ยืนตากแดดก็ฆ่าเชื้อโควิด 19 จากกรณีที่โลกออนไลน์มีการแชร์ข้อมูล โดยแนะนำให้ประชาชนออกมาตากแดดตอนเช้า เพื่อให้แดดฆ่าเชื้อโควิด 19 เพราะเชื้อโควิด 19 ชอบความเย็นมากกว่าความร้อน ดังนั้นเมื่อเจอความร้อนจากแสงแดดเชื้อโควิด 19 จะตาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ การยืนตากแดดไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้จริง ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด19 มีการแชร์ข้อมูลเชิญชวนให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยอ้างว่าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด-19 แม้ในแง่วิชาการ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในประเด็นที่อ้างว่า ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงในการเป็นโควิด 19 ได้นั้น ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่าไม่เป็นความจริง วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้เฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันโควิด 19 ได้ แต่อาจจะเกี่ยวข้องกันบ้างในแง่ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะลดความรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจจะพบการติดเชื้อร่วมกับโควิด 19 เราจะรับมือกับกับข้อมูลเท็จในยุคที่ผู้บริโภคกำลังสำลักข้อมูลอย่างไรดี? ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ และมันก็จะวนเวียนอยู่ในอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีวันหมดสิ้น เมื่อเวลาผ่านไปมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกเป็นระยะๆ ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องตั้งสติให้ดี 1. ตรวจสอบต้นตอที่มาของข่าว เมื่อได้รับข้อมูล อย่าเพิ่งรีบเชื่อ และต้องไม่รีบส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพราะการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จจะเป็นการทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ผู้บริโภคควรตรวจสอบรายละเอียดในข้อมูลก่อนว่ามีการระบุต้นตอแหล่งที่มาชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแหล่งที่มาอย่างชัดเจนก็ไม่ควรแชร์ แต่ส่วนใหญ่ข้อมูลมั่วๆ เหล่านี้มักจะมีการอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ดังนั้นเราก็ไม่ควรรีบเชื่อ เพราะอาจเป็นการอุปโลกน์แหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อหลอกเรา 2. ลองค้นข้อมูลด้วยตัวเองดูก่อน เนื่องจากข้อมูลที่แชร์ๆ ต่อๆ กันมา บางทีก็เป็นข้อมูลเก่าที่เคยแชร์มาหลอกชาวบ้านเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้บริโภคที่รู้เท่าทัน ควรจะลองเข้าไปค้นหาข้อมูลดูด้วย เช่น อาจค้นจาก google ดูก็ได้ บางทีเราจะพบว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ และในอดีตก็มีหน่วยงานต่างๆ ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว 3. สอบถามผู้รู้ เช่น คน หน่วยงาน หากไม่มั่นใจในข้อมูล ผู้บริโภคสามารถติดต่อสอบถามยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ช่วยหาข้อเท็จจริงมาบอกเราได้ ทั้งนี้ควรเลือกหน่วยงานที่เรามั่นใจและน่าเชื่อถือในแง่วิชาการด้วย 4. จัดการต้นตอข่าวลือให้อยู่หมัด หากข่าวลือดังกล่าวนำไปสู่การโฆษณาหรือขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรแจ้งเบาะแสให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการต่อไป
อ่านเพิ่มเติม >โควิด19 ยังไม่หมด ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ที่ไม่ถูกต้องก็ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ ยิ่งคนในยุคนี้ที่มีอะไรๆ ก็ต้องรีบแชร์ไว้ก่อนโดยไม่ตรวจสอบ ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี้แพร่กระจายไปได้เร็ว และมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้นขอรวบรวมข้อมูลมั่วๆ ที่เคยเจอ พร้อมกับคำชี้แจงที่ถูกต้องมาให้ผู้บริโภคได้เข้าใจจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและหลงเป็นเครื่องมือกระจายข่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กินยาแอสไพริน ช่วยรักษาโควิด 19 ให้หายได้ แชร์กันไปเยอะ จนสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาบอกว่าข้อมูลนี้ไม่จริง การรักษาโรคโควิด 19 ต้องให้การรักษาตามแนวทางของ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยโควิด 19 จึงไม่ควรซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง การนำมารับประทานโดยไม่จำเป็นนอกจากจะไม่ช่วยรักษาอาการป่วยโควิด 19 แล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงจากแอสไพรินได้ ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง ล้างคอ ต้านโรคโควิด 19 มีการแชร์คลิปเสียงอ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทย์ศิริราช แนะนำให้ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง มาล้างคอ เพื่อต้านทานโควิด 19 ในเรื่องนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยออกมาแจ้งว่า เป็นข้อมูลเท็จ เสียงในคลิปนั้นก็ไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทย์ศิริราชแต่อย่างใด และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า การใช้น้ำเกลืออุ่นๆ น้ำมะนาวอุ่นๆ หรือน้ำขิงอุ่นๆ บ้วนปากและล้างคอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าตามที่มีการแชร์ข้อมูลน้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยอ้างว่าเป็นผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่พบว่าน้ำยาบ้วนปากอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดโควิด 19 ได้ด้วย เพราะสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด 19 ก่อนที่มันจะสามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเท็จ เพราะ น้ำยาบ้วนปากถูกผลิตให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีกลิ่นปาก แม้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ จะไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่การฆ่าโควิดต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป หรือใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นการใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อโควิด 19 จึงไม่ได้ผล รับประทานกล้วย ช่วยต้านโควิด 19 ข่าวนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีผลในการช่วยต้านโควิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต ก็ไม่ควรรับประทานกล้วยในปริมาณมากเพราะในกล้วยจะมีน้ำตาลและโพแทสเชียมสูง กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเอง มีการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถตรวจสอบความเสี่ยงการติดโควิดด้วยตัวเอง โดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที รอดูว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอกหรือไม่ หากไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมายืนยันว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ได้
อ่านเพิ่มเติม >ข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด19 จะมีการเผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดมีการนำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่ใช้ในผู้ป่วยจากประเทศจีนเข้ามาขออนุญาตจำหน่ายในไทย โดยยานี้ได้รับอนุญาตในประเทศไทยแล้ว โดยให้สรรพคุณบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ปวดหัว และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ประชาชนต้องการยาสมุนไพรชนิดนี้มาก จึงมีผู้ฉวยโอกาสนำยาปลอมลักลอบมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก และยังขายในราคาแพงกว่ายาจริงอีกด้วย จากข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภคพบว่าจำหน่ายถึงราคากล่องละ 350-380 บาท ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรของแท้ราคากล่องละ 279 บาทเท่านั้น ซึ่งล่าสุดผู้นำเข้ายาสมุนไพรนี้ได้แจ้งความเพื่อให้ตำรวจติดตามดำเนินคดีแล้ว สมุนไพรจากจีนยังมีมาอีกเรื่อยๆ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ทางสื่อออนไลน์ โดยระบุสรรพคุณว่า สมุนไพรชนิดนี้ ใช้สเปรย์พ่นจมูกต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันและรักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จมูกตัน น้ำมูกไหล จมูกคัน แห้งตึง สูตรสมุนไพรบริสุทธิ์ สเปรย์ฆ่าเชื้อป้องกันไวรัส และต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพ 10 วินาทีผ่านโพรงจมูกและหายเร็วโดยไม่เกิดซ้ำ” จนบางคนนำไปใช้กับผู้ป่วยโควิด 19 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. จึงไม่สามารถประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลตามที่กล่าวอ้างได้ และพบว่าผู้จำหน่ายมีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงให้ดำเนินการตามกฎหมายได้ยาก โดยเมื่อจะสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ ผู้ซื้อจะต้องกรอกข้อมูลชื่อผู้ซื้อและเบอร์โทรศัพท์ของตนลงในเว็บไซต์ หลังจากนั้นผู้ขายจึงจะติดต่อกลับเพื่อส่งสินค้าโดยการเก็บเงินปลายทาง ทำให้โฆษณานี้จะไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ขายได้ และหากผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์แล้วไม่ได้ผลตามที่กล่าวอ้างหรือได้รับอันตราย การเอาผิดใดๆ กับผู้ขายก็ทำได้ยาก นอกจากสมุนไพรจีนแล้ว ยังมีผู้นำผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรทางเลือกในไทย ไปมอบให้ตามโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด 19 โดยแนะนำว่าให้ใช้รักษาโควิด มีการนำเสนอภาพการรับมอบผลิตภัณฑ์ หรือคลิปประสบการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วหายจากการป่วย ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการโฆษณาอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว หัวคล้า รากฟักข้าว รากมะนาว รากสะแก รากกระทุงหมาบ้า รากย่านาง บอระเพ็ด แต่เมื่อตรวจสอบจากสูตรที่ขึ้นทะเบียนตํารับแล้ว พบว่าไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ และมิได้มีสรรพคุณหรือมีฤทธิ์ในการช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่อย่างใด และไม่พบหลักฐานข้อมูลการวิจัยถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยในการใช้เพื่อข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทย มีข้อบ่งใช้เป็นยาแก้ไข้ ดังนั้นการนำเอาผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวมาใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19 จึงไม่สอดคล้องตามสรรพคุณที่ขึ้นทะเบียนไว้ ในยุคที่ผู้คนกำลังตื่นตัวในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันและรักษาโควิด 19 แม้การใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกต่างๆ จะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากลองนำมาใช้ แต่หากเราผลีผลามนำมาใช้โดยไม่หาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว เราอาจจะเสียทั้งเงิน และอาจเสี่ยงต่ออาการป่วยที่ลุกลามไปได้ ดังนั้นควรปรึกษาหรือติดตามตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานของสาธารณสุขก่อนจะดีกว่า
อ่านเพิ่มเติม >ท่ามกลางสงครามการระบาดของโควิด 19 ที่คงจะยืดเยื้อไปอีกระยะหนึ่ง มหกรรมยารักษาโควิดก็กระหน่ำสะพัดกระจายไปทั่วในสังคม จนหลายฝ่ายต้องออกมาช่วยกันเตือนและขอความร่วมมืออย่าแชร์ข้อมูลดังกล่าว เตรียมตุนยาฟาวิพิราเวียร์ไว้กินป้องกันตัว? ด้วยเหตุที่ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยายาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด 19 มาบ้าง ทำให้มีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสนี้ หลอกขายยาให้แก่ประชาชนตามอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าเพื่อนำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด และเป็นยาดีที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน อันที่จริงแล้วการกินยาฟาวิพิราเวียร์ล่วงหน้าไม่เกิดประโยชน์ เพราะไม่สามารถป้องกันโรคได้ ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่แพทย์ต้องพิจารณาจ่ายตามอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละราย และต้องสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอาการข้างเคียง และผลการรักษาระหว่างการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง และต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ยังจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การนำยาไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย จนอาจเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด การลักลอบนำยาของผู้ป่วยมาขาย หรือเจตนานำยาอื่นมาปลอม เพื่อให้เชื่อว่าเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และหลอกขายตามอินเทอร์เน็ต ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอม สามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน? มีการส่งต่อข่าวเรื่อง ยา 6 ชนิด ที่ต้องเตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน คือ ยาพาราเซตามอล แอมบรอกซอล เดกซ์โทรเมทอร์แฟน คลอเฟนิรามีน วิตามินซี และฟ้าทะลายโจร ซึ่งต่อมาทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และชี้แจงว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเท็จ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) จะต้องได้รับการประเมินอาการรายบุคคล และได้รับการอนุญาตจากแพทย์เสียก่อน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาที่เหมาะสมตามความจำเป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ในระหว่างกักตัวที่บ้าน การนำยามาเตรียมไว้รับประทานเองโดยไม่ตรงตามอาการ อาจทำให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของยา จนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเองได้ยาชุดรักษาโควิด? นอกจากนี้ยังมีการหลอกขายชุดยาต้านโควิด โดยมีการแอบขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตในราคาชุดละประมาณ 4,000 บาท เมื่อเหยื่อหลงเชื่อสั่งซื้อและโอนเงินไปปรากฎว่าได้รับวิตามินซี และยารักษาเริมมาแทน เสียทั้งเงินและอาจเสียสุขภาพด้วยในสถานการณ์นี้ สิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับความปลอดภัย ไม่มีความทุกข์จากผลิตภัณฑ์ที่ และไม่ถูกหลอกลวงซ้ำเติมจนเสียเงินเสียทอง ขอให้ผู้ป่วยหรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อสม หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ระบบในการรักษาพยาบาลอย่างเร็วที่สุด
อ่านเพิ่มเติม >ในขณะที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่ลดลง สถานการณ์การหลอกหากินของกลุ่มมิจฉาชีพ บนความหวาดกลัวจะติดเชื้อของประชาชนก็ไม่ลดลงเช่นกัน มีอะไรๆ มาพวกนี้ก็ช่างหาเรื่องมาหลอกได้ทุกเรื่อง หลอกขายสมุนไพรต้านโควิด มีข้อมูลของแพทย์ออกมาเตือนภัยผ่านทางโซเชียล ซึ่งข้อมูลที่อ่านพบปรากฎว่าคล้ายกับข้อมูลที่น้องๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่มาเล่าให้ฟัง คือ ในโลกออนไลน์มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บรรจุในแคปซูล โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรต้านโควิด นำมาจากคลินิก ไหนๆ ก็โฆษณาแล้วจะไม่ขายก็ดูกระไรอยู่ หลังจากปลุกอารมณ์และความหวังของผู้คนที่กำลังหวาดระแวงว่าตนเองจะติดเชื้อโควิดหรือไม่ ก็ขายมันซะเลย ทำให้ผู้ที่กังวลว่าจะป่วยหรือผู้ป่วยโควิดบางรายหลงเชื่อ ยอมเสียเงินสั่งซื้อมากิน กินไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น บางรายอาการกลับแย่ลง ตรวจพบว่ามีภาวะผิดปกติ บางรายพบว่าเซลล์เม็ดเลือดลดลงด้วย หลอกขายประกันโควิด ไม่ได้มีแต่หลอกขายผลิตภัณฑ์ มีข้อมูลจากน้องในชุมชนทางอีสานเล่าให้ฟังว่า ในขณะที่หลายคนกำลังลังเลว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดดี จะไม่ฉีดก็กลัวคิดเชื้อ แต่ถ้าฉีด ก็กลัวจะเกิดการแพ้จนอันตราย ในที่สุดก็มีแก๊งหัวใส อาศัยจังหวะนี้ตระเวณไปหลอกขายประกันเกี่ยวกับโควิด ทั้งประกันการติดเชื้อโควิด และประกันการแพ้วัคซีน โดยเลือกเหยื่อที่ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการประกัน สุดท้ายเมื่อเหยื่อหลงเชื่อจ่ายเงินไปแล้ว ก็หายหน้าไปเลย ไม่ได้กรมธรรม์อะไรกลับมา หลอกขายวัคซีนทางเลือก ที่จังหวัดอุดรธานี พบเหตุการณ์มีผู้ตระเวณหลอกขายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในราคาเข็มละ1,800 บาท โดยอ้างว่าเหลือจากที่ฉีดให้บุคลากรของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีผู้หลงเชื่อรวม 20 คน ตกลงจ่ายเงินยอมซื้อ โดยผู้ที่หลอกขายอ้างว่า เมื่อจ่ายเงินแล้ว จะให้ไปฉีดได้ที่จุดบริการฉีดของโรงพยาบาล มีการระบุเวลานัดหมายให้เรียบร้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิจฉาชีพยังพยายามสร้างความน่าเชื่อถือ โดยสร้างกลุ่มไลน์ โดยมีบุคคลที่อ้างว่าเป็นแพทย์เป็นผู้ดูแลกลุ่ม คอยให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ตลอด จนเมื่อถึงวันฉีดวัคซีน ผู้ที่จ่ายเงินไปแล้วเดินทางไปฉีดวัคซีนที่จุดบริการของโรงพยาบาล ปรากฎว่าไม่มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด เมื่อไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลก็พบว่า แพทย์ที่มีการอ้างชื่อและคอยให้ข้อมูลในกลุ่มไลน์ ก็ไม่ใช่แพทย์ด้วย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ ทุกครั้งจะได้ไม่ถูกหลอก เนื่องจากการจัดการปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกหน่วยงานประเทศต้องมาร่วมกันดูแล ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการกำหนดขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด มีการตรวจสอบ เพื่อไม่ให้มีใครมาหลอกลวงจนเกิดอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ต้องมาขออนุญาตและพิสูจน์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าปลอดภัยไม่มีอันตราย การขายประกันก็มีหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ดูแลอยู่ ส่วนการบริการฉีดวัคซีน ก็มีระบบและรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดดูแล ดังนั้นหากใครมาแนะนำหรือชักชวนอะไรเกี่ยวกับโควิด ให้เราเสียเงินเสียทอง อย่าเพิ่งรีบเชื่อนะครับ ให้ เอ๊ะๆๆ ไปหลายๆ ครั้ง ถ้าไม่แน่ใจก็ไปสอบถามที่หน่วยงานสาธารณสุขใกล้ตัวได้เลย เอ๊ะ เอ๊ะ เอ๊ะ จะได้ไม่ถูก หลอก หลอก หลอก นะครับ
อ่านเพิ่มเติม >2. ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ก่อนตัดสินใจนำมาใช้ 2.1 กินฟ้าทะลายโจร ป้องกันรักษาโควิด 19 ตามที่มีข่าวว่าฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด 19 ได้ ทำให้ประชาชนหลายคน แห่ไปซื้อยาฟ้าทะลายโจรเพื่อมารับประทานอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโควิด 19 หรือหากตัวเองติดเชื้อแล้วก็จะสามารถหายได้โดยไม่ต้องไปรักษาที่ไหน ในแง่วิชาการ ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญคือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งการทดลองในหลอดทดลอง พบว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสได้ แต่ปีที่ผ่านมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลองเพิ่มเติมพบว่า เมื่อมาอยู่ในเซลล์ร่างกายจะป้องกันโคโรนาไวรัสได้หรือไม่ ปรากฏว่ายังไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ อย่างไรก็ตามสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรนั้น ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางตัวได้และฟ้าทะลายโจรยังเป็นยาลดไข้ที่ดี จึงมีการกำหนดในบัญชียาหลักในสรรพคุณที่ ลดไข้ได้ และเนื่องจากในผู้ป่วยโควิด19 จะมีภาวะการอักเสบ ซึ่งฟ้าทะลายโจรสามารถลดการอักเสบและส่งเสริมภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งในการศึกษาวิจัยใน 9 รพ. (มีผู้ป่วยจำนวน 304 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อย) เมื่อให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง อาจมีเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือถ่ายเหลว แต่ไม่มาก จึงน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และมีแนวโน้มที่ดีในการจะนำมาใช้ประโยชน์ในผู้ป่วยโควิด 19 ได้ ซึ่งหากมีความก้าวหน้ามากขึ้นจะนำมาเผยแพร่ต่อไป แต่ฟ้าทะลายโจรเองก็มี ข้อห้ามในการใช้ เช่นกัน เช่น ผู้ป่วยรายใดมีประวัติเคยแพ้ฟ้าทะลายโจร หากรับประทานครั้งแรกมีผื่นคันขึ้นต้องหยุดใช้ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรใช้ รวมทั้งผู้ป่วยโรคตับ โรคไตก็ต้องหลีกเลี่ยงและผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและรับประทานยาประจำ โดยเฉพาะยาลดการแข็งตัว อย่างยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ซึ่งเป็นยาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยอัมพฤตอัมพาต หรือเส้นเลือดหัวใจตีบต้องระวัง และผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันโลหิตก็ไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกัน” การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน สามารถเป็นข้อแนะนำได้ในเบื้องต้น แต่ต้องรับประทานฟ้าทะลายโจรประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หยุด 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน 2.2 กิน กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ป้องกันรักษาโควิด 19 ตามที่มีคลิปผู้ป่วยโควิด19 ใช้สมุนไพรพวก กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มาต้มแล้วดื่ม ปรากฏว่าอาการป่วยดีขึ้น จึงแนะนำให้ผู้ป่วยอื่นๆ ทำตามดูบ้าง ในแง่วิชากการ สมุนไพรเหล่านี้ยังไม่สามารถฆ่าเชื้อโควิด 19 ได้ แต่อาจมีประโยชน์ตรงที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง การป่วยจึงฟื้นตัวจนหายได้เร็วขึ้น แม้ในการศึกษาจะพบว่า กระชายได้ผลลัพธ์คล้ายคลึงกับฟ้าทะลายโจรในการต้านไวรัส แต่ก็ต้องใช้ปริมาณมากจนเป็นไปยากเพราะต้องใช้กระชายถึงครั้งละ ครึ่งกิโลกรัม ดังนั้นหากเราจะเลือกสมุนไพรเหล่านี้มาบริโภค ก็อย่าคาดหวังผลในการรักษาโควิด 19 แต่ให้หวังผลในแง่สุขภาพที่อาจจะดีขึ้นบ้างเล็กน้อย และไม่ควรไปซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่ราคาแพงๆ ที่วางขาย เพราะจะไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไปในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้
อ่านเพิ่มเติม >การระบาดของโควิด 19 ในระลอกล่าสุด ทำให้เกิดความตระหนกตกใจ และเกิดความตื่นตัวของผู้คนในการแสวงหาสิ่งต่างๆ มาป้องกันตัวหรือต่อสู้กับเจ้าเชื้อโควิด 19 กันจ้าละหวั่น นักวิชาการและนักวิชาเกิน เช่น ผู้ผลิต ผู้ขาย หลายท่านก็ออกมาให้ข้อมูลกับประชาชน ยิ่งให้ข้อมูลบางทีชาวบ้านก็ยิ่งสับสนเพราะมันดูน่าเชื่อถือไปหมด สุดท้ายพอตัวเองคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ก็อ่อนระทวยเสียเงินไปหามากินมาใช้ไปตามๆ กัน ผมพยายามรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดและตัดสินใจได้ว่าอะไรควรใช้ อะไรไม่ควรใช้ อะไรน่าเสี่ยง อะไรไม่ควรเสี่ยง สรุปพอหอมปากหอมคอในช่วงนี้ดังนี้ 1. ห้ามเด็ดขาด เพราะได้ไม่คุ้มเสีย1.1 ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโพวิโดน ไอโอดีน กลั้วคอ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ลงสู่ปอด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นเท็จ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวถึง คือ โพวิโดนไอไอดีนชนิดกลั้วคอ มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค จุลินทรีย์หรือแบคทีเรีย ลดอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ แผลในปาก และระงับกลิ่นปากเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสจากลำคอลงสู่ปอดได้ นอกจากนี้ การที่มีผู้แนะนำให้ใช้น้ำมะนาวมากลั้วคอแทน ก็ไม่สามารถได้ผลเช่นเดียวกัน 1.2 ห้ามตุนยา Hydroxychloroquine เพื่อใช้รักษาโควิด-19 ตามที่มีการแชร์ข้อความว่า "ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ใช้ยา Hydroxychloroquine รักษาหายทุกราย ให้หาซื้อยามาไว้ที่บ้าน" ทางกรมการแพทย์ได้ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน เนื่องจากปัจจุบันยา Hydroxychloroquine ถูกแนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการ ตามแนวทางการรักษาที่ออกโดยกระทรวงสาธารณสุขจริง แต่ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงขนาดรักษาได้หายทุกรายตามที่กล่าวอ้าง และในแนวทางการรักษาล่าสุด มีการแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้การใช้ยาไม่ถูกวิธีทำให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยจากผลข้างเคียงของยาได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อมและมีโอกาสทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยมากขึ้น 1.3 ตระเวณหา ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาต้านไวรัสอื่นๆ เพื่อมากักตุนใช้เองที่บ้าน จากการที่ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ถูกนำมาใช้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนบางคนถึงกับพยายามตระเวณไปตามร้านยาเพื่อเสาะหายานี้ หรือหายาต้านไวรัสอื่นๆ มากักตุนไว้กับตัวเองเพื่อใช้รับประทานป้องกันการติดโควิด ขอย้ำเตือนว่า ยาต้านไว้รัสเหล่านี้จะต้องใช้ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์และใช้เมื่อจำเป็น การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง นอกจากจะเกิดผลเสียต่อร่างกายตนเองแล้ว ยังจะยิ่งทำให้เกิดการดื้อยาจนส่งผลเสียต่อระดับประเทศได้ 1.4 กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง กินรักษาโควิด 19 ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ที่สรุปได้ชัดเจนว่า กล้วยดิบบดแห้ง กัญชา กัญชง สามารถป้องกันหรือฆ่าเชื้อโควิด19 ได้ การหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากินจึงไม่เกิดประโยชน์ หนำซ้ำจะเกิดผลเสียตามมาอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม >ผลิตภัณฑ์อาหารที่อวดอ้างสรรพคุณในการลดน้ำหนักยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีอยู่เรื่อยๆ แม้หลายรายจะโดนดำเนินคดีฐานโฆษณาเกินจริงไปแล้วก็ตาม และแม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะร่วมมือกับหน่วยงานร่วมต่างๆ พยายามช่วยกันกวดขันและออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันและควบคุม แต่อย่าลืมว่าผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ต่างก็พัฒนาวิธีการของตนเองให้หลบเลี่ยงกฎหมายได้อยู่เรื่อย ล่าสุดพบผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งที่แชร์กันมาในโซเชียล เป็นผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็มีข้อความที่บอกถึงสรรพคุณในการลดน้ำหนัก และเนื่องจากข้อกำหนดตามกฎหมาย การโฆษณาสรรพคุณอาหารไม่สามารถนำบุคลากรทางการแพทย์มาประกอบการยืนยันได้ ผู้ผลิตจึงเลี่ยงไปใช้ข้อความอ้อมๆ ดังนี้ “ซื้อ (ชื่อผลิตภัณฑ์) แถมที่ปรึกษานักโภชนาการตัวจริง ลดได้ไวกว่าใคร สบายใจกว่า แถมฟรีด้วยนะ 1. ได้ผลจริง ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงินฟรี กินยังไงให้ถูกวิธี ได้ผลดีที่สุด ลดเร็วที่สุด 2. ลดน้ำหนักได้อย่างถาวร ไม่กลับมาโยโย่ นักโภชนาการจะบอกวิธีที่หยุดทานแล้วไม่กลับมาโยโย่ 3. ไม่ต้องกังวลผลข้างเคียง มั่นใจปลอดภัย รู้ลึก รู้จริง แก้ปัญหาได้ทุกสิ่งอย่าง มีสารสกัดจากพริกอเมริกาช่วยในการเผาผลาญมากถึง 5 เท่า ที่น่าสังเกตคือในภาพที่โฆษณา มีการใช้ภาพของบุคคลที่สวมเสื้อสีขาวคล้ายๆ เสื้อกาวน์ และมีหูฟังตรวจไข้คล้องคออยู่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าบุคคลในภาพน่าจะเกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ นอกจากนี้ ในด้านล่างของภาพยังมีข้อความว่า “บริการฟรีดูแลลูกค้า ระหว่างทาน โดยนักโภชนาการลดน้ำหนัก” แต่ยังมีลูกเล่นอีก ด้วยข้อความว่า “เบอร์สายด่วนนักโภชนาการจะส่งให้เฉพาะลูกค้าที่ชำระเงินแล้วเท่านั้น” และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โฆษณาชิ้นนี้ยังมีการนำใบอนุญาตโฆษณาอาหารที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมทั้งแสดงข้อความเน้นอย่างชัดเจนว่า “มั่นใจทุกคนโฆษณาไม่เกินจริง ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข” ที่น่าสังเกตคือมีการเบลอข้อความบางจุด และไม่มีการนำข้อความหรือภาพที่ได้รับอนุญาตจริงๆมาแสดง ซึ่งหากใครดูผ่านๆ แล้วไม่ฉุกคิดก็คงนึกว่าได้รับการอนุญาตให้โฆษณาแบบที่เห็นมาข้างต้นได้ แต่ถ้าผู้บริโภคที่พอมีความรู้มาบ้าง ก็จะรู้ได้ทันทีว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คงไม่ยอมให้ใช้ข้อความหรือภาพประกอบการโฆษณาที่ชวนให้เข้าใจผิดอย่างนี้แน่นอน ผู้บริโภคในยุคนี้จึงต้องรอบคอบและอย่าเพิ่งรีบเชื่อในสิ่งที่เห็น แม้จะมีการสดงข้อมูลว่า มีนักวิชาการ หรือใบอนุญาตโฆษณาแล้วก็ตาม ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนนะครับว่า มันโอเวอร์เกินจริงหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจปรึกษาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคก่อนจะไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และจะปลอดภัยกว่าครับ
อ่านเพิ่มเติม >ยุคนี้ใครไม่มีสังคมในโลกออนไลน์ดูจะล้าสมัยไปแล้ว หลายคนจึงมีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ กันมากมาย เมื่อใช้กันจนคล่อง ก็เริ่มมองหากลุ่มที่ชื่นชอบอะไรเหมือนๆ กัน รวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นเพจ เป็นสังคมต่างๆ หลากหลาย เช่น กลุ่มศิลปะ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มทำอาหาร แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต่างๆ เท่าที่เห็น มีทั้งกลุ่มผู้ป่วย กลุ่มออกกำลังกาย กลุ่มลดน้ำหนัก เป็นต้น ผมลองเข้าไปสังเกตการณ์ในกลุ่มเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ พบว่าหลายคนที่เป็นสมาชิก มีทั้งที่ใช้ชื่อตัวตนชัดเจน และใช้ชื่อเป็นคำต่างๆ แทนชื่อจริง บรรยากาศการพูดคุยก็มักจะเป็นการช่วยเหลือแนะนำสิ่งต่างๆ ซึ่งกันและกัน ยิ่งสมาชิกเข้ามาพูดคุยกันบ่อยๆ สุดท้ายก็เกิดความสนิทสนมกัน ทั้งที่บางคนแทบไม่รู้จักกันในโลกแห่งความจริง แต่กลับสนิทสนมกันในโลกออนไลน์ หากลองติดตามอ่านเนื้อหาที่พูดคุยไปเรื่อยๆ แม้หัวข้อและเนื้อหาที่พูดคุยจะเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แต่หากสังเกตดีๆ เราจะพบว่ามีสิ่งต่างๆ แอบแฝงมาแบบเนียนๆ เช่น ในกลุ่มผู้ป่วยก็มักจะมีสมาชิกบางคนมาบอกเล่าประสบการณ์ในการดูแลตัวเอง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วลงท้ายว่าได้ผล หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง หรือทุเลาลงอย่างน่าอัศจรรย์ กลุ่มออกกำลังกาย ก็มักจะมีสมาชิกบางท่านเข้ามาแนะนำผลิตภัณฑ์สร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะพวกเวย์โปรตีนมากมายหรือในกลุ่มลดน้ำหนัก ก็มักจะมีการนำภาพของตนเองช่วงก่อนปฏิบัติตัวและหลังปฏิบัติตัว ซึ่งมักจะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างชัดเจน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าทำให้ตนเองมีหุ่นที่ดีขึ้น เพื่อความปลอดภัย ไม่ให้พวกเราหลงใหลไปกับ สมาชิกที่แอบแฝงมาแนะนำผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีคำแนะนำดังนี้ 1. อย่าเพิ่งเชื่อตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์ เพราะทุกวันนี้ตัวตนที่เห็นในโลกออนไลน์นั้น มีทั้งตัวจริง และตัวปลอมที่ใครก็สามารถอุปโลกน์ขึ้นมาก็ได้ 2. อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่สมาชิกเหล่านั้นพูด ไม่ว่าจะเป็นภาพรูปร่างที่แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะสมัยนี้คอมพิวเตอร์สามารถประดิษฐ์ตกแต่งภาพให้ดูดีเสมอ ส่วนคำบอกเล่า ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นจริง เพราะในโลกออนไลน์ใครจะพิมพ์อย่างไรก็พิสูจน์ได้ยากว่าเป็นจริงหรือเท็จ 3. อย่าเพิ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผล เพราะบรรดาผู้คนที่มาสนับสนุนผลิตภัณฑ์เหล่านั้น บางทีก็เป็นหน้าม้า ทำเป็นขบวนการ แบบที่เราจะเห็นอาชีพใหม่คือรับจ้างรีวิวสินค้าต่างๆ และภาพถ่ายสินค้าในกล่องกระดาษกองมหึมา ที่อ้างว่ากำลังส่งให้ลูกค้าก็อย่าเพิ่งเชื่อ กล่องจริงกล่องปลอมกล่องเปล่า โลกออนไลน์ทำได้หมด 4. อย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่อ้างว่าผ่านการรับรองจาก อย.แล้ว แม้เราจะตรวจสอบจากทะเบียนข้อมูลแล้วก็ตาม เพราะปัจจุบันผู้ผลิตสามารถขออนุญาตออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเองได้อย่างรวดเร็ว จนการตรวจสอบไล่ตามแทบไม่ทัน ทำให้ผู้ผลิตบางรายฉกฉวยโอกาสนี้ มาขอ อย.ออนไลน์ให้กับผลิตภัณฑ์ตนเอง โดยอาจจะแจ้งรายละเอียดไม่ตรงกับความเป็นจริง 5. ขอให้ท่องให้ขึ้นใจว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เทวดาใดๆในโลกนี้ ที่ใช้ได้ผลทันที ดีจนตะลึง หากมันดีจริง มันควรถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาล ไม่ใช่มาโฆษณากันเยอะแยะ แต่ในสถานพยาบาลต่างๆ กลับไม่มีใครนำไปใช้เลย 6. สรุปสุดท้ายว่า ถ้าไม่แน่ใจ อย่าเสี่ยงมาใช้ ติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ช่วยตรวจสอบและแนะนำจะปลอดภัยกว่า
อ่านเพิ่มเติม >ในแวดวงโลกโซเชียลจะมีศัพท์หนึ่งคือ “ทัวร์ลง” หมายถึงการที่ผู้คนต่างๆ ที่ใช้โซเชียล หันมาสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพร้อมใจกัน แสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือกดดันให้เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่เราเคยเห็นในแวดวงบันเทิง การเมือง ฯลฯ “ทัวร์ลง” มันมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ในแง่ลบ เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจนเกิดความเข้าใจผิด หรือบางทีเลยเถิด ขุดคุ้ย ด่าทอ จนเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่อง แต่ในแง่บวกมันก็มีประโยชน์เพราะจะเกิดพลังความร่วมมือในการแสวงหาข้อมูล แสดงความคิดเห็นและระดมกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกระแสทัวร์ลงพิธีกรสาวคนหนึ่งที่ไลฟ์สดโอ้อวดสรรพคุณสินค้าของตนเอง ตั้งแต่การมีผลเปลี่ยนโครงหน้าตนเองจนสวย เลยเถิดไปถึงการป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ ชาวโซเชียลในโลกไซเบอร์ เลยหันมาขุดคุ้ยหลักฐานการกระทำของเธอ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมารับลูกไปจัดการ ปรากฎว่าชาวโซเชียลไม่ยอมหยุด มีประเด็นต่อเนื่องไปถึงถั่งเช่า ที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งโฆษณาขาย อ้างสรรพคุณต่างๆ อย่างเกินจริง จนมีคนเสียเงินไปซื้อหามาตามๆ กันมากมาย มีการขุดคุ้ยหลักฐานและโยงไปถึงบรรดาคนในวงการบันเทิงต่างๆ จนในที่สุดนักร้องลูกทุ่งรายนี้ก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวจากทวิตเตอร์ ที่มีคนรายงานว่ามีการขายครีมหน้าขาวจากเขมรใส่กระปุก ไม่มีฉลากใดๆ สภาพคล้ายน้ำตาลมะพร้าว ถัดไปไม่กี่วันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็รายงานผลการจับกุมดำเนินคดีได้สำเร็จ ผมจำได้ว่าทั้งสามเรื่องนี้ เคยมีเครือข่ายผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างกรณีถั่งเช่ามีข้อมูลทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนว่า มีผลต่อไตด้วย ส่วนครีมจากเขมร ผมก็เคยนำมาเตือนในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำ แต่กระแสก็ไม่เปรี้ยงเท่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็เลยผลุบๆ โผล่ๆ สำหรับกรณีทัวร์ลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า พลังของผู้บริโภคในโลกโซเชียลปัจจุบันมันมีอิทธิพลขนาดไหน ผู้คนที่มาร่วมมือกันจัด “ทัวร์ลง” เหล่าคนดังที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อย่างไม่เหมาะสมต่างมาจากหลายวัย หลายอาชีพ หลายแหล่ง จนเกิดเป็นกระแสสังคมกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยจัดการอย่างทันที ดังนั้นขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมสร้างขบวนการ “ทัวร์ลง” อย่างมีประโยชน์ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม นอกจากแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ขอให้ช่วยกันนำเสนอในโซเชียลและเพื่อทำให้เกิดเป็นประเด็นดังๆ จะได้เกิดแรงกระเพื่อมให้มีการจัดการอย่างรวดเร็วเสียที เริ่มจากพวกคนดังในแวดวงบันเทิงเลยดีไหม
อ่านเพิ่มเติม >