โดส สำหรับใช้ในการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ต่อไป  หากได้ผลดีจริงคาดว่าจะสามารถทดลองในคนได้ราวเดือนพฤศจิกายน 2563 และถ้าได้ผลดีตามแผนที่วางไว้ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนได้เองราวปลายปี 2564           ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม ได้เปิดเผยถึงความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบ โดยให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต้นแบบ 2 ชนิด คือชนิดวัคซีนอนุภาคเหมือนไวรัส (Virus-like particle) โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และชนิดวัคซีนโปรตีนซับยูนิต (Subunit vaccine) โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิดใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งหากวัคซีนต้นแบบสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ อภ.จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาเพื่อพัฒนาต่อในการขยายขนาดการผลิตเป็นวัคซีนตามมาตรฐาน GMP สำหรับใช้ในการทดสอบทางคลินิกต่อไป         นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) เพื่อวิจัยพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายจากการตัดต่อยีนของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ SARS-CoV2 เข้าไปในยีนของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza virus-based COVID-19 vaccine) เพื่อเป็นเชื้อไวรัสตั้งต้น หากสำเร็จจะนำเชื้อไวรัสตั้งต้นนี้ผลิตเป็นวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีการใช้ไข่ไก่ฟักของอภ. ที่ใช้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่อยู่เดิม เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาทางคลินิกต่อไป โดยคาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นของการวิจัยพัฒนาวัคซีนทั้ง 3 ชนิดในปลายปี 2563          ส่วนเรื่องการสำรองยาไว้รักษาโรคนั้น “ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม ระบุว่าได้สำรองยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคโควิด-19 รวม 7 รายการ  คือ        1.ยาคลอโรควิน        2.ยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์        3.ยาต้านไวรัสเอชไอวีดารุนาเวียร์        4.ยาต้านไวรัสเอชไอวีริโทนาเวียร์        5.ยาอะซิโทรมัยซิน          6.ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน และ        7. ยาฟาร์วิพิราเวียร์         ภญ.นันทกาญจน์ บอกอีกว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนายาฟาร์วิพิราเวียร์ โดยนำเข้าวัตถุดิบมาพัฒนาเป็นยาเม็ดผลิตขึ้นเอง คาดว่าจะผลิตกึ่งอุตสาหกรรมได้ในต้นปี 2564 ก่อนศึกษาการคงตัวและการละลายของยาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ นำไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมประสิทธิผลด้านชีวสมมูลต่อในกลุ่มอาสาสมัคร และคาดว่าปลายปี 2564 น่าจะพร้อมยื่นขอขึ้นทะเบียนยา และผลิตได้ต้นปี 2565             สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น ขณะนี้มีหลายประเทศพัฒนา ทั้งจีน ยุโรป อเมริกา ส่วนไทยเองมีหลายหน่วยงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังเตรียมความพร้อมและเตรียมเข้ามาประเมินความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ว่ามีความสามารถในการผลิตวัคซีนหรือไม่ อย่างไร โดยการผลิตอาจจะเป็นการซื้อวัตถุดิบมาแบ่งบรรจุ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้พัฒนาก็ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปัญหาการขอยกเลิกเที่ยวบิน ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง (Covid-19)

        ปัญหาการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง ของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลให้ ผู้บริโภคที่ได้จองตั๋ว แพ็คเกจการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง การเดินทางโดยเครื่องบิน และการจองที่พักในโรงแรม ผ่าน บริษัทตัวแทน พักไม่สามารถบินไปได้ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐในการปิดสนามบิน เพื่อลดปัญหาการนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีให้ความสำคัญ         ข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนี ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และป้องกัน การล้มละลายของภาคธุรกิจ คือการให้ภาคธุรกิจสามารถออกคูปอง มูลค่าเท่ากับราคาของแพ็คเกจ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าสถานการณ์ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น ก็สามารถนำคูปองชดเชยนั้นมาใช้ได้ มาตรการนี้ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นพ้องกับรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกการได้รับการชดเชย ที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขอรับคูปอง หรือการขอคืนเป็นเงินสด         ถึงแม้ว่า ประเด็นทางกฎหมายจะชัดเจนแล้วสำหรับ กรณีการชดเชยความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมียอดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านยูโร ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบ และคดโกงผู้บริโภค โดยหลอกผู้บริโภคว่า ไม่สามารถคืนเงินได้ หรือ การคืนเป็นเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงมาก และมักจะขอเวลาในการคืนเงินที่ยาวนานผิดปกติ          จากการติดตามสถานการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริโภคและประชาชนที่เดือดร้อน          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ของไทย ก็พบว่า ไม่แตกต่างกัน และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ ก็มีมติเห็นชอบในการติดตามประเด็นเรื่องนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน ตลอดจนกำลังประสานกับคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรในการจัดการปัญหา การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ต่อประเด็นการชดเชยความเสียหายที่ล่าช้า หรือ การไม่สามารถชดเชยความเสียหายในการยกเลิกสัญญาภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ การล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ในกรณีที่ สายการบินขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์ โควิด 19 โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัญชาติไทยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) และสายการบินนกสกู้ต จำกัด ที่ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า        สำหรับข้อมูลการร้องเรียนกรณีปัญหาการยกเลิกตั๋วเครื่องบินทั้งจากการซื้อด้วยตนเอง มีผู้ร้องเรียน 172 ราย และซื้อผ่านเอเจนซี่ จำนวน 71 ราย จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563)กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง สามารถยุติข้อพิพาทได้ 40 ราย คิดเป็น 23 % กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซี่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ 13 ราย คิดเป็น 18 %สำหรับการยุติเรื่องร้องเรียนมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น        ·  ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน        ·  สามารถเก็บเครดิตไว้ใช้ครั้งต่อไป        ·  เก็บวงเงินไว้ใช้ภายใน 2 ปี        ·  สามารถเลื่อนตั๋วโดยสารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย        ·  ได้รับเครดิตการบิน ชดเชย เป็น 120 %สำหรับการยุติเรื่องที่ซื้อตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ ก็มีลักษณะคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็น        · ได้รับเงินคืน        ·  ได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิต        · ได้รับเงินคืน แต่ถูกหักค่าดำเนินการ/ค่าธรรมเนียม        ·  ได้รับเครดิตเงินคืน ที่สามารถใช้ได้ภายใน 1 ปี        ·  ได้รับการเลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย          สำหรับรูปแบบการชดเชย เยียวยาผู้โดยสารนั้น จะสังเกตได้ว่า มีช่องทางการคืนเงิน ผ่านบัตรเครดิต ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็อาจเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมาก ตั้งแต่ 20- 28% และกรณีผู้โดยสาร ต้องการเงินสด การถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนแต่ละครั้ง ประมาณ 3 % จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภค/ผู้โดยสาร มีต้นทุนสูงกว่ามากถ้าต้องการเงินสดที่มีวงเงินอยู่ในบัตรเครดิต         ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การได้รับเงินชดเชยคืน ควรจะอยู่ในรูปแบบเงินสด เช็คเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี ธนาคารครับสำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเรื่อง การคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินก็สามารถ ร้องเรียนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นะครับ เบอร์โทร 02-2483737 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือ สามารถร้องเรียนออนไลน์ ได้ที่www.consumerthai.org ตามหลักการที่ว่า ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่า บ่น 1,000 ครั้ง(แหล่งข้อมูล https://www.vzbv.de/pressemitteilung/pauschalreisen-gutscheine-bleiben-freiwillig-erstattungen-lassen-auf-sich-warten )

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ภูมิคุ้มกันกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

        ในช่วงชีวิตที่อยู่บนดาวดวงนี้ของผู้เขียน ไม่เคยพบปรากฏการณ์ใดที่ทำให้คนทั้งโลกเครียดได้เท่ากับการระบาดของเชื้อไวรัสชื่อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราวปลายปี 2019 ซึ่งเรียกว่าโรค COVID-19 ตลอดมาจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้คือ ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 เหตุการณ์อาจดูดีขึ้นบ้างในบางส่วนของโลก แต่จำนวนของคนที่ตายด้วยโรคนี้คงต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่า สูง แม้ว่าจะไม่สูงเท่าในอดีตสมัยที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังพัฒนาไม่ดีเท่าปัจจุบันที่มีคนตายเป็นหลายล้านคนเนื่องจากไข้หวัดใหญ่สเปนใน ค.ศ. 1918         สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าการติดเชื้อและการตายเนื่องจาก COVID-19 จะลดลงหรือไม่นั้นคือ ระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนในแต่ละส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติหรือภูมิคุ้มกันซึ่งถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน ในประการหลังนี้ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความหวัง ซึ่งจะสมหวังหรือผิดหวังนั้นยังไม่สามารถกล่าวได้ในตอนนี้         แม้ว่าความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนนั้นดูให้ความหวังค่อนข้างมากเพียงแต่ต้องรอเวลาเท่านั้น สำหรับประการแรกคือ การที่ประชาชนจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้เองนั้นก็เป็นความหวังที่น่าสนใจ แต่ความหวังนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ที่แน่ๆ คือ ความแข็งแรงของประชาชนแต่ละคนจะแปรตามพฤติกรรมความเป็นอยู่ในสังคมนั้นว่า เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพันธุกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังในบางประเทศ         มีประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอีกประการคือ ความเจริญของประเทศก็เป็นปัจจัยที่น่าจะกำหนดความเสี่ยงเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาและยังมีการฉีดวัคซีน BCG เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค ซึ่งเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันแล้วน่าจะมีผลพลอยได้ในการป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ได้ด้วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันแบบฆ่าสิ่งแปลกปลอมไม่เลือกด้วยเม็ดเลือดขาวบางประเภทนั้น ดูว่าจะกระตุ้นได้ดีและยืนยาวด้วย ดังนั้น BCG จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในประเทศเหล่านี้ติดเชื้อหรือตายน้อยกว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วและเลิกการฉีดวัคซีน BCG ให้เด็ก (ดูได้จากลำดับจำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิตเนื่องจาก COVID-19 ที่ประกาศแต่ละวัน)         ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) นั้นเป็นประเด็นความรู้ใหม่ของผู้เขียน อาจเนื่องจากไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนักในความรู้เบื้องต้นของวิชาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (เมื่อนานมาแล้ว) ที่ได้เรียนมา ผู้เขียนเข้าใจว่าประเด็นนี้คงอยู่ในเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคซึ่งใช้ความรู้ทางระบาดวิทยาซึ่งผู้เขียนไม่ได้สนใจนัก แต่ในช่วงของการระบาดของ COVID-19 นั้น เรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่นี้ได้เป็นประเด็นที่บางประเทศทางยุโรปยกขึ้นมาเป็นแนวทางหนึ่งในการพยายามควบคุมโรคนี้        แนวคิดเกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันหมู่ นั้นได้จากการสังเกตว่า การที่คนซึ่งหายป่วยแล้วไม่ป่วยซ้ำหรือคนที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่ป่วยนั้นเกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย เพราะเมื่อไม่มีใครป่วยเชื้อโรคก็ไม่มีการเพิ่มจำนวนและไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เสมือนได้เกิดภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มประชากรในสังคมนั้น ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่จึงดูว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการป้องกันประชากรที่อ่อนแอ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ ในทางอ้อมจากโรคระบาด         มีข้อสงสัยว่าภูมิคุ้มกันหมู่เกิดได้ไหมกับคนไทยปัจจุบันนี้        เนื่องจากในหลักการแล้วภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดได้ต้องมีการติดเชื้อในประชากรอย่างน้อย 60-70 % ก่อน ประเด็นนี้สำหรับผู้เขียนแล้วเมื่อพิจารณาการบริหารการติดเชื้อของประเทศไทย ซึ่งพยายามควบคุมและแนะนำให้คนไทยห่างไกลโรค (ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ถูกต้อง) โอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่คงยาก         ในอดีตภูมิคุ้มกันหมู่ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกป้องกันนั้น ประสบความสำเร็จในเรื่องของไข้ทรพิษ โปลิโอ หัด และคางทูม โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้นานหลายสิบปี อย่างไรก็ดีเรายังขาดหลักฐานที่จะระบุว่า ภูมิคุ้มกันในคนไข้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นอยู่ในร่างกายคนนานเพียงใด         ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับการหวังพึ่งภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ต้องมีประชากรติดเชื้อบ้างและประชากรนั้นต้องเป็นประชากรที่แข็งแรงจนไม่ตายหลังติดเชื้อ จนมีภูมิคุ้มกันต่อ SARS-CoV-2 ได้เป็นอย่างดี ความน่ากังวลนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานใดกล้าพูดว่า ประเทศไทยมีประชากรที่แข็งแรงพร้อมสู้ไวรัสด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นเป็นเท่าใดและอยู่ส่วนไหนของประเทศบ้าง        การมีร่างกายแข็งแรงพร้อมถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อติดเชื้อนั้น มีปัจจัยหลายประการที่จำเป็น เช่น การกินอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ (ปัจจุบันเรายึดแนวทางการกินอาหารครบห้าหมู่ในแต่ละวัน) การนอนหลับพักผ่อนที่พอเพียง การขับถ่ายที่เป็นปรกติและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายหรือได้ออกแรงทุกวันอย่างพอเพียงจนร่างกายแข็งแรงไม่ติดเชื้อเช่น หวัด ในฤดูที่มีการระบาด         ตัวอย่างดัชนีชี้วัดที่อาจแสดงว่า ไทยพร้อมหรือไม่ที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ความไม่มีระเบียบในการแย่งกันซื้อเหล้าทันทีที่มีการคลาย lockdown (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเหล้าทำลายตับ อวัยวะที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน) ความแออัดของการไปโรงพยาบาลในแต่ละวันก่อนและหลัง COVID-19 มาเยือน การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการที่รัฐจ่ายเช่น กรณีประกันสังคม บำนาญ หรือแม้แต่การใช้บัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งมากเหลือล้นและแสดงว่าคนไทยป่วยมากเหลือเกิน                    ในด้านการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนนั้น จำนวนสถานที่ออกกำลังกายทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงอัตราค่าบริการในประเทศไทยนั้นยังดูไม่น่าพอใจ อีกทั้งอัตราการใช้สถานออกกำลังกายซึ่งอาจรวมถึงการซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ออกกำลังกายยังดูต่ำอยู่ สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือ ความหลงผิดของสังคมที่คิดว่า e-sport เป็นของดีเพื่อใช้แก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุม (ทั้งที่จริงแล้วควรต่อต้านเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนลดการออกแรงกายเพื่อสุขภาพและทำลายสุขภาพตา จนถึงภาพรวมของสุขภาพที่ทำให้เข้าข่ายนั่งนานตายเร็ว)         เรื่องของการมีภูมิคุ้มกันทั้งเนื่องจากการติดเชื้อแล้วไม่ตายหรือได้รับวัคซีน (ถ้ามีในอนาคต) เป็นเรื่องสำคัญในบางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่ง ดร. แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติกล่าวไว้ในเดือนเมษายน 2020 ว่า เป็นไปได้ที่ในอนาคตสหรัฐจะพิจารณานโยบายการมีบัตรผ่านทางสำหรับผู้ที่มีแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเรียกว่า Immunity Passport และจากนั้นราวปลายเดือนเมษายนประเทศชิลีและประเทศเยอรมันก็มีแนวคิดที่จะออก "บัตรภูมิคุ้มกัน" (Immunity Cards) เพื่อให้คนที่ติดเชื้อและหายแล้วสามารถกลับไปทำงานนอกบ้านได้         ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2020 ว่า อย่าได้เชื่อเกี่ยวกับกระแสข่าวลือที่บางประเทศจะออก“immunity passport” แก่ประชากรที่ได้รับการระบุว่า มีภูมิคุ้มกันต้านไวรัส SARS-CoV-2 เพียงเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปทำงานหรือเดินทางได้อย่างเสรี เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดีแล้วจะไม่กลับมาติดเชื้อใหม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 26 เมษายนว่า ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อนั้นมีแอนติบอดีต่อสู้กับเชื้อไวรัสสูงแค่ในบางคน ในขณะที่บางคนกลับมีระดับแอนติบอดีต่ำในกระแสเลือด         สิ่งที่องค์การอนามัยโลกกังวล         การที่คนซึ่งทราบว่าตนเองมีระดับของแอนติบอดีสูงในขณะตรวจด้วย rapid tests อาจละเลยในการควบคุมตนเองให้มีระยะห่างในการติดต่อกับผู้อื่น และอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อไปแม้ไม่มีอาการ ทั้งนี้เพราะ COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ การตอบสนองของร่างกายในการสร้างแอนติบอดีนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจนัก ประการหนึ่งที่สำคัญและยังไม่มีความแน่ใจคือ โปรตีนที่เป็นแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 นั้นมีอายุได้นานเพียงใด และเมื่อใดจะถูกทำลายลง ซึ่งตอนนั้นร่างกายคงเหลือเพียง memory cell เพื่อปกป้องการติดเชื้อซ้ำ         การสร้างแอนติบอดีต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้นได้รับการยืนยันจาก Kara Lynch นักวิจัยจาก University of California, San Francisco ที่ศึกษาน้ำเลือดของผู้ติดเชื้อแล้วราว 100 คน ซึ่งได้รับการบำบัดโรคที่ที่ Zuckerberg San Francisco General Hospital โดยใช้วิธีเดียวกับที่ใช้ที่ประเทศจีนซึ่งสามารถเลือกตรวจเฉพาะโปรตีนที่จับกับ spike protein ของ SARS-CoV-2 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนไข้สามารถสร้างแอนติบอดีได้ในช่วง 2-15 วันหลังมีอาการป่วย (ข้อมูลการศึกษาในจีนกล่าวว่า 10-15 วัน) โดยแอนติบอดีที่เกิดก่อนคือ IgM จากนั้นจึงเป็น IgG (ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี) นอกจากนี้มีข้อมูลจากการศึกษาอื่นๆ ว่า แอนติบอดีนี้คงสภาพในระบบเลือดนานอย่างน้อย 2 อาทิตย์         เนื่องจาก COVID-19 นั้นเพิ่งมีการระบาดได้เพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นประเด็นที่ยังไม่มีการกล่าวถึงคือ เรื่องของ memory cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวบางส่วนที่ถูกกระตุ้นให้รู้จักเชื้อโรคที่เคยเข้าสู่ร่างกายแล้วพร้อมสร้างแอนติบอดี (memory B-cell) หรือปรับตัวให้เป็นเม็ดเลือดขาวพร้อมสู้เชื้อ (memory T-cell) ได้เร็วเพียงใดเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งว่าไปแล้วข้อมูลลักษณะนี้จะแสดงได้เมื่อมีการผลิตวัคซีนแล้วฉีดแก้ประชากรทั่วไป         มียกประเด็นเกี่ยวกับ memory cells ที่เกิดจากโรค SARS ซึ่งเกิดจาก SARS-CoV ซึ่งเป็น  coronavirus กลุ่มใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ในงานวิจัยเรื่อง Lack of Peripheral Memory B Cell Responses in Recovered Patients with Severe Acute Respiratory Syndrome: A Six-Year Follow-Up Study ในวารสาร Journal of Immunology ปี 2011 ว่า คนไข้ 23 คน ที่เคยเป็นโรค SARS ในฮ่องกงเมื่อปี 2003 นั้นมีทั้ง memory B-cell และ memory T-cell แต่เฉพาะ memory T-cell ของคนไข้ร้อยละ 60 เท่านั้นที่ตอบสนองต่อโปรตีนซึ่งแสดงความเป็นแอนติเจนของ SARS-CoV        ดังนั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าคุณสมบัติของวัคซีนต้าน COVID-19 จะเป็นอย่างไร โดยทุกคนต่างหวังว่ามันคงไม่ต่างจากกรณีของฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่ก่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันได้นานถึงราว 88 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 ถึงโควิดบุกแหลก ก็อย่าสติแตกกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด

        ยุคโควิด 19 ระบาด สิ่งที่บุกแหลกไม่แพ้เชื้อโควิด 19 ก็คือ ข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ จริงบ้าง มั่วบ้าง คลาดเคลื่อนบ้าง กระหน่ำมาตามๆ กัน นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อโรคก็ไม่ยอมตกขบวนมีจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย แต่ละผลิตภัณฑ์ก็อ้างว่าจัดการเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อยู่หมัด แต่ที่แน่ๆ มันจะจัดการดูดเงินในกระเป๋าสตางค์เราไปก่อนเป็นอันดับแรก ฉลาดซื้อเล่มนี้ขอแนะนำผลิตภัณฑ์และวิธีการการทำความสะอาดอย่างฉลาดซื้อฉลาดใช้เพื่อความปลอดภัยและไม่สิ้นเปลือง        สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือ โควิด 19 มันคือไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งหากมันเข้าไปอยู่ในร่างกายของเรา มันก็จะมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆ ยิ่งคนที่อ่อนแอ หรือมีภูมิต้านทานต่ำๆ มันก็จะยิ่งออกลูกออกหลานกันสนุกสนานอยู่ในร่างกายเราเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราเป็นคนแข็งแรงมีภูมิต้านทานสูงภูมิต้านทานในร่างกายเราก็จะช่วยกันจัดการเจ้าไวรัสตัวแสบนี้ได้         และเมื่อมันหลงเข้ามาอยู่ในร่างกายเราแล้ว บางทีเราก็จะเผลอแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ เพราะมันจะหลุดออกมากับละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และน้ำตาของเรา กระเด็นไปสู่คนรอบข้างที่อยู่ใกล้ๆ หรือกระเด็นไปติดตามที่ต่างๆ แล้วดันมีคนโชคร้ายไปสัมผัสตรงพื้นที่นั้นก็รับเชื้อจากเราไปโดยไม่รู้ตัว นี่คือเหตุผลที่เขาจึงรณรงค์ให้ กินร้อน ใช้ช้อนตัวเอง เร่งล้างมือ คาดหน้ากากปิดจมูกและปาก และอย่าอยู่ใกล้ชิดกันเกินไป         โดยทั่วไปแล้ว เชื้อไวรัสเมื่อมันอยู่นอกร่างกายเรา มันจะใจเสาะอายุสั้น แค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ตายแล้ว แต่เจ้าโควิด 19 มันเป็นไวรัสพันธุ์หัวแข็งตายยากกว่าไวรัสอื่นๆ เช่น ถ้าอยู่บนโต๊ะ พื้นผิวต่างๆ หรือลูกบิดประตู ก็อยู่ได้ถึง 4 – 5 วัน แต่ถ้ามันเจออากาศที่ร้อนกว่า 30 องศาเซลเซียส อายุก็จะสั้นลง ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์ ที่อ้างว่าสามารถใช้ทำลายเชื้อโควิด 19 ได้ ซึ่งขึ้นกับชนิดของสารเคมี บางชนิดก็ราคาแพงมาก แต่ที่จริงแล้วเจ้าโควิด 19 นี้ มันตายได้ง่ายถ้าเจอสบู่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ตลอดจนเจอความร้อนสูงๆ  รู้อย่างนี้จะจ่ายแพงกว่าทำไม ขอแนะนำในการทำความสะอาดสิ่งต่างๆ ที่ง่ายและประหยัดดังนี้        การทำความสะอาดมือ ถ้าอยู่บ้านหรือสำนักงาน ให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือก็พอแล้ว ทางสาธารณสุขเขาแนะนำให้ล้างมือ 7 ขั้นตอน แต่ถ้าจำไม่ได้ ก็จำง่ายๆ แค่ล้างให้ละเอียดทั่วทุกซอกทุกมุม ให้มือสัมผัสกับสบู่หรือน้ำยานานพอสมควร นานประมาณร้องเพลงช้างช้างช้าง 2 รอบก็ได้ และหากออกไปนอกบ้าน หาที่ล้างมือไม่ได้ ก็สามารถใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแทนได้ จะเป็นน้ำยาแอลกอฮอล์ หรือแอลกอฮอล์เจลก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมี % ของแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 70% และเมื่อใช้แล้วก็ไม่ต้องเช็ดออก ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้มือแห้งเองด้วย         ถ้วยชามภาชนะต่างๆ ใช้น้ำยาล้างจานทั่วไปก็พอแล้ว ถ้าไม่มั่นใจก็นำมาตากแดด หรือลวกด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเดือดสัก 30 วินาที         สำหรับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ก็ใช้ผงซักฟอกเหมือนที่เคยใช้ แล้วเอามาตากแดดร้อนๆ ของเมืองไทย ก็ใช้ได้แล้ว         ส่วนพื้นผิวต่างๆ เช่น โต๊ะ ลูกบิด ราวบันได ใช้แอลกอฮอล์ 70 %  หรือน้ำยาทำความสะอาดชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาดให้ทั่ว และเช็ดบ่อยๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีคนมาสัมผัสมากน้อยขนาดไหน         สำหรับพื้นที่เราเหยียบย่ำนั้น สามารถใช้ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาดพื้นชนิดที่ระบุว่าฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช็ดถูทำความสะอาด วันละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกัน COVID-19 ได้จริงหรือไม่

        มีการถามและแชร์กันว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีน BCG (วัคซีนป้องกันวัณโรค) ก็จะเป็นโควิด-19 น้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยรับการฉีด จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โควิด-19 เหมือนและต่างกับไข้หวัดใหญ่อย่างไร        อย่างแรก ทั้งโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ก่อโรคทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการตั้งแต่ ไม่มีอาการอะไรเลย อาการเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงและเสียชีวิต อย่างที่สอง ไวรัสทั้งสองชนิดติดต่อทางการสัมผัส ละอองของเหลวจากการไอ จาม         ไข้หวัดใหญ่จะมีระยะฟักตัวของเชื้อและเกิดอาการสั้นกว่าโควิด-19 (ระยะติดเชื้อและเกิดอาการของไข้หวัดใหญ่ ประมาณ 3 วัน ในขณะที่โควิด-19 ประมาณ 5-6 วัน) ซึ่งหมายความว่า ไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วกว่า          นอกจากนี้ โควิด-19 มีอัตราการตายร้อยละ 1-5 ซึ่งมากกว่าไข้หวัดใหญ่ที่อัตราการตายน้อยกว่าร้อยละ 0.5 แต่ในช่วงฤดูหนาว ไข้หวัดใหญ่สามารถติดเชื้อในประชากรได้เป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากร วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ เนื่องจากเป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ จึงต้องมีวัคซีนเฉพาะ         แต่ถึงแม้ว่า วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ ลดการตายและการอยู่ในโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง บุคลากรทางการแพทย์ การลดผู้ป่วยลงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาเหลือพอในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 วัคซีนบีซีจีลดการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่        องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าวัคซีนบีซีจีป้องกันผู้คนจากการติดเชื้อโควิด-19โดยเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สำคัญๆ และงานวิจัยทางคลินิก ที่นักวิจัยอ้างว่า ในประเทศที่มีการให้วัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิด จะพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้ให้วัคซีนบีซีจี ซึ่งพบว่า มีปัจจัยรบกวนที่มีอคติ ทำให้ผลการวิจัยไม่น่าเชื่อถือ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่         ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า การล้างจมูกเป็นประจำด้วยน้ำเกลือจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่มีหลักฐานบ้างว่า การล้างจมูกดังกล่าวสามารถช่วยให้ผู้ที่เป็นไข้หวัดธรรมดาฟื้นตัวเร็วขึ้น แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ การกินกระเทียมช่วยป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่        แม้ว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์และมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า การกินกระเทียมจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้         สรุป  วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และบีซีจี ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แต่การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างแน่นอน ป้องกันไม่ให้เราป่วยจากไข้หวัดใหญ่ และลดภาระงานของแพทย์ พยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 แนวใหม่ของวัคซีน: กรณี Covid-19

        สิ่งที่บุคคลากรด้านการแพทย์ต้องการไว้ในมือเพื่อต่อสู้กับ Covid-19 คือ ยาบำบัดเชื้อและวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ในกรณีของยาบำบัดเชื้อนั้นปัจจุบันยังไม่มียาที่ชะงัดจริงๆ ชนิดชุดเดียวจบ แต่ก็มียาที่สามารถนำมาใช้โดยเทียบเคียงในการแก้ปัญหาที่เกิดจากไวรัสอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่ไปยับยั้งการเพิ่มปริมาณกรดนิวคลิอิกที่เป็นหน่วยพันธุกรรมของไวรัส เพื่อขัดขวางการเพิ่มปริมาณของไวรัสแล้วทำให้การติดเชื้อจบลง ส่วนวัคซีนนั้นมักเกี่ยวกับการลดการระบาดของเชื้อสู่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อหรือเพิ่งเริ่มติดเชื้อ เพราะวัคซีนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาจัดการกับไวรัสที่เข้าสู่ร่างกาย ในฉลาดซื้อฉบับนี้ผู้เขียนขอนำเรื่องของวัคซีนที่กำลังถูกพัฒนาในแนวใหม่  ซึ่งดูว่าน่าจะดีกว่าวัคซีนในลักษณะเดิมๆ ในบางมิติ         วัคซีนนั้นโดยทั่วไปแล้วเป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้ตายหรืออ่อนฤทธิ์ลง บ้างก็ใช้เพียงบางส่วนของเชื้อจุลินทรีย์ (เช่นผนังเซลล์) หรืออยู่ในลักษณะของท็อกซอยด์ (toxoid คือสารพิษจากจุลินทรีย์ที่ถูกทำให้หมดฤทธิ์) เป็นต้น คุณสมบัติของวัคซีนที่สำคัญคือ เป็นโปรตีนที่มีศักยภาพเป็น แอนติเจน (antigen) ซึ่งเมื่อถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายคนหรือสัตว์แล้วจะชักนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งที่เป็นเม็ดเลือดขาว (white blood cells) ที่จัดการกับจุลินทรีย์โดยตรงและเม็ดเลือดขาวที่สร้างโปรตีนที่เรียกว่า แอนติบอดี (antibody) ที่สามารถจับตัวกับบางส่วนของจุลินทรีย์แล้วส่งผลให้เกิดกระบวนการทำลายจุลินทรีย์นั้น ๆ นอกจากนี้หน้าที่ที่สำคัญของวัคซีนอีกประการคือ การกระตุ้นให้เกิดการสร้างเซลล์ชนิด memory cell ที่สามารถจำจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกัน โดยเซลล์ลักษณะนี้มักอยู่ได้นานในระบบเลือดเพื่อเตรียมพร้อมในการต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่อาจเข้าสู่ร่างกาย แต่นานเพียงใดนั้นมีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนด         ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นมักมีความจำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้นๆ แต่ก็มีบ้างเช่นกันที่ภูมิคุ้มกันนั้นสามารถป้องกันสิ่งแปลกปลอมอื่น เช่น เชื้อโรคที่มีความคล้ายกับเชื้อที่เป็นเป้าของวัคซีนที่เข้าสู่หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในร่างกายเช่น เซลล์มะเร็ง ในลักษณะดังกล่าวนี้วัคซีนทำหน้าที่กระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ทำหน้าที่เก็บกวาดทุกอย่างที่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างที่มีการพูดถึงในประเด็นนี้คือ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG ซึ่งเด็กในชาติกำลังพัฒนาได้รับเพื่อป้องกันวัณโรคทุกคน) ได้ถูกกล่าวถึงว่า วัคซีนนี้มีส่วนทำให้ประเทศยากจนติด covid-19 น้อยและไม่รุนแรงเท่าคนในประเทศพัฒนาแล้ว         การผลิตวัคซีนเพื่อต่อต้านการติดเชื้อ covid-19 นั้น มีบริษัทยาและมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งได้แข่งกันทำ เพราะผู้ที่ทำได้สำเร็จก่อนย่อมได้ชื่อว่า ช่วยให้ประชากรโลกรอดตายได้เร็วขึ้นพร้อมทั้งรายได้มหาศาลที่ตามมา ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2563 กล่าวว่า มีวัคซีนราว 78 ชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งอย่างน้อย 5 ชนิดเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในคน โดยวัคซีนที่อาศัยเทคนิคการใช้หน่วยพันธุกรรมหรือกรดนิวคลิอิกของไวรัสเป็นแนวทางในการผลิตนั้นดูน่าสนใจที่สุด         ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า บริษัทหนึ่งชื่อ Novavax ได้ใช้วิธีการทางด้าน genetic recombination โดยเริ่มจากการหาตำแหน่งของหน่วยพันธุกรรมของไวรัสที่เป็นตัวสร้าง ตุ่มโปรตีน (spike protein) บนผิวของไวรัสซึ่งเป็นที่เข้าใจว่า นอกจากมีบทบาทในการเข้าสู่เซลล์ของร่างกายแล้วยังน่าจะมีบทบาทในการกระตุ้นภูมิต้านทานของผู้ที่ติดเชื้อไวรัส ชิ้นส่วนพันธุกรรมดังกล่าวนั้นได้ถูกสร้างในรูป DNA (deoxyribonucleic acid) plasmid แล้วนำใส่เข้าไปในเซลล์ของแบคทีเรียหรือยีสต์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยในการผลิตโปรตีนที่เป็นตุ่มบนผิวของไวรัสออกมาในปริมาณมาก เพื่อนำไปใช้เป็นองค์ประกอบของวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิต้านในผู้ที่ยังไม่ป่วย         ในลักษณะที่คล้ายกันคือ การใช้หน่วยพันธุกรรมชนิด RNA (ribonucleic acid) เป็นแนวทางในการผลิตวัคซีนและได้รับอนุญาตให้เริ่มมีการทดสอบในคนเป็นทีมแรกแล้วคือ วัคซีนของบริษัท Moderna ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่เคยพยายามผลิตวัคซีนเกี่ยวกับโรค severe acute respiratory syndrome (SARS) และ Middle East respiratory syndrome (MERS) มาแล้ว        ในเว็บของ Moderna กล่าวว่านักวิจัยของบริษัทร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (The National Institute of Allergy and Infectious Diseases หรือ NIAID) ได้ทำการศึกษาจนรู้ลำดับของกรดอะมิโนที่ประกอบขึ้นเป็นตุ่มโปรตีนบนผิวไวรัส จากนั้นได้ใช้ความรู้พื้นฐานทางชีวเคมีประเมินว่า รหัสพันธุกรรมที่ควรปรากฏอยู่บน RNA (หรือถ้าจะพูดให้ชัดคือ mRNA) นั้นควรมีการเรียงตัวเช่นไร แล้วจึงทำการสังเคราะห์สาย mRNA ที่ต้องการขึ้นมาในห้องปฏิบัติการ ซึ่งคงต้องเติมยีนกระตุ้นการทำงาน (promoter gene) ของ mRNA (ในลักษณะเดียวกันกับการใช้ CaMV P-35S ช่วยในการผลิตสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือ GMO) ที่สามารถบังคับให้เกิดการถอดระหัสของ mRNA หลังจากเข้าสู่เซลล์ของร่างกายเพื่อให้ได้โปรตีนที่มีเอกลักษณ์ตรงกับตุ่มโปรตีนบนผิวไวรัส โดยที่ mRNA นี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของวัคซีน จึงเรียกกันว่า mRNA vaccine ซึ่งมีระหัสว่า mRNA-1273 (ในความเป็นจริงมีบริษัทอื่น เช่น CureVac ในเมืองบอสตันที่อ้างว่ากำลังผลิต mRNA vaccine เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดดังเช่นที่ Moderna ให้ไว้ในเว็บของบริษัท) โดยข้อดีของ mRNA วัคซีนคือ ตัว mRNA จะถูกทำลายทิ้งในที่สุดหลังจากปิดงานในลักษณะเดียวกับที่เกิดต่อ mRNA ของคน (และสัตว์) ทั่วไป         ในการทดสอบประสิทธิผลของวัคซีนนั้น NIAID เป็นผู้รับผิดชอบในการอนุญาตให้ Moderna ได้สิทธิข้ามขั้นตอนเพื่อเริ่มทำการทดลองวัคซีนในคนได้อย่างเร่งด่วน เพื่อดูว่าวัคซีนก่อปัญหาสุขภาพแก่อาสาสมัครและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือไม่ วัคซีนของ Moderna ได้เริ่มทดสอบแล้วที่สถาบันวิจัยด้านสาธารณสุุข Kaiser Permanente Washington ในนครซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน เมื่อวันจันทร์ 16 มีนาคม 2020 โดยอาจมีวัคซีนของบริษัทอื่นดำเนินการตามในไม่ช้า         การทดลองวัคซีน mRNA-1273 ขั้นตอนที่ 1 นั้นนำทีมโดยแพทย์หญิงลิซา แจ็คสัน โดยใช้กลุ่มตัวอย่างผู้ชายและผู้หญิง (ที่ไม่ตั้งครรภ์) อายุระหว่าง 18-55 ปี จำนวน 45 คน โดยกลุ่มตัวอย่างได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน คือ 25, 100 หรือ 250 ไมโครกรัม สองเข็มในระยะเวลาห่างกัน 28 วัน จากนั้นจึงดูผลด้านความปลอดภัยและการตอบสนองต่อวัคซีน (การสร้างภูมิคุ้มกัน) นาน 1 ปี ผู้ที่สนใจในรายละเอียดของปฏิบัติการนี้สามารถอ่านดูได้ที่ https://www.niaid.nih.gov/news-events/nih-clinical-trial-investigational-vaccine-covid-19-begins         มีข้อมูลว่าสำนักข่าว CNN ได้สัมภาษณ์อาสาสมัครทั้งชายและหญิงที่เข้าร่วมการทดลองครั้งนี้พบว่า อาสาสมัครต่างสบายใจที่ทราบว่าในวัคซีนนั้นไม่ได้มีเชื้อไวรัสจริง แต่มีเพียงสิ่งที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสิ่งนั้นจะมีส่วนในการสร้างโปรตีนที่เหมือนกับโปรตีนซึ่งอยู่บนผิวของไวรัสออกมา เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายโปรตีนนั้น ซึ่งจะส่งผลให้ไวรัสที่มีอยู่ในร่างกายถูกทำลายในที่สุด         ตามหลักการทั่วไปแล้วก่อนมีการทดลองยาหรือวัคซีนในคนนั้น จำต้องเริ่มต้นทดสอบในสัตว์ทดลองก่อน เพื่อดูขนาดที่เหมาะสมของยาหรือวัคซีนพร้อมดูความเสี่ยงในการก่ออันตรายต่อสิ่งมีชีวิต รวมถึงการตรวจวัดด้านเภสัชจลศาสตร์เพื่อดูว่า การดูดซึม การกระจายตัว และการขับออกจากร่างกายเป็นอย่างไรในสัตว์ทดลอง จากนั้นจึงเริ่มทดสอบในคนซึ่งขั้นตอนแรกมักใช้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีราว 20-80 คน เพื่อทดสอบความปลอดภัยและตรวจสอบผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงเข้าขั้นตอนที่สองซึ่งใช้อาสาสมัคร 30-300 คน ซึ่งบางครั้งอาจใช้อาสาสมัครที่อยู่ในส่วนของโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคนั้นเลยเพื่อวัดประสิทธิภาพของวัคซีนในสภาวะจริงไปด้วย จากนั้นในขั้นตอนที่สามซึ่งเป็นการทำเหมือนขั้นตอนที่สองแต่ใช้อาสาสมัครประมาณ 1000-3000 คน เมื่อการทดสอบสำเร็จสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะเป็นผู้ประเมินผลว่าวัคซีนนั้นได้ผลหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีขั้นตอนที่สี่ซึ่งไม่บังคับแต่เป็นการทำหลังวัคซีนออกสู่ตลาดแล้วโดยเป็นการเก็บข้อมูงในกลุ่มคนเฉพาะเช่น คนท้อง เด็ก ผู้สูงวัย ฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น ผลข้างเคียงในคนบางกลุ่ม อายุของยาหรือวัคซีนหลังการผลิต เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 มาตรการเพื่อรองรับบริการรถสาธารณะในยุคโควิด 19

        นับแต่มีนาคมถึงมิถุนายนเป็นเวลากว่าสามเดือนเต็ม ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจหยุดการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด 19” ที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายปี 2562  และกลายเป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกจนทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมตอนนี้มากกว่า 9,000,000 คน และเสียชีวิตแล้วกว่า 460,000 คน นับเป็นโรคอุบัติใหม่ที่เป็นความสูญเสียยุคใหม่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติเลยก็ว่าได้         สำหรับประเทศไทยอาจจะดูเบาใจลงได้บ้าง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงหลายวันแล้ว และน่าจะใจชื้นขึ้นได้อีกเมื่อประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ดีที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชียอีกด้วย          แต่แม้จะได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นประเทศที่ติดอันดับโลกในการฟื้นตัวจากโรคระบาดนี้ ก็อย่าลืมว่าตอนนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ปัญหาคือ แล้วถ้าต้องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้แค่รับคนไทยจากต่างประเทศกลับเข้ามาก็พบคนมีไข้เสี่ยงติดเชื้อหลายคนอยู่แล้ว ตรงนี้คือจุดเปลี่ยนที่จะเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับพวกเราทุกคนแน่นอน         หันมองเพื่อนบ้านใกล้เคียงและอีกหลายประเทศทั่วโลกแล้ว คงต้องบอกว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจนัก เพราะหลายประเทศที่ดูสงบนิ่ง ตอนนี้เริ่มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กันบ้างแล้ว นั่นหมายความว่าการแพร่ระบาดรอบสองกำลังเริ่มขึ้น และการปิดประเทศหนีหรือล็อคดาวน์อีกรอบคงไม่ใช่คำตอบ อย่างเก่งคงทนได้ไม่เกินสามเดือน ยิ่งการอัดฉีดเม็ดเงินก็ไม่ได้ทำได้ตลอดไป เพราะถ้าพลาดการ์ดตกเมื่อไหร่ กลับไปใช้ชีวิตแบบประมาทไม่สนใจอะไรเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า รอบสองของเราอาจมาเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้         แต่การมาของวิกฤตโรคอุบัติใหม่ครั้งนี้ ทำให้คนพูดถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบใหม่ ๆ เพราะถ้าเราต้องป้องกันตนเองจากโรคร้ายที่เชื่อว่าจะต้องอยู่กับพวกเราไปอีกนาน เช่น การเริ่มทำงานที่บ้านมากขึ้น ลดการสังสรรค์นอกบ้านถ้าไม่จำเป็น ไม่นำพาตนเองเข้าไปอยู่ในที่แออัด สั่งอาหารเดลิเวอรี่ เลือกช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์ หรือ ปรับพฤติกรรมการเดินทาง ลดการใช้รถสาธารณะที่เบียดเสียด แล้วหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถจักรยานยนต์แทน รวมถึงการรักษาระยะห่างระหว่างกัน และใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาออกนอกบ้าน        สิ่งเหล่านี้ คือ ความปกติใหม่ ที่เราต้องซึมซับจากสิ่งรอบตัว ภาษา ท่าทาง พฤติกรรม ตลอดจนข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้เราต้องคุ้นชินอยู่กับสิ่งเหล่านี้กันไปอีกสักพักใหญ่ อย่างน้อยก็อีกหลายเดือนนับจากนี้        แน่นอนว่าเมื่อตอนนี้สถานการณ์ของประเทศไทยเริ่มดีขึ้น รัฐบาลเริ่มทยอยปลดล็อคข้อบังคับหลายอย่างสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางบ้างแล้ว เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเร็วที่สุด แต่การเดินทางด้วยรถสาธารณะกลับยังถูกจับตาเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้วยมีปัจจัยบ่งชี้ว่า รถสาธารณะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยมีการยกตัวอย่างของประเทศจีนที่พบผู้ติดเชื้อในรถสาธารณะปรับอากาศที่มีคนค่อนข้างแน่น ขณะที่มีผู้โดยสารที่มีเชื้อเพียง 1 คน นั่งอยู่แถวหลัง การแพร่เชื้อไปยังผู้โดยสารคนอื่นบนรถก็สามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะนั่งห่างกันถึง 4 เมตรก็ตาม         จากกรณีดังกล่าวจึงทำให้ผู้กำกับนโยบายหลายฝ่ายในประเทศไทยยังไม่กล้าที่จะปลดล็อคการเว้นระยะห่างในรถสาธารณะ ทั้งในรถเมล์และรถไฟฟ้ารวมถึงกลุ่มรถโดยสารระหว่างจังหวัด เพราะยังไม่มั่นใจและไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อบนรถสาธารณะ ทั้งที่การเดินทางด้วยขนส่งมวลชนเป็นบริการสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้บริการตามภาพที่ทุกคนพบเห็น คือ คนยืนเบียดเสียดเต็มคันรถ แต่เบาะที่นั่งบนรถยังต้องเว้นระยะอยู่ แล้วแบบนี้จะเรียกว่ามาตรการป้องกันได้อย่างไร         ขณะที่คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ เมื่อสถานการณ์ผ่อนคลายถึงที่สุดแล้ว การเดินทางของประชาชนจะกลับมาเพิ่มขึ้น ประชาชนใช้รถเมล์และรถไฟฟ้ากันเหมือนเดิม ทั้งการเดินทางระยะทางสั้นในเขตเมือง และเดินทางระยะยาวข้ามจังหวัด และคาดหมายว่าจะมีคนใช้บริการรถเมล์มากถึง 650,000 คนต่อวัน ขณะที่ระบบขนส่งทางรางเดิมก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผู้ใช้บริการมากถึง 900,000 คน/วัน แบ่งเป็น รถไฟฟ้า BTS เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 517,560 คน/วัน MRT เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 284,841 คน/วัน และ แอร์พอตลิงค์เดิมมีผู้โดยสารเฉลี่ย 45,703 คน/วัน และรถไฟฟ้าเดิมอยู่ที่ 59,767 คน/วัน         หากรัฐยังไม่มีมาตรการใหม่และยืนยันต้องเว้นระยะห่างบนรถสาธารณะเหมือนเดิม ปัญหาการไม่เพียงพอของรถสาธารณะและความยากลำบากของผู้ใช้บริการก็จะกลับมา เพราะต้องยอมรับว่าระบบขนส่งมวลชนไทยในปัจจุบัน ไม่ได้ออกแบบไว้รองรับมาตรการระยะห่างทางสังคม Social Distancing ทางออกเร่งด่วนที่ดีที่สุดตอนนี้คือ รัฐควรต้องเร่งปลดล็อคและปรับมาตรการอื่นเข้ามาเสริมแทน  เช่น จริงจังกับนโยบาย work from home สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่พร้อมเพื่อลดปริมาณการเดินทาง ทดลองลดระยะห่างบนรถสาธารณะเพื่อเพิ่มความจุในปริมาณที่เหมาะสมตามหลักวิศวกรรมที่เน้นความปลอดภัยและกำหนดมาตรการการป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ การบังคับใช้หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องจริงจัง         เช่นเดียวกับกลุ่มรถโดยสารระหว่างจังหวัดที่ต้องวิ่งรับส่งคนโดยสารในระยะทางไกล รัฐควรต้องกำหนดมาตรการอื่นเพิ่มเติมมากกว่าการเว้นเบาะที่นั่ง เพราะการจำกัดจำนวนที่นั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้และการประกอบอาชีพของผู้ประกอบการจนนำไปสู่ปัญหาการบรรทุกเกิน แอบขึ้นราคาค่าโดยสารและสุดท้ายคนที่ต้องแบกรับภาระทั้งหมดคือผู้บริโภคนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >