ฉบับที่ 261 ไอศกรีมแสนอร่อยมีสารพิษ

        ไอศกรีมเป็นของหวานที่มีราคาหลากหลาย กล่าวคือ บางยี่ห้อราคาถูกพอที่คนซึ่งเลี้ยงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำพอซื้อกินได้ ไปจนถึงบางยี่ห้อที่ราคา 1 scoop ละร้อยกว่าบาท ความแตกต่างของราคานั้นขึ้นกับกรรมวิธีการผลิตซึ่งมักมีวัตถุดิบ ที่อาจเหมือนกันแต่คุณภาพต่างระดับกัน         ไอศกรีมราคาแพงมักมีกลิ่นรสอร่อยกว่าไอศกรีมราคาถูก เช่นในกรณีของไอศกรีมรสวานิลลา ไอศกรีมราคาแพงมักใช้สารสกัดจากฝักวานิลลาจริงซึ่งมีราคาแพงพอควร ในขณะที่ไอศกรีมราคาถูกมักใช้กลิ่นรสวานิลลาสังเคราะห์ซึ่งเป็นสารเคมีที่อาจเหมือนหรือคล้ายของจริง แต่องค์ประกอบโดยรวมของกลิ่นและรสสังเคราะห์นั้นย่อมต่างจากวานิลลาจริงแน่นอน อย่างไรก็ตามการกินไอศกรีมที่ใช้ของดีและอร่อยนั้นก็อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับโอกาสเจอสารเคมีไม่พึงประสงค์ได้ ถ้าผู้ผลิตพลั้งพลาดปราศจากความรอบคอบในการคัดเลือกองค์ประกอบบางชนิดมาใช้ในการผลิต เพราะอร่อยและแพงจึงเจอสารพิษ         10 สิงหาคมของปีนี้เว็บของสำนักข่าวหนึ่งของไทยมีหัวข้อข่าวเรื่อง ผู้บริโภคผวา! เบลเยียมสั่งเรียกไอศครีมเจ้าดังเพิ่ม หลังอียูเตือนพบสารก่อมะเร็ง โดยมีเนื้อข่าวที่น่าสนใจว่า เบลเยียมสั่งเรียกเก็บไอศกรีมยี่ห้อดังออกจากชั้นวางขายเพิ่มเติมจากที่เคยสั่งไปแล้วครั้งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม 2022 ข่าวโดยสรุปกล่าวว่า พบเจอสาร 2-chloroethanol ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชนิดกระปุกใหญ่และถ้วยมินิซึ่งจะหมดอายุเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 จากนั้น European Food Safety Authority: EFSA ได้แจ้งเตือนแก่ประเทศสมาชิกอีกครั้ง (ข่าวปรากฏในวันที่10 สิงหาคม 2565) ว่าได้สุ่มตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในไอศกรีมยี่ห้อต่างๆ แล้วพบว่า ไอศกรีมยี่ห้อ XXX ที่ผลิตในฝรั่งเศสแต่มีบริษัทแม่เป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีสารไม่พึงประสงค์ปนเปื้อน หน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศฝรั่งเศสจึงขอให้ร้านค้านำสินค้าล็อตที่ตรวจพบสารพิษออกจากชั้นวางสินค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ แหล่งข่าวทั้งไทยและเทศร่วมใจกันให้ข้อมูลว่า สารพิษที่พบนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์และสามารถก่อโรคร้าย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้บริโภคควรฟังหูไว้หูก่อนตื่นตระหนก         จากการค้นหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับ 2-chloroethanol แล้วปรากฏว่า สารเคมีนี้ถูกจัดว่าเป็นสารพิษร้ายแรงชนิด extremely hazardous substance ซึ่งตามข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกาในรัฐบัญญัติ Emergency Planning and Community Right-to-Know Act (42 U.S.C. 11002) กำหนดว่า ต้องมีการรายงานปริมาณการผลิต การครอบครองและการใช้ต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ         2-chloroethanol เป็นอนุพันธ์ของ ethylene oxide ซึ่ง ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อมะเร็งที่มีลักษณะเป็นกาซชนิดที่มีความนิยมในการใช้ฆ่าแมลงและจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ตามคุณสมบัติที่สามารถทำลายดีเอ็นเอของเซลล์อย่างชะงัดนัก ในกรณีของไอศกรีม XXX นั้นบริษัทแม่ของผู้ผลิตไอศกรีมสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกากล่าวในเว็บของบริษัทว่า "ปริมาณ ethylene oxide ระดับหนึ่งถูกตรวจพบได้จากส่วนผสมเดียวคือ สารสกัดวานิลลา ที่จัดหาโดยซัพพลายเออร์รายหนึ่งของบริษัท สำหรับประเทศอื่นนอกสหภาพยุโรปนั้น หน่วยงานตรวจสอบด้านสุขภาพ ANVISA ของบราซิลในเดือนสิงหาคมของปีนี้ ได้ออกการแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไอศกรีมรสวานิลลา XXX ที่นำเข้าจากฝรั่งเศสเช่นกัน         ปริมาณของ ethylene oxide ที่ถูกรายงานเป็นผลวิเคราะห์ต่างๆ นั้น โดยปรกติแล้วเป็นผลรวมของ ethylene oxide และ 2-chloroethylene เสมอ ด้วยเหตุผลว่า 2-chloroethanol นั้นมีจุดเดือดที่ 129°C และสลายตัวที่อุณหภูมิสูงกว่า 400°C จึงมีความคงตัวภายใต้สภาวะการอบหรือการปรุงอาหารทั่วไป ในขณะที่ ethylene oxide ระเหยได้ที่อุณหภูมิห้องเพราะมีจุดเดือดที่ 10.7°C ดังนั้นการตกค้างจึงมักเป็นการพบ 2-chloroethanol ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ว่า เคยมี ethylene oxide ปนเปื้อนอยู่        ethylene oxide ที่ถูกพบในสารสกัดวานิลลานั้นจัดเป็นสารก่อมะเร็งตามรายงานการศึกษาหลายฉบับของ US. National Toxicology Program เช่น ใน NTP Report on Carcinogens Background Document for Ethylene Oxide, Final March 1999 ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีส่วนหนึ่งในรายงานที่กล่าวว่า 2-chloroethanol ซึ่งเป็นอนุพันธ์เกิดจาก ethylene oxide นั้นเป็นสารก่อกลายพันธุ์ในการทดสอบหลายวิธีการ แต่ไม่ได้เป็นสารก่อมะเร็ง  เอกสารชื่อ 35-Ethyleneoxide ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยนำเข้า ethylene oxide จากต่างประเทศ โดยปริมาณนำเข้ารวมแล้วจากประเทศต่างๆ ระหว่างปี พ.ศ.2544-2549 อยู่ในระดับ 3 ถึง 4 แสนกิโลกรัม สารพิษนี้มีประโยชน์ในการใช้อบฆ่าเชื้อโรคเครื่องมือแพทย์ประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (ชนิดทำจากพลาสติก) ซึ่งไม่สามารถใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ, ใช้เป็นสารรมควันสำหรับผ้า ขนสัตว์ อาหาร, ใช้บ่มผลไม้ให้สุก และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารเคมีหลายชนิด เช่น acrylonitrile, nonionic surfactant เป็นต้น         ประเด็นที่สำนักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้ความสำคัญคือ ทำไมอยู่ดีๆ EU จึงมีการตรวจสอบสารพิษที่เป็นข่าวในไอศกรีม จากการค้นหาข้อมูลได้พบว่า เว็บ https://affidiajournal.com มีบทความเรื่อง Ethylene oxide in ice cream: over 100 brands involved in France ได้ให้ข้อมูลว่า เริ่มมีการแจ้งเตือนเรื่อง ethylene oxide ปนเปื้อนในวัตถุดิบทางการเกษตรตั้งแต่ในฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 เพราะพบว่า เมล็ดงาที่ถูกนำเข้าจากอินเดียปนเปื้อนสารพิษนี้ นับแต่นั้นมาวัตถุดิบทางเกษตรหลายอย่าง เช่น ขิงและเครื่องเทศอื่นๆ รวมทั้งอาหารเสริมบางชนิดได้ถูกถอนออกจากตลาดเพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายหลังการตรวจพบสารปนเปื้อนดังกล่าว         ในฝรั่งเศสมีรายงานไอศกรีมหลายยี่ห้อที่มีการปนเปื้อนของสารพิษนี้ในระดับสูงกว่าที่ชาวฝรั่งเศสควรได้รับ ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มี งา ขิง หรือเครื่องเทศ (ที่มักมีการปนเปื้อนของ ethylene oxide หรือ ในรูปของอนุพันธ์คือ 2-chloroethanol) โดยพบว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีสารทำให้คงตัว (food stabilizer) สองชนิดคือ locus bean gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E410 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อในเมล็ดของต้น carob หรือ Ceratonia silliqua) และ guar gum (ชื่อรหัสบนฉลากอาหารคือ E412 เป็นสารธรรมชาติซึ่งสกัดได้จากเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ต้นอ่อนในเมล็ดของถั่ว Guar ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้) ถูกวิเคราะห์พบว่า มี ethylene oxide เกินขีดจำกัดสูงสุดตามกฎข้อบังคับ ประเด็นที่น่าสนใจคือ จริงแล้วสารทำให้คงตัวทั้งสองไม่ได้ถูกใช้เฉพาะในไอศกรีมเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มี locus bean gum (E410) หรือ guar gum (E412) ได้ถูกถอนออกจากชั้นวางขายสินค้าของร้านขายของในฝรั่งเศส         บทความเรื่อง Analysis of ethylene oxide in ice creams manufactured with contaminated carob bean gum (E410) ในวารสาร Food Additives & Contaminants: Part A ของปี 2021 ให้ข้อมูลว่า ตัวอย่างไอศกรีมมากกว่า 100 รายการ ที่ผลิตในปี 2021 จากฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สวิตเซอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีสาร E410 (locus bean gum) ซึ่งทำให้คาดว่า อาจมีการปนเปื้อนสารพิษคือ ethylene oxide ปฏิบัติการนี้ทำขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับใช้ในการพัฒนาและตรวจสอบวิธีการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงคือ GC-MS Triple Quad นี่คือคำตอบว่าทำไมอยู่ดีๆ European Food Safety Authority จึงลุกขึ้นมาทดสอบว่าไอศกรีมมี ethylene oxide หรือไม่ และการวิเคราะห์ (ซึ่งคงทำในอาหารหลายกลุ่มชนิด) ทำให้พบว่าตัวอย่างไอศกรีม 7 ใน 23 ตัวอย่างมี ethylene oxide น้อยกว่า 0.010 มก./กก. ส่วนตัวอย่างไอศกรีมที่เหลือมีการปนเปื้อนมากกว่า 0.010 มก./กก. โดยห้องปฏิบัติการทั้งสองแห่งพบ ethylene oxide ในตัวอย่างที่เหลือนั้นอยู่ในช่วง 0.021–0.052 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 1) หรืออยู่ในช่วงที่มากกว่า 0.018–0.056 มก./กก. (ห้องปฏิบัติการ 2)         โดยสรุปแล้วข่าวการปนเปื้อนของสารพิษในไอศกรีมนั้น เป็นความประมาทซึ่งยากในการป้องกัน เพราะเกิดจากการใช้วัตถุดิบที่ได้จากประเทศซึ่งมีความหลากหลายในระดับของเทคโนโลยีการดูแลวัตถุดิบทางการเกษตร เหตุการนี้เป็นตัวอย่างที่หน่วยงานซึ่งดูแลความปลอดภัยของอาหารของนานาประเทศ สามารถใช้เป็นอุทาหรณ์กระตุ้นเตือนให้บริษัทซึ่งมีสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งจำเป็นต้องปราศจากเชื้อราและแมลง มีความพิถีพิถันในการเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบซึ่งมีกระบวนการ GAP (good agricultural practice) ที่ดี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความรู้สึกกังวลว่า แล้วเครื่องเทศที่มีวางขายในบ้านเราโดยไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อรานั้นมีโอกาสปนเปื้อน ethylene oxide ซึ่งคงเหลือในรูปของ 2-chloroethanol หรือไม่ และในกรณีที่ผู้บริโภคบางคนเกิดกังวลว่า มีการปนเปื้อนจริง คำแนะนำที่น่าจะปฏิบัติไม่ยากคือ อย่ากินอะไรซ้ำซากและอย่ากินอะไรมากในแต่ละมื้อ เพราะ 2-chloroethanol นั้นถ้ามีปริมาณไม่มากเราสามารถขับทิ้งได้ทางปัสสาวะภายใน 24-48 ชั่วโมง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 หากไอศกรีมถ้วยโปรดกลายเป็นยาพิษ คุณจะทำอย่างไร ?

        พัชรินทร์ เกียรติผดุงกุล เป็นพนักงานของ บ.ชิปปิ้ง แห่งหนึ่ง หลังเสร็จจากภารกิจอันหนักอึ้งของวันทำงาน เธอจึงต้องการพักผ่อนคลายเครียดด้วยการรับประทานไอศกรีมของร้านประจำเจ้าดังที่เธอคุ้นเคย ซึ่งมีสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้าใกล้สถานที่ทำงาน แต่จากที่ต้องการคลายเครียดกลับยิ่งเพิ่มความเครียดเมื่อเธอได้รับความเสียหายจากการดูดไอศกรีมปั่น เธอจึงต้องออกมาแสดงตนเพื่อ เรียกร้องความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แค่คิดก็เจ็บคอขึ้นมาทันที         “ วันนั้นเราสั่งเมนูปั่น แม้ว่าทางร้านเขาจะใส่เป็นแก้วใสๆ มาให้ แต่เราไม่ได้ดูที่ตัวแก้วเลย ทำให้มองไม่เห็นความผิดปกติของไอศกรีม ไม่เห็นว่าไอศกรีมเป็นอย่างไร เพียงมองผ่านก็คือหน้าตาน่ารับประเทาน ที่เราสั่งเป็นมอคค่าอัลมอนด์ซึ่งจะมีถั่วปั่นอยู่ในนั้น ไม่ใช่สิ เป็นช็อกโกแลตล้วน ไม่มีใส่ช็อกโกแลตชิพ ไม่ใส่ใดๆ เราก็เห็นแต่ข้างบนเป็นวิปปิ้งครีม มองไม่เห็นข้างล่าง เราก็ดูด ก่อนที่จะดูดได้เราต้องรอให้มันละลายนิดหนึ่ง เราดูดทีหนึ่งก็หมดไปค่อนแก้วแล้ว เราก็เพิ่งมาทราบว่ามันมีอะไรติดอยู่ที่ปาก มีทั้งเศษชิ้นใหญ่ชิ้นเล็ก แล้วมาทราบอีกทีหนึ่งก็คือเป็นชิ้นใหญ่แล้วมันบาดข้างในคอของเรา” แสดงว่ากินสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในนั้นเข้าไปแล้ว         ใช่ มันแข็ง ก็เอ๊ะ ทำไมมีเศษๆ อะไรสักอย่าง มันบาดคอแล้วก็สากๆ ลิ้น ก็คายส่วนที่ค้างในปากออกมา ปรากฏว่าเป็นเศษพลาสติกสีดำ เรารีบถ่ายรูปไว้ก่อนเลย แล้วโทร.ไปที่คอลเซ็นเตอร์ร้าน แจ้งว่าเราเพิ่งซื้อไอศกรีมจากร้านที่สาขาโลตัสพระราม 1 มา แล้วเจอแบบนี้นะ ร้านจะรับผิดชอบอย่างไร ก็อีกสักประมาณครึ่งชั่วโมง ผู้จัดการร้านไอศกรีมสาขานั้นก็โทรกลับมาบอกให้ช่วยนำไอศกรีมแก้วนั้นเข้ามาที่ร้านให้เขาดู เราก็ไป พอไปถึงที่ร้าน  เขาทำแบบนี้ เขาเอาเครื่องปั่นมาตั้งไว้บนโต๊ะ แล้วก็รอหลักฐานที่อยู่ในถ้วยไอศกรีมของเรา เอาไปดูว่าจะใช่อย่างเดียวกันหรือเปล่า ก็ปรากฏว่าใช่ หลักฐานชิ้นนั้นคือ มันเป็นวงแหวนที่ซีลใบพัด ซึ่งตรงนั้นมันหลุดออกมาในเครื่องปั่น คือมันแหว่งหายไป แล้วเศษของมันที่หลุดออกมาก็เลยถูกปั่นรวมกับไอศกรีมแล้วมาอยู่ในแก้วของเรา น่ากลัวมากแล้วเขารับผิดชอบอย่างไรบ้าง        ผู้จัดการร้านก็คืนเงินค่าไอศกรีมให้เราก่อน หนึ่ง แล้วก็ถามว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง เราก็บอกว่าเจ็บคอ เขาก็ให้เราไปหาหมอ แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีอาการอะไรมากมายแค่เจ็บคอนิดๆ จนออกจากร้านมาได้สักพักก็ปวดท้อง เราก็โทรบอกเขาว่าเราจะไปหาหมอนะ เพราะตอนนี้ปวดท้องมาก เขาบอกว่า “ไปเลยครับสุขภาพสำคัญกว่า” เราก็ไปหาหมอเย็นนั้นเลยบอกอาการให้หมอฟัง หมอก็รักษาตามอาการ ส่วนเราไม่อยากนอนโรงพยาบาลเพราะสถานการณ์โควิด หมอก็ให้กลับมาหาอีกวันรุ่งขึ้นหากอาการไม่ดีขึ้น วันรุ่งขึ้นเรายังปวดท้องอยู่ แล้วสิ่งที่เพิ่มมาคือต่อมทอนซิลอักเสบด้วย เพราะว่ามีเศษพลาสติกบาดคอ(จากส่วนแหลมที่เกิดจากการปั่น)  แต่เราไม่กล้าไปโรงพยาบาลแล้วเพราะกลัวรับเชื้อโควิดกลับมา ก็เลยให้น้องสาวไปซื้อยาจากร้านยามาให้ ส่วนตัวเองต้องลางาน ต้องขอลาพักฟื้นอยู่บ้านนาน 11 วันได้ เราจึงท้วงติงกับทางผู้จัดการร้านไอศกรีมไปว่าเราไปหาหมอมานะ มีค่ารักษาพยาบาลนะ แล้วเราก็ต้องนอนพักผ่อนเพราะไข้ขึ้น (กังวลด้วยว่าจะเป็นโควิดไหม) ผู้จัดการฯ เขาก็บอกว่า “เดี๋ยวรอพี่าหายก่อนแล้วค่อยนัดหมายกันอีกทีครับ เราก็ตอบตกลงไป คือไว้เจอกันวันนัดเลย สถานการณ์วันที่พบผู้ประกอบการ         วันนัด เขาก็ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเซอร์เวย์มานั่งคุยร่วมกันด้วยที่ร้านไอศกรีม เจ้าหน้าที่คนนี้มารยาทไม่ดีเลย นั่งไขว่ห้างแล้วกระดิกเท้าใส่หน้าเรา พูดประมาณว่า “คุณเป็นใคร มาจากไหน คุณทำงานอะไร กินไอติมแค่นี้จะมาเรียกร้องทำไม”  นาทีนั้นเราเข้าใจได้ทันทีเลยนะว่า การพูดแบบนี้เป็นลักษณะที่จะข่มขู่เรา เพราะเขาบอกว่า บริษัทเขาใหญ่นะ ใหญ่กว่าเรามากๆ ด้วย  เราก็บอกว่าอย่าทำมารยาทไม่ดีแบบนี้ (คิดในใจว่าถ้าเปลี่ยนคนได้ก็ขอให้เปลี่ยนเถอะ  แล้ววันนั้นทางเซอร์เวย์บอกแต่เพียงว่า ถ้าจะร้องเรียนเขา เขาต้องการเอกสารอะไรบ้าง ซึ่งขอเยอะมาก         พอเราส่งเอกสารไปให้แล้วเพื่อนัดกันอีกครั้ง เขาก็เปลี่ยนคนมาตามที่เราขอ เซอร์เวย์คนใหม่นี้บอกว่า ‘เอาอย่างนี้ได้ไหม ผมให้แค่ 10,000 บาท แล้วก็จบเรื่องกันไป’ เราก็บอกไม่รู้ว่าค่ารักษาพยาบาลขั้นต่อไปจะอีกเท่าไหร่ เราไม่รู้จะมีอาการอะไรอีกหลังจากนี้ ก็เลยไม่ได้รับเงินหมื่นเอาไว้ เพราะเราไม่แน่ใจว่า แค่ไหนถึงจะครอบคลุมความเสียหายของเรา เพราะมันมีเรื่องที่เราต้องเสียรายได้ หรือการขาดโอกาสทางธุรกิจเพราะต้องหยุดพักรักษาตัว         “ตอนที่ไม่สบาย เราต้องไปเลื่อนนัดกับลูกค้าต่างชาติ เขาก็แสดงท่าทีว่ากลัวเราเป็นไวรัลโคโรนาไหม เพราะเราเจ็บคอไง  เวลาคุยไปด้วยก็ไอไปด้วย เสียงเราก็แหบ ลูกค้าคงคิดว่าเราได้รับเชื้อโควิดหรือเปล่า เขาเลยไม่กล้าเจอเรา การเจรจาธุรกิจก็เสียหาย”         เราเลยต้องมาตั้งหลักว่า เออเราพอจะรู้แล้วว่า จากเหตุการณ์นี้ อุบัติเหตุนี้ ทำให้เราขาดประโยชน์อะไรไปบ้าง จำนวนหรือมูลค่าความเสียหายประมาณเท่าไหร่ เราจึงเขียนจดหมายไปเรียกร้องกับทางบริษัทต้นสังกัดของร้านไอศกรีม ส่งอีเมลไป โน่น...รอเป็นเดือน ก็ไม่มีอะไรตอบกลับมา เราจึงโทรศัพท์ไปหาผู้จัดการสาขาอีก เขาก็บอกว่าเขาให้ทางบริษัทประกันและเซอร์เวย์เป็นผู้ดำเนินการแทนแล้ว เราก็ต้องรอคนติดต่อกลับไปเท่านั้น         คราวนี้ไม่นานทางนั้นได้ติดต่อกลับมา เราก็ถามไปว่าจะยังไงกันคุณจะรับผิดชอบแค่ไหน ค่าขาดประโยชน์คุณก็ไม่ให้ ค่ารักษาพยาบาลคุณก็ยังไม่ให้เรา เขาก็บอกว่าจะให้เพิ่มเป็น 15,000 บาท เราก็ถามว่าคือค่าอะไร เขาบอกว่าเป็น 15 เท่าของค่ารักษาพยาบาลที่เราไปหาหมอเมื่อวันที่ปวดท้อง แต่เขาก็แค่พูดปากเปล่าไว้เท่านั้น ยังมีความเสียหายอื่นอีกไหม         มีค่ะ ตอนนั้นเราซื้อประกันสุขภาพไว้ แต่บริษัทประกันที่เราซื้อประกันภัยไ บอกสัญญาจะไม่คุ้มครองหรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลใดๆ ถ้าเราป่วยเพราะเศษพลาสติกนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีผลอะไรต่อไปบ้าง คือไม่คุ้มครองอวัยวะใดก็ตามที่เป็นทางผ่านของพลาสติกชิ้นนี้ ตั้งแต่ช่องปาก ลำคอ คอหอย ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ทวารหนัก เราก็คิดว่านี่ทำให้เราขาดประโยชน์ไปด้วย คือเราไม่มีโรคประจำตัวอะไรใดๆ ทั้งสิ้น สุขภาพแข็งแรงดี ถ้าเราซื้อประกันสุขภาพ เขาต้องคุ้มครองเรา 100 เปอร์เซ็นต์ นี่แปลว่าบริษัทประกันคงพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง        เราก็ไปปรึกษากับคุณหมอ เขาก็บอกว่าปกติร่างกายจะขับถ่ายสิ่งแปลกปลอมออกมาอยู่แล้ว แต่ถ้าบางมากๆ ก็ขับถ่ายออกมาไม่หมด แผ่นพลาสติกอย่างนี้อาจจะไปแปะตามลำไส้ ผนังกระเพาะ หรือไส้ติ่งก็ได้ แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดเป็นเนื้อไม่ดี (ร่างกายจะสร้างพังผืดออกมาหุ้ม)          เราก็รีบโทรศัพท์ไปคุยกับทางร้านเรื่องที่เราเสียสิทธิตรงนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย หลังจากเจรจากันได้แล้ว เราให้เขาช่วยเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่ตกลงกันมาให้ว่า “ทางบริษัทไอศกรีมยินดีรับผิดทุกประการที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ และจะรับผิดชอบโดยพาเราไปรักษาเพื่อเอาพลาสติกนี้ออกจากร่างกายให้หมด ถึงแม้ว่าคุณหมอจะสรุปว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว หรือยังพบสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย หรือมีแผลแล้วต้องรักษาอย่างไรบ้าง ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ” ซึ่งเขาก็รับปากตามนั้นว่าจะส่งหนังสือสัญญามาให้ แต่ที่เขาส่งมาให้มันมีเพียงข้อความว่า เขาให้เรา 20,000 บาท แล้วยุติการเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าทายาทจะมาเรียกร้องใดๆ เขาก็ไม่รับผิดชอบ เราก็บอกว่าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง คือหลังจากนั้นก็ติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ใช่ คือเขาพูดโทรศัพท์อย่างหนึ่งแล้วส่งลายลักษณ์อักษรมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง จากหน้ามือเป็นหลังมือ เราก็เลยไปหาว่ามีใครที่จะช่วยเราได้บ้าง เราก็เห็นเว็บไซต์มูลนิธิฯ เจ้าหน้าที่อธิบายข้อกฎหมายให้เราฟังว่า มีทำผิดมาตราอะไรบ้าง เป็นละเมิดสิทธิเรื่องอะไรบ้าง แล้วเรา ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง เราก็ขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิฯ ไปเจ้าหน้าที่ก็ให้เราส่งเอกสารที่เป็นหลักฐานที่เราเคยติดต่อกับทางบริษัทไอศกรีมทั้งหมดไปให้         ทางมูลนิธิฯ หลังดูเอกสารให้แล้ว โทรแจ้งเราว่า “ใกล้จะขาดอายุความแล้ว” เพราะว่าเป็นคดีแพ่ง จึงแนะนำให้เราไปแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผื่อไว้เป็นอีกทางหนึ่ง หากเกิดว่าหมดอายุความ 1 ปีแล้ว เราก็จะยังคงมีสิทธิที่จะเรียกร้องต่อได้ เราก็รีบโทร.ไป สคบ.ด้วย สคบ. ก็ให้เราไปลงบันทึกประจำวันแจ้งความไว้ก่อนว่าคุยกับทางร้านไอศกรีมแล้ว เขาพูดอย่างหนึ่ง แต่เขาออกลายลักษณ์อักษรมาอีกแบบหนึ่ง คือผิดจากข้อตกลงไป ทางมูลนิธิฯ ช่วยเรื่องอะไรบ้าง        ทางมูลนิธิฯ ตามเรื่องให้เรา แล้วพบข้อมูลว่า ฝ่ายกฎหมายของบริษัทไอศกรีมยังไม่เคยเห็นเรื่องร้องเรียนของเราเลย  เราก็งง คือเราก็ไม่รู้ว่าเขาพูดไปทำงานกันอย่างไร สุดท้ายฝ่ายกฎหมายของทางบริษัทฯนัดให้มาไกล่เกลี่ยกัน โดยใช้สถานที่ของมูลนิธิฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ นั่งร่วมเจรจาด้วย         วันนั้นเราไปคนเดียว แต่ทางนั้นไปเกือบ 20 คน ทางเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ก็คุยให้ว่าทางบริษัทประกันมีบริษัทในเครือไหมที่จะพาเราไปให้คุณหมอตรวจ แล้วออกเอกสารมาว่าไม่พบสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว เพื่อที่จะให้เราไม่หมดสิทธิในเรื่องของประกันสุขภาพที่เราทำไว้ บริษัทประกันก็โอเค จบไปหนึ่ง แต่บริษัทไอศกรีมโดยฝ่ายเซอร์เวย์มาพูดว่าทำแบบนั้นให้ไม่ได้ แต่ไม่บอกเหตุผล เขาบอกให้เราพูดมาเลยว่า “เราต้องการเงินเท่าไหร่ แล้วก็ให้จบยุติการเรียกร้องไป”         คือจริงๆ เราควรที่จะเรียกร้องมากกว่าที่เราได้สรุปสุดท้ายนี้ด้วยซ้ำ เราเรียกร้องค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ค่าขาดประโยชน์ที่ไม่สบาย (ลูกค้าของบริษัทไม่ยินดีจะเซ็นสัญญา) โดยรวมทั้งหมด 250,000 บาท เขาก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นเขาจ่ายให้ไม่ได้ เราเลยเรียกเขาอยู่ประมาณ 50,000 บาท แต่ก็ไม่คิดว่าเขาจะขอลดราคาลงมาอีก เหลือที่ 40,000 บาท หลังจากวันที่ไกล่เกลี่ยและเซ็นเอกสารว่าได้ 40,000 บาทจะยุติการเรียกร้องนั้นแล้ว อีก 15 วัน เขาก็โอนเงินมาให้ตามนั้น   ยังรู้สึกว่าผู้ประกอบการไม่จริงใจ         วันไกล่เกลี่ยเราถามว่า ทำไมคุณไม่เอาฝ่ายกฎหมายของบริษัทมาด้วย แล้วก็จะได้เคลียร์กันที่ตรงนั้น คือเรามีความรู้สึกว่าเขาพยายามปิดใจความ หรือว่าพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ        เขาเป็นถึงบริษัทมหาชน เขาขายสินค้า ขายบริการ เขาได้เงินจากเราไปแต่เขาไม่ได้นึกถึงชีวิตของเราเลย เวลาที่เขาพูดอะไรออกมาทุกอย่างเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ หมด คือเราพูดถึงขนาดที่ว่าอาจจะเสี่ยงกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในอนาคตได้ เขาก็บอกว่าไม่มีทางเป็นหรอก         สมมุติ ถ้าเป็นเด็กๆ คือโลตัสพระราม 1 อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน เป็นคนที่ฐานะระดับล่างถึงปานกลาง ถ้าเด็กไปกินไอศกรีมที่มีสิ่งแปลกปลอมแล้วปวดท้องขึ้นมา เขาจะมีเงินไปหาหมอไหม แล้วเขาจะมาเรียกร้องกับทางร้านได้ไหม เราคิดนะ ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องกฎหมายอะไรแบบนี้ เขาคงไม่เรียกร้อง ไม่ต่อสู้อะไรขึ้นมา ก็คงจะแบบคืนค่าไอศกรีมให้เสร็จแล้วก็จบๆ กันไป บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์มากกว่านี้         เราก็บอกให้เขาช่วยตรวจตราอายุการใช้งานของอุปกรณ์ด้วย อย่างเครื่องปั่นอันนี้อายุปั่นได้กี่ครั้ง ถ้าครบแล้วควรที่จะหยุดแล้วนำไปเปลี่ยนอะไหล่ แล้วค่อยนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างนี้ถึงจะให้ความปลอดภัยกับผู้บริโภค ไม่ใช่ว่ารอให้เกิดเหตุการณ์อะไหล่ของเครื่องหลุดออกมาผสมกับผลิตภัณฑ์แล้ว ถึงจะมาแก้ไข แต่พูดแล้ว เขาก็แค่ฟังเฉยๆ         เรายังบอกเขานะว่า เงินที่เป็นผลกำไรที่เข้าบริษัทของเขาก็มาจากผู้บริโภคทั้งหลาย เพราะฉะนั้นการขายสิ่งที่เป็นอาหารมีทั้งเป็นข้อดีกับข้อเสีย ข้อดีก็คือถ้าทำอาหารด้วยวัตถุดิบที่ดีก็ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายผู้บริโภคแข็งแรงด้วยนอกเหนือจากความอร่อยแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าทำไม่ดีมันก็คือยาพิษ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 “ไอศกรีม” เช็คปริมาณ “สี” และ “สารกันบูด"

ฉลาดซื้อขอต้อนรับหน้าร้อน ด้วยผลทดสอบที่จะทำให้ทุกคนเย็นชุ่มฉ่ำชื่นใจ กับผลทดสอบ “ไอศกรีม” เมนูโปรดของหลายๆ คน ฉลาดซื้อจะมาพิสูจน์ดูว่าไอศกรีมที่วางขายมากมายหลากหลายยี่ห้อในบ้านเรามีการใช้ “สี” และ “สารกันบูด” มากน้อยแค่ไหน เราเลือกสุ่มสำรวจไอศกรีมจำนวน 14 ยี่ห้อ โดยเลือก 1 ในไอศกรีมรสชาติยอดฮิตตลอดกาลอย่างรส “ช็อกโกแลต” ไปดูกันสิว่าไอศกรีมรสช็อกโกแลตยี่ห้อดังๆ มีการใช้สีและสารกันบูดหรือเปล่า                         สรุปผลการทดสอบ   -ไอศกรีมรสช็อกโกแลตทั้ง 14 ตัวอย่าง ไม่พบสารกันบูด -มีไอศกรีมรสช็อกโกแลต 3 ตัวอย่างที่พบการใช้สีสังเคราะห์ คือ 1.Walls 3 in 1 ทริปเปิล ช็อกโกแลต, 2.Melt Me Hokkaido Chocolate & Healthy Gelato และ 3. F & N Magnolia Double Choc ซึ่งปริมาณสีสังเคราะห์ที่พบอยู่ในเกณฑ์ตามมาตรฐาน สีผสมอาหารที่ใช้ก็เป็นสีที่ได้รับการอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข แฟนฉลาดที่รักการกินไอศกรีม ก็ยังคงกินกันได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย ไร้ปัญหา -          ข้อสังเกต สีสังเคระห์ที่พบในการทดสอบครั้งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ สีในกลุ่มสีแดง คือ เออริโธรซีน (Erythrosine E127) และ คาร์โมอีซีนหรือเอโซรูบีน (Carmoisine or Azorubine E122) สีในกลุ่มสีเหลือง คือ ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset yellow FCF E110) และ ตาร์ตราซีน (Tartazine E102) สุดท้ายคือสีในกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนต์บลู เอฟซีเอฟ (Brillian blue FCF E133) ซึ่งตัวอย่างไอศกรีมที่พบปริมาณสีมากที่สุดในการทดสอบครั้งนี้คือ Walls 3 in 1 ทริปเปิล ช็อกโกแลต พบว่ามีใช้สี 3 ชนิดจากสีถึง 3 กลุ่ม ขณะที่อีก 2 ตัวอย่างที่พบการใช้สีสังเคราะห์ พบว่าใช่แค่ตัวอย่างละ 1 ชนิดสีเท่านั้น         “ไอศกรีม” ที่ดีต้องเป็นแบบไหน? หลายคนอาจยังไม่รู้ ว่า “ไอศกรีม” ถือเป็นอาหารที่มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งไอศกรีมที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ -ไอศกรีมนม ต้องมีมันเนยเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก และมีธาตุน้ำนม ไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 7.5 ของน้ำหนัก - ไอศกรีมดัดแปลง ต้องมีไขมันทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนัก -ไม่มีกลิ่นหืน -ใช้วัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือใช้ร่วมกับน้ำตาล โดยวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอาหารที่ อย. รับรอง -ใส่วัตถุแต่งกลิ่น รส และสีได้ -ไม่มีวัตถุกันเสีย -มีแบคทีเรีย (Bacteria) ได้ไม่เกิน 600,000 ต่ออาหาร 1 กรัม -ต้องตรวจไม่พบมีแบคทีเรีย ชนิด อี.โคไล (Escherichia coli) -ไม่มีสารเป็นพิษจากจุลินทรีย์ในปริมาณที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่มา : ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 354) พ.ศ. 2556 เรื่อง ไอศกรีม   --------------------------------------------------------------- เมื่อปี 2550 ที่ประเทศอังกฤษ กลุ่มนักวิชาการได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกข้อบังคับกับผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารเด็ก ขนมหวาน เครื่องดื่ม  ให้ยกเลิกการใช้สีสังเคราะห์ 6 ชนิด ได้แก่ ซันเซต เยลโลว์ เอฟซีเอฟ (Sunset yellow FCF E110), ตาร์ตราซีน (Tartazine E1022), ปองโซ 4 อาร์ (Ponceau 4 R), ควิโนลีนเยลโลว์ (Quinoline Yellow E104), คาร์โมอีซีน (Carmoisine E122) และ อัลลูราเรด Allura red (E129) เนื่องจากมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารจากสีสังเคราะห์เหล่านี้ส่งผลให้เด็กป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้สีสั้งเคระห์เหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต่อการนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เพราะไม่ได้เพิ่มคุณค่าทางอาหาร มีแต่จะสร้างผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้น ซึ่งการออกมาเรียกร้องครั้งนี้แม้ทางภาครัฐจะยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการแต่ก็สามารถทำให้เกิดการตื่นตัวของทั้งผู้บริโภค พ่อ-แม่ผู้ปกครอง รวมถึงบริษัทผู้ผลิตอาหารทั้งในอังกฤษเอง ประเทศในยุโรปประเทศอื่นๆ และอเมริกา ก็เริ่มปรับปรุงสูตรผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้มีการใช้สังเคราะห์อาหารลดลง

อ่านเพิ่มเติม >