ฉบับที่ 234 หยุดเบอร์โทรรบกวน ด้วยแอปพลิเคชั่น “กันกวน”

        ช่วงสภาวะที่ยังคงต้องมีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างต่อเนื่องแบบนี้ ส่งผลให้หลายองค์กรทำงาน “หาลูกค้า” ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่จำเป็นต้องลงพื้นที่ตามแหล่งชุมชน ต้องเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยตนเอง อย่างกลุ่มที่ทำงานขายประกัน ขายบัตรเครดิต เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์ชักชวนลูกค้าแบบตัวต่อตัว        เมื่อไม่สามารถหาลูกค้าในรูปแบบเดิมได้ จึงต้องหันมาใช้รูปแบบการโทรศัพท์ถึงกลุ่มเป้าหมายแทน แต่บางครั้งการโทรศัพท์เพื่อขายสินค้าและบริการในลักษณะนี้ก็ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจกับกลุ่มเป้าหมายเท่าใดนัก บางทีไม่ใช่แค่เพียงการขายประกัน ขายบัตรเครดิต ขายตรงเท่านั้น แต่บางกลุ่มก็มาในรูปแบบมิจฉาชีพที่ทำให้เกิดการเสียเงินผ่านค่าโทรศัพท์โดยไม่รู้ตัว  ซึ่งถือว่าเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวของประชาชน แถมก่อให้เกิดความรำคาญกับการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย         สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เห็นถึงปัญหาและพัฒนาแอปพลิเคชั่น “กันกวน” ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมีสิทธิ์ในการปิดกั้นการโฆษณาการขายสินค้าและบริการที่ไม่ต้องการเองได้ และเป็นฐานข้อมูลในการร่วมกันดูแล คอยแลกเปลี่ยนข้อมูลของกลุ่มธุรกิจที่ใช้โทรศัพท์มาขายสินค้าหรือบริการ โดยแอปพลิเคชั่น “กันกวน” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         หลังจากเปิดแอปพลิเคชั่น “กันกวน” มาใช้ในครั้งแรก จะต้องกรอกเลขโทรศัพท์มือถือและหมายเลขบัตรประชาชนเพื่อให้ระบบตรวจสอบ และสร้างบัญชีด้วยการใส่ชื่อนามสกุล เมล เพื่อเข้าสู่แอปพลิเคชั่น โดยแอปพลิเคชั่นนี้จำเป็นต้องเปิดอนุญาตการใช้งานให้เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์ด้วย เพื่อให้เข้าไปกลั่นกรองเบอร์ที่มีการขายสินค้าและบริการไม่ให้โทรศัพท์เข้ามากวนคุณได้         ภายในแอปพลิเคชั่นจะมีรายการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ทั้งหมดที่ถูกส่งรายงานเข้ามาว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์ที่มีการโฆษณาและการขาย ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลกลางจำนวนทั้งสิ้น 494 หมายเลข โดยฐานข้อมูลนี้ทุกคนสามารถร่วมส่งข้อมูลที่เห็นว่าเบอร์โทรศัพท์ไหนเข้าข่ายรบกวนและเป็นการขายสินค้าและบริการได้ เพียงกดปุ่มสัญลักษณ์เครื่องหมายบวก แล้วกรอกรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์นั้นลงไป และเลือกกดแจ้งไปยังแอปฯ กันกวน เพื่อให้ กสทช. ดำเนินการจัดประเภทเป็นเบอร์รบกวน และนำข้อมูลเข้าสู่ฐานข้อมูลกลางเพื่อส่งข้อมูลเบอร์ดังกล่าวไปยังทุกคนที่ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ หรือเลือกกดปิดกั้น เพื่อดำเนินการปิดกั้นเบอร์โทรศัพท์ที่โทรเข้ามาสำหรับสมาร์ทโฟนเครื่องนี้เท่านั้น         การเลือกกดแจ้งไปยังแอปพลิเคชั่นกันกวน จะถูกแบ่งการปิดกั้นเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ กลุ่มขายประกัน กลุ่มขายบัตรเครดิต กลุ่มทวงถามหนี้ กลุ่มขายเกมส์ออนไลน์ กลุ่มขายคอนเทนต์ออนไลน์ กลุ่มขายสื่อลามก กลุ่มโฆษณารบกวน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นยังสามารถตั้งค่าเองเพื่อเลือกอนุญาตไม่ปิดกั้นเฉพาะบางเบอร์ได้ และตั้งค่าให้ปรับปรุงฐานข้อมูลแบบอัตโนมัติได้อีกด้วย         ใครมีปัญหาการโทรมากวนใจเพื่อขายสินค้าและบริการในช่วงนี้ ลองใช้แอปพลิเคชั่น “กันกวน” กันดูนะคะ เป็นตัวเลือกที่สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ภูมิคุ้มกันกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

        ในช่วงชีวิตที่อยู่บนดาวดวงนี้ของผู้เขียน ไม่เคยพบปรากฏการณ์ใดที่ทำให้คนทั้งโลกเครียดได้เท่ากับการระบาดของเชื้อไวรัสชื่อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราวปลายปี 2019 ซึ่งเรียกว่าโรค COVID-19 ตลอดมาจนถึงขณะที่เขียนบทความนี้คือ ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 เหตุการณ์อาจดูดีขึ้นบ้างในบางส่วนของโลก แต่จำนวนของคนที่ตายด้วยโรคนี้คงต้องถูกจารึกในประวัติศาสตร์โลกว่า สูง แม้ว่าจะไม่สูงเท่าในอดีตสมัยที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังพัฒนาไม่ดีเท่าปัจจุบันที่มีคนตายเป็นหลายล้านคนเนื่องจากไข้หวัดใหญ่สเปนใน ค.ศ. 1918         สิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าการติดเชื้อและการตายเนื่องจาก COVID-19 จะลดลงหรือไม่นั้นคือ ระบบภูมิคุ้มกันของประชาชนในแต่ละส่วนของโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติหรือภูมิคุ้มกันซึ่งถูกกระตุ้นด้วยวัคซีน ในประการหลังนี้ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความหวัง ซึ่งจะสมหวังหรือผิดหวังนั้นยังไม่สามารถกล่าวได้ในตอนนี้         แม้ว่าความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนนั้นดูให้ความหวังค่อนข้างมากเพียงแต่ต้องรอเวลาเท่านั้น สำหรับประการแรกคือ การที่ประชาชนจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้เองนั้นก็เป็นความหวังที่น่าสนใจ แต่ความหวังนี้ก็ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ ที่แน่ๆ คือ ความแข็งแรงของประชาชนแต่ละคนจะแปรตามพฤติกรรมความเป็นอยู่ในสังคมนั้นว่า เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพันธุกรรมของเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังมีการศึกษาอย่างจริงจังในบางประเทศ         มีประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจอีกประการคือ ความเจริญของประเทศก็เป็นปัจจัยที่น่าจะกำหนดความเสี่ยงเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ เพราะมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาและยังมีการฉีดวัคซีน BCG เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค ซึ่งเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันแล้วน่าจะมีผลพลอยได้ในการป้องกันเชื้อโรคอื่นๆ ได้ด้วย เพราะระบบภูมิคุ้มกันแบบฆ่าสิ่งแปลกปลอมไม่เลือกด้วยเม็ดเลือดขาวบางประเภทนั้น ดูว่าจะกระตุ้นได้ดีและยืนยาวด้วย ดังนั้น BCG จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในประเทศเหล่านี้ติดเชื้อหรือตายน้อยกว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วและเลิกการฉีดวัคซีน BCG ให้เด็ก (ดูได้จากลำดับจำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิตเนื่องจาก COVID-19 ที่ประกาศแต่ละวัน)         ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) นั้นเป็นประเด็นความรู้ใหม่ของผู้เขียน อาจเนื่องจากไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญนักในความรู้เบื้องต้นของวิชาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (เมื่อนานมาแล้ว) ที่ได้เรียนมา ผู้เขียนเข้าใจว่าประเด็นนี้คงอยู่ในเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคซึ่งใช้ความรู้ทางระบาดวิทยาซึ่งผู้เขียนไม่ได้สนใจนัก แต่ในช่วงของการระบาดของ COVID-19 นั้น เรื่องของภูมิคุ้มกันหมู่นี้ได้เป็นประเด็นที่บางประเทศทางยุโรปยกขึ้นมาเป็นแนวทางหนึ่งในการพยายามควบคุมโรคนี้        แนวคิดเกี่ยวกับ ภูมิคุ้มกันหมู่ นั้นได้จากการสังเกตว่า การที่คนซึ่งหายป่วยแล้วไม่ป่วยซ้ำหรือคนที่ได้รับวัคซีนแล้วไม่ป่วยนั้นเกิดประโยชน์ต่อคนรอบข้างด้วย เพราะเมื่อไม่มีใครป่วยเชื้อโรคก็ไม่มีการเพิ่มจำนวนและไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เสมือนได้เกิดภูมิคุ้มกันโรคในกลุ่มประชากรในสังคมนั้น ดังนั้นภูมิคุ้มกันหมู่จึงดูว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการป้องกันประชากรที่อ่อนแอ เช่น เด็กและผู้สูงอายุ ในทางอ้อมจากโรคระบาด         มีข้อสงสัยว่าภูมิคุ้มกันหมู่เกิดได้ไหมกับคนไทยปัจจุบันนี้        เนื่องจากในหลักการแล้วภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดได้ต้องมีการติดเชื้อในประชากรอย่างน้อย 60-70 % ก่อน ประเด็นนี้สำหรับผู้เขียนแล้วเมื่อพิจารณาการบริหารการติดเชื้อของประเทศไทย ซึ่งพยายามควบคุมและแนะนำให้คนไทยห่างไกลโรค (ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ถูกต้อง) โอกาสเกิดภูมิคุ้มกันหมู่คงยาก         ในอดีตภูมิคุ้มกันหมู่ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ประชากรโลกป้องกันนั้น ประสบความสำเร็จในเรื่องของไข้ทรพิษ โปลิโอ หัด และคางทูม โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอยู่ได้นานหลายสิบปี อย่างไรก็ดีเรายังขาดหลักฐานที่จะระบุว่า ภูมิคุ้มกันในคนไข้ที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นอยู่ในร่างกายคนนานเพียงใด         ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับการหวังพึ่งภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ต้องมีประชากรติดเชื้อบ้างและประชากรนั้นต้องเป็นประชากรที่แข็งแรงจนไม่ตายหลังติดเชื้อ จนมีภูมิคุ้มกันต่อ SARS-CoV-2 ได้เป็นอย่างดี ความน่ากังวลนี้เกิดขึ้นเพราะไม่มีหน่วยงานใดกล้าพูดว่า ประเทศไทยมีประชากรที่แข็งแรงพร้อมสู้ไวรัสด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นเป็นเท่าใดและอยู่ส่วนไหนของประเทศบ้าง        การมีร่างกายแข็งแรงพร้อมถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อติดเชื้อนั้น มีปัจจัยหลายประการที่จำเป็น เช่น การกินอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ (ปัจจุบันเรายึดแนวทางการกินอาหารครบห้าหมู่ในแต่ละวัน) การนอนหลับพักผ่อนที่พอเพียง การขับถ่ายที่เป็นปรกติและสม่ำเสมอ การออกกำลังกายหรือได้ออกแรงทุกวันอย่างพอเพียงจนร่างกายแข็งแรงไม่ติดเชื้อเช่น หวัด ในฤดูที่มีการระบาด         ตัวอย่างดัชนีชี้วัดที่อาจแสดงว่า ไทยพร้อมหรือไม่ที่จะก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่         คือ ความไม่มีระเบียบในการแย่งกันซื้อเหล้าทันทีที่มีการคลาย lockdown (ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเหล้าทำลายตับ อวัยวะที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกัน) ความแออัดของการไปโรงพยาบาลในแต่ละวันก่อนและหลัง COVID-19 มาเยือน การเบิกค่ารักษาพยาบาลจากสวัสดิการที่รัฐจ่ายเช่น กรณีประกันสังคม บำนาญ หรือแม้แต่การใช้บัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งมากเหลือล้นและแสดงว่าคนไทยป่วยมากเหลือเกิน                    ในด้านการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนนั้น จำนวนสถานที่ออกกำลังกายทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงอัตราค่าบริการในประเทศไทยนั้นยังดูไม่น่าพอใจ อีกทั้งอัตราการใช้สถานออกกำลังกายซึ่งอาจรวมถึงการซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ออกกำลังกายยังดูต่ำอยู่ สิ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือ ความหลงผิดของสังคมที่คิดว่า e-sport เป็นของดีเพื่อใช้แก้ปัญหาวัยรุ่นมั่วสุม (ทั้งที่จริงแล้วควรต่อต้านเพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนลดการออกแรงกายเพื่อสุขภาพและทำลายสุขภาพตา จนถึงภาพรวมของสุขภาพที่ทำให้เข้าข่ายนั่งนานตายเร็ว)         เรื่องของการมีภูมิคุ้มกันทั้งเนื่องจากการติดเชื้อแล้วไม่ตายหรือได้รับวัคซีน (ถ้ามีในอนาคต) เป็นเรื่องสำคัญในบางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกาซึ่ง ดร. แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติกล่าวไว้ในเดือนเมษายน 2020 ว่า เป็นไปได้ที่ในอนาคตสหรัฐจะพิจารณานโยบายการมีบัตรผ่านทางสำหรับผู้ที่มีแอนติบอดีต่อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเรียกว่า Immunity Passport และจากนั้นราวปลายเดือนเมษายนประเทศชิลีและประเทศเยอรมันก็มีแนวคิดที่จะออก "บัตรภูมิคุ้มกัน" (Immunity Cards) เพื่อให้คนที่ติดเชื้อและหายแล้วสามารถกลับไปทำงานนอกบ้านได้         ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2020 ว่า อย่าได้เชื่อเกี่ยวกับกระแสข่าวลือที่บางประเทศจะออก“immunity passport” แก่ประชากรที่ได้รับการระบุว่า มีภูมิคุ้มกันต้านไวรัส SARS-CoV-2 เพียงเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปทำงานหรือเดินทางได้อย่างเสรี เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ระบุว่า ผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดีแล้วจะไม่กลับมาติดเชื้อใหม่ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังให้ข้อมูลเพิ่มในวันที่ 26 เมษายนว่า ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อนั้นมีแอนติบอดีต่อสู้กับเชื้อไวรัสสูงแค่ในบางคน ในขณะที่บางคนกลับมีระดับแอนติบอดีต่ำในกระแสเลือด         สิ่งที่องค์การอนามัยโลกกังวล         การที่คนซึ่งทราบว่าตนเองมีระดับของแอนติบอดีสูงในขณะตรวจด้วย rapid tests อาจละเลยในการควบคุมตนเองให้มีระยะห่างในการติดต่อกับผู้อื่น และอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อต่อไปแม้ไม่มีอาการ ทั้งนี้เพราะ COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ การตอบสนองของร่างกายในการสร้างแอนติบอดีนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจนัก ประการหนึ่งที่สำคัญและยังไม่มีความแน่ใจคือ โปรตีนที่เป็นแอนติบอดีต่อ SARS-CoV-2 นั้นมีอายุได้นานเพียงใด และเมื่อใดจะถูกทำลายลง ซึ่งตอนนั้นร่างกายคงเหลือเพียง memory cell เพื่อปกป้องการติดเชื้อซ้ำ         การสร้างแอนติบอดีต่อสู้กับ SARS-CoV-2 นั้นได้รับการยืนยันจาก Kara Lynch นักวิจัยจาก University of California, San Francisco ที่ศึกษาน้ำเลือดของผู้ติดเชื้อแล้วราว 100 คน ซึ่งได้รับการบำบัดโรคที่ที่ Zuckerberg San Francisco General Hospital โดยใช้วิธีเดียวกับที่ใช้ที่ประเทศจีนซึ่งสามารถเลือกตรวจเฉพาะโปรตีนที่จับกับ spike protein ของ SARS-CoV-2 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า คนไข้สามารถสร้างแอนติบอดีได้ในช่วง 2-15 วันหลังมีอาการป่วย (ข้อมูลการศึกษาในจีนกล่าวว่า 10-15 วัน) โดยแอนติบอดีที่เกิดก่อนคือ IgM จากนั้นจึงเป็น IgG (ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎี) นอกจากนี้มีข้อมูลจากการศึกษาอื่นๆ ว่า แอนติบอดีนี้คงสภาพในระบบเลือดนานอย่างน้อย 2 อาทิตย์         เนื่องจาก COVID-19 นั้นเพิ่งมีการระบาดได้เพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นประเด็นที่ยังไม่มีการกล่าวถึงคือ เรื่องของ memory cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวบางส่วนที่ถูกกระตุ้นให้รู้จักเชื้อโรคที่เคยเข้าสู่ร่างกายแล้วพร้อมสร้างแอนติบอดี (memory B-cell) หรือปรับตัวให้เป็นเม็ดเลือดขาวพร้อมสู้เชื้อ (memory T-cell) ได้เร็วเพียงใดเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งว่าไปแล้วข้อมูลลักษณะนี้จะแสดงได้เมื่อมีการผลิตวัคซีนแล้วฉีดแก้ประชากรทั่วไป         มียกประเด็นเกี่ยวกับ memory cells ที่เกิดจากโรค SARS ซึ่งเกิดจาก SARS-CoV ซึ่งเป็น  coronavirus กลุ่มใกล้เคียงกับ SARS-CoV-2 ในงานวิจัยเรื่อง Lack of Peripheral Memory B Cell Responses in Recovered Patients with Severe Acute Respiratory Syndrome: A Six-Year Follow-Up Study ในวารสาร Journal of Immunology ปี 2011 ว่า คนไข้ 23 คน ที่เคยเป็นโรค SARS ในฮ่องกงเมื่อปี 2003 นั้นมีทั้ง memory B-cell และ memory T-cell แต่เฉพาะ memory T-cell ของคนไข้ร้อยละ 60 เท่านั้นที่ตอบสนองต่อโปรตีนซึ่งแสดงความเป็นแอนติเจนของ SARS-CoV        ดังนั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครแน่ใจว่าคุณสมบัติของวัคซีนต้าน COVID-19 จะเป็นอย่างไร โดยทุกคนต่างหวังว่ามันคงไม่ต่างจากกรณีของฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่ก่อให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันได้นานถึงราว 88 ปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ตรวจสอบอาการเบื้องต้น COVID-19 กับแอปพลิเคชั่น “ใกล้มือหมอ”

        ตั้งแต่ต้นปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เริ่มแพร่กระจายและขยายการติดเชื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมนี้ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเกินร้อยทุกวัน ภาครัฐได้มีมาตรการการเฝ้าระวังอาการ การกักตัวเองในบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหวังให้ประชาชนตระหนักและมีความรู้ความเข้าใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้         สิ่งหนึ่งที่ประชาชนสามารถเฝ้าระวังนั่นคือ การหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัด การล้างมือ การไม่ใช้มือสัมผัสหน้า จมูก ดวงตา การสวมใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางก็ควรต้องศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโดยการเฝ้าสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ทำแอปพลิเคชั่นเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่อาจต้องสงสัยว่าเป็นการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือเป็นอาการอื่นกันแน่         แอปพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “ใกล้มือหมอ” สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS โดยขั้นแรกให้เลือกระบบการใช้งานเป็นบุคคลทั่วไป และกรอกชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และ E-Mail เพื่อลงทะเบียนเข้าใช้งาน        จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้น ทำให้แอปพลิเคชั่นได้เพิ่มในส่วนของการติดตามเพื่อแจ้งข้อมูลจุดที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้นให้ทราบว่าบริเวณใด โดยสามารถดูรายละเอียดได้ว่าผู้ติดเชื้อเป็นใคร และได้เพิ่มปุ่มในส่วนของการตรวจสอบอาการ COVID-19 เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วย         ขั้นตอนการตรวจสอบอาการ COVID-19 จะเป็นการให้ตอบคำถามตามอาการที่เกิดขึ้นจริง เช่น มีไข้สูงเกิน 38 องศา ไอแห้ง อ่อนเพลีย หายใจลำบาก หอบเหนื่อยผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น เพื่อแอปพลิเคชั่นจะคำการวิเคราะห์ว่ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อหรือไม่ ถ้ามีแนวโน้มที่จะติดเชื้อจะมีปุ่มให้กดเพื่อดูข้อมูล เบอร์ติดต่อ ระยะทาง แผนที่ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นสามารถติดต่อโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ได้เร็วที่สุด          สำหรับอาการอื่นๆ ในแอปพลิเคชั่นนี้ได้รวบรวมหมวดการค้นหาอาการ การค้นหาข้อมูลโรคต่างๆ โดยการแบ่งลักษณะอาการป่วยออกตามอวัยวะภายในร่างกาย ตามประเภทโรคที่เกี่ยวข้อง และตามลักษณะอาการของโรค เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา เมื่อค้นหาได้แล้วจะเจอข้อมูลที่บอกลักษณะอาการที่เกิดขึ้นนั้นอย่างละเอียด มีวิธีการรักษา พร้อมทั้งวิดีโอแนะนำเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น         ที่สำคัญแอปพลิเคชั่นใกล้มือหมอจะมีข้อความเตือนทุกขั้นตอนว่า การซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรนั้น อาจก่อนให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น การแพ้ยา การดื้อยา หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต         ดังนั้นเมื่อมีอาการใด ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัวตัวร้อน หรือสงสัยว่าจะติดเชื้อ COVID-19 อย่าซื้อยามารับประทานเองกันนะคะ ให้ใช้แอปพลิเคชั่นนี้เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบอาการเบื้องต้น อย่างน้อยก็ช่วยลดความวิตกกังวลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 พุ่งสูงขึ้นตลอดเวลา         มาดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และลดการไปในสถานที่แออัดกันนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 กระแสต่างแดน

 งานด่วน        ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำลังแข่งกันว่าใครจะส่งสินค้าที่ “สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้” ออกสู่ตลาดได้ก่อนกัน         เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (เจ้าของแบรนด์เดทตอล) แถลงเป็นรายแรกว่าได้ซื้อสเตรนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากห้องปฏิบัติการอิสระมาแล้ว         ตามข้อกำหนดของยุโรปและอเมริกา ต้องมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานควบคุมมายืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นฆ่าไวรัสได้ร้อยละ 99.99 จึงจะสามารถโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ “ฆ่าไวรัสได้”         ผลทดสอบจะออกปลายเดือนเมษายนนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการทดสอบอย่างเข้มข้นโดยหน่วยงานควบคุมอีกหลายครั้ง (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหนึ่งถึงสองแสนเหรียญ (3.2 ล้านถึง 6.4 ล้านบาท)         ข่าวไม่ได้ระบุราคาของไวรัส แต่แหล่งข่าวคาดการณ์ว่าอีกสามค่าย (โคลร็อกซ์, ยูนิลเวอร์, และ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล) คงจะซื้อสเตรนไวรัสสุดเฮี้ยนนี้มาแล้วเช่นกันคนจีนไม่ถูกใจสิ่งนี้        เป็นธรรมเนียมปกติสำหรับศิลปินดาราจีนที่จะต้อง “แทนคุณแผ่นดิน” ที่ผ่านมามีหลายคนมอบเงินบริจาคเพื่อสู้กับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ชาวเน็ตจึงรวบรวมรายชื่อดาราและเงินบริจาคมาแชร์กันในโลกออนไลน์        งานนี้หลายคนได้รับการชื่นชมมาก เช่น เจย์ โชว์และภรรยาที่บริจาคให้มูลนิธิแห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ยเป็นเงิน 3 ล้านหยวน (13.7 ล้านบาท) หรือเจ้าเปิ่นชาน เจ้าพ่อแห่งวงการบันเทิงที่บริจาคให้กับเทศบาลเมืองอู่ฮั่นถึง 10 ล้านหยวน ( 45.8 ล้านบาท)         แต่บางรายโดนถล่มยับเพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวจีน เช่น หวงเสี่ยวหมิงและภรรยา ที่มอบเงินให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง 200,000 หยวน (917,000 บาท)         โดนหนักที่สุดคือ คริสตัล หลิว นางเอกภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน นอกจากถูกหาว่าขี้เหนียวเพราะบริจาคแค่ 200,000 หยวนแล้วเธอยังโดนประณามว่า “ไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด” ด้วย  ไหนว่าไม่มี        คอนแทค เอนเนอร์ยี ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 245,000 เหรียญ (4.8 ล้านบาท) เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.การค้าที่เป็นธรรม ถึงเจ็ดข้อหา          บริษัทยอมรับผิดกรณีที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของโปรโมชัน Fuel Rewards Plans ในปี 2017 ที่โฆษณาว่าลูกค้าจะได้ส่วนลดลดค่าน้ำมัน 10 ถึง 50 เซนต์ต่อลิตรทุกเดือน และยังคำนวณให้ด้วยว่าใครที่เลือกโปรฯ แบบหนึ่งปีจะประหยัดเงินได้ถึง 180 เหรียญ (3,500 บาท) สิ่งที่ไม่บอกให้ชัดคือ ผู้บริโภคมีสิทธิได้ส่วนลดที่ว่านี้เพียงเดือนละครั้ง และจำกัดที่ไม่เกิน 50 ลิตรแต่ที่น่าตีที่สุดคือบริษัทยังมั่นหน้าชูสโลแกน “ไม่ตุกติก ไม่ต้องรอ ไม่มีเซอร์ไพรซ์”          คณะกรรมการพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฟ้องบริษัทนี้บอกว่า การกระทำเช่นนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคลดความระมัดระวังในการอ่านเงื่อนไขตัวเล็กๆ ก่อนตัดสินใจ น้องหมางานเข้า        มาตรการล็อกดาวน์ในสเปนที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกมาสูดอากาศนอกบ้านได้เลย          เฉพาะคนที่มีสุนัขเท่านั้นที่ได้สิทธิพามันออกมาเดินเล่นในระยะเวลาสั้นๆ ให้มันได้ทำธุระส่วนตัว         แต่คุณจะพากันออกมาทั้งครอบครัวไม่ได้ เขาให้โควตาน้องหมาหนึ่งตัวต่อคนจูงหนึ่งคน นอกจากจะต้องมีถุงเก็บมูลสุนัขแล้ว คนจูง (ซึ่งต้องจูงสุนัขตลอดเวลา) ต้องเตรียมน้ำยาทำความสะอาดละลายน้ำใส่ขวดมาราดทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขอึหรือฉี่ด้วย         เมื่อใครๆ ก็อยาก “จูงน้องหมา” ความฮาจึงบังเกิดในโลกโซเชียล... เราได้เห็นคลิปชายคนหนึ่งแอบจูงตุ๊กตาน้องหมาออกมานอกบ้าน หรือคุณพ่อที่จับลูกสาวแต่งเป็นดัลเมเชียนเพื่อจะพาเธอไป “เดินเล่น”         เรายังได้เห็นโฆษณา “ให้เช่าสุนัข” และภาพล้อเลียนที่น้องหมาในสภาพอิดโรยกำลังโอดครวญว่า “วันนี้แม่พาผมเดินไป 38 รอบแล้วนะ”  พักหรูสู้โควิด        หลายโรงแรมอาจเลือกปิดกิจการชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ใช่ที่โรงแรม Le Bijou ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์         โรงแรมแห่งนี้เสนอ “แพ็คเกจสุดหรู ที่ควรคู่กับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ไวรัสโคโรนา” ที่นอกจากห้องพักหรูเลิศ ซาวนาและยิมส่วนตัวแล้ว คุณยังสามารถเลือกบริการเสริมต่อไปนี้ได้ตามใจชอบ          มาดูกันว่าคุณชอบค่าใช้จ่ายของแต่ละบริการหรือไม่         บริการตรวจหาเชื้อไวรัส  500 ฟรัง (17,000 บาท)  การเยี่ยมโดยพยาบาลวันละสองครั้ง 1800 ฟรัง (61,000 บาท)  หรือออปชันแบบมีพยาบาลส่วนตัวดูแล 24 ชั่วโมง 4,800 ฟรัง (164,000 บาท)         รวมๆ แล้ว ถ้าคุณพักที่นี่จนครบช่วงเวลากักตัว 14 วัน ก็เตรียมควักกระเป๋าอย่างน้อย 80,000 ฟรัง (2.7 ล้านบาท)  โอ... มันช่างเป็นประสบการณ์ที่เลอค่าจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >