ฉบับที่ 260 จะรักษาทั้งที อย่าให้ยา”ตีกัน”

        คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องไปหาแพทย์ เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษานั้น  ก็บอกแค่อาการป่วยและข้อมูลแพ้ยาอะไรก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงข้อมูลเท่านี้ยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องสำคัญมากอีกอย่างเช่นข้อมูลพฤติกรรมและการกินยาหรืออาหารอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย ก็เพื่อว่า “ป้องกันยาตีกัน” นั่นเอง         ไม่ใช่แค่บอกว่าแพ้ยาอะไร ผู้ป่วยควรจะต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าในช่วงนี้ตนใช้ยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมอะไรร่วมอยู่ด้วย เพราะยาบางตัวเมื่อนำไปใช้ร่วมกับยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมตัวอื่นๆ มักจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา บางครั้งอาจเกิดอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปหรือบางครั้งก็ไปทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ลดต่ำลง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นในภายหลัง  ปฏิกิริยาแบบนี้ ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “ยาตีกัน”         ตัวอย่าง คนไข้ เอ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้รับยาฆ่าเชื้อคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) จากแพทย์มารับประทาน  อีก 2 วันต่อมา คนไข้มีอาการปวดไมเกรน จึงกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คนไข้ไม่ได้แจ้งว่า ตนเองกำลังใช้ยาคลาริโทรมัยซินอยู่  โรงพยาบาลจึงจ่ายยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)  เพื่อรักษาไมเกรนมาให้  เมื่อคนไข้กลับบ้านจึงรับประทานยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน  ปรากฎว่ายาทั้ง 2 ตัว  “ตีกัน”  ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัว  เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง  กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิต          กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ในโลกนี้ยังมียาจำนวนมากที่สามารถเกิด “ยาตีกัน” กับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณและอาหารเสริมได้  การบอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รักษา “ทราบชื่อ” ยาหรือ อาหารเสริมที่คนไข้ใช้อยู่  นอกจากป้องกันยาตีกันได้แล้วยังป้องกันการได้รับยาเกินขนาด  ยาซ้ำซ้อนกับยาเดิมที่มีอยู่อีกด้วย และยังช่วยให้ประเมินได้ว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่หรือไม่  ยาหรืออาหารเสริมหลายตัวนอกจากจะรักษาโรคได้ ก็ยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน   หากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้ที่รักษาก็จะเปลี่ยนยา ลดขนาดหรือปรับวิธีรับประทานยา  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเติม         ท่องจำย้ำเตือนให้ขึ้นใจเลยครับ เวลาไปโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากในช่วงนั้นผู้ป่วยมีการใช้ ยา ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมอยู่ด้วย ขอให้นำติดตัวไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แนะนำ หากมีฉลากหรือเอกสารต่างๆ ก็ขอให้นำติดไปด้วยจะยิ่งดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เภสัชกรสาวตาใสกับคุณยายตามัว

        เสียงเคาะประตูห้องยาดังขึ้น เภสัชกรสาวตาใสวางมือจากกองยาหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อเงยหน้าขึ้นภาพตรงหน้าคือคุณยายท่านหนึ่ง แกมาพร้อมอาการบวมที่ใบหน้า ในมือของแกถือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดโกจิเบอรี่ยี่ห้อหนึ่ง จากการพูดคุยสอบถามพร้อมทั้งซักประวัติเพิ่มเติมทำให้ทราบว่าคุณยายมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง อาการตอนนี้ นอกจากตัวบวมแล้ว ตายังพร่ามัวอีกด้วย         “ยายซื้อไอ้นี่จากรถเร่หมู่บ้านต่างอำเภอที่มาเร่ขายในหมู่บ้านของยายน่ะ คนขายเขาโฆษณาว่ากินแล้วจะช่วยให้ตามองเห็นชัดขึ้น ทีแรกยายก็ยังไม่ค่อยเชื่อนะ แต่เขาเอาเอกสารมาให้ดูเพิ่มเติม เห็นบอกว่าช่วยบำรุงดูแลดวงตาและรักษาโรคตาต้อต่างๆได้ แถมยังเน้นว่า ตามัวสั่งด่วน ตามองชัดแจ๋ว ต้อต่างๆ หาย ตาใสปิ้ง ดูแล้วก็น่าเชื่อถือดี”         “ยายอยากมองเห็นชัด เลยซื้อมากินหนึ่งกระปุก กระปุกละ 800 บาทยายก็ยอมนะ แต่พอยายกินไปได้ 7 วันเท่านั้นเอง ตัวยายก็เหมือนจะบวม หน้านี่บวมชัดเลย แถมยังผื่นขึ้นเต็มตัวอีก ตาก็ไม่ใสแต่กลับมัวมากขึ้น” คุณยายเล่าด้วยเสียงวิตก “ทำยังไงดี”         เภสัชกรสาวจึงรีบประเมินอาการพบว่า น่าจะเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงแนะนำคุณยายให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ทันทีและรีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อช่วยกันเตือนภัยและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ จากนั้นขอผลิตภัณฑ์ของคุณยายส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารอันตรายที่อาจปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งกำลังรอผลวิคราะห์อยู่         “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยานะคะคุณยาย มันจึงไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และจากที่หนูตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์นี้ มันยังแสดงข้อมูลในฉลากไม่ครบถ้วนอีกด้วยค่ะ เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กฎหมายกำหนดให้ต้องมีข้อความเตือนว่าไม่มีผลในการรักษาโรคด้วย นี่ถ้ามีผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมารับประทาน โดยหวังว่าจะรักษาโรคต่างๆ ของดวงตา นอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังจะเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องด้วยนะคะ  หนูคิดว่าหากใครมีอาการทางดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวนะคะ”         “การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2510 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ... ยังไงฝากคุณยายช่วยกันเตือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยนะคะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 เรื่องสยองของสิวกับผงไม่พิเศษ

ก “เฮ้ยยย..ว่าไงวัยรุ่น นายเป็นสิวเหรอ?” ข “เออ..ว่ะ ทำไงดีวะ เป็นสิวไม่อยากไปเรียนเลย มียาดีแนะนำมั้ยเพื่อน” ก “จัดไปให้ไวเลยเพื่อน..ยาผงแบบซองผสมน้ำแต้มหัวสิว ไม่สยิว สิวหายแน่นอน” ข “แล้วมันดีในระยะยาวจริงเหรอ เห็นหลายคนใช้แล้วไม่หายแถมได้แผลเป็นด้วยน่ะสิ…เฮ้อ!!”         นานกว่า 40 ปีแล้วที่วัยรุ่นทุกยุคสมัยคุ้นเคยและผ่านตากับยาผงในซองสีส้มแดงที่ว่ากันว่ามันเสมือนผงพิเศษที่สามารถแผลงฤทธิ์พิชิตสิวบนใบหน้าได้ง่ายๆ จากคำร่ำลือผ่าน ปากต่อปาก พี่สู่น้อง ผู้ปกครองสู่ลูกหลาน แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัย จนมีการพัฒนายารักษาสิวใหม่ๆ มากมาย แต่ยังคงพบว่าวัยรุ่นหลายคนก็ยังนิยมนำยาผงนี้มาทาหน้าแก้สิวกัน โดยแทบไม่รู้กันเลยว่ามันคือยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งในกลุ่มยาซัลฟา มีตัวยาสำคัญคือ“Sulfanilamide”  สิวมาจากไหน?         มนุษย์เรามีผิวหนัง 3 ชั้น ชั้นแรกคือชั้นหนังกำพร้า คอยปกป้องสิ่งสกปรก เชื้อโรค ชั้นต่อไปคือชั้นหนังแท้ เป็นที่อยู่ของต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน เส้นขน ชั้นสุดท้ายคือชั้นที่อยู่ใต้ผิวหนังลงไป เป็นชั้นที่สะสมไขมันให้ความอบอุ่นร่างกาย ปกติเจ้าต่อมไขมันในชั้นหนังแท้ จะคอยหลั่งไขมันออกตามรูขุมขนเพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้น แต่เมื่อวันดีคืนดีมันเกิดการอุดตันจากการที่มีสิ่งสกปรกที่ผิวหนัง ไขมันมันก็จะสะสมจนอักเสบเกิดเป็นสิว นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆที่อาจทำให้เราเป็นสิวได้อีก เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น เป็นต้น ดังนั้นการรักษาสิงที่ถูกต้องจึงต้องแก้ให้ตรงกับสาเหตุที่เกิด หากใช้ยาปฏิชีวนะแต้มสิวจะมีผลสยองอย่างไรบ้าง?         เนื่องจากยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ“Sulfanilamide”เป็นยาที่เคยนำมาใช้ในการรักษาแผลติดเชื้อด้วยการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในสมัยก่อนๆ และใช้กันอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจดทะเบียนยา ให้มีสรรพคุณ เน้นเฉพาะรักษาสิวอักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อ Cutibacterium acnes แต่เนื่องจากมีการนำมาใช้พร่ำเพรื่อติดต่อกันนานหลายปี ปัจจุบันจึงพบว่าเชื้อตัวนี้“ดื้อยา Sulfanilamide”ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพ้ยาในกลุ่มซัลฟาในประชาชนชาวไทยมากขึ้น ซึ่งหากใครแพ้ยากลุ่มซัลฟาแล้วมาใช้ยา Sulfanilamide ก็จะมีโอกาสแพ้ด้วยเช่นกัน บางรายจะมีอาการรุนแรง เช่น ผิวหนังลอก หรือเป็นด่างดำตามผิวหนังถาวร จึงไม่มีการนำมาใช้รักษาสิวแล้ว เพราะมียาอื่นๆ ที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่า         รู้อย่างนี้แล้ว ช่วยกันบอกต่อๆ และเตือนกันด้วย อย่านำยาผงดังกล่าวมาทาหน้าแก้สิวเลย เพราะนอกจากจะเสี่ยงอันตรายแล้ว มันไม่ใช่ผงที่จะรักษาสิวได้อย่างพิเศษแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ยาสัตว์แอบขายออนไลน์ สัตว์เลยได้ใช้อย่างเสี่ยงๆ

        ยาสำหรับสัตว์ก็เหมือนกับยาสำหรับคน เพราะก่อนจะอนุญาตให้นำมาใช้ได้ผู้ผลิตจะต้องมาขอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องจัดทำฉลากให้มีข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับยาสำหรับคน เช่น เลขทะเบียนยา ชื่อตัวยาสำคัญ วันผลิต วันหมดอายุ  ชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต แต่จากการลงไปสำรวจในพื้นที่กลับพบยาสำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พูดง่ายๆ ก็ยาปลอม วางจำหน่ายตามร้านค้าหรือชายในออนไลน์มากมายหลายชนิด  เช่น         ยาที่ใช้ในการเลี้ยงปลา (พบยาปฏิชีวนะ  Amoxycillin ชนิดผง Chlormycin ชนิดผง)         ยารักษาไก่ ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณหลายชนิด เช่น ยาฆ่าพยาธิ  หวัดหน้าบวม คอดัง ขี้ขาว ขี้เขียว  ท้องเสีย อหิวาต์  คลายกล้ามเนื้อ ข้อบวม กระตุ้นกำลังไก่ชน ขับเสมหะ  รักษาหวัด หลอดลมอักเสบ ขี้ขาว ช้ำใน ถ่ายเป็นน้ำ ไข้ เหงาซึม  ยาฉีดแก้หวัด ยาฉีดแก้ไข้ ยารักษาหวัดคอดัง ในไก่  ยาหยอดตาไก่           ยาฉีดฆ่าพยาธิ กำจัดเห็บ หมัด ในสุนัข (พบยาฆ่าพยาธิ Ivermectin 150 mg/10 ml ซึ่งหลายยี่ห้อที่ไม่มีทะเบียนยา)         ยาสูตรผสมในซองเดียว ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและวิตามิน (Amoxycillin + Indomethacin + Vitamin B12) ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารของไก่ เป็ด นก หมู วัว         ตามกฎหมายยานั้นกำหนดว่าร้านขายยาสัตว์จะต้องมีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรอยู่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยา (เหมือนร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้แนะนำการใช้ยา)  แต่ปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาสัตว์อย่างผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่มากมาย ผู้เลี้ยงสัตว์ที่สั่งยาจากช่องทางนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาปลอม ส่งผลทำให้สัตว์ได้รับยาที่ไม่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาและยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาปลอมจนเสียชีวิตได้ หากเป็นยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องไม่ครบขนาดการรักษา ใช้พร่ำเพรื่อเกินจำเป็นจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจส่งผลจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้         จริงหรือปลอม : สองข้อง่ายๆ ในการตรวจสอบยาสำหรับสัตว์         1. ตรวจสอบเลขทะเบียนยาบนฉลาก  เลขทะเบียนยาสำหรับสัตว์ จะระบุเป็นตัวอักษร D หรือ E หรือ F (D เป็นยาสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ , E เป็นยาสัตว์ที่แบ่งบรรจุ , F เป็นยาสัตว์ที่นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ) ตัวอย่างเช่น 1D 10/30   คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ ได้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาเป็นลำดับที่ 10 ในปีพ.ศ.2530           2. ตรวจสอบฉลากยา นอกจากชื่อยาทางการค้าแล้ว จะต้องมีชื่อสามัญทางยา ระบุชื่อและปริมาณของยาที่เป็นส่วนประกอบ มีเลขแสดงครั้งที่ผลิต (หรือ Lot. Number) มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ (Exp)  มีข้อความระบุประเภทของยา (ยาอันตราย  ยาควบคุมพิเศษ ยาแผนโบราณ) รวมทั้งระบุด้วยว่าเป็นยาสำหรับสัตว์         ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของยาและเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ควรเลือกซื้อยาสำหรับสัตว์จากร้านขายยาที่มีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อส่งมอบยาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ปลอมในปลอม ไม่ยอมจบ

        เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตลาดการขายสินค้าออนไลน์ยังไม่เกิดขึ้น มีครีมหน้าขาวยี่ห้อหนึ่งขายดิบขายดี ครีมชนิดนั้นถูกเรียกติดปากว่า “ครีมฟ้าขาว โรงพยาบาลเชียงราย” ด้วยรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์เป็นตลับเล็กๆ ตัวตลับและฝาจะเป็นคนละสีคือ ฟ้า-ขาว จำหน่ายโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเชียงราย ผลลัพธ์ทำให้หน้าขาวจริงและเร็ว จึงขายดิบขายดีผ่านการบอกต่อๆ จากปากต่อปากจากของคนใช้ แต่ภายหลังตรวจพบการปลอมปนสารต้องห้าม         ไม่น่าเชื่อว่าถึงวันนี้ ถ้าเราใช้คำค้นหาว่า “ครีมฟ้าขาว” ค้นดูในอินเทอร์เน็ต เราจะพบว่ายังมีครีมดังกล่าวขายอยู่ โดยเฉพาะในตลาดออนไลน์ มีมากมายหลายเจ้าของ แต่ละเจ้าของก็จะอ้างว่า “ครีมของตนเองคือของแท้” ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าครีมของใครคือของแท้ เพราะจนถึงบัดนี้ก็ยังตามหาผู้ผลิตครีมดังกล่าวไม่ได้ ปล่อยเป็นปริศนาต่อไป (ฮา)         แต่เครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้มีแค่ครีมเมื่อยี่สิบปีในอดีต ในเดือนเมษายน ปี 2564 ผมได้ลงพื้นที่พร้อมกับพนักงานสอบสวน เพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ร้องเรียนการผลิตเครื่องสำอางในพื้นที่ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผลการตรวจสอบคือ มีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางผิดกฎหมายจริง และยังเป็นการผลิตเครื่องสำอางปลอม ที่มีการปลอมปนสารต้องห้าม “ปรอทแอมโมเนีย” มีการจับกุมดำเนินคดี ศาลตัดสินให้ผู้ต้องหาต้องโทษจำคุก 2 ปี         จากการพูดคุยและการสอบสวน ผู้ผลิตที่ถูกดำเนินคดีปลอมครีมยี่ห้อหนึ่ง ที่เป็นยี่ห้อที่มีชื่อติดตลาด เพราะจะทำให้ขายได้เร็ว ซึ่งจากการตรวจสอบกับฐานข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าครีมนี้มีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ผลิตอยู่ในจังหวัดหนึ่งทางภาคกลาง และไม่ได้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกเจ้าของครีมตัวจริงมาสอบสวน ปรากฎว่าเจ้าของตัวจริงกลับไม่ติดใจเอาความผู้ต้องหาที่แอบปลอมครีมของตนเองอีกด้วย เลยชักสับสนว่าแท้จริงแล้วรู้เห็นเป็นใจกัน หรือหวังว่าการปลอมครีมจนขายดี จะเป็นการประชาสัมพันธ์ทางอ้อมให้กับครีมของตนหรือเปล่า ยิ่งคิดยิ่งปวดหัว (ฮา) จนถึงขณะนี้ ครีมยี่ห้อนี้ก็ยังมีขายมากมายในตลาดออนไลน์ แถมยังมีคนขายหลายรายมาก ไม่รู้ครีมใครตัวจริง ครีมใครตัวปลอม เพราะทุกคนอ้างว่าครีมของตนเป็นตัวจริงทุกราย ทุกข์หนักคือผู้บริโภค เพราะคงไม่รู้ว่าครีมที่ตนเองซื้อมาใช้อันไหนจริงอันไหนปลอม หรืออาจซื้อของปลอมมาทั้งนั้น (ฮาไม่ออก)         ในตลาดออนไลน์เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภค ที่จะแยกว่าสินค้าตัวไหนจริงตัวไหนปลอม จะให้งดซื้อครีมออนไลน์ก็คงยาก เพราะทุกวันนี้อะไรๆ ก็แทบจะยกขบวนไปขายกันบนตลาดออนไลน์หมด เมื่อกฎหมายและกระบวนการจัดการยังไล่ตามไม่ค่อยทัน ผู้บริโภคจึงควรต้องใช้วิจารณญาณ (ขั้นสูงสุดๆ) ในการตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์มาใช้ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ที่ตอนนี้กลายเป็นปัจจัยที่ 6 ในการดำรงชีวิตในสังคมปัจจุบันไปแล้ว         หวังว่าผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องคงต้องช่วยกันพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับตลาดกันใหม่ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สามารถควบคุมการค้าขายบนตลาดออนไลน์อย่างจริงจัง และให้เจ้าของตลาดออนไลน์แต่ละเจ้า ต้องรับผิดชอบด้วยหากพบว่าสินค้าที่ตนขายไม่ปลอดภัยหรือโฆษณาไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ตรวจสารมารดำ กลับเจอสารมารขาว

        การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค บางครั้งก็เจออะไรแปลกๆ คาหนังคาเขาโดยไม่ตั้งใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทีมปกครองอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนและทีมรพ.สต กำลังทำหน้าที่ตรวจปัสสาวะเพื่อเฝ้าระวังหาสารเสพติดในร่างกายของประชาชน ปรากฎว่าผลตรวจปัสสาวะของพนักงานเทศบาลชายอายุ 28 ปีพบว่าเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงอาจจะมีการใช้สารเสพติด แต่เมื่อแจ้งสอบสวนเพิ่มเติมพนักงานท่านนี้ตกใจ เนื่องจากตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด         เจ้าหน้าที่จึงสวมวิญญาณนักสืบ สอบถามข้อมูลมากขึ้นจึงทราบว่าพนักงานรายนี้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่สั่งซื้อจากทางออนไลน์ ราคาก็ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแพงถึงเม็ดละ 100 บาท เมื่อใช้แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากอาหาร ตนใช้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร จนหมด 2 กล่อง ปรากฎว่าน้ำหนักลดลงถึง 10 กิโลกรัม         พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานมายังกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ เพื่อส่งตรวจหารสารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ซึ่งผลตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงแจ้งกลับมาเพื่อติดตามสอบถามแหล่งที่มาและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเพื่อทำการดำเนินการต่อไป         ไซบูทรามีนเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอมเฟตามีน จึงทำให้ผลตรวจปัสสาวะของคนที่ได้รับสารไซบูทรามีนมีสีม่วงเหมือนกับคนที่ใช้สารแอมเฟตามีน สารไซบูทรามีน (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทรามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีความผิดตามกฎหมาย มีทั้งโทษถึงจำคุก         มีวิธีเบื้องต้นในการสังเกตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่สงสัยว่าจะผสม Sibutramine ดังนี้        1. มีคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน        2. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุสถานที่ผลิต        3. ไม่มีเลขที่ขึ้นทะเบียนอย. เป็นต้น         อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย จะได้ไม่เอาชีวิตไปเสี่ยง         หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือกลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาล หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 บริโภคอย่างปลอดภัย เฝ้าระวังง่ายๆ ด้วยตนเอง

        ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคล้วนต้องรับประทานอาหาร ยา ใช้เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆมากมาย  แต่เมื่อผู้บริโภคเสงสัยว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนบริโภคนั้นจะปลอดภัยหรือไม่ สิ่งแรกที่มักจะคิดกันก็คือ จะส่งไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์ไปให้ใครตรวจสอบคุณภาพก่อนใช้ได้ทุกครั้ง  และคงไม่มีหน่วยงานใดที่จะสามารถติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดได้ทุกชิ้นเช่นกัน  แล้วผู้บริโภคอย่างเราจะมีวิธีการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้อย่างไร?          เราอาจใช้แนวทางคร่าวๆในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่สงสัย เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคของเราเอง ดังนี้         1. ตรวจสอบจากฉลาก        1.1 ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นี้มีฉลากหรือไม่        1.2  ถ้ามีฉลาก  ตรวจสอบว่าเป็นฉลากภาษาไทยหรือไม่        1.3 ถ้ามีฉลากภาษาไทยแล้ว  ให้ตรวจสอบว่ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.หรือไม่          1.4 ถ้ามีเลขที่แสดงการได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว อย่าเพิ่งไว้ใจ พวกหลอกลวงมันยังมี ให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของ อย.เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเลขที่นั้น ตรงกับเลขที่ของผลิตภัณฑ์ในระบบข้อมูลหรือไม่         หากตรวจสอบตามที่แนะนำข้างต้นแล้ว พบว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามที่ระบุ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย        2. ตรวจสอบข้อมูลความไม่ปลอดภัย        2.1 หากยังไม่แน่ใจ ลองตรวจสอบเพิ่มเติมว่า เคยมีใครรายงานข้อมูลความไม่ปลอดภัยหรือไม่  โดยตรวจสอบจากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.แจ้งเตือนภัย)  เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หน้าต่างเตือนภัยสุขภาพ)  เว็ปไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ         2.2 ถึงแม้จะไม่พบรายงานความไม่ปลอดภัย  แต่เมื่อเรานำมาบริโภคแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น        ·     รับประทานแล้วน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว (อาจใส่ยาลดน้ำหนัก)          ·     รับประทานแล้วหายปวดเมื่อยทันที  นอนหลับ  และกินข้าวได้อย่างดี (อาจใส่สเตียรอยด์ปนเปื้อน)        ·     ใช้แล้วผิวขาวอย่างรวดเร็ว  และเมื่อไม่ได้ใช้มักจะเกิดผิวอักเสบหรือผิวคล้ำตามมา (อาจจะใส่สารอันตรายที่ทำให้หน้าขาว เช่น  ไฮโดรควิโนน  กรดวิตามินเอ  ปรอท  สเตียรอยด์)        ·     รับประทานสมุนไพรแล้วกระตุ้นสมรรถนะทางเพศ (อาจใส่ยากระตุ้นทางเพศ) หากมีอาการผิดปกติดังที่ยกตัวอย่างมานี้ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจจะมีสารอันตรายผสมอยู่         2.3 เราอาจใช้ชุดตรวจสอบเบื้องต้นที่มีขายในท้องตลาดมาตรวจสอบดูด้วยตนเอง หรือนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัย ไปปรึกษาเภสัชกรในโรงพยาบาลชุมชนหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 ทางเลือก? ทางรอด? หรือทางลวง? แต่เสียเงินไปแล้วสี่หมื่น

        ผู้ป่วยจำนวนมากที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นอกจากจะมีความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อไปยังจิตใจทั้งความเครียดและความกังวลด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้หลายรายจึงแสวงหาแนวทางการรักษาทุกช่องทางเพื่อบรรเทาความทุกข์จากการเจ็บป่วยของตน เมื่อได้ข่าวว่ามีแหล่งใดที่จะสามารถรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ ผู้ป่วยและญาติจะรีบพากันพากันไปหาเพื่อรักษาทันที โดยที่อาจจะไม่ทันได้คิดไตร่ตรองว่าจะปลอดภัย ได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท พบกรณีประชาชนเข้าสู่ขบวนการรักษาและใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพจากการ  บอกเล่า ซักชวน จากผู้ที่ไม่ใช่บุคคลากรทางการแพทย์และไม่ใช่สถานพยาบาลตามกฎหมาย มีพฤติกรรมโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง โดยพบรายงานเป็นระยะๆจากหลายพื้นที่  เช่น เดือนกันยายน 2564 เกิดกับสมาชิกในครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีผู้ป่วยในบ้านหลายคน คนแรกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างรักษาด้วยการฉายแสงที่โรงพยาบาลศูนย์ แต่เมื่อญาติทราบข่าวว่ามีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง ให้การรักษาผู้ป่วยด้วยยาที่สั่งจากประเทศจีนร่วมกับการทำพิธีกรรม แล้วสามารถรักษาได้หายแทบทุกโรค มีผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามารับการรักษามากมาย ญาติจึงได้พาไปติดต่อเพื่อขอรับการรักษาบ้าง         เมื่อได้ตกลงเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ขั้นตอนการรักษา คือ ทำการดูดวงให้ผู้ป่วยก่อนว่าจะรอดหรือตาย ซึ่งรายนี้ได้รับแจ้งว่าดวงยังไม่ถึงตาย พระจึงสั่งยามาให้ การสั่งซื้อยาใช้เวลา 2 วัน ในช่วงระหว่างเวลาที่รอรับยานั้น มีการแจ้งให้ญาติไปจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับทำพิธีกรรม ค่าอุปกรณ์รวมกับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ใช้งบ 2,000 บาท โดยประมาณ  เมื่อยามาถึงแล้วจึงมาทำพิธีกรรมก่อนส่งมอบยา ในขั้นตอนนี้มีค่าใช้จ่ายอีก 2,999 บาท  ส่วนผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นยานั้น ลักษณะเป็นแคปซูลสีขาว ไม่มีฉลาก ไม่มีขวดบรรจุ แต่ให้ญาติผู้ป่วยนำกระป๋องบรรจุยาชนิดอื่น ขนาดบรรจุยาทั่วไปได้ 1,000 เม็ดมาบรรจุ ได้ 1 กระป๋อง ราคา 15,000 บาท ซึ่งรวมๆค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว ผู้ป่วยรายนี้เสียเงินไปประมาณสองหมื่นบาท ในระยะเวลาเดียวกัน ญาติคนที่สองมีอาการทางมดลูก ก็ได้เข้ารับการรักษาและสั่งซื้อยาในลักษณะเดียวกันด้วย และเสียค่าใช้จ่ายไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน รวมๆแล้วครอบครัวนี้ เสียเงินไปประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งอาการป่วยของทั้งคู่ก็ยังไม่หาย         ต่อมาภายหลัง แกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนทราบเรื่องดังกล่าว เกรงว่าจะเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะมีการโอ้อวดโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เกินจริง และผลิตภัณฑ์ที่ได้ก็ไม่มีทะเบียนยา จึงได้ลงไปพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ พร้อมแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง             กรณีข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เครือข่ายแกนนำคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการเฝ้าระวังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 “แหย่-ยก-แยง” ด้วยชุดตรวจ COVID-19 ที่มีมาตรฐาน

        เรากำลังเข้าสู่ปีที่ 3 การระบาดใหญ่ของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19; โควิด-19)  สังคมและการดำรงชีวิตมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก คาดการณ์ว่าวิถีชีวิตของมุนษย์ได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก สังคมได้เดินทางเข้าสู่วิถีปกติใหม่และกำลังตั้งเป้าหมายที่จะอยู่ร่วมกับการระบาดนี้ให้ได้         การอยู่ร่วมกับการระบาดในชีวิตวิถีใหม่ มีเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญนอกจากการรับวัคซีนคือ การตรวจสอบตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้างเพื่อช่วยควบคุมการแพร่กระจายเชื้อไม่ให้ระบาดในวงกว้างนั่นคือการใช้ชุดตรวจเบื้องต้น หรือ ATK (Antigen Test Kit)         หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ผ่อนปรนข้อจำกัดให้ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อก่อโรค COVID-19) แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen test self-test kits) ให้ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง หรือ ATK Self Test สามารถจำหน่ายได้ทั่วไปตามร้านค้าและช่องทางออนไลน์ตั้งแต่เมื่อ 29 กันยายน 2564 เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ได้ทำให้มีชุดตรวจโควิด-19 มีจำนวนให้เลือกมากขึ้นในท้องตลาด ทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและผลิตภัณฑ์ที่ขาดมาตรฐาน ซึ่งเมื่อนำไปใช้จะให้ผลตรวจสอบตนเองที่ผิดพลาดและมีผลต่อการควบคุมดูแลตนเอง จนเกิดการระบาดได้         เทคนิคในการตรวจสอบการติดเชื้อด้วยชุดตรวจที่ถูกต้องคือ  “แหย่ - ยก - แยง”แล้วยังต้องใช้ชุดตรวจที่มีมาตรฐานซึ่งมีวิธีสังเกตและตรวจสอบด้วยตนเองที่ง่ายๆ ดังนี้         1. เป็นชุดตรวจที่มีเลขที่ใบรับรองประเมินเทคโนโลยี (Technology Number) โดยจะสามารถดูได้ที่ข้างฉลากของชุดตรวจ ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้จดทะเบียนและได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทยแล้ว        2. ฉลากผลิตภัณฑ์ต้องมีภาษาไทยกำกับด้วยเสมอ และมีข้อความ “บุคคลทั่วไปสามารถใช้ได้”  แม้ว่าจะเป็นชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจะมีข้อกำหนดให้ต้องแสดงฉลากภาษาไทยเสมอ        3. เลือกซึ่งจากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือได้ กรณีซื้อแบบออนไลน์ต้องมีการแสดง เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาเครื่องมือแพทย์หรือใบฆพ. ไว้ในรายละเอียดสินค้าและ/หรือตัวเลือกสินค้าช่องหมายเลขใบอนุญาต/ฆพ.        หลัก 3 ข้อนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน เชื่อถือในคุณภาพและรู้ถึงสถานการณ์การติดเชื้อของตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะเป็นการคัดแยกผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วขึ้นและให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

อ่านเพิ่มเติม >