ฉบับที่ 272 ผลไม้ดอง อร่อยปาก ลำบากกาย

        ทุกท่านเคยสังเกตกันหรือไม่ว่า เวลาที่เกิดอาการง่วงนอนแต่ยังไม่สามารถล้มตัวลงนอนได้ อาจจะเนื่องด้วยกำลังทำงาน กำลังอ่านหนังสือเตรียมสอบลังขับรถลังประชุมหรือยังไม่ถึงเวลานอน เป็นต้น  ท่านใช้อะไรเป็นตัวช่วยเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้น           เชื่อไหมว่า หนึ่งในตัวช่วยที่เป็นที่นิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสุภาพสตรีก็คือ    “ผลไม้ดอง”   ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน เปรี้ยวจัด  หวานจัด ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกตื่นตัวและสามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไปแต่ทราบหรือไม่ว่าในความเปรี้ยวจัด หวานจัด อร่อยจัดของผลไม้เหล่านั้น อาจจะมีอันตรายแอบแฝงอยู่         จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยของอาหาร พ.ศ. 2563 ของสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พบการปนเปื้อนของกรดซาลิไซลิกในอาหารในเขต 13 (กรุงเทพมหานคร) มากที่สุด แล้วกรดซาลิไซลิกคืออะไร มีอันตรายกับร่างกายหรือไม่ อย่างไร เรามาหาคำตอบกัน  กรดซาลิซิลิค (salicylic acid)  หรือ สารกันรา   มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว  ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอางและยาบางชนิด   เนื่องจากสารมารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี  สารกันราในอาหาร มักพบใน ผักดอง ผลไม้ดอง เพื่อให้ผักหรือผลไม้ดองมีสีสรรสดใสน่ารับประทานไม่เกิดเชื้อราสามารถเก็บไว้รับประทานได้นานกว่าปกติ   ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ.2536 กำหนดให้กรดซาลิซิลิค เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารซึ่งสารป้องกันเชื้อราหรือสารกันบูดเหล่านี้เมื่อรับประทานและเข้าไปสะสมในร่างกายมาก ๆ จะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ บางรายอาจเกิดอาการแพ้เป็นผื่นขึ้นตามตัว อาเจียน หูอื้อ หรือมีไข้ ร่วมด้วย  ถ้าร่างกายได้รับจนมีความเข้มข้นของกรดซาลิไซลิกในเลือดประมาณ 25-35 มิลลิลิตรต่อเลือด 100 มิลลิกรัม จะทำให้เกิดการอาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตต่ำจนเกิดอาการช็อคและอาจเสียชีวิตได้          ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพ ผู้บริโภคควรหันมารับประทานผลไม้สดที่ปลูกด้วยวิธีการธรรมชาติโดยไม่มีสารเคมีเจือปน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรล้างทำความสะอาดผลไม้สดอย่างดีก่อนบริโภค เพื่อลดการปนเปื้อนจากยาฆ่าแมลง  หากอยากรับประทานผลไม้ดองจริงๆ อาจดองรับประทานเอง  เพราะนอกจากจะอิ่มท้อง ปลอดภัยต่อสุขภาพแล้วยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย แต่ถ้าไม่สะดวกควรเลือกซื้อผลไม้ดองที่บรรจุในภาชนะที่มีรายละเอียดบนฉลากครบถ้วน ทั้ง ชื่อที่อยู่ผู้ผลิต ส่วนประกอบและที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่ามีเลขที่อนุญาตแสดงในเครื่องหมาย อย.ด้วยหรือไม่ หากพบเห็นฉลากไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ขอให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้ตัวท่านเพื่อติดตามตรวจสอบต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม อย่าลืมถามชื่อยาบนซองยาด้วยทุกครั้ง

        เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยแพ้ยาและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าเภสัชกรจะพยายามสอบถามชื่อยาและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากตัวผู้ป่วยหรือแหล่งที่ส่งมอบยา (เช่น ร้านยาบางแห่ง หรือคลินิกบางแห่ง) แต่พบว่าบางครั้งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอพอ ส่งผลให้การลงประวัติแพ้ยาของผู้ป่วยขาดความสมบูรณ์ ระบุชื่อยาไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาซ้ำๆ อีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้        จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภค พบว่าหลายครั้งที่ผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิก ร้านยา หรือสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ มักจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับยาที่ตน เช่น ชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ สถานบริการหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น มักจะเขียนเพียงแค่ ยาแก้อะไร กินปริมาณเท่าไหร่และกินเวลาไหน บนซองยาหรือฉลากยาเท่านั้นเอง        ประเทศไทยมีการออกหลักเกณฑ์และข้อกำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับมานานแล้ว สภาวิชาชีพทางด้านสุขภาพสาขาต่างๆได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มาตั้งแต่พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการรักษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านยา มีรายละเอียดกำหนดให้ร้านยาต้องให้ข้อมูลยาแก่ผู้รับบริการให้ครบถ้วน บนซองยานอกจากจะบอกสรรพคุณ วิธีใช้แล้ว ยังต้องบอกชื่อสามัญทางยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆอีกด้วย        จนมาถึงปี 2565 ก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา กำหนดให้ซองยาจากคลินิก ที่ไม่มีชื่อยาหรือชื่อผู้ป่วยและรายละเอียดอื่นที่สำคัญมีโทษอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งในระหว่างรอการบังคับใช้อีก 2 ปี ผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือขาดจรรยาบรรณ ดังเช่น ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับข้อมูลยาที่ครบถ้วนจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง        นอกจากประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยทางด้านการรับษาพยาบาลแล้ว ในด้านกฎหมายแรงงาน “ซองยา” ยังสามารถใช้ประกอบการลาป่วยได้ เพราะเหตุที่ซองยามีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องมีข้อมูลมากพอ ที่จะเชื่อได้ว่าป่วย ฝ่ายบุคคลจึงสามารถตรวจสอบกลับไปที่ผู้ส่งมอบยา (ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรหรือแพทย์) ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่หากซองยาเป็นเพียงซองพลาสติกใสๆ ฝ่ายบุคคลอาจจะไม่รับฟังว่าป่วยจริง        ดังนั้นจำให้ขึ้นใจเลยว่า “เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับข้อมูลยา” และ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” หากพบว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ให้ข้อมูลยาที่ครบถ้วน นอกจากจะผิดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะมีความผิดตามข้อบังคับของจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ด้วย ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เตือนภัยยาสูตรเข้มข้น อันตรายก็เข้มขึ้น

        ในช่วงหน้าทำนายาอันตรายที่กำลังฮิตในกลุ่มพี่น้องเกษตรกรทางอิสานคงหนีไม่พ้นยาแก้ปวดเมื่อย ช่วงนี้มียาฮิตตัวใหม่มีการนำมาเร่ขายตามบ้าน รู้กันในชื่อ สูตรเข้มข้นx2 Extra และมีการบอกต่อๆกันจนขายดิบขายดี ทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ธรรมดา ราคาต่อขวดมากกว่าหนึ่งพันบาท         นอกจากชื่อที่บอกเข้มข้นแล้ว อันตรายมันก็เข้มขึ้นไม่แพ้กัน ผู้ที่นำไปรับประทานหวังแก้อาการปวดเมื่อย หลายรายเกิดอาการไม่พึงประสงค์แถมมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดอาการบวมที่เท้า ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ สำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เมื่อทราบข้อมูลจึงได้ขอยาจากชาวบ้านมาทดสอบและก็แม่นยิ่งกว่าถูกหวยเสียอีก เป็นไปตามคาดเพราะเมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบสารสเตียรอยด์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าให้ผลบวก หมายถึงพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์อยู่ในผลิตภัณฑ์นี้จริงๆ         ไหนๆ ก็เล่ามาแล้ว ขอย้ำเตือน อันตรายจากสเตียรอยด์ที่เราพอจะสังเกตเองได้เอง เผื่อจะได้ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัวว่า หลงไปใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัวหรือไม่  อาการที่จะพบได้บ่อยๆ คืออาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา        อันตรายที่น่ากลัวยังมีมากกว่านี้ การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูงเป็นเวลานานมันจะไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงลดลง ผู้ที่ใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์จึงติดเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยังไปยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนด้วยซ้ำ  และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือทำให้กระดูกพรุน           ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ยิ่งอันตราย ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตจะไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้เช่นกัน มักจะมีระดับความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีอาการเตือน จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้ และที่ต้องย้ำคือ ถ้าพบว่ายาที่ใช้มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ อย่าหยุดใช้เองโดยทันที เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน  ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติที่ร่างกายเคยสร้างเองได้  เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน หากมีปัญหาเนื่องจากการใช้ยาที่ปนเปื้อนสารสเตียรอยด์แล้ว ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ถูกต้องจะปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ภาพลวงตาธุรกิจอาหารเสริม ลวงให้กินอาหารเสริมเหมือนเป็นยา

ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก  กลุ่มแรกกินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก “ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน) การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้ อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ” ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจงใจปลอมปนยาแผนปัจจุบันเข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปนสเตียรอยด์ หรือ ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ  ภาพลวงตาเหล่านี้คืออุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภคที่มาตรงกับอุปทาน (supply) ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา  ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ต้องใช้ยานานแค่ไหน

        เมื่อเรารับยาจากเภสัชกรโรงพยาบาลหรือจากร้านขายยา  ส่วนใหญ่เราจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับยานั้นๆ ทั้งชื่อยา  สรรพคุณ  ขนาด  วิธีใช้ และข้อควรระวัง  ซึ่งนอกจากเภสัชกรจะอธิบายแล้วข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะปรากฏบนฉลากยาให้อีกด้วย แต่ข้อมูลแค่นี้ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย  เพราะเราควรจะต้องสอบถามเภสัชกรเพิ่มอีกว่า ยาที่ตนได้รับนั้น ชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้เฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ซึ่งเราจะต้องถามให้ละเอียดทั้งยากินยาใช้ภายนอกหรือยาฉีด ดังตัวอย่างต่อไปนี้         ผู้ป่วยรายที่ 1  เป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอติดเชื้อแบคทีเรีย  เภสัชกรจ่ายยาให้กิน 4 ชนิด ได้แก่ ยาพาราเซตามอล เพื่อแก้ปวดลดไข้  ยาซีพีเอ็มเพื่อลดน้ำมูก  ยาแอมบรอกซอลเพื่อแก้ไอและยาอะม็อกซี่ซิลินเพื่อฆ่าเชื้อโรค  จากตัวอย่างนี้ยาที่จะต้องกินต่อเนื่องจนยาหมด คือ อะม็อกซี่  เพราะต้องการผลในการฆ่าเชื้อโรคให้หมด ส่วนยาแก้ไข้  ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอให้กินเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ถ้าเกิดมีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตามให้หยุดทันทีและรีบไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร         ผู้ป่วยรายที่ 2  มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  เภสัชกรจ่ายยา 2 ชนิด  ได้แก่ ไอบูโพรเฟนเพื่อกินแก้ปวด  และยานวดแก้ปวด ในกรณีนี้ยาทั้ง 2 ตัวจะใช้เฉพาะเวลามีอาการ ถ้าอาการปวดดีขึ้นอาจลดขนาดยาลง เช่น เดิมกินยา ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา  อาจลดเหลือวันละ 2 เวลา หรือ 1 เวลาก็ได้ ถ้าหายดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต่อจนหมด  โดยยาที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้เวลาที่มีอาการครั้งต่อไป (แต่ก่อนใช้ต้องตรวจสอบก่อนว่า ยายังไม่หมดอายุ)         ผู้ป่วยรายที่ 3  มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคกรดไหลย้อน  เภสัชกรจ่ายยา 3 ชนิด ได้แก่แอมโลดิปีน  กินเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง  ยาเบต้าฮิสติดีนกินเพื่อรักษาอาการวิงเวียน  ยาโอมีพราโซลและดอมเพอริโดน กินเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน   กรณีนี้ยาแอมโลดิปีนและโอมีพราโซลให้กินต่อเนื่อง  แต่ยาเบต้าฮิสติดีนให้กินเฉพาะเวลาวิงเวียน  ส่วนยาดอมเพอริโดนอาจกินเฉพาะเวลามีอาการกรดไหลย้อนหรือกินต่อเนื่องขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ในกรณีนี้ต้องปรึกษาเภสัชกร)         ผู้ป่วยรายที่ 4  มีอาการผื่นคันจากการสัมผัสฝุ่นละออง  เภสัชกรจ่ายยา 2 ตัว ได้แก่ ลอราตาดีนและยาทาเพรดนิโซโลน  ในกรณีนี้ยาลอราตาดีนให้กินเฉพาะเวลามีอาการหรือกรณีได้สัมผัสตัวกระตุ้น หากผู้ป่วยมีอาการแพ้เรื้อรังให้กินต่อเนื่องตามระยะเวลาของการรักษา  ส่วนเพรดนิโซโลนทาให้ทาเฉพาะเวลามีอาการผื่นคันเท่านั้น         ผู้ป่วยรายที่ 5  เป็นโรคความดันโลหิตสูง  ได้รับยา 2 ตัว  ได้แก่  แอมโลดิปีนและอีนาแลบพริล  ยาทั้ง 2 ตัวนี้ให้กินต่อเนื่องและต้องไปรับยาตามที่นัด  แต่ในระหว่างกินยาแล้วเกิดอาการไอแห้งๆ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพราะถ้าอาการไอนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาอีนาแลบพริล  แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาชนิดอื่นให้ เช่น ลอซาแทน  กรณีนี้จะเห็นว่าแม้ยาที่ต้องทานต่อเนื่องถ้าเกิดผลข้างเคียงที่สำคัญก็จำเป็นต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 พาวเวอร์เจลให้พลังงาน : กินไม่เกิดโรค รู้บริโภคปลอดภัย

        Power Gel หรือ Energy Gel เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปของเจลคาร์โบไฮเดรต โดยแต่งเติมกลิ่นและรสชาติเข้าไปเพื่อให้สะดวกแก่การรับประทาน         Power Gel เป็นแหล่งให้พลังงานสูงทำให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยสารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งพลังงานของร่างกายและช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดโดยทั่วไป Power Gel จะไม่มีไขมัน มีโปรตีนไฟเบอร์เป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยระบบย่อยและดูดซึมอาหารทำงานได้เร็วที่สุด         กลุ่มนักกีฬาประเภทที่ใช้พลังงานต่อเนื่องเป็นเวลานานอย่างวิ่งมาราธอน ว่ายน้ำ มักจะหา Power Gel ชนิดและยี่ห้อต่างๆ มาใช้และมีความนิยมกันเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีข้อที่ต้องระมัดระวังในการใช้อยู่ด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต้องได้มาตรฐานต้องเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดและประเภทที่เหมาะกับตนเอง         เมื่อปี 2019 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศหนึ่งได้ออกประกาศเตือนภัยให้แก่ผู้บริโภคในประเทศของตนให้หลีกเลี่ยงการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ Power Gel ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากจะเปรียบเทียบในประเทศเราก็คือประกาศแจ้งเตือนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้หลีกเลี่ยงการใช้และบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. ไม่มีข้อความแสดงในฉลากเป็นภาษาไทย เพราะเมื่อบริโภคจะมีความเสี่ยงสูงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากส่วนประกอบที่อาจมีอันตรายหรือไม่ได้มาตรฐานและอาจเกิดพิษสะสมเมื่อรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันพบผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นจำนวนไม่น้อยในงานวิ่งรายการต่างๆ ร้านค้าออนไลน์         นอกจากนี้ยังมี Power Gel อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องระมัดระวังในการบริโภคคือ Power Gel ที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ที่ใส่เข้าเพิ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการตื่นตัว รู้สึกตื่นตัว เชื่อว่าช่วยให้ร่างกายทนทานต่อความเมื่อยล้าเพิ่มมากแต่อาจไม่เหมาะกับบางคนรวมถึงเด็กเล็ก  เพราะผลข้างเคียงให้เกิดอาการปวดหัวหรือกระวนกระวายใจได้ในบางคน องค์กร European Food Safety Authority แนะนำว่าปริมาณการบริโภคคาเฟอีนของผู้ใหญ่แต่ละครั้งไม่ควรเกิน 200 mg. และต่อวันไม่ควรเกิน 400 mg (ต้องกิน Power Gel ถึง 8 ซอง) แต่ในบางคนที่ไวต่อการกระตุ้น เช่น เด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับความดัน หัวใจ แม้การกินคาเฟอีนที่ปริมาณไม่เกินกำหนดก็อาจทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่นได้ง่ายขึ้นได้ทันทีหรือความดันอาจจะเพิ่มขึ้นได้บ้าง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้กินเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมคาเฟอีนเป็นประจำ นอกจากนี้ก็มีฤทธิ์เป็นยาระบายและยาขับปัสสาวะผลต่อการขับปัสสาวะที่บ่อยขึ้นเกิดผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำ         นักกีฬาที่จะหา  Power Gel มาทานจึงควรใส่ใจ อ่านฉลากซองผลิตภัณฑ์ให้ละเอียด 1) มีเลข อย. และมีข้อความภาษาไทย ระบุแหล่งผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ 2) ตรวจสอบส่วนประกอบในฉลากว่า มีส่วนผสมของคาเฟอีนหรือไม่ โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับตัวเอง และ 3) เลือกชนิดและประเภทของ Power Gel ที่เหมาะกับสภาพร่างกายของตนเอง ซึ่งสามารถปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยาทุกแห่งหรือผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ Power Gel

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ก่อนเฝ้าระวังสินค้า อย่าลืมเฝ้าระวังตนเอง

        “เราเดินเข้าไปในซูเปอร์มาเก็ตโดยมีเป้าหมายจะไปซื้อผงซักฟอกมาใช้ แต่สุดท้ายเราอาจจะพบว่า ณ จุดจ่ายเงิน ในรถเข็นบรรจุสินค้าของเรามันไม่มีแค่ผงซักฟอก แต่กลับมีสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีกมากมาย เกิดอะไรขึ้นกับพฤติกรรมการบริโภคของเรา?”          จริงๆ แล้วเราอาจถูกหลอกโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ตอนเข้ามาในห้างแล้ว ซูเปอร์มาเก็ตเอารถเข็นมาจอดรอเราตรงประตูทางเข้า ทั้งๆที่ การซื้อผงซักฟอกก็แค่หยิบใส่ตระกร้าแล้วหิ้วไปจ่ายเงิน โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถเข็นด้วยซ้ำ แต่ด้วยความคุ้นชิน ขี้เกียจ หนักไม่อยากหิ้ว หรือเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายรถเข็นก็มาอยู่ในมือเรา และผลที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะเพลิดเพลินเดินเตร็ดเตร่ไปตามชั้นวางสินค้าอื่นๆ ต่อไปอีก เดินเลือกดู น้ำปลา เครื่องปรุงรส แป้งทำขนม รองเท้า กระดาษทิชชู ยาสีฟัน นม อาหารสด ฯลฯ ตามแต่ความสนใจของเราแต่ละคน สุดท้ายในรถเข็นของเราก็มีทั้งผงซักฟอก และสินค้าอื่นๆ เพิ่มเข้ามาอีกโดยไม่รู้ตัว         นักการตลาดเขาฉลาดกว่าเรามาก สิ่งที่พวกเขารู้ก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อสินค้าด้วยเหตุผล แต่ซื้อด้วยความรู้สึก ความเชื่อ ความตื่นเต้น ความคาดหวัง หรือแม้กระทั่งความกลัว (เช่น ซื้อประกันชีวิต) การโฆษณาจึงก้าวเข้ามาในพฤติกรรมการบริโภคของเรา พวกเขาเลือกตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า ออกแบบสถานที่ การจัดวางสินค้าเพื่อกระตุ้น“จิตใต้สำนึก” ของคน ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจในร้านค้าและตัวสินค้าจนต้องเดินเข้าไปดูและเข้าไปหยิบ สุดท้ายผู้บริโภคอย่างเราก็ตกเป็นเหยื่อเผลอเสียเงินซื้อโดยลืมเหตุผลความจำเป็นที่แท้จริงของตนเอง         ชุมชนชนบทที่วิถีชีวิตไม่ได้เร่งรีบแบบชุมชนเมือง ที่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปส่งลูกหลานที่โรงเรียน รีบไปทำงานให้ทันตามเวลา ฯลฯ เมื่อมีร้านสะดวกซื้อต่างๆ มาจำหน่ายสินค้าในชนบทเพิ่มมากขึ้น สังคมที่เร่งเร้าให้ทุกคนต้องเร่งทำมาหากิน ทำให้ผู้คนในชนบทหันมาใช้บริการซื้อสินค้าและอาหารต่างๆ ในร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ ซื้อกระทั่งอาหารแช่แข็งเพราะมันตอบโจทย์ สะดวก ง่าย ถูก และรวดเร็ว เพื่อจะได้เอาเวลาที่เหลือไปทำงานหาเงินต่อไป         สุดท้ายวิถีเหล่านี้มันก็รุกคืบเข้ามาจนมีอิทธิพลในพฤติกรรมการบริโภคของเรามากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผู้ป่วยยอมเสียเงินซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารราคาแพงโดยคาดหวังว่าจะช่วยให้หายจากโรค เด็กวัยรุ่นยอมซื้อผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนกิน ทั้งๆ ที่มีข่าวมากมายว่าอันตรายหรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่กำลังอยู่บนแฟลตฟอร์มออนไลน์ขายสินค้านั่งดูไลฟ์สดขายของด้วยความสนุกและกำลังหยิบของลงตระกร้าแล้วจ่าย         สิ่งที่เราควรทำควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าอันตรายในชุมชนคือ ตั้งสติ นั่งทบทวน เพื่อเฝ้าระวังตนเองด้วยว่าเรากำลังเป็นเหยื่อการโฆษณาหรือเหยื่อในการบริโภคสินค้าที่เกินจำเป็นต่อชีวิต จนสิ้นเปลืองเงินทองหรือเสี่ยงต่ออันตรายด้วยหรือเปล่า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 กิน..กัญ...จน...มึน

        “แม้กัญชาจะปลดล็อคเสรี แต่ถ้าผลีผลามใช้แบบไม่ระมัดระวัง กัญชาที่เป็นพืชสมุนไพรก็อาจจะทำให้เราเสี่ยงภัยได้ง่ายๆ”         ตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่ทีมเราเจอในโรงพยาบาล หลังปลดล็อคกัญชาเสรี จำได้ว่าในช่วงเย็นของวันหนึ่ง เภสัชกรได้รับแจ้งจากพยาบาลห้องฉุกเฉินให้ไปสอบสวนเคสคนไข้รายหนึ่ง สอบถามข้อมูลคนไข้ พบว่าคนไข้ชายไทยวัยกลางคนถูกนำส่งมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจไม่สะดวก คนไข้มีอาการมึนชาตามร่างกาย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียนอย่างมาก         เมื่อสอบถามข้อมูลจากภรรยาที่นำคนไข้มาส่งได้ความว่า สามชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาลสามีเธอกินต้มไก่ ใส่กัญชา ซึ่งปกติก็ใส่แค่ใบกัญชา แต่ครั้งนี้ไม่รู้นึกครึ้มอะไรเลยใส่มันทั้งใบและช่อดอก แถมแอบกระซิบว่าที่บ้านมีต้นกัญชาปลูกไว้ใส่ในต้มไก่ในปริมาณเยอะพอสมควร ตอนกินยังพูดว่าอร่อยฟาดต้มไก่หมดเกลี้ยงไปสองถ้วย แถมอาหารมื้อนี้ยังมีดื่มเบียร์ร่วมวง ด้วยพออิ่มเรียบร้อยจึงเกิดเรื่องสามีเกิดอาการขึ้นมาซึ่งตนก็ไม่คาดมาก่อนว่าจะทำให้เกิดอาการเช่นนี้จึงรีบพาส่งโรงพยาบาล         เภสัชกรจึงอธิบายให้ภรรยาฟังว่า กัญชา เป็นพืชสมุนไพรและพืชท้องถิ่น ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจนำมาประกอบอาหาร ในกรณีบริโภคกัญชาเป็นอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้น ควรพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยง ส่วนที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาปรุงใส่อาหารมากที่สุดคือ ใบ ใบสดที่เพิ่งเก็บจากต้นซึ่งส่วนนี้จะไม่มีสารเมาแต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระลดการอักเสบ เราอาจนำมากินกับน้ำพริกหรือผสมกับผักอื่นๆ กินแบบสลัดได้         แต่สิ่งที่เราต้องระวังคือ เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อนหรือเก็บไว้นานๆ จะมีสารเมาที่เรียกว่าสาร THC และสารต้านเมาที่เรียกย่อๆ ว่า CBD เกิดขึ้น โดยใบอ่อนจะมีปริมาณสารข้างต้นมากกว่าใบแก่ สารสองชนิดนี้ พบปริมาณสูงสุดเมื่อต้นกัญชามีอายุ 2 เดือน ดังนั้นหากจะนำใบแห้งมาปรุงอาหารผ่านความร้อนตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เราอาจใช้ได้ประมาณวันละ 5- 8 ใบ และแนะนำให้เริ่มใช้ในขนาดน้อยๆ ก่อน คือประมาณครึ่งใบต่อวัน         นอกจากใบแล้วส่วนอื่นๆ ของกัญชาก็สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร เช่น ใช้ใบกัญชาปรุงรสของน้ำซุป เช่น ต้ม แกง ตุ๋น ใช้ยอดกัญชา ใส่ผัดเผ็ด แกงเผ็ด เหมือนใบกะเพรา ใบโหระพา ใช้ใบอ่อนกัญชาเป็นผักสด จิ้มน้ำพริก น้ำบูดู หั่นใส่ในข้าวยำ ใส่แกงส้ม แกงกะทิ แกงมัสมั่น หรือในเมนูผัด บางพื้นที่ใช้รากและกิ่งก้านกัญชา มาใส่ทำน้ำซุปแต่ในส่วนของช่อดอกต้องระวัง ไม่นำมาใช้ในการปรุงอาหารเพราะมีสารที่ทำให้มึนเมามากอาจเกิดอันตรายได้         นอกจากนี้ผู้ที่เพิ่งเริ่มกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อาจมีอาการข้างเคียงเช่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มออกฤทธิ์แสดงผล หลังกินไปแล้วประมาณ 30-60 นาที และจะแสดงอาการเด่นชัดที่เวลาหนึ่งชั่วโมงและอยู่ได้นานถึงประมาณหกชั่วโมง ดังนั้นผู้ที่เพิ่งกินกัญชาหรือเริ่มกินเป็นครั้งแรก ควรเริ่มกินที่ครึ่งใบแล้วรอดูผลหลังการกิน 2 ชั่วโมง หากมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ หากมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งหรือดื่มชารางจืดเพื่อบรรเทาอาการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 ดวงตาเป็นหน้าต่างของกำไร

        ปัจจุบันผู้คนเข้าสู่ยุคสังคมก้มหน้า ไม่ว่าใครต่อใครก็มักจะก้มหน้าใช้สายตาจ้องหน้าจอมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา อาการเหนื่อยล้าทางสายตาย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ บางคนเกิดปัญหาทางตาตามมาอีก จึงเป็นช่องทางให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาผุดออกมาจำหน่ายมากมายและรุกโฆษณาเข้าถึงตัวเราได้ง่ายๆ         ผมลองสังเกตหน้าจอมือถือที่จู่ๆ ก็มีโฆษณาแนะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาถึง แค่ครึ่งวันก็จู่โจมมาเกือบ 10 ยี่ห้อแล้ว        “เห็นยักใย่ ดำๆลอยไปลอยมา 1 เม็ดก่อนนอน ตาใสปิ๊งเหมือนได้ตาใหม่ ซื้อตอนนี้ 590 บาท ลดเหลือ 390 บาท”         “ฟื้นฟูดวงตาด้วยสารสกัดหญ้าฝรั่น ให้ผลไวกว่าลูทีนทั่วไป 5 เท่า ดูดซึมเร็วกว่าเดิมถึง 25 เท่า”                 “ตาพร่าดวงตาล้า ดูซีรี่ย์นานใช้ดวงตาเยอะ ....(ชื่อดารา)....เลือกใช้”                 “ปวดตาเคืองตา น้ำตาไหล มองไม่ชัด ซื้อ 3 แถม 1”         “....(ชื่อดารารุ่นแม่)....แนะนำสูตรใหม่ เห็นผลไวกว่าลูทีน 8 เท่า การันตีด้วยรางวัลโนเบล”         “สายตาพร่ามัวมองไม่ชัด เป็นต้อ รู้สึกไม่สบายตา แสบตาเคืองตาอย่ารอช้า รีบทาน (โทรติดต่อ......)         “รวบรวมสารสกัดที่มีคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยสาร..... ซึ่งเป็นสารที่ช่วยปกป้องจอตาหรือเรตินาจากการถูก         ทำลายโดยแสงสีฟ้าและแสงยูวีจากดวงอาทิตย์ สาร... ช่วยให้กล้ามเนื้อยึดเลนส์คลายตัว การไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณรอบๆตาจึงไหลเวียนดีขึ้น ช่วยลดอาการอ่อนล้าของดวงตา ลดอาการตาแห้ง และเพิ่มการโฟกัสของตาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”         “บำรุงสายตาลดอาการตาแห้งตาล้า ช่วยให้การมองเห็นชัดขึ้น ป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้า บำรุง ฟื้นฟู สายตา ตาแห้ง ตาล้า จอประสาทตาเสื่อม ช่วยลดอาการตาแห้งจากลม เพิ่มการมองเห็นให้ชัดเจน ช่วยปรับโฟกัส ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ป้องกันโรคที่เกี่ยวกับดวงตาของผู้สูงอายุ สามารถดูดซึมได้รวดเร็ว ภายใน 15 นาที”         ข้อความต่างๆ ที่ส่งเข้ามาจะหลากหลาย ตั้งแต่บอกว่ามีสารที่มีประโยชน์ มีสรรพคุณบำรุง ป้องกัน ไปจนกระทั่งถึงรักษาโรคทางตาได้ด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วกฎหมายอนุญาตให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ แต่ต้องมายื่นขอ อย.ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในส่วนประกอบอาจมีสารอาหารมากกว่าอาหารทั่วๆ ไปเพิ่มเข้ามา ดังนั้นเมื่อมันเป็นแค่ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ประเภทยา มันจึงไม่มีสรรพคุณในการ บำบัด บรรเทา ป้องกันหรือรักษาโรคได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถล้ำเส้นอ้างสรรพคุณทางยาได้ ซึ่งทางหน่วยงานที่ดูแลก็พยายามไล่กวดจับกันอยู่ แต่ผู้ขายและเครือข่ายก็มักจะแอบไปเปิดช่องทางใหม่ๆ ในโซเชียลจนเจ้าหน้าที่ตามแทบไม่ทัน         สุดท้ายนี้ขอแนะนำวิธีการถนอมสายตา เพื่อช่วยช่วยป้องกันสายตาเมื่อต้องจ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือใช้มือถือนานๆ ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เช่น (1) พักสายตาทุก 30 นาที (2) กะพริบตาให้ได้ 4-6 ครั้ง/นาที (3)ไม่ฝืนอ่านตัวอักษรที่มีขนาดเล็กมากจนเกินไป (4) เว้นระยะห่างจากหน้าจอประมาณ 30-40 เซนติเมตร (5) ปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดีไม่มืดหรือสว่างเกินไป (6)ไม่ใช้งานมือถือหากอยู่บนพาหนะที่มีความสั่นไหวเพราะทำให้มองจอได้ยาก (7)ช่วงอากาศแห้งไม่ควรใช้สายตานานจนเกินไป เป็นต้น         มันไม่คุ้มค่าหากตาจะพังและกระเป๋าตังค์จะรั่ว ต้องระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาล้ำเส้นจนเกินจริง

อ่านเพิ่มเติม >