ฉบับที่ 198 อาคม : พุทธกับไสย (และวิทยาศาสตร์) ต่างก็ไปด้วยกัน

โลกตะวันตกมีคำอธิบายว่า ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้าไปมากเท่าไร มนุษย์ก็จะยิ่งเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลที่จะใช้ตอบคำถามต่อความเป็นจริงรอบตัวมากขึ้นเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับสังคมไทยแล้ว คำอธิบายดังกล่าวกลับถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ต่างออกไปว่า ยิ่งสังคมทันสมัยหรือลัทธิวัตถุนิยมจะซัดกระหน่ำสังคมมากเท่าไร มนุษย์ก็ยังคงมีคำถามบางอย่างที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลมิอาจขานไขคำตอบได้มากขึ้นเช่นกัน หากข้อหักล้างข้อหลังนี้เป็นคำตอบที่ “based on” ความเป็นจริงในสังคมไทยที่แท้จริงด้วยแล้ว คำตอบดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์แนวดราม่าสืบสวนสอบสวนแบบแฟนตาซีอย่างเรื่อง “อาคม”  จับความตามท้องเรื่องมาที่ภาพของตัวละครที่สร้างเนื้อสร้างตัวมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาหลังยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อ “ทรงพล” นักธุรกิจและประธานบริษัทใหญ่ ได้ถูกเพื่อนรักหักหลังและใส่ความว่าเขาเป็นพ่อค้ายาเสพติด จนไปถึงวางแผนลอบสังหารทรงพลจนเสียชีวิต แต่แม้บิดาจะถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเครื่องบินตกลงกลางป่า แต่ทว่า “ทรงกลด” พระเอกหนุ่มผู้เป็นบุตรชายของเขากลับรอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือจาก “ฮันเตอร์” ผู้มีวิชาอาคม ซึ่งภายหลังฮันเตอร์ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ไสยวิชาให้กับทรงกลด และเปลี่ยนชื่อเขาเสียใหม่ว่า “คิม” ชายหนุ่มภายใต้หน้ากากอาคม เพื่อกลับมาแก้แค้นกลุ่มคนที่ฆ่าบิดาและทำลายครอบครัวเขาจนภินท์พัง โดยธีมหลักของละคร ดูจะต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า ในขณะที่ความยุติธรรมไม่อาจแสวงหาหรือได้รับมาจากสังคมที่ล้มเหลวเกินจะเยียวยา เพราะสถาบันหลักอย่างกฎหมายหรือตำรวจไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนได้นั้น ปัจเจกบุคคลอย่างคิมก็ต้องลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวเขาเสียเอง และก็เข้าตำราที่ว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องใช้เวทมนต์คาถาอาคม” เพราะฉะนั้น ทั้งคิมและฮันเตอร์จึงค่อยๆ ลงมือแก้แค้นศัตรูของเขาด้วยอาคมวิชาไปทีละคนๆ เมื่อเป็นดังนี้ อาคมที่เคยถูกตีตราว่าเป็น “ความรู้” แบบนอกรีตและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยอายตนะทั้งห้าสัมผัสแห่งมนุษย์ ก็ได้กลายมาเป็น “ความรู้” ที่มีพลังอำนาจที่ถูกพระเอกคิมนำมาใช้ประโยชน์ แม้แต่กับยุคที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลเป็นระบบความคิดหลักของคนในสังคม แม้ดูผิวเผินแล้ว เรื่องของคาถาอาคมอันเป็นระบบความรู้ความคิดที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น ดูจะเป็นสิ่งที่ยืนอยู่ “คู่ตรงข้าม” กับวิทยาศาสตร์ อันเป็นปรัชญาที่เชื่อในการพิสูจน์สรรพสิ่งให้ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และเหตุผลที่ยอมรับได้รองรับอยู่ แต่ทว่า ความสัมพันธ์แบบตรงข้ามกันดังกล่าว อาจไม่ใช่ระบบวิธีคิดที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยจริงๆ ทั้งนี้ โลกทัศน์ของคนไทยมีแนวโน้มจะเชื่อว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ ก็คู่ขนานหรือเป็นคู่ไขว้ที่ร้อยรัดพันเกลียวกันไว้อย่างแนบแน่นได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “พุทธ” เป็น “ไสย” หรือเป็น “วิทยาศาสตร์” คนไทยก็ไม่เห็นว่าสามระบบความรู้นี้จะแยกขาดจากกันโดยสมบูรณ์ ในขณะที่กฎแห่งกรรมซึ่งเป็นความคิดความเชื่อแบบ “พุทธ” ก็ให้คำอธิบาย “กำเกวียนกงเกวียน” ที่ตัวละครได้รับผลกรรมของการทรยศหักหลังเพื่อนรักอย่างทรงกลดไล่เรียงลำดับไปทีละคน คาถาอาคมอันเป็นผลผลิตแห่ง “ไสย” ก็เป็นกลไกที่คิมใช้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับบิดาของเขา ควบคู่ไปกับบทบาทของตัวละคร “แดน” ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่ใช้ความรู้แบบ “วิทยาศาสตร์” ยุคใหม่ เพื่อช่วยเหลือพระเอกให้บรรลุเป้าหมายในการแก้แค้นศัตรู  พุทธ ไสย และวิทยาศาสตร์ จึงกลายเป็นความรู้ที่มิใช่จะมีเฉพาะด้านที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน แต่ก็อาจจะเป็นระบบความคิดแบบสามประสานที่คนไทยใช้จัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวนั่นเอง  ไม่เพียงเฉพาะตัวละครพระเอกคิมที่สะท้อนภาพการผนวกผสานระบบความรู้ที่เป็น “คู่ตรงข้าม” ให้เป็นคู่ไขว้เข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แม้แต่กับนางเอก “เอื้อกานต์” และน้องชายฝาแฝดอย่าง “ทีเกื้อ” ก็เป็นอีกสองตัวละครพี่น้องที่ฉายภาพการผสมผสานระบบความคิดที่ย้อนแย้งดังกล่าวเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของพี่สาวฝาแฝดอย่างเอื้อกานต์นั้น ละครได้ออกแบบให้เธอเป็นแพทย์หญิงที่ยึดจรรยาบรรณการดูแลรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ และแม้โดยพื้นเพแล้ว ระบบความรู้แบบแพทยศาสตร์จะเชื่อมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่คุณหมอเอื้อกานต์กลับเป็นตัวละครที่มีพลังพิเศษของสัมผัสที่หก มีพลังจิตที่หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าต่างๆ ได้ และสามารถใช้พลังจิตนั้นรักษาโรคให้กับผู้ป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยภาพของตัวละครคุณหมอหญิงเช่นนี้ วิทยาศาสตร์หรือระบบเทคนิควิทยาด้านการแพทย์ จึงมิใช่ชุดความรู้เดียวที่อธิบายการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นความคิดความเชื่อที่ได้ปรับปรนผสมผสานกับระบบความรู้เหนือธรรมชาติเพื่อใช้แก้ไขปัญหาของตัวละครต่างๆ ไปในเวลาเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับน้องชายฝาแฝดอย่างทีเกื้อ ที่แม้โดยวิชาชีพจะเป็นนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งต้องเชื่อมั่นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ บนความถูกต้องของระบบกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่เพราะอีกด้านหนึ่ง ร.ต.อ.ทีเกื้อ ก็มีพลังจิตพิเศษไม่ต่างจากพี่สาว เขาก็อาศัยพลังจากสัมผัสที่หกมาเป็นเครื่องมือสืบค้นเรื่องราวอาคมที่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่อาจหยั่งถึงได้นั่นเอง เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงฉากจบ พระเอกคิมผู้สามารถทวงคืนความยุติธรรมที่บิดาถูกกล่าวหาใส่ความได้ ก็เลือกที่จะทิ้งหน้ากากอาคมให้ลอยล่วงกลายเป็นควันสีขาว และกลับมาเป็นตัวละครทรงกลดที่เลือกเดินทางชีวิตสายใหม่ท่ามกลางความสุขกับคุณหมอเอื้อกานต์ แต่ถึงกระนั้น ปริศนาธรรมที่ละครได้ทิ้งเอาไว้ให้เราคิดถามต่อก็คือ ตราบใดที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวหรือคำตอบสุดท้ายของมนุษย์เราได้แล้ว ตราบนั้นความเร้นลับของหน้ากากอาคมก็อาจจะไม่สูญสลายกลายเป็นอากาศธาตุไปได้จริงๆ หรอก

อ่านเพิ่มเติม >