ฉบับที่ 217 ปัญหาผมสากแห้งจากแชมพูสมุนไพร

                เพื่อนสาวสองคนไปงาน OTOP ได้แชมพูสมุนไพรมาคนละสองขวด(คนละแบรนด์) คนหนึ่งใช้แล้วเชียร์ว่าดี ผมนิ่ม รู้สึกสะอาด ส่วนอีกคนบ่นอุบว่า ผมทั้งแห้ง ทั้งสาก ใช้ครั้งเดียวเข็ดยังเหลืออยู่เต็มขวด รอจะยกให้เพื่อนอีกคนไปใช้ ฟังแล้วจึงขอผลิตภัณฑ์มาดู พร้อมมีคำอธิบายให้เพื่อนไปดังนี้        นิยามของแชมพูผสมสมุนไพร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นของเหลวประกอบด้วยสารลดแรงตึงผิวใช้กับเส้นผมเพื่อขจัดสิ่งสกปรกออกจากเส้นผมและหนังศีรษะ ผสมสารสกัดจากสมุนไพรหรือชิ้นส่วนสมุนไพร เช่น ดอกอัญชัน มะคำดีควาย ว่านหางจระเข้        ในการทำแชมพูผสมสมุนไพร โดยทั่วไปจะมีสารเคมีที่เรียกว่า สารลดแรงตึงผิว หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า หัวแชมพู หรือ N70 ผสมอยู่เป็นส่วนประกอบหลัก N70 มีชื่อทางเคมีว่า Sodium laureth sulfate (SLES) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารชำระล้างช่วยทำให้เส้นผมสะอาด ทำให้เกิดฟองได้เร็ว(ตัว SLES นี้จะอยู่ในผลิตภัณฑ์ชำระล้างเกือบทุกชนิด ทั้งสบู่เหลว ครีมอาบน้ำ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ)         คุณสมบัติที่สามารถชำระล้างคราบไขมันหรือน้ำมันต่างๆ บนเส้นผมได้ดี แน่นอนว่าผมหลังการสระจะให้สัมผัสที่แห้งด้าน เพราะน้ำมันส่วนที่เคลือบผมอยู่หลุดออกไปหมด (จึงอาจต้องทดแทนด้วยการใช้ครีมนวดผม) ดังนั้นในบางสูตรของแชมพูผสมสารสมุนไพรจึงต้องเติมพวกสารเคลือบลงไป เช่น ลาโนลีน        ข้อมูลมาถึงตรงนี้ก็ได้ความเข้าใจตรงกันว่า แชมพูผสมสารสมุนไพรไม่ได้ทำให้คุณหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีไปได้ เพราะมีสารชำระล้างเป็นส่วนประกอบหลัก แต่เมื่อได้ลองพิจารณาฉลากของแชมพูอีกแบรนด์หนึ่งที่ผู้ใช้ชื่นชม พบว่า ไม่มีส่วนประกอบของสารชำระล้าง เป็นการนำสมุนไพรมาบดคั้นจนน้ำมันหรือพฤกษเคมีแตกตัวออกมา ผสมเกลือ(โซเดียมคลอไรด์) ลงไปด้วยเพื่อเป็นสารกันบูด แน่นอนว่าแชมพูนี้ไม่มีฟอง การเกิดฟองต้องมีเคมีสังเคราะห์ผสมอยู่ในเนื้อแชมพู ดังนั้นแชมพูขวดนี้จึงเป็นแชมพูสมุนไพรแท้ๆ ข้อดีคือไม่ต้องกังวลเรื่องเคมีสังเคราะห์ แต่ข้อเสียคือ อายุการใช้งานจำกัด ความคงตัวของพฤกษเคมีไม่คงตัว บูดเสียง่าย และเวลาใช้สระผมไม่สะดวกเท่ากับแชมพูที่มีฟอง ฟองทำให้สระและล้างออกง่าย          ทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการใช้แชมพูผสมสมุนไพร คือ การทำแชมพูสมุนไพรธรรมชาติใช้เอง ซึ่งไม่ยุ่งยากเท่าไร สวยอย่างฉลาดฉบับหน้าจะนำมาเสนอต่อไป        หรือการใช้แชมพูผสมสมุนไพรอย่างเข้าใจ เลือกที่มีส่วนผสมของสารบำรุงผมหรือใช้ครีมนวดผมเสริม จะช่วยให้รู้สึกผมนุ่มเบาขึ้นไม่แห้งสาก อีกทางเลือกหนึ่งคือ เลือกใช้แบรนด์ที่มีการคิดค้นและนำพืชสมุนไพรไปสกัดจนได้สารเคมีที่คงตัว ผสมกับสารชำระล้างที่ไม่ใช่สารประเภท SLES แต่แน่นอนว่าจะมีราคาที่แพงขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ล้างแผลถูกวิธี แผลดีไม่มีปัญหา

        หลายวันก่อนพบว่าในกลุ่มเพื่อนยังมีบางคนเข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องการล้างแผล ถกกันเรื่องการใช้แอลกอฮอล์กับการใช้น้ำเกลือ ว่าอย่างไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน สวยอย่างฉลาด คราวนี้จึงขอนำเรื่องการล้างแผลที่ถูกวิธีมาเสนออีกครั้ง เพราะถ้าเราทำความสะอาดแผลได้ดี แผลก็จะไม่ติดเชื้อลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือกลายเป็นแผลเป็นติดตัวไปเข้าใจเรื่องแผล        นิยามของ บาดแผล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะถูกตีฟันทิ่มแทง เป็นต้น ส่วนคำว่า แผล หมายถึง เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม เป็นต้นชนิดของแผลแบ่งตามสาเหตุ เป็น 2 กลุ่มดังนี้        1. แผลเฉียบพลันหรือแผลสด คือแผลที่มีการติดประสานของผิวหนังได้ตามกระบวนการปกติ และมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด หกล้ม        2. แผลเรื้อรัง คือกลุ่มที่แผลมีปัญหาในการสมานติดของแผล ส่วนใหญ่แผลมักไม่ติดในเวลา 3 เดือนแผลหายเร็วหรือสมานตัวได้อย่างไร        การสมานตัวหรือการติดประสานของเนื้อเยื่อที่บาดแผล ร่างกายของเราจะเป็นผู้จัดการตัวเอง ทั้งการห้ามเลือดให้หยุด ส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค และเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเพื่อทำให้เกิดการสมานตัวโดยมีสารโปรตีนเป็นตัวการสำคัญ        การทำความสะอาดแผลจึงเป็นการช่วยเหลือจากภายนอก คือช่วยทำให้แผลสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ ลงเพื่อให้ร่างกายทำงานซ่อมแซมบาดแผลได้ดีขึ้น เรียนรู้เรื่องการทำความสะอาดแผล        1.ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือที่เรียกว่า Normal saline ซึ่งเป็นน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% โดยความเข้มข้นของน้ำเกลือชนิดนี้ จะมีความสมดุลกับเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงไม่ทำให้รู้สึกแสบ ใช้ล้างตรงๆ บริเวณบาดแผลได้เลย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด รบกวนการสมานตัวของแผลน้อยที่สุด แต่เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกแล้วจะมีอายุการใช้งานได้อีก 30 วัน หากเกินนั้นไปแล้วไม่ควรใช้         2.ถ้าไม่มีน้ำเกลือสามารถล้างแผลด้วยน้ำประปากับสบู่ได้ แต่น้ำประปามีความเข้มข้นต่ำกว่าน้ำในเซลล์ร่างกาย จึงอาจทำให้รู้สึกแสบแผลเล็กน้อย และรบกวนการสมานแผลของร่างกาย แต่ช่วยให้แผลสะอาดได้ไม่แพ้น้ำเกลือ        3.การใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดมาตลอดคือ การนำแอลกอฮอล์ราดหรือเช็ดไปที่แผลโดยตรง ถือว่าผิดวิธีเพราะแอลกอฮอล์เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ สำหรับเช็ดผิวหนังรอบแผลก่อนผ่าตัดหรือก่อนฉีดยาเท่านั้น เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรครอบปากแผลจะเข้าสู่แผลได้ หากเช็ดแอลกอฮอล์ไปที่แผลตรงๆ แอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย แสบร้อนแผล และทำให้แผลหายช้า         4.ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลายคนชอบใช้ล้างแผล ซึ่งผิด เพราะไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อและรบกวนการสมานแผลของร่างกายไม่ต่างจากแอลกอฮอล์ จึงควรใช้เช็ดรอบปากแผลเท่านั้น        5.เมื่อทำความสะอาดแผลแล้ว ระยะแรกควรปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และอย่าให้แผลโดนน้ำ แต่ไม่ควรปิดแผลจนแน่นเกินไป ควรให้แผลได้ถูกอากาศบ้าง เพื่อป้องกันแผลอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคบูมขึ้นได้        การใช้ยาใส่แผลจำพวก ไอโอดีน โพวิดีนไอโอดีน และสารออร์กานิกต้านแบคทีเรียอื่นๆ ก็สามารถทำให้การหายของบาดแผลช้าลง เนื่องจากสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทำลายหรือขัดขวางเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้กระบวนการติดประสานของแผลเป็นไปโดยปกติ        อย่างไรก็ดี สำหรับแผลที่ค่อนข้างลึก ใหญ่ และรุนแรง หรือเป็นแผลบริเวณใกล้ดวงตา แผลที่ศีรษะ แผลเปิดกว้าง แผลเกิดจากของขึ้นสนิม หรือโดนสัตว์กัด เลือดไหลไม่หยุดยาวนานประมาณ 5-10 นาที ให้ไปพบแพทย์เพื่อจัดการดูแลแผลอย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 วิธีรับมือฝุ่นและมลภาวะเพื่อผิวสดใส

ในวิกฤตฝุ่นขนาดเล็กที่เราเผชิญอยู่ หลายคนอาจไม่มีอาการข้างเคียงที่จับได้ว่ากระทบกับสุขภาพ ซึ่งอาจเพราะเคยชินกับสภาพแวดล้อม แต่บางทีถ้าวิกฤตฝุ่นเริ่มส่งผลกระทบกับผิวพรรณอันนี้เชื่อว่าคุณผู้อ่านที่รักสวยรักงามน่าจะจับสังเกตได้ง่าย เช่น เริ่มมีสิวผุดขึ้น ทั้งที่ไม่ปรากฏมานานแล้ว หรือผิวเกิดผื่นคันยุบยิบๆ ผิวหมองทั้งที่บำรุงอยู่ตลอด ทั้งนี้ก็เพราะฝุ่นควันหรือมลภาวะทางอากาศนั้นทำร้ายผิวได้ไม่น้อยไปกว่าแสงแดดเลย          ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผิวพรรณไม่ได้มาจากวัยที่เพิ่มขึ้น แสงแดดหรือความเครียดเท่านั้น มลภาวะทางอากาศคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ซ้ำยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ผิวเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยตามจุดต่างๆ ไปจนถึงจุดด่างดำ ยิ่งฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กๆ มากๆ PM 2.5 ยิ่งก่อให้เกิดปัญหากับผิวได้โดยตรง เพราะสามารถแทรกซึมเข้าไปทางผิวหนังได้          “ผลกระทบที่ฝุ่นละออง PM 2.5 มีต่อผิวพรรณของมนุษย์นั้น ผศ.นพ.ชูชัย ตั้งเลิศสัมพันธ์ กรรมการสมาคมแพทย์ความงาม ให้สัมภาษณ์กับทางบีบีซีไทยว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ กล่าวคือ ผลลัพธ์ทันทีจะก่อให้เกิดอาการแพ้และระคายเคือง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือโรคผิวหนังอักเสบบริเวณที่มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งสองโรคนี้พบเห็นได้บ่อยครั้งผลระยะยาว อนุภาคของฝุ่นจะแทรกผ่านเข้าผิวหนังแล้วทำลายเซลล์ผิว โดยเฉพาะผู้ที่เสริมความงามด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ฉีดโบท็อกซ์ หรือศัลยกรรม ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรอยที่ผิวหนังจะทำให้ระคายเคืองได้ง่าย และหากแกะเกาจนเกิดแผล ก็อาจจะติดเชื้อ” (ที่มา https://www.bbc.com/thai/thailand-46890563)รับมืออย่างไรดี          1.หมั่นทำความสะอาด ถ้าออกไปอยู่ในพื้นที่โล่งนานๆ อย่างน้อยเข้าบ้านหรือในอาคารก็ควรล้างมือ หรือถ้าล้างหน้าได้ก็ควรทำ แต่ต้องเพิ่มการบำรุงด้วยเพราะผิวที่โดยชะล้างบ่อยจะแห้งกร้าน ควรเพิ่มครีมหรือโลชั่นเพื่อบำรุงผิว กักเก็บความชุ่มชื้น          2. เพิ่มกระบวนการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งแค่การบำรุงผิวจากเครื่องสำอางอาจจะได้ผลน้อย ควรเพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้สด ซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุและวิตามินให้มากขึ้น          3.ถ้าไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีการสะสมฝุ่นละอองขนาดเล็กสูง อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งให้น้อยลง โดยเฉพาะผู้ที่ทำศัลยกรรมความงาม เช่น ฉีดโบท็อกซ์ ควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ          4.ติดตามข่าวสารเรื่องสภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด ป้องกันแค่ผิวพรรณยังไม่พอ ควรเพิ่มการใช้หน้ากากกันฝุ่นด้วย เพราะจะส่งผลกับสุขภาพโดยรวม          5.ช่วยกันรณรงค์และงดใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก ด้วยการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 อบไอน้ำด้วยสมุนไพร

        การอบไอน้ำด้วยสมุนไพร เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตัวอย่างที่รู้จักกันดีคือ การอยู่ไฟหลังคลอด ซึ่งเป็นวิธีการยอดนิยมของคุณแม่สมัยก่อน ปัจจุบันได้ถูกปรับมาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย ฟกช้ำ และช่วยให้เลือดลมในร่างกายไหลเวียนดี ผลข้างเคียงคือทำให้ผิวพรรณดูสดใส เปล่งปลั่ง ซึ่งเป็นจุดขายใหม่ ที่ได้รับความนิยมพอสมควรขนาดว่ามีคนหัวใสผลิตตู้อบไอน้ำสำเร็จรูปออกมาจำหน่าย ขายกันทั้งแบบออนไลน์และในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ระดับพันจนถึงสองสามหมื่นบาท         แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเหมาะกับการอบไอน้ำ เพราะก็เคยมีข่าวคนที่เจ็บป่วยจากการอบไอน้ำ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังนั้นเรามาดูกันว่า ข้อห้ามของการอบไอน้ำมีอะไรบ้าง ข้อห้าม ข้อควรระวังในการอบไอน้ำด้วยสมุนไพร        1.ขณะมีไข้ (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 38 องศาเซลเซียส)        2.ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ        3.ผู้มีระดับความดันสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท และต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท  (หรือตามดุลยพินิจของแพทย์)         4.สตรีขณะมีประจำเดือน        5.มีบาดแผลอักเสบบนร่างกาย        6.อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร        นอกจากนั้นแล้วก็คือ การปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่น ไม่อบไอน้ำนานเกิน 15 นาทีต่อครั้ง หากจะอบไอน้ำมากกว่าหนึ่งครั้ง ก็ต้องพักทุก 15 นาที ทั้งนี้ไม่ควรเกิน 4 ครั้งหรือ 1 ชั่วโมง หรือหากมีอาการผิดปกติคล้ายจะหน้ามืด เป็นลม ต้องหยุดการอบไอน้ำทันที ภายหลังออกจากตู้อบหรือกระโจม ต้องพักสักระยะหนึ่งก่อนเพื่อให้ร่างกายปรับตัว ก่อนที่จะอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สำคัญสุดไม่ควรทำขณะอยู่ตามลำพังภายในบ้าน เพราะหากเกิดอาการหน้ามืด หมดสติ จะไม่มีผู้ให้การช่วยเหลือ       ปัจจุบันการอบสมุนไพรมี 2 แบบ ได้แก่การอบแห้งและการอบเปียก โดย การอบแห้งเรียกทับศัพท์ว่า “ เซาว์น่า ” คล้ายคลึงกับการอยู่ไฟของไทย โดยใช้ความร้อนจากถ่านหินบนเตาร้อน ส่วน การอบเปียกเป็นวิธีที่คนไทยนิยมและแพร่หลายในปัจจุบัน โดยพัฒนาจากการเข้ากระโจม มาเป็นห้องอบสมุนไพรที่ทันสมัยขึ้น สามารถให้บริการได้ครั้งละหลายคน โดยการใช้หม้อต้มสมุนไพรที่มีท่อส่งไอน้ำเข้าไปภายในห้องอบ การอบสมุนไพรของไทยนั้นเป็นการอบไอน้ำร้อน ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการขับเหงื่อ         การอบไอน้ำที่บ้าน         อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เดี๋ยวนี้มีผู้ผลิต ผลิตตู้อบไอน้ำสำเร็จรูปออกมาจำหน่ายกันหลายรุ่น หลายแบบ การเลือกซื้อก็ควรคำนึงถึงปัจจัยข้างต้น ว่าเป็นบุคคลในกลุ่มเสี่ยงหรือเปล่า วัสดุที่นำมาประกอบเป็นตู้มีความแข็งแรงไหม หรือมีจุดที่อาจทำให้บาดเจ็บได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้         1.หากสนใจทดลองอบไอน้ำด้วยตัวเอง ควรหาอุปกรณ์แบบง่ายๆ ทำเองก่อน เพื่อทดลองดูว่าดีหรือไม่ มีสอนวิธีง่ายๆ ซึ่งสามารถศึกษาได้จาก youtube          2. ถ้าลองแล้วดี ติดใจ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดูคุ้มค่ากับราคาของวัสดุที่นำมาประกอบเป็นตู้หรือกระโจมอบ ควรเลือกชนิดที่มีหม้อสำหรับเตรียมสมุนไพรอยู่นอกกระโจมแล้วส่งผ่านควันหรือไอน้ำเข้ามาในตู้ ซึ่งจะปลอดภัยกว่า และเลือกที่มีบริการหลังการขายหากวัสดุเกิดชำรุดเสียหาย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 การลบไฝ ปาน

ไม่ว่าใครคงอยากมีผิวสวยเกลี้ยงเกลาปราศจากตำหนิ นอกจากรอยด่างดำ เหี่ยวย่นแล้ว กลุ่มไฝ ปาน ก็ดูจะขวางความสวยอยู่เหมือนกัน หลายคนจึงคิดกำจัดทิ้งซึ่งทำได้ไม่ยากในสมัยนี้ แต่หากคิดจะกำจัดออกจริงๆ ก็ควรทำให้ถูกวิธี มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้      ไฝ ปาน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ผิวหนัง  อาจเป็นมาตั้งแต่เกิดหรือมาเป็นทีหลังก็ได้ จะเริ่มเป็นในวัยใดก็ได้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ซึ่งทั้งไฝและปาน จัดอยู่ในกลุ่มของโรคผิวหนังกลุ่มเดียวกัน โดยปานต่างจากไฝที่ลักษณะของเซลล์ที่เป็นต้นเหตุ ปาน จะเป็นรอยสีผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ผิว มีรูปร่าง ขนาดและสีต่างๆ กัน เช่น ปานแดง ปานดำ ส่วน ไฝ จัดเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่ง แต่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย อาจเกิดเป็นตุ่มเดี่ยวๆ หรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เกิดได้ทุกตำแหน่งบนผิวหนัง ไฝที่พบได้บ่อยคือไฝดำ ที่เรียกกันว่า ขี้แมลงวัน     ทั้งไฝและปาน นอกจากเรื่องที่ว่าทำให้รู้สึกไม่สวย ส่วนใหญ่แล้วจะไม่อันตราย แต่ก็ต้องใส่ใจหากว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติจนสังเกตชัด ไฝนั้น อาจมีความเสี่ยงในการเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่ต้องสัมพันธ์กับขนาด คือ หากไฝมีขนาดใหญ่มาก หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสี รูปร่าง หรือมีเลือดออก เจ็บ คัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ ส่วนปานบางชนิดอาจกลายเป็นเนื้อร้ายหรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง หรือการเกิดปานขึ้นในบางตำแหน่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานของอวัยวะ เช่น ตาหรือปาก หรือการที่ปานขยายขนาดใหญ่ขึ้นทำให้ดูน่าเกลียด ก็ความจำเป็นต้องลบออก วิธีการลบไฝ ปานไฝ มีหลายวิธี ทั้งการจี้แบบภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยปูนแดง หรือการตัดไฝด้วยมีดผ่าตัดหรือเลเซอร์  สำหรับการจี้ออกด้วยตัวเองหรือร้านรับจี้ไฝทั่วไป มีข้อควรระวังจากสารเคมีที่ใช้ ซึ่งอาจ ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผิวบริเวณรอบๆ ได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อเรื่องของรอยแผลเป็นที่ตามมา แนะนำให้ทำกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสมัยนี้ค่าบริการราคาไม่แพง ในส่วนของปาน วิธีที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดคือ การใช้เลเซอร์ สำหรับเรื่องของการใช้แสงเลเซอร์ลบไฝ ปาน หลักการใหญ่คือ เมื่อแสงเลเซอร์ถูกฉายลงสู่ผิวหนังของร่างกายบริเวณที่เป็น ไฝ ปาน เซลล์ของไฝ ปานซึ่งมีสีคล้ำกว่าเซลล์ปกติของผิวหนังจะดูดกลืนแสงเลเซอร์ได้มากกว่าเซลล์ธรรมดา เม็ดสีบริเวณที่ผิดปกติจึงถูกทำลายลบหายไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กันแดดแบบไม่ทำร้ายปะการัง

   จริงๆ เรื่องครีมหรือโลชั่นกันแดดมีผลต่อการตายของปะการัง ได้ถูกพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว แต่เพราะเราหลายคนยังคงมีคำถามอยู่ในใจว่า อะไรจะขนาดนั้น ครีมกันแดดปริมาณเพียงเล็กน้อยจากตัวเราจะถึงกับทำให้ปะการังในทะเลซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่เกิดผลกระทบที่รุนแรงได้    จนเมื่อทางการไทยประกาศว่าจำต้องปิดอ่าวมาหยา บนหมู่เกาะพีพี ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ แหล่งท่องเที่ยวที่เคยติดอันดับต้นๆ ของโลก ต่อไปอีกอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่ปิดไปแล้วสามเดือนแต่ไม่พบสัญญาณที่ดีขึ้นของการฟื้นฟูของธรรมชาติบริเวณอ่าวดังกล่าว ประเด็นครีมกันแดดกับการตายของปะการังจึงกลายเป็นกระแสอีกครั้ง อะไรในครีมกันแดดที่ฆ่าปะการังสารเคมีสี่ชนิดที่นักวิจัยพบว่าฆ่าปะการังและทำให้ปะการังฟอกขาวคือ Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben ตัวสุดท้ายเป็นวัตถุกันเสียที่ทำให้ปะการังฟอกขาว  ตัวที่ร้ายที่สุดคงจะเป็น Oxybenzone หรือ BP3 เพราะรบกวนระบบสืบพันธุ์ ทำให้ตัวอ่อนปะการังโตแบบผิดรูป หรือไม่ก็พิการและตายไปเลย นอกจากนี้ Oxybezone ยังเป็นส่วนผสมที่ใช้อย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดกว่า 3,500 ยี่ห้อทั่วโลก เพราะมีคุณสมบัติในการป้องกันได้ทั้งยูวีเอและยูวีบี    บางคนอาจบอกว่าทะเลตั้งกว้างใหญ่ ครีมกันแดดแค่นิดหน่อยจากนักท่องเที่ยวไม่น่าจะสร้างปัญหาได้ แต่สิ่งที่งานวิจัยค้นพบก็คือ สารเคมีแม้ปริมาณเพียงน้อยนิด  แค่ 1 หยดต่อสระน้ำมาตรฐาน 6 สระ (62 parts per trillion) ก็ส่งผลกระทบต่อปะการังแล้ว ผลการตรวจค่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแนวปะการังที่ฮาวายรอบเกาะ Maui และ Oahu พบว่ามีความเข้มข้นอยู่ระหว่าง 800-19,000 parts per trillion และที่ Virgin Island National Park อยู่ที่ 250,000 parts per trillion นั่นหมายความว่าความเข้มข้นของ Oxybenzone ตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบันสูงกว่าระดับปลอดภัยไปมากและกำลังส่งผลร้ายแรงต่อแนวปะการังในระยะยาว             บางคนก็ว่าไม่ได้ว่ายน้ำในทะเลเสียหน่อย ไม่เป็นไรน่า อย่าลืมสิว่าเวลาเราอาบน้ำบรรดาสารเคมีอันตรายก็ไหลไปกับท่อน้ำทิ้งและลงสู่ทะเลเช่นเดียวกัน   เพื่อให้สวยอย่างฉลาดและรักษ์โลกไปพร้อมกัน เวลาเลือกใช้ครีมกันแดด ควรมีแนวทางดังนี้  - เปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากสาร Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate) 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) และ Butylparaben    -  ใช้ครีมกันแดดแบบกันน้ำ (Water resistant) เพราะอย่างน้อยก็เกิดการชะล้างระหว่างอยู่ในน้ำน้อยกว่า    -  ทาครีมกันแดดเฉพาะบริเวณนอกเสื้อผ้า เช่น ใบหน้า คอ มือ บางกรณีเราอาจใช้หมวก เสื้อแขนยาว และร่มเพื่อช่วยลดความจำเป็นในการใช้ครีมกันแดดในปริมาณมากๆ    -  ร่วมกันรณรงค์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการพัฒนาครีมกันแดดที่ปราศจากสารเคมีที่ทำร้ายปะการังและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เรื่อง สัก อย่าสักแต่ทำโดยไม่ประเมินความเสี่ยง

   ระยะนี้มีข่าวเรื่อง สัก มาเป็นกระแสให้ต้องเขียนเตือนใจกันอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นข่าวการติดเชื้อ HIV จากการสัก ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง และข่าวสองสาวไปสักปากกับร้านของพริตตี้ชื่อดังแล้วติดเชื้อโรค จนต้องฟ้องเป็นคดีความกัน   ปัจจุบันนอกจากการสักเพื่อสร้างลวดลายบนผิวหนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันมานานแล้ว ยังมีการสักที่นิยมอีกสามอย่างคือ สักคิ้ว สักขอบตาและสักปากสีชมพู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดจุดด้อยและเพิ่มความสวยงาม โดดเด่นให้แก่ทั้งสามจุดบนใบหน้า ซึ่งเป็นความสวยที่ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยง ทั้งผลลัพธ์ที่ไม่เป็นอย่างหวัง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แพ้สารเคมีและอาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งจากโลหะหนักในสีหมึก   ปัญหาการติดเชื้อจากการสัก มีอัตราการเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนจะนิยมสักในจุดที่บอบบางอย่าง ริมฝีปาก โดยการติดเชื้อสาเหตุหลักคือ เครื่องมือที่ไม่สะอาด สถานที่ให้บริการไม่ปลอดเชื้อ นอกจากนี้ก็เกี่ยวกับผลงานของช่างสักที่อาจทำได้ไม่ตรงใจ ซึ่งหากผิดพลาดต้องแก้ไข จะค่อนข้างลำบาก เพราะเมื่อสักไปแล้ว การลบออกทำได้ยากกว่า และยังมีปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วย บางคนอาจแพ้สารเคมีในขั้นรุนแรง หรือในเรื่องอนามัยของการดูแลรักษาแผล ถ้าทำได้ไม่ดีเกิดเป็นแผลเป็นที่น่าเกลียดได้     ยังมีความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วงในระยะยาวคือ อาจเสี่ยงจากสีหมึกที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งพบว่ามีส่วนผสมของโลหะหนักหลายชนิด ทั้งตะกั่ว นิกเกิล โครเมียม แมงกานีส สารโลหะหนักเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากเกิดการสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน เนื่องจากการสักเป็นทางเลือกส่วนบุคคล สีหมึกสำหรับสักในหลายประเทศจึงไม่ได้กำหนดมาตรฐานไว้ ในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังไม่ได้กำหนดให้หมึกสำหรับสักลายเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอางปี 2558 โดยเห็นว่า หมึกสีที่ใช้ในการสักไม่เป็นวัตถุที่ส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม    ความสวยที่ต้องแลกด้วยความเสี่ยงนี้ ไม่ว่าคุณจะมีแรงจูงใจใดก็ตาม ควรตระหนักถึงอาการข้างเคียงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจทำ  รู้หรือไม่ สถานประกอบการการสักเป็นกิจการที่ต้องควบคุม             ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 ข้อ 3 ให้กิจการดังต่อไปนี้เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ...     9. กิจการที่เกี่ยวกับการบริการ ...             (18) การประกอบกิจการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย             ผู้ประกอบกิจการต้องขออนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ หากประกอบกิจการที่เป็นอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าของกิจการระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 ดูแลมืออย่างไรให้ดูสุขภาพดี

        เช่นเดียวกับใบหน้า มือก็ดุจสะพานที่พาคุณเชื่อมต่อกับผู้คน ไม่ว่าจะไหว้ ทักทาย ยื่นของให้ รับสิ่งของหรือการสัมผัสมือ คิดดูสิถ้ามือดูหยาบกร้าน ผิวแห้งตึง หรือลอกเป็นขุย ก็อาจทำให้เสียความมั่นใจได้เช่นกัน        ผิวบริเวณมือนั้น จะมีความพิเศษกว่าบริเวณอื่นตรงที่ฝ่ามือนั้นจะไม่มีรูขุมขน แต่ก็มีรูเปิดสำหรับเหงื่อนะ ด้านฝ่ามือนี้ธรรมชาติออกแบบมาเพื่อการหยิบจับที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามผิวที่มือก็ประกอบด้วย ชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้เช่นเดียวกับผิวส่วนอื่นของร่างกาย การกินอาหารที่ดี การทำความสะอาด และการบำรุงก็ไม่ต่างกันมากนัก เพียงแต่ในชีวิตประจำวันมือจะสัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ มากมาย จึงอาจต้องดูแลเพิ่มมากขึ้นอีกนิด ใส่ใจมากขึ้นหน่อยเพื่อให้เป็นมือที่ดูสุขภาพดี                                  ปัญหาของมือที่พบบ่อย คือ ความแห้งตึงของผิว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ การล้างมือบ่อยคือสาเหตุหนึ่งที่คุณอาจคิดไม่ถึง เพราะว่าเราถูกสอนกันมาว่า ต้องหมั่นทำความสะอาดมือเพื่อสุขอนามัย แต่การล้างมือบ่อยก็เปิดโอกาสให้ผิวสูญเสียสมดุลของน้ำมันตามธรรมชาติ ผิวจึงแห้งตึง ซึ่งก่อให้เกิดอาการคัน และอาจนำไปสู่ผิวอักเสบได้อีก ดังนั้นเรามาดูขั้นตอนการล้างมือที่จะไม่ทำร้ายผิวก่อน            1.เลี่ยงน้ำอุ่นและสบู่ที่มีค่ากรดด่างสูง เลือกใช้สูตรอ่อนโยน            2.สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียไม่จำเป็นและอาจทำให้ผิวแห้งมากขึ้น            3.โฟมล้างมือเป็นทางเลือกที่ดี            4.ล้างมือโดยลูบเบาๆ อย่าขัดถูแรง            5.ล้างแล้วควรเช็ดมือให้แห้ง ไม่ปล่อยให้ผิวชื้นนานๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อรา            6.ถ้ารู้สึกผิวแห้งตึงมาก ใช้ครีมทามือเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น        การล้างมือบ่อยทำให้ผิวแห้ง คันได้ แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ผิวแพ้ แห้งหรือหยาบกร้าน ได้แก่             1.แพ้น้ำหอม สารกันเสียในโลชั่นหรือครีมที่ใช้ทามือ ลองสังเกตดูว่า เราแพ้สินค้าตัวใดควรหลีกเลี่ยง            2.สารเคมีในผลิตภัณฑ์ชำระล้าง เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ควรปรับระยะเวลาการสัมผัสให้น้อยที่สุด การสวมถุงมือช่วยป้องกันได้ แรกๆ อาจอึดอัดแต่บ่อยเข้าจะชินเอง            3.การป้องกันแดดสำหรับผิวบริเวณมือก็สำคัญไม่ควรละเลย            4.บุหรี่และความเครียด เชื่อไหมว่า เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มือคุณหยาบกร้านไม่น่ามอง        รู้แล้วว่าต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง ดังนั้นมาปิดด้วยการบำรุงรักษา มือนั้นสำคัญยิ่งไม่ควรปล่อยปะละเลย ควรหาเวลาสักนิดในแต่ละวัน ดูแลรักษามือและนิ้วมือบ้าง อย่างน้อยควรใช้ครีมหรือโลชั่น(ที่ไม่ก่ออาการแพ้) นวดมือทุกวันจะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมบริเวณผิวหนังที่มือทำให้มือสวยน่าทะนุถนอม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 แผลจากแมลงกัด

หลายคนเลยนะคะที่ต้องมีแผลเป็นที่เกิดจากการแพ้พิษของแมลงต่างๆ เห็นตัวเล็กแบบนั้น หลายชนิดมีพิษมากขนาดทำให้แพ้จนร่างกายแย่ไปเลยก็มี ซึ่งจะพบได้ไม่บ่อยเพราะเขาก็กลัวๆ คนเหมือนกัน อย่างผึ้งต่อ แตน ส่วนที่พบว่าโดนกัดบ่อย แต่พิษน้อยจะเป็นแมลงที่เราเจอกันเป็นปกติ อย่าง มด ยุง หรือ เห็บ หมัด ที่อาศัยอยู่กับสัตว์เลี้ยงจนไปถึงพวกตัวเล็กๆ มองแทบไม่เห็นอย่างไร ไรฝุ่น ซึ่งฝังตัวกับที่นอนของเรา และที่ช่วงหลังๆ หน้าฝนพบเจอกันบ่อย คือ แมลงก้นกระดก ที่พิษของมันทำให้แสบร้อนจนเกิดแผลพุพองได้ แต่ถึงแม้จะพิษน้อย หากเราดูแลรักษาแผลได้ไม่ดี หรือบางคนที่มีอาการแพ้มากๆ โอกาสที่ผิวของเราจะเกิดบาดแผลแข้ง ขาลาย ทำให้หมดสวยก็เกิดขึ้นได้ วิธีดูแลแผลจากแมลงกัดต่อยส่วนแรก ขอกล่าวถึงเฉพาะอาการเล็กน้อยลักษณะเป็นตุ่มคัน ที่เกิดจากแมลงทั่วไปที่ไม่ทำให้เกิดรอยชัดเจน ที่มีลักษณะเฉพาะ อย่างแมลงก้นกระดก ที่รอยแผลจะคล้ายการถูกสารเคมีแบบกรดด่าง คือมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย  1.ทำความสะอาดแผลด้วยการล้างน้ำสบู่ อาจทาครีม หรือขี้ผึ้งที่ระบุคุณสมบัติ แก้พิษแมลงกัดต่อย2.พยายามอย่าเกาอย่างรุนแรงจนเกิดเป็นแผลอักเสบ จากการติดเชื้อโรค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดรอยดำตามมา หลังการอักเสบหายแล้ว3.หากเกิดอาการคันมาก อาจใช้ยาทาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการคันจากการแพ้ โดยใช้สเตียรอยด์* ความเข้มข้นปานกลางเช่น 0.1% Triamcinolone ทาที่ตุ่มคันเช้าเย็นไม่เกินสองสัปดาห์ หรือ รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine เพื่อลดอาการคัน4.หากเกิดรอยดำหลังแผลหาย สามารถใช้ครีมทาผิวชนิดช่วยให้ผิวขาว(Skin whitening) ทา เพื่อให้รอยดำจางลงได้5.แผลที่ติดเชื้อหากมีอาการลุกลามรุนแรง จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แนะนำให้พบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง *ยาทาในกลุ่มสเตียรอยด์มีข้อควรระวัง คืออาจจะทำให้ภูมิต้านทานเชื้อโรคของผิวหนังลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนที่สอง เนื่องจากระยะหลังพบปรากฏการณ์ มีคนถูกพิษของแมลงก้นกระดกกันได้บ่อย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน จึงขอนำวิธีการดูแลแผลจากแมลงดังกล่าวมานำเสนอด้วงก้นกระดก ด้วงก้นงอน หรือแมลงน้ำกรด หรือแมลงเฟรชชี่ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร มีลักษณะเด่น คือ ก้นกระดกหรืองอนขึ้น ทำให้เรียกกันว่า ด้วงก้นกระดก หรือด้วงก้นงอน เมื่อโดนกัด แมลงจะปล่อยสารที่เรียกว่า Pederin ซึ่งจะทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้ โดยจะเกิดขึ้นหลังโดนกัดภายใน 12-36 ชั่วโมง เมื่อโดนพิษจากแมลงก้นกระดกใหม่ๆ จะมีแผลเหมือนรอยไหม้เป็นแนวเส้นยาว ร่วมกับอาการคันและแสบร้อน หากแพ้มากอาจเป็นตุ่มน้ำใส ดูคล้ายผื่นโรคงูสวัดได้ ผื่นที่เกิดขึ้นจะแห้ง ตกสะเก็ดหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน การดูแลมีดังนี้ หากเพิ่งโดนแมลงกัดใหม่ๆ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้งทันที เพื่อเจือจางสาร Pederin หากเห็นเป็นผื่นเกิดขึ้นแล้ว และมีอาการแสบร้อน ให้ใช้การประคบเย็นที่ผื่น และใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ ความเข้มข้น 0.1% mometasone furoate cream หรือ 0.05% clobetasol propionate cream โดยทายาวันละ 1 - 2 ครั้ง ถ้าโดนบริเวณหน้า ต้องระวังไม่ให้เข้าดวงตาด้วย หากมีอาการคันมาก ควรรับประทานยาแก้แพ้ และห้าม แกะและเกาผื่น หากทนไม่ไหวรู้สึกว่า อาการเริ่มลุกลามควรรีบพบแพทย์ โดยทั่วไป ตุ่มแพ้แมลงกัด มักดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนรอยดำหลังการอักเสบจะค่อยๆ จางลงในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับขนาดรอยแผลและสภาพผิวของแต่ละคน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ฟันขาวใน 1 สัปดาห์ มีจริงหรือไม่

ไม่เฉพาะแต่ผิวพรรณเท่านั้น ที่คนไทยส่วนหนึ่งอยากให้ขาวผ่อง ฟันก็เป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่คนต้องการให้ขาววับเงางาม ทั้งที่ธรรมชาติฟันแต่ละคนจะมีระดับของความขาวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ทั้งที่เกิดจากพันธุกรรม เกิดจากการกินในชีวิตประจำวัน เช่น ขนมสีสด การดื่มชา กาแฟ ก็มีส่วนทำให้ฟันมีคราบสะสม หรือการสูบบุหรี่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ฟันเป็นคราบดูไม่สะอาดได้ ซึ่งหากปรึกษากับทันตแพทย์ ส่วนใหญ่วิธีที่ใช้คือการฟอกสีฟัน แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ทำให้ฟันขาววิ้งค์ได้ เพียงแค่ช่วยขจัดคราบที่ทำให้ดูไม่สะอาดให้หมดไป ตรงจุดที่ทางการแพทย์เองก็ไม่ได้มีเครื่องวัดว่าระดับความขาวของฟันนั้นทำได้สุดแค่ไหน เพราะขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละคนเป็นสำคัญ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ออกมามากมายเพื่อชวนให้ผู้บริโภคเชื่อว่า ฟันสามารถขาวขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่นานและรักษาฟันผุได้ จนถึงขนาดว่า ไม่ต้องพบทันตแพทย์อีกเลย หรืออาจอวดอ้างสรรพคุณที่วิเศษไปมากกว่านี้ล่าสุดทันตแพทยสภาได้ออกแถลงข่าว เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่า ไม่มีข้อมูลทางวิชาการใดมาสนับสนุนว่ายาสีฟันประเภทใด ที่จะมีประสิทธิภาพสามารถซ่อมแซมฟันที่ผุและทำให้หินปูนสลายเองภายใน 1 เดือน รวมถึงการทำให้ฟันขาวขึ้น 4-5 ระดับ  ดังนั้นหากต้องการให้ฟันดูสะอาดไม่เป็นคราบเหลือง  วิธีที่เหมาะสม คือต้องแก้ที่สาเหตุ เรามาดูกันว่า อะไรคือสาเหตุทำให้ฟันเหลืองได้บ้าง เพื่อจะได้ดูแลให้ถูกวิธีสาเหตุที่ทำให้ฟันเหลืองและการแก้ไข1. สีสันของอาหาร บรรดาสีย้อมที่ผสมในอาหาร สามารถสร้างคราบไม่สะอาดให้กับฟันได้ รวมถึงเครื่องดื่มอย่าง ชา กาแฟ ดังนั้นหลังการรับประทานอาหารกลุ่มนี้ ควรแปรงฟันเพื่อขจัดคราบไม่ให้สะสมอยู่ที่ฟัน 2. สูบบุหรี่เป็นประจำก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฟันไม่ขาว ควรเลิกหรือเบาลง 3. ฟันผุ ซึ่งมักจะทำให้ฟันมีสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาล ควรพบทันตแพทย์เพื่อรักษาฟันให้มีสุขภาพดี 4. เกิดจากฟันตาย (ฟันตาย คือ อาการของฟันผุมากๆ และถูกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานไม่มีการรักษาทำให้ไม่มีเลือดและประสาทฟันมาหล่อเลี้ยงเนื้อฟัน) ทำให้ฟันมีสีทึบไม่โปร่งเหมือนฟันปกติ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางรักษา5. โรคบางชนิดก็สามารถทำให้สีของฟันเปลี่ยนได้ รวมไปถึงการตั้งครรภ์ และการใช้ยาบางชนิดด้วย 6. กรรมพันธุ์และวัย ตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก คนที่มีอายุมากขึ้นโอกาสที่ฟันจะยังคงความขาวก็ยิ่งมีน้อยลง เนื่องจากเคลือบฟันบางลง ทำให้สีเหลืองของชั้นเนื้อฟันที่อยู่ข้างในปรากฏออกมาให้เห็นชัดมากขึ้น7. แปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือแปรงสีฟันไม่มีคุณภาพทำให้ขจัดคราบที่ตกค้างบนผิวฟันได้ไม่หมด วิธีใดบ้างที่จะทำให้ฟันขาววิธีที่ง่ายที่สุดคือ การแปรงฟันให้สะอาดอย่างทั่วถึงหลังอาหารทุกมื้อ ร่วมกับการไปพบทันตแพทย์ อย่างสม่ำเสมอเพื่อขูดหินปูนและขัดฟัน รวมทั้งดูแลไม่ให้เกิดฟันผุ ถ้าต้องการให้ฟันดูขาวขึ้น ทันตแพทย์จะแนะนำให้ฟอกสีฟัน คือการฟอกสีฟันทั้งปาก ซึ่งได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไป และปัจจุบันยาที่ฟอกสีฟันนั้นพัฒนาไปมาก ทำให้ใช้ได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสามารถนำสารฟอกสีกลับไปทำเองได้ที่บ้าน (ควรปรึกษาทันตแพทย์)ส่วนยาสีฟันที่ทำให้ฟันขาว ซึ่งมีออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้นนั้น ถ้าผู้บริโภคไม่ดูแลที่ต้นเหตุที่ทำให้ฟันไม่ขาว ยาสีฟันก็อาจช่วยได้เพียงแค่การขจัดคราบ แต่ไม่ได้ทำให้ฟันขาวมากไปกว่าสีฟันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากผลิตภัณฑ์ใดโฆษณาจนเข้าข่ายเป็นของวิเศษ อย่าหลงเชื่อเพราะไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด    ข้อมูลจาก http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/radiology/dept_article_detail.asp?a_id=94

อ่านเพิ่มเติม >